เหตุจลาจลในพนมเปญ พ.ศ. 2546

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เหตุจลาจลในพนมเปญ พ.ศ. 2546
ปฏิบัติการโปเชนตง 1[1]
วันที่29-30 มกราคม พ.ศ. 2546
สถานที่
ผล อพยพพลเมืองไทยทั้งหมดออกจากพนมเปญได้อย่างปลอดภัย
คู่สงคราม
 ไทย
กัมพูชา รัฐบาลกัมพูชา
ผู้ประท้วงชาวกัมพูชา
ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ

ไทย ทักษิณ ชินวัตร
สุรยุทธ์ จุลานนท์
สมทัต อัตตะนันทน์
คงศักดิ์ วันทนา
ทวีศักดิ์ โสมาภา
ฝ่ายกัมพูชา:

กัมพูชา เตีย บัญ
ไม่ทราบ
กำลัง


ซี-130 เฮอร์คิวลิส 5 เครื่อง
อลิเนีย จี.222
ตำรวจกัมพูชา 600 นาย


หน่วยเสริม:

เรือหลวงจักรีนฤเบศร
เรือฟริเกต 4 ลำ
ผู้ประท้วง ~1300 คน

เหตุจลาจลในพนมเปญ พ.ศ. 2546 หรือชื่อทางการทหารว่า ปฏิบัติการโปเชนตง[2] เริ่มต้นขึ้นเมื่อบทความในหนังสือพิมพ์กัมพูชาฉบับหนึ่งกล่าวหาอย่างผิด ๆ ว่านักแสดงหญิงไทยคนหนึ่งอ้างว่านครวัดเป็นของประเทศไทยในเดือนมกราคม พ.ศ. 2546 สื่อสิ่งพิมพ์และสื่อวิทยุกัมพูชาอื่น ๆ ได้หยิบยกเอารายงานดังกล่าวและปลุกความรู้สึกชาตินิยมเพิ่มขึ้นไปอีกจนทำให้เกิดการจลาจลในพนมเปญเมื่อวันที่ 29 มกราคม ซึ่งสถานทูตไทยถูกเผาและมีการปล้นสะดมทรัพย์สินของธุรกิจไทยในกัมพูชา เหตุจลาจลดังกล่าวสะท้อนถึงความสัมพันธ์ในประวัติศาสตร์ที่ไม่แน่นอนระหว่างประเทศไทยและกัมพูชา ตลอดจนปัจจัยทางเศรษฐกิจ วัฒนธรรม และการเมืองที่พัวพันกับทั้งสองประเทศ

เบื้องหลัง[แก้]

ทางประวัติศาสตร์[แก้]

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและกัมพูชามีความไม่แน่นอนอย่างมาก สะท้อนภาพของการแบ่งการปกครองเป็นนครรัฐมากกว่ารัฐชาติ โดยนครรัฐเหล่านี้ผูกรวมเข้าด้วยกันโดยจักรวรรดิที่มีความสัมพันธ์ทางการเมือง การทหารและรัฐบรรณาการที่เข้มแข็งกว่า ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 14 ศูนย์กลางอำนาจของไทยย้ายจากอาณาจักรสุโขทัย มายังอาณาจักรอยุธยาที่อยู่ทางตอนใต้ ในพื้นที่ซึ่งในอดีตเคยเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิขะแมร์ ภัยคุกคามของอยุธยาที่มีต่อนครธมได้เพิ่มมากขึ้นเมื่ออำนาจของอยุธยาเริ่มแข็งแกร่ง และในคริสต์ศตวรรษที่ 15 นครธมก็ถูกตีแตกโดยกองทัพอยุธยา

ในหลายศตวรรษถัดมา กองทัพอยุธยาได้รุกล้ำเข้าไปในกัมพูชาอยู่หลายครั้ง ตลอดช่วงเวลาส่วนใหญ่ของคริสต์ศตวรรษที่ 19 กัมพูชาตอนเหนือ ซึ่งรวมไปถึงนครธม ได้เป็นรัฐบรรณาการที่ขึ้นตรงกับไทย ระดับความมีเอกราชของรัฐเหล่านี้ไม่แน่นอนขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์กับชนชั้นปกครองของไทย, กัมพูชาและผู้ล่าอาณานิคมฝรั่งเศส

พ.ศ. 2450 ไทยได้เสียดินแดนกัมพูชาตอนเหนือให้กับฝรั่งเศสเป็นครั้งแรก ในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1930 เหตุการณ์ดังกล่าวได้กลายมาเป็นพื้นฐานของคำกล่าวอ้างของรัฐบาลชาตินิยมว่าดินแดนดังกล่าวเป็น "ดินแดนที่สูญเสียไป" อันเป็นของประเทศไทยโดยชอบธรรม คำกล่าวอ้างดังกล่าวยังมีต่อไปจนกระทั่งคริสต์ทศวรรษ 1950

