การยอมจำนนของญี่ปุ่น

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

มาโมรุ ชิเงมิตสึ รัฐมนตรีต่างประเทศของญี่ปุ่น ลงนามตราสารยอมจำนนของญี่ปุ่น บนเรือยูเอสเอส มิสซูรี ขณะที่พลเอก ริชาร์ด เค. ซูเธอร์แลนด์ มองจากฝั่งตรงข้าม
ผู้แทนจักรวรรดิญี่ปุ่นบนเรือยูเอสเอส มิสซูรี ก่อนการลงนามตราสารยอมจำนน

จักรพรรดิฮิโรฮิโตะประกาศการยอมจำนนของจักรวรรดิญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่สองเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม และลงนามอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 2 กันยายน ค.ศ. 1945 นำไปสู่การสิ้นสุดของความเป็นศัตรูระหว่างกันในสงคราม จวบจนถึงปลายเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1945 กองทัพเรือจักรวรรดิญี่ปุ่น หมดสมรรถภาพในการออกปฏิบัติการขนาดใหญ่ได้ และการรุกรานญี่ปุ่นของฝ่ายสัมพันธมิตรนั้นใกล้เข้ามามากยิ่งขึ้น สหรัฐพร้อมด้วยสหราชอาณาจักรและจีนได้เรียกร้องให้กองกำลังทหารญี่ปุ่นยอมจำนนโดยไม่มีเงื่อนไขในปฏิญญาพ็อทซ์ดัมเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม ค.ศ. 1945 หากญี่ปุ่นไม่ปฏิบัติตามอาจต้องเผชิญกับ "การทำลายล้างอย่างฉับพลันและเด็ดขาด" อย่างไรก็ตาม เหล่าผู้นำญี่ปุ่น (สภาบัญชาการสงครามสูงสุด หรือที่รู้จักกันในชื่อ "บิกซิกส์") ยืนยันเจตจำนงต่อสาธารณะว่าจะสู้รบต่อไปไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ในเวลาเดียวกันได้ร้องขอสหภาพโซเวียตซึ่งวางตัวเป็นกลางให้เป็นผู้ไกล่เกลี่ยสันติภาพบนเงื่อนไขที่ญี่ปุ่นจะได้รับประโยชน์มากกว่า ขณะที่พยายามรักษาระดับความสัมพันธ์ทางการทูตกับญี่ปุ่นและเพื่อทำให้ญี่ปุ่นเชื่อว่าจะช่วยไกล่เกลี่ย สหภาพโซเวียตได้เตรียมโจมตีกองทัพญี่ปุ่นในแมนจูเรียและเกาหลี (นอกเหนือจากซาฮาลินตอนใต้และหมู่เกาะคูริล) ตามคำมั่นต่อสหรัฐและสหราชอาณาจักรที่ให้ไว้อย่างลับ ๆ ในการประชุมเตหะรานและยัลตา

วันที่ 6 สิงหาคม ค.ศ. 1945 เวลา 8:15 น. (ตามเวลาท้องถิ่น) สหรัฐทิ้งระเบิดปรมาณูที่เมืองฮิโรชิมะ 16 ชั่วโมงต่อมา ประธานาธิบดีสหรัฐ แฮร์รี เอส. ทรูแมน เรียกร้องให้ญี่ปุ่นยอมจำนนอีกครั้ง โดยเตือนว่า "ให้เตรียมรับมือกับความวิปโยคดั่งสายฝนที่ตกลงมาจากฟากฟ้าในแบบที่ไม่เคยเห็นมาก่อนบนโลกนี้" ช่วงเย็นของวันที่ 8 สิงหาคม ค.ศ. 1945 เพื่อให้เป็นไปตามความตกลงยัลตาแต่จะเป็นการละเมิดกติกาสัญญาความเป็นกลางโซเวียต–ญี่ปุ่น สหภาพโซเวียตประกาศสงครามต่อญี่ปุ่น และไม่นานหลังเที่ยงคืนของวันที่ 9 สิงหาคม ค.ศ. 1945 สหภาพโซเวียตรุกรานรัฐหุ่นเชิดแมนจูเรียของจักรวรรดิญี่ปุ่น และไม่กี่ชั่วโมงต่อมา สหรัฐทิ้งระเบิดปรมาณูลูกที่สองที่เมืองนางาซากิ จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมดนี้ จักรพรรดิฮิโรฮิโตะทรงเข้าแทรกแซงและมีพระบัญชาให้สภาบัญชาการสงครามยอมรับเงื่อนไขที่ฝ่ายสัมพันธมิตรเสนอในปฏิญญาพ็อทซ์ดัมเป็นการสิ้นสุดสงคราม หลังจากการเจรจาหลังฉากหลายวันและรัฐประหารที่ล้มเหลว จักรพรรดิฮิโรฮิโตะพระราชทานพระราชดำรัสทางวิทยุทั่วจักรวรรดิเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม ประกาศการยอมจำนนของญี่ปุ่นต่อฝ่ายสัมพันธมิตร

เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม การยึดครองญี่ปุ่นโดยผู้บัญชาการสูงสุดของฝ่ายสัมพันธมิตรเริ่มต้นขึ้น พิธียอมจำนนจัดขึ้นเมื่อวันที่ 2 กันยายนบนเรือรบของกองทัพเรือสหรัฐ ยูเอสเอส มิสซูรี ที่ซึ่งรัฐบาลญี่ปุ่นลงนามตราสารยอมจำนนเป็นอันสิ้นสุดของความเป็นศัตรูระหว่างกัน พลเรือนและบุคลากรทหารของฝ่ายสัมพันธมิตรต่างร่วมเฉลิมฉลองวันชัยเหนือญี่ปุ่นซึ่งเป็นวันที่สงครามยุติลง อย่างไรก็ตาม ทหารและกำลังพลที่ถูกโดดเดี่ยวในพื้นที่ห่างไกลของจักรวรรดิญี่ปุ่นทั่วทวีปเอเชียและแปซิฟิกปฏิเสธที่จะยอมจำนนเป็นเวลาหลายเดือนและหลายปีหลังจากนั้น บางส่วนยังคงปฏิเสธอยู่จนถึงคริสต์ทศวรรษ 1970 บทบาทของการทิ้งระเบิดปรมาณูที่มีต่อการยอมจำนนโดยไม่มีเงื่อนไขของญี่ปุ่นและจริยธรรมของการโจมตีทั้งสองครั้งยังคงเป็นที่ถกเถียง สถานะสงครามสิ้นสุดลงอย่างเป็นทางการเมื่อสนธิสัญญาซานฟรานซิสโกมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 28 เมษายน ค.ศ. 1952 และเมื่อญี่ปุ่นและสหภาพโซเวียตลงนามปฏิญญาร่วมโซเวียต–ญี่ปุ่น ค.ศ. 1956 ซึ่งยุติสถานะสงครามระหว่างสองประเทศอย่างเป็นทางการอีกสี่ปีให้หลัง

ภูมิหลัง[แก้]

การยกพลของฝ่ายสัมพันธมิตรในเขตสงครามยุทธการแปซิฟิก เดือนสิงหาคม ค.ศ. 1942 ถึงเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1945

จวบจนถึง ค.ศ. 1945 ญี่ปุ่นพ่ายแพ้ในปฏิบัติการทางทหารต่อเนื่องยาวนานเกือบสองปีในแปซิฟิกตะวันตกเฉียงใต้, อินเดีย, การทัพมาเรียนา และการทัพฟิลิปปินส์ ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1944 หลังการสูญเสียเกาะไซปัน พลเอก คูนิอากิ โคอิโซะ ซึ่งประกาศว่าฟิลิปปินส์จะต้องเป็นสมรภูมิรบชี้ขาด ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทน พลเอก ฮิเดกิ โทโจ[1] หลังจากญี่ปุ่นสูญเสียฟิลิปปินส์ไป พลเรือเอก คันตาโร ซูซูกิ ขึ้นแทนที่โคอิโซะ ฝ่ายสัมพันธมิตรยึดเกาะใกล้เคียงอย่างเกาะอิโวะจิมะและโอกินาวะในช่วงครึ่งปีแรกของ ค.ศ. 1945 มีการวางแผนให้โอกินาวะเป็นพื้นที่ระดมทรัพยากรทางทหาร (staging area) สำหรับปฏิบัติการดาวน์ฟอลซึ่งเป็นแผนการรุกรานเกาะแผ่นดินใหญ่โดยฝ่ายสัมพันธมิตร[2] หลังความพ่ายแพ้ของเยอรมนี สหภาพโซเวียตเริ่มส่งกองกำลังรบที่เกรียงไกรอย่างเงียบ ๆ อีกครั้งจากเขตสงครามยุโรปไปยังตะวันออกไกลเพื่อสนับสนุนกองพลราว 40 กองที่ประจำอยู่ที่นั่นตั้งแต่ ค.ศ. 1941 เพื่อถ่วงดุลกองทัพกวันตงที่มีกำลังมหาศาล[3]

การทัพเรือดำน้ำของฝ่ายสัมพันธมิตรและการวางทุ่นระเบิดใต้น้ำบนน่านน้ำชายฝั่งญี่ปุ่นส่งผลให้เรือพาณิชย์ญี่ปุ่นหลายลำถูกทำลาย ญี่ปุ่นซึ่งมีทรัพยากรธรรมชาติน้อย จึงต้องพึ่งพาวัตถุดิบโดยเฉพาะอย่างยิ่งน้ำมันจากการนำเข้าจากแมนจูเรียและส่วนอื่น ๆ ของเอเชียตะวันออกแผ่นดินใหญ่ และจากดินแดนที่พิชิตได้ในหมู่เกาะอินเดียตะวันออกของเนเธอร์แลนด์[4] เรือพาณิชย์ญี่ปุ่นที่ได้รับผลกระทบจากทุ่นระเบิดประกอบกับการทิ้งระเบิดเชิงยุทธศาสตร์ที่อุตสาหกรรมญี่ปุ่นสร้างความสูญเสียครั้งใหญ่ต่อเศรษฐกิจสงครามของญี่ปุ่น การผลิตถ่านหิน, เหล็ก, เหล็กกล้า, ยาง และวัสดุอื่น ๆ ที่สำคัญเป็นเพียงเศษเสี้ยวของความเสียหายทางเศรษฐกิจสงครามญี่ปุ่นก่อนหน้าสงครามเท่านั้น[5][6]

เรือลาดตระเวนประจัญบานสร้างใหม่ ฮารูนะ อำปางลงที่ท่ายึดเรือในฐานทัพเรือเมืองคูเระเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม หลังการทิ้งระเบิดอย่างต่อเนื่อง

ผลพวงจากความสูญเสียที่เกิดขึ้น กองทัพเรือจักรวรรดิญี่ปุ่นยุติความพยายามที่จะเป็นกองกำลังต่อสู้ที่แข็งแรง หลังการโจมตีต่อเนื่องที่อู่ต่อเรือญี่ปุ่นที่คูเระ เรือรบขนาดใหญ่ที่ยังคงสามารถพอใช้ออกปฏิบัติการได้มีเรือบรรทุกอากาศยาน 6 ลำ, เรือลาดตระเวน 4 ลำ และเรือประจัญบาน 1 ลำ ซึ่งส่วนใหญ่ได้รับความเสียหายอย่างหนักและไม่มีลำไหนที่สามารถเติมน้ำมันให้เต็มได้ อย่างไรก็ตาม เรือพิฆาต 19 ลำ และเรือดำน้ำ 38 ลำ ยังคงสามารถใช้การได้อย่างจำกัดด้วยเหตุน้ำมันไม่พอใช้[7][8]

การเตรียมรับมือป้องกัน[แก้]

โดยต้องเผชิญหน้ากับภัยการรุกรานเกาะแผ่นดินใหญ่ที่เริ่มจากคีวชู และภัยการรุกรานแมนจูเรียซึ่งเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติของญี่ปุ่นแหล่งสุดท้ายโดยโซเวียต ใน ค.ศ. 1944 วารสารการสงครามของกองบัญชาการกลางจักรวรรดิสรุปไว้ว่า:

พวกเราไม่สามารถบัญชาการสงครามได้ด้วยความหวังว่าจะได้รับชัยชนะอีกต่อไป หนทางเดียวที่เหลืออยู่เพื่อประชาชนชาวญี่ปุ่นหนึ่งร้อยล้านคน คือการยอมสละชีวิตของตนโดยการพุ่งโจมตีข้าศึกไม่ให้พวกเขามีแรงฮึดขึ้นสู้อีก[9]

กองบัญชาการสูงสุดจักรวรรดิญี่ปุ่นวางแผนการป้องกันคีวชูอย่างสุดกำลังเพื่อเป็นความพยายามครั้งสุดท้ายในการยับยั้งการรุกคืบของฝ่ายสัมพันธมิตรโดยใช้รหัสชื่อ "ปฏิบัติการเค็ตสึโง"[10] ปฏิบัติการดังกล่าวเป็นการพลิกเปลี่ยนการใช้ยุทธวิธีการตั้งรับทางลึก (defense-in-depth) ที่เคยใช้ในการรุกรานปาเลลิว, อิโวะจิมะ และโอกินาวะ และหันมามุ่งเน้นการยึดหัวหาด (beachhead) โดยจะมีการส่งเครื่องบินรบคามิกาเซะมากกว่า 3,000 ลำ ไปโจมตีการขนส่งสะเทินน้ำสะเทินบกก่อนที่กำลังทหารและสินค้าบรรทุกจะขึ้นฝั่งที่ชายหาด[8]

หากแผนดังกล่าวไม่สามารถขับไล่ฝ่ายสัมพันธมิตรได้ กองบัญชาการวางแผนที่จะส่งเครื่องบินรบคามิกาเซะอีก 3,500 ลำ ร่วมด้วยเรือยนต์พลีชีพชินโย 5,000 ลำ อีกทั้งเรือพิฆาตและเรือดำน้ำที่คงเหลืออยู่ซึ่งเป็น "กองเรือสุดท้ายของกองทัพเรือที่ยังคงใช้ปฏิบัติการได้" ไปยังชายหาด หากฝ่ายสัมพันธมิตรสามารถต่อสู้จนผ่านและสามารถขึ้นฝั่งคีวชูได้ จะมีการส่งเครื่องบินรบ 3,000 ลำเพื่อป้องกันเกาะต่าง ๆ ที่ยังคงเหลืออยู่ ในขณะที่คีวชูจะคงมีการ "ปกป้องอย่างถึงที่สุด" ไม่ว่าจะด้วยเหตุใด[8] ยุทธศาสตร์การรบจนตัวตาย (last stand) ที่คีวชูนั้นเกิดขึ้นจากความกังวลเรื่องการคงสถานะความเป็นกลางของโซเวียต[11]

สภาบัญชาการสงครามสูงสุด[แก้]

การออกนโยบายของญี่ปุ่นมีศูนย์กลางอยู่ที่สภาบัญชาการสงครามสูงสุด (ก่อตั้งใน ค.ศ. 1944 โดยนายกรัฐมนตรีก่อนหน้า คูนิอากิ โคอิโซะ) ประกอบด้วยกลุ่มบุคคลที่เรียกกันว่า "บิกซิกส์" (Big Six) ได้แก่ นายกรัฐมนตรี, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทหารบก, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทหารเรือ, ผู้บัญชาการเสนาธิการทหารบก และผู้บัญชาการเสนาธิการทหารเรือ[12] ณ วันที่มีการแต่งตั้งรัฐบาลซูซูกิในเดือนเมษายน ค.ศ. 1945 สภามีสมาชิกดังต่อไปนี้:

คณะรัฐมนตรีซูซูกิในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1945

ขนบธรรมเนียมทางรัฐธรรมนูญที่เข้มงวด (ซึ่งยังคงปฏิบัติโดยพฤตินัยจนถึงปัจจุบัน) ทำให้นายกรัฐมนตรีที่คาดว่าจะได้ขึ้นดำรงตำแหน่ง รวมถึงนายกรัฐมนตรีที่ยังอยู่ในวาระ ไม่สามารถดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้หากมีตำแหน่งรัฐมนตรีเว้นว่างอยู่ ด้วยเหตุนี้ รัฐมนตรีทหารบก และรัฐมนตรีทหารเรือสามารถยับยั้งการจัดตั้งรัฐบาลที่ไม่พึงปรารถนา หรือโดยการลาออกจากตำแหน่งจะนำไปสู่การล่มของรัฐบาลปัจจุบันได้เช่นกัน[13][14]

จักรพรรดิฮิโรฮิโตะและผู้รักษาพระราชลัญจกร โคอิจิ คิโดะ เข้าร่วมประชุมของสภาเป็นครั้งคราวตามพระราชประสงค์ของพระองค์[15] ไอริส แชง ได้รายงานว่า "ก่อนพลเอกแมกอาเธอร์จะมาถึง ญี่ปุ่นตั้งใจทำลาย ซ่อนเร้น หรือปลอมแปลงรายงานลับในช่วงสงครามส่วนใหญ่ให้เป็นเท็จ"[16][17]

ความแตกแยกของเหล่าผู้นำญี่ปุ่น[แก้]

ส่วนใหญ่ตลอดสงครามนั้น คณะรัฐมนตรีของซูซูกิที่มีทหารเป็นใหญ่สนับสนุนให้ทำสงครามต่อ สำหรับชาวญี่ปุ่น การยอมแพ้เป็นสิ่งที่ไม่เคยคาดคิดมาก่อน เพราะไม่เคยมีผู้ใดสามารถรุกรานญี่ปุ่นได้สำเร็จ หรือญี่ปุ่นไม่เคยรบแพ้ในสงครามใดในประวัติศาสตร์[18] มีเพียงแต่ มิตสึมาซะ โยไน รัฐมนตรีทหารเรือ ต้องการให้สงครามสิ้นสุดลงเร็วขึ้น[19] ริชาร์ด บี. แฟรงก์ นักประวัติศาสตร์ ระบุว่า:

แม้ซูซูกิอาจมองว่าสันติภาพเป็นเป้าหมายที่ดูห่างไกลก็จริง แต่เขาไม่มีความตั้งใจที่จะบรรลุเป้าหมายนั้นในช่วงระยะเวลาอันใกล้ หรือบนเงื่อนไขที่ฝ่ายสัมพันธมิตรจะยอมรับได้ ความเห็นของเขาในที่ประชุมรัฐบุรุษอาวุโสนั้นไม่มีข้อบ่งชี้ใด ๆ ว่าเขาสนับสนุนการยุติสงคราม ... การเลือกบุคคลที่จะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีที่มีความสำคัญยิ่งของซูซูกิก็ไม่ได้เป็นผู้สนับสนุนสันติภาพแต่อย่างใด ยกเว้นเพียงบุคคลเดียว (ในคณะรัฐมนตรีของเขาที่เป็นผู้สนับสนุนสันติภาพ)[20]

ภายหลังสงคราม ซูซูกิ และคนอื่น ๆ ในรัฐบาลของเขา รวมถึงผู้แก้ต่างอ้างว่าพวกเขาได้ทำงานอย่างลับ ๆ เพื่อสันติภาพ และไม่สามารถสนับสนุนการทำงานดังกล่าวได้อย่างเปิดเผย พวกเขากล่าวถึงแนวคิดแบบญี่ปุ่นที่เรียกว่าฮาราเง "ศิลปะแห่งการซ้อนเร่นและกลวิธีที่มองไม่เห็น" เพื่ออ้างความชอบธรรมในความไม่สอดคล้องกันระหว่างการกระทำที่แสดงออกสู่สาธารณชน และการทำงานฉากหลังที่ถูกกล่าวหา อย่างไรก็ตาม นักประวัติศาสตร์หลายคนปฏิเสธสิ่งนี้ รอเบิร์ต เจ. ซี. บูโทว์ เขียนว่า:

ด้วยความคลุมเครืออย่างยิ่ง คำแก้ตัวโดยการอ้างถึงหลักฮาราเง สร้างความสงสัยว่าในประเด็นด้านการเมืองและการทูตนั้น ความมีสติสัมปชัญญะในการเลือกใช้ 'ศิลปะแห่งการเกทับกัน' อาจเป็นเล่ห์เพทุบายที่มีเป้าหมายแฝงตั้งใจเสี้ยมเขาควายให้ชนกัน (play both ends against the middle) แม้การตัดสินใจในครั้งนี้ขัดต่ออุปนิสัยของพลเรือเอกซูซูกิที่ได้รับการสรรเสริญเยินยอ แต่ข้อเท็จจริงยังคงปรากฏว่าตั้งแต่การที่เขาขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีจนถึงวันที่เขาลาออกจากตำแหน่ง ไม่มีใครสามารถมั่นใจได้เลยว่าซูซูกิจะทำหรือจะพูดสิ่งใดต่อไป[21]

เหล่าผู้นำญี่ปุ่นนึกถึงการเจรจายุติสงครามมาโดยตลอด การวางแผนช่วงก่อนสงครามคาดไว้ว่า ญี่ปุ่นจะแผ่ขยายอำนาจและแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว จะเกิดความขัดแย้งกับสหรัฐในที่สุด แต่ยังสามารถระงับข้อพิพาทได้โดยที่ญี่ปุ่นจะยังครองดินแดนใหม่ ๆ ที่สามารถพิชิตมาได้เป็นอย่างน้อย[22] จวบจนถึง ค.ศ. 1945 เหล่าผู้นำญี่ปุ่นตกลงว่าสงครามเป็นไปไม่สู้ดีนัก แต่พวกเขาไม่เห็นด้วยกับวิธีการพูดคุยเจรจาเพื่อยุติสงคราม เกิดการแบ่งออกเป็นสองฝ่าย: ฝ่ายที่เรียกกันว่า "สันติภาพ" สนับสนุนการริเริ่มทางการทูตเพื่อโน้มน้าว โจเซฟ สตาลิน ผู้นำแห่งสหภาพโซเวียต ให้เป็นผู้ไกล่เกลี่ยในการเจรจาระหว่างฝ่ายสัมพันธมิตรและญี่ปุ่น ขณะที่อีกฝ่ายคือผู้ที่ยึดมั่นในการต่อสู้ "ชี้ขาด" ที่สมรภูมิรบสุดท้ายอันจะก่อให้เกิดความเสียหายเป็นวงกว้างแก่ฝ่ายสัมพันธมิตรจนพวกเขาจะยื่นข้อเสนอที่ปรานีกว่านี้ให้[1] แนวทางทั้งสองเกิดจากประสบการณ์ในอดีตของญี่ปุ่นในสงครามรัสเซีย–ญี่ปุ่นเมื่อ 40 ปีก่อน ซึ่งใช้งบประมาณมหาศาลแต่ส่วนใหญ่จบลงด้วยการรบที่ไม่ชี้ขาด ตามด้วยชัยชนะเด็ดขาดในยุทธนาวีที่ช่องแคบสึชิมะ[23]

พลเรือเอก คันตาโร ซูซูกิ เป็นผู้นำรัฐบาลญี่ปุ่นในฐานะนายกรัฐมนตรีในช่วงหลายเดือนสุดท้ายก่อนสงครามสิ้นสุดลง

ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1945 เจ้าชายฟูมิมาโระ โคโนเอะ ประทานบันทึกวิเคราะห์เหตุการณ์แด่จักรพรรดิฮิโรฮิโตะ และบอกพระองค์ว่าหากสงครามยังคงต่อเนื่องไป ราชวงศ์จะตกอยู่ในภยันตรายจากการปฏิวัติภายในประเทศมากกว่าภยันตรายจากความปราชัยสงคราม[24] สมุดบันทึกของ ฮิซาโนริ ฟูจิตะ จางวางหลวง ชี้ให้เห็นว่า จักรพรรดิฮิโรฮิโตะทรงแสดงพระราชประสงค์ที่จะให้เกิดสงครามชี้ขาด (เท็นโนซัง) โดยตอบกลับว่ายังเร็วเกินไปที่จะแสวงหาสันติภาพ "เว้นเสียแต่ว่าเราได้ชัยชนะในสงครามอีกครั้ง"[25] นอกจากนี้ ในเดือนกุมภาพันธ์ กองสนธิสัญญาของญี่ปุ่นเขียนรายงานเกี่ยวกับนโยบายของฝ่ายสัมพันธมิตรต่อญี่ปุ่นว่าด้วยเรื่อง "การยอมจำนนโดยไม่มีเงื่อนไข, การยึดครอง, การปลดอาวุธ, การกำจัดซึ่งแสนยนิยม (militarism), การปฏิรูปประชาธิปไตย, การลงโทษอาชญากรสงคราม และพระราชฐานะของจักรพรรดิ"[26] การที่ฝ่ายสัมพันธมิตรกำหนดให้มีการปลดอาวุธและการลงโทษอาชญากรสงครามญี่ปุ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้ยึดครองและการล้มล้างจักรพรรดินั้นเป็นสิ่งที่เหล่าผู้นำญี่ปุ่นไม่สามารถรับได้[27][28]

เมื่อวันที่ 5 เมษายน สหภาพโซเวียตแจ้งว่าจะไม่ต่ออายุกติกาสัญญาความเป็นกลางโซเวียต–ญี่ปุ่นที่มีผลห้าปีล่วงหน้า 12 เดือน ตามที่กติกากำหนดไว้[29] (ซึ่งลงนามใน ค.ศ. 1941 หลังอุบัติการณ์โนมงฮัง)[30] ที่การประชุมเตหะรานในเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนธันวาคม ค.ศ. 1943 มีการตกลงโดยที่ญี่ปุ่นไม่รู้ว่าสหภาพโซเวียตจะเข้าร่วมสงครามต่อต้านญี่ปุ่นหากเยอรมนีพ่ายแพ้ ที่การประชุมยัลตาในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1945 สหรัฐได้ประนอมหลายสิ่งให้แก่โซเวียตเพื่อทำให้มั่นใจว่าพวกเขาปฏิบัติตามสัญญาว่าจะประกาศสงครามต่อญี่ปุ่นภายในระยะเวลาสามเดือนหลังการยอมจำนนของเยอรมนี แม้กติกาสัญญาความเป็นกลางห้าปีจะไม่หมดอายุจนกว่าจะถึงวันที่ 5 เมษายน ค.ศ. 1946 "การประกาศ" ของโซเวียตสร้างความกังวลแก่ญี่ปุ่นเป็นอย่างมาก เพราะญี่ปุ่นได้ระดมพลไปทางใต้เพื่อต้านทานการโจมตีของสหรัฐที่หลีกเลี่ยงไม่ได้แล้ว ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เกาะทางตอนเหนือของประเทศเกิดความเปราะบางต่อการรุกรานของโซเวียต[31][32] รัฐมนตรีการต่างประเทศ วยาเชสลาฟ โมโลตอฟ ในมอสโก และ ยาคอฟ มาลิค เอกอัครราชทูตโซเวียตประจำโตเกียว ได้พยายามอย่างหนักเพื่อทำให้ญี่ปุ่นมั่นใจว่า "ระยะเวลาการใช้บังคับของกติกาสัญญายังไม่สิ้นสุด"[33]

รัฐมนตรีการต่างประเทศ ชิเงโนริ โทโง

ที่การประชุมระดับสูงติดต่อกันหลายครั้งในเดือนพฤษภาคม แม้ตอนแรกบิกซิกซ์หารือการยุติสงครามอย่างจริงจัง แต่ไม่มีเงื่อนไขใดที่ฝ่ายสัมพันธมิตรน่าจะยอมรับได้ เพราะบุคคลใดที่สนับสนุนการยอมจำนนของญี่ปุ่นอย่างเปิดเผยนั้นมีความเสี่ยงที่จะถูกลอบสังหารโดยเจ้าหน้าที่ทหารไฟแรง จึงประชุมกันแบบปิด แต่ยกเว้นให้จักรพรรดิและผู้รักษาพระราชลัญจกรสามารถเข้าร่วมการประชุมพร้อมกับบิกซิกซ์ได้ ขณะที่เจ้าหน้าที่ทหารระดับสองหรือสามไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าร่วม[34] ในการประชุมเหล่านี้ แม้จะมีหนังสือมาจากซาโต เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำมอสโก มีเพียงโทโง รัฐมนตรีการต่างประเทศที่ตระหนักได้ว่าทั้งโรสเวลต์และเชอร์ชิลอาจประนีประนอมสตาลินให้นำโซเวียตเข้าสู่สงครามต่อต้านญี่ปุ่น[35] โทโงพูดอย่างตรงไปตรงมาโดยตลอดเกี่ยวกับการยุติสงครามอย่างรวดเร็ว[36]: 628  ผลที่เกิดขึ้นจากการประชุมระดับสูงนี้ เขาได้รับอนุญาตให้เข้าพบสหภาพโซเวียตเพื่อขอให้พวกเขาคงสถานะความเป็นกลางไว้ หรือ (แม้จะมีความเป็นไปได้น้อยมาก) สร้างความสัมพันธ์ไมตรีระหว่างชาติทั้งสอง[37]

เพื่อให้เป็นไปตามธรรมเนียมของรัฐบาลใหม่ที่จะประกาศหลักในการปกครองประเทศ ภายหลังการประชุมหลายครั้งในเดือนพฤษภาคม เสนาธิการทหารบกได้ออกหนังสือราชการเรื่อง "นโยบายขั้นพื้นฐานเกี่ยวกับการดำเนินการสงครามที่ต้องปฏิบัติตามสืบแต่นั้นไป" (The Fundamental Policy to Be Followed Henceforth in the Conduct of the War) ซึ่งระบุว่าชาวญี่ปุ่นจะต้องสู้จนสูญสิ้นดีกว่ายอมจำนนต่อศัตรู นโยบายนี้ถือกำเนิดขึ้นโดยมติของบิกซิกซ์เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน (โทโงคัดค้านขณะที่อีกห้าคนสนับสนุน)[38] เอกสารที่ซูซูกินำส่งในการประชุมเดียวกันชี้ให้เห็นว่าญี่ปุ่นได้กำหนดแนวทางการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับโซเวียตดังนี้:

เราควรจะทำให้กระจ่างว่ารัสเซียเป็นหนี้บุญคุณของญี่ปุ่นหลังชัยชนะเหนือเยอรมนีจากการวางตัวเป็นกลางของเรา และโซเวียตยังจะได้เปรียบหากช่วยญี่ปุ่นรักษาตำแหน่งบนเวทีนานาชาติด้วย เพราะพวกเขาจะมีสหรัฐเป็นศัตรูในอนาคต[39]

เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน โคอิจิ คิโดะ ที่ปรึกษาคนสนิทของจักรพรรดิฮิโรฮิโตะ เขียน "ร่างแผนการควบคุมสถานการณ์ภาวะวิกฤต" เตือนว่า ภายในสิ้นปีนั้นความสามารถของญี่ปุ่นในการสู้รบสงครามสมัยใหม่จะสูญไป และรัฐบาลจะไม่สามารถควบคุมความไม่สงบของประชาชนได้ "... พวกเราไม่สามารถมั่นใจได้ว่าเราจะไม่เผชิญชะตากรรมเดียวกันกับเยอรมนี และลดระดับลงเป็นเหตุการณ์ตรงกันข้ามซึ่งเราจะไม่สามารถบรรลุเป้าหมายหลักสูงสุด นั่นคือการพิทักษ์ราชวงศ์และรักษาระบอบการปกครองของประเทศ"[40] คิโดะเสนอให้จักรพรรดิฮิโรฮิโตะเป็นผู้ลงมือ โดยการยื่น "ข้อเสนอยุติสงครามที่นอบน้อมอย่างยิ่งยวด" เสนอให้ญี่ปุ่นถอนตัวออกจากอดีตอาณานิคมยุโรปที่ยึดครองมาได้ โดยให้เหตุผลว่าพวกเขาได้รับเอกราชแล้ว คิโดะยังเสนอให้ญี่ปุ่นยอมรับเอกราชของฟิลิปปินส์ที่ญี่ปุ่นได้สูญเสียการควบคุมไปเกือบทั้งสิ้น ซึ่งเป็นที่รู้กันว่าสหรัฐได้เตรียมแผนการประกาศเอกราชให้ ท้ายที่สุด คิโดะเสนอให้ญี่ปุ่นปลดอาวุธตนเองภายใต้เงื่อนไขว่าจะต้องไม่เกิดการปลดอาวุธภายใต้การควบคุมของฝ่ายสัมพันธมิตรและญี่ปุ่นจะต้อง "มีการป้องกันที่น้อยที่สุด" ไปอีกช่วงระยะเวลาหนึ่ง ข้อเสนอของคิโดะไม่ได้ไตร่ตรองจนถึงการยึดครองญี่ปุ่นโดยฝ่ายสัมพันธมิตร การพิจารณาคดีอาชญากรสงคราม หรือการเปลี่ยนแปลงระบบรัฐบาลของญี่ปุ่นครั้งใหญ่ อีกทั้งข้อเสนอของคิโดะยังไม่ได้ชี้ให้เห็นว่าญี่ปุ่นอาจมีความตั้งใจที่จะพิจารณาสละดินแดนที่ได้มาก่อน ค.ศ. 1937 ประกอบด้วยฟอร์โมซา, คาราฟูโตะ, เกาหลี, อดีตหมู่เกาะเยอรมันในแปซิฟิก อีกทั้งรวมถึงแมนจูด้วย โดยอาศัยพระราชานุญาตจากจักรพรรดิ คิโดะเข้าพบสมาชิกสภาสูงสุด หรือ "บิกซิกซ์" หลายคน โทโงสนับสนุนเป็นอย่างมาก ซูซูกิและพลเอก มิตสึมาซะ โยไน รัฐมนตรีทหารเรือ สนับสนุนอย่างระแวดระวัง ทั้งสองสงสัยว่าคนอื่นจะคิดเช่นไร พลเอก โคเรจิกะ อานามิ รัฐมนตรีทหารบก ให้ความเห็นไปในทิศทางทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย โดยยืนหยัดว่าการทูตจะต้องรอจนกว่า "สหรัฐจะได้รับความเสียหายครั้งใหญ่" ในปฏิบัติการเค็ตสึโงเสียก่อน[41]

ในเดือนมิถุนายน จักรพรรดิฮิโรฮิโตะทรงสูญเสียความมั่นใจว่าจะได้รับชัยชนะด้วยการทหาร หลังญี่ปุ่นได้รับความปราชัยที่ยุทธการที่โอกินาวะ และทรงทราบถึงความอ่อนแอของกองทัพญี่ปุ่นในจีน, ของกองทัพกวันตงในแมนจูเรีย, ของกองทัพเรือ และของกองทัพบกที่กำลังปกป้องเกาะแผ่นดินใหญ่ พระองค์ได้รับรายงานจากเจ้าชายฮิงาชิกูนิซึ่งทรงสรุปว่า "มันไม่ใช่เพียงเรื่องของการป้องกันชายฝั่ง แต่กำลังพลที่สำรองไว้เพื่อเข้าร่วมสมรภูมิรบชี้ขาดเองต่างมีอาวุธไม่เพียงพอเช่นกัน"[42] จักรพรรดิทรงตรัสว่า:

เราได้รับการแจ้งว่า เหล็กจากชิ้นส่วนของระเบิดที่ทิ้งโดยข้าศึกนั้นถูกนำไปใช้เป็นพลั่ว นี่เป็นการยืนยันความเห็นของเราว่าพวกเราไม่ได้อยู่ในตำแหน่งที่จะต่อสู้ในสงครามต่อไปได้"[42]

เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน จักรพรรดิฮิโรฮิโตะทรงให้บิกซิกซ์เข้าประชุม โดยผิดจากพิสัยเดิม พระองค์เป็นผู้ตรัสก่อนว่า: "เราปรารถนาให้มีการศึกษาแผนยุติสงครามที่ชัดเจนโดยที่ไม่ขัดต่อนโยบายปัจจุบันอย่างรวดเร็ว และให้มีความพยายามที่จะนำแผนนั้นไปใช้"[43] มีการตกลงว่าจะเชื้อเชิญให้โซเวียตช่วยยุติสงคราม ส่วนชาติวางตัวเป็นกลางอื่น ๆ เช่น สวิตเซอร์แลนด์, สวีเดน และนครรัฐวาติกัน ซึ่งเป็นที่รู้กันว่าต้องการที่จะมีบทบาทในการสร้างสันติภาพ แต่มีขนาดเล็กเกินไปจนไม่สามารถทำอย่างอื่นได้นอกจากการช่วยนำส่งเงื่อนไขการยอมจำนนของฝ่ายสัมพันธมิตร และการยอมรับหรือการปฏิเสธของญี่ปุ่นมาให้ระหว่างกันเท่านั้น ชาวญี่ปุ่นหวังว่ารัฐบาลจะสามารถชักชวนสหภาพโซเวียตให้เป็นตัวกลางของญี่ปุ่นในการเจรจากับสหรัฐและสหราชอาณาจักรได้สำเร็จ[44]

โครงการแมนแฮตตัน[แก้]

หลังการวิจัยศึกษาหลายปี ประธานาธิบดี แฟรงกลิน ดี. โรสเวลต์ อนุมัติให้เริ่มโครงการสร้างระเบิดปรมาณูขนาดมหึมาลับสุดยอดใน ค.ศ. 1942 โครงการแมนแฮตตัน โดยการกำกับดูแลของ พลตรี เลสลี อาร์. โกรฟส์ จูเนียร์[45] ได้ทำให้เกิดการว่าจ้างงานชาวอเมริกันหลายแสนคนตามโรงงานลับต่าง ๆ ทั่วสหรัฐ และเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม ค.ศ. 1945 มีการทดลองใช้ระเบิดอาวุธต้นแบบแรกในการทดสอบนิวเคลียร์ทรินิตี[46]

เมื่อโครงการใกล้แล้วเสร็จ เหล่านักวางแผนอเมริกันเริ่มพิจารณาการใช้ระเบิด ในช่วงแรก มีการสันนิษฐานว่าจะจัดสรรอาวุธปรมาณูชุดแรกไปใช้ต่อต้านเยอรมนีและเพื่อให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ภาพใหญ่ของฝ่ายสัมพันธมิตรที่จะต้องคว้าชัยชนะในยุโรปก่อน อย่างไรก็ตาม มีความเป็นไปได้สูงว่าเยอรมนีอาจพ่ายแพ้ให้กับฝ่ายสัมพันธมิตรก่อนระเบิดจะพร้อมใช้ โกรฟส์ตั้งคณะกรรมการเพื่อจัดทำรายชื่อเป้าหมายขึ้นตามที่ได้ประชุมกันในเดือนเมษายนและเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1945 หนึ่งในหลักเกณฑ์หลักคือ เมืองเป้าหมายจะต้องไม่เคยได้รับความเสียหายจากระเบิดตามแบบ (conventional bombing) มาก่อน เพื่อให้การประเมินความเสียหายที่เกิดขึ้นจากระเบิดปรมาณูนั้นมีความแม่นยำ[47] รายชื่อของคณะกรรมการประกอบด้วยเมืองญี่ปุ่น 18 เมือง โดย เกียวโต, ฮิโรชิมะ, โยโกฮามะ, โคกูระ และ นีงาตะ เป็นเมืองที่คณะกรรมการให้ความสนใจ[48][49] ท้ายที่สุด มีการนำเกียวโตออกจากรายชื่อตามคำยืนยันของรัฐมนตรีการสงคราม เฮนรี แอล. สติมสัน ซึ่งเคยเยือนเมืองนี้เมื่อครั้งไปดื่มน้ำผึ้งพระจันทร์และได้รู้ถึงความสำคัญทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ของเกียวโต[50]

แม้รองประธานาธิบดีคนก่อน เฮนรี เอ. วอลลิซ มีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการแมนแฮตตันตั้งแต่แรก[51] สติมสันไม่ได้สรุปภาพรวมโครงการโดยย่อให้ แฮร์รี เอส. ทรูแมน ผู้สืบทอดตำแหน่งของวอลลิซ จนถึงวันที่ 23 เมษายน ค.ศ. 1945 สิบเอ็ดวันให้หลังเขาขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีแทนโรสเวลต์ที่ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 12 เมษายน ค.ศ. 1945[52] เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม ค.ศ. 1945 ทรูแมนอนุมัติการจัดตั้งคณะกรรมการชั่วคราว (Interim Committee) ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ให้คำแนะนำที่มีหน้าที่นำเสนอรายงานเกี่ยวกับระเบิดปรมาณู[49][52] คณะกรรมการประกอบด้วย สติมสัน, เจมส์ เอฟ. เบินส์, จอร์จ แอล. แฮร์ริสัน, แวนนีวาร์ บุช, เจมส์ ไบรอันต์ โคนันต์, คาร์ล เทย์เลอร์ คอมป์ตัน, วิลเลียม แอล. เคลย์ตัน และ แรล์ฟ ออสติน บาร์ด โดยคำแนะนำขององค์คณะวิทยาศาสตร์ประกอบด้วย รอเบิร์ต ออปเพนไฮเมอร์, เอนรีโก แฟร์มี, เออร์เนสต์ ลอว์เรนซ์ และ อาร์เทอร์ คอมป์ตัน[53] ในรายงานผลวันที่ 1 มิถุนายน คณะกรรมการสรุปว่าระเบิดควรนำมาใช้ให้เร็วที่สุด และทิ้งลงบนโรงงานอาวุธสงครามที่มีบ้านพักคนงานล้อมรอบ อีกทั้งไม่ควรให้คำเตือนล่วงหน้าหรือแสดงแสนยานุภาพก่อนการใช้ระเบิดจริง[54]

อำนาจของคณะกรรมการนี้ไม่รวมถึงอำนาจสั่งการให้ใช้ระเบิด หากแต่เป็นการคาดไว้อยู่แล้วว่าเมื่อสร้างแล้วเสร็จจะให้มีการใช้ระเบิด[55] หลังการประท้วงของนักวิทยาศาสตร์ที่มีส่วนร่วมในโครงการโดยยื่นรายงานของฟรังค์ให้แก่คณะกรรมการ จึงมีการพิจารณาการใช้ระเบิดใหม่อีกครั้งและขอรับคำแนะนำจากองค์คณะวิทยาศาสตร์ว่าควรมี "การแสดงแสนยานุภาพ" ของระเบิดก่อนการใช้จริงในสมรภูมิรบหรือไม่ ในการประชุมเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน องค์คณะวิทยาศาสตร์เห็นพ้องว่าไม่มีทางเลือกอื่น[56]

ทรูแมนมีบทบาทเพียงเล็กน้อยในการหารือเหล่านี้ ที่เมืองพ็อทซ์ดัม เขาหลงใหลได้ปลื้มกับรายงานผลการทดสอบทรินิตีที่สำเร็จลุล่วง และผู้คนรอบข้างสังเกตว่าเขามีทัศนคติของเขาเปลี่ยนไปในทางบวก โดยเชื่อว่าระเบิดจะทำให้เขามีอำนาจเหนือญี่ปุ่นและสหภาพโซเวียต[57] นอกเหนือการสนับสนุนท่าทีของสติมสันในการนำเกียวโตออกจากรายชื่อเป้าหมาย (ในขณะที่ทหารพยายามผลักดันให้คงเป็นเป้าหมายเช่นเดิม) เขาไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องในการตัดสินใจใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการใช้ระเบิด ซึ่งตรงกันข้ามกับเรื่องราวที่เล่าซ้ำไปมาในเวลาต่อมา (รวมถึงการแต่งเติมของทรูแมนเอง)[58]

การเสนอแผนการรุกราน[แก้]

เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน ค.ศ. 1945 ทรูแมนพบกับเสนาธิการทหารบก พลเอก จอร์จ มาร์แชลล์, พลอากาศเอก เฮนรี อาร์โนลด์, เสนาธิการทหารเรือ พลเรือเอก วิลเลียม เลฮี และ พลเรือเอก เออร์เนสต์ คิง, เลขานุการกองทัพเรือ เจมส์ ฟอร์เรสตัล, รัฐมนตรีการสงคราม เฮนรี สติมสัน และผู้ช่วยรัฐมนตรีการสงคราม จอห์น แม็กคลอย เพื่อหารือข้อสั่งการ "ปฏิบัติการโอลิมปิก" ซึ่งเป็นหนึ่งในแผนการรุกรานเกาะญี่ปุ่นแผ่นดินใหญ่ พลเอกมาร์แชลล์สนับสนุนการส่งกองทัพแดงร่วมรบ โดยเชื่อว่าหากทำเช่นนั้นจะทำให้ญี่ปุ่นยอมจำนน แม็กคลอยบอกกับสติมสันว่าไม่มีเมืองญี่ปุ่นอื่นนอกรายชื่อที่จะทิ้งระเบิดได้อีกและอยากหาทางเลือกอื่นที่จะทำให้ญี่ปุ่นยอมจำนน เขาเสนอทางออกด้วยกลไกทางการเมืองและถามเรื่องการให้คำเตือนถึงญี่ปุ่นว่าจะใช้ระเบิดปรมาณู เจมส์ เบินส์ ที่ต่อมาได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีการต่างประเทศในวันที่ 3 กรกฎาคม อยากให้ใช้ระเบิดอย่างรวดเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้โดยไม่มีการเตือนล่วงหน้าและไม่ให้โซเวียตรู้[36]: 630–631 

ความพยายามการเจรจาของสหภาพโซเวียต[แก้]

นาโอตาเกะ ซาโต

เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน โทโงบอกกับ นาโอตาเกะ ซาโต เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำมอสโก ให้พยายามสถาปนา "ความสัมพันธ์ฉันมิตรที่แน่นแฟ้นและสถาวร" และให้หารือในเรื่องสถานะของแมนจูเรียและ "ประเด็นอื่นใดที่รัสเซียอยากจะพูดถึง"[59] โซเวียตตระหนักถึงสถานการณ์โดยรวมและคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้กับฝ่ายสัมพันธมิตร จึงให้คำตอบล่าช้าโดยที่พยายามให้ญี่ปุ่นยังอยู่ในการเจรจาแต่ไม่ให้คำมั่นใด ๆ ในที่สุด ซาโตได้พบกับรัฐมนตรีการต่างประเทศโซเวียต วยาเชสลาฟ โมโลตอฟ เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม แต่ไม่ได้ผล ในวันที่ 12 กรกฎาคม โทโงให้ซาโตบอกกับโซเวียตว่า:

สมเด็จพระจักรพรรดิทรงมีพระราชดำริถึงสงครามในเวลาปัจจุบันว่าจะนำพามาซึ่งความรุนแรงและการสละชีพของบรรดาประชาชนประเทศอำนาจคู่สงครามที่เพิ่มมากขึ้น สมเด็จพระจักรพรรดิทรงมีพระราชประสงค์จากพระหทัยของพระองค์ให้สงครามสิ้นสุดลงเสีย แต่เมื่ออังกฤษและสหรัฐยืนยันว่าจะให้ยอมจำนนโดยไม่มีเงื่อนไขแล้ว จักรวรรดิญี่ปุ่นไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากการสู้สุดพละกำลังด้วยเกียรติยศและเพื่อการมีอยู่ของแผ่นดินแม่[60]

จักรพรรดิฮิโรฮิโตะทรงเสนอให้ส่งเจ้าชายโคโนเอะในฐานะผู้แทนพิเศษ แม้เขาจะไม่สามารถติดต่อกับโซเวียตได้ทันก่อนการประชุมพ็อทซ์ดัม

ซาโตแนะนำโทโงว่า ในความเป็นจริง ญี่ปุ่นควรเตรียมรับมือกับ "การยอมจำนนโดยไม่มีเงื่อนไขหรือข้อเสนอที่มีความใกล้เคียงเทียบเท่ากับการยอมจำนน" นอกจากนี้ เพื่อเป็นการตอบกลับคำขอของโมโลตอฟให้ญี่ปุ่นยื่นข้อเสนอที่ชัดเจน ซาโตชี้ให้เห็นว่าข้อความของโทโงนั้น "มีความไม่ชัดเจนว่ารัฐบาลและกองทัพมีมุมมองเรื่องการสิ้นสุดลงของสงครามอย่างไร" ด้วยเหตุนี้ จึงมีความแคลงใจว่าโครงสร้างทางอำนาจญี่ปุ่นมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของโทโงหรือไม่[61]

ในวันที่ 17 กรกฎาคม โทโงตอบกลับว่า:

แม้ผู้มีอำนาจสั่งการและรัฐบาลเชื่อว่าอำนาจรบของเรายังคงทำให้เกิดความเสียหายต่อศัตรูในระดับที่พอรับได้ก็ตาม พวกเรายังไม่สามารถวางจิตข่มใจให้สงบได้อย่างสิ้นเชิง ... โปรดตระหนักไว้ว่า พวกเราไม่ได้ต้องการให้การไกล่เกลี่ยของรัสเซียนำไปสู่การที่เราต้องยอมจำนนโดยไม่มีเงื่อนไขในท้ายที่สุด[62]

ซาโตขยายความโดยการตอบกลับว่า:

อย่างที่ผมได้พูดอย่างชัดเจนในข้อความก่อน ๆ ว่าขอให้ยอมจำนนโดยไม่มีเงื่อนไขหรือให้ยอมรับข้อเสนออื่นใดที่มีความใกล้เคียงเทียบเท่ากับการยอมจำนนโดยได้ละเว้นการตั้งคำถามถึงการธำรงรักษา [ราชวงศ์] ไว้[63]

ในวันที่ 21 กรกฎาคม โทโงในนามของคณะรัฐมนตรี เน้นย้ำว่า:

ในเรื่องของการยอมจำนนโดยไม่มีเงื่อนไขนั้น เราไม่สามารถยอมรับได้ไม่ว่าจะภายใต้สภาวะการณ์ใด ... การยอมจำนนเป็นการขัดขวางการแสวงหาสันติภาพของเรา ... ผ่านความช่วยเหลือของรัสเซีย ... นอกจากนี้ จากจุดยืนทางการต่างประเทศและการพิจารณาภายในแล้ว การประกาศข้อเสนอของฝ่ายเราโดยทันทียังเป็นข้อเสียเปรียบ อีกทั้งเป็นไปไม่ได้[64]

นักวิทยาการหัสลับชาวอเมริกันสามารถเข้ารหัสของญี่ปุ่นได้เกือบทั้งหมด รวมถึงรหัสเพอร์เพิลซึ่งกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่นใช้เพื่อเข้ารหัสการติดต่อทางการทูตระดับสูง ทำให้ข้อความระหว่างส่วนกลางที่โตเกียวและสถานเอกอัครราชทูตของญี่ปุ่นในต่างประเทศ สามารถนำส่งไปถึงผู้วางนโยบายของฝ่ายสัมพันธมิตรภายอย่างรวดเร็วในระยะเวลาที่ใกล้เคียงกันกับที่ผู้รับญี่ปุ่นจะได้รับ[65] โดยกังวลว่าจะได้รับความเสียหายหนัก ฝ่ายสัมพันธมิตรหวังให้โซเวียตเข้าร่วมรบในสงครามแปซิฟิกให้เร็วที่สุด โรสเวลต์ได้ทำตามคำมั่นสัญญาของสตาลินที่ไคโรซึ่งได้รับการยืนยันอีกครั้งที่ยัลตา จากผลลัพธ์ดังกล่าวสร้างความหวาดกลัวให้แก่ญี่ปุ่นเป็นอย่างมาก[36]: 629 

