นางสิบสอง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

นางสิบสอง หรือ พระรถเมรี หรือ พระรถเสน และในกัมพูชาเรียก พุทธแสนนางกังรี (រឿងភ្នំនាងកង្រី​​) เป็นนิทานพื้นบ้านที่ได้รับความนิยมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่าง ประเทศไทย กัมพูชา พม่า และลาว รวมถึงในมาเลเซียที่เผยแพร่ผ่านชาวมาเลเซียเชื้อสายสยามจนภายหลังได้รับความนิยมในหมู่ชาวมาเลเซียเชื้อสายจีน[1]

ประวัติและฉบับ[แก้]

ราว พ.ศ. 2000 พระภิกษุชาวเชียงใหม่ได้แต่งชาดกในคัมภีร์พุทธศาสนาเรื่อง รถเสนชาดก ในปัญญาสชาดกเป็นภาษาบาลี[2]

วรรณคดีสมัยอยุธยาที่เอ่ยถึง นางสิบสอง เช่น โคลงนิราศหริภุญชัย กาพย์ห่อโคลงพระศรีมโหสถ นอกจากนี้หนังสือ จินดามณี ของพระโหราธิบดีซึ่งเชื่อว่าแต่งขึ้นในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้นำเอาข้อความซึ่งน่าจะตัดมาจากเรื่อง นางสิบสอง สำนวนใดสำนวนหนึ่งมาแสดงตัวอย่างการประพันธ์ "สุรางคณาปทุมฉันท์"

นางสิบสอง เป็นเรื่องที่สังคมไทยโบราณรู้จักแพร่หลาย มีการนำมาแต่งเป็นคำประพันธ์กาพย์ขับไม้ คำฉันท์ กลอนสวด หรือกาพย์ และคำกลอน โดยเฉพาะคำฉันท์นั้น พบไม่น้อยกว่า 3 สำนวน คำกลอนพบไม่น้อยกว่า 10 สำนวน เรื่อง พระรถคำฉันท์ ที่พบต้นฉบับและกรมศิลปากรจัดพิมพ์เผยแพร่แล้วมี 3 สำนวน ได้แก่ พระรถคำฉันท์ สำนวนที่ 1 บอกชื่อไว้ในเอกสารต้นฉบับว่า พระรถนิราศคำฉันท์ สันนิษฐานว่าน่าจะแต่งขึ้นในสมัยอยุธยาตอนปลายหลังรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พระรถคำฉันท์ สำนวนที่ 2 เข้าใจว่าน่าจะปรับปรุงแก้ไขจากพระรถคำฉันท์ สำนวนที่ 1 และ พระรถคำฉันท์ สำนวนที่ 3 บอกชื่อเรื่องไว้ในเอกสารสมุดไทยว่า พระรถคำหวน สำนวนนี้น่าจะแต่งขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ส่วน พระรถนิราศ ในลักษณะคำกลอน น่าจะเป็นผลงานของเจ้าพระยาพระคลัง (หน)[3]

ในภาคเหนือและภาคอีสานของไทยรวมถึงในลาวปรากฏชื่อว่า พุทธเสนกะ พุทธเสน พุทธเสนากะ และ นางสิบสอง เขตไทใหญ่ของรัฐฉานเรียก นางสิบสองเมืองนาย เขตไทลื้อและไทขึนเรียก จันทโสภานางสิบสอง[4]

พงศาวดารล้านช้างกล่าวถึงตำนานของชาวล้านช้างซึ่งเป็นชนเผ่าไทยกลุ่มหนึ่งว่าสืบเชื้อสายมาจากนางกังรีหรือนางเมรีในเรื่องพระรถเสน

ฉบับตีพิมพ์ หลวงศรีอมรญาณที่รวมรวมเรียบเรียงพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2476 ในชื่อ นิทานร้อยแก้วเรื่องพระรถเสน ฉบับ พระรถ สำนวนนายบุศย์ พิมพ์ที่โรงพิมพ์ราษฎร์เจริญในปี พ.ศ. 2492 ที่เป็นกลอนอ่านมี พระรถเมรีกลอนสุภาพ ของ ส.เลี้ยงถนอม พิมพ์ พ.ศ. 2512[5]

เนื้อหา[แก้]

