ข้ามไปเนื้อหา

แกงฮังเล

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
แกงฮังเล
แกงฮังเลที่เชียงราย
ชื่ออื่นแกงฮี่นเล่
แหล่งกำเนิดไทย พม่า
ภูมิภาคภาคเหนือของไทย พม่า และสิบสองปันนาในจีน
ส่วนผสมหลักแกงใส่เนื้อสัตว์ เครื่องเทศ
รูปแบบอื่นแบบพม่า แบบเชียงแสน แบบไทใหญ่
พลังงาน
(ต่อ หน่วยบริโภค)
540 กิโลแคลอรี (2261 กิโลจูล)

แกงฮังเล หรือ แกงฮินเล เป็นอาหารไทยภาคเหนือประเภทแกงรสชาติเค็ม-เปรี้ยว แกงฮังเลมีต้นกำเนิดจากประเทศพม่า โดยคำว่า ฮี่น (ဟင်း) ในภาษาพม่าแปลว่า แกง และ เล่ (လေး) ในภาษาพม่าแปลว่า เนื้อสัตว์ แกงฮังเลได้รับความนิยมจากชาวไทยภาคเหนือ และแคว้นสิบสองปันนา ประเทศจีน

วิธีปรุงแกงฮังเลมีสองแบบคือแบบพม่าและแบบเชียงแสน โดยแบบพม่าได้รับความนิยมมากกว่า แกงฮังเลพม่ารสชาติออกเปรี้ยวเค็ม น้ำขลุกขลิก ใส่ขิง น้ำมะขามเปียก กระเทียมดอง ถั่วลิสง น้ำตาลอ้อย ส่วนแกงฮังเลเชียงแสนเพิ่มถั่วฝักยาว พริก หน่อไม้ดอง งาคั่ว ส่วนประกอบสำคัญจะต้องมีผงแกงฮังเลหรือผงมัสล่าซึ่งเป็นผงเครื่องเทศแบบผสมแบบเดียวกับการัม มาซาลาของอินเดีย น้ำพริกแกงประกอบด้วยพริกแห้ง เกลือ ข่าแก่ ตะไคร้ กระเทียม หอมแดง[1] แกงฮังเลแบบไทใหญ่ น้ำขลุกขลิกและกินกับมะม่วงสะนาบซึ่งเป็นมะม่วงสับ ยำกับกะปิคั่ว กุ้งแห้งป่น และกระเทียมเจียว[2]

ประเภท

[แก้]

แกงฮังเลมีสองแบบ คือ แกงฮังเลม่าน มีลักษณะเป็นแกงที่มีสีน้ำตาลแดง น้ำแกงขลุกขลิก มีน้ำมันลอยหน้าสีแดงส้มจากเครื่องแกง เนื้อสัมผัสของหมูเปื่อยนุ่ม รสเปรี้ยว เค็ม หวาน และเผ็ด แกงฮังเลอีกชนิดคือ แกงฮังเลเชียงแสน มีการนำผักพื้นบ้านตามฤดูกาลมาเพิ่มในส่วนผสม เช่น ถั่วฝักยาว มะเขือยาว มะเขือพวง พริก ผักชีฝรั่ง ใบชะพลู และหน่อไม้ดอง มีลักษณะคล้ายกับแกงโฮะ แต่แกงฮังเลเชียงแสนไม่มีวุ้นเส้นเป็นส่วนผสม มีส่วนของน้ำแกงเล็กน้อย สีของแกงออก สีเหลืองเขียวจากส่วนผสมของผัก[3]

อ้างอิง

[แก้]
  1. ญดา ศรีเงินยวงและชนิรัตน์ สำเร็จ. แกงไทย. กทม. แสงแดด. 2556 หน้า 56
  2. สิริรักษ์ บางสุด และ พลวัฒน์ อารมณ์. โอชะล้านนา. กรุงเทพฯ: แสงแดด. 2558 หน้า 187 และ 192
  3. ""แกงฮังเล" วัฒนธรรมและความเชื่อ". วารสารวไลยอลงกรณ์ปริทัศน์ (มนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์).