ฉันท์ ขำวิไล

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ฉันท์ ขำวิไล
เกิด21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2447
เสียชีวิต12 สิงหาคม พ.ศ. 2533 (86 ปี)
ผลงานเด่นแต่งเพลงชาติสยาม บทที่ 3 และ 4
คู่สมรสพจนา ขำวิไล
(มีบุตร-ธิดา 16 คน เป็นชาย 9 คน หญิง 7 คน)
บิดามารดา
  • เสมอ ขำวิไล (บิดา)
  • สายธาร ขำวิไล (มารดา)

ฉันท์ ขำวิไลเกิดเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2447 ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2533 รวมอายุ 86 ปี เป็นนักเขียนชาวไทย ผู้ประพันธ์ “ป้ากะปู่กู้อีจู้” บทเรียนภาษาไทยชั้นประถมศึกษาในยุคแรก และบทเพลงสำหรับเด็ก

ประวัติ[แก้]

เริ่มการเขียนหนังสือตั้งแต่บวชพระขณะที่จำพรรษาอยู่ ณ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ หนังสือที่เขียนเล่มแรกว่าด้วย วิธีบวก ลบ คูณ หาร ต่อมาได้แต่งเรื่อง “นิราศลาสิกขา” “ตำราฉันทศาสตร์” “ตำนานนิราศ” และ กาพย์เห่เรือเรื่อง “นิราศฉันทโสภณ” และกลอน “กำศรวลวังหลัง” โดยเฉพาะกลอนเรื่องนิราศลาสิกขา เป็นที่พอพระทัยของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพมากถึงกับทรงเรียกให้เข้าเฝ้า

ผลงาน[แก้]

แต่งเพลงชาติไทย วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 เป็นวันที่ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตย หลังจากนั้นไม่นานได้มีการแต่งเพลงชาติขึ้น เพลงชาติเพลงแรกใช้ทำนองเพลงมหาชัยโดยเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีเป็นผู้แต่งเนื้อร้อง ต่อมา น.ต. หลวงนิเทศกลกิจ ร.น. (กลาง โรจนเสนา) ได้ขอให้พระเจนดุริยางค์ (ปิติ วาทยกร) แต่งทำนองเพลงชาติแบบสากล และขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธุ์) แต่งเนื้อร้องขึ้นต้นว่า “แผ่นดินสยามนามประเทืองว่าเมืองทอง ไทยเข้าครองตั้งประเทศเขตแดนสง่า”

ต่อมา พ.ศ. 2477 รัฐบาลตั้งคณะกรรมการดำเนินการเรื่องเพลงชาติไทยโดยขอให้ผู้ชำนาญการดนตรีแต่งทำนองขึ้นหลายทำนอง ในที่สุดคณะกรรมการฯ มีมติเลือกทำนองของพระเจนดุริยางค์ จากนั้นได้ประกาศให้เขียนคำร้องเข้าประกวดกัน ผลการตัดสินของคณะกรรมการฯ ได้คัดเลือกบทเพลงชาติไว้ 2 บท คือ บทของขุนวิจิตรมาตราที่แต่งไว้เดิมกับบทของนายฉันท์ ขำวิไล ซึ่งนับเป็นรางวัลเกียรติยศอีกรางวัลหนึ่งในชีวิต

ผลงานประพันธ์ของครูฉันท์ ขำวิไล ในยุคต่อ ๆ มา ส่วนใหญ่มีความเกี่ยวพันกับสุนทรภู่ กวีเอกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ งานที่สำคัญ ได้แก่ 100 ปีของสุนทรภู่ เมื่อ พ.ศ. 2498 ประชุมนิราศสุนทรภู่ แต่งเมื่อ พ.ศ. 2499 นิราศพระอภัยมณีและเกียรติประวัติสุนทรภู่ และนิราศอนุสาวรีย์สุนทรภู่ งานประพันธ์อีกชิ้นหนึ่งของนายฉันท์ ขำวิไล ที่นับได้ว่ามีบทบาทสำคัญต่อวงการศึกษาไทย คือ แบบเรียนเร็วใหม่ เล่ม 1 ของชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 โดยร่วมเขียนเมื่อครั้งได้รับเชิญเข้ามาทำงานในกระทรวงธรรมการ เป็นแบบเรียนเด็กชุด “ป้ากะปู่กู้อีจู้” ซึ่งได้รับความนิยมมาก ซึ่งเด็กไทยรุ่นแล้วรุ่นเล่าเริ่มรู้จักหนังสือไทยจากแบบเรียนของนายฉันท์ ขำวิไล ทั้งสิ้น

นอกจากนี้ยังแต่งเพลงร้องของเด็กที่รู้จักกันแพร่หลาย เช่น “สวัสดีเธอจ๋าเรามาพบกัน”

เกียรติคุณ[แก้]

เพลงชาติสยามฉบับราชการ พ.ศ. 2477

ในปีพ.ศ. 2474 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ นายกราชบัณฑิตยสภา ได้มีรับสั่งให้เข้าเฝ้าที่วังวรดิศ ณ วันอังคารที่ 8 เดือนกันยายน พ.ศ. 2474 ทรงพระกรุณาประทานโอวาท เพิ่มพูนความรู้ความคิดเห็นในทางวรรณคดี และมีพระประสงค์โปรดฯ ให้แต่งกลอนนิราศลาสิกขาต่อ และเพิ่มเติมอีกครั้งหนึ่งด้วยทรงพอพระทัย ขณะนั้นนายฉันท์ ขำวิไล อายุเพียง 26 – 27 ปี เท่านั้น การได้รับเกียรติจากราชบัณฑิตยสถานสภาเช่นนี้จึงเป็นสิ่งที่น่าภาคภูมิใจอย่างยิ่ง นับเป็นรางวัลเกียรติยศรางวัลแรกแห่งความเป็นปราชญ์ของท่าน

ผลการตัดสินของคณะกรรมการฯ ได้คัดเลือกบทเพลงชาติไว้ 2 บท คือ บทของขุนวิจิตรมาตราที่แต่งไว้เดิม กับบทของนายฉันท์ ขำวิไล ซึ่งนับเป็นรางวัลเกียรติยศอีกรางวัลหนึ่งในชีวิต เนื้อร้องเพลงชาติที่นายฉันท์แต่ง