ข้ามไปเนื้อหา

สงครามลวง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ภาพโปสเตอร์ถูกพบเห็นได้ทั่วไปในอังกฤษระหว่าง "สงครามลวง"

สงครามลวง เป็นช่วงเวลาแปดเดือนแรกของสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งยังไม่มีการรบใหญ่ในแนวรบด้านตะวันตก

ภายหลังกองทัพเยอรมันบุกเข้าโปแลนด์ในวันที่ 1 กันยายน 1939 สหราชอาณาจักรและฝรั่งเศสก็ประกาศสงครามต่อเยอรมนี อย่างไรก็ตาม ขณะที่กองทัพเยอรมันส่วนใหญ่ยังติดพันการรบอยู่ในโปแลนด์ สหราชอาณาจักรและฝรั่งเศสกลับไม่กล้าทำปฏิบัติการทางทหารใดต่อเยอรมนี มีเพียงการปะทะประปรายบริเวณชายแดนและการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อเยอรมนี แม้มีข้อตกลงพันธมิตรทางการทหารอังกฤษ-โปแลนด์ และพันธมิตรทางการทหารฝรั่งเศส-โปแลนด์ ซึ่งผูกมัดให้ทั้งสองประเทศเข้าช่วยเหลือโปแลนด์

แนวรบด้านตะวันตกนั้นค่อนข้างสงบเป็นเวลากว่าเจ็ดเดือน แต่ว่าเยอรมนีก็สามารถครอบครองดินแดนจำนวนมากของยุโรปไปเสียแล้ว กองทัพสัมพันธมิตรรีบเสริมกำลังทันที โดยการซื้ออาวุธจากสหรัฐและวัตถุดิบเพื่อป้อนเข้าสู่โรงงานอุตสาหกรรม สหรัฐให้สิทธิพิเศษแก่อังกฤษและฝรั่งเศสที่จะซื้อสินค้าในราคาถูกลง และต่อมาก็ได้ให้เช่า-ยืม แต่ก็ยังปรากฎว่ามีบริษัทเอกชนบางแห่งของสหรัฐและอังกฤษที่ให้ความสนับสนุนเยอรมนีโดยปราศจากการเห็นชอบและการลงโทษจากภาครัฐ[1] โรงงานบางแห่งในอังกฤษยังคงผลิตเครื่องยนต์ให้แก่เครื่องบินรบเยอรมัน[2] บริษัทเอกชนอเมริกาขายวัตถุดิบทางอุตสาหกรรมแก่เยอรมนี[3] [4] ด้วยเหตุที่สหรัฐมีการป้อนสินค้ามหาศาลเข้าสู่สหราชอาณาจักร เยอรมนีจึงพยายามที่ขัดขวางการค้าขายข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก และก่อให้เกิดยุทธนาวีมหาสมุทรแอตแลนติก

สงครามลวงสิ้นสุดในวันที่ 10 พฤษภาคม 1940 เมื่อกองทัพเยอรมันบุกเข้าประเทศฝรั่งเศสและกลุ่มประเทศแผ่นดินต่ำ

ชื่อเรียก

[แก้]
  • ชาวอังกฤษทั่วไป เรียก "Funny War" หรือ "สงครามขบขัน" บ้างก็เรียก "Bore War" ซึ่งเป็นการเล่นคำจากเดิมคือ "Boer War"
  • วินสตัน เชอร์ชิลล์ เรียกว่า "Twilight War" หรือ "สงครามคลุมเครือ"
  • ชาวเยอรมัน เรียกว่า "Sitzkrieg" หรือ "สงครามนั่งรอ"[5] บ้างก็เรียก "komischer Krieg" หมายความว่า "สงครามขบขัน" หรือ "สงครามประหลาด"
  • ชาวฝรั่งเศส เรียกว่า "drôle de guerre" หรือ "สงครามประหลาด"
  • ชาวอิตาลี เรียกว่า "guerra fittizia" บ้างก็เรียก "finta guerra" หมายความว่า "สงครามปลอม" และ "สงครามเท็จ" ตามลำดับ
  • ชาวโปแลนด์ เรียกว่า "dziwna wojna" หรือ "สงครามประหลาด"

การรุกซาร์ลันท์

[แก้]

ในเดือนกันยายน 1939 กำลังทหารฝรั่งเศสได้ล้ำพื้นที่ซาร์ลันท์เข้าไปลึก 3 ไมล์ก่อนที่จะถอนตัวออกมา ในการรุกครั้งดังกล่าว กองทัพฝรั่งเศสมีกำลังพลกว่า 98 กองพลและยานเกราะกว่า 2,500 คัน แต่ว่ากำลังทหารเยอรมันมีทหารเพียง 43 กองพลและปราศจากการสนับสนุนด้วยยานเกราะ

สงครามฤดูหนาว

[แก้]

