อานามสยามยุทธ
![]() | บทความนี้ได้รับแจ้งให้ปรับปรุงหลายข้อ กรุณาช่วยปรับปรุงบทความ หรืออภิปรายปัญหาที่หน้าอภิปราย
|
อานามสยามยุทธ | |||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
![]() แผนที่ดินแดนอาณาจักรรัตนโกสินทร์ (สยาม) กับจักรวรรดิญวน (ราชวงศ์เหงียน):
| |||||||||
| |||||||||
คู่สงคราม | |||||||||
![]() ![]() |
![]() ![]() | ||||||||
ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ | |||||||||
![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() |
![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() |
ประวัติศาสตร์ไทย | |
---|---|
![]() | |
ยุคก่อนประวัติศาสตร์ | |
ประวัติศาสตร์ช่วงต้น | |
การเข้ามาอยู่อาศัย | |
แนวคิดถิ่นกำเนิดชนชาติไท | |
บ้านเชียง (ประมาณ 2500 ปีก่อน พ.ศ.) | |
บ้านเก่า (ประมาณ 2000 ปีก่อน พ.ศ.) | |
อาณาจักรมอญ-เขมร | |
ฟูนาน (611–1093) | |
ทวารวดี (พุทธศตวรรษที่ 12–16) | |
ละโว้ (พุทธศตวรรษที่ 12–1630) | |
เขมร (1345–1974) | |
หริภุญชัย (พุทธศตวรรษที่ 13–1835) | |
ตามพรลิงค์ (พุทธศตวรรษที่ 13–14) | |
อาณาจักรของคนไท | |
ลพบุรี (1648–1931) | |
กรุงสุโขทัย (1781–1981) | |
สุพรรณภูมิ (พุทธศตวรรษที่ 18–1952) | |
พะเยา (1637–1881) | |
ล้านนา (1835–2101) | |
น่าน (พุทธศตวรรษที่ 18–1992) | |
นครศรีธรรมราช (พุทธศตวรรษที่ 18–2325) | |
กรุงศรีอยุธยา | |
กรุงศรีอยุธยา (1893–2310) | |
ประเทศราชเชียงใหม่ (2101–2317) | |
นครศรีธรรมราช (พุทธศตวรรษที่ 18–2325) | |
กรุงธนบุรี | |
กรุงธนบุรี (2310–2325) | |
เชียงใหม่ (2317–2437) | |
กรุงรัตนโกสินทร์ | |
กรุงรัตนโกสินทร์ (2325–2475)
| |
ประเทศสยาม | |
ประเทศสยาม (2475–2516)
| |
ประเทศสยาม (2516–2544)
| |
ประเทศไทย | |
ประเทศไทย (2544–ปัจจุบัน)
| |
ประวัติศาสตร์รายภูมิภาค | |
ประวัติศาสตร์แบ่งตามหัวข้อ | |
| |
อานัมสยามยุทธ หรือ อานามสยามยุทธ คือสงครามที่เกิดขึ้นระหว่างไทยกับเวียดนามเพื่อแย่งชิงกัมพูชาในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น
สาเหตุ[แก้]
ในช่วงยุคต้นรัตนโกสินทร์ทั้งสยามในพระราชวงศ์จักรีและเวียดนามราชวงศ์เหงียนต่างเรืองอำนาจขึ้นเป็นมหาอำนาจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อาณาจักรต่างๆที่ตั้งอยู่ระหว่างสยามและเวียดนามเป็น "อาณาจักรกันชน" ระหว่างสองมหาอำนาจอาณาจักรกันชนเหล่านั้นประกอบด้วยอาณาจักรเขมรอุดงและอาณาจักรลาวล้านช้าง ทั้งสยามและเวียดนามต่างแผ่ขยายอำนาจเข้าสู่อาณาจักรกันชนเหล่านั้นนำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างสองอำนาจ
ความขัดแย้งภายในอาณาจักรกัมพูชา[แก้]
ความขัดแย้งภายในอาณาจักรกัมพูชาซึ่งแต่ละฝ่ายแสวงหาการสนับสนุนจากภายนอก สยามฝ่ายหนึ่งและญวนฝ่ายหนึ่ง นำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างสยามและญวนซึ่งเริ่มมีขึ้นตั้งแต่ปลายสมัยอยุธยา ในสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินทรงยกทัพไปยึดเมืองบันทายมาศในพ.ศ. 2314 และยกทัพไปยังเมืองอุดงตั้งนักองค์นน (អង្គនន់) ขึ้นเป็นพระรามราชาธิราชแห่งกัมพูชาครองกัมพูชา แต่พระรามราชาฯถูกเจ้าฟ้าทะละหะ (มู) ซึ่งสนับสนุนฝ่ายญวนปลงพระชนม์ในพ.ศ. 2322 เจ้าฟ้าทะละหะ (มู) ยกนักองเอง (អង្គអេង) ซึ่งเป็นพระราชวงศ์เขมรฝ่ายสนับสนุนญวนขึ้นเป็นพระนารายณ์รามาธิบดีโดยมีเจ้าฟ้าทะละหะกุมอำนาจ ในพ.ศ. 2326 "องเชียงสือ"เหงียนฟุกอั๊ญเจ้าตระกูลเหงียนของญวนเสียเมืองไซ่ง่อนให้แก่ราชวงศ์เต็ยเซินหลบหนีมาพึ่งพระบรมโพธิสมภารฯที่กรุงเทพฯในรัชกาลที่ 1 เมื่อเจ้าญวนตระกูลเหงียนสิ้นไปเจ้าฟ้าทะละหะถูกสังหารและออกญายมราช (แบน) ขุนนางกัมพูชาซึ่งฝักใฝ่สยามจึงยึดอำนาจ แต่พระยายมราชพ่ายแพ้แก่ศัตรูจึงนำนักองค์เองกษัตริย์กัมพูชาลี้ภัยเข้ามาที่กรุงเทพฯ นักองค์เองมีโอรสได้แก่นักองค์จันทร์ (អង្គច័ន្ទ) นักองค์สงวน (អង្គស្ងួន) นักองค์อิ่ม (អង្គអិម) และนักองค์ด้วง (អង្គដួង) พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯโปรดฯให้กรมหลวงเทพหริรักษ์ยกทัพเรือไปกอบกู้บ้านเมืองให้แก่องเชียงสือแต่พ่ายแพ้ให้แก่ฝ่ายราชวงศ์เต็ยเซินในการรบที่สักเกิ่ม-สว่ายมุ๊ต (Battle of Rạch Gầm-Xoài Mút)

องเชียงสือเดินทางไปกอบกู้บ้านเมืองจากราชวงศ์เต็ยเซินจนสามารถตั้งตัวขึ้นเป็นพระจักรพรรดิยาล็องก่อตั้งราชวงศ์เหงียนได้ในพ.ศ. 2344 หลังจากที่กัมพูชาว่างเว้นกษัตริย์มาระยะหนึ่ง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯจึงทรงอภิเษกนักองค์จันทร์โอรสองค์โตของนักองค์เองขึ้นเป็นพระอุไทยราชาธิราชครองกัมพูชาในพ.ศ. 2349 พระอุไทยราชานักองค์จันทร์ให้การสนับสนุนแก่ญวนราชวงศ์เหงียน เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯสวรรคตในพ.ศ. 2352 พระอุไทยราชาฯไม่มาเข้าร่วมพระราชพิธีที่กรุงเทพฯแจ้งว่าประชวรและทรงส่งนักองค์สงวนและนักองค์อิ่มพระอนุชาทั้งสองมาที่กรุงเทพฯแทน พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยจึงทรงแต่งตั้งให้นักองค์สงวนเป็นพระมหาอุปโยราชและนักองค์อิ่มเป็นพระมหาอุปราช และทรงมีท้องตราถึงพระอุไทยราชาให้เกณฑ์ทัพกัมพูชามาไว้ที่กรุงเทพฯ พระอุไทยราชานักองค์จันทร์ไม่เกณฑ์ไพร่พลมาที่กรุงเทพฯตามท้องตรานั้น ขุนนางเขมรบางส่วนซึ่งสนับสนุนฝ่ายสยามก่อการกบฏขึ้น พระอุไทยราชาทรงประหารชีวิตขุนนางเหล่านั้นและหันไปขอความช่วยเหลือจาก"องต๋ากุน"(Ông Tả Quân, 翁左軍)หรือ เลวันเสวียต (Lê Văn Duyệt, 黎文悅) ผู้สำเร็จราชการในเวียดนามใต้ ในพ.ศ. 2355 พระมหาอุปโยราชนักองค์สงวนก่อการกบฏขึ้น นำไปสู่ความขัดแย้งในกัมพูชา พ.ศ. 2354 เจ้าพระยายมราช (น้อย) ยกทัพสยามเข้าไปที่เมืองอุดงเพื่อไกล่เกลี่ย แต่พระอุไทยราชานักองค์จันทร์เมื่อเห็นว่าทัพสยามยกเข้ามาจึงพาพระราชวงศ์หลบหนีไปอยู่ภายใต้ความคุ้มครองของเลวันเสวียตที่เมืองไซ่ง่อน พระมหาอุปราชนักองค์อิ่มและนักองค์ด้วงหลบหนีมาเข้ากับฝ่ายสยาม เจ้าพระยายมราช (น้อย) นำตัวนักองค์สงวน นักองค์อิ่ม และนักองค์ด้วงมาที่กรุงเทพฯ พระจักรพรรดิยาล็องมีพระราชสาส์นขอพระบรมราชานุญาติให้พระอุไทยราชากลับมาครองกัมพูชาดังเดิม รวมทั้งขอเมืองบันทายมาศไปไว้ในเขตแดนของเวียดนามด้วย เมื่อพระอุไทยราชานักองค์จันทร์กลับมาครองกัมพูชาแล้วกัมพูชาจึงตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของราชวงศ์เหงียน นักองค์จันทร์ย้ายราชธานีจากเมืองอุดงไปยังเมืองพนมเปญซึ่งญวนได้สร้างเมืองขึ้นให้ใหม่ นักองค์สงวนถึงแก่พิราลัยที่กรุงเทพฯเมื่อปีพ.ศ. 2359 เหลือนักองค์อิ่ม และนักองค์ด้วง เป็นเจ้าชายเขมรซึ่งประทับอยู่ที่กรุงเทพฯ
ในพ.ศ. 2362 องต๋ากุนเลวันเสวียตเกณฑ์ชาวเวียดนามและกัมพูชาเข้าขุดคลองหวิญเต๊ (Vĩnh Tế, 永濟) ซึ่งเชื่อมระหว่างเมืองโจดกหรือเจิวด๊ก (Châu Đốc, 朱篤 จังหวัดอานซาง) กับเมืองบันทายมาศ เป็นคลองขนาดใหญ่และเป็นช่องทางให้ทัพเรือญวนสามารถนำทัพเรือออกสู่อ่าวไทยได้ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยจึงมีพระราชโองการให้พระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์เป็นแม่กองสร้างป้อมเมืองสมุทรปราการขึ้นเพื่อสำหรับป้องกันข้าศึกทางทะเล
สงครามเจ้าอนุวงศ์[แก้]
