ปลาช่อน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ปลาช่อน
Channa striata ตาม Bleeker, 1879
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ แก้ไขการจำแนกนี้
โดเมน: ยูแคริโอตา
อาณาจักร: สัตว์
ไฟลัม: สัตว์มีแกนสันหลัง
ชั้น: ปลาที่มีก้านครีบ
อันดับ: Anabantiformes
วงศ์: Channidae
สกุล: ปลาช่อนเอเชีย
(Bloch, 1793)
สปีชีส์: Channa striata
ชื่อทวินาม
Channa striata
(Bloch, 1793)
ที่อยู่อาศัยของ Channa striata[2]

รายงานในมาดากัสการ์ระบุผิดเป็น C. maculata[3][4]

ชื่อพ้อง[5]
  • Ophicephalus striatus Bloch, 1793
  • Channa stiata (Bloch, 1793)
  • Ophiocephalus wrahl Lacépède, 1801
  • Ophiocephalus chena Hamilton, 1822
  • Ophicephalus planiceps Cuvier, 1831
  • Ophiocephalus vagus Peters, 1868
  • Ophiocephalus philippinus Peters, 1868

ปลาช่อน (ชื่อวิทยาศาสตร์: Channa striata) ปลาน้ำจืดชนิดหนึ่ง อยู่ในวงศ์ปลาช่อน (Channidae) มีส่วนหัวค่อนข้างโต รูปร่างทรงกระบอกยาว ครีบหางเรียวปลายมน ปากกว้าง ภายในปากมีฟันเขี้ยวบนเพดาน ลำตัวสีคล้ำอมมะกอกหรือน้ำตาลอ่อน มีลายเส้นทแยงสีคล้ำตลอดทั้งลำตัว 6-7 เส้น ด้านท้องสีจางตัดกับด้านบน ครีบสีคล้ำมีขอบสีเหลืองอ่อน ครีบท้องจาง มีขนาดลำตัวประมาณ 30-40 เซนติเมตร ใหญ่สุดได้ถึง 1 เมตร

โดยปลาช่อนชนิดนี้มีความพิเศษไปกว่าปลาช่อนชนิดอื่น ๆ คือ สามารถแถกไถตัวคืบคลานไปบนบกเพื่อหาที่อยู่ใหม่ได้ รวมทั้งสามารถหลบอยู่ใต้ดินในฤดูฝนแล้งเพื่อรอฝนมาได้เป็นแรมเดือน โดยสะสมพลังงานและไขมันไว้ ที่เรียกว่า "ปลาช่อนจำศีล" พบอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำทั่วประเทศไทย พบไปจนถึงเอเชียใต้, พม่า และอินโดนีเซีย นิยมนำมาบริโภค ปรุงเป็นอาหารได้หลากหลายทั้งสดและตากแห้ง เป็นปลาน้ำจืดเศรษฐกิจที่สำคัญจนอาจเรียกได้ว่าเป็นปลาน้ำจืดเศรษฐกิจอันดับหนึ่ง เลี้ยงได้ทั้งในบ่อและกระชังตามริมแม่น้ำ นอกจากนี้ยังนิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงามด้วย โดยเฉพาะตัวที่สีกลายเป็นสีเผือกหรือปลาที่พิการตัวสั้นกว่าปกติ

ปลาช่อนในบางพื้นที่ เช่น ที่จังหวัดสิงห์บุรี ขึ้นชื่อมาก เรียกกันว่า "ปลาช่อนแม่ลา" มีประเพณีพื้นถิ่นคือเทศกาลกินปลา โดยลักษณะเฉพาะของปลาช่อนแม่ลา คือ มีครีบหูหรือครีบอกสีชมพู ส่วนหางจะมีลักษณะมนเหมือนใบพัด ลำตัวอ้วน แต่หัวหลิม ไม่เหมือนปลาช่อนทั่วไป โดยเป็นปลาช่อนที่อาศัยอยู่ในแม่น้ำลา อยู่ระหว่างแม่น้ำเจ้าพระยากับแม่น้ำน้อย ในเขตจังหวัดสิงห์บุรี เป็นแหล่งน้ำที่น้ำนิ่ง มีความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งอาหารตามธรรมชาติ ใต้ท้องน้ำปกคลุมไปด้วยพืชน้ำและวัชพืช ทำให้น้ำเย็น ดินก้นลำน้ำยังเป็นโคลนตมที่มีอินทรียวัตถุ แร่ธาตุที่ไหลมารวมกัน สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยที่ทำให้ปลาช่อนแม่ลาถึงมีรสชาติดีกว่าปลาช่อนที่อื่น ๆ ซึ่งปัจจุบันด้วยสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป มีการสร้างเขื่อนและประตูเปิด-ปิดน้ำ ทำให้แม่น้ำลาตื้นเขิน ปลาช่อนแม่ลาที่เคยขึ้นชื่อใกล้จะสูญพันธุ์ แต่ปัจจุบัน กรมประมงสามารถเพาะขยายพันธุ์ได้แล้ว และมีการปล่อยคืนสู่ธรรมชาติเพื่อเป็นการอนุรักษ์[6]

