ปะทานุกรม การทำของคาวหวานอย่างฝรั่งแลสยาม
ผู้ประพันธ์ | นักเรียนดรุณีโรงเรียนกุลสตรีวังหลัง |
---|---|
ประเทศ | ประเทศไทย |
ภาษา | ภาษาไทย |
ประเภท | ตำราอาหาร |
ปะทานุกรม การทำของคาวหวานอย่างฝรั่งแลสยาม เป็นตำราอาหาร แปลและเรียบเรียงโดยนักเรียนดรุณีโรงเรียนกุลสตรีวังหลัง พิมพ์ครั้งแรกที่โรงพิมพ์พวกครูอเมริกัน เมื่อ ค.ศ. 1898 ตรงกับ พ.ศ. 2441 ถือเป็นตำราอาหารของไทยฉบับพิมพ์ที่เก่าแก่ที่สุด มีอายุการพิมพ์เก่ากว่า แม่ครัวหัวป่าก์ ซึ่งพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2451[1] ในการพิมพ์ครั้งแรกนั้นอาจมีการพิมพ์เพียงครั้งเดียวยอดพิมพ์มีจำนวนน้อย คือจำนวนพิมพ์คงใกล้เคียงกับจำนวนนักเรียนดรุณี โรงเรียนกุลสตรีวังหลัง จุดประสงค์เพื่อจำหน่ายจ่ายแจกให้เพียงพอกับจำนวนนักเรียน สันนิษฐานว่าอาจจะมีจำนวนการพิมพ์ไม่มากไม่น่าจะเกิน 300 เล่ม คำนำในตำราเล่มนี้ระบุว่าพิมพ์ขึ้นไว้เพื่อ "แม่หนูดรุณีจะได้ฝึกหัด"[2]
เนื้อหาประกอบด้วยวิธีการทำอาหารไทยและอาหารฝรั่ง โดยอาหารฝรั่งใช้มาตราชั่งตวงแบบยุโรป ส่วนอาหารไทยใช้มาตราตวงวัดแบบไทย[3]
อาหารฝรั่งมีทั้งคาวและหวานประมาณ 140 ชนิด เช่น ซุปไก่ ซุปกระต่าย ซุปมันเทศ ซุปหอยนางรม ทอดปลาไหล ทอดไก่ ทอดหอยแคลง ทอดนกพิราบ ปิ้งกระต่าย ปิ้งเนื้อโค ปิ้งเนื้อโคแท่ง เนื้อโคม้วน ปิ้งมันฝรั่ง ปิ้งมะเขือเทศ ขนมชอกโกแลต ขนมขิง ขนมองุ่น ขนมคุกกี พุดดิงผลไม้ พุดดิงขนมปัง พุดดิงมะพร้าว พุดดิงสมเด็จพระนาง เป็นต้น ส่วนอาหารไทยมีประมาณ 36 ชนิด เช่น แกงเป็ดน้ำ แกงนกพิราบ แกงเทโพ แกงมัสมั่น แกงส้มปลาช่อนกับผลลางสาดเครื่องพริกขิง แกงคั่วกุ้ง แกงเผ็ดลูกชิ้นปลากราย ต้มยำปลาหมอ ต้มยำกุ้งทรงเครื่อง ต้มยำกุ้งเห็ดโคน ยำใหญ่ ยำพริกอ่อน พล่ากุ้งสด และพล่าดอกพยอม เป็นต้น[4]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ เปลี่ยน ภาสกรวงศ์. แม่ครัวหัวป่าก์ (PDF). สถาพรบุ๊คส์. p. 12.
- ↑ พลอย จริยะเวช. "แกะรอยประวัติศาสตร์ตัวตนขนมไทยจากกลอนและตำราอาหารโบราณ". เดอะคลาวด์.
- ↑ อภิลักษณ์ เกษมผลกูล. "เมื่อ "ตำรากับข้าวชาววัง" ออกสู่โลกกว้าง: กำเนิดและพัฒนาการของ "ตำรากับข้าวชาววัง" ในสมัยรัชกาลที่ 5 จนถึงการตั้งโรงเรียนสตรี". คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. doi:10.14456/vannavidas.2017.14.
{{cite journal}}
: Cite journal ต้องการ|journal=
(help) - ↑ "ประวัติศาสตร์วัฒนธรรมการกินอาหารไทยตั้งแต่อดีตจนถึงก่อนรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม".