ยูไนเต็ดอาหรับแอร์ไลน์ เที่ยวบินที่ 869 (พ.ศ. 2505)
เครื่องบินเดอ ฮาวิลแลนด์ คอเม็ทของยูไนเต็ดอาหรับแอร์ไลน์รุ่นเดียวกับลำที่เกิดเหตุ | |
สรุปอุบัติเหตุ | |
---|---|
วันที่ | 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2505 |
สรุป | ชนภูเขาขณะลดระดับ |
จุดเกิดเหตุ | ทิวเขาสันกำแพงในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา ประเทศไทย |
อากาศยานลำที่เกิดเหตุ | |
ประเภทอากาศยาน | เดอ ฮาวิลแลนด์ DH-106 Comet 4C |
ดําเนินการโดย | ยูไนเต็ดอาหรับแอร์ไลน์ |
ทะเบียน | SU-AMW |
ต้นทาง | ท่าอากาศยานานาชาติฮ่องกง ฮ่องกงของบริเตน |
จุดพัก | ท่าอากาศยานกรุงเทพ จังหวัดพระนคร ประเทศไทย |
ปลายทาง | ท่าอากาศยานนานาชาติไคโร ไคโร ประเทศอียิปต์ สหสาธารณรัฐอาหรับ |
จำนวนคน | 26 |
ผู้โดยสาร | 18 |
ลูกเรือ | 8 |
เสียชีวิต | 26 |
บาดเจ็บ | 0 |
สูญหาย | 0 |
รอดชีวิต | 0 |
ยูไนเต็ดอาหรับแอร์ไลน์ เที่ยวบินที่ 869 เป็นเที่ยวบินระหว่างประเทศเดินทางระหว่างฮ่องกง–กรุงเทพมหานคร–ไคโรของสายการบินยูไนเต็ดอาหรับแอร์ไลน์ โดยใช้เครื่องบินเดอ ฮาวิลแลนด์ ดีเอช-106 คอเม็ท 4ซี ซึ่งประสบอุบัติเหตุตกในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ระหว่างนำเครื่องลงจอดที่ท่าอากาศยานดอนเมืองในคืนวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2505 ผู้โดยสารและลูกเรือเสียชีวิตทั้งหมด
อากาศยาน
[แก้]เครื่องบินลำที่เกิดเหตุเป็นเครื่องบินเดอ ฮาวิลแลนด์ ดีเอช-106 คอเม็ท 4ซี หมายเลขทะเบียน SU-AMW[1] ซึ่งใช้บินเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2505 ขณะเกิดเหตุเครื่องบินมีอายุเพียง 4 เดือนครึ่งเท่านั้น
นอกจาก SU-AMW แล้ว เครื่องบินคอเม็ท 4ซี ของยูไนเต็ดอาหรับแอร์ไลน์อีก 4 ลำยังประสบอุบัติเหตุร้ายแรงจนเครื่องบินไม่สามารถซ่อมแซมให้กลับมาใช้งานได้[2] ได้แก่
- SU-ALD เที่ยวบินที่ 869 โตเกียว–ฮ่องกง–กรุงเทพมหานคร–บอมเบย์–บาห์เรน–ไคโร ประสบอุบัติเหตุตกก่อนถึงท่าอากาศยานซานตาครูซนอกชายฝั่งบอมเบย์ ประเทศอินเดียใน พ.ศ. 2506 มีผู้เสียชีวิต 63 คน
- SU-ANI เที่ยวบินที่ 755 ไคโร–คาร์ทูม–อาดดิสอาบาบา ประสบอุบัติเหตุตกขณะลงจอดที่ท่าอากาศยานนานาชาติโบเล กรุงอาดดิสอาบาบา ประเทศเอธิโอเปียใน พ.ศ. 2513 ไม่มีผู้เสียชีวิต
- SU-ALE (ลำที่แสดงในภาพ) มิวนิก-เอเธนส์–ไคโร ประสบอุบัติเหตุขณะบินขึ้นจากท่าอากาศยานมิวนิก-รีม นครมิวนิก ประเทศเยอรมนีใน พ.ศ. 2513 ไม่มีผู้เสียชีวิต
- SU-ALC เที่ยวบินที่ 844 แอลเจียร์–ตริโปลี–ไคโร ประสบอุบัติเหตุตกขณะลงจอดที่ท่าอากาศยานนานาชาติตริโปลี กรุงตริโปลี ประเทศลิเบียใน พ.ศ. 2514 มีผู้เสียชีวิต 16 คน
