ข้ามไปเนื้อหา

ยุทธนาวีเกาะช้าง

พิกัด: 12°00′04″N 102°27′04″E / 12.001°N 102.451°E / 12.001; 102.451
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ยุทธนาวีเกาะช้าง
ส่วนหนึ่งของ กรณีพิพาทอินโดจีน

แผนที่การรบในยุทธนาวีเกาะช้าง
วันที่17 มกราคม พ.ศ. 2484
สถานที่
ผล
  • ฝรั่งเศสชนะทางยุทธวิธี
  • ผลลัพธ์เชิงยุทธศาสตร์ยังเป็นข้อถกเถียงอยู่[Note 1]
  • การแทรกแซงทางการทูตของญี่ปุ่นส่งผลให้มีการหยุดยิง[1]
คู่สงคราม
ไทย ฝรั่งเศสเขตวีชี
ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ
หลวงพร้อมวีระพันธ์  เรจี เบรังเยร์
กำลัง
เรือตอร์ปิโด 2 ลำ
เรือปืนยามฝั่ง 1 ลำ
เรือลาดตระเวนเบา 1 ลำ
เรือสลุป 2 ลำ
• เรือปืน 2 ลำ
เรือดำน้ำ 1 ลำ
ความสูญเสีย
• เรือตอร์ปิโดทั้ง 2 ลำ จม
• เรือปืนยามฝั่ง 1 ลำได้รับความเสียหายหนัก
• ทหารเรือเสียชีวิต 36 นาย
• เรือลาดตระเวนเบา 1 ลำ ได้รับความเสียหายเล็กน้อย
• ทหารสูญเสียไม่ทราบจำนวน

ยุทธนาวีเกาะช้าง เป็นเหตุการณ์รบทางเรือที่เกิดขึ้นในกรณีพิพาทอินโดจีน อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการที่ไทยเรียกร้องให้ปรับปรุงเส้นแบ่งเขตแดน ไทย-อินโดจีนฝรั่งเศส เสียใหม่ โดยใช้แนวร่องน้ำลึกเป็นเกณฑ์ตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ และหลักความยุติธรรม และให้ฝรั่งเศสคืนดินแดนฝั่งขวาแม่น้ำโขงที่ฝรั่งเศสยึดไปจากเหตุการณ์ ร.ศ. 112 ให้ไทย ยุทธภูมิในการรบครั้งนี้เกิดขึ้นที่บริเวณด้านใต้ของเกาะช้าง จังหวัดตราด เมื่อวันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2484 และถือเป็นการรบทางทะเลครั้งเดียวในประวัติศาสตร์กองทัพเรือไทย และรัฐบาลวิชีฝรั่งเศสในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง

เกี่ยวกับชื่อ

[แก้]

การรบทางทะเลครั้งนี้ ในบทความเรื่อง "การรบที่เกาะช้าง" (ข้อมูลอย่างเป็นทางการของกองทัพเรือ - ตีพิมพ์ในหนังสือ เมื่อธนบุรีรบ) ระบุว่า การรบครั้งนี้ควรเรียกชื่อว่า "การรบที่เกาะช้าง" เนื่องจากเป็นเพียงการรบกันระหว่างกองกำลังทางเรือส่วนน้อยของฝ่ายไทย กับกองกำลังทางเรือส่วนใหญ่ของฝ่ายฝรั่งเศสเท่านั้น ไม่ถึงขั้นการรบโดยการทุ่มเทกำลังส่วนใหญ่ของทั้งสองฝ่าย และผลของสงครามไม่อาจตัดสินผลสงครามได้อย่างเด็ดขาด อีกทั้งตามปกติแล้ว จะต้องมีเรือประจัญบานเข้าร่วมรบด้วย จึงจะนับว่าการรบแบบยุทธนาวีได้[2] อย่างไรก็ตาม คนไทยส่วนใหญ่ก็ยังนิยมเรียกเหตุการณ์ครั้งนี้ว่า "ยุทธนาวีเกาะช้าง" ดังปรากฏหลักฐานในคำขวัญประจำจังหวัดตราดว่า "เมืองเกาะครึ่งร้อย พลอยแดงค่าล้ำ ระกำแสนหวาน หลังอานหมาดี ยุทธนาวีเกาะช้าง สุดทางบูรพา"

