อุทกภัยและดินถล่มในภาคใต้ของประเทศไทย พ.ศ. 2554

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อุทกภัยและดินถล่มในภาคใต้ของประเทศไทย พ.ศ. 2554
วันที่23-31 มีนาคม พ.ศ. 2554
ที่ตั้ง7 จังหวัด
เสียชีวิต64
ทรัพย์สินเสียหาย650 ล้านบาท

อุทกภัยและดินถล่มในภาคใต้ของประเทศไทย พ.ศ. 2554 เป็นเหตุการณ์เกิดน้ำท่วมและดินถล่มในภาคใต้ของประเทศไทย ซึ่งดำเนินมาตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2554 จนถึง31 มีนาคม พ.ศ. 2554[1][2] ในบางพื้นที่มีฝนตกหนักถึง 120 เซนติเมตร[3] เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้วรวม 53 คน[4] สร้างความเสียหายมากกว่า 500 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ[5]

สาเหตุ[แก้]

เมื่อวันที่ 27 มีนาคม ต่อศักดิ์ วานิชขจร อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวถึงสาเหตุของอุทกภัยในภาคใต้ว่า เป็นผลมาจากอิทธิพลของความกดอากาศต่ำจากประเทศจีนตั้งแต่วันที่ 18 มีนาคม ประกอบกับความกดอากาศต่ำในอ่าวไทย เมื่อวันที่ 24-25 มีนาคม การรวมตัวกันของความกดอากาศทั้งสองนี้เคลื่อนเข้าพื้นที่ภาคใต้ ทำให้เกิดพายุคล้ายพายุดีเปรสชัน ทำให้เกิดฝนตกหนักตั้งแต่จังหวัดสุราษฎร์ธานีจนถึงจังหวัดพัทลุงมากกว่า 200 มิลลิเมตร[6]

ดินถล่ม[แก้]

ด้านเจ้าหน้าที่ชุดตรวจการณ์ของเทศบาลนครสงขลา ตรวจสอบสภาพพื้นที่บนเขาน้อย โดยเฉพาะสภาพของดินบริเวณที่เกิดดินถล่มเมื่อวันที่ 6 มกราคมที่ผ่านมา ผลการตรวจสอบพบว่า พื้นที่บริเวณดังกล่าวมีเศษหินและดินไปขวางการไหลของน้ำ ทำให้เสี่ยงที่ทำให้ดินชุ่มน้ำและถล่มลงมาซ้ำ โดยเฉพาะในรอบ 6 ปีที่ผ่านมา ได้เคยเกิดเหตุดินถล่มมาทับบ้านเรือนบริเวณตีนเขามาแล้ว 2 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 3 ราย[6]

อุทกภัย[แก้]

จังหวัดพัทลุง[แก้]

ในจังหวัดพัทลุงได้เกิดฝนตกหนักมาตั้งแต่วันที่ 21-25 มีนาคม ทำให้น้ำป่าจากเทือกเขาบรรทัดไหลเข้าท่วมพื้นที่ 8 อำเภอ 211 หมู่บ้าน ซึ่งประกอบด้วย อำเภอเมืองพัทลุง อำเภอควนขนุน อำเภอศรีบรรพต อำเภอศรีนครินทร์ อำเภอป่าพะยอม อำเภอกงหรา อำเภอเขาชัยสน และอำเภอบางแก้ว โดยอำเภอเมืองได้รับผลกระทบหนักที่สุด ส่วนพื้นที่ริมทะเลสาบสงขลาคาดว่าน้ำจะเอ่อล้นเข้าท่วมในวันที่ 25 มีนาคม ด้านรองผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุงประกาศเตือนให้ประชาชนริมทะเลสาบสงขลาเตรียมอพยพทรัพย์สิน เนื่องจากกรมอุตุนิยมวิทยาประกาศว่าจะมีฝนตกหนักจนถึงวันที่ 26 มีนาคม[7]

ด้านสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดได้ส่งเรือท้องแบน 15 ลำออกให้ความช่วยเหลือ นอกจากนี้ ยังเกิดเหตุโคลนถล่มบริเวณสถานีตำรวจภูธรศรีนครินทร์ แต่ไม่มีรายงานความเสียหาย[7]