เหตุการณ์สำคัญหนึ่งในสงครามลวงก็คือ สงครามฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่สหภาพโซเวียตโจมตีฟินแลนด์เมื่อวันที่ 30 กันยายน 1939 ประชาชนส่วนใหญ่ของอังกฤษและฝรั่งเศสนั้นมีความเห็นเข้าข้างฟินแลนด์ และเรียกร้องให้รัฐบาลทั้งสองร่วมกันช่วยเหลือฟินแลนด์ แต่ว่ากองทัพฟินแลนด์ก็สามารถยันทัพโซเวียตได้ สหภาพโซเวียตนั้นก็ถอนตัวออกจากสันนิบาตชาติ แผนการส่งทหารของอังกฤษและฝรั่งเศสเข้าไปช่วยเหลือฟินแลนด์นั้นได้ถูกคัดค้านอย่างหนัก กองทัพอังกฤษนั้นได้ประชุมก่อนที่จะส่งไปช่วยเหลือฟินแลนด์ ทว่าก็มิได้ส่งไปก่อนที่สงครามฤดูหนาวจะสิ้นสุดลง แต่กลับส่งไปช่วยเหลือนอร์เวย์ในการทัพนอร์เวย์แทน เมื่อวันที่ 20 มีนาคม หลังจากสงครามฤดูหนาวยุติ นายกรัฐมนตรีฝรั่งเศสก็ขอลาออก เนื่องจากประสบความล้มเหลวที่จะส่งความช่วยเหลือไปยังฟินแลนด์

การทัพนอร์เวย์

[แก้]

มีการประชุมของฝ่ายสัมพันธมิตรว่าจะส่งกองทัพไปยังสแกนดิเนเวียตอนเหนือ แต่ยังมิได้รับการยินยอมจากประเทศเป็นกลางเหล่านั้น และเหตุการณ์อัทมาร์กในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ได้ส่งสัญญาณเตือนแก่กองทัพเรือเยอรมันและประเทศเยอรมนี เนื่องจากต้องการที่จะคุกคามแหล่งโลหะและสินแร่ และสามารถยึดครองพื้นที่แถบชายฝั่งนอร์เวย์ เยอรมนีได้โจมตีเดนมาร์กและนอร์เวย์ในปฏิบัติการเวเซอร์อือบุง เริ่มตั้งแต่วันที่ 9 เมษายน ต่อมาระหว่างวันที่ 12-15 เมษายน กองทัพสัมพันธมิตรได้ขึ้นบกที่นอร์เวย์ แต่ว่าภายในสองสัปดาห์ นอร์เวย์ส่วนใหญ่ก็ตกอยู่ในมือของเยอรมัน กองทัพสัมพันธมิตรที่เหลือได้ถอนตัวออกจากนอร์เวย์

การเปลี่ยนรัฐบาลของอังกฤษ

[แก้]

ความล้มเหลวของการทัพของฝ่ายสัมพันธมิตรในนอร์เวย์ นั้นเป็นผลมาจากแผนการที่เพ้อฝันที่จะช่วยเหลือฟินแลนด์ ได้ก่อให้เกิดการโต้เถียงที่มีชื่อเสียงในสภาสามัญ นายกรัฐมนตรีเนวิล เชมเบอร์ลินถูกโจมตีอย่างหนัก ตามตัวเลขแล้วผลจากการลงมติไว้วางใจในคณะรัฐบาลของเขานั้นชนะไปด้วยเสียง 281 ต่อ 200 เสียง แต่ว่าผู้สนับสนุนเขาจำนวนมากได้ลงมติไม่ไว้วางใจเขา ขณะที่อีกส่วนหนึ่งไม่ออกเสียง นายเชมเบอร์ลินผู้อับอายนั้นพบว่าเป็นไปไม่ได้ที่เขาจะนำพาพรรคชาตินิยมของเขาต่อไป ในวันที่ 10 พฤษภาคม เขาก็สละตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคอนุรักษนิยม พระเจ้าจอร์จที่ 6 ทรงเลือกวินสตัน เชอร์ชิลล์ ผู้ซึ่งมีแนวคิดขัดแย้งกับนโยบายเอาใจเยอรมนีของนายเชมเบอร์ลินอย่างสิ้นเชิง ขึ้นเป็นผู้สำเร็จราชการแทน นายเชอร์ชิลล์นั้นต่อมาได้ตั้งรัฐบาลผสมอันประกอบด้วยพรรคอนุรักษนิยม พรรคแรงงานและพรรคเสรีนิยม และรัฐมนตรีหลายตำแหน่งที่ไม่ได้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมาก่อน

ในวันเดียวกันนี้เอง กองทัพเยอรมันเคลื่อนพลสู่เบลเยียม เนเธอร์แลนด์ ลักซ์เซมเบิร์ก และฝรั่งเศส เป็นอันว่าสงครามลวงได้สิ้นสุดลงอย่างสมบูรณ์

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. "How the Allied multinationals supplied Nazi Germany throughout World War II". libcom.org. สืบค้นเมื่อ 2008-06-02.
  2. "Early Luftwaffe Fighter using Rolls-Royce Engines". Pilotfriend.com. สืบค้นเมื่อ 2008-06-02.
  3. "The DuPont Company". Press for Conversion. สืบค้นเมื่อ 2008-06-02.
  4. Higham, Charles: "Trading with the Enemy: An Expose of the Nazi-American Money Plot 1933-1949", Delacorte Press, 1983, ISBN 0-440-09064-4
  5. ::The Phoney War::

ดูเพิ่ม

[แก้]