กำลังรบของทั้งสองฝ่าย

[แก้]

ฝ่ายไทย (ราชนาวีไทย)

[แก้]
เรือหลวงธนบุรี ก่อนเข้าร่วมยุทธนาวีเกาะช้าง 4 วัน

ฝ่ายไทยได้จัดกำลังเรือ 1 หมวด เพื่อรักษาพื้นที่อ่าวไทยบริเวณเกาะช้าง ประกอบด้วย

  • เรือหลวงธนบุรี เรือปืนยามฝั่ง ระวางขับน้ำ 2,350 ตัน มีนาวาโทหลวงพร้อมวีระพันธ์ (ได้เลื่อนยศเป็นนาวาเอกภายหลังสิ้นสุดกรณีพิพาทอินโดจีน) เป็นผู้บังคับการเรือและผู้บังคับหมวดเรือ
  • เรือหลวงสงขลา เรือตอร์ปิโด ระวางขับน้ำ 460 ตัน มีนาวาตรีชั้น สิงหชาญ เป็นผู้บังคับการเรือ
  • เรือหลวงชลบุรี เรือตอร์ปิโดรุ่นเดียวกับเรือหลวงสงขลา ระวางขับน้ำ 460 ตัน มีเรือเอกประทิน ไชยปัญญา เป็นผู้บังคับการเรือ
  • เรือหลวงระยอง เรือตอร์ปิโดรุ่นเดียวกับเรือหลวงสงขลา ระวางขับน้ำ 460 ตัน มีนาวาตรีใบ เทศนะสดับ เป็นผู้บังคับการเรือ
  • เรือหลวงหนองสาหร่าย ระวางขับน้ำ 460 ตัน มีเรือเอกดาวเรือง เพชรชาติ เป็นผู้บังคับการเรือ
  • เรือหลวงเทียวอุทก ระวางขับน้ำ 50 ตัน

ฝ่ายฝรั่งเศส (หมวดเรือเฉพาะกิจที่ 7)

[แก้]
เรือลาม็อต-ปีเก ขณะจอดอยู่ในเวียดนาม
เรือสลุปฝรั่งเศส
  • เรือลาม็อต-ปีเก (Lamotte Picquet) เรือลาดตระเวนเบา ระวางขับน้ำ 7,880 ตัน ใช้เป็นเรือธง (เรือบัญชาการ) มีนาวาเอกเรจี เบรังเยร์ (CV Regis Beranger)[note 1] เป็นผู้บังคับการเรือและผู้บังคับหมวดเรือเฉพาะกิจที่ 7
  • เรืออามิราล ชาร์เนร์ (Amiral Charner) เรือสลุป ระวางขับน้ำ 2,165 ตัน มีนาวาเอกตุสแซง เดอ กีแอฟร์คูร์ (CV Toussaint de Quievrecourt)[note 1] เป็นผู้บังคับการเรือ
  • เรือดูมองต์ ดูร์วิลล์ (Dumont d'Urville) เรือสลุป ชั้นเดียวกันกับเรืออามิราล ชาร์เนร์ ระวางขับน้ำ 2,165 ตัน มีนาวาโทเลอคาลเวซ (CF Le Calvez)[note 1] เป็นผู้บังคับการเรือ
  • เรือมาร์น (Marne) เรือช่วยรบ (ฝรั่งเศสจัดเป็นเรือสลุป) ระวางขับน้ำ 644 ตัน มีนาวาตรีแมร์คาดิเยร์ (CC Mercadier)[note 1] เป็นผู้บังคับการเรือ
  • เรือตาอูร์ (Tahure) เรือช่วยรบ (ฝรั่งเศสจัดเป็นเรือสลุป) ระวางขับน้ำ 600 ตัน มีนาวาตรีมาร์ก (CC Marc)[note 1] เป็นผู้บังคับการเรือ
  • เรือสินค้าขนาดใหญ่ติดอาวุธ 1 ลำ
  • เรือดำน้ำ 1 ลำ