ทางเศรษฐกิจ[แก้]

อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยที่สูงระหว่างคริสต์ทศวรรษ 1980 และ 1990 ทำให้เศรษฐกิจไทยถือเป็นหนึ่งในเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตรงกันข้ามกับการปกครองภายใต้รัฐบาลเขมรแดงและสงครามกลางเมืองกัมพูชา ซึ่งยังทำให้กัมพูชายังอ่อนแอทางเศรษฐกิจ ผลที่ตามมาคือ ชาวไทยได้เข้าควบคุมเศรษฐกิจกัมพูชา ซึ่งก่อให้เกิดความไม่พอใจในหมู่ชาวกัมพูชา

ทางวัฒนธรรม[แก้]

เมื่อเทียบกับกัมพูชาแล้ว ประเทศไทยมีประชากรสูงกว่ามากและเปิดรับเอาอิทธิพลตะวันตกเข้ามามากกว่าด้วย ปัจจัยดังกล่าวได้ทำให้ประเทศไทยมีอิทธิพลทางวัฒนธรรมต่อดนตรีและโทรทัศน์ของกัมพูชา ซึ่งทำให้ชาวกัมพูชาจำนวนมากเข้าใจว่าคนไทยเป็นพวกหยิ่งยโสและเหยียดเชื้อชาติต่อประเทศเพื่อนบ้านของตน

สาเหตุของการจลาจล[แก้]

บทความในหนังสือพิมพ์กัมพูชา รัศมี อังกอร์ วันที่ 18 มกราคม มีเนื้อหากล่าวหาว่านักแสดงหญิงชาวไทย สุวนันท์ คงยิ่ง ได้กล่าวว่ากัมพูชาได้ขโมยนครวัดไปจากไทย และกล่าวว่าเธอจะไม่เดินทางมากัมพูชาจนกว่านครวัดจะกลับคืนเป็นของไทย บรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ดังกล่าวได้อ้างแหล่งข้อมูลว่ามาจากเรื่องที่เขียนขึ้นโดยกลุ่มชาตินิยมเขมรผู้ซึ่งระบุว่าพวกเขามองเห็นสุวนันท์ทางโทรทัศน์ ไม่มีหลักฐานสนับสนุนการกล่าวอ้างของหนังสือพิมพ์ดังกล่าว และดูเหมือนว่ารายงานดังกล่าวเป็นข้อเท็จจริงที่ถูกแต่งขึ้นหรือเกิดขึ้นจากความเข้าใจผิดในสิ่งที่ตัวละครของสุวนันท์ได้กล่าวออกมา นอกจากนี้ ยังมีการระบุอีกว่า รายงานดังกล่าวมาจากกลุ่มคู่แข่งที่ต้องการสร้างความเสื่อมเสียแก่สุวนันท์ ผู้ซึ่ง "เป็นหน้าเป็นตา" ของบริษัทเครื่องสำอางแห่งหนึ่ง

รายงานดังกล่าวได้รับการหยิบยกขึ้นโดยวิทยุและสื่อตีพิมพ์เขมร ตลอดจนบทความของหนังสือพิมพ์รัศมี อังกอร์ได้รับการแจกจ่ายในโรงเรียน วันที่ 27 มกราคม นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ฮุน เซน ได้ย้ำการกล่าวหานี้ และกล่าวว่าสุวนันท์ "ไม่มีค่าเทียบได้กับใบหญ้าใกล้กับเทวสถาน" วันที่ 28 มกราคม รัฐบาลกัมพูชาสั่งห้ามรายการโทรทัศน์ไทยทั้งหมดในประเทศ [3]

เหตุจลาจล[แก้]

วันที่ 29 มกราคม ผู้ก่อการจลาจลได้โจมตีสถานทูตไทยในพนมเปญ ซึ่งได้ส่งผลให้อาคารดังกล่าวถูกทำลาย ม็อบยังได้โจมตีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของธุรกิจของคนไทย รวมทั้งการบินไทยและชินคอร์ป ซึ่งครอบครัวของทักษิณ ชินวัตรเป็นเจ้าของ ภาพถ่ายของชายชาวกัมพูชากำลังเผาพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้สร้างความโกรธแค้นให้กับคนไทยจำนวนมาก มีการชุมนุมประท้วงนอกสถานทูตกัมพูชาในกรุงเทพมหานคร

ผู้รับผิดชอบสำหรับเหตุจลาจลดังกล่าวไม่แน่ชัด ฮุน เซ็น ถือว่าความล้มเหลวของรัฐบาลในการป้องกันเหตุจลาจลดังกล่าวเป็นเพราะ "ไร้สมรรถภาพ" และกล่าวว่าเหตุจลาจลดังกล่าวมีการปลุกปั่นยุยงโดย "กลุ่มหัวรุนแรง" ประธานสมัชชาแห่งชาติ เจ้านโรดม รณฤทธิ์ กล่าวอ้างว่า สม รังสี ผู้นำฝ่ายค้านได้อยู่เบื้องหลังเหตุโจมตีดังกล่าว ในขณะที่สม รังสี กล่าวว่าเขาพยายามป้องกันมิให้เกิดความรุนแรง

ในบริบทที่มีการข่มขู่และความรุนแรงที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องซึ่งได้รับการกระตุ้นจากฮุน เซ็น ในช่วงก่อนหน้าการเลือกตั้งใน พ.ศ. 2546 หลายคนจึงเชื่อว่าเหตุจลาจลดังกล่าวเป็นเพียงหนึ่งในกลยุทธ์เหล่านี้ที่ไม่อยู่ภายใต้การควบคุม

เหตุการณ์สืบเนื่อง[แก้]

หลังจากเกิดการจลาจลขึ้น รัฐบาลไทยได้ส่งเครื่องบินทหารไปอพยพชาวไทย รวมไปถึงนักการทูตทั้งหมดออกจากกัมพูชา และขับนักการทูตกัมพูชาออกนอกประเทศเพื่อเป็นการตอบโต้ พร้อมกับสั่งปิดพรมแดนของประเทศที่ติดกับกัมพูชา [4] แต่ก็ห้ามไม่ให้ผ่านเฉพาะชาวไทยและชาวกัมพูชาเท่านั้น ได้มีการเปิดพรมแดนอีกครั้งหนึ่งเมื่อวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2546 หลังจากรัฐบาลกัมพูชาจ่ายเงิน 6 ล้านเหรียญสหรัฐเป็นค่าชดเชยสำหรับสถานทูตไทยที่ถูกทำลายไป ในช่วงการชุมนุมประท้วงต่อต้านนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ใน พ.ศ. 2549 นักการทูตไทยที่มีอิทธิพลหลายคน รวมทั้งอดีตเอกอัครราชทูตประจำสหประชาชาติ อัษฎา ชัยนาม และอดีตเอกอัครราชทูตประจำเวียดนาม สุรพงษ์ ชัยนาม ได้กล่าวหาว่ามีการจ่ายค่าชดเชยจริงเพียงครึ่งเดียว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้ปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าว[5] รัฐบาลกัมพูชายังได้ตกลงว่าจะชดเชยธุรกิจไทยที่ได้รับความเสียหายด้วย โดยจะมีการเจรจาแยกต่างหาก

ไม่นานหลังเกิดเหตุจลาจล มีการจับกุมครั้งใหญ่มากกว่า 150 คน ซึ่งได้รับการวิพากษ์วิจารณ์โดยกลุ่มสิทธิมนุษยชน โดยชี้ให้เห็นถึงความไม่ชอบมาพากลในกระบวนการและการปฏิเสธของทางการมิให้ดูสภาพที่คุมขังนักโทษ[6] เจ้าของสถานีวิทยุบีไฮฟฟ์ มอม สุนันโธ และบรรณาธิการของรัศมี อังกอร์ ถูกจับกุมโดยไม่มีหมายศาล ถูกแจ้งข้อหายั่วยุให้ก่ออาชญากรรม ยั่วยุให้เกิดการแบ่งแยกและเผยแพร่ข้อมูลเท็จ [7] ในภายหลัง ทั้งสองได้มีการประกันตัวออกไปและไม่มีการพิจารณาคดีหลังจากนั้น[8]

อ้างอิง[แก้]

  1. https://www.matichonweekly.com/column/article_644332
  2. "ย้อนอดีต! ปฏิบัติการโปเชนตง เมื่อกองทัพไทย เปิดปฏิบัติการช่วยคนไทยจากกัมพูชา". thaiarmedforce. 2021-01-29.
  3. Hun Sen blames radicals for anti-Thai riot[ลิงก์เสีย] Asian Tribune, 2003-01-30
  4. Thais cut links with Cambodia after riots The Guardian, 31 January 2003
  5. "Sondhi plays PAD mediator". Bangkok Post. March 30, 2006. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-04-20. สืบค้นเมื่อ 2011-01-03.
  6. "Cambodian League for the Promotion and Defense of Human Rights". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-06-24. สืบค้นเมื่อ 2011-01-03.
  7. Attacks on the Press in 2003 - Cambodia UNHCR reports
  8. Human Rights Watch