มะกรูด
มะกรูด | |
---|---|
ผลมะกรูด | |
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
อาณาจักร: | Plantae |
ไม่ได้จัดลำดับ: | Angiosperms |
ไม่ได้จัดลำดับ: | Eudicots |
ไม่ได้จัดลำดับ: | Rosids |
อันดับ: | Sapindales |
วงศ์: | Rutaceae |
สกุล: | Citrus |
สปีชีส์: | C. hystrix |
ชื่อทวินาม | |
Citrus hystrix DC.[1] | |
ชื่อพ้อง[2] | |
|
มะกรูด เป็นพืชในสกุลส้ม (Citrus) มีถิ่นกำเนิดในประเทศลาว อินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นิยมใช้ใบมะกรูดและผิวมะกรูดเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องปรุงอาหารหลายชนิด นอกจากในประเทศไทยและลาวแล้ว ยังมีความนิยมในกัมพูชา เวียดนาม มาเลเซีย และอินโดนีเซีย (โดยเฉพาะบาหลี)
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
[แก้]เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กสูง 2-4 เมตร เป็นไม้เนื้อแข็ง ลำต้นและกิ่งมีหนามยาวเล็กน้อย ใบเป็นใบประกอบชนิดลดรูป มีใบย่อย 1 ใบ เรียงสลับ รูปไข่ คือมีลักษณะคล้ายกับใบไม้ 2 ใบ ต่อกันอยู่ คอดกิ่วที่กลางใบเป็นตอนๆ มีก้านแผ่ออกใหญ่เท่ากับแผ่นใบ ทำให้เห็นใบเป็น 2 ตอน กว้าง 2.5 - 4 เซนติเมตร ยาว 4 - 7 เซนติเมตร ใบสีเขียวแก่พื้นผิวใบเรียบเกลี้ยง เป็นมัน ค่อนข้างหนา มีกลิ่นหอมมากเพราะมีต่อมน้ำมันอยู่ โดยใบด้านบนสีเข้ม ใต้ใบสีอ่อน ดอกออกเป็นกระจุก 3 – 5 ดอก กลีบดอกสีขาว เกสรสีเหลือง ร่วงง่าย มีกลิ่นหอม มีผลสีเขียวเข้มคล้ายมะนาวผิวเปลือกนอกขรุขระ ขั้วหัวท้ายของผลเป็นจุก ผลมีต่อมน้ำมันกระจายอยู่ที่ผิว (hesperidium) ผลอ่อนมีเป็นสีเขียวแก่ เมื่อผลสุกจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองสด พันธุ์ที่มีผลเล็ก ผิวจะขรุขระน้อยกว่าและไม่มีจุกที่ขั้ว ภายในมีเมล็ดจำนวนมากๆ [3]
สรรพคุณ
[แก้]เป็นยาบำรุงหัวใจ ขับลมในลำไส้ แก้แน่นท้องจุกเสียด กระทุ้งพิษ แก้ฝีภายในและแก้เสมหะเป็นพิษ ช่วยบำรุงผมให้เงางามแก้อาการผมร่วง
การใช้ประโยชน์
[แก้]การใช้มะกรูดสระผมน่าจะรู้จักกันมาตั้งแต่สมัยโบราณ วิธีการสระ บ้างก็ใช้ผลดิบผ่าแล้วบีบน้ำสระโดยตรง บ้างก็นำไปเผา หรือต้มก่อนสระ มะกรูดยังมีใช้ในพระราชพิธีสำคัญ เช่น พระราชพิธีโสกันต์ ซึ่งระบุไว้ในพระราชพิธีสิบสองเดือนไว้ ว่าจะต้องมีผลมะกรูดและใบส้มป่อยประกอบในพิธีด้วย เข้าใจว่าน่าจะใช้เพื่อการสระผมนั่นเอง และก็สามารถนำไปล้างพื้นได้ด้วย ซึ่งเป็นสมุนไพรชนิดหนึ่งเช่นกัน