ความเคลื่อนไหวก่อนเกิดการรบ

[แก้]

ฝ่ายไทย

[แก้]

วันที่ 16 มกราคม เรือดำน้ำของราชนาวีไทย ได้ทำการกลับมาที่ฐานทัพเรือในกรุงเทพ เพื่อทำการเปลี่ยนเวรกัน จึงไม่ปรากฏว่ามีเรือดำน้ำของไทยในการรบ

ฝ่ายฝรั่งเศส

[แก้]

การรบ

[แก้]
นาวาเอก เรจี เบรังเยร์ ผู้บังคับการเรือลาม็อต-ปีเก และผู้บังคับหมวดเรือเฉพาะกิจที่ 7 ของฝรั่งเศส

เช้าวันที่ 17 มกราคม ฝรั่งเศสได้ส่งกำลังทางเรือส่วนใหญ่ที่มีอยู่ในอินโดจีนในบังคับบัญชาของนาวาเอกบรังเยร์เข้ามาในน่านน้ำไทยทางด้านเกาะช้าง ด้วยความมุ่งหมายที่จะระดมยิงหัวเมืองชายทะเล ทางภาคตะวันออกของประเทศไทย เป็นประการสำคัญ เพื่อกดดันให้กำลังทหารของไทยที่รุกข้ามชายแดนต้องถอนกำลังกลับมา

กำลังทางเรือของฝรั่งเศสได้อาศัยความมืด และความเร็วรุกล้ำเข้ามาทางด้านใต้เกาะช้าง มีจำนวนด้วยกันทั้งหมด 7 ลำ คือ เรือลาดตระเวนลาม็อต-ปีเก เรือสลุป 2 ลำ เรือปืน 4 ลำ เรือเหล่านี้ได้แยกออกเป็น 3 หมู่ หมู่ที่ 1 มี เรือลาม็อต-ปีเกลำเดียวเข้ามา ทางช่องด้านใต้ระหว่างเกาะคลุ้มกับเกาะหวาย หมู่ที่ 3 มีเรือสลุป 1 ลำ กับเรือปืนอีก 3 ลำ เข้ามาทางช่องด้านตะวันตก ระหว่างเกาะคลุ้มกับแหลมบางเบ้า เกาะช้าง ส่วนเรือดำน้ำ และเรือสินค้าติดอาวุธ คงรออยู่ด้านนอกในทะเล และไม่ได้เข้าทำการรบ

เวลา 06:05 น. เครื่องบินตรวจการณ์ฝรั่งเศสแบบ Potez จากฐานทัพเมืองเรียมในกัมพูชา บินตรวจการผ่านกองเรือไทยและยืนยันตำแหน่งเรือตอร์ปิโดไทยสองลำ เนื่องจากในคืนนั้นเรือหลวงชลบุรีพึ่งเดินทางมาถึงเพื่อเปลี่ยนผลัดกับเรือหลวงสงขลาซึ่งมีกำหนดการกลับไปฐานทัพเรือสัตหีบ สร้างความประหลาดใจให้แก่ฝ่ายฝรั่งเศส เพราะรายงานก่อนหน้าระบุจำนวนเรือตอร์ปิโดไทยเพียงลำเดียว

เวลา 06:10 น. เครื่องบินทะเลฝรั่งเศสแบบลัวร์ 130 ทำการทิ้งระเบิดโจมตีเรือตอร์ปิโดไทยแต่ถูกยิงตกด้วยปืนต่อสู้อากาศยาน เรือฝรั่งเศสรู้จำนวนเรือไทยจึงเดินหน้าเข้าตีตามแผน แต่กองเรือไทยเริ่มไหวตัวแล้ว และได้โหมเร่งความดันไอน้ำเพื่อเตรียมปฏิบัติการ เมื่อสังเกตเห็นข้าศึกอยู่ในพิสัย เรือหลวงสงขลาจึงเปิดฉากยิงต่อสู้กับเรือลาม็อต-ปีเกที่มีอาวุธหนักกว่ามากแต่ไม่มีมุมยิงตอร์ปิโด เนื่องจากเรือหลวงสงขลาจอดโดยหันหัวเรือไปทางฝั่งเกาะช้าง กระสุนจากเรือลามอตต์ปิเกต์ทำความเสียหายแก่เรือหลวงสงขลา เกิดไฟไหม้กลางลำเรือ น้ำทะลักเข้าตัวเรือ ยุ้งกระสุนน้ำท่วม ลูกเรือเสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก นาวาตรีชั้น สิงหชาญ ผู้บังคับการเรือหลวงสงขลา สั่งสละเรือใหญ่ เวลา 06:45 น. หลังจากยืนหยัดทำการรบได้ 35 นาที

ในขณะเดียวกัน เรือหลวงชลบุรีได้ทำการยิงต่อสู้กับหมู่เรือสลุปของฝรั่งเศสที่ตรงเข้ามารุมโจมตีถูกกระสุนที่ท้ายเรือและกลางเรือ เกิดระเบิดไฟลุกไหม้ ลูกเรือเสียชีวิตและบาดเจ็บหลายนาย เรือเอกประทิน ไชยปัญญา ผู้บังคับการเรือหลวงชลบุรี สั่งสละเรือใหญ่เวลา 06:53 น. หลังจากยืนหยัดทำการรบได้ประมาณ 40 นาที ซึ่งภายหลังมีรายงานจากฝ่ายไทยว่ากองเรือฝรั่งเศสได้กระทำการผิดธรรมเนียมการรบทางทะเล โดยใช้ปืนกลกราดยิงทหารเรือไทยที่ลอยคออยู่ในทะเลอีกด้วย

นาวาโท หลวงพร้อมวีระพันธ์ ผู้บังคับการเรือหลวงธนบุรี (เสียชีวิตในการรบ)

เวลา 06:20 น. นาวาโท หลวงพร้อมวีระพันธ์ ผู้บังคับการเรือหลวงธนบุรี สั่งถอนสมอและเคลื่อนลำประจำสถานีรบ และสั่งให้เรือหลวงหนองสาหร่ายและเรือหลวงเทียวอุทกซึ่งเป็นเรือเล็กให้ถอนตัวออกไปจากสมรภูมิ

การจำลองฉากของสะพานเดินเรือของเรือหลวงธนบุรีในยุทธนาวีเกาะช้าง ณ อนุสรณ์สถานแห่งชาติ อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี

เวลา 06:38 น. เรือหลวงธนบุรีประจันหน้าเข้ากับกองเรือฝรั่งเศสและทำการยิงตอบโต้กับเรือลาม็อต-ปีเกที่ระยะ 10,000 เมตร การรบเป็นไปอย่างหนักขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อหมู่เรือสลุปของฝรั่งเศสเข้าทำการร่วมรบรุมยิงเรือหลวงธนบุรีด้วย กระสุนนัดหนึ่งจากเรือลาม็อต-ปีเกได้ตกใต้สะพานเดินเรือและเกิดระเบิดขึ้น ทำให้ผู้บังคับการเรือหลวงธนบุรีรวมทั้งนายทหารเสียชีวิตและบาดเจ็บสาหัสหลายนาย ส่งผลให้การบังคับบัญชา สื่อสาร และควบคุมหยุดชะงัก ระบบถือท้ายเสียหายบังคับทิศทางไม่ได้

เวลา 07:15 น. ผลจากการถูกรุมยิงทำให้เกิดไฟไหม้ใหญ่ขึ้นบนเรือหลวงธนบุรี แต่ทหารบนเรือไทยที่เหลือเพียงลำเดียวยังคงทำการยิงต่อสู้ โดยสลับเปลี่ยนเป้าหมายไปที่เรือฝรั่งเศสทั้งสามลำ เมื่อระบบถือท้ายเสียหาย ป้อมปืนไม่ทำงาน (ทหารฝ่ายไทยต้องใช้วิธีการหมุนป้อมปืนด้วยมือเอง) ทำให้การยิงโต้ตอบของเรือหลวงธนบุรีเป็นไปอย่างยากลำบาก แต่ถึงกระนั้นก็ยังสร้างความเสียหายให้แก่เรือลาม็อต-ปีเกได้ในที่สุด

