ข้ามไปเนื้อหา

สุรา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สุราต่าง ๆ
สุราที่วางขายในร้าน

สุรา หรือภาษาไทคําดั้งเดิม เหล้า (อังกฤษ: liquor หรือ spirit) หมายถึง น้ำเมาที่ได้จากการกลั่นสารบางประเภท อาทิ เอทิลแอลกอฮอล์ และ เมรัย คือ น้ำเมาที่เกิดจากการหมักหรือแช่ให้เกิดสารบางประเภท เมื่อดื่มแล้วสารนั้นจะออกฤทธิ์กดระบบประสาทส่วนกลาง หากดื่มไม่มากอาจรู้สึกผ่อนคลายเนื่องจากสารกดจิตใต้สำนึกที่คอยควบคุมตนเองทำให้กล้าแสดงออกมากขึ้น แต่เมื่อดื่มมากขึ้นก็จะกดสมองบริเวณอื่น ๆ ทำให้เสียการทรงตัว พูดไม่ชัด จนแม้กระทั่งหมดสติในที่สุด

ประเทศต่าง ๆ ได้วางกฎเกณฑ์สำหรับการผลิต การขาย และการบริโภคเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ตัวอย่างเช่น กฎหมายที่กำหนดอายุขั้นต่ำสำหรับผู้ที่สามารถบริโภคได้อย่างถูกกฎหมาย ซึ่งแตกต่างกันในแต่ละประเทศ เช่น อายุไม่ต่ำกว่า 16 ปีสำหรับประเทศเยอรมนี ฝรั่งเศส ออสเตรียและสวิสเซอร์แลนด์, ไม่ต่ำกว่า 20 ปีในประเทศไทย หรือไม่ต่ำกว่า 21 ปีในสหรัฐอเมริกา

การบริโภคทั้งสุราและเมรัยเป็นข้อห้ามในข้อสุราเมรยมัชปมาทัฏฐานหรือข้อที่ 5 แห่งเบญจศีลของพุทธศาสนา ซึ่งว่า "สุราเมรยมชฺชปมาทฏฺฐานา เวรมณี สิกฺขาปทํสมาทิยามิ" แปลได้ว่า "เราจักถือศีลโดยเว้นจากการบริโภคสุรายาเมาอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท"

การผลิต

[แก้]

การทำเมรัยอาศัยยีสต์ซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กชนิดหนึ่งเปลี่ยนน้ำตาลให้เป็นแอลกอฮอล์ เมรัยผลิตได้จากวัตถุดิบทุกอย่างที่มีน้ำตาล แต่มีชื่อเรียกแตกต่างกันไป เมรัยทำจากน้ำตาลโตนดเรียกว่าน้ำตาลเมาหรือตวาก จากน้ำตาลขององุ่นเรียกว่าไวน์ เป็นต้น มนุษย์ยังรู้จักใช้เชื้อรา (บางชนิด) เปลี่ยนแป้งให้เป็นน้ำตาลได้ ทุกอย่างที่เป็นแป้ง เช่น ข้าว ข้าวโพด ข้าวฟ่าง ข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ สามารถใช้ผลิตเมรัยได้ สาโท น้ำขาว อุ และ กระแช่ ผลิตจากแป้ง หากต้องการให้มีฤทธิ์แรงขึ้นก็นำเอาไปกลั่นเป็นสุรา หลังจากนั้นสามารถนำไปดื่มหรือนำไปหมักหรือบ่มต่อไป

เภสัชวิทยาของเหล้า

[แก้]