เจตนาของโซเวียต[แก้]

ความกังวลด้านความมั่นคงมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับตะวันออกไกลของโซเวียต[66] ในบรรดานั้นที่กังวลมากที่สุดคือการเข้าถึงถึงมหาสมุทรแปซิฟิกได้โดยไม่มีข้อจำกัด วลาดีวอสตอค พื้นที่ไร้น้ำแข็งตลอดปีแนวชายฝั่งแปซิฟิกของโซเวียต อาจถูกปิดล้อมทางอากาศและทางทะเลจากเกาะซาฮาลินและหมู่เกาะคูริล การได้มาซึ่งดินแดนเหล่านี้จะเป็นการรับประกันการเข้าถึงโดยเสรีไปยังช่องแคบโซยะเป็นเป้าหมายหลักของโซเวียต[67] เป้าหมายรองคือการได้สัญญาเช่าการรถไฟตะวันออกจีน, การรถไฟแมนจูเรียตอนใต้, ต้าเหลียน และท่าเรืออาเธอร์[68]

เพื่อบรรลุเป้าประสงค์นี้ สตาลินและโมโลตอฟถ่วงเวลาการเจรจากับญี่ปุ่น โดยให้ความหวังที่ไม่เป็นจริงว่าโซเวียตจะเป็นผู้ไกล่เกลี่ยสันติภาพให้[69] ขณะเดียวกัน โซเวียตในการตกลงกับสหรัฐและสหราชอาณาจักร ยืนยันว่าจะยึดมั่นตามปฏิญญาไคโรดังที่ได้ยืนยันไว้ในการประชุมยัลตา ซึ่งระบุว่าฝ่ายสัมพันธมิตรจะไม่ยอมรับการแบ่งประเทศหรือการยุติสงครามด้วยเงื่อนไข หากแต่ญี่ปุ่นจะต้องยอมจำนนโดยไม่มีเงื่อนไขต่อฝ่ายสัมพันธมิตร เพื่อยืดระยะเวลาสงคราม โซเวียตคัดค้านความพยายามใด ๆ ที่จะทำให้เงื่อนไขนี้อ่อนแอลง[69] การคัดค้านนี้จะเป็นการให้เวลาโซเวียตในการเคลื่อนกำลังพลจากแนวรบด้านตะวันตกไปตะวันออกไกลให้แล้วเสร็จ และพิชิตแมนจูเรีย, มองโกเลียตอนใน, เกาหลี, ซาฮาลินตอนใต้, หมู่เกาะคูริล และอาจรวมถึงฮกไกโดด้วย[70] (เริ่มต้นจากการยกพลขึ้นฝั่งที่รูโมอิ)[71]

เหตุการณ์ที่พ็อทซ์ดัม[แก้]

ผู้นำหลักของฝ่ายสัมพันธมิตรทรงอำนาจเดินทางมาพบกันที่พ็อทซ์ดัมตั้งแต่วันที่ 16 กรกฎาคม ถึง 2 สิงหาคม ค.ศ. 1945 มีผู้เข้าร่วมการประชุม ได้แก่ สหภาพโซเวียต, สหราชอาณาจักร และสหรัฐ โดยสตาลิน, วินสตัน เชอร์ชิล (ต่อมารับช่วงแทนโดย เคลเมนต์ แอตต์ลี) และทรูแมน เป็นผู้แทนตามลำดับ

การเจรจา[แก้]

แม้สาระสำคัญของการประชุมพ็อทซ์ดัมส่วนใหญ่เป็นเรื่องภายในยุโรป แต่ยังมีการพูดคุยเรื่องสงครามกับญี่ปุ่นในรายละเอียดด้วยเช่นกัน ทรูแมนรู้ถึงความสำเร็จของการทดสอบทรินิตีก่อนการประชุม จึงบอกข้อมูลนี้ให้คณะทูตสหราชอาณาจักร และทำให้คณะทูตสหรัฐพิจารณาไตร่ตรองถึงความจำเป็นของการให้โซเวียต ซึ่งตนได้วิ่งเต้นอย่างหนักที่เตหะรานและยัลตา มีส่วนร่วมในเรื่องนี้ใหม่อีกครั้ง[72] สหรัฐมีเป้าหมายของการร่นระยะเวลาสงครามและลดความสูญเสียของชาวอเมริกันเป็นสำคัญ และการแทรกแซงของโซเวียตนั้นเป็นไปได้ว่าจะช่วยให้สหรัฐสามารถบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้ แต่ขณะเดียวกัน จะเป็นการเปิดทางให้โซเวียตยึดครองดินแดนอื่นใดนอกเหนือจากที่ให้คำมั่นไว้แก่สหรัฐที่เตหะรานและยัลตา และอาจทำให้เกิดการแบ่งประเทศญี่ปุ่นภายหลังสงครามเหมือนที่เคยเกิดขึ้นกับเยอรมนี[73]

ในการรับมือกับสตาลิน ทรูแมนตัดสินใจพูดเป็นนัยลาง ๆ แก่ผู้นำโซเวียตเกี่ยวกับการมีอยู่ของอาวุธใหม่ที่รุนแรงโดยไม่ได้ลงรายละเอียด อย่างไรก็ดี ฝ่ายสัมพันธมิตรชาติอื่น ๆ ไม่ได้ตระหนักว่าการข่าวของโซเวียตได้แทรกซึมเข้าไปในโครงการแมนแฮตตันตั้งแต่ช่วงต้น ด้วยเหตุนี้ สตาลินจึงรู้ว่ามีระเบิดปรมาณูอยู่แล้วแต่ไม่ได้แสดงปฏิกิริยาหุนหันโดยศักยภาพของระเบิด[74]

ปฏิญญาพ็อทซ์ดัม[แก้]

มีการตัดสินใจว่าจะออกข้อแถลงความ (statement) ปฏิญญาพ็อทซ์ดัม ระบุ "การยอมจำนนโดยไม่มีเงื่อนไข" และอธิบายพระราชฐานะของตำแหน่งจักรพรรดิและจักรพรรดิของฮิโรฮิโตะโดยส่วนพระองค์ ซึ่งทั้งรัฐบาลสหรัฐและสหราชอาณาจักรต่างมีข้อคิดเห็นไม่ตรงกันอย่างยิ่งในประเด็นนี้ สหรัฐต้องการที่จะล้มล้างระบอบราชาธิปไตย หรืออย่างน้อยต้องบังคับให้จักรพรรดิฮิโรฮิโตะลงจากราชบัลลังก์และพยายามนำพระองค์เข้ารับการพิจารณาคดีในฐานะอาชญากรสงคราม ขณะที่สหราชอาณาจักรต้องการที่จะคงไว้ซึ่งพระราชฐานะในราชวงศ์ หรือหากเป็นไปได้คือให้จักรพรรดิฮิโรฮิโตะคงครองราชสมบัติอยู่เช่นเดิม นอกจากนี้ ต้องมีการปรึกษากับรัฐบาลโซเวียตแม้ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการร่างปฏิญญานี้แต่แรกเริ่ม เพราะมีการคาดหมายว่าปฏิญญาจะต้องได้รับเสียงสนับสนุนจากโซเวียตก่อนการเข้าร่วมสงคราม การรับประกันว่าจะสงวนตำแหน่งจักรพรรดิไว้จะทำให้นโยบายของฝ่ายสัมพันธมิตรที่จะให้ญี่ปุ่นยอมจำนนโดยไม่มีเงื่อนไขเปลี่ยนไป อีกทั้งทำให้จะต้องได้รับคำยินยอมจากสตาลิน อย่างไรก็ดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ เจมส์ เบินส์ อยากที่จะทำให้โซเวียตถอยห่างออกจากสงครามแปซิฟิกให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ และโน้มน้าวทรูแมนให้ถอนคำรับประกันนั้น[36]: 631  ปฏิญญาพ็อทซ์ดัมผ่านการร่างหลายฉบับจนได้ฉบับที่เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายในที่สุด[75]

เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม สหรัฐ, สหราชอาณาจักร และจีน ประกาศปฏิญญาพ็อทซ์ดัมซึ่งกล่าวถึงเงื่อนไขให้ญี่ปุ่นยอมจำนน โดยเตือนว่า "เราจะยึดมั่นในเงื่อนไขนี้ ไม่มีทางเลือกอื่น เราจะไม่รอความชักช้า" เงื่อนไขแก่ญี่ปุ่นในปฏิญญาระบุ:

  • การกำจัด "การให้อำนาจและอิทธิพลครอบงำอย่างถาวรแก่ผู้ที่หลอกลวงทำให้ชาวญี่ปุ่นหลงผิดเข้าร่วมการยึดครองโลก"
  • การยึดครอง "พื้นที่ในดินแดนญี่ปุ่นนั้น ฝ่ายสัมพันธมิตรจะเป็นผู้กำหนด"
  • ว่า "จะจำกัดอำนาจอธิปไตยญี่ปุ่นลงเหลือที่เกาะฮนชู, ฮกไกโด, คีวชู, ชิโกกุ และเกาะเล็กอื่นที่กำหนด" ตามที่ได้ประกาศในปฏิญญาไคโร ค.ศ. 1943 ดินแดนของญี่ปุ่นต้องลดกลับไปเป็นเฉกเช่นดินแดนก่อน ค.ศ. 1894 และยึดจักรวรรดิก่อนสงครามทั้งหมด รวมถึงเกาหลีและไต้หวัน และดินแดนอื่นที่พิชิตมาได้ของญี่ปุ่นก่อนพยายามยึดครองโลก
  • ว่า "หลังเสร็จสิ้นการปลดอาวุธกองกำลังทหารญี่ปุ่นแล้ว เหล่าทหารสามารถกลับบ้านเพื่อเป็นผู้นำ (ของประชาชน) ในการมอบชีวิตที่สันติสุขและอุดมสมบูรณ์"
  • ว่า "เราไม่มีความประสงค์ใดที่จะให้ชาวญี่ปุ่นถูกกดขี่ หรือทำให้ญี่ปุ่นถูกทำลายทั้งประเทศ หากเพียงแต่เป็นการนำตัวอาชญากรสงครามมาลงโทษในกระบวนการยุติธรรมที่เข้มงวด รวมถึงผู้ที่ทำการทารุณต่อเชลยของเรา"
การประชุมพ็อทซ์ดัม – ผู้ที่อยู่ในภาพ ได้แก่ เคลเมนต์ แอตต์ลี, เออร์เนสต์ เบวิน, วยาเชสลาฟ โมโลตอฟ, โจเซฟ สตาลิน, วิลเลียม ดี. เลฮี, เจมส์ เอฟ. เบินส์, และ แฮร์รี เอส. ทรูแมน