เวลา 07:40 น. มีเครื่องบิน 1 ลำบินเข้ามาทิ้งระเบิดทะลุดาดฟ้าเรือหลวงธนบุรี มีลูกเรือเสียชีวิต 3 นายและบาดเจ็บจำนวนหนึ่ง ในขณะที่เรือทั้งหมดยังทำการรบอย่างติดพัน ป้อมปืนที่เหลือของเรือหลวงธนบุรีไม่สามารถยิงได้อย่างแม่นยำเนื่องจากไม่อาจบังคับเรือได้ตรงทิศทาง เรือหลวงธนบุรีได้แล่นลำเข้าสู่บริเวณน้ำตื้น กองเรือรบฝรั่งเศสจึงได้ส่งสัญญาณถอนตัวจากการรบ

เวลา 07:50 น. หลังจากถอนตัวจากการรบ เรือลามอตต์ปิเกต์ได้ยิงตอร์ปิโดอีกชุดเข้าหาเรือหลวงธนบุรีที่ระยะ 15,000 ม. แต่พลาดเป้า ในขณะที่เรือหลวงธนบุรียังทำการยิงต่อสู้อย่างต่อเนื่อง และในที่สุดเรือทั้งหมดได้เคลื่อนออกนอกพิสัยทำการรบ

เวลา 08:20 น. เรือหลวงธนบุรีหยุดยิง

เวลา 08:40 น. นาวาเอกเรจี เบรังเยร์ ออกคำสั่งให้กองเรือฝรั่งเศสมุ่งหน้ากลับฐานทัพ เนื่องจากเกรงกำลังหนุนของไทย โดยเฉพาะเรือดำน้ำ เนื่องจากฝ่ายไทยรู้ตัวแล้ว ในเวลาเดียวกัน หมู่บินที่ 2 แบบ Hawk 3 จากกองบินจันทบุรีได้มาถึงและทำการทิ้งระเบิดโจมตีเรือฝรั่งเศส แต่ถูกสกัดด้วยปืนต่อสู้อากาศยานอย่างหนัก ระเบิดลูกหนึ่งตกลงบนเรือลาม็อต-ปีเก แต่ไม่ระเบิด ในเวลา 09:40 น. ฝูงบินทิ้งระเบิดบ่ายหน้ากลับ ทำให้กองเรือฝรั่งเศสหลุดรอดออกไปได้ และมุ่งหน้ากลับไปไซ่ง่อน

เหตุการณ์หลังการรบ

[แก้]

เรือหลวงธนบุรีจมเกยตื้น

[แก้]
ทหารเรือช่วยกันดับไฟที่กำลังไหม้บนเรือหลวงธนบุรี (ภาพถ่ายจากเรือหลวงช้าง)
เรือหลวงธนบุรี ขณะไฟที่ไหม้ได้สงบลงชั่วขณะ

เมื่อเรือรบฝรั่งเศสล่าถอยไปจากบริเวณเกาะช้างแล้ว ป้อมปืนต่าง ๆ ในเรือหลวงธนบุรีจึงหยุดยิงเมื่อเวลา 8.20 น. ทหารประจำป้อมปืนต่างพากันเปล่งเสียงไชโยขึ้นพร้อม ๆ กัน ด้วยความดีใจที่สามารถขับไล่ข้าศึกไปได้ จากนั้นทั้งหมดก็ได้ช่วยกันดับไฟที่ไหม้เรืออยู่อย่างหนัก แต่ไฟก็ไม่สงบลง เรือเอกทองอยู่ สว่างเนตร์ ต้นเรือซึ่งทำหน้าที่แทนผู้บังคับการเรือ จึงตัดสินใจไขน้ำเข้าคลังกระสุนและดินปืน เพื่อป้องกันดินปืนและกระสุนต่าง ๆ ระเบิดเมื่อไฟลุกลามไปถึง ทำให้น้ำไหลเข้าเรือเร็วขึ้นและเอียงไปทางกราบขวา แต่เรือก็ยังใช้จักรเดินต่อไปด้วยความสามารถของพรรคกลิน ต่อมาเมื่อไฟไหม้ลุกลามไปถึงหลังห้องเครื่องจักร ควันไฟและควันระเบิดได้กระจายไปถึงห้องเครื่องจักรใหญ่ เครื่องจักรช่วย และห้องไฟฟ้า ทำให้ทหารพรรคกลินในห้องไฟฟ้า 8 นายขาดอากาศหายใจและเสียชีวิตขณะปฏิบัติหน้าที่ แม้ผู้ที่อยู่ข้างนอกจะพยายามเข้าไปช่วยเหลือนายทหารดังกล่าวก็ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากมีไฟไหม้สก้ดอยู่ที่ปากทางช่องขึ้นลงไปยังห้องเครื่องของเรือ