เที่ยวบิน
[แก้]เที่ยวบินที่ 869 มีต้นทางจากท่าอากาศยานไขตั๊ก ฮ่องกงของบริเตนไปยังท่าอากาศยานนานาชาติไคโร กรุงไคโร เมืองหลวงของสหสาธารณรัฐอาหรับ[note 1] โดยมีจุดจอดพักที่ท่าอากาศยานดอนเมือง ในคืนวันที่เกิดเหตุ เที่ยวบินที่ 869 บินขึ้นจากท่าอากาศยานไขตั๊กเวลา 20:30 น. ตามเวลาในประเทศไทยและมีกำหนดมาถึงท่าอากาศยานดอนเมืองเวลา 22:55 น.[3] เส้นทางบินของเที่ยวบินที่ 869 จากฮ่องกงมากรุงเทพมหานครมีกำหนดผ่านสถานีเครื่องช่วยการเดินอากาศ NDB (Non-directional beacon) จำนวน 5 แห่ง ได้แก่เดลตา นอร์ทรีฟ ตูราน อุบล และกรุงเทพ เวลา 22:14 น. เที่ยวบินที่ 869 แจ้งต่อหอบังคับการบินท่าอากาศยานดอนเมืองว่าได้ผ่านเข้าอาณาเขตแถลงข่าวการบินของประเทศไทย (Bangkok FIR) เมื่อเวลา 22:08 น. และบินผ่านสถานี NDB อุบลเมื่อเวลา 22:13 น. พร้อมทั้งแจ้งขอบินตรงไปยังสถานีเครื่องช่วยการเดินอากาศ VOR ของท่าอากาศยานดอนเมืองซึ่งหอบังคับการอนุญาตให้เที่ยวบินที่ 869 บินตรงได้ หลังจากนั้นเที่ยวบินที่ 869 รายงานเมื่อเวลา 22:30 น. ว่าอยู่ห่างจากท่าอากาศยานดอนเมืองประมาณ 90 ไมล์ (140 กิโลเมตร) และแจ้งขอลดระดับเครื่องบิน หอบังคับการอนุญาตให้เที่ยวบินที่ 869 ลดระดับลงมาถึง 4,000 ฟุตก่อนจะอนุญาตให้ลดระดับต่อเนื่องลงมาถึง 3,000 ฟุตเมื่อเวลา 22:35 น. อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ควบคุมการจราจรทางอากาศขาเข้าของท่าอากาศยานดอนเมืองพยายามติดต่อเที่ยวบินที่ 869 เมื่อเวลา 22:50 น. แต่ไม่สามารถติดต่อได้
ข้อมูลของสถานีเรดาร์ซึ่งทำงานร่วมกับกองทัพอากาศไทยและกองทัพอากาศสหรัฐระบุว่าเวลา 22:44 น. เที่ยวบินที่ 869 หายไปจากจอเรดาร์ที่ตำแหน่งประมาณ 55 ไมล์ (89 กิโลเมตร) ไปทางตะวันออกเฉียงเหนือจากท่าอากาศยานดอนเมือง ในวันถัดมา เจ้าหน้าที่ค้นหาพบซากเครื่องบินคอเม็ทเที่ยวบินที่ 869 ตกในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ห่างจากท่าอากาศยานดอนเมืองประมาณ 52 ไมล์ (84 กิโลเมตร) ไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ ผู้โดยสาร 18 คนและลูกเรือ 8 คนบนเที่ยวบินที่ 869 เสียชีวิตทั้งหมด
การสืบสวน
