คดีปราสาทพระวิหาร

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สำหรับการตีความใหม่ใน พ.ศ. 2554 ดูที่ กรณีการตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหาร
ปราสาทพระวิหาร (คดีระหว่างกัมพูชาและไทย)
Temple of Preah Vihear (Cambodia v. Thailand)
International Court of Justice Seal.svg
สาระแห่งคดี
ข้อกล่าวหา ไทยยึดดินแดนโดยรอบซากปราสาทพระวิหาร
คำร้อง ขอให้ศาลฯ ประกาศให้อำนาจอธิปไตยดินแดนเหนือปราสาทเป็นของกัมพูชา และไทยมีพันธกรณีต้องถอนทหารที่ประจำอยู่ที่ปราสาท
คู่ความ
ผู้ร้อง  กัมพูชา
ผู้คัดค้าน  ไทย
ศาล
ศาล ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ
ตุลาการ ประธาน: โบดาน วินิอาร์สกิ
ตุลาการ:
  • ริคาร์โด อาลฟาโร
  • ลูซิโอ มอเรโน กินตานา
  • เวลลิงตัน คู
  • เพอร์ซี สเปนเดอร์
  • จูลส์ บาเดอวังต์
  • อับดุล บาดาวี
  • เจรัลด์ ฟิตซ์มอริส
  • วลาดิเมียร์ คอเรดสกี
  • โคะทะโระ ทะนะกะ
  • โจเซ่ บุสตามันเต อี ริเบโร
  • เกตาโน มอเรลลี
  • สปีโรปูลอส
วินิจฉัย
" ปราสาทพระวิหารตั้งอยู่ในอาณาเขตกัมพูชา ไทยมีพันธกรณีต้องถอนทหารหรือตำรวจที่ประจำอยู่ที่นั่น และให้คืนวัตถุที่นำออกจากปราสาทตั้งแต่ปี 2497 แก่กัมพูชา "
ลงวันที่ 15 มิถุนายน 2505
กฎหมาย หลักการยอมรับโดยปริยาย (tacit acceptance)[1]
เว็บไซต์
Temple of Preah Vihear (Cambodia v. Thailand)

คดีปราสาทพระวิหาร เป็นกรณีพิพาทเรื่องอาณาเขตระหว่างราชอาณาจักรกัมพูชากับราชอาณาจักรไทย ซึ่งเริ่มขึ้นเมื่อปี 2501 จากปัญหาการอ้างสิทธิเหนือบริเวณปราสาทพระวิหาร ซึ่งตั้งอยู่ที่ชายแดนไทยด้านอำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ และชายแดนกัมพูชาด้านจังหวัดพระวิหาร เกิดจากการที่ทั้งไทยและกัมพูชา ถือแผนที่ปักปันเขตแดนตามแนวสันปันน้ำของเทือกเขาพนมดงรักคนละฉบับ ทำให้เกิดปัญหาพื้นที่ทับซ้อนของทั้งสองฝ่ายในบริเวณที่เป็นที่ตั้งของตัวปราสาท โดยภาคีทั้งสองได้ยินยอมให้มีการพิจารณาปัญหาดังกล่าวขึ้นที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ศาลโลก) ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ในปี 2502

คดีนี้ศาลโลกได้ตัดสินให้ตัวปราสาทพระวิหารตกเป็นของกัมพูชา เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2505 ด้วยคะแนนเสียง 9 ต่อ 3 โดยใช้หลักกฎหมายการยอมรับโดยปริยาย (tacit acceptance) เนื่องจากรัฐบาลสยามไม่โต้แย้งแผนที่ซึ่งนักภูมิศาสตร์ฝรั่งเศสจัดทำขึ้นตามคำขอของรัฐบาลสยามเอง

ต่อมาในปี 2554 หลังกัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นแหล่งมรดกโลกของยูเนสโก ได้เกิดกรณีพิพาทด้วยอาวุธขึ้นโดยรอบปราสาท ทำให้กัมพูชาขอให้ศาลโลกตีความคำพิพากษาปี 2505 อีกครั้งในกรณีเกี่ยวกับ "บริเวณโดยรอบปราสาท"

เบื้องหลัง[แก้]

ในปี 2501 เอกอัครราชทูตกัมพูชาประจำสหราชอาณาจักร ซัมซารี เขียนบทความเกี่ยวกับสิทธิเหนือปราสาทเขาพระวิหารลงในนิตยสาร กัมพูชาวันนี้ (le Combodge d'aujourd'hui) มีเนื้อหาส่วนหนึ่งระบุว่า "ไทยอ้างสิทธิเหนือวิหารนี้ โดยการใช้กำลังทหารเข้ายึดเอาพระวิหาร-อันเป็นการกระทำแบบฮิตเลอร์"[2] จากนั้นมาวิทยุและหนังสือพิมพ์ของกัมพูชาพาดพิงเรื่องสิทธิเหนือปราสาทเขาพระวิหารนี้อยู่เรื่อย ๆ จนเกิดกระแสทวงเขาพระวิหารคืนจากไทย[2] แต่ยังไม่รุนแรงนัก นอกจากนี้ยังมีเหตุการณ์ปล้นสะดมทางชายแดนไทย-กัมพูชาเสมอ ๆ ทำให้รัฐบาลไทยในขณะนั้นได้เสนอให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการผสมเพื่อดำเนินการตรวจสอบเส้นเขตแดน แต่ก็ไม่ได้รับการตอบสนองจากรัฐบาลกัมพูชา ทำให้ความสัมพันธ์เริ่มทรุดลงอย่างรวดเร็ว

วันที่ 11 สิงหาคม 2501 มีการเจรจาเพื่อปรับปรุงความสัมพันธ์ระหว่างไทย-กัมพูชาขึ้นที่กรุงเทพมหานคร แต่ไม่สามารถเจรจาตกลงกันได้ วันที่ 7 กันยายน ปีเดียวกัน ประเทศไทยได้เดินขบวนประท้วงประเทศกัมพูชา และอ้างถึงกรรมสิทธิ์ของไทยเหนือเขาพระวิหาร นอกจากนี้ยังมีการโจมตีระหว่างสื่อไทยและกัมพูชากันอยู่เนื่อง ๆ จนกระทั่งวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2501 รัฐบาลกัมพูชาได้ตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับไทย และความสัมพันธ์ก็เลวร้ายลงจนไปสู่การฟ้องร้องต่อศาลโลก[ต้องการอ้างอิง]

เจ้านโรดมสีหนุ นายกรัฐมนตรีกัมพูชาขณะนั้น นำเรื่องขึ้นเสนอสู่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศในปี พ.ศ. 2502 โดยใช้แผนที่ผนวก 1 เป็นหลักฐานสำคัญ

รายละเอียดคดี[แก้]

ระหว่างปี 2447 ถึง 2451 ประเทศฝรั่งเศสในฐานะเป็นรัฐผู้อารักขากัมพูชาทำสัญญากับราชอาณาจักรสยามอยู่หลายฉบับ แต่มีสัญญาอยู่ฉบับหนึ่งที่เป็นต้นเหตุของปัญหานี้ คือ สนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส ร.ศ. 122 มีความตกลงอยู่ว่า พรมแดนที่เป็นปัญหาให้ถือเอาสันปันน้ำเป็นเกณฑ์ในการแบ่งเขตแดน และให้แต่งตั้งคณะกรรมการปักบันเขตแดน เพื่อได้ทำการสำรวจบริเวณพื้นที่แถบนั้น[3] ต่อมาในปี 2450 ทางการสยามได้ขอให้ทางฝรั่งเศสทำแผนที่พรมแดน ฝรั่งเศสได้จัดทำแผนที่ขึ้นจำนวนหนึ่ง หนึ่งในนั้นเป็นแผนที่ที่ฝรั่งเศสลากเส้นเอาเขาพระวิหารไปอยู่ในฝั่งเขตแดนกัมพูชาของทางฝรั่งเศสด้วย โดยมิได้ยึดแนวสันปันน้ำเป็นเกณฑ์ (แผนที่นี้ต่อมาเรียกว่า "แผนที่ผนวก 1" (Annex I map)) ทางการสยามเองไม่ได้คัดค้านแผนที่นั้นภายในเวลาอันสมควร คณะกรรมการฝ่ายไทยไม่ได้ดำเนินการใด ๆ เลย แม้จะไม่ได้แสดงการยอมรับ แต่ก็ไม่ได้ทำการคัดค้านว่าแผนที่ฉบับที่มีปัญหานั้นไม่ถูกต้อง เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยในขณะนั้นคือ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ก็ตรัสขอบใจราชทูตฝรั่งเศสผู้นำส่งแผนที่นั้น และผู้ว่าราชการจังหวัดก็มิได้ทำการทักท้วง[3]

