อาณาจักรนครศรีธรรมราช
อาณาจักรนครศรีธรรมราช อาณาจักรลิกอร์ | |||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
คริสต์ศตวรรษที่ 13–ค.ศ. 1782 | |||||||||
เมืองหลวง | นครศรีธรรมราช (ลิกอร์) | ||||||||
ภาษาทั่วไป | ภาษาไทยถิ่นใต้, ภาษาบาลี/สันสกฤต, ภาษาทมิฬ (ในทางศาสนาและพิธีกรรม), ภาษามลายู | ||||||||
ศาสนา | พุทธเถรวาท (ส่วนใหญ่), ศาสนาอิสลาม, ศาสนาฮินดู | ||||||||
การปกครอง | ราชาธิปไตย | ||||||||
กษัตริย์ | |||||||||
ยุคประวัติศาสตร์ | ยุคกลาง สมัยใหม่ตอนต้น | ||||||||
• ก่อตั้งอาณาจักรไท | คริสต์ศตวรรษที่ 13 | ||||||||
• รัฐบริวารของอาณาจักรสุโขทัย | ประมาณ ค.ศ. 1279–1298 | ||||||||
• รัฐบริวารของอาณาจักรอยุธยา | คริสต์ศตวรรษที่ 15 | ||||||||
ค.ศ. 1767 | |||||||||
• รัฐบริวารของอาณาจักรธนบุรี | ค.ศ. 1770 | ||||||||
• ลดระดับไปอยู่ในอาณาจักรรัตนโกสินทร์ | ค.ศ. 1782 | ||||||||
|
ประวัติศาสตร์ไทย |
---|
ตัวเลขในวงเล็บ หมายถึง ปีพุทธศักราช |
อาณาจักรนครศรีธรรมราช หรือ อาณาจักรลิกอร์ คือหนึ่งในเมืองหลักในอาณาจักรสุโขทัยและอาณาจักรอยุธยาของสยาม และครอบครองพื้นที่ส่วนใหญ่ในคาบสมุทรมลายู โดยมีนครศรีธรรมราชเป็นศูนย์กลาง
การก่อตั้งและสมัยสุโขทัย
[แก้]นักประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่วิเคราะห์ว่าก่อนหน้าอาณาจักรนี้ เคยมีอาณาจักรตามพรลิงค์ (ประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 10 ถึง 13) มาก่อน ในช่วงปลายสหัสวรรษที่ 1 ถึงต้นสหัสวรรษที่ 2 ก่อนคริสต์ศักราช ชาวไทได้ขยายเผ่าพันธุ์ไปทั่วแผ่นดินใหญ่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในคริสต์ศตวรรษที่ 13 พวกเขาได้ตั้งนครศรีธรรมราชเป็น เมือง หรือรัฐของตน[1]
จารึกพ่อขุนรามคำแหงได้กล่าวถึงนครศรีธรรมราชว่าเป็นประเทศราชของอาณาจักรสุโขทัย อาจปกครองโดยผู้เป็นญาติกับพ่อขุนรามคำแหง ธรรมเนียมพุทธเถรวาทแบบนครศรีธรรมราชได้กลายเป็นตัวแบบหนึ่งสำหรับทั้งอาณาจักร[2] การเป็นเมืองขึ้นต่อสุโขทัยเป็นแค่ส่วนบุคคล ไม่ใช่สถาบัน ดังนั้น หลังพ่อขุนรามคำแหงสวรรคต นครศรีธรรมราชจึงเป็นอิสระและกลายเป็นรัฐไทยที่โดดเด่นในคาบสมุทรมลายู
เมืองนักษัตร
[แก้]พงศาวดารนครศรีธรรมราชและพงศาวดารพระธาตุนครในคริสต์ศตวรรษที่ 16 ระบุว่า นครศรีธรรมราชล้อมรอบด้วยเครือข่ายเมืองในคาบสมุทรมลายู เรียกว่า เมืองสิบสองนักษัตร เมืองเหล่านี้ทำหน้าที่เป็นเมืองส่วนนอกล้อมรอบศูนย์กลางคือนครศรีธรรมราช และเชื่อมต่อกันทางบกเพื่อให้สามารถส่งกองทัพจากเมืองหนึ่งไปยังอีกเมืองหนึ่งได้หากถูกโจมตีอย่างกะทันหัน[3]
หม่อมเจ้าจันทร์จิรายุ รัชนี ระบุเมืองและสัญลักษณ์จักรราศีสิบเอ็ดเมืองจากสิบสองเมืองในคาบสมุทรมลายู ได้แก่ นราธิวาส (ชวด), ปัตตานี (ฉลู), กลันตัน (ขาล), ไทรบุรี (มะโรง), พัทลุง (มะเส็ง), ตรัง (มะเมีย), ชุมพร (มะแม), กระบี่ (วอก), ท่าชนะ (ระกา), ภูเก็ต (จอ), กระบุรี (กุน) ตำแหน่งที่ตั้งที่แน่ชัดของเมืองปะหังซึ่งถือตราเถาะยังไม่เป็นที่ทราบ[3]
อย่างไรก็ตาม ไม่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ระบุว่านครศรีธรรมราชควบคุมเมืองเหล่านั้นจริง ๆ รายงานอื่น ๆ จากสมัยเดียวกันไม่ค่อยมีการบันทึกว่านครศรีธรรมราชมีบทบาทพิเศษในคาบสมุทรมลายู[4] คำกล่าวจากพงศาวดารน่าจะเป็นการสะท้อนถึงการอ้างอำนาจของสยามเหนือภูมิภาคมลายูทางทิศใต้ในสมัยอยุธยาตอนกลาง[5]
สมัยอยุธยา
[แก้]ในเอกสารภาษาชวาเก่า เดซาวาร์นานา ใน ค.ศ. 1365 อาณาจักรมัชปาหิตยอมรับว่านครศรีธรรมราชเป็นของสยาม[6] กฎมณเฑียรบาลของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถใน พ.ศ. 2011 ระบุว่านครศรีธรรมราชเป็นหนึ่งในแปด "เมืองพระยามหานคร" ของอาณาจักรอยุธยา ถึงกระนั้น ตัวเมืองยังคงมีราชวงศ์และรัฐบริวารเป็นของตนเอง[7] ในรัชสมัยของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช (ครองราชย์ พ.ศ. 2133−2148) ตัวเมืองมีสถานะเป็น "เมืองชั้นเอก"
ในช่วงความขัดแย้งเรื่องการสืบราชสมบัติในกรุงศรีอยุธยาใน พ.ศ. 2172 นครศรีธรรมราชเป็นกบฏต่อสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ทางการอยุธยาจึงส่งยามาดะ นางามาซะ กับกองทัพไปปราบกบฏ แล้วแต่งตั้งเขาเป็นเจ้าเมืองและเจ้าแห่งนครศรีธรรมราชเป็นเวลาสั้น ๆ[8] การจลาจลในนครศรีธรรมราชเกิดขึ้นอีกครั้งหลังการปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2231 เมื่อผู้นำท้องถิ่นไม่ยอมรับการเสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติของสมเด็จพระเพทราชา[9]
สมัยธนบุรีและรัตนโกสินทร์
[แก้]หลังการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สองใน พ.ศ. 2310 นครศรีธรรมราชและหัวเมืองขึ้นในคาบสมุทรมลายูได้รับอิสรภาพอีกครั้งในเวลาสั้น ๆ จนกระทั่งสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้ดำเนินการรวมสยามใน พ.ศ. 2312[10] จากนั้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ตำแหน่งของเจ้าผู้ครองเมืองนครศรีธรรมราชลดระดับลงจากผู้ปกครองประเทศราชไปเป็นเจ้าเมืองชั้นเอก และอำนาจเหนือรัฐสุลต่านมลายูตอนบน (รวมถึงปัตตานี) ถูกโอนไปให้แก่เจ้าเมืองสงขลาแทน[11] ในตอนนั้น สมุหกลาโหมเป็นผู้ดูแลนครศรีธรรมราช[12] อย่างไรก็ตาม ใน พ.ศ. 2364 และ 2374 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยและพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชกระแสรับสั่งให้เจ้าเมืองนครศรีธรรมราชไปปราบกบฏในรัฐสุลต่านมลายูแห่งไทรบุรี[13]
รวมเข้ากับสยาม
[แก้]จากการปฏิรูปเทศาภิบาลของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ตัวอาณาจักรถูกสยามกลืนไปอย่างสมบูรณ์ แล้วมีการจัดตั้งหน่วยการปกครองรูปแบบมณฑลขึ้น โดยมณฑลนครศรีธรรมราชก่อตั้งขึ้นใน พ.ศ. 2439 ครอบคลุมชายฝั่งตะวันออกของคาบสมุทร ได้แก่ เมืองนครศรีธรรมราช เมืองพัทลุง และเมืองสงขลา
อ่านเพิ่ม
[แก้]- Stuart Munro-Hay. Nakhon Sri Thammarat - The Archaeology, History and Legends of a Southern Thai Town. ISBN 974-7534-73-8
อ้างอิง
[แก้]- ↑ David K. Wyatt (2004). Thailand: A Short History (Second ed.). Silkworm Books. p. 30.
- ↑ David K. Wyatt (2004). Thailand: A Short History (Second ed.). Silkworm Books. pp. 35, 43–46.
- ↑ 3.0 3.1 M.C. Chand Chirayu Rajani (1971). "Background To The Sri Vijaya Story—Part I" (PDF). Journal of the Siam Society. 62: 174–211, at pp. 176–179.
- ↑ Stuart Munro-Hay (2001). Nakhon Sri Thammarat: The Archeology, History and Legends of a Southern Thai Town. White Lotus Press. pp. 129–130.
- ↑ G. S. P. Freeman-Grenville; Stuart Christopher Munro-Hay (2006). Islam: An Illustrated History. Continuum. p. 250.
- ↑ Fukami Sumio (2006). "The Rise of Tambralinga and the Southeast Asian Commercial Boom in the Thirteenth Century". XIV International Economic History Congress. Helsinki (72): 4.
- ↑ David K. Wyatt (2004). Thailand: A Short History (Second ed.). Silkworm Books. pp. 72–74.
- ↑ David K. Wyatt (2004). Thailand: A Short History (Second ed.). Silkworm Books. pp. 93, 96–98.
- ↑ David K. Wyatt (2004). Thailand: A Short History (Second ed.). Silkworm Books. p. 108.
- ↑ David K. Wyatt (2004). Thailand: A Short History (Second ed.). Silkworm Books. pp. 123–124.
- ↑ David K. Wyatt (2004). Thailand: A Short History (Second ed.). Silkworm Books. pp. 141–143.
- ↑ David K. Wyatt (2004). Thailand: A Short History (Second ed.). Silkworm Books. p. 146.
- ↑ David K. Wyatt (2004). Thailand: A Short History (Second ed.). Silkworm Books. pp. 149, 156.