พิธา ลิ้มเจริญรัตน์

หน้าถูกกึ่งป้องกัน
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์
พิธา ใน พ.ศ. 2563
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
แบบบัญชีรายชื่อ
ดำรงตำแหน่ง
24 มีนาคม พ.ศ. 2562 – 20 มีนาคม พ.ศ. 2566
(3 ปี 361 วัน)
หัวหน้าพรรคก้าวไกล
อยู่ในวาระ
เริ่มดำรงตำแหน่ง
14 มีนาคม พ.ศ. 2563
(3 ปี 84 วัน)
ก่อนหน้า ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ
(หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่)
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด 5 กันยายน พ.ศ. 2523 (42 ปี)[1]
กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย
พรรค อนาคตใหม่ (2561–2563)
ก้าวไกล (2563–ปัจจุบัน)
บิดา พงษ์ศักดิ์ ลิ้มเจริญรัตน์
มารดา ลิลฎา ลิ้มเจริญรัตน์
คู่สมรส ชุติมา ทีปะนาถ (2555–2561; หย่า)
บุตร พิพิม ลิ้มเจริญรัตน์
ศิษย์เก่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์
อาชีพ นักธุรกิจ
นักการเมือง

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ (เกิด 5 กันยายน พ.ศ. 2523) ชื่อเล่น ทิม[2] เป็นนักธุรกิจและนักการเมืองชาวไทย หัวหน้าพรรคก้าวไกล อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ เดิมสังกัดพรรคอนาคตใหม่ จากการเลือกตั้งทั่วไปใน พ.ศ. 2562 เขาเริ่มเป็นที่รู้จักในแวดวงการเมืองจากการอภิปรายนโยบายทางการเกษตร "ปัญหากระดุม 5 เม็ด" ภายใต้รัฐบาลของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ปฐมวัย

พิธาเกิดเมื่อวันที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2523[1] เขาเป็นบุตรชายคนโตในบรรดาพี่น้อง 2 คนของ นายพงษ์ศักดิ์ ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กับ นางลิลฎา ลิ้มเจริญรัตน์ และยังมีศักดิ์เป็นหลานลุงของ นายผดุง ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตเลขานุการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และ ตามใจ ขำภโต อดีตกรรมการผู้จัดการธนาคารกรุงไทย ซึ่งเป็นญาติฝ่ายมารดา[3] โดยมีน้องชาย 1 คนคือ ภาษิณ ลิ้มเจริญรัตน์[4]

พิธาเข้าศึกษาในระดับมัธยมศึกษาที่โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย ด้วยนิสัยเกเรของเขา พงษ์ศักดิ์ ผู้เป็นบิดา ส่งพิธาไปศึกษาต่อที่ประเทศนิวซีแลนด์เมื่ออายุ 11 ปี ในเมืองฮามิลตันและอาศัยอยู่กับครอบครัวอุปถัมภ์ที่ซึ่งพิธาจะเริ่มสนใจการเมืองจากแม่บ้านที่มักรับชมการอภิปรายสภาอยู่ตลอด[5][6] นอกจากการศึกษาในโรงเรียน พิธาทำงานพิเศษเพื่อหาเงินใช้จากการปั่นจักรยานส่งหนังสือพิมพ์[7] เก็บสตรอว์เบอร์รี และรับจ้างพาสุนัขเดินเล่น[8] เมื่อสำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษา พิธาเข้าศึกษาต่อที่คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สาขาการเงิน (ภาคภาษาอังกฤษ) จบปริญญาตรีด้วยเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง จากนั้นเข้าศึกษาต่อปริญญาโทที่ คณะการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ควบคู่กับการบริหารธุรกิจที่สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ อย่างไรก็ตาม หลังการเสียชีวิตของบิดาด้วยภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด พิธาตัดสินใจดรอปเรียนและกลับมาประเทศไทยเพื่อดูแลธุรกิจที่เป็นหนี้ต่อ[5][9]

งานการเมือง

พิธาก้าวเข้าสู่วงการเมืองด้วยการเป็นที่ปรึกษาสำนักนายกรัฐมนตรี ประจำกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงการคลัง[8] ต่อมาพิธาสมัครเป็นสมาชิกพรรคอนาคตใหม่ และได้ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อของพรรคในลำดับที่ 4 และได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในครั้งแรกที่ลงรับเลือกตั้ง[10] โดยพิธาได้รับเลือกให้เป็นประธานคณะกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 ในสัดส่วนของพรรคอนาคตใหม่[11]

เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2562 พิธาอภิปรายครั้งแรกในสภาประเด็นนโยบายทางการเกษตรของรัฐบาลประยุทธ์ โดยเฉพาะ "ปัญหากระดุม 5 เม็ด" ได้รับการตอบรับที่ดีจากประชาชน และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พิธาเสนอการแก้ปัญหาให้แก่เกษตรกรด้วยการติดกระดุม 5 เม็ด: ที่ดิน, หนี้สินการเกษตร, สารเคมีและการประกันราคาพืชผล, การแปรรูปและนวัตกรรม และการท่องเที่ยวเชิงเกษตร[10] จากการอภิปรายดังกล่าวของเขา พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวชื่นชมการอภิปรายของพิธาว่าพูดถึงเรื่องปัญหากลุ่มชาติพันธุ์ คนชายขอบ และเรื่องที่ดินได้เข้าประเด็น[12][13]

ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยยุบพรรคอนาคตใหม่เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 ในวันที่ 8 มีนาคม พิธาย้ายไปสังกัดพรรคก้าวไกลร่วมกับอดีตสมาชิกพรรคอีก 54 คน โดยพิธาได้ดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าพรรค[14]

พิธาและพรรคร่วมรัฐบาลแถลงข่าวจัดตั้งรัฐบาลเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2566

หลังการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2566 ในวันที่ 15 พฤษภาคม พิธาประกาศว่าเขาพร้อมที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีหลังจากที่พรรคก้าวไกลได้รับคะแนนเสียงมากที่สุด และเชิญพรรคเพื่อไทยพร้อมด้วยพรรคอื่น ๆ อีกจำนวนหนึ่งจัดตั้งรัฐบาลผสม[15]

ในวันที่ 18 พฤษภาคม พิธาพร้อมพรรคร่วมรัฐบาลอย่าง พรรคเพื่อไทย, พรรคไทยสร้างไทย และพรรคประชาชาติ แถลงข่าวจัดตั้งรัฐบาลภายใต้การนำของเขา โดยทุกพรรคพร้อมสนับสนุนพิธาเป็นนายกรัฐมนตรี และจัดทำบันทึกความเข้าใจ (MOU)[16] ซึ่งถือว่าเป็นครั้งแรกที่นำมาใช้ตั้งรัฐบาลในการเมืองไทย[17] พรรคร่วมรัฐบาลของพิธาจัดงานแถลงข่าวอีกครั้งเพื่อเปิดบันทึกความเข้าใจแก่สาธารณชนเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม ในบันทึกความเข้าใจมีการบรรจุประเด็นสำคัญต่าง ๆ เช่น การจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ผ่านสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ, สมรสเท่าเทียม, การปฏิรูปกองทัพและตำรวจ, การเกณฑ์ทหารแบบสมัครใจ, การกระจายอำนาจ และการฟื้นฟูเศรษฐกิจ เป็นต้น[18]

ชีวิตส่วนตัว

พิธาเคยสมรสกับ ชุติมา ทีปะนาถ นักแสดง สมรสเมื่อ พ.ศ. 2555 และหย่าร้างเมื่อ พ.ศ. 2561[19] บุตรสาวด้วยกัน 1 คนคือ พิพิม[20] ทั้งสองมีสิทธิดูแลลูกเท่ากัน[19]

อ้างอิง

  1. 1.0 1.1 "ประวัติทิม พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หนุ่มนักเรียนทุนฮาร์วาร์ดคนแรกของไทย". Sanook. 2023-04-23. สืบค้นเมื่อ 2023-05-16.
  2. "เปิดประวัติ "พิธา ลิ้มเจริญรัตน์" จากกระดุม 5 เม็ด… สู่ดาวฤกษ์ดวงใหม่". workpointTODAY. สืบค้นเมื่อ 6 April 2023.
  3. ทิม พิธา : กระดุม 5 เม็ดของอนาคตใหม่ กับปณิธานใหม่ขอเป็น "พรรคที่เล่นการเมืองน้อยที่สุด"
  4. "เปิดประวัติ ทิม พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.อนาคตใหม่ รู้จริงเรื่องเกษตรไทย". Thairath. 2019-07-27. สืบค้นเมื่อ 2023-05-16.
  5. 5.0 5.1 "เลือกตั้ง2566 : รู้จัก (ว่าที่) นายกฯ "พิธา ลิ้มเจริญรัตน์"". ThaiPBS. 2023-05-15. สืบค้นเมื่อ 2023-05-15.
  6. ""อยากเป็น เลขาฯยูเอ็น " ความฝันสูงสุด "พิธา ลิ้มเจริญรัตน์"". Thai PBS. 2022-05-23. สืบค้นเมื่อ 2023-05-16.
  7. "รู้จัก พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ดีกรีนักเรียนนอก ม.ดัง ระดับโลก". NationTV. 2023-05-15. สืบค้นเมื่อ 2023-05-16.
  8. 8.0 8.1 "ทิม พิธา: หัวหน้าพรรคก้าวไกล ผู้สร้างคำนิยามของการประสบความสำเร็จเอง" (Interview). สัมภาษณ์โดย Cariber. 2021-09-07. สืบค้นเมื่อ 2023-05-16.
  9. "เปิดประวัติ! "พิธา ลิ้มเจริญรัตน์" ว่าที่นายกรัฐมนตรี คนที่ 30". MGR Online. 2023-05-15. สืบค้นเมื่อ 2023-05-16.
  10. 10.0 10.1 "เปิดประวัติ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเตตนายกฯ พรรคก้าวไกล เลือกตั้ง 66". ประชาชาติ. 2023-05-15. สืบค้นเมื่อ 2023-05-16.
  11. "'ทิม พิธา' นั่งแท่น ประธานกมธ.ที่ดินทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม". Siamrath. 2019-09-13. สืบค้นเมื่อ 2023-05-16.
  12. "ประวัติ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกฯ ก้าวไกล เจ้าของวลี มีลุง ไม่มีเรา". Spring News. 2023-04-24. สืบค้นเมื่อ 2023-05-16.
  13. "เปิดประวัติ "พิธา ลิ้มเจริญรัตน์" จากกระดุม 5 เม็ด… สู่ดาวฤกษ์ดวงใหม่". Workpoint Today. 2021-07-22. สืบค้นเมื่อ 2023-05-16.
  14. "ก้าวไกล เลือก ทิม พิธา นั่งหัวหน้า ประกาศสานต่ออุดมการณ์อนาคตใหม่ 54 ส.ส. พร้อมเดินเคียงข้างประชาชน". The Standard. 2020-03-14. สืบค้นเมื่อ 2023-05-16.
  15. "ประวัติ "พิธา ลิ้มเจริญรัตน์" ว่าที่นายกฯ คนที่ 30 ของประเทศไทย". อมรินทร์ทีวี เอชดี ช่อง 34 - AMARIN TV HD. 2023-05-15. สืบค้นเมื่อ 2023-05-15.
  16. "เลือกตั้ง 66 'พิธา' นำแถลง 8 พรรค ตั้งรัฐบาลประชาธิปไตยของประชาชน 22 พ.ค.นี้ เปิด MOU". Workpoint Today. 2023-05-18. สืบค้นเมื่อ 2023-05-23.
  17. "เลือกตั้ง 2566 : แก้ ม. 112-นิรโทษกรรมคดีการเมือง นโยบายก้าวไกลที่หายไปจาก MOU ตั้งรัฐบาล 8 พรรค". BBC Thai. 2023-05-22. สืบค้นเมื่อ 2023-05-23.
  18. "เลือกตั้ง2566 : เปิด "MOU 8 พรรค" แถลงจัดตั้งรัฐบาล". PPTV. 2023-05-22. สืบค้นเมื่อ 2023-05-23.
  19. 19.0 19.1 "สรุปกรณีศึกษา ทิม พิธา เส้นแบ่งนักการเมืองกับเรื่องส่วนตัว". workpointTODAY. สืบค้นเมื่อ 27 June 2022.
  20. ""ทิม พิธา" โพสต์ภาพครอบครัว กับอดีตภรรยา "ต่าย ชุติมา" ยังคงเป็นพ่อแม่ของลูก". คมชัดลึก. 2020-12-17. สืบค้นเมื่อ 2023-05-16.

แหล่งข้อมูลอื่น