ปี 2468 มีการจัดทำสนธิสัญญาระหว่างสยาม-ฝรั่งเศส โดยมีการอ้างอิงถึงเขตแดนดังกล่าว และในการเจรจาสนธิสัญญาระหว่างสยาม-ฝรั่งเศส ณ กรุงวอชิงตัน เมื่อปี 2490 รัฐบาลสยามไม่ได้ประท้วงประเด็นดังกล่าว[3] นอกจากนี้ในปี 2473 สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้เสด็จไปเขาพระวิหาร โดยมีผู้สำเร็จราชการฝรั่งเศสรับเสด็จในฐานะทรงเยือนจังหวัดหนึ่งของกัมพูชา[3] แม้ในระหว่าง 2477–2478 มีการสำรวจพบว่ามีความแตกต่างระหว่างเส้นพรมแดนในแผนที่และแนวสันปันน้ำจริง และได้มีการทำแผนที่อื่น ๆ ซึ่งแสดงว่าปราสาทดังกล่าวอยู่ในราชอาณาจักรสยาม แต่สยามยังคงใช้และจัดพิมพ์แผนที่ที่แสดงว่าพระวิหารตั้งอยู่ในกัมพูชาต่อไป[3] เหตุการณ์ต่าง ๆ เหล่านี้ ทำให้ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศพิจารณาว่า รัฐบาลไทยขณะนั้นได้ยอมรับ (acquiese) ว่า ฝรั่งเศส มีอำนาจอธิปไตยเหนือเขาพระวิหารเป็นเวลายาวนานถึง 50 ปีมาแล้ว ตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศการยอมรับโดยปริยาย (Qui tacet consentire videtur si loqui debuisset ac potuisset)

อาจกล่าวโดยสรุปได้ว่า ศาลโลกจะยอมรับมุมมองของไทยว่าพื้นที่ปราสาทพระวิหารเป็นของไทยหากวาดเส้นเขตแดนอย่างเคร่งครัดตามถ้อยคำของข้อ 1 แห่งสนธิสัญญาเขตแดนปี 2447 และยึดเส้นสันปันน้ำภูมิศาสตร์[1]

วันที่ 15 มิถุนายน 2505 ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ จึงได้ตัดสินให้ปราสาทเขาพระวิหารเป็นของกัมพูชา ด้วยคะแนนเสียง 9 ต่อ 3 นอกจากนั้นยังตัดสินด้วยคะแนนเสียง 7 ต่อ 5 ให้ประเทศไทยส่งคืนโบราณวัตถุที่นำออกมาจากปราสาทเขาพระวิหารตั้งแต่ปี 2497 ซึ่งเป็นปีที่ประเทศไทยได้เข้ายึดครองพื้นที่ดังกล่าว[3]

แผนที่ที่ใช้ในคดี
แผนที่เขตแดนฝรั่งเศส–สยามซึ่งจัดทำขึ้นเมื่อปี 2450 ซึ่งกัมพูชาใช้อ้างอธิปไตยเหนือปราสาทพระวิหาร ("แผนที่ภาคผนวก 1")
แผนที่ A ของทางการไทย แสดงแนวเส้นเขตแดนฝรั่งเศส-สยามปี 2450 (Line 1) กับแนวเส้นเขตแดน (Line 2) ที่ไทยใช้แนวสันปันน้ำเป็นหลักแบ่งเส้นเขตแดนและอ้างสิทธิเหนือพื้นที่สีเขียว
แผนที่ B แสดงที่ตั้งปราสาทพระวิหารและแนวเส้นเขตแดนตามแผนที่ของฝรั่งเศสเมื่อ 100 ปีก่อน (Line 1) กับเส้นเขตแดนที่ไทยกล่าวอ้าง (Line 2) โดยยึดสันปันน้ำ

คณะผู้พิพากษาและตัวแทนทั้งสองฝ่าย[แก้]

ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ กรุงเฮก ระหว่างการพิจารณาคดีเขาพระวิหาร

ผู้พิพากษา[แก้]

ผู้พิพากษามีทั้งหมด 14 ท่าน คะแนนเสียง 9 ต่อ 3 ตัดสินว่าปราสาทเขาพระวิหารอยู่ในอาณาเขตภายใต้อธิปไตยของกัมพูชา และ คะแนนเสียง 7 ต่อ 5 ตัดสินว่า ไทยต้องคืนวัตถุสิ่งประติมากรรม แผ่นศิลา ส่วนปรักหักพังของอนุสาวรีย์รูปหินทราย เครื่องปั้นดินเผาโบราณและปราสาทหรือบริเวณเขาพระวิหารให้แก่กัมพูชา[4]

คณะผู้แทนของประเทศกัมพูชา[4][แก้]