ต่อมา น้ำท่วมได้ขยายวงกว้างเพิ่มเป็น 10 อำเภอ คือ อำเภอตะโหมดและอำเภอป่าบอน ระดับน้ำเฉลี่ยสูงกว่า 1.20 เมตร ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนแล้วกว่า 18,000 ครัวเรือน นอกจากนี้ ได้เกิดโคลนถล่มริมป่าเทือกเขาบรรทัด ทางสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดได้ประกาศเตือนประชาชนริมป่าเทือกเขาบรรทัด อย่างไรก็ตาม ทางจังหวัดยังไม่ได้ประกาศให้เป็นเขตภัยพิบัติ เนื่องจากผู้ว่าราชการจังหวัดไม่อยู่ในพื้นที่ และทางอำเภอไม่สามารถเบิกจ่ายงบช่วยเหลือเบื้องต้นจำนวน 1 ล้านบาทได้[8]

จังหวัดนครศรีธรรมราช[แก้]

ตั้งแต่เช้ามืดของวันที่ 26 มีนาคม ฝนที่ตกลงมาตลอดหลายวันทำให้น้ำจากเทือกเขาไหลเข้าท่วมหลายอำเภอของจังหวัดนครศรีธรรมราช ถนนบางเส้นทางถูกตัดขาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งถนนเลียบตลิ่งไม่สามารถสัญจรได้ ระดับน้ำในเขตเทศบาลสูงประมาณ 30-50 กิโลเมตร ทำให้การจราจรเป็นอัมพาตเกือบทั้งเมือง นอกจากนี้ได้มีการอพยพชาวบ้านในอำเภอหัวไทร อำเภอสิชล อำเภอท่าศาลา อำเภอพระพรหม แต่ยังมีชาวบ้านติดค้างอยู่เป็นจำนวนมาก[8]

เกิดเหตุโคลนถล่มทับกุฏิสำนักสงฆ์พังพินาศ ในหมู่ 8 ตำบลขนอม พระสงฆ์ที่พำนักอยู่ 2 รูปหายไป โดยหลังจากการค้นหาหลายชั่วโมงได้พบว่ามรณภาพอยู่ในลำคลองขนอม ห่างจากสำนักสงฆ์ไปประมาณ 5 กิโลเมตร โดยในคืนที่ผ่านมา ฝนได้ตกลงมาไม่หยุด คาดว่าจะทำให้ดินและก้อนหินถล่มลงมา[8]

ธีระ มินทราศักดิ์ อดืดผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช เปิดเผยวันที่ 27 มีนาคม ว่า ทางจังหวัดมีพื้นที่ได้รับผลกระทบ 20 อำเภอ ราษฎรได้รับความเดือดร้อนกว่า 60,000 คน ความเสียหายเบื้องต้นมากกว่า 250 ล้านบาท ซึ่งการคมนาคมจากนครศรีธรรมราชไปยังกรุงเทพมหานคร สายการบินและบริการรถไฟไม่สามารถให้บริการได้ มีบริการเฉพาะรถปรับอากาศเท่านั้น[9]

จังหวัดตรัง[แก้]

โส เหมกุล ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดตรังสรุปสถานการณ์น้ำท่วม 4 อำเภอ ในอำเภอเมืองตรัง อำเภอนาโยง อำเภอห้วยยอด และอำเภอวังวิเศษ รวม 10 ตำบล 300 หมู่บ้าน ที่ตำบลนาโยงเหนือ น้ำท่วมบ้านเรือนและพื้นที่การเกษตรมากกว่า 500 ไร่ หมู่ 1 ถึงหมู่ 8 ในตำบลนาโยงใต้มีระดับน้ำสูงกว่า 1 เมตร ถนนเข้าหมู่บ้านรถเล็กไม่สามารถผ่านเข้าออกได้ ส่วนตำบลห้วยยอดและวังวิเศษ ระดับน้ำสูงประมาณ 20-50 เซนติเมตร ประชาชนริมฝั่งแม่น้ำตรังได้ขนย้ายสิ่งของไปยังที่ปลอดภัย[8]