เวลา 9.50 น. เรือหลวงช้าง ภายใต้การบังคับบัญชาของเรือเอกสนิท อังกินันท์ ได้นำเรือเข้าช่วยดับไฟที่ไหม้อยู่อย่างหนักบนเรือหลวงธนบุรี แต่ไม่ค่อยได้ผล เพราะสายสูบน้ำผ้าใบยาวไม่พอที่จะลากหัวสูบไปฉีดให้ถึงห้องต่าง ๆ ภายใต้ดาดฟ้าเรือได้ เรือหลวงช้างจึงเปลี่ยนวิธีเป็นทำการลากจูงเรือหลวงธนบุรีไปพลางพร้อมทั้งทำการดับไฟในเรือไปด้วย แต่ก็ยังไม่ได้ผลอีก เมื่อเห็นหมดทางที่จะแก้ไขได้แล้ว ผู้บังคับการเรือหลวงช้างจึงตัดสินใจจูงเรือหลวงธนบุรีให้ไปเกยตื้นที่บริเวณแหลมงอบ

เวลา 11.30 น. เรือหลวงธนบุรีถูกจูงมาถึงเขตน้ำตื้นและไม่สามารถลากจูงต่อไปได้ ต้นเรือเรือหลวงธนบุรีจึงสั่งให้ลำเลียงทหารบาดเจ็บลงเรือหลวงช้าง แล้วให้สละเรือใหญ่ ชาวบ้านในบริเวณใกล้เคียงและทหารเรือส่วนหนึ่งยังคงพยายามดับไฟในเรือหลวงธนบุรีต่อไปแต่ไม่สำเร็จ ในที่สุดเรือหลวงธนบุรีก็จมลงเมื่อเวลา 16.40 น. โดยจมไปทางกราบเรือทางขวา เสาทั้งสองเอนจมลงไป กราบซ้ายและกระดูกงูกันโคลงโผล่อยู่พ้นน้ำ

ผลการรบ

[แก้]

ฝ่ายไทยเสียเรือรบไป 3 ลำ คือ เรือหลวงธนบุรี เรือหลวงสงขลา และเรือหลวงชลบุรี ทหารเสียชีวิตรวมทั้งสิ้น 36 นาย แบ่งเป็นทหารประจำเรือหลวงธนบุรี 20 นาย (รวมนาวาเอก หลวงพร้อมวีระพันธ์ ผู้บังคับการเรือหลวงธนบุรีด้วย) เรือหลวงสงขลา 14 นาย และเรือหลวงชลบุรี 2 นาย เฉพาะเรือหลวงธนบุรีนั้น ต่อมากองทัพเรือไทยได้กู้ขึ้นมาเพื่อทำการซ่อมใหญ่ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2484 แต่เนื่องจากเรือเสียหายหนักมาจึงได้ปลดระวางจากการเป็นเรือรบและใช้เป็นกองบังคับการลอยน้ำของกองเรือตรวจอ่าว กองเรือยุทธการ จนกระทั่งปลดประจำการในปี พ.ศ. 2502 หลังจากนั้นทางราชการจึงได้นำส่วนป้อมปืนเรือและหอบังคับการของเรือหลวงธนบุรีมาจัดตั้งเป็นอนุสรณ์สถานเรือหลวงธนบุรี ภายในโรงเรียนนายเรือ จังหวัดสมุทรปราการ