  • ฯพณฯ ตรวง กัง (Truong Cang) : สมาชิกสภาองคมนตรี เป็นตัวแทน
ทนาย
  • ฯพณฯ อุค ชุม (Ouk Chhoim) : อัครราชทูตที่ปรึกษาสถานเอกอัครราชทูตกัมพูชาประจำประเทศฝรั่งเศส
  • ดีน แอจิสัน (Dean Acheson) : เนติบัณฑิตประจำศาลสูงสุดแห่งสหรัฐอเมริกา อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศ สมัยประธาธิบดี ทรูแมน
  • โรเช่ ปินโต (Roger Pinto) : อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยปารีส
  • โปล เรอแตร์ (Paul Reuter) : อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยปารีส
ที่ปรึกษาทางกฎหมาย
ที่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ
  • พันเอก งิน กาเรต (Ngin Karet) : อธิบดีกรมแผนที่ แห่งกองทัพกัมพูชา
เลขาธิการคณะผู้แทน
  • ชาญ ยูรัน (Chan Youran)
รองเลขาธิการคณะผู้แทน
  • เขม สงวน (Chem Snguon)

คณะผู้แทนของประเทศไทย[4][แก้]

คณะผู้แทนฝ่ายไทย ในคดีเขาพระวิหาร
ทนาย
  • หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช: เนติบัณฑิต
  • อังรี โรแลง (Henry Rolin) : ศาสตราจารย์กิตติมศักดิ์ มหาวิทยาลัยบรัสเซลส์ และทนายความประจำศาลอุทธรณ์ กรุงบรัสเซลส์
  • เซอร์ แฟรงก์ ซอสคีส (Sir Frank Soskice) : อดีตแอททอร์นี เยเนราล ในคณะรัฐบาลอังกฤษ
  • เจมส์ เนวินส์ ไฮด์ (James Nevins Hyde) : เนติบัณฑิตแห่งรัฐนิวยอร์ก และทนายความประจำศาลสูงสุดแห่งสหรัฐอเมริกา
  • มาร์เซล สลูสนี (Marcel Slusny) : อาจารย์มหาวิทยาลัยบรัสเซลส์ และทนายความประจำศาลอุทธรณ์ กรุงบรัสเซลส์
  • เจ.จี. เลอ เคนส์ (J. G. Le Quesne) : เนติบัณฑิต
ที่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ
ที่ปรึกษาทางกฎหมาย
  • จาพิกรณ์ เศรษฐบุตร: หัวหน้ากองกฎหมาย กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงต่างประเทศ
  • เดวิด เอส ดาวนส์ (David S. Downs) : ทนายความประจำศาลสูง ประเทศอังกฤษ

ปฏิกิริยา[แก้]

ฝ่ายไทย[แก้]

ตัวอย่างเสียง:
Sarit Dhanarajata's statement on July 4, 1962
"แถลงการณ์ของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ต่อประชาชนชาวไทย เรื่องปราสาทเขาพระวิหาร เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2505"
  • หากไม่ได้ยินเสียง โปรดดูเพิ่มที่ วิกิพีเดีย:วิธีใช้สื่อ
  • ทหารและตำรวจตระเวนชายแดนเชิญเสาธงชาติไทยจากยอดผาเป้ยตาดี 15 กรกฎาคม 2505

    วันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2505 หลังจากศาลโลกตัดสินแล้ว 20 กว่าวัน รัฐบาลไทยโดย ถนัด คอมันตร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้มีหนังสือไปยัง นายอูถั่น เลขาธิการสหประชาชาติ เพื่อประท้วงคำพิพากษาของศาลโลกโดยอ้างว่าคำพิพากษานั้นขัดต่อกฎหมายและความยุติธรรม นอกจากนี้ ยังสงวนสิทธิที่ประเทศไทยจะเรียกร้องปราสาทพระวิหารกลับคืนในอนาคตด้วย

    "ในแถลงการณ์เป็นทางการลงวันที่ 3 กรกฎาคม ค.ศ. 1962 (พ.ศ. 2505) รัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ประกาศต่อประชาชนแสดงความไม่เห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาของศาลที่กล่าวข้างต้น โดยมีเหตุผลว่า ตามความเห็นของรัฐบาล คำพิพากษาขัดต่อข้อกำหนดอันชัดแจ้งของบทที่เกี่ยวเนื่องของสนธิสัญญา ค.ศ. 1904 (พ.ศ. 2447) และ ค.ศ. 1907 (พ.ศ. 2450) และขัดต่อหลักกฎหมาย และความยุติธรรม แต่อย่างไรก็ดีรัฐบาลก็ยังแถลงว่าในฐานะที่เป็นสมาชิกสหประชาชาติรัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะปฏิบัติตามพันธกรณีที่ตนมีอยู่ตามคำพิพากษาดังกล่าว เพื่อปฏิบัติหน้าที่ของตนให้สมบูรณ์ตามข้อ 94 ของกฎบัตร

