แกงบอน
ประเภท | แกง |
---|---|
มื้อ | อาหารจานหลัก |
แหล่งกำเนิด | ไทย |
ส่วนผสมหลัก | เนื้อสัตว์ (เช่น หมูย่าง ปลาย่าง) ก้านบอน พริกแกงแบบแกงคั่ว กะทิ น้ำปลา น้ำตาลปี๊บ น้ำมะขามเปียก ใบมะกรูด |
แกงบอน หรือชาวอีสานเรียกว่า แกงนางหวาน เป็นอาหารไทยประเภทแกงกะทิ ทำจากก้านของต้นบอน มาต้มกับพริกแกงคั่วและกะทิ ปรุงรสด้วยน้ำปลา น้ำปลาร้า น้ำมะขามเปียก น้ำตาลปี๊บ แล้วโรยหน้าด้วยใบมะกรูด[1] เนื้อสัตว์ที่ใส่ เช่นหมูย่าง ปลาย่าง บางสูตรใส่ใบแมงลักลงไป
เนื่องจากบอนเป็นพืชที่มีพิษ หากนำมาปรุงอาหารโดยปฏิบัติไม่ถูกต้อง ผู้ที่กินจะเกิดอาการคันปากคันคอ รวมถึงผู้ปรุงอาหารจากบอนเองก็จะคันมือด้วย[2] คนไทยมีความเชื่อว่าหากจะปรุงอาหารจากบอน ห้ามพูดคำว่า "คัน" เพราะจะทำให้บอนนั้นคันอย่างที่ปากพูด[3] ในหนังสือ อาหารรสวิเศษของคนโบราณ (พ.ศ. 2531) ว่า "เคล็ดสำคัญมันอยู่ที่ว่า ต้องเลือกบอนที่ขึ้นชายตลิ่งริมท้องร่อง เมื่อปอกผิวบอนแล้วก็ให้เฉือนบอนลงไปในหม้อแกงที่กำลังเดือดอยู่นั่นแหละ จะไม่คัน"[4]
ประวัติ
[แก้]แกงบอนได้รับการกล่าวถึงในนิราศสุพรรณของสุนทรภู่ ความว่า[5]
๏ ชุมนักผักตบซ้อน | บอนแซง | |
บอนสุพรรณหั่นแกง | อร่อยแท้ | |
บอนบางกอกดอกแสลง | เหลือแหล่ แม่เอย | |
บอนปากยากจะแก้ | ไม่สริ้นลิ้นบอน ฯ |
ในหนังสือ อักขราภิธานศรับท์ (พ.ศ. 2416) ของหมอบรัดเลย์ กล่าวถึงบอนไว้ว่า "กินดิบคันปาก ทำให้สุกกับไฟแล้วกินไม่คัน"[3] ใน ตำรับอาหารวิทยาลัยในวัง (พ.ศ. 2536) และ อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพนางศักดิ์พลฤทธิ์ (พ.ศ. 2535) ให้ใช้พริกแกงแบบแกงคั่ว คือ ข่า ตะไคร้ ผิวมะกรูด เพิ่มในครกตำหอมแดง กระเทียม พริกแห้ง กะปิ ที่ต้องใส่มากคือรากกระชาย และต้องแกะเนื้อปลาต้มใส่ตำไปด้วย ในหนังสือ พลิกตำนานอาหารมอญพื้นบ้านไทย – รามัญ (พ.ศ. 2549) มีอาหารแกงบอนแบบมอญเมืองปทุมธานีที่เรียกว่า "ฟะกราว"[4]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "ทำความรู้จัก แกงบอน".
- ↑ "แกงบอน แกงโบราณ หาทานยาก ทำกินยังไง ไม่ให้คันปาก?". เส้นทางเศรษฐีออนไลน์.
- ↑ 3.0 3.1 "แกงบอน (นางหวาน) อาหารไทยที่ห้ามคนทำพูดว่า "คัน" – A Cuisine".
- ↑ 4.0 4.1 กฤช เหลือลมัย. ""แกงบอนสองยาย" รสมือโบราณ ย่านสวนไทรม้า". เทคโนโลยีชาวบ้าน.
- ↑ "โคลงนิราศสุพรรณ". วัชรญาณ.