เวียดนามพยายามที่จะแผ่ขยายอำนาจมาที่อาณาจักรล้านช้างผ่านทางจังหวัดเหงะอานและเมืองพวนอาณาจักรเชียงขวางมาแต่สมัยก่อนหน้า ในสมัยรัตนโกสินทร์อาณาจักรล้านช้างทั้งสามได้แก่หลวงพระบาง เวียงจันทน์ และจำปาศักดิ์ต่างเป็นเมืองขึ้นประเทศราชของสยาม โดยมีอาณาจักรเชียงขวางเป็นเมืองขึ้นของอาณาจักรเวียงจันทน์อีกทอดหนึ่ง เมื่อเจ้าน้อยเมืองพวนเกิดความขัดแย้งกับเจ้าอนุวงศ์แห่งเวียงจันทน์จึงหันไปพึ่งพระจักรพรรดิมิญหมั่งแห่งเวียดนามราชวงศ์เหงียน ในพ.ศ. 2371 กบฏเจ้าอนุวงศ์ เมื่อเจ้าอนุวงศ์หลบหนีไปยังจังหวัดเหงะอานของเวียดนามพระจักรพรรดิมิญหมั่งทรงให้การช่วยเหลือและจัดแต่งทูตญวนนำเจ้าอนุวงศ์มาเจรจาที่เมืองเวียงจันทน์ "อนุทำความผิดหนีไปหาญวน ญวนเหมือนมารดา กรุงเทพมหานครเหมือนบิดา บิดาโกรธบุตรแล้ว มารดาต้องพามาขอโทษ"[1] แต่เจ้าอนุวงศ์กลับเข้าลอบโจมตีฝ่ายสยามแบบไม่ทันตั้งตัวทำให้ฝ่ายสยามเข้าใจว่าฝ่ายญวนแต่งทูตเข้ามาเป็นกลอุบายลวง เมื่อเจ้าอนุวงศ์พ่ายแพ้อีกครั้งพระจักรพรรดิมิญหมั่งจึงทรงส่งทูตมาอีกแต่เจ้าพระยาราชสุภาวดี (สิงห์) ไม่ไว้วางใจฝ่ายเวียดนามจึงออกอุบายสังหารหมู่คณะทูตเวียดนามในงานเลี้ยง[1] เมื่อเจ้าอนุวงศ์หลบหนีไปยังอาณาจักรเชียงขวาง เจ้าน้อยเมืองพวนชี้เบาะแสให้แก่ทัพสยามจนสามารถจับตัวเจ้าอนุวงศ์ได้ พระจักรพรรดิมิญหมั่งพิโรธเจ้าน้อยซึ่งเป็นเหตุให้เจ้าอนุวงศ์ถูกจับตัวได้จึงเรียกเจ้าน้อยเมืองพวนไปเข้าเฝ้าที่เมืองเว้แล้วสำเร็จโทษประหารชีวิตเจ้าน้อยเมืองพวน เวียดนามจึงเข้าปกครองอาณาจักรเชียงขวางโดยตรงกลายเป็นมณฑลเจิ๊นนิญ (Trấn Ninh, 鎮寧) รวมทั้งเข้าปกครองหัวเมืองลาวต่างๆในแขวงคำม่วนในปัจจุบันและกลุ่มเมืองหัวพันห้าทั้งหก
กบฏของเลวันโคย[แก้]
เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ (แบน) มีบุตรีคือนักนางเทพ ซึ่งได้เป็นพระเทพีของพระอุไทยราชานักองค์จันทร์ และเป็นตัวแทนของกลุ่มผู้ฝักใฝ่สยามในกัมพูชา ในพ.ศ. 2372 พระองค์แก้ว (มา) ซึ่งเป็นบุตรของเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์และเป็นพี่ชายของนักนางเทพ มีจดหมายลับมาถงนักองค์อิ่มและองค์ด้วยที่กรุงเทพฯ ใจความว่าขอให้ฝ่ายสยามยกทัพเข้าช่วยขับไล่อิทธิพลของญวนออกจากกัมพูชา[1] ฝ่ายเว้เวียดนามทราบข่าวว่าพระองค์แก้ว (มา) คิดแผนการขอความช่วยเหลือจากสยาม จึงมีคำสั่งเรียกตัวพระองค์แก้ว (มา) ไปที่เมืองเว้ในพ.ศ. 2373 พระองค์แก้วไม่ยอมไป อพยพพาครอบครัวหนีเข้ากรุงเทพฯ
"องต๋ากุน"เลวันเสวียตเป็นผู้สำเร็จราชการในเวียดนามภาคใต้และแผ่ขยายอำนาจไปถึงกัมพูชา พระจักรพรรดิมิญหมั่งทรงมีนโยบายรวมอำนาจสู่ศูนย์กลาง เลวันเสวียตเป็นศัตรูทางการเมืองของพระจักรพรรดิมิญหมั่ง เมื่อเลวันเสวียตเสียชีวิตในพ.ศ. 2375 จักรพรรดิมิญหมั่งทรงใช้โอกาสนี้ยกเลิกตำแหน่งผู้สำเร็จราชการและส่งขุนนางของพระองค์เข้าปกครองเวียดนามใต้ ขุนนางใหม่ถวายรายงานต่อจักรพรรดิมิญหมั่งว่า เลวันเสวียตผู้ล่วงลับไปแล้วซ่องสุมกำลังพลและอาวุธเตรียมก่อการกบฏ พระจักรพรรดิมิญหมั่งจึงลงพระอาญาประหารชีวิตและจำคุกขุนนางเดิมของเลวันเสวียตในเวียดนามใต้จำนวนมาก รวมทั้งทรงให้กระทำการลบหลู่สุสานของเลวันเสวียต ทำให้ "องภอเบโคย" หรือเลวันโคย (Lê Văn Khôi, 黎文𠐤) บุตรบุญธรรมของเลวันเสวียตก่อการกบฏขึ้นในพ.ศ. 2376 ยึดเมืองไซ่ง่อนเป็นฐานที่มั่น นำไปสู่กบฏของเลวันโคย (Lê Văn Khôi's Rebellion) ซึ่งมีชาวเวียดนามใต้เข้าร่วมจำนวนมาก ในช่วงความวุ่นวายครั้งนี้ พระยาสังคโลก (เกาะ) เจ้าเมืองโพธิสัตว์ ได้กบฏต่อพระอุไทยราชากษัตริย์กัมพูชาและกวาดต้อนเอาชาวเมืองโพธิสัตว์เข้ากรุงเทพฯ ในพ.ศ. 2375 อีกเช่นกัน[2]
เมื่อเกิดกบฏของเลวันโคยขึ้น พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเห็นเป็นโอกาสที่จะได้ลดอำนาจของญวนซึ่งคอยให้การสนับสนุนแก่กบฏที่ต่อต้านสยามหลายครั้ง "ครั้งองค์จันทร์เขมรเป็นกบฏหนีไป ญวนก็รับไว้ อนุเป็นกบฏหนีไป ญวนก็รับไว้ แล้วกลับแต่งขุนนางพาอนุมาตั้งบ้านตั้งเมืองอย่างเก่า ทำเหมือนเมืองเขมรเหมือนกัน มีแต่คิดเกียจกันเขตต์แดนฝ่ายไทย ข่มขี่ยกตัวขึ้นเป็นดึกวองเด่"[1] และยังทรงไม่พอพระทัยธรรมเนียมการทูตญวน เมื่อจักรพรรดิญวนส่งทูตมาถวายพระราชสาสน์ที่กรุงเทพฯโปรดฯจะให้มีพระราชสาส์นโต้ตอบกลับไปแต่ทูตญวนไม่รับทุกครั้ง แจ้งว่าให้ฝ่ายกรุงเทพฯต้องแต่งคณะทูตไปมอบราชสาส์นให้ที่เมืองเว้เอง
ต่อมาบางส่วนของพม่าต้องตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษ ประกอบกับไทยเลือกที่จะไม่ปะทะกับอังกฤษด้วยการขยายอิทธิพลลงไปในแหลมมลายู ทำให้ในรัชกาลที่ 3 สามารถเผชิญหน้ากับญวนทางตะวันออกได้อย่างเต็มที่ โดยทำสงครามกับญวนที่เรียกว่า สงครามอานัมสยามยุทธ หรือสงครามไทย-ญวน ระหว่าง พ.ศ. 2376–2390 ซึ่งเป็นสงคราม 14 ปี ระหว่างสองชนชาติใหญ่ที่เหลืออยู่ในขณะนั้นของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สงครามครั้งนั้นเกิดขึ้นเพื่อชิงความเป็นใหญ่ในเขมร อันเป็นดินแดนกั้นกลางระหว่างไทยกับญวน สงครามที่เนิ่นนานเช่นนี้ได้ก่อความเสียหายให้ทั้ง 2 ฝ่ายอย่างมาก
สงครามในปี พ.ศ. 2376–2377[แก้]
การเตรียมการ[แก้]
อานัมสยามยุทธ พ.ศ. 2376-2377 | |||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
ส่วนหนึ่งของ อานัมสยามยุทธ | |||||||||
| |||||||||
คู่สงคราม | |||||||||
![]() ![]() |
![]() ![]() อาณาจักรเชียงขวาง | ||||||||
ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ | |||||||||
![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() |
![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() เจ้าสานเมืองพวน |
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชโองการให้จัดทัพเข้าตีเมืองเวียดนามดังนี้;
- เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) พร้อมทั้งนักองค์อิ่ม นักองค์ด้วง ยกทัพทางบกจำนวน 40,000 ไปเมืองไซ่ง่อน มีขุนนางกัมพูชาได้แก่พระองค์แก้ว (มา) และพระยาสังคโลก (เกาะ) ติดตามไปด้วย[2]
- เจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ บุนนาค) ที่สมุหกลาโหม ยกทัพเรือจำนวน 10,000 นายไปทางทะเลเพื่อโจมตีเมืองบันทายมาศหรือห่าเตียน
- พระมหาเทพ (ป้อม) และพระราชวรินทร์ (ขำ) ยกทัพไปทางลาวภาคกลางเพื่อโจมตีเวียดนามภาคกลางทางเมืองล่าน้ำหรือจังหวัดเหงะอานซึ่งอยู่ติดกับลาว
- เจ้าพระยาธรรมาธิกรณ์ (สมบุญ) เกณฑ์ทัพจากหัวเมืองเหนือ พิชัย สวรรคโลก พิจิตร พิษณุโลก สุโขทัย และแพร่ ให้ได้ 4,000 คน ยกทัพไปเมืองหลวงพระบาง เพื่อรวมกับทัพลาวเข้าโจมตีเมืองหัวพันห้าทั้งหกซึ่งอยู่ภายใต้อิทธิพลของเวียดนาม
ฝ่ายเวียดนามยังคงมุ่งไปที่การปราบกบฎเลวันโคยที่เมืองไซ่ง่อน ยังไม่ทราบการยกทัพของฝ่ายสยาม จนกระทั่งเมื่อสยามเข้าโจมตีเมืองบันทายมาศแล้วจึงทราบข่าวและเริ่มเตรียมทัพ
สยามยึดเมืองบันทายมาศและโจดก[แก้]
ทัพของเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์) เจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ) และทัพของพระมหาเทพ (ป้อม) พระราชวรินทร์ (ขำ) ทั้งสามทัพยกออกจากกรุงเทพฯพร้อมกันในวันเสาร์ขึ้น 12 ค่ำ เดือนอ้ายปี พ.ศ. 2376 (23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2376) ฝ่ายกัมพูชา สมเด็จพระอุไทยราชานักองค์จันทร์กษัตริย์กัมพูชามีพระราชโองการให้พระยาจักรี (หลง) เกณฑ์ทัพไปป้องกันการรุกรานจากฝ่ายสยาม แต่ฝ่ายกัมพูชาประสบปัญหาเกณฑ์ทัพได้ไม่ทันการได้กำลังมาเพียง 300 คน ทัพบกของเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์) ยกทัพเข้ามาทางเมืองโพธิสัตว์จนถึงเมืองลาดปะเอีย เดินทัพผ่านอาณาจักรเขมรได้โดยสะดวกและปราศจากการต่อต้าน ทัพสยามและกัมพูชาได้สู้รบกันในการรบที่กำปงจาม ทัพฝ่ายกัมพูชาของพระยาจักรี (หลง) นั้นมีกำลังน้อยกว่ามาก ทัพหน้าฝ่ายสยามของเจ้าพระยาบดินทรเดชามีกำลังถึง 5,000 คน พระยาจักรี (หลง) แตกพ่ายหนีไปที่บาพนม[2]
ฝ่ายนักองค์จันกษัตริย์เขมรเมื่อทราบว่าทัพของพระยาจักรี (หลง) พ่ายแพ้แตกพ่าย จึงตัดสินพระทัยนำเชื้อพระวงศ์และขุนนางเสด็จหลบหนีเมื่อวันแรมหกค่ำ เดือนยี่ (31 ธันวาคม) ไปยังเมืองล็องโห่ (Long Hồ) ในเวียดนามภาคใต้ ทัพเรือของเจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ) เดินทางถึงเมืองบันทายมาศ ฝ่ายญวนไม่ได้เตรียมการรับศึกเจ้าพระยาพระคลังจึงสามารถยึดเมืองบันทายมาศได้อย่างรวดเร็วแล้วจึงล่องทัพเรือไปตามคลองหวิญเต๊เข้ายึดเมืองโจดกริมแม่น้ำบาสัก ซึ่งเป็นศูนย์กลางของจังหวัดอานซางได้สำเร็จ