น้ำมะกรูดนั้นมีรสเปรี้ยว กลิ่นฉุนคล้ายใบ แต่ใช้น้อยกว่าน้ำมะนาว ใช้ปรุงรสเปรี้ยวแทนมะนาวได้ เช่นในปลาร้าหลน น้ำพริกปลาร้า น้ำพริกมะกรูด มะกรูดมีส่วนเปลือกที่หนา ส่วนเปลือกนิยมนำผิวมาประกอบอาหารบางชนิดด้วย ในมะกรูดมีน้ำมันหอมระเหยอยู่มาก ใบมะกรูดนั้นใส่ในต้มยำทุกชนิด น้ำยาขนมจีน ยำหอย ใส่ในแกงเช่น แกงเผ็ด แกงเทโพ แต่ถ้าใส่มากเกินไปจะมีรสขมมีกลิ่นฉุน ทั้งในใบ และผล บางครั้งสามารถนำไปใช้ไล่แมลงบางชนิดได้ผลมะกรูดผ่าซีกที่บีบน้ำออกแล้ว ใช้เป็นยาดับกลิ่นในห้องสุขาได้[4]
มะกรูดหวาน
[แก้]มะกรูดหวาน (อังกฤษ: Sweet kaffir lime) ไม่ใช่มะกรูดแต่เป็นพืชสกุลส้มอีกชนิด[5] เป็นส้มโบราณที่มีลักษณะคล้ายมะกรูด ใบนิ่ม ผิวใบเรียบ ลักษณะใบและกลิ่นเหมือนใบส้ม ผลใหญ่กว่ามะกรูดเปรี้ยว ผลมีรสหวาน มีเนื้อเยื่อคลุมเนื้อสีขาว(Mesocarp[6]) แบบที่พบได้ในส้ม สามารถปอกและแยกออกมาเป็นกลีบได้ ใช้รับประทานเป็นผลไม้ ไม่นิยมใช้ปรุงอาหาร เป็นผลไม้ท้องถิ่นในจังหวัดสมุทรสงคราม[7]
ในวรรณคดี
[แก้]สำหรับผลมะกรูดนั้นชาวไทยนิยมใช้ สระผมมาช้านาน และมีกล่าวไว้ในวรรณคดีของไทยหลายเรื่อง เช่น โคลงกำสรวล และกาพย์ห่อโคลงนิราศพระบาท ในสมัยอยุธยา ดังนี้
เยียมาสํดอกแห้ง | หฤทัย ชื่นแฮ |
ค่ำเช้า | |
เยียมาเยียไกลคลาย | บางกรุจ |
ถนัดกรูดแก้วสระเกล้า | กลิ่นขจร |
(โคลงกำสรวล บทที่ 54) |
มะกรูดสองแถวทาง | คิดมะกรูดนางสางสระผม | |
แก้เกล้าเจ้าผึ่งลม | กลิ่นขจรขจายเรียมสบายใจ | |
ต้นมะกรูดสองเถื่อนถ้อง | แถวพนม | |
มะกรูดเหมือนนางสระผม | พ่างเพี้ยง | |
แก้เกล้าเจ้าผึ่งลม | รวยรื่น | |
ขจรสุคนธกลิ่นเกลี้ยง | รื่นล้ำเรียมสบายฯ | |
(กาพย์ห่อโคลงนิราศพระบาท | พระเจ้าปรรถย์) |
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "TPL, treatment of Citrus hystrix DC". The Plant List; Version 1. (published on the internet). Royal Botanic Gardens, Kew and the Missouri Botanical Garden. 2010. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-11-27. สืบค้นเมื่อ March 9, 2013.
- ↑ The Plant List: A Working List of All Plant Species, คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-09-19, สืบค้นเมื่อ 3 October 2015
- ↑ "มะกรูด".
- ↑ อาหารจากสมุนไพร อร่อย สุขภาพดี. กทม. แม่บ้าน. มปป. หน้า 124 – 125
- ↑ http://lib3.dss.go.th/fulltext/techno_file/CF100/CF100(A15).pdf
- ↑ https://en.wikipedia.org/wiki/Fruit_anatomy#Mesocarp
- ↑ นิดดา หงส์วิวัฒน์ และทวีทอง หงส์วิวัฒน์. มะกรูดหวาน ใน ผลไม้ 111 ชนิด: คุณค่าอาหารและการกิน. กทม. แสงแดด. 2550 หน้า 130
- จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. พระราชพิธีสิบสองเดือน. โรงพิมพ์พระจันทร์ : พระนคร, 2496.