วันที่ 27 มีนาคม ในหลายตำบลของอำเภอเมืองตรัง ระดับน้ำสูงประมาณ 50-70 เซนติเมตร ด้านถนนสายควนขัน-บางรัก มีระดับน้ำสูงประมาณ 30 เซนติเมตร รถเล็กสัญจรไปมาอย่างยากลำบาก โดยในพื้นที่ดังกล่าวมีปัญหาสิ่งขวางกั้นทางน้ำ ทำให้การระบายน้ำไหลสู่ที่ต่ำเป็นไปอย่างล่าช้า รวทั้งเป็นสาเหตุทำให้เกิดน้ำท่วมใหญ่หลายครั้งในช่วงปลายปี 2553 ที่ผ่านมา[6]

จังหวัดระนอง[แก้]

เวลา 3.30 น. เมื่อวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2554 ได้เกิดน้ำป่าทะลักบริเวณอำเภอกะเปอร์ ส่งผลให้สะพานทางเบี่ยงในถนนเพชรเกษมระนอง-ภูเก็ตถูกน้ำเซาะขาด ทำให้การจราจรไม่สามารถผ่านไปมาได้ ทางชาวบ้านและหน่วยงานในพื้นที่ได้เร่งซ่อมแซม ด้านชาสันต์ คงเรือง ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดได้เปิดเผยว่า ทางสำนักงานได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมพร้อมอุปกรณ์และเจ้าหน้าที่รับมือสถานการณ์ในพื้นที่เสี่ยงภัย 28 ตำบล 84 หมู่บ้าน[6]

จังหวัดชุมพร[แก้]

เวลา 5.00 น. ของวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2554 ได้เกิดน้ำป่าไหลหลากบริเวณอำเภอพะโต๊ะ จังหวัดชุมพร ส่งผลให้สะพานเส้นทางระนอง-หลังสวนไม่สามารถผ่านเข้าออกได้ แขวงการทางพะโต๊ะได้ขอสนับสนุนมายังจังหวัดเพื่อให้ช่วยส่งเครื่องจักรและเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่แก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน[6]

ต่อมา เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2554 พินิจ เจริญพานิช ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร ได้รับรายงานว่ามีพื้นที่ประสบปัญหาอุทกภัยรวม 7 อำเภอ 38 ตำบล 334 หมู่บ้าน ราษฎรได้รับความเดือดร้อนร่วม 37,000 คน ประเมินความเสียหายเบื้องต้นกว่า 30 ล้านบาท โดยอำเภอที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุด คือ อำเภอหลังสวน นอกจากนี้ยังมีรายงานว่านักศึกษาและเด็กรวม 7 คน ติดอยู่บนเกาะแกลบ โดยไม่มีไฟฟ้าและแสงสว่างในเวลากลางคืน[10]

ความเสียหาย[แก้]

เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2554 กรมทางหลวงชนบทสรุปความเสียหาย พบว่ามีถนนเสียหายใน 7 จังหวัด ไม่สามารถสัญจรได้ 17 สายทาง ประเมินความเสียหายเบื้องต้นนับ 650 ล้านบาท[11]
เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2554 ศูนย์ปฏิบัติการรองรับเหตุฉุกเฉิน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกระทรวงมหาดไทยสรุปยอดผู้เสียชีวิต 64 ราย[12] แบ่งเป็น จังหวัดนครศรีธรรมราช 26 ราย จังหวัดสุราษฎร์ธานี 15 ราย จังหวัดพัทลุง 5 ราย จังหวัดกระบี่ 12 ราย จังหวัดตรัง 2 ราย จังหวัดชุมพร 3 ราย จังหวัดพังงา 1 ราย

การตอบสนอง[แก้]

วันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2554 อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้ประชุมผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ ร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราชและพัทลุง โดยได้ซักถามถึงสถานการณ์ล่าสุด ธีระ มินทราศักดิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช รายงานว่า จังหวัดนครศรีธรรมราชได้ประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติแล้ว 21 อำเภอ (จาก 23 อำเภอ) รวม 170 ตำบล 722 หมู่บ้าน ราษฎรได้รับความเดือดร้อนประมาณ 80,000 คน มีผู้เสียชีวิตแล้ว 3 คน พื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหาย 1.5 แสนไร่ ประเมินความเสียหายเบื้องต้นประมาณ 300 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีน้ำท่วมขังรันเวย์ของสนามบินประมาณ 1 ฟุต ทำให้ต้องงดทำการบินทั้งหมด[13]

ในช่วงบ่ายวันเดียวกัน สาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เดินทางไปมอบเงินช่วยเหลือแก่ครอบครัวผู้เสียชีวิตทั้ง 3 ราย และมองถุงยังชีพที่หอประชุมอำเภอวิเชียรใหญ่จำนวน 1,500 ถุง และมอบถุงยังชีพยังเขตอำเภอเมืองนครศรีธรรมราช[13]

เมื่อวันที่ 28 มีนาคม จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ทางกระทรวงได้สั่งการให้โรงพยาบาลทุกแห่งในภาคใต้ จัดทำแผน 4 ด้าน ในการดูแลผู้ป่วย และได้สั่งการให้องค์การเภสัชกรรมสำรองยาชุดน้ำท่วมเพื่อช่วยเหลือจำนวน 100,000 ชุด ส่วนปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ได้ให้สถานบริการในพื้นที่จัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ให้บริการประชาชนอย่างต่อเนื่อง[14]

อ้างอิง[แก้]

  1. Reporters, Post (March 27, 2011). "Five southern provinces flooded". Bangkok Post. สืบค้นเมื่อ 3 April 2011.
  2. อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ Berna
  3. "Unseasonal Heavy Rain Floods Thailand". NASA Earth Observatory. 2 April 2011.
  4. 2011 Southern Thailand floods
  5. Kate, Daniel Ten; Suttinee Yuvejwattana (March 31, 2011). "Southern Thai Storms Ease as Flooding Death Toll Climbs to 21". Bloomberg. สืบค้นเมื่อ 3 April 2011.
  6. 6.0 6.1 6.2 6.3 6.4 เตื่อนใต้ติดตามพยากรณ์อากาศใกล้ชิด[ลิงก์เสีย]. (27 มีนาคม 2554). คมชัดลึก. สืบค้น 3-4-2554.
  7. 7.0 7.1 ฝนตกไม่ขาดสาย น้ำท่วมพัทลุงขยายวง 200 หมู่บ้าน. (25 มีนาคม 2554). ไทยรัฐ. สืบค้น 3-4-2554.
  8. 8.0 8.1 8.2 8.3 ภาคใต้อ่วม! ฝนถล่ม[ลิงก์เสีย]. (26 มีนาคม 2554). โพสต์ทูเดย์. สืบค้น 3-4-2554.
  9. น้ำท่วมนครศรีธรรมราชยังวิกฤต"รถไฟ-เครื่องบิน"งดให้บริการ. มติชน. (27 มีนาคม 2554). สืบค้น 13-4-2554.
  10. ชุมพรชาวบ้านเดือดร้อนแล้วกว่า 37,000 คน. ASTVผู้จัดการออนไลน์. (28 มีนาคม 2554). สืบค้น 13-4-2554.
  11. กรมทางหลวงชนบท ประเมินความเสียหายน้ำท่วมภาคใต้มูลค่ากว่า 600 ล้านบาท. (28 มีนาคม 2554). สืบค้น 13-4-2554.
  12. ศูนย์ปฏิบัติการรองรับเหตุฉุกเฉิน[ลิงก์เสีย]
  13. 13.0 13.1 นายกฯ ประชุมผ่านระบบคอนเฟอร์เร้นท์ ยังเป็นห่วงสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ (27 มีนาคม 2554). สืบค้น 3-4-2554.
  14. สธ.ส่งหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ช่วยผู้ประสบภัย สำรองยาชุดน้ำท่วมแสนชุด. สำนักข่าวไทย. (28 มีนาคม 2554). สืบค้น 13-4-2554.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]