ฝ่ายเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์) เมื่อมาถึงเมืองพนมเปญแล้ว ให้นักองค์อิ่มนักองค์ด้วงและพระยาอภัยภูเบศร (เชด) อยู่ที่เมืองพนมเปญ แต่เดิมเจ้าพระยาบดินทรเดชาฯวางแผนเดินทัพบกไปทางตะวันออกผ่านเขตเมืองบาพนมตัดตรงเข้าสู่เมืองไซ่ง่อน แต่ทราบข่าวว่าเจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ) มาตั้งอยู่ที่เมืองโจดกแล้ว จึงยกทัพมาสมทบกับทัพของเจ้าพระยาพระคลังที่เมืองโจดก การเดินทัพเรือจากเมืองโจดกไปยังเมืองไซ่ง่อนต้องข้ามจากแม่น้ำบาสักไปยังแม่น้ำโขงเพื่อลดระยะทาง แต่คลองโดยส่วนใหญ่ที่เชื่อมระหว่างแม่น้ำบาสักและแม่น้ำโขงเป็นคลองขนาดเล็กทัพเรือไม่สามารถผ่านได้ มีเพียงคลองหวั่มนาว (Vàm Nao) เท่านั้นซึ่งเป็นคลองขนาดใหญ่ทัพเรือสามารถผ่านได้ คลองหวั่มนาวเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญซึ่งทัพเรือญวนสามารถสกัดทัพเรือสยามในตำแหน่งนี้ได้ ดังเช่นที่เกิดขึ้นเมื่อครั้งกรมหลวงเทพหริรักษ์ทรงยกทัพเรือมาในพ.ศ. 2327 เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์) เปลี่ยนแผนใหม่โดยให้ทัพบกโดยส่วนใหญ่ลงเรือที่ได้มาจากกัมพูชาไปร่วมกับทัพเรือของเจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ) ล่องไปตามแม่น้ำบาสักแทนที่จะยกไปทางตะวันออกไปทางบาพนมตามแผนเดิม เจ้าพระยาบดินทรเดชาฯให้พระยาราชนิกูล (เสือ) และพระยานครราชสีมา (ทองอิน) นำทัพบกส่วนหนึ่งจำนวน 7,000 ยกไปทางบาพนมตามแผนเดิมไปยังเมืองไซ่ง่อน
ฝ่ายจักรพรรดิมิญหมั่งที่เมืองเว้เมื่อทรงทราบข่าวทัพสยามแล้ว จึงมีพระราชโองการให้เจืองมิญสาง (Trương Minh Giảng, 張明講) และเหงียนซวน (Nguyễn Xuân, 阮春) ยกทัพเรือมาสกัดทัพสยามที่แม่น้ำบาสัก และมอบเรือยุทธและดินประสิวให้แก่จังหวัดต่างๆในเวียดนามภายใต้เพื่อเตรียมการสู้รบกับฝ่ายสยามได้แก่ จังหวัดอานซาง จังหวัดห่าเตียน จังหวัดหวิญล็อง และจังหวัดดิ่ญเตื่อง
ยุทธนาวีที่คลองหวั่มนาว[แก้]
ในเดือนมกราคมพ.ศ. 2377 ทัพเรือสยามซึ่งนำโดยเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์) และเจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ) ยกออกจากเมืองโจดกลงใต้ไปตามแม่น้ำบาสัก โดยให้เจ้าพระยาพลเทพ (ฉิม) นำทัพเรือส่วนหนึ่งล่วงหน้าไปก่อน ทัพเรือสยามพบกับทัพบกญวนเมื่อเดือนสาม ที่ปากทางเข้าคลองหวั่มนาวจากแม่น้ำบาสักทางทิศใต้ (ฝ่ายญวนเรียกคลองหวั่มนาวว่า คลองถ่วนกั๋ง Thuận Cảng) เมื่อวันขึ้น 12 ค่ำ เดือนสาม (21 มกราคม พศ. 2377)[1] นำไปสู่ยุทธนาวีที่คลองหวั่มนาว ทัพเรือญวนนำโดย"องทำตาย"และ"องจันเบีย" ด่ายนามถึกหลูกกล่าวว่าแม่ทัพฝ่ายญวนในครั้งนี้คือฝั่มฮิ้วเติม (Phạm Hữu Tâm, 范有心) ทัพสยามเข้าโจมตียิงปืนใส่ทัพบกญวน เจ้าพระยาบดินทรเดชาฯให้ทัพบกสยามขึ้นบกโจมตีทัพญวน ทำให้ทัพญวนต้องล่าถอยไปยังปากคลองหวั่งนาวฝั่งเหนือทางออกแม่น้ำโขง เจ้าพระยาบดินทรเดชาฯให้กองกำลังส่วนหนึ่งนำโดยพระยาณรงค์ฤทธิโกษา และพระยาวิเศษสงคราม ไปป้องกันคลององเจือง (Ông Chướng) ไว้เพื่อไม่ให้ทัพเรือญวนอ้อมวนมาตีด้านหลังดังที่เกิดขึ้นเมื่อกรมหลวงเทพหริรักษ์ทรงยกทัพมา และเพื่อไปเกลี้ยงกล่อมชาวญวนเข้ารีตหรือชาวเวียดนามที่นับถือคริสต์ให้มาเข้ากับฝ่ายสยาม[1]
ในระหว่างการรบที่คลองหวั่มนาว มีนายกองจำนวนหนึ่งหลบหนีไปแอบอยู่ท้ายเรือรบเนื่องจากกลัวศัตรู ซึ่งหนึ่งในนี้มีเชื้อสายของเจ้าพระยาบดินทรเดชาฯอยู่ด้วย เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์) มีคำสั่งให้นำตัวนายกองเหล่านั้นมาตัดศีรษะประหารชีวิต
หลังจากที่ฝ่ายญวนล่าถอยไปตั้งที่ฝั่งทางออกแม่น้ำโขงแล้ว เจ้าพระยาบดินทรเดชาฯจึงวางแผนโจมตีค่ายญวนทั้งทางบกและทางน้ำ อีกห้าวันต่อมาในวันพุธแรม 5 ค่ำเดือนสาม (29 มกราคม พ.ศ. 2377)[1] เจ้าพระยาบดินทรเดชาฯยกทัพพร้อมเจ้าพระยาพระคลังฯยกทัพเรือเข้าโจมตีค่ายญวนที่ปากคลองหวั่มนาวฝั่งเหนือ เจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ) ให้พระยาอภัยโนฤทธิ์ (บุนนาค) นำกองเรือเป็นทัพหน้าเข้าโจมตีฝ่ายญวน แต่กองเรือที่ตามหลังพระยาอภัยโนฤทธิ์เกิดความเกรงกลัวศัตรูไม่ยอมถอนสมอขึ้น[1]เพื่อแล่นเรือไปสู้กับญวน พระยาอภัยโนฤทธิ์เห็นว่าไม่มีกองเรือตามมาจึงถอยกลับ แม้ว่าเจ้าพระยาพระคลังจะลงเรือป่าวประกาศให้ทัพเรือถอนสมอขึ้นไปรบ แต่แม่ทัพนายกองเรือทั้งหลายอาทิเช่นเจ้าพระยาพลเทพ พระยาราชวังสัน พระยาเพชรบุรี ฯลฯ กลับไม่ยอมถอนสมอเรือ ฝ่ายเวียดนามเมื่อเห็นว่าทัพเรือสยามไม่เข้ามาสู้จึงถ่ายโอนกำลังให้ทัพบกไปสู้กับเจ้าพระยาบดินทรเดชาฯ ประกอบกับที่ดั่ยนามถึกหลุกกล่าวว่าทัพเสริมของญวนนำโดยต๊งเฟื้อกเลือง (Tống Phước Lương, 宋福樑) มาถึงในเวลานี้พอดี ทำให้ทัพสยามของเจ้าพระยาบดินทรเดชาฯเหลือเกินกำลังสู้รบจำต้องล่าถอย เจ้าพระยาบดินทรเดชาฯเห็นว่านายกองฝ่ายสยามมีความขลาดต้องนำตัวไปประหารชีวิต เจ้าพระยาพระคลังฯแย้งว่าแม่ทัพนายกองเหล่านี้ล้วนแต่เป็นขุนนางผู้ใหญ่พระยาพานทอง[1]ประหารไม่ได้ หลังจากการสู้รบสองวัน ในวันแรม 7 ค่ำ เดือนสาม (31 มกราคม พ.ศ. 2377)[1] เจ้าพระยาบดินทรเดชาฯจึงถอยทัพสยามกลับไปที่เมืองโจดก โดยให้ทัพบกค่อยๆลงเรือเล็กกลับไปเมืองโจดกโดยมีทัพเรือคอยหนุนป้องกัน
การล่าถอยของสยาม การรุกของญวน และการลุกฮือของกัมพูชา[แก้]
ทัพสยามล่าถอยไปตั้งมั่นที่เมืองโจดก โดยเจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ) ลำเลียงทัพเรือกลับไปยังเมืองบันทายมาศ ฝ่ายญวนยกทัพเรือตามแม่น้ำบาสักมาโจมตีเมืองโจดก วันแรม 10 ค่ำ เดือนสาม (3 กุมภาพันธ์)[1] เจ้าพระยาบดินทรเดชาฯให้ยิงปืนใส่ทัพญวนที่ขึ้นบกมาทำให้ทหารญวนล้มตายที่ริมตลิ่งจำนวนมากและทัพเรือญวนถอยกลับไป ฝ่ายเจ้าพระยาพระคลังซึ่งนำทัพเรือล่องผ่านคลองหวิญเต๊กลับบันทายมาศ ปรากฏว่าคลองหวิญเต๊ในเวลานั้นน้ำน้อยตื้นเขินทำให้ทัพเรือไปต่อไม่ได้ เจ้าพระยาพระคลังฯจึงให้ยกเรือขึ้นบกแล้วใช้ช้างลากไปยังเมืองกำปอต ปรากฏว่าชาวกัมพูชาในกองช้างนั้นลุกฮือขึนสังหารกองช้างฝ่ายไทยสิ้นและนำช้างไปหมด[1] หลังจากที่เจ้าพระยาพระคลังละทัพเรือไปอยู่ที่บันทายมาศแล้วในวันแรมสิบสามค่ำ (6 กุมภาพันธ์) ทัพเรือญวนมาโจมตีเมืองโจดกอีกครั้งแม้เจ้าพระยาบดินทรเดชาฯจะต้านทานญวนได้แต่ก็เห็นว่าไม่อาจรักษาเมืองโจดกได้ จึงถอนทัพสยามออกจากเมืองโจดกไปยังเมืองเมืองเชิงกรรชุมในกัมพูชา และเจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ) กวาดต้อนชาวเมืองบันทายมาศ เมืองกำปอด และเมืองกำปงโสม รวมทั้งชาวญวนเข้ารีต ถอยออกจากเมืองบันทายมาศไปตั้งที่จันทบุรี
หลังจากความพ่ายแพ้ของทัพฝ่ายสยามแล้ว บรรดาขุนนางราษฎรชาวกัมพูชาจึงลุกฮือรวมตัวกันเป็นกองกำลังเพื่อขับไล่ทัพสยามออกจากกัมพูชา[2] ทัพของเจ้าพระยาบดินทรเดชาฯถูกชาวกัมพูชาเข้าโจมตีแบบกองโจร เจ้าพระยาบดินทรเดชาอยู่ที่เมืองเชิงกรรชุม หรือเมืองตรัง (Treang) เมื่อเห็นว่าชาวกัมพูชาลุกฮือขึ้นต่อต้านสยามเจ้าพระยาบดินทรเดชาฯจึงให้นักองค์อิ่ม นักองค์ด้วง และเจ้าพระยาอภัยภูเบศร (เชด) ทำลายกำแพงเมืองพนมเปญแล้วกวาดต้อนชาวเมืองพนมเปญกลับไปเมืองโพธิสัตว์ ชาวเมืองพนมเปญลุกฮือขึ้นต่อต้าน เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์) มาพบกับนักองค์อิ่ม นักองค์ด้วง และเจ้าพระยาอภัยภูเบศรที่เมืองโพธิสัตว์ในวันขึ้นแปดค่ำเดือนสี่ (15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2377) แล้วทั้งหมดจึงล่าถอยไปอยู่ที่เมืองพระตะบอง ฝ่ายแม่ทัพญวนเจืองมิญสางและเหงียนซวนเมื่อเห็นว่าฝ่ายสยามล่าถอยกลับไปแล้ว จึงนำกำลังเข้ายึดเมืองโจดกและบันทายมาศ
ฝ่ายกัมพูชาพระยาจักรี (หลง) ซึ่งได้แตกพ่ายหนีไปบาพนมนั้น ได้พบกับพระยายมราช (โห้) เกณฑ์กำลังชาวเขมรในเขตเมืองบาพนมได้ 1,000 คน ตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านสโมงในเขตเมืองไพรแวง[2] ฝ่ายทัพของพระยาราชนิกูล (เสือ) และพระยานครราชสีมา (ทองอิน) ซึ่งยกทัพบกไปทางตะวันออกข้ามแม่น้ำโขงไปผ่านเขตบาพนมใกล้จะถึงเมืองไซ่ง่อนนั้น ถูกกองกำลังของกัมพูชาของพระยาจักรี (หลง) และพระยายมราช (โห้) เข้าซุ่มโจมตี[2]ที่ตำบลบ้านสโมงเขตไพรแวง หลังจากนั้นพระยาราชนิกูลและพระยานครราชสีมาจึงทราบว่าทัพฝ่ายสยามได้ล่าถอยไปแล้ว จึงเดินทัพกลับมาที่แม่น้ำโขงพบว่าเรือข้ามแม่น้ำสูญหายไปหมด พระยาพิชัยสงคราม (เพชร) จึงต่อแพเป็นสะพานขึ้นข้ามแม่น้ำโขงทำให้ทัพของพระยาราชนิกูลและพระยานครราชสีมาสามารถข้ามแม่น้ำโขงกลับมาได้ พระยานครสวรรค์มีความขัดแย้ง[1]กับพระยาราชนิกูลและพระยานครราชสีมาจึงไม่ข้ามสะพานแพ ยกทัพ 1,000 คนขึ้นไปทางเหนือเลียบแม่น้ำโขงแต่ถูกกองกำลังกัมพูชาสังหารสิ้น ทัพของพระยาราชนิกูลและพระยานครราชสีมาข้ามแม่น้ำโขงมาแล้วเจอกองกำลังของกัมพูชาและเวียดนามแต่สามารถเอาชนะได้และมาตั้งที่เมืองกำพงสวาย เจ้าพระยาบดิทรเดชาฯจึงให้พระยาราชนิกูลและพระยานครราชสีมากวาดต้อนชาวเมืองกำพงสวายกลับไปทางนครราชสีมา หลังจากที่ทัพสยามล่าถอยไปจนหมดแล้ว เจืองมิญสางแม่ทัพญวนจึงนำพระอุไทยราชานักองค์จันทร์กลับขึ้นมาครองกัมพูชาและประทับที่เมืองพนมเปญอีกครั้งในเดือนห้า พ.ศ. 2377 พระอุไทยราชาทรงปูนบำเหน็จให้พระยาจักรี (หลง) เป็นเจ้าฟ้าทะละหะ (หลง) และพระยายมราช (โห้) เป็นสมเด็จเจ้าพระยา (โห้)[2]
สงครามเมืองพวน[แก้]
ทัพสยามที่ยกทัพไปทางเมืองลาวฝ่ายเหนือนั้น พระมหาเทพ (ป้อม) ตั้งทัพที่นครพนม พระราชวรินทร์ (ขำ) ตั้งมั่นที่หนองคาย และเจ้าพระยาธรรมธิกรณ์ (สมบุญ) ไปถึงเมืองหลวงพระบางเมื่อแรม 9 ค่ำ เดือนสาม (2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2377)[1]
- ในเดือนสามปีพ.ศ. 2377 (มกราคม พ.ศ. 2377) พระมหาเทพยกทัพจากเมืองนครพนมเข้าตีเมืองมหาชัย (Mahaxay) เมืองพอง (Muang Pong) เมืองพลาน (Muang Phalan) และเมืองชุมพร (Champhone) ซึ่งเป็นหัวเมืองลาวที่อยู่ภายใต้อิทธิพลของเวียดนาม กวาดต้อนชาวลาวส่งไปถึงเมืองนครราชสีมา
- ฝ่ายเมืองพวนอาณาจักรเชียงขวาง หลังจากที่เจ้าน้อยเมืองพวนถูกประหารชีวิตในพ.ศ. 2372 เวียดนามเข้าปกครองอาณาจักรเชียงขวางโดยตรงกลายเป็นแคว้นเจิ๊นนิญ เมื่อทัพสยามเข้ารุกรานอาณาจักรเชียงขวางพระจักรพรรดิมิญหมั่งจึงทรงแต่งตั้งเจ้าสานอดีตขุนนางเมืองพวนมาครองเมืองพวนเชียงขวางเพื่อตั้งรับศึกกับสยาม พระราชวรินทร์และพระปทุมเทวาภิบาล (บุญมา) เจ้าเมืองหนองคายส่งสาส์นไปเกลี้ยกล่อมเจ้าสานเมืองพวนให้เข้ามาสวามิภักดิ์ฝ่ายสยาม เจ้าสานเมืองพวนจึงแปรพักตร์มาเข้ากับฝ่ายสยามและส่งพันแสงมารับพระราชวรินทร์ที่ท่าข้ามช้างและนำทางให้ทัพของพระราชวรินทร์เข้าเมืองพวนในวันแรมหกค่ำเดือนสี่ (กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2377) นำไปสู่การรบที่เมืองพวน พระราชวรินทร์โจมตีสังหารทหารฝ่ายเวียดนามห้าร้อยคนหมดสิ้น
- เจ้าพระยาธรรมธิกรณ์ (สมบุญ) ได้ทัพหัวเมืองเหนือพิชัย สวรรคโลก พิจิตร พิษณุโลก สุโขทัย และเมืองแพร่ เข้ามาสมทบ และได้ทัพลาวหลวงพระบางมาสมบทอีก 2,000 คน[1] เจ้าพระยาธรรมธิกรณ์และเจ้ามันธาตุราชเจ้าเมืองหลวงพระบางยังไม่ทราบว่าเมืองพวนได้แปรพักตร์มาเข้ากับฝ่ายสยามแล้ว จึงส่งทัพหัวเมืองเหนือและลาวไปจากหลวงพระบางนำโดยพระยาสวรรคโลกและเจ้าอุปฮาด (เจ้าสุกเสริม) ไปโจมตีเมืองพวนในวันแรม 3 ค่ำ เดือนสี่ (25 กุมภาพันธ์) พระยาสวรรคโลกส่งสาส์นผ่านพระยาเมืองแผนขุนนางลาวเกลี้ยกล่อมให้เมืองพวกแปรพักตร์ เจ้าสานเมืองพวนจึงส่งเจ้าอุปราชเมืองพวนและเจ้าเมืองสุยมาพบกับพระยาสวรรคโลกร้องขอให้พระยาสวรรคโลกนำทัพเข้าตีทัพญวนที่เมืองสุย (Muang Soui) นำไปสู่การรบที่เมืองสุย พระยาสวรรคโลกส่งพระยาพิชัยนำทัพ 500 นายไปสังหารทหารญวนสองร้อยคนที่เมืองสุยจนสิ้นแล้ว พระยาสวรรคโลกจึงเข้ายึดเมืองสุย และได้ทราบข่าวว่าพระราชวรินทร์ได้เข้ายึดเมืองพวนไว้แล้ว พระยาสวรรคโลกจึงส่งเจ้าอุปราชเมืองพวนให้แก่พระเจ้ายาธรรมาฯที่หลวงพระบาง เจ้าพระยาธรรมาฯส่งตัวเจ้าอุปราชเมืองพวนมายังกรุงเทพฯ เจ้าพระยาธรรมธิกรณ์ส่งทัพลาวเมืองหลวงพระบางไปตีเมืองหัวพันห้าทั้งหก ชาวไทดำไทแดงหัวพันทั้งห้าหกเมื่อทราบว่าทัพสยามยกมาจึงพากับหลบหนีเข้าป่า เจ้าพระยาธรรมาฯจึงให้เพี้ยอรรคฮาดขุนนางลาวไปเจรจาเกลี้ยกล่อมให้ชาวไทดำไทแดงทั้งหลายของเมืองหัวพันฯเข้าสวามิภักดิ์ต่อสยาม บรรดาเจ้าเมืองหัวพันฯสัญญาว่าจะเข้ามาอยู่ในอำนาจของสยามเพี้ยอรรคฮาตจึงยกทัพกลับ ในขณะนั้นเจ้าพระยาธรรมธิกรณ์เฝ้ารอเจ้าเมืองหัวพันฯทั้งหลายมาสวามิภักดิ์ก็ไม่มา จนเจ้าพระยาธรรมาธิกรณ์ล้มป่วยต้องกลับเข้ากรุงเทพฯ
ช่วงระหว่างสงคราม พ.ศ. 2378 - 2382[แก้]
หลังจากที่ทัพของเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์) ถอยมาอยู่ที่เมืองพระตะบองแล้วนั้น เจ้าพระยาอภัยภูเบศร (เชด) ถึงแก่อสัญกรรม พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯจึงมีพระราชโองการให้ตั้งนักองค์อิ่มขึ้นปกครองเมืองพระตะบองแทนที่เจ้าพระยาอภัยภูเบศร และให้นักองค์ด้วงเป็นเจ้าเมืองมงคลบุรี เจ้าพระยาบดินทรเดชาฯจึงเดินทางกลับกรุงเทพฯในเดือนหก การล่าถอยของสยามในสงครามปีพ.ศ. 2377 ทำให้เวียดนามเข้ามามีอำนาจในอาณาจักรกัมพูชาอย่างเต็มที่นักองค์จันทร์กลับมาครองกัมพูชาดังเดิม ในปลายปีพ.ศ. 2378 เจืองมิญสางแม่ทัพญวนสามารถเข้ายึดเมืองไซ่ง่อนจากกบฏเลวันโคยได้สำเร็จ การกบฏของเลวันโคยสิ้นสุดลงทำให้เวียดนามสามารถมุ่งความสนใจมาที่กัมพูชาได้อย่างเต็มที่ ในเดือนห้า (เมษายน) พ.ศ. 2378 ฝ่ายเวียดนามจัดทัพแห่นักองค์จันทร์พร้อมทั้งพระราชวงศ์กัมพูชากลับมาครองเมืองบันทายแก้วพนมเปญดังเดิม[2]
หัวพันห้าทั้งหก[แก้]
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯโปรดฯให้เจ้าพระยาธรรมาธิกรณ์ (สมบุญ) กลับไปจัดการเรื่องเมืองพวนและเมืองหัวพันห้าทั้งหกอีกครั้ง เมื่อฝ่ายสยามเข้าครองเมืองพวนอาณาจักรเชียงขวางแล้ว เห็นว่าอาณาจักรเชียงขวางเป็นเมืองห่างไกลป้องกันยาก หากเวียดนามเข้าโจมตีอีกครั้งจะไม่สามารถป้องกันได้และจะยึดเชียงขวางเป็นเส้นทางเสบียง เจ้าพระยาธรรมาธิกรณ์จึงให้ปลัดเมืองพิษณุโลกและยกกระบัตรเมืองสุโขทัยกวาดต้อนเจ้าสานเมืองพวน ชาวเมืองพวน ชาวไทพวนจากเมืองพวนทั้งหมดสิ้นมาไว้ที่เมืองน่าน แพร่ ศรีสัชนาลัย พิชัย พิจิตร พิษณุโลก และเพชรบูรณ์[3] ทำให้อาณาจักรเชียงขวางกลายเป็นเมืองรกร้างปราศจากผู้คน เจ้าพระยาธรรมาธิกรณ์ให้เพี้ยอรรคฮาตไปเกลี้ยกล่อมชาวไทดำไทแดงอีกครั้ง นำตัวแทนจากเมืองเหียม เมืองหัวเมือง เมืองซวน และเมืองซำเหนือ มาพบกับเจ้าพระยาธรรมาธิกรณ์ที่หลวงพระบาง บรรดาหัวเมืองของเมืองหัวพันฯจึงยินยอมเข้ามาอยู่ภายใต้อำนาจของสยาม โดยขึ้นกับอาณาจักรหลวงพระบาง ฝ่ายเวียดนามจักรพรรดิมิญหมั่งเมื่อเห็นว่าสยามกวาดต้อนชาวไทพวนเชียงขวางไปจนหมดสิ้น บ้านเมืองว่างเปล่า จึงแต่งตั้งเจ้าโปซึ่งเป็นบุตรชาวของเจ้าน้อยมาครองเมืองพวน รวบรวมชาวไทพวนที่ยังคงหลงเหลืออยู่ตั้งเป็นบ้านเมืองขึ้นใหม่
การเตรียมการของสยาม[แก้]
หลังจากสงครามฝ่ายสยามมีการเตรียมการรับมือศึกเวียดนามที่อาจจะยกมารุกเป็นการตอบแทน พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯทรงให้มีการเตรียมการรับมือข้าศีกเวียดนามดังนี้;[1]
- ให้เจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ) นำกำลังชาวจีนต่อเรือป้อมแบบญวนขึ้นแปดสิบลำ
- ให้จมื่นไวยวรนาถ (ช่วง บุนนาค) ต่อเรือกำปั่นขึ้นสองลำ
- ให้เจ้าพระยาพระคลังไปรื้อกำแพงเมืองจันทบุรีลงแล้วสร้างป้อมปราการขึ้นใหม่คือป้อมเนินวง ให้บุตรชายของพระยาพระคลังคือ จมื่นไวยวรนารถ (ช่วง) ต่อเรือแกล้วกลางสมุทรและระบิลบัวแก้วที่จันทบุรี และจมื่นราชามาตย์ (ขำ) สร้างป้อมสองแห่งได้แก่ ป้อมภัยพินาศ และป้อมพิฆาตปัจจามิตร
- ให้กรมหลวงรักษ์รณเรศทรงสร้างป้อมเมืองฉะเชิงเทรา
- ให้กรมหมื่นเดชาดิศร กรมหมื่นเสพสุนทร และกรมหมื่นณรงค์หริรักษ์ เป็นแม่กองทำกำแพงเชิงเทินเมืองสมุทรปราการ และสร้างป้อมคงกระพัน (ตำบลปากคลองปลากด อำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรสงคราม)
- ให้พระยาราชสุภาวดี (โต) ไปประจำที่เมืองกบินทรบุรีและปราจีนบุรี เพื่อตั้งกองลำเลียงเสบียงไปเมืองพระตะบอง ต่อมาให้พระยาราชสุภาวดีบูรณะกำแพงเมืองเสียมราฐ
- เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2380 ให้เจ้าพระยาบดินทรเดชา พระมหาเทพ (ป้อม) และพระพิเรนทรเทพ (ขำ) เดิมคือพระราชวรินทร์ เดินทางไปสำรวจกำลังพลจัดทำบัญชีหัวเมืองเขมรป่าดงและภาคอีสานเพื่อเตรียมกำลังสำหรับสงคราม ได้กำลังไพร่พลทั้งสิ้น 80,000 คน
- ให้เจ้าพระยาบดินทรเดชาฯบูรณะปรับปรุงสร้างกำแพงเมืองพระตะบองขึ้นใหม่
เวียดนามเข้าผนวกกัมพูชา[แก้]
พระอุไทยราชานักองค์จันกษัตริย์กัมพูชาสวรรคตเมื่อขึ้นแปดค่ำเดือนยี่ (6 มกราคม) พ.ศ. 2378 นักองจันทร์ไม่มีโอรสมีแต่ธิดาสี่องค์ได้แก่ องค์แบน องค์มี นักองค์เภา และองค์สงวน นักองค์แบนเป็นธิดาองค์ใหญ่ เป็นพระธิดาของนักองค์จันทร์กับนักนางเทพ ซึ่งนักนางเทพเป็นธิดาของเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ (แบน) และฝักใฝ่สยาม พระเจ้ามิญหมั่งจึงทรงข้ามนักองค์แบนไปตั้งองค์มีขึ้นเป็นกษัตรีครองอาณาจักรกัมพูชาในพ.ศ. 2378 ด้วยตำแหน่งกวั่นจว๋า (Quận chúa, 郡主) หรือเจ้าเมืองหญิงในฐานะแต่เพียงหุ่นเชิดเท่านั้น เจืองมิญสางทูลเสนอพระเจ้ามิญหมั่งให้ผนวกกัมพูชาเข้ากับเวียดนามปกครองโดยตรง ในพ.ศ. 2378 พระจักรพรรดิมิญหมั่งจึงทรงยุบรวมอาณาจักรกัมพูชาเข้ามาปกครองโดยตรงกลายเป็น "มณฑลเจิ๊นเต็ย" (Trấn Tây, 鎮西) และแต่งตั้งเจืองมิญสางเป็นเจิ๊นเตยเตื๊องเกวิน (Trấn Tây tướng quân, 鎭西將軍) หรือผู้บัญชาการทหารแห่งเจิ๊นเต็ยเป็นที่มาของชื่อ "องเตียนกุน" (Ông Tương Quân, 翁將軍 พงศาวดารกัมพูชาเรียกว่า "องเลิ้งกุน") เมืองพนมเปญซึ่งญวนเรียกว่าเมืองนามวัง (Nam Vang, 南榮) หรือเมืองเจิ๊นเต็ยถ่าญ (Trấn Tây Thành, 鎮西城) เป็นศูนย์กลางการปกครองของเวียดนามในกัมพูชา พระเจ้ามิญหมั่งและเจืองมิญสางมีนโยบายกลืนชาติกัมพูชาให้ชาวกัมพูชาเข้าสู่วัฒนธรรมขงจื๊อและแต่งกายแบบญวน เจืองมิญสางให้มีการฝึกทหารกัมพูชาและเวียดนามในเมืองพนมเปญเพื่อเตรียมรับมือทัพสยาม
ฝ่ายญวนองเตียนกุนให้สมเด็จเจ้าพระยาไปตั้งกำลังอยู่ที่เมืองกำปงสวาย ฝ่ายสยามจึงมีพระราชโองการให้พระยาราชนิกูล (เสือ) นำกำลัง 1,000 คน ไปตั้งที่เมืองอุบลและจำปาศักดิ์ ทำป้อมค่ายหอรบที่เมืองทั้งสอง องเตียนกุนให้ฝึกทหารที่เมืองพนมเปญ
เมื่อกัมพูชาอยู่ภายใต้การปกครองของเวียดนามโดยมีเจ้าสตรีเป็นหุ่นเชิด นักองค์อิ่มจึงมีความคิดที่จะแปรพักตร์ไปเข้ากับฝ่ายญวนเพื่อให้ญวนตั้งขึ้นครองกัมพูชา "องเตียนกุน"เจืองมิญสางมีหนังสือลับมาถึงนักองค์อิ่มเกลี้ยกล่อมให้นักองค์อิ่มแปรพักตร์ นักองค์อิ่มจึงหาความเท็จใส่ร้ายนักองค์ด้วง[2] มีหนังสือเข้ามาที่กรุงเทพฯในเดือน พฤศจิกายน พ.ศ. 2380 แจ้งว่านักองค์ด้วงซ่อมสุมผู้คน เป็นเหตุให้พระยาปลัดเมืองพระตะบอง (รศ) จับคุมตัวนักองค์ด้วงส่งมายังกรุงเทพฯ ทรงให้จองจำนักองค์ด้วงไว้ที่ทิมดาบ ต่อมาพระยาศรีสหเทพ (เพ็ง ศรีเพ็ญ) กราบทูลขอพระราชทานปล่อยตัวนักองค์ด้วง ไปอยู่ที่บ้านของพระยาศรีสหเทพ[1]
องค์อิ่มแปรพักตร์และกัมพูชากบฏต่อเวียดนาม[แก้]
วันแรมสามค่ำ เดือนหนึ่ง ปีพ.ศ. 2381 (27 ธันวาคม) นักองค์อิ่มแปรพักตร์ไปเข้ากับญวนยึดอำนาจในเมืองพระตะบองจับตัวพระยาปลัดเมืองพระตะบอง (รศ) รวมทั้งกรมการข้าราชการฝ่ายสยามและกวาดต้อนชาวเมืองพระตะบองเดินทางไปยังเมืองพนมเปญเพื่อสวามิภักดิ์ต่อเจืองมิญสาง เจืองมิญสางให้ประหารชีวิตกรมการผู้น้อยฝ่ายสยามที่เมืองพนมเปญ แล้วจับกุมนักองค์อิ่มและพระยาปลัดเมืองฯ (รศ) ส่งไปที่เมืองเว้ เจ้าพระยาบดินทรเดชาฯทราบข่าวเมื่อเดือนมกราคมพ.ศ. 2382 จึงรีบเดินทางไปยังเมืองพระตะบองและเกณฑ์กำลังจากเขมรป่าดงเข้ามารักษาเมืองพระตะบอง ในพ.ศ. 2383 เจืองมิญสางส่งเจ้าฟ้าทะละหะ (หลง) และสมเด็จเจ้าพระยา (โห้) ไปกุมขังไว้ที่เมืองเว้ ซึึ่งต่อมาถูกเนรเทศต่อไปยังฮานอย และยังส่งเจ้าหญิงกัมพูชาพระธิดาทั้งสี่ของนักองค์จันทร์ได้แก่ นักองค์แบน นังองค์มี นักองค์เภา และนักองค์สงวน ไปไว้ที่เมืองไซ่ง่อน
เดือนสิบ (กันยายน) พ.ศ. 2383 พระยาสังคโลกเจ้าเมืองโพธิสัตว์เข้าสวามิภักดิ์ต่อเจ้าพระยาบดินทรเดชาฯ แจ้งสถานการณ์ของกัมพูชาว่าฝ่ายญวนกดขี่ขุนนางกัมพูชาอย่างมากและองเตียนกุนกำลังเตรียมทัพมาตีเมืองพระตะบอง รวมทั้งบรรดาขุนนางกัมพูชาที่ไม่พอใจการปกครองของเวียดนาม ร่วมกันถวายสาส์นแด่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ขอพระราชทานนักองค์ด้วงออกไปเป็นกษัตริย์กัมพูชา[1][2] ขุนนางเขมรต้องการให้นักองค์ด้วงมาครองกัมพูชา เจ้าพระยาบดินทรเดชาฯจึงเกณฑ์กำลังพลจากเขมรป่าดงและอีสานมาเตรียมการสำหรับสงครามครั้งใหม่ ปลายปีพ.ศ. 2383 เมืองกัมพูชาลุกฮือขึ้นต่อต้านการปกครองของเวียดนามขึ้นทุกเมือง ดั่ยนามถึกหลุกกล่าวถึงการลุกฮือของชาวกัมพูชาชื่อว่าเลิมเซิม (Lâm Sâm) ในเวียดนามภาคใต้ พระจักรพรรดิมิญหมั่งพระราชโองการให้เจืองมิญสาง เหงียนกงจื๊อ (Nguyễn Công Trứ, 阮公著) และเหงียนเที้ยนเลิม (Nguyễn Tiến Lâm, 阮進林) นำทัพเข้าปราบการลุกฮือของกัมพูชา
สงครามในปีพ.ศ. 2383 - 2388[แก้]
อานัมสยามยุทธ พ.ศ. 2383-2385 | |||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
ส่วนหนึ่งของ อานัมสยามยุทธ | |||||||||
| |||||||||
คู่สงคราม | |||||||||
![]() ![]() |
![]() | ||||||||
ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ | |||||||||
![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() |
![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() |
สยามยึดเมืองโพธิสัตว์และเวียดนามถอยไปจากกัมพูชา[แก้]
เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์) จัดทัพในการเข้ารุกกัมพูชาในปีพ.ศ. 2583 ดังนี้;
- เจ้าพระยาบดินทรเดชาฯ ยกทัพจากเมืองพระตะบองเข้าตีเมืองโพธิสัตว์ ประกอบไปด้วย;
- พระพิเรนทรเทพ (ขำ) นำทัพชาวกรุงเทพฯ 178 คน ชาวลาวอีสาน 2,612 คน รวม 2,788 คน
- พระพรหมบริรักษ์ (แก้ว) บุตรชายของเจ้าพระยาบดินทรเดชาฯ นำทัพชาวกรุงเทพฯ 205 คน และเจ้าพระยานครราชสีมา (ทองอิน) นำทัพชาวลาวอีสาน 2,445 คน รวม 2,650 คน
- พระยาราชนิกูล และพระยาอภัยสงคราม นำทัพชาวลาว 2,000 คน ชาวเขมรป่าดง 11,000 คน รวม 13,000 คน ยกทัพจากเสียมราฐไปช่วยพระยาเดโชขุนนางกัมพูชาเจ้าเมืองกำปงสวาย
ทัพของพระยาราชนิกูลเดินทางออกจากเมืองพระตะบองในเดือนสิบสอง (พฤศจิกายน พ.ศ. 2383) ร่วมกับทัพเขมรของพระยาเดโชเข้าโจมตีเมืองกำพงธมซึ่งมีเหงียนกงเญิน (Nguyễn Công Nhân, 阮公閒) ป้องกันอยู่ นำไปสู่การรบที่กำปงธมและชีแครง พระยาราชนิกูลสามารถยึดเมืองกำปงสวายของฝ่ายญวนและตีทัพญวนที่ชีแครงแตกไป แต่หลังจากนั้นไม่นานองเตียนกุนเจืองมิญสางนำทัพมาตีทัพของพระยาราชนิกูลที่ชีแครงแตกไป ทัพของพระพิเรนทรเทพ (ขำ) พระพรหมบริรักษ์ (แก้ว) และเจ้าพระยานครราชสีมาออกจากเมืองโพธิสัตว์ในเดือนสิบสองเช่นกันเข้าล้อมเมืองโพธิสัตว์ไว้ทั้งสี่ด้าน นำไปสู่การล้อมเมืองโพธิสัตว์ เมืองโพธิสัตว์มี "องเดดก" หมายถืงเด่ด๊ก (Đề đốc, 提督) หรือเจ้าเมืองป้องกันอยู่ส่งทหารญวนจากเมืองโพธิสัตว์ออกมาสู้รบ ดั่ยนามถึกหลุกกล่าวว่าเด่ด๊กแห่งเมืองโพธิสัตว์ในขณะนั้นชื่อว่าหวอดึ๊กจุง (Võ Đức Trung) เจ้าพระยาบดินทรเดชาฯให้ขุนสนามเพลาะใช้ปืนระดงยิงใส่ป้อมเมืองโพธิสัตว์ฝ่ายญวนเสียชีวิตจำนวนมาก เจ้าพระยาบดินทรเดชาฯทราบข่าวว่าทัพของพระยาราชนิกูลที่กำปงสวายถูกองเตียนกุนตีแตกไปแล้วและองเตียนกุนกำลังจะยกทัพมาช่วยเมืองโพธิสัตว์ จึงปรึกษากับเจ้าพระยานครราชสีมาว่าถ้าไม่สามารถยึดเมืองโพธิสัตว์ได้ก่อนที่องเตียนกุนจะมาถึงควรเจรจาสงบศึก เจ้าพระยาบดินทรเดชาฯจึงเจรจาสงบศึกกับองเดดกหวอดึ๊กจุง องเดดกยินยอมถอนกำลังออกจากเมืองโพธิสัตว์สร้างความไม่พอใจให้แก่องเตียนกุน เจ้าพระยาบดินทรเดชาฯจึงยอมให้ขุนนางญวนเดินทางออกจากเมืองโพธิสัตว์ไปแต่โดยดี เมื่อยึดเมืองโพธิสัตว์ได้แล้วเจ้าพระยาบดินทรเดชาฯเห็นว่าเมืองโพธิสัตว์มีเสบียงน้อยจึงให้ขุนนางเขมรรักษาเมืองและถอยทัพกลับไปอยู่ที่พระตะบอง
พระเจ้ามิญหมั่งมีพระราชโองการให้ "องตาเตียงกุน"ฝั่มวันเดี๋ยน (Phạm Văn Điển, 范文典) ยกทัพมาช่วยองเตียนกุน ในเดือนกุมภาพันธ์พ.ศ. 2384 โปรดฯให้นักองค์ด้วงไปที่เมืองพระตะบอง เจ้าพระยาบดินทรเดชาฯป่าวประกาศให้ชาวกัมพูชามาสวามิภักดิ์ต่อนักองค์ด้วง นักองค์แบนพระเชษฐภคินีของนักองค์มีมีหนังสือลับถึงนักนางเทพพระมารดาที่เมืองพระตะบองว่าจะหลบหนีมาอยู่ฝ่ายสยาม ฝ่ายเวียดนามจับได้เจืองมิญสางจึงนำนักองค์แบนไปสำเร็จโทษประหารชีวิตที่เมืองล็องโห่ด้วยการถ่วงน้ำในแม่น้ำโขง เหตุการณ์นี้ทำให้พระเจ้ามิญหมั่งไม่ไว้วางใจเจ้านายกัมพูชาอีกต่อไป จงมีพระราชโองการให้ปลดนักองค์มีออกจากตำแหน่งกษัตรีแห่งกัมพูชา รวมทั้งเนรเทศนักองค์มีและพระขนิษฐาอีกสององค์คือองค์เภาและองค์สงวนไปที่เกาะโกนด๋าว (Côn Đảo)
พระจักรพรรดิมิญหมั่งสวรรคตในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2384 ทัพของเจืองมิญสางและฝั่มวันเดี๋ยนที่เมืองพนมเปญมี 20,000 คน ฝั่มวันเดี๋ยนยกทัพ 3000 คน เข้าตีเมืองโพธิสัตว์แต่ไม่สำเร็จ เจ้าพระยาบดินทรฯจึงให้นักองค์ด้วยไปรักษาเมืองโพธิสัตว์ในเดือนมีนาคม ในเดือนเมษายนเจืองมิญสางนำนักองค์อิ่ม นักองค์มี รวมทั้งเชื้อพระวงศ์และขุนนางเขมรซึ่งถูกจองจำอยู่ที่เว้มายังเมืองพนมเปญเพื่อเกลี้ยกล่อมชาวกัมพูชาอีกครั้ง เจ้าพระยาบดินทรเดชาฯจึงส่งนักองค์ด้วงไปอยู่ที่เมืองอุดงมีชัยเพื่อเกลี้ยกล่อมชาวเขมรเช่นกันโดยมีพระพรหมบริรักษ์ (แก้ว) เป็นผู้นำทัพถึงเมืองอุดงในเดือนพฤษภาคม เมื่อฝ่ายเวียดนามพ่ายแพ้และถอยร่นไป เจืองมิญสางจึงจำต้องนำนักองค์อิ่มและนักองค์มีไปประทับที่เมืองโจดกหรือเปียมเมียดจรูกแทน[2]
ในเวลานั้นอาณาจักรกัมพูชาแบ่งเป็นสองฝ่ายคือฝ่ายนักองค์ด้วงที่เมืองอุดงและฝ่ายนักองค์อิ่มและนักองค์มีที่พนมเปญ พระจักรพรรดิเวียดนามพระองค์ใหม่คือพระจักรพรรดิเถี่ยวจิทรงมีนโยบายที่แตกต่างจากพระจักรพรรดิมิญหมั่ง ขุนนางชื่อว่าตะกวังกึ (Tạ Quang Cự, 謝光巨) ได้กราบทูลพระจักรพรรดิเถี่ยวจิว่าสงครามในกัมพูชานั้นเป็นสิ่งที่สิ้นเปลืองทรัพยากรทำให้ราษฎรในเวียดนามภาคใต้ได้รับความเดือดร้อนเนื่องจากถูกเกณฑ์ไปรบ จึงมีพระราชโองการให้ถอนกำลังทหารของเวียดนามออกจากกัมพูชาและเชียงขวางทั้งหมด ประกอบกับการที่เมืองพนมเปญเกิดโรคระบาดและภาวะขาดอาหาร ทำให้เจืองมิญสางจำต้องถอนกำลังออกจากกัมพูชารวมทั้งนำนักองค์อิ่มและเชื้อพระวงศ์เขมรลงใต้ไปอยู่ที่เมืองโจดกในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2384 ดั่ยนามถึกหลุกกล่าวว่าเจืองมิญสางเสียชีวิตอย่างกระทันกันที่เมืองโจดก ในขณะที่พงศาวดารไทยและเขมรกล่าวว่าองเตียนกุนเจืองมิญสางมีความเสียใจที่สูญเสียกัมพูชาจึงกินยาพิษฆ่าตัวตาย
สยามตีเมืองบันทายมาศและคลองหวิญเต๊[แก้]
เมื่อฝ่ายสยามเข้าครองกัมพูชาแล้ว พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯดำริว่าคลองหวิญเต๊ซึ่งเป็นคลองขุดขึ้นเมื่อพ.ศ. 2362 ระหว่างเมืองโจดกและเมืองบันทายมาศเป็นคลองขนาดใหญ่ทำให้เวียดนามสามารถนำทัพเรือออกสู่อ่าวไทยได้ จึงมีพระราชโองการให้เจ้าพระยาบดินทรเดชานำกำลังไปถมทำลายคลองหวิญเต๊ เจ้าพระยาบดินทรเดชาตอบว่าคลองหวิญเต๊มีกองกำลังญวนคุมอยู่เนื่องจากเจ้าพระยาบดินทรเดชาฯล้มป่วยจึงทูลขอให้แต่งทัพเข้าตีคลองหวิญเต๊และตีเมืองบันทายมาศและทูลขอเสบียงอาหารเพิ่มเติมมาส่งที่เมืองกำปอต พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯจึงโปรดฯให้แต่งทัพไปโจมตีคลองหวิญเต๊และเมืองบันทายมาศดังนี้;
- สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ประทับเรือพุทธอำนาจ และจมื่นไวยวรนาถ (ช่วง) เป็นทัพหน้าลงเรือเทพโกสินทร์ นายกองอื่นๆลงเรือราชฤทธิวิทยาคม เรืออุดมเดช และเรือปักหลั่นมัจฉานุ นำกำลัง 2,000 คนไปรวมกับกำลังจากหัวเมืองตะวันออกได้แก่ระยอง จันทบุรี ตราด อีก 3,000 คน รวมเป็น 5,000 คน นำเสบียงไปส่งให้เจ้าพระยาบดินทรเดชาฯที่เมืองกำปอตและเข้าตีเมืองบันทายมาศ
- เจ้าพระยายมราช (บุนนาค) และพระพรหมบริรักษ์ (แก้ว) นำทัพชาวลาวและเขมรป่าดงจำนวน 11,900 คน นำนักองค์ด้วงจากเมืองอุดงไปอยู่ที่เมืองพนมเปญ และนำทัพเข้าโจมตีคลองหวิญเต๊
เจ้าพระยายมราชและพระพรหมบริรักษ์นำนักองค์ด้วงออกจากเมืองอุดงในเดือนสาม (มกราคม) พ.ศ. 2385 ถึงเมืองเชิงกรรชุมส่งคนไปโจมตีคลองหวิญเต๊เป็นระยะ ทัพเรือของเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ออกจากกรุงเทพฯในวันเดียวกัน กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ประทับที่จันทบุรีแล้วให้ทัพเรือของพระพิชัยรณฤทธิ์และพระราชวังสันยกไปก่อน ไปพบกับเรือฝ่ายญวนที่ช่องกระบือยิงต่อสู้กันเรือญวนถอยกลับไปยังบันทายมาศ พระยาอภัยพิพิธนำเสบียงลงเรือปักหลั่นมัจฉานุไปส่งให้เจ้าพระยาบดินทรเดชาที่กำปอต จากนั้นกรมขุนอิศเรศรังสรรค์จึงยกทัพเรือเสด็จไปประทับที่เกาะฟู้โกว๊กหรือเกาะกระทะคว่ำ ฝ่ายญวน"องตุมผู"ทราบว่าทัพเรือสยามกำลังยกมาตีเมืองบันทายมาศจึงรายงานไปยังพระจักรพรรดิเถี่ยวจิ จึงมีพระราชโองการตามที่ในดั่ยนามถึกหลุกให้เลวันดึ๊กเจ้าเมืองไซ่ง่อนเป็นแม่ทัพใหญ่ ให้ฝั่มวันเดี๋ยนซึ่งดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯจังหวัดอานซางและห่าเตียน (Tổng đốc An Hà) และเหงียนวันเจือง (Nguyễn Văn Chương, 阮文章 ต่อมาคือเหงียนจี่เฟือง Nguyễn Tri Phương, 阮知方) ป้องกันคลองหวิญเต๊ และให้เหงียนกงเญินป้องกันจังหวัดเหิ่วซาง

ในการรบที่บันทายมาศและเขาโกนธม กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ทรงให้จมื่นไวยวรนาถ (ช่วง) ยกทัพเข้าตีเมืองบันทายมาศ จมื่นไวยวรนาถให้พระยาอภัยพิพิธนำทัพหัวเมืองตะวันออก 600 คน และพระยาโสรัชชะเจ้าเมืองกำปอตชาวเขมรยกทัพเขมร 2,000 คนเข้ายึดเขาโกนธมหรือเขาโกโต (Núi Cô Tô) นอกจากนี้จมื่นไวยวรนาถยังให้พระยาราชวังสันยกทัพเรือไปโจมตีป้อมหน้าเมืองบันทายมาศ และพระยาพิชัยรนฤทธิ์ยกทัพเรือไปโจมตีหอลำผี ฝ่ายสยามระดมยิงปืนใหญ่ใส่เมืองบันทายมาศทั้งทางบกและทะเล ฝ่ายองตุมผูผู้รักษาเมืองบันทายมาศจึงขอความช่วยเหลือไปยังเลวันดึ๊ก เลวันดึ๊กแม่ทัพใหญ่จึงส่งฝั่มวันเดี๋ยนนำทัพญวนมาเสริมกำลังที่เมืองบันทายมาศ ฝ่ายสยามระดมยิงใส่เมืองบันทายมาศเป็นเวลาติดต่อกันเจ็ดวันฝ่ายญวนยังสามารถยิงตอบโต้ได้ต่อเนื่อง จมื่นไวยวรนาถเห็นผิดสังเกตจึงสืบได้ความว่าฝ่ายญวนมีกองกำลังมาเสริมแล้ว จมื่นไวยวรนาถจึงไปเข้าเฝ้าสมเด็จกรมขุนอิศเรศรังสรรค์ที่เกาะฟู้โกว๊ก
กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ฯทรงมีพระวินิจฉัยว่า[1]ฝ่ายญวนนำกำลังเสริมมามากการยึดเมืองบันทายมาศทำได้ลำบาก อีกประการขณะนั้นกำลังจะเปลี่ยนฤดูมรสุมหากลมจากทิศตะวันตกพัดแรงขึ้นจะพัดกองเรือกำปั่นหลวงให้ได้รับความเสียหาย จึงมีพระบัญชาให้ถอนทัพสยามออกจากเมืองบันทายมาศทั้งหมดในเดือนห้า (เมษายน) พ.ศ. 2385 ฝ่ายญวนเหงียนวันเจืองนำทัพเข้าโจมตีค่ายของพระยาอภัยพิพพิธและพระยาโสรัชชะบนเขาโกนธมแตกพ่ายไป ทัพเรือที่หอลำผีนั้นก็ถูกลมมรสุมตะวันตกพัดจนตั้งอยู่ไม่ได้ต้องถอยออกมา
ทัพของเจ้าพระยายมราช พระพรหมบริรักษ์ และนักองค์ด้วงเข้าโจมตีคลองหวิญเต๊ ดั่ยนามถึกหลุกกล่าวว่าฝ่ายสยามสามารถยึดคลองหวิญเต๊และจังหวัดอานซางได้และยกทัพไปโจมตีจังหวักเหิ่วซาง เหงียนกงเญินผู้รักษาจังหวัดอานซางจึงขอความช่วยเหลือจากเมืองเว้ พระจักรพรรดิเถี่ยวจิทรงส่งโตนเทิ้ตหงิ (Tôn Thất Nghị, 尊室議) ยกทัพมาช่วยเหงียนกงเญินที่จังหวัดอานซาง เมื่อสยามล่าถอยไปจากบันทายมาศแล้วฝั่มวันเดี๋ยนจึงยกทัพมาช่วยจังหวัดอานซางเช่นกันจนสามารถขับไล่ฝ่ายสยามออกไปจากจังหวัดอานซางและคลองหวิญเต๊ได้ ในเดือนเมษายนพ.ศ. 2385 ฝั่นวันเดี๋ยนล้มป่วยเสียชีวิต ฝ่ายเจ้าพระยายมราชจึงยกทัพเข้าประชิดเมืองโจดก นำไปสู่การรบที่โจดก แต่ถูกทัพญวนนำโดย "องเตียนเลือก"เข้าตีแตกพ่ายเสียทหารสยาม 1,200 คน และเสียทหารกัมพูชาไปจำนวน 2,000 คน ในวันแรมสิบสามค่ำเดือนห้า (8 เมษายน พ.ศ. 2385) เจ้าพระยายมราช (บุนนาค) ถูกปืนเข้าที่หน้าอกแต่ลูกปืนถูกกระดุมเสื้อ[1] นายแสงมหาดเล็กบุตรเจ้าพระยายมราชเสียชีวิตในที่รบ[1] ฝ่ายกัมพูชาพระองค์แก้ว (มา) ซึ่งเป็นพี่ชายของนักนางเทพ และขุนนางออกญาเขมรอีกเก้าคนสิ้นชีวิตในที่รบเจ้าพระยายมราชและนักองค์ด้วงจึงล่าถอยไปอยู่ที่พนมเปญ เลวันดึ๊กเสียชีวิตในปีพ.ศ. 2385 เช่นกัน จักรพรรดิเถี่ยวจิทรงแต่งตั้งเหงียนกงเญินขึ้นเป็นผู้ว่าฯจังหวัดอานซางและห่าเตียนแทน
การรบทางเรือครั้งนี้ไม่ประสบผลสำเร็จเนื่องจากทหารไทยไม่ชำนาญภูมิประเทศ และเรือไทยมีสมรรถนะที่ด้อยกว่า เรือญวน (ดูรายละเอียดใน พลเรือตรี แชน ปัจจุสานนท์, 2508) ทั้งในเรื่องของขนาดและประสิทธิภาพ ด้วยเหตุผลดังกล่าวพระบาทสมเด็จพระนั่ง เกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงเห็นความจำเป็นที่จะต้องต่อเรือรบใหม่เป็นเรือป้อมอย่างญวน สามารถติดตั้งปืนใหญ่ได้หลายกระบอก ทั้งนี้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาพระคลังเป็น แม่กอง อำนวยการต่อเรือป้อมแบบญวนไว้ใช้ในราชการ 80 ลำ
ช่วงระหว่างสงครามพ.ศ. 2386 - 2388[แก้]
หลังจากสงครามปีพ.ศ. 2385 อาณาจักรกัมพูชามีนักองค์ด้วงปกครองอยู่ที่เมืองอุดงภายใต้ความคุ้มครองของพระพรหมบริรักษ์โดยมีเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์) กำกับอยู่ที่เมืองพนมเปญ เจ้าพระยาบดินทรเดชาฯให้รื้อป้อมปราการของญวนที่นอกเมืองพนมเปญลงและสร้างป้อมใหม่ทางทิศใต้ ให้ชาวลาวจากนครราชสีมาจำนวน 5,000 คนและทหารเขมรอีก 3,000 คนรักษาเมืองพนมเปญ และให้เจ้าพระยายมราช (บุนนาค) ไปคุมการขุดคลองพระยาลือและการสร้างป้อมขึ้นที่เมืองอุดง เจ้าพระยาบดินทรเดชาให้สร้างเมืองใหม่ขึ้นที่เมืองอุดงเดิมเรียกว่าเมืองมีชัย ต่อมาจึงกลายเป็นเมืองอุดงมีชัย
ฝ่ายเวียดนามนำโดย"จงตก" (Tổng đốc, 總督) เหงียนวันเจืองซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นผู้ว่าฯจังหวัดอานซางและห่าเตียนและตั้งมั่นอยู่ที่เมืองโจดก ได้ส่งนักองค์อิ่มมาอยู่ที่เมืองโจดกและส่งพระสงฆ์ออกไปเกลี้ยกล่อมชาวกัมพูชา แต่ทว่านักองค์อิ่มถึงแก่พิราลัยในเดือนมีนาคมพ.ศ. 2386 เจ้านายกัมพูชาที่อยู่กับญวนได้แก่เจ้าหญิงนักองค์มี เจ้าหญิงนักองค์สงวน เจ้าหญิงนักองค์เภา และนักองค์ภิมโอรสขององค์อิ่ม รวมทั้งนักนางรศมารดาของนักองค์ด้วง
อาณาจักรกัมพูชาอยู่ภายใต้สงครามยืดเยื้อนานหลายปีทำให้ชาวกัมพูชาขาดการเกษตรกรรมไม่มีผลผลิตมานานหลายปี เกิดภาวะแล้งรวมทั้งเกิด "ไข้ป่วง" โรคระบาดขึ้นในเวียดนามภาคใต้ในพ.ศ. 2385-86 ทำให้เกิดภาวะข้าวยากหมากแพงขาดแคลนอาหารขึ้น เจ้าพระยาบดินทรเดชาฯจึงจำต้องแบ่งเสบียงจากเมืองจันทบุรีและตราด สงครามระหว่างสยามและเวียดนามจึงหยุดยั้งลงชั่วคราวเป็นเวลาสามปี เมื่อสถานการณ์สงบเรียบร้อยดีแล้วเจ้าพระยาบดินทรเดชาจึงเดินทางกลับกรุงเทพฯในเดือนหก (พฤษภาคม) พ.ศ. 2388 โดยให้พระพรหมบริรักษ์ (แก้ว) บุตรชายรักษานักองค์ด้วงและเมืองอุดง ในคราวเดียวกันนี้นักองค์ด้วงให้พระยายมราช (พรม) ผู้ว่าที่เจ้าฟ้าทะละหะ นำเครื่องบรรณาการไปถวายที่กรุงเทพฯด้วย[2]
เวียดนามยึดพนมเปญและตีเมืองอุดง[แก้]
อานัมสยามยุทธ พ.ศ. 2388 | |||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
ส่วนหนึ่งของ อานัมสยามยุทธ | |||||||||
| |||||||||
คู่สงคราม | |||||||||
![]() ![]() |
![]() | ||||||||
ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ | |||||||||
![]() ![]() ![]() ![]() |
![]() ![]() ![]() ![]() ![]() |
หลังจากที่กัมพูชาอยู่ภายใต้การปกครองของนักองค์ด้วงและสยามได้สามปี เริ่มมีขุนนางกัมพูชาบางกลุ่มหันไปสนับสนุนฝ่ายเวียดนามอย่างเป็นความลับ พระจักรพรรดิเถี่ยวจิทรงเห็นเป็นโอกาสจึงมีพระราชโองการให้ตั้งหวอวันสาย (Võ Văn Giải, 武文解) เจ้าเมืองไซ่ง่อนเป็นแม่ทัพใหญ่และจัดทัพเข้ารุกรานกัมพูชาจากสามทางได้แก่;
- "องเดดก" เหงียนวันฮว่าง (Nguyễn Văn Hoàng) ซึ่งเป็นเด่ด๊กแห่งจังหวัดอานซาง นำทัพเรือ 170 ลำ 6,000 คน[1] จากเมืองเตินเจิว (Tân Châu, 新洲) ซึ่งอยู่ติดกับเมืองโจดกขึ้นไปตามแม่น้ำบาสักเข้าตีเมืองบาพนม (อำเภอบาภน็อม จังหวัดไพรแวง) ก่อนเข้าโจมตีเมืองพนมเปญ
- "องตนผู้" โตว๋นเอวิ๋น (Doãn Uẩn, 尹蘊) ซึ่งเป็นต่วนผู (Tuần phủ, 巡撫) แห่งจังหวัดอานซาง นำทัพเรือ 120 ลำ 3,000 คน[1] จากเมืองโทงบิ่ญ (Thông Bình, 通平 จังหวัดด่งท้าปติดกับกัมพูชา) ขึ้นไปตามแม่น้ำพระตระแบกมาตีเมืองกำพงตระแบก (อำเภอก็อมพงตระแบก, កំពង់ត្របែក จังหวัดไพรแวง) แล้วไปสมทบกับทัพของเหงี่ยนหวั่งฮว่างที่เมืองบาพนมก่อนเข้าตีเมืองพนมเปญ
- เหงียนกงเญินนำทัพบกจากจังหวัดเต็ยนิญ (Tây Ninh, 西寧) ตามหลังสองทัพก่อนหน้านี้
เมื่อเดือนหก (พฤษภาคม) พ.ศ. 2388 นักองค์ด้วงค้นพบว่าพระยาจักรี (มี) ขุนนางกัมพูชา มีหนังสือโต้ตอบคบคิดกับฝ่ายเวียดนามให้เวียดนามยกทัพขึ้นมาแล้วตั้งเจ้าสตรีขึ้นครองกัมพูชาแทน นักองค์ด้วงจึงให้ประหารชีวิตพระยาจักรี (มี) รวมทั้งพรรคพวกรวมสิบเอ็ดคน
ฝ่ายญวนเมื่อทราบว่าฝ่ายสยามทราบข่าวสงครามแล้วจึงเริ่มยกทัพเรือเข้าตีกัมพูชาในเดือนกรกฎาคม พระนรินทรโยธาและพระยากลาโหม (มก) ยกทัพไปตั้งรับแต่ถูกทัพญวนตีแตกพ่าย โตว๋นเอวิ๋นนำทัพเรือเข้ายึดเมืองกำพงตระแบกได้ในวันขึ้นแปดค่ำเดือนแปด (11 กรกฎาคม) และยกมาตั้งที่บึงกษัตริย์สระ (ខ្សាច់ស) เมืองบาพนม กองกำลังฝ่ายกัมพูชาไม่อาจต้านทานได้ถอยร่นมา ฝ่ายกรุงเทพฯมีพระราชโองการให้เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์) รีบรุดนำทัพออกไปเมืองอุดงมีชัยในเมื่อแรมแปดค่ำเดือนแปด (25 กรกฎาคม) โดยให้พระยาราชสุภาวดี (โต) อยู่ที่เมืองกบินทร์บุรีคอยส่งเสบียง หวอวันสายและเหงียนวันเจืองนำทัพเรือขึ้นไปหนุนที่เมืองบาพนม พระจักรพรรดิเถี่ยวจิดำริจะฟื้นฟูมณฑลเจิ๊นเต็ยขึ้นอีกครั้งจึงแต่งตั้งให้หวอวันสายเป็น "องตาเตียนกุน" ตำแหน่งเดียวกับเจืองมิญสาง พระพรหมบริรักษ์ (แก้ว) และนักองค์ด้วง นำทัพจากเมืองอุดงไปตั้งรับที่พนมเปญ
เหงียนวันเจืองและโตว๋นเอวิ๋นยกทัพเรือจำนวน 2,000 คน ขึ้นไปตีเมืองพนมเปญ ในการรบที่พนมเปญ เหงียนวันเจืองสามารถเข้ายึดเมืองพนมเปญได้ในวันขึ้นสิบเอ็ดค่ำเดือนสิบ (11 กันยายน) พระพรหมบริรักษ์ (แก้ว) และกองกำลังสยามและเขมรต่างแตกถอนร่นจากพนมเปญไปยังเมืองอุดง เหงียนวันเจืองและโตว๋นเอวิ๋นรีบยกทัพขึ้นมาล้อมเมืองอุดงในวันแรมสิบเอ็ดค่ำ (26 กันยายน) เหงียนวันเจืองจึงต้องแบ่งทัพ เหงียนวันเจืองตั้งอยู่ที่คลองพระยาลือ (ពញ្ញាឮ) ทางใต้ของเมืองอุดง ในขณะที่โตว๋นเอวิ๋นตั้งอยู่ที่กำพงหลวง (កំពង់លួង) ทางเหนือเพื่อปิดกั้นไม่ให้เจ้าพระยาบดินทรเดชาฯถอยกลับไปทางพระตะบองได้ นำไปสู่การล้อมเมืองอุดง
ฝ่ายเจ้าพระยาบดินทรเดชาจัดตั้งทัพรับมือการรุกรานของญวนเวียดนามไว้ดังนี้;[1]
- พระยารัตนวิเศษ (จิตร) รักษาอยู่ปากคลองเมืองอุดงมีชัยค่ายหนึ่ง พระสำแดงฤทธิรงค์ พระณรงค์ฤทธิเดช พระพิมาย คุมทัพเมืองนครราชสีมา และหลวงอินทรคชลักษณ์คุมทัพเมืองเสียมราฐ รักษาค่ายที่กำพงหลวงค่ายหนึ่งและที่คลองพระยาลืออีกค่ายหนึ่ง เป็นสามค่ายชักปีกกาถึงกัน
- พระพลเมืองพระตะบอง (มา) คุมทัพเมืองพระตะบอง ตั้งทัพอยู่ที่แขวงเมืองบาทีทางทิศใต้
- พระยาจตุรงค์นรินทรวิชัย คุมทัพเมืองขุขันธ์และเมืองลาดปะเอีย ตั้งทัพอยู่ที่แขวงเมืองไพรกะบาททางทิศใต้
- พระยากลาโหม (มก) แม่ทัพกัมพูชา ตั้งทัพที่เกาะแตง คอยตัดเส้นทางลำเลียงของฝ่ายเวียดนาม
ในการล้อมเมืองอุดงนั้นเอกสารฝ่ายไทยและฝ่ายเวียดนามให้รายละเอียดต่างกัน พงศาวดารไทยกล่าวว่าเมื่อฝ่ายเวียดนามเข้าโจมตีเมืองอุดงเจ้าพระยาบดินทรเดชาฯสามารถนำทัพขับทหารเวียดนามออกไปได้และแบ่งกำลังออกไปตีค่ายกำพงหลวงและพระยาลือ ในขณะที่ดั่ยนามถึกหลุกกล่าวว่าทั้งเจ้าพระยาบดินทรเดชาฯและเหงียนวันเจืองต่างเห็นว่าการล้อมเมืองอุดงยืดเยื้อไม่สามารถเอาชนะซึ่งกันและกันได้นำไปสู่การเจรจาสงบศึก การเจรจาระหว่างสยามและเวียดนามเริ่มขึ้นในเดือนพฤศจิกายนพ.ศ. 2388 "องญวน"โตว๋นเอวิ๋นที่ค่ายพระยาลือส่งหนังสือมาถึงเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์) ว่าให้นักองค์ด้วงส่งสาส์นไปถวายพระจักรพรรดิเถี่ยวจิยินยอมให้กัมพูชาเป็นเมืองขึ้นของเวียดนาม โดยฝ่ายเวียดนามนามจะส่งเจ้าสตรีและเชื้อพระวงศ์กัมพูชาคืนให้แก่นักองค์ด้วงและล่าถอยไปอยู่ที่เมืองพนมเปญ หลังจากการล้อมเมืองอุดงเป็นเวลาห้าเดือน เหงียนวันเจืองและโตว๋นเอวิ๋นจึงถอนกำลังญวนทั้งหมดจากเมืองอุดงลงไปตั่งมั่นที่พนมเปญในเดือนกุมภาพันธ์พ.ศ. 2389