เหล้ามีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบที่สำคัญ แม้ว่าในเหล้าชนิดต่าง ๆ ยังมีสารอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดเอกลักษณ์ของเหล้าชนิดนั้น ๆ โดยเฉพาะเหล้าที่นำมาหมักดองกับสมุนไพรเพื่อปรุงแต่งสี กลิ่น รสชาติและสรรพคุณ เช่น เหล้าดองยาของไทย เหล้าเซี่ยงชุนของจีน เหล้าแคมปารี ของอิตาลี เป็นต้น สารปรุงแต่งเหล่านี้เมื่อดื่มในปริมาณมาก หรือ ติดต่อกันเป็นเวลานาน ก็อาจส่งผลอย่างใดอย่างหนึ่งต่อผู้ดื่มได้ แต่เมื่อดื่มในระยะเฉียบพลัน อาการต่าง ๆ ของผู้ดื่มนับได้ว่าเกิดจากฤทธิ์ของแอลกอฮอล์ทั้งสิ้น

แอลกอฮอล์เป็นของเหลว ใส ระเหยได้ง่าย ละลายน้ำได้ดี มีกลิ่นเฉพาะตัว และ ติดไฟได้ง่าย แอลกอฮอล์เป็นสารประกอบอินทรีย์ที่ประกอบไปด้วยคาร์บอน ไฮโดรเจน และ ออกซิเจน มีฤทธิ์กดระบบประสาทส่วนกลาง ความรุนแรงของการออกฤทธิ์ขึ้นอยู่กับปริมาณของแอลกอฮอล์ที่มีอยู่ในกระแสโลหิต แอลกอฮอล์ที่กินได้ คือแอลกอฮอล์ชนิดเอทิล ส่วนแอลกอฮอล์ชนิดอื่นล้วนกินไม่ได้และเป็นพิษต่อร่างกายมากยิ่งไปกว่าเอทิล ถ้าเอาแอลกอฮอล์ชนิดอื่น เช่น เมทิลแอลกอฮอล์มาผสมเป็นเหล้า กินเข้าไปแล้วทำให้ปวดหัว ตาพร่า จนบอด และถึงกับเสียชีวิตได้

เมื่อกินเหล้าเข้าไปผ่านกระเพาะอาหารไปสู่ลำไส้เล็ก แอลกอฮอล์ในเหล้าจะถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสโลหิตและกระจายไปทั่วร่างกาย เมื่อกินอาหารมาก่อน แอลกอฮอล์ใช้เวลา 1 ถึง6 ชั่วโมง จึงจะถูกดูดซึมไปถึงระดับสูงสุดในเลือด แต่ถ้ากินเหล้าในขณะที่ท้องว่าง แอลกอฮอล์ใช้เวลาถูกดูดซึมสู่ ระดับสูงสุดในเลือด เพียง 30 นาที ถึง 2 ชั่วโมง แอลกอฮอล์ในร่างกายถูกกำจัดโดยตับเป็นส่วนใหญ่ (95 เปอร์เซ็นต์) ที่เหลือถูกขับออกทางลมหายใจ ปัสสาวะ เหงื่อ อุจจาระ น้ำนม และน้ำลาย

แอลกอฮอล์ทำให้หลอดเลือดขยายตัว เกิดการสูญเสียความร้อนจากร่างกาย แอลกอฮอล์ในปริมาณมากทำลายเยื่อบุกระเพาะอาหารทำให้เกิดอาการอักเสบและเป็นแผลในกระเพาะอาหารได้ แอลกอฮอล์ยังมีฤทธิ์ขับปัสสาวะ ผู้ที่กินเหล้าจึงปัสสาวะบ่อย สูญเสียน้ำและรู้สึกกระหายน้ำมากในเวลาต่อมา อีกประการหนึ่ง บรรยากาศวงเหล้า ผนวกกับพลังงานที่ได้จากเหล้ามักทำให้ผู้ดื่มไม่รู้สึกอยากอาหาร ดังนั้นผู้ที่กินเหล้าเป็นนิจจึงอาจขาดสารอาหารได้ ที่สำคัญแอลกอฮอล์ทำให้เกิดความเสียหายที่เนื้อตับ คนกินเหล้าจึงมีโอกาสเป็นตับอักเสบมากกว่าคนไม่กินและอาจพัฒนาไปถึงขั้นตับวายได้

เหล้ากับคน

[แก้]