    ข้าพเจ้าใคร่จะแจ้งให้ท่านทราบว่า ในการตัดสินใจที่จะปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศในคดีเกี่ยวกับปราสาทพระวิหารนั้น รัฐบาล ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ปรารถนาที่จะตั้งข้อสงวนอันชัดแจ้งเกี่ยวกับสิทธิใด ๆ ที่ประเทศไทยมีหรืออาจมีในอนาคต เพื่อเอาปราสาทพระวิหารกลับคืนมา โดยอาศัยกระบวนการกฎหมายที่มีอยู่หรือที่จะพึงนำมาใช้ได้ในภายหลัง และตั้งข้อประท้วงต่อคำพิพากษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ที่ตัดสินให้ปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชา"[6]

    หลังจากนั้น เวลา 12:00 นาฬิกา วันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2505 พลโทประภาส จารุเสถียร ได้คุมทหารและตำรวจตระเวนชายแดนเชิญธงชาติไทยจากหน้าผาเป้ยตาดีลงมาทั้งเสาโดยไม่ชักธงลง และนำไปติดตั้งไว้บริเวณฐานปฏิบัติการ ตชด. ที่ผามออีแดง และทางกัมพูชาก็ส่งเจ้าหน้าที่ขึ้นมาประจำการบนปราสาท

    ฝ่ายกัมพูชา[แก้]

    หลังจากที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศได้ตัดสินให้ปราสาทเขาพระวิหารตกเป็นของกัมพูชา ได้มีการเฉลิมฉลองทั่วทั้งพระราชอาณาจักรกัมพูชา มีการประกาศวันหยุดราชการ และในปี พ.ศ. 2506 สมเด็จเจ้าสีหนุได้เสด็จขึ้นปราสาทพระวิหารเพื่อทำพิธีบวงสรวง ทางสะพานโบราณ (ช่องบันไดหัก) หลังจากที่ทรงทราบว่ากัมพูชาชนะคดีปราสาทพระวิหาร[ต้องการอ้างอิง]

    การตีความคำพิพากษา[แก้]

    เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2554 กัมพูชาได้ยื่นคำร้องต่อศาลโลกเพื่อขอให้ศาลตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหาร พ.ศ. 2505 (เกี่ยวกับพื้นที่บริเวณโดยรอบตัวปราสาทพระวิหาร) และในวันเดียวกันประเทศกัมพูชาได้ยื่นคำร้องต่อศาลโลกเพื่อขอให้ศาลระบุมาตรการคุ้มครองชั่วคราวเพื่อรักษาสิทธิของกัมพูชาอย่างเร่งด่วน [7] เหตุการณ์ดังกล่าวนำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างไทยกับกัมพูชาอีกครั้ง ปัจจุบันคดีดังกล่าวยังอยู่ในระหว่างกระบวนพิจารณาของศาลโลก

    อ้างอิง[แก้]

    1. 1.0 1.1 MISSLING, Sven. A Legal View of the Case of the Temple Preah Vihear In: World Heritage Angkor and Beyond: Circumstances and Implications of UNESCO Listings in Cambodia [online]. Göttingen: Göttingen University Press, 2011 (generated 23 mai 2020). Available on the Internet: <http://books.openedition.org/gup/307>. ISBN 9782821875432.
    2. 2.0 2.1 นิตยสาร สารคดี ปีที่ 24 ฉบับที่ 282 สิงหาคม 2551
    3. 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 3.5 คำพิพากษาจากศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ กรณีเขาพระวิหาร พ.ศ. 2505 (อังกฤษ)
    4. 4.0 4.1 4.2 ความเมืองเรื่องเขาพระวิหาร, ประหยัด ศ.นาคะนาท และ จำรัสดวงธิสาร
    5. "Case concerning the temple of preah vihear" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2014-01-01. สืบค้นเมื่อ 2008-06-24.
    6. บุญร่วม เทียมจันทร์, ไทยแพ้คดีเสียดินแดนให้เขมร, สำนักพิมพ์ อนิเมทกรุ๊ป จำกัด, 2550 ISBN 978-974-09-1683-3
    7. "สำเนาที่เก็บถาวร" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2011-05-16. สืบค้นเมื่อ 2011-05-07.

    แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]