[แก้]จากรายงานสืบสวนของสำนักงานการบินพลเรือน[3]ได้ข้อสรุปว่าเที่ยวบินที่ 869 ตกเนื่องจากนักบินคาดคะเนตำแหน่งผิดพลาด โดยในช่วงที่เครื่องบินบินระหว่างสถานี NDB ตูรานและสถานี NDB อุบลซึ่งอยู่ห่างกัน 205 ไมล์ (330 กิโลเมตร) ข้อมูลตำแหน่งของเครื่องบินระบุว่าความเร็วของเครื่องบินเท่ากับ 455 ไมล์ต่อชั่วโมง (732 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) ซึ่งถ้าเครื่องบินยังคงรักษาความเร็วนี้หลังบินผ่านสถานี NDB อุบลไปแล้ว ตำแหน่งของเครื่องบิน ณ เวลา 22:30 น. (ซึ่งเป็นเวลาที่เที่ยวบินที่ 869 แจ้งขอลดระดับ) ควรจะอยู่ห่างจากท่าอากาศยานดอนเมือง 137 ไมล์ (220 กิโลเมตร) โดยประมาณ ไม่ใช่ 90 ไมล์อย่างที่แจ้งต่อหอบังคับการบิน และเป็นไปได้ว่านักบินอาจจะไม่ได้ใช้สถานีระบุตำแหน่งที่นครราชสีมาซึ่งอยู่ใกล้กับจุดเกิดเหตุและห่างจากท่าอากาศยานดอนเมืองประมาณ 100 ไมล์ (160 กิโลเมตร) เพื่อช่วยคำนวณตำแหน่งของเครื่องบิน รายงานดังกล่าวยังเสนอว่านักบินอาจจะ "มั่นใจมากเกินไป" และไม่ได้ตรวจสอบตำแหน่งของเครื่องบินว่าตรงตามที่ตัวนักบินคิดว่าอยู่หรือไม่
สถิติ
[แก้]จากข้อมูลของ Aviation Safety Network เที่ยวบินที่ 869 เป็นอุบัติเหตุทางการบินพลเรือนที่มีผู้เสียชีวิตครั้งแรกในประเทศไทย[4] โดยอุบัติเหตุทางการบินที่เกิดขึ้นโดยมีผู้เสียชีวิตก่อนหน้านั้นเกิดขึ้นกับอากาศยานทางทหารทั้งหมด
ดูเพิ่ม
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ "ASN Aircraft accident de Havilland DH-106 Comet 4C SU-AMW Khao Yai Mountain". ASN Aviation Safety Network (ภาษาอังกฤษ). Aviation Safety Network. สืบค้นเมื่อ 2021-10-21.
- ↑ "Aviation Safety Network > ASN Aviation Safety Database > Type index > ASN Aviation Safety Database results". ASN Aviation Safety Network. Aviation Safety Network. สืบค้นเมื่อ 21 October 2021.
- ↑ 3.0 3.1 "No. 16 United Arab Airlines, Comet 4C, SU-AMW, accident 52 NM northeast of Bangkok Airport, Thailand, on 19 July 1962. Report released by the Director, Civil Aviation Administration, Department of Transport, Thailand, 15 November 1963" (PDF). ICAO Circular 71 (ภาษาอังกฤษ). องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (2): 101–103. 1966. สืบค้นเมื่อ 2021-10-21.
- ↑ "Aviation Safety Network > ASN Aviation Safety Database > Geographical regions index > ASN Aviation Safety Database results". ASN Aviation Safety Network. Aviation Safety Network. สืบค้นเมื่อ 2021-10-21.
หมายเหตุ
[แก้]- ↑ เป็นชื่อสหภาพทางการเมืองระหว่างสาธารณรัฐอาหรับอียิปต์และสาธารณรัฐอาหรับซีเรียในช่วง พ.ศ. 2501 ถึง พ.ศ. 2504 ก่อนที่ซีเรียจะถอนตัวออกไป หลังจากซีเรียถอนตัวออกไปแล้วอียิปต์ยังคงใช้ชื่อสหสาธารณรัฐอาหรับจนถึง พ.ศ. 2514 จึงเปลี่ยนกลับมาเป็นสาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ตามเดิม