มีความเชื่อต่าง ๆ เกี่ยวกับฤทธิ์ของเหล้าและแอลกอฮอล์ ถูกบ้างผิดบ้าง ผู้ที่นิยมดื่มก็มักอ้างฤทธิ์อันเป็นคุณของเหล้าหรือแอลกอฮอล์มาบดบังฤทธิ์ที่ก่อให้เกิดโทษซึ่งมีมากกว่าหลายเท่านัก เช่น แอลกอฮอล์มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อโรคได้จริงแต่ไม่สามารถทำลายไข่หรือตัวอ่อนของพยาธิที่ปะปนมากับกับแกล้มดิบ ๆ สุก ๆ ได้ และยิ่งไม่สามารถฆ่าพยาธิ์ตัวแก่ในลำไส้ได้ หรืออีกตัวอย่างหนึ่ง แอลกอฮอล์มีฤทธิ์ขยายหลอดเลือด ผู้นิยมดื่มก็มักอ้างว่ากินเหล้าเพื่อให้เลือดลมดี ซึ่งก็เป็นจริงเมื่อกินเหล้าในปริมาณน้อย (ถึงน้อยมาก) แต่เมื่อกินเหล้ามาก แอลกอฮอล์จะกดระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้พูดจาไม่ชัด ทรงตัวลำบาก สายตาพร่ามัว ขาดสติ ตับแข็ง และอาจเกิดอันตรายนานับปการต่อผู้ดื่มและคนรอบข้าง นอกจากนั้นแล้วการดื่มสุรามากจะทำให้ความสามารถในการใช้ชีวิตประจำวันลดลง เช่น การขับรถ การทำงานที่เกี่ยวกับเครื่องจักร เป็นต้นอาจจะทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้

การเลิกเหล้า

[แก้]

เนื่องจากเหล้าและแอลกอฮอล์เป็นเครื่องดื่มมึนเมา ทำให้ขาดสติ ผู้ดื่มมีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคต่างๆ จากสุราทั้งแบบเฉียบพลันและแบบเรื้อรัง และอาจก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่คนหมู่มาก[1] ยิ่งไปกว่านั้นยังต้องเสียภาษีให้รัฐบาลในอัตราที่สูงมากด้วย[2] ซึ่งกระทบกับการเงินของตนเอง กระทบต่อความเป็นอยู่ของคนรอบข้าง ดังเช่นคำกล่าวที่ว่า 'เงินพ่อลงขวดเหล้า ใครจะซื้อกับข้าวให้หนู'[3] รัฐบาลจึงมีนโยบายรณรงค์ เรื่อง 'ให้เหล้าเท่ากับแช่ง'[4] โดยมีชุดพวงหรีดเป็นไฮไลท์ประกอบแคมเปญเพื่อรณรงค์[5] และมีสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ "การเลิกเหล้า" สำหรับผู้ดื่ม โดยสามารถปรึกษาแพทย์ที่คลินิคเพื่อการเลิกสุราในโรงพยาบาลของรัฐ[6] หรือสามารถโทรศัพท์ไปที่ 'สายด่วนเลิกเหล้า 1413' ของศูนย์ปรึกษาเพื่อการเลิกสุราและการเสพติด ภายใต้คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย[7] ได้อีกทางหนึ่ง

ประเภท

[แก้]
วัตถุดิบ ผลิตผลที่ทำโดยการหมัก (เมรัย) ผลิตผลที่ทำโดยการกลั่น (สุรา)
ข้าวบาร์เลย์ เบียร์ เอล ไวน์บาร์เลย์ สก๊อตวิสกี้ ไอริชวิสกี้, ยิน
ข้าวไรย์ เบียร์ข้าวไรย์ วิสกี้ข้าวไรย์ Roggenkorn กอร์น (เยอรมนี)
ข้าวโพด เบียร์ข้าวโพด เหล้าข้าวโพด, เบอร์เบิ้นวิสกี้
ข้าวสาลี เบียร์ข้าวสาลี วิสกี้, Weizenkorn (เยอรมนี)
ข้าว เหล้าสาเก, sonti, makkoli, tuak, thwon โชจู อะวะโมะริ (ญี่ปุ่น), โซจู (เกาหลี), หวงจิ่ว เชาจิ่ว (จีน)
ผลไม้ที่ไม่ใช่แอปเปิลและลูกแพร์ ไวน์ (ส่วนใหญ่ทำจากองุ่น) บรั่นดี, คอนญัก (ฝรั่งเศส), Branntwein (เยอรมนี), ปิสโก (ชิลีและเปรู)
แอปเปิล ("hard") เหล้าแอปเปิล, apfelwein (เยอรมนี) บรั่นดีแอปเปิล, กาลวาโดส, cider, lambig
แพร์ perry, or pear cider pear brandy
อ้อยหรือกากน้ำตาล basi, betsa-betsa (regional) เหล้ารัม, cachaça, aguardiente, guaro, โชจู (ญี่ปุ่น)
อะกาเว pulque เตกีลา (เม็กซิโก), mezcal
ลูกพลัม ไวน์พลัม slivovitz, tzuica, palinca
กากผลไม้ pomace wine tsipouro, raki, tsikoudia (กรีซ), grappa (อิตาลี), Trester (เยอรมนี), marc (ฝรั่งเศส), zivania (ไซปรัส)
น้ำผึ้ง เหล้าน้ำผึ้ง น้ำผึ้งหมัก
มันฝรั่ง หรือ ธัญพืช เบียร์มันฝรั่ง วอดก้า (โปแลนด์และรัสเซีย) ส่วน aquavit หรือ brännvin (สวีเดน), akvavit (เดนมาร์ค), akevitt (นอร์เวย์), brennivín (ไอซ์แลนด์) ทำจากมันฝรั่งของไอร์แลนด์, Poitín, โชจู (ญี่ปุ่น)
นม เหล้านมม้า Araka


อ้างอิง

[แก้]
  1. "สถานการณ์ปัญหาผลกระทบจากการดื่มของผู้อื่น ภัยเหล้ามือสองของประเทศไทย – Centre for Alcohol Studies".
  2. กรมสรรพสามิต. 2566. การจัดเก็บภาษีและการคำนวณภาษีสุรา. (Online). https://www.excise.go.th/cs/groups/public/documents/document/mjaw/mdy1/~edisp/webportal16200065697.pdf สืบค้นเมื่อ 19 ธันวาคม 2566.
  3. "เงินพ่อลงขวดเหล้า ใครจะซื้อกับข้าวให้หนู". www.sanook.com/health. 2017-08-11.
  4. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ. 2557. คนไทยเห็นด้วย “ให้เหล้าเท่ากับแช่ง”. (Online). https://www.thaihealth.or.th/คนไทยเห็นด้วย-ให้เหล้า/ สืบค้นเมื่อ 19 ธันวาคม 2566.
  5. โฆษณารณรงค์สสส. แคมเปญ ให้เหล้าเท่ากับแช่ง ชุด ให้พวงหรีด, สืบค้นเมื่อ 2023-12-19
  6. "คลินิกเลิกบุหรี่/สุรา | Bangkruai Hospital" (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 2019-10-03.
  7. "ศูนย์ปรึกษาปัญหาสุรา 1413.in.th". www.1413.in.th.
  • Blue, Anthony Dias (2004). The Complete Book of Spirits: A Guide to Their History, Production, and Enjoyment. New York: HarperCollins Publishers. p. 324. ISBN 0-06-054218-7.
  • Forbes, Robert. Short History of the Art of Distillation from the Beginnings up to the Death of Cellier Blumenthal. Brill Academic Publishers; ISBN 90-04-00617-6; hardcover, 1997.
  • Multhauf, Robert, The Origins of Chemistry. Gordon & Breach Science Publishers; ISBN 2-88124-594-3; paperback, 1993.

ดูเพิ่ม

[แก้]