ปลาช่อน มีชื่อเรียกตามภาษาถิ่นในแต่ละภาคว่า "ปลาหลิม" ในภาษาเหนือ "ปลาค้อ" หรือ "ปลาก๊วน" ในภาษาอีสาน เป็นต้น[7]

และเมื่อไม่นานมานี้มีการค้นพบว่าเนื้อปลาช่อนมีสารที่เป็นส่วนหนึ่งของคอลลาเจน มีฤทธิในการห้ามเลือดและระงับความเจ็บปวดได้คล้ายมอร์ฟีน จึงเหมาะอย่างยิ่งแก่การปรุงเป็นอาหารของผู้ป่วยหรือผู้ที่เพิ่งได้รับการผ่าตัด[8]

นอกจากนี้แล้วในหลายพื้นที่ของไทย เช่น อำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์, อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา รวมถึงในพื้นที่ตำบลหัวดวง อำเภอเมืองพิจิตร จังหวัดพิจิตร[9] และอำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่[10] มีความเชื่อของผู้คนที่อาศัยอยู่ที่นั้นว่า ปลาช่อนสามารถขอฝนได้ โดยต้องทำตามพิธีตามแบบแผนโบราณ ซึ่งจะกระทำกันในช่วงเกิดภาวะแห้งแล้ง ด้วยการเจริญพระพุทธมนต์ของพระสงฆ์เบื้องหน้าองค์พระประธาน และมีการโยงสายสิญจน์กับอ่างที่มีปลาช่อน 9 ตัว และสวดคาถาปลาช่อน เชื่อกันว่าระหว่างทำพิธี หากปลาช่อนดิ้นกระโดดขึ้นมา เป็นสัญญาณว่าฝนจะตกลงมาในเร็ววันนี้[11]

นอกจากนี้แล้ว ที่อินเดียก็มีความเชื่อและพิธีกรรมที่คล้ายคลึงแบบนี้เหมือนกัน[12]

อ้างอิง[แก้]

  1. Chaudhry, S.; de Alwis Goonatilake, S.; Fernado, M.; Kotagama, O. (2019). "Channa striata". IUCN Red List of Threatened Species. 2019: e.T166563A60591113. doi:10.2305/IUCN.UK.2019-3.RLTS.T166563A60591113.en. สืบค้นเมื่อ 19 November 2021.
  2. Courtenay Jr.; Walter R. & James D. Williams. "Snakeheads (Pisces, Channidae): A biological synopsis and risk assessment". U.S. Geological Survey.
  3. USGS, Southeast Ecological Science Center: Channa striata. Retrieved 27 June 2014.
  4. Walter R. Courtenay, Jr., James D. Williams, Ralf Britz, Mike N. Yamamoto, and Paul V. Loiselle. Bishop Occasional Papers, 2004. [1] เก็บถาวร 2007-07-08 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน Identity of Introduced Snakeheads (Pisces, Channidae) in Hawaii and Madagascar, with Comments on Ecological Concerns.
  5. Froese, Rainer and Pauly, Daniel, eds. (2019). "Channa striata" in FishBase. August 2019 version.
  6. "ฟื้นชีพ..ปลาช่อนแม่ลา พันธุ์แท้..ครีบหูสีชมพู". ไทยรัฐ. 11 December 2015. สืบค้นเมื่อ 18 December 2015.
  7. ชวลิต วิทยานนท์. ปลาน้ำจืดไทย. กรุงเทพฯ : นานมีบุ๊คส์, 2544. 116 หน้า. หน้า 98. ISBN 974-475-655-5 ข้อผิดพลาดพารามิเตอร์ใน {{ISBN}}: checksum
  8. Borneo, "Bite Me with Dr. Mike". สารคดีทางดิสคัฟเวอรีแชนแนล เอชดี ทางทรูวิชั่นส์: อังคารที่ 8 เมษายน 2557
  9. "ชาวพิจิตรสวดคาถาปลาช่อน-แห่ตุ๊กตาแมวขอฝน". ช่อง 3. 10 July 2015. สืบค้นเมื่อ 11 July 2015.[ลิงก์เสีย]
  10. "เชียงใหม่ เทศธรรมปลาช่อน แห่ขอฝน แล้งจัด พืชผลเสียหายยับ". ไทยรัฐ. 20 July 2015. สืบค้นเมื่อ 25 July 2015.
  11. "ชาวนาไทยพึ่งพระพิรุณ หลากสูตรขอฝน-สู้แล้ง". มติชนออนไลน์. 28 June 2015. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 6 July 2015.
  12. "สีสันการขอฝนจากหลายประเทศ ฝ่าวิกฤตภัยแล้ง ความหวังปาดน้ำตาประชาชน". เอ็มไทยดอตคอม. 12 May 2016. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-05-13. สืบค้นเมื่อ 13 May 2016.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]