ชื่อและเนื้อหาปลีกย่อยแต่ละสำนวนแตกต่างกันไป แต่มีเนื้อเรื่องทำนองว่าพ่อแม่ยากจนเข็ญใจพาลูกสาว 12 คนไปปล่อยป่า นางยักษ์มาพบ จึงไปเลี้ยงจนโต นางยักษ์ก็มีหลายชื่อเช่น สารตรา กังรี พอนางสิบสองนางรู้ความจริงว่าเป็นยักษ์ จึงคิดหนีโดยหนีไปแต่งงานกับพระราชา ได้เป็นมเหสีทั้งสิบสององค์

นางยักษ์ตามไปแก้แค้น แปลงเป็นสาวสวยหลอกให้พระราชารัก นางยักษ์ควักลูกตานางทั้งสิบสองแล้วเอาไปขังไว้ทั้งสิบสองนางมีลูก คลอดลูก แล้วต้องฆ่าลูกตัวเองกินเพราะหิว

นางสิบสองคนสุดท้องไม่ยอมฆ่า แอบเลี้ยงลูกจนโตคือ พระรถ หรือพระรถเสน เมื่อนางยักษ์รู้ หลอกพระรถให้ไปเมืองยักษ์ ฝากสารลับให้นางเมรี (ลูกสาว) ฆ่าพระรถ มีคนช่วยแปลงสารลับให้เป็นสารรัก นางเมรีจึงแต่งงานกับพระรถ

พระรถมอมเหล้านางเมรี หลอกถามความลับเอาดวงตาและของวิเศษกลับมาช่วยแม่และป้า นางเมรีตามมา พระรถไม่ยอมกลับ นางเมรีเลยตรอมใจตาย ส่วนสิบสองนางได้ตาคืน อยู่ดีมีความสุข นางยักษ์เห็นพระรถเลยกระอักเลือดตาย

สถานที่อันเกี่ยวเนื่องกับนิทาน[แก้]

ภาคตะวันออกของประเทศไทยแถบจังหวัดชลบุรี ฉะเชิงเทรา และปราจีนบุรี มีสถานที่เกี่ยวข้องกับนิทานหลายแห่ง โดยเฉพาะที่อำเภอพนัสนิคม อย่างเมืองที่ชื่อ เมืองพระรถ ถ้ำนางสิบสอง หมอนนางสิบสอง สระสี่เหลี่ยม มีเมืองพญาเร่ตั้งอยู่ที่อำเภอบ่อทอง จังหวัดชลบุรี[6]

ที่จังหวัดพังงามีเขาอกเมรี ที่จังหวัดนครศรีธรรมราชมีหมู่บ้านสนทรา[7] ที่กัมพูชามีภูเขานางกังรี ในจังหวัดกำปงฉนัง ปราสาทซัวปรัตในเสียมเรียบ ชาวบ้านเรียกปราสาทนี้ว่าเป็นปราสาทนางสิบสอง[8]

อ้างอิง[แก้]

  1. "The Thai Menora in Malaysia: Adapting to the Penang Chinese Community" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2011-08-12. สืบค้นเมื่อ 2012-09-15.
  2. ธนกฤต ก้องเวหา. "รักรันทด "พระรถเมรี" เรื่อง(เบื้อง)หลังสำนวน "ฤๅษีแปลงสาร"". ศิลปวัฒนธรรม.
  3. บุญเตือน ศรีวรพจน์. "พระรถเสน: จากกาพย์ขับไม้สู่บทมโหรี". มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.
  4. ดวงหทัย ลือดัง. "พุทธเสนกะกับภาพสะท้อนสังคมล้านนา". มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.
  5. "พระรถเมรี มากกว่าโศกนาฏกรรม ของความรัก" (PDF). วัฒนธรรม. โรงพิมพ์สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ. 55 (2): 38.
  6. "ตำนานพระรถเมรี อำเภอพนัสนิคม". ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม.
  7. อินทิรา บุณยาทร. "การศึกษาพระรถเมรี ฉบับตำบลร่อนพิบูลย์" (PDF). มหาวิทยาลัยศิลปากร.
  8. จริยา สุพรรณ. "นิทานเรื่องนางสิบสอง-พระรถเมรีที่ประเทศกัมพูชา: เรื่องเล่าจากภาคสนาม". มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.