สำหรับฝ่ายฝรั่งเศส แม้จะไม่เสียเรือรบลำใดเลยก็ตาม แต่เรือธงลาม็อต-ปีเกนั้นก็ได้รับความเสียหายอย่างหนักเช่นกัน ส่วนจำนวนทหารที่เสียชีวิต และบาดเจ็บนั้น การข่าวของฝ่ายไทยไม่ทราบจำนวนแน่นอน แต่มีรายงานว่าเมื่อเรือข้าศึกกลับถึงไซ่ง่อน ได้มีการขนศพทหารที่เสียชีวิต และทหารที่ได้รับบาดเจ็บขึ้นบกกันตลอดคืน ขณะที่ฝ่ายฝรั่งเศสอ้างว่าไม่มีความสูญเสียแต่อย่างใดเลย แต่ฝ่ายไทยกลับยืนยันว่าเรือลาม็อต-ปีเกถูกเรือหลวงธนบุรียิงเข้าอย่างจัง จนสังเกตได้ว่ามีไฟลุกอยู่ตอนท้ายเรือ และลำเรือตอนท้ายนั้นแปล้น้ำมากกว่าปกติ โดยอ้างตามคำให้การของทหารเรือที่รอดชีวิตและชาวประมงที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงพื้นที่การรบนี้ ได้มีบันทึกต่อมาว่า ภายหลังกองทัพญี่ปุ่นเข้ายึดครองอินโดจีนจากฝรั่งเศส เรือลาม็อต-ปีเกได้เดินทางไปยังนครโอซะกะ จักรวรรดิญี่ปุ่น เพื่อซ่อมบำรุงเรือในเดือนกันยายน พ.ศ. 2484 หลังจากนั้นจึงได้ปลดเป็นเรือฝึกเมื่อเดือนธันวาคมปีเดียวกัน และถูกจมโดยเครื่องบินสังกัดกองเรือเฉพาะกิจที่ 38 ของกองทัพเรือสหรัฐอเมริกา ในปี พ.ศ. 2488

บำเหน็จหลังการรบ

[แก้]
จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ทำพิธีประดับแพรแถบเหรียญกล้าหาญแก่ธงฉานประจำเรือหลวงธนบุรี

หลังสิ้นสุดการรบในกรณีพิพาทอินโดจีนแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า พระราชทานเหรียญกล้าหาญเพื่อเชิดชูเกียรติแก่ทหารเรือที่เข้าร่วมรบในสงครามครั้งนี้ทั้งสิ้น 18 คน (ส่วนใหญ่คือผู้ที่เสียชีวิตจากการยุทธนาวีที่เกาะช้าง) และเรือรบอีก 1 ลำ คือ เรือหลวงธนบุรี[3] โดยรัฐบาลได้จัดพิธีประดับเหรียญกล้าหาญแก่ธงฉานเรือหลวงธนบุรี ธงชัยเฉลิมพลประจำหน่วยทหารต่างๆ ตลอดจนทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ และตำรวจสนามที่ปฏิบัติการรบดีเด่นในสงครามครั้งนี้เมื่อวันที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2484 ณ ลานพระบรมรูปทรงม้า

นอกจากนี้ ทหารที่เข้าร่วมปฏิบัติการรบในกรณีพิพาทไทย-อินโดจีนฝรั่งเศสทุกคน ยังได้รับพระราชทานเหรียญชัยสมรภูมิ และได้สิทธิพิเศษตามที่ทางราชการกำหนดไว้ ผู้ที่กระทำการจนได้รับคำชมเชยจากทางราชการจะได้รับพระราชทานเครื่องหมายเปลวระเบิดประดับบนแพรแถบด้วย

อนุสรณ์แห่งยุทธนาวีเกาะช้าง

[แก้]
อนุสรณ์สถานเรือหลวงธนบุรี
แผ่นป้ายอนุสรณ์การรบที่เกาะช้างของกองทัพเรือฝรั่งเศส

ฝ่ายไทยได้จัดสร้างอนุสรณ์สถานยุทธนาวีเกาะช้างไว้ 2 แห่ง คือ อนุสรณ์สถานเรือหลวงธนบุรี ที่โรงเรียนนายเรือ จังหวัดสมุทรปราการ และอนุสรณ์สถานยุทธนาวีเกาะช้าง ที่แหลมงอบ จังหวัดตราด ซึ่งเป็นสถานที่ที่เรือหลวงธนบุรีถูกลากจูงมาเกยตื้นเมื่อเย็นวันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2484

สำหรับฝ่ายฝรั่งเศส ได้มีการจัดทำป้ายอนุสรณ์ระลึกถึงทหารเรือสังกัดกองกำลังทางเรือฝรั่งเศสภาคตะวันออกไกล (Forces Navales d'Extrême-Orient) ที่เสียชีวิตในการรบครั้งนี้ ซึ่งจัดทำขึ้นเนื่องในโอกาสครบรอบ 60 ปีแห่งการยุทธนาวีเกาะช้างเมื่อวันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2544 มีใจความดังนี้

ภาษาฝรั่งเศส
คำแปล

AUX MARIN D'INDOCHINE
1939 - 1945
EN SOUVERNIR
DE LA VICTOIRE NAVALE DE KOH CHANG
LE 17 JANVIER 1941

แด่ทหารเรืออินโดจีน
1939 - 1945
ด้วยความระลึก
ถึงชัยชนะในยุทธนาวีเกาะช้าง
วันที่ 17 มกราคม 1941

ปัจจุบันป้ายนี้ตั้งอยู่ที่ ฟอร์ต-มือเซ มงต์บาร์เรย์ (Fort-Musée Montbarrey) เมืองแบร็สต์ ประเทศฝรั่งเศส

หมายเหตุ

[แก้]
  1. The French destroyed two torpedo boats and disabled a coastal defence ship, approximately one third of the Thai Navy. However, the Thai argue that since the French didn't proceed to bombard their army along the coast, they had had successfully repelled the attack (albeit at a heavy cost), thus giving them a strategic victory. Even though the French force chose not to immediately join in the land conflict, they were certainly clear to do so. Before they could, the Japanese intervened, fearing that the war would turn sour for their Thai allies. In the end, the French were forced to sign a treaty that respected Thai territorial claims. This sudden end to the war stopped Thai incursion into French Indochina, but also cut short the French's attempt to mount a full counter-attack.

เชิงอรรถ

[แก้]
  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 แนวเทียบยศทหารเรือชั้นสัญญาบัตรของฝรั่งเศสมีดังนี้
    • Amiral = พลเรือเอก
    • Vice-Amiral d'escadre (VAE) = พลเรือโท
    • Vice-Amiral (VA) = พลเรือตรี
    • Contre-amiral (CA) = พลเรือจัตวา
    • Capitaine de Vaisseau (CV) = นาวาเอก
    • Capitaine de Frégate (CF) = นาวาโท
    • Capitaine de Corvette (CC) = นาวาตรี
    • Lieutenant de Vaisseau (LV) = เรือเอก
    • Enseigne de vaisseau de première classe (EV1) = เรือโท
    • Enseigne de vaisseau de deuxième classe (EV2) = เรือตรี
    • Aspirant (ASP) = นักเรียนทำการนายเรือ (Midshipman)
    ดูเพิ่มเติมได้ที่ เว็บไซต์กองทัพเรือฝรั่งเศส และที่ http://pagesperso-orange.fr/pierre.gay/EngPages/ArmForce

อ้างอิง

[แก้]
  1. Fall, p.22. "On the seas, one old French cruiser sank one-third of the whole Thai fleet ...,Japan, seeing that the war was turning against its pupil and ally, imposed its "mediation" between the two parties."
  2. จิตต์ สังขดุลย์, พล.ร.อ.. เมื่อธนบุรีรบ. ม.ป.ท.: ม.ป.พ., ม.ป.ป. หน้า 39-40.
  3. "แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญกล้าหาญ. 26 สิงหาคม 2484" ราชกิจจานุเบกษา. 58 (2 กันยายน 2484) : 2810-2811.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]
ภาษาไทย
ภาษาอังกฤษ
ภาษาฝรั่งเศส

12°00′04″N 102°27′04″E / 12.001°N 102.451°E / 12.001; 102.451