การเจรจา[แก้]

ฝ่ายญวนต้องการให้นักองค์ด้วงส่งสาส์นไปสวามิภักดิ์ต่อพระจักรพรรดิเถี่ยวจิ แต่นักองค์ด้วงและเจ้าพระยาบดินทรเดชาฯยังคงไม่ตอบ ในเดือนตุลาคมพ.ศ. 2389 ฝ่ายญวนส่งนักนางรศให้แก่นักองค์ด้วงและเร่งให้นักองค์ด้วงส่งสาส์นและส่งชาวญวนซึ่งฝ่ายสยามได้กวาดต้องไปกลับคืนให้แก่ญวน นักองค์ด้วงตอบว่าขอเวลาสามเดือน หลังจากผ่านไปสามเดือนฝ่ายญวนเข้ามาทวงสัญญา เจ้าพระยาบดินทรเดชาฯจึงนำความขึ้นกราบทูลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ จึงมีพระบรมราชานุญาตให้เจ้าพระยาบดินทรเดชาฯกระทำการเจรจากับฝ่ายญวนตามสมควร เจ้าพระยาบดินทรเดชาฯจึงให้นักองค์ด้วงแต่งคณะทูตนำโดยพระยาราชเดชะ (นอง)[2] ไปเข้าเฝ้าพระจักรพรรดิเถี่ยวจิที่เมืองเว้ในเดือนมกราคมพ.ศ. 2390 ในเดือนพฤษภาคมพระจักรพรรดิเถี่ยวจิทรงให้คณะทูตญวนนำตราตั้งและเครื่องยศแบบญวนมาแต่งตั้งนักองค์ด้วงขึ้นเป็น "กาวเมียนโกว๊กเวือง" (Cao Miên Quốc vương , 高棉國王) หรือ "กษัตริย์แห่งเขมร" ในฐานะเจ้าประเทศราชขึ้นแก่เวียดนาม รวมทั้งส่งเชื้อพระวงศ์ที่เหลือทั้งหมดให้แก่นักองค์ด้วงและฝ่ายญวนก็ถอนกำลังทหารทั้งหมดออกจากพนมเปญไป ในเดือนมกราคมพ.ศ. 2391 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯโปรดฯให้พระยาเพชรพิชัย[2] (เสือ สนธิรัตน์) นำเครื่องอิสสริยยศและสุพรรณบัฏไปยังเมืองอุดงและให้เจ้าพระยาบดินทรเดชาฯเป็นผู้แทนพระองค์ราชาภิเษกนักองค์ด้วงขึ้นเป็น "พระหริรักษ์รามาธิบดีศรีสุริโยพันธุ์ธรรมิกวโรดม..." หรือ "องค์พระหริรักษ์เจ้ากัมพูชา" ในฐานะเจ้าประเทศราชของสยาม อาณาจักรกัมพูชาจึงเป็นเมืองขึ้นของทั้งสยามและเวียดนามนับแต่นั้นมา
เมื่อกิจการในกัมพูชาเรียบร้อยแล้ว เจ้าพระยาบดินทรเดชาฯจึงเดินทางกลับกรุงเทพฯในเมษายนพ.ศ. 2391 ต่อมาพระพรหมบริรักษ์ (แก้ว) จึงนำโอรสของนักองค์ด้วงคือ นักองค์ราชาวดี และโอรสของนักองค์อิ่มคือนักองค์พิมพ์ เดินทางมาเข้าเฝ้าถวายตัวทำราชการที่กรุงเทพฯ พร้อมทั้งขุนนางกัมพูชาคือพระยาสวรรคโลก (เกาะ) และพระพลเมืองพระตะบอง (มา) พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯโปรดฯพระราชทานแต่งตั้งให้พระพลเมืองพระตะบอง (มา) เป็นเจ้าฟ้าทะละหะ และพระยาสวรรคโลก (เกาะ) เป็นสมเด็จเจ้าพระยา[2] ซึ่งต่อมานักองค์พิมพ์โอรสขององค์อิ่มประชวรสิ้นพระชนม์ที่กรุงเทพในพ.ศ. 2398[2]
ผลสรุป[แก้]
ทั้งสองฝ่ายไม่สามารถรบชนะอีกฝ่ายได้เด็ดขาด ทำให้ต้องทำสนธิสัญญาสงบศึกกัน โดยไทยยังคงไว้ซึ่งสิทธิในการสถาปนากษัตริย์เขมร ระเบียบปฏิบัติในราชสำนักเขมร และประชาชนทั่วไปรวมถึงพุทธศาสนากลับมาเป็นแบบเขมรดังเดิม ข้าราชการญวนในเขมรถอนตัวออกหมด แต่เขมรยังคงต้องส่งเครื่องบรรณาการแก่ญวนทุก ๆ 3 ปี ถือเป็นข้อตกลงที่น่าพอใจทั้ง 2 ฝ่าย สงครามจึงยุติลง
ต่อมาหลังจากสงครามอานัมสยามยุทธสิบปี ในปีพ.ศ. 2401 รัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และรัชกาลพระจักรพรรดิตือดึ๊ก พ่อค้าชาวญวนกลุ่มหนึ่งจำนวนยี่สิบเอ็ดคนถูกคลื่นลมซัดเข้ามาในอ่าวไทย[4] ฝ่ายไทยจึงฝากชาวญวนเหล่านั้นกลับไปกับพ่อค้าจีนส่งกลับไปยังเมืองไซ่ง่อน เหงียนวันเจือง ซึ่งเปลี่ยนชื่อเป็นเหงียนจิเฟืองและดำรงตำแหน่งเป็นข้าหลวงผู้สำเร็จราชการเวียดนามภาคใต้หกเมืองประจำที่เมืองไซ่ง่อน[4] เมื่อทราบว่าฝ่ายไทยส่งชาวญวนกลับมาจึงส่งสาสน์ถึงเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ที่สมุหกลาโหมว่า เมื่อครั้งที่เจรจากับเจ้าพระยาบดินทรเดชาที่เมืองอุดงมีชัยฝ่ายไทยสัญญาว่าจะจัดส่งเชลยชาวญวนกลับคืนให้แก่เวียดนาม ขอให้ฝ่ายไทยคืนเชลยชาวญวนให้แก่เวียดนาม โดยเหงียนจิเฟืองได้จัดส่งอาวุธที่เคยยึดไปจากฝ่ายไทยเมื่อสิบปีก่อนคืนให้แก่กรุงเทพฯ เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง) จึงตอบว่า เชลยชาวญวนเหล่านั้นฝ่ายไทยได้เลี้ยงดูช่วยเหลือเป็นอย่างดี[4] ไทยและเวียดนามต่างมีสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน และส่งอาวุธเหล่านั้นคืนให้แก่เหงียนจิเฟือง
เมื่อสมเด็จพระหริรักษ์รามาธิบดี (นักองค์ด้วง) กษัตริย์กัมพูชาสวรรคตในพ.ศ. 2403 เกิดความขัดแย้งระหว่างพระโอรสสององค์ของสมเด็จพระหริรักษ์รามาธิบดีคือนักองค์ราชาวดี และนักองค์ศรีสวัสดิ์ จนนำไปสู่สงครามกลางเมืองและฝ่ายสยามต้องเข้าไกล่เกลี่ย ในขณะที่ฝ่ายเวียดนามซึ่งติดพันกับสงครามกับฝรั่งเศสไม่ได้เข้ามาเกี่ยวข้องแต่อย่างใด
อ้างอิง[แก้]
- ↑ 1.00 1.01 1.02 1.03 1.04 1.05 1.06 1.07 1.08 1.09 1.10 1.11 1.12 1.13 1.14 1.15 1.16 1.17 1.18 1.19 1.20 1.21 1.22 1.23 เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค). พระราชพงศาวดาร กรุงรัตนโกสินทร์ รัชชกาลที่ ๓.
- ↑ 2.00 2.01 2.02 2.03 2.04 2.05 2.06 2.07 2.08 2.09 2.10 2.11 2.12 2.13 2.14 2.15 ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา ฉบับหอพระสมุดวชิรญาณแปลใหม่. จางวางตรี พระยาไกรเพ็ชรรัตนสงคราม สมุหเทศาภิบาลมณฑลนครสวรรค์ พิมพ์แจก ในงานศพ พระตำรวจตรี พระยากำแหงรณฤทธิ์ จางวางพระตำรวจ ผู้บิด พ.ศ. ๒๔๖๐.
- ↑ e-shann.com/9042/ชุมชนลาวในภาคกลางของส-11/
- ↑ 4.0 4.1 4.2 เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค), พระราชพงศาวดาร กรุงรัตนโกสินทร์ รัชชกาลที่ ๔. พิมพ์เป็นที่ระลึก ในงานพระราชทานเพลิงศพ คุณหญิงธรรมสารเนติ (อบ บุนนาค); วันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๗ ณวัดประยูรวงศาวาส; พิมพ์ที่โรงพิมพ์พระจันทร์ ท่าพระจันทร์ พระนคร
หนังสืออ่านเพิ่มเติม[แก้]
- ถนอม อานามวัฒน์. “ความสัมพันธ์ระหว่างไทย เขมร ญวนในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น.” ปริญญานิพนธ์มหาบัณฑิต วิทยาลัยวิชาการศึกษา, 2514.
- บดินทร์เดชา, เจ้าพระยา. อานามสยามยุทธ: ว่าด้วยการสงครามระหว่างไทยกับลาว เขมร และญวน. กรุงเทพฯ: โฆษิต, 2550. ISBN 9789747119961.
- สุเจน กรรพฤทธิ์. “ความสัมพันธ์เวียดนาม-สยามในเอกสารยุคต้นราชวงศ์เหงวียน ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 ถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19.” วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2560.
- สุเจน กรรพฤทธิ์. “ศึกชิง ‘กัมพูชา’ และ ’ฮาเตียน’ ระหว่างราชสำนักสยามและตระกูลเหงวียนช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 ถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19.” วารสารประวัติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ 5, 1 (ม.ค.-มิ.ย. 2561), น. 117-175.
- Morragotwong Phumplab. “The Diplomatic Worldviews of Siam and Vietnam in Pre-Colonial Period (1780s-1850s).” M.A. Thesis, University of Singapore, 2011.
- Puangthong Rungswasdisab. “War and Trade: Siamese interventions in Cambodia, 1767-1851.” Ph.D. Thesis, Department of History and Politics, University of Wollongong, 1995.
![]() |
บทความเกี่ยวกับประวัติศาสตร์นี้ยังเป็นโครง คุณสามารถช่วยวิกิพีเดียได้โดยการเพิ่มเติมข้อมูล ดูเพิ่มที่ สถานีย่อย:ประวัติศาสตร์ |
- หน้าที่ใช้ Flagicon image ที่มีพารามิเตอร์ที่ไม่รู้จัก
- สงครามสยาม-เวียดนาม
- ประวัติศาสตร์เวียดนาม
- ประวัติศาสตร์กัมพูชา
- ประวัติศาสตร์การทหารของไทย
- สงครามเกี่ยวข้องกับทวีปเอเชีย
- สงครามยุคใหม่
- สงครามเกี่ยวข้องกับไทย
- สงครามเกี่ยวข้องกับอาณาจักรรัตนโกสินทร์
- สงครามเกี่ยวข้องกับเวียดนาม
- สงครามเกี่ยวข้องกับกัมพูชา
- อาณาจักรเวียดนาม
- ความสัมพันธ์ไทย–เวียดนาม
- เหตุการณ์ในรัชกาลที่ 3
- บทความเกี่ยวกับ ประวัติศาสตร์ ที่ยังไม่สมบูรณ์