ในทางตรงกันข้าม ปฏิญญาระบุว่า:

  • "รัฐบาลญี่ปุ่นต้องกำจัดอุปสรรคทั้งปวงใด ๆ ที่ขัดขวางการทำให้แข็งแกร่งขึ้นและการหวนคืนสู่ความเป็นประชาธิปไตย (democratic tendency) ในประชาชนชาวญี่ปุ่น อีกทั้งต้องมีการสถาปนาเสรีภาพในการพูด, ในศาสนา และในความคิด รวมถึงการเคารพซึ่งสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน"
  • "อนุญาตให้ญี่ปุ่นเป็นเจ้าของอุตสาหกรรมที่จะช่วยพยุงเศรษฐกิจของประเทศ และให้มีการรีดชดใช้ค่าเสียหายอันเป็นธรรมหรือสิ่งอื่นในทำนองเดียวกัน แต่ไม่ใช่เป็นการเปิดทางให้มีอาวุธเพื่อทำสงคราม ด้วยเหตุนี้ จึงอนุญาตให้เข้าถึง แต่ไม่รวมถึงการเข้าควบคุมวัตถุดิบ ท้ายที่สุด อนุญาตให้ญี่ปุ่นมีส่วนร่วมในความสัมพันธ์การค้าโลก"
  • "กองกำลังยึดครองของฝ่ายสัมพันธมิตรต้องถอนออกจากญี่ปุ่นเมื่อเป้าหมายเหล่านี้สำเร็จบรรลุผล และเมื่อสามารถจัดตั้งรัฐบาลที่มุ่งสันติภาพและมีความรับผิดชอบซึ่งเป็นไปตามเจตจำนงเสรีของประชาชนชาวญี่ปุ่น"

การใช้คำว่า "การยอมจำนนโดยไม่มีเงื่อนไข" พบเพียงที่ส่วนท้ายของปฏิญญาเท่านั้น:

  • "เราเรียกร้องรัฐบาลแห่งญี่ปุ่นประกาศการยอมจำนนโดยไม่มีเงื่อนไขของกองกำลังญี่ปุ่นทั้งปวง และให้การรับประกันที่เหมาะสมและเพียงพอว่าจะปฏิบัติตามประกาศนั้น มิเช่นนั้นทางเลือกอื่นของญี่ปุ่น (หากไม่ยอมจำนน) จะเป็นการทำลายล้างที่ฉับพลันและเด็ดขาด"

ปฏิญญาไม่ได้กล่าวถึงจักรพรรดิฮิโรฮิโตะแต่อย่างใดซึ่งแตกต่างออกไปจากที่มุ่งหมายไว้ รักษาการรัฐมนตรีการต่างประเทศที่ดำรงตำแหน่งได้ไม่นาน โจเซฟ กรูว์ ให้เสียงสนับสนุนการคงไว้ซึ่งตำแหน่งจักรพรรดิในฐานะกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ เขาหวังว่าการรักษาพระราชฐานะศูนย์รวมจิตใจของพระองค์จะช่วยอำนวยการยอมจำนนของกองกำลังญี่ปุ่นทุกท้องที่ในเขตสงครามแปซิฟิก หากไม่มีพระองค์อาจทำให้การยอมจำนนเป็นไปได้ยาก รัฐมนตรีทบวงทหารเรือ เจมส์ ฟอร์เรสตัล และเจ้าหน้าที่คนอื่น ๆ เห็นตรงกัน[36]: 630  มีการตีความประโยค "การทำลายล้างที่ฉับพลันและเด็ดขาด" ว่าเป็นการบอกโดยนัยถึงการมีระเบิดปรมาณูอยู่ในครอบครองของสหรัฐ (ซึ่งทดสอบแล้วสำเร็จในวันแรกของการประชุม)[76]

ปฏิกิริยาของญี่ปุ่น[แก้]

เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม รัฐบาลญี่ปุ่นพิจารณาถึงคำตอบที่จะให้ต่อปฏิญญา สมาชิกทหารสี่คนของบิกซิกซ์อยากจะให้ตอบปฏิเสธ แต่โทโง โดยเข้าใจผิดว่ารัฐบาลโซเวียตยังไม่รู้ถึงเนื้อหาภายในของปฏิญญา โน้มน้าวคณะรัฐมนตรีว่าไม่ให้ทำเช่นนั้นจนกว่าโซเวียตจะแสดงท่าที คณะรัฐมนตรีเผยแพร่ข้อความในปฏิญญาสู่สาธารณชนโดยไม่กล่าวความเห็นใดพลางไปก่อน ชุนอิจิ คาเซะ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำสวิตเซอร์แลนด์ แสดงข้อสังเกตผ่านทางโทรเลขว่า "การยอมจำนนโดยไม่มีเงื่อนไข" จะมีผลเฉพาะแค่กองทัพ แต่ไม่ได้มีต่อรัฐบาลหรือประชาชน เขาร้องขอให้เข้าใจว่าการใช้ภาษาที่ระมัดระวังในปฏิญญาปรากฏให้เห็น "การผ่านการพิจารณาไตร่ตรองอย่างรอบคอบ" ของรัฐบาลผู้ลงนาม และกล่าวว่า "ดูเหมือนว่าพวกเขายอมรับผลกระทบเพื่อรักษาหน้าให้กับเราในหลายจุด"[77] ในวันถัดมา หนังสือพิมพ์ญี่ปุ่นรายงานว่ามีการปฏิเสธเงื่อนไขของปฏิญญาตามข้อความในใบปลิวที่โยนทิ้งลงมาจากอากาศสู่พื้นดินญี่ปุ่น นายกรัฐมนตรีซูซูกิพบกับสื่อมวลชนเพื่อพยายามจัดการความรู้สึกของสาธารณชนโดยกล่าวว่า:

ผมถือว่าคำประกาศร่วม (ปฏิญญาพ็อตซ์ดัม) เป็นเพียงการรื้อปฏิญญาไคโรมาเขียนใหม่ สำหรับรัฐบาลของเรา มันไม่มีคุณค่าสำคัญใด ๆ แม้แต่น้อย สิ่งเดียวที่สามารถทำได้คือการฆ่ามันด้วยความไร้เสียง (โมกูซัตสึ) เราจะไม่ทำอะไรเลยนอกจากการพยายามอย่างถึงที่สุดจนกว่าการสงครามจะได้รับความสำเร็จ[78]

เลขาธิการคณะรัฐมนตรี ฮิซัตสึเนะ ซาโกมิซุ แนะนำให้ซูซูกิใช้คำว่าโมกูซัตสึ (黙殺, mokusatsu, แปลตรงตัว "ฆ่าด้วยความไร้เสียง")[36]: 632  ซึ่งมีความหมายกำกวมและสื่อความหมายได้ตั้งแต่ "ปฏิเสธที่จะแสดงความเห็น" ไปจนถึง "เพิกเฉย (โดยการเงียบ)"[79] สิ่งที่ซูซูกิต้องการสื่อสารจริง ๆ ยังคงเป็นที่ถกเถียง[80] ต่อมาโทโงกล่าวว่าการแถลงดังกล่าวเป็นการละเมิดมติของคณะรัฐมนตรีที่ให้งดการออกความเห็นก่อน[36]: 632 

เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม เอกอัครราชทูตซาโตเขียนว่าสตาลินอาจกำลังพูดคุยกับโรสเวลต์และเชอร์ชิลเกี่ยวกับวิธีการจัดการญี่ปุ่นของพวกเขา และเขียนว่า: "หากเราจะขัดขวางไม่ให้รัสเซียมีส่วนร่วมในสงคราม เราไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากให้ยอมจำนนโดยไม่มีเงื่อนไขทันที"[81] เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม โทโงเขียนถึงซาโตว่า: "มันคงไม่เป็นการยากสำหรับคุณในการตระหนักได้ว่า ... เวลาของเราในการดำเนินการต่าง ๆ เพื่อสิ้นสุดสงครามก่อนศัตรูจะยกพลขึ้นบกแผ่นดินใหญ่นั้นมีอยู่จำกัด ขณะเดียวกันที่ประเทศของเรา ยังเป็นการยากที่จะสามารถตกลงเงื่อนไขสันติภาพที่แน่นอนด้วยเช่นกัน"[82]

ฮิโรชิมะ แมนจูเรีย และนางาซากิ[แก้]

6 สิงหาคม: ฮิโรชิมะ[แก้]

เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม เวลา 8:15 น. ตามเวลาท้องถิ่น เอโนลาเกย์ เครื่องบินโบอิง บี-29 ซูเปอร์ฟอร์เทรส ขับโดย พันเอก พอล ทิบบิตส์ ทิ้งระเบิดปรมาณู (สหรัฐตั้งชื่อรหัสว่า ลิตเติลบอย) เหนือเมืองฮิโรชิมะทางตะวันตกเฉียงใต้ของฮนชู[83] รายงานข่าวสร้างความสับสนอลหม่านได้แพร่สะพัดถึงโตเกียวตลอดทั้งวันว่า ฮิโรชิมะได้ตกเป็นเป้าของการโจมตีทางอากาศซึ่งทำให้ทั้งเมืองเต็มไปด้วย "แสงไฟแวบวาบและระเบิดรุนแรง" ไม่นานในวันเดียวกัน ทรูแมน ประธานาธิบดีสหรัฐ ประกาศการใช้ระเบิดปรมาณูครั้งแรก และสัญญาว่า:

ตอนนี้พวกเราพร้อมแล้วที่จะทำลายล้างสิ่งปลูกสร้างผลิตผลใดที่ญี่ปุ่นมีเหนือพื้นดินในเมืองใดให้สิ้นซาก พวกเราจะทำลายท่าเรือของญี่ปุ่น โรงงานของญี่ปุ่น และการสื่อสารของญี่ปุ่น พวกเราขอประกาศกร้าวอย่างชัดเจนว่า พวกเราจะโค่นล้มอำนาจของญี่ปุ่นในการก่อสงครามให้หมดจด ซึ่งจะเป็นการไว้ชีวิตชาวญี่ปุ่นจากการทำลายล้างอย่างเด็ดขาดตามความที่ให้ไว้เป็นคำขาดเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม ที่เมืองพ็อทซ์ดัม เหล่าผู้นำญี่ปุ่นปฏิเสธคำขาดของพวกเรา หากญี่ปุ่นไม่ยอมรับเงื่อนไขของเรา ให้เตรียมรับมือความวิปโยคดั่งสายฝนที่ตกลงมาจากฟากฟ้าในแบบที่ไม่เคยเห็นมาก่อนบนโลกนี้ ..."[84]

กองทัพบกและกองทัพเรือญี่ปุ่นมีโครงการระเบิดปรมาณูอิสระเป็นของตนเอง ญี่ปุ่นจึงพอเข้าใจว่าการสร้างระเบิดนั้นยากเข็ญเช่นไร ด้วยเหตุนี้ ชาวญี่ปุ่นหลายคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐมนตรีที่เป็นทหาร ปฏิเสธที่จะเชื่อว่าสหรัฐได้สร้างระเบิดปรมาณูจริง และกองทัพญี่ปุ่นสั่งให้มีการทดสอบอิสระเพื่อระบุสาเหตุที่ระเบิดทำให้ฮิโรชิมะเกิดความเสียหายอย่างหนัก[85] พลเรือเอก โซเอมุ โทโยดะ ผู้บัญชาการเสนาธิการทหารเรือ โต้แย้งว่าถึงแม้สหรัฐจะสามารถสร้างระเบิดปรมาณูได้จริง คงมีอยู่ไม่มาก[86] โดยรู้ว่าโทโยดะจะแสดงท่าทีเหมือนกับที่คาดไว้ นักยุทธศาสตร์อเมริกันวางแผนที่จะทิ้งระเบิดลูกที่สองไม่นานหลังลูกแรก เพื่อโน้มน้าวญี่ปุ่นว่าสหรัฐมีระเบิดปรมาณูอยู่เป็นจำนวนมาก[49][87]

9 สิงหาคม: การรุกรานของโซเวียตและนางาซากิ[แก้]

การทิ้งระเบิดปรมาณูที่นางาซากิ

เมื่อเวลา 04:00 น. ของวันที่ 9 สิงหาคม มีข่าวถึงโตเกียวว่าสหภาพโซเวียตได้ผิดกติกาสัญญาความเป็นกลาง[88][89][90] ประกาศสงครามต่อญี่ปุ่น[91] ลงนามในปฏิญญาพ็อทซ์ดัม และเริ่มบุกครองแมนจูเรีย[92]

เมื่อครั้งรัสเซียได้บุกครองแมนจูเรีย รัสเซียเข้ารุกรานอย่างรวดเร็วด้วยกองทหารที่เคยขึ้นชื่อว่าเกรียงไกร และมีเพียงแค่การที่น้ำมันหมดเท่านั้นที่จะหยุดหน่วยทหารรัสเซียจากการรุกคืบได้ กองทัพโซเวียตที่ 16 กำลังพลกว่า 100,000 นาย เริ่มรุกรานเกาะซาฮาลินทางตอนใต้ได้ครึ่งเกาะ มีคำสั่งให้กองทัพโซเวียตทำลายการต้านทานของญี่ปุ่นที่นั่น และให้เตรียมรุกรานฮกไกโดซึ่งอยู่ทางเหนือสุดของญี่ปุ่นแผ่นดินใหญ่ต่อภายใน 10–14 วัน กองทัพภาคที่ 5 ของกองกำลังญี่ปุ่น ซึ่งได้รับคำสั่งให้ตั้งรับที่ฮกไกโด มีกำลังที่ 2 กองพลและ 2 กองพลน้อย อีกทั้งยังมีฐานที่มั่นทางตะวันออกของเกาะซึ่งไม่เพียงพอต่อการต้านทาน แผนของโซเวียตในการโจมตีคือการรุกรานฮกไกโดโดยเริ่มจากทางตะวันตก การประกาศสงครามของโซเวียตยังทำให้การคำนวณเวลาที่ยังเหลืออยู่ในการวางกำลังได้ทันนั้นเปลี่ยนไป การข่าวญี่ปุ่นคาดการณ์ว่าในอีกหลายเดือนข้างหน้ากองกำลังสหรัฐอาจจะไม่รุกรานญี่ปุ่น ในทิศทางตรงกันข้าม กองกำลังโซเวียตอาจพิชิตใจกลางของญี่ปุ่นได้อย่างเร็วสุดใน 10 วัน การรุกรานของโซเวียตทำให้การตัดสินใจสิ้นสุดสงครามเป็นสิ่งต้องรีบกระทำให้ได้โดยเร็วที่สุด

— วอร์ด วิลสัน, ฟอรินพอลิซี[93]

การทิ้งระเบิดปรมาณูสองลูกอันน่าสะพรึงที่ฮิโรชิมะและการรุกรานของโซเวียตส่งผลอย่างยิ่งยวดต่อนายกรัฐมนตรี คันตาโร ซูซูกิ และรัฐมนตรีการต่างประเทศ ชิเงโนริ โทโง ซึ่งทั้งสองต่างมีความเห็นตรงกันว่ารัฐบาลจะต้องยุติสงครามลงทันที[94] อย่างไรก็ดี ผู้นำอาวุโสของกองทัพญี่ปุ่นไม่ได้ตื่นตระหนกต่อการทิ้งระเบิดเพราะประเมินความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการโจมตีต่ำไป โดยเสียงสนับสนุนของรัฐมนตรีการสงครามอานามิ ทำให้ญี่ปุ่นเตรียมประกาศกฎอัยการศึกทั่วประเทศเพื่อห้ามไม่ให้ผู้ใดพยายามเรียกร้องให้เกิดสันติภาพขึ้น[95] จักรพรรดิฮิโรฮิโตะทรงมีพระบัญชาต่อคิโดะให้ "ให้เข้าควบคุมสถานการณ์โดยรวดเร็ว" เพราะ "ในวันนี้ สหภาพโซเวียตได้ประกาศสงครามและได้เริ่มความเป็นศัตรูต่อเรา"[96]

สภาสูงสุดมาประชุมกันเมื่อเวลา 10:30 น. ซูซูกิผู้ซึ่งพึ่งเข้าเฝ้าฯ จักรพรรดิฮิโรฮิโตะมา บอกว่ามันเป็นไปไม่ได้ที่จะทำสงครามต่อ โทโงกล่าวว่าพวกเขาอาจจะยอมรับเงื่อนไขในปฏิญญาพ็อทซ์ดัม แต่ต้องมีการรับประกันตำแหน่งจักรพรรดิไว้ โยไน รัฐมนตรีทหารเรือ บอกว่าญี่ปุ่นต้องจัดทำข้อเสนอทางการทูต เพราะไม่สามารถรอและหวังให้สถานการณ์ดีขึ้นต่อไปได้อีกแล้ว

ในระหว่างการประชุม หลังเวลา 11:00 น. ไม่นาน มีข่าวถึงสภาสูงสุดว่า มีการทิ้งระเบิดปรมาณูลูกที่สอง (สหรัฐเรียกว่า "แฟตแมน") เหนือนางาซากิซึ่งตั้งอยู่ทางชายฝั่งตะวันตกของคีวชู เมื่อการประชุมสิ้นสุดลง บิกซิกซ์แตกออกเป็น 2 ฝ่าย: ซูซูกิ, โทโง และพลเรือเอก โยไน สนับสนุนเงื่อนไขเพิ่มเติมอีกหนึ่งข้อที่โทโงเสนอต่อปฏิญญาพ็อทซ์ดัม ขณะที่ พลเอกอานามิ, พลเอกอูเมซุ และพลเรือเอกโทโยดะ ยืนหยัดให้มีการแก้ไขเงื่อนไข 3 ข้อในพ็อทซ์ดัม คือญี่ปุ่นจะเป็นผู้ดำเนินการการปลดอาวุธเอง, ญี่ปุ่นจะจัดการกับอาชญากรสงครามชาวญี่ปุ่นเอง และจะต้องไม่มีการเข้ายึดครองญี่ปุ่น[97]

ภายหลังการทิ้งระเบิดที่นางาซากิ ทรูแมนออกแถลงการณ์อีกครั้ง:

รัฐบาลสหราชอาณาจักร, จีน และสหรัฐ ได้ให้คำเตือนที่เพียงพอต่อชาวญี่ปุ่นว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับพวกเขาแล้ว พวกเราได้วางเงื่อนไขทั่วไปในระดับที่พวกเขาสามารถยอมจำนนได้ คำเตือนของเราถูกมองข้าม และเงื่อนไขของเราถูกปฏิเสธ นับแต่จากนั้น ญี่ปุ่นได้เห็นแล้วว่าระเบิดปรมาณูของเราทำอะไรได้บ้าง และพวกเขาสามารถคาดการณ์ได้ว่ามันจะสามารถทำอะไรได้อีกในอนาคต

ทั้งโลกจะจดจำว่าระเบิดปรมาณูลูกแรกนั้นถูกทิ้งที่ฮิโรชิมะซึ่งเป็นฐานทัพทหาร นั่นเป็นเพราะว่าพวกเราคาดหวังว่าการโจมตีครั้งแรกนี้จะเป็นการหลีกเลี่ยงความสูญเสียของประชาชน แต่การโจมตีนั้นเป็นเพียงคำเตือนของสิ่งที่จะเกิดขึ้นอีกเท่านั้น หากญี่ปุ่นไม่ยอมจำนน จะมีการทิ้งระเบิดที่โรงงานสงคราม และประชาชนนับพันจะต้องสูญเสียชีวิตอย่างน่าเสียดาย เราขอให้ชาวญี่ปุ่นหนีออกจากเมืองโรงงานทันที เพื่อรักษาชีวิตของตนจากความเสียหายที่จะเกิดขึ้น

เราตระหนักถึงนัยสำคัญอันน่าโศกสลดของระเบิดปรมาณู

รัฐบาลนี้ไม่ได้เข้าควบคุมการผลิตและการใช้ระเบิดแม้แต่น้อย หากเพียงเรารู้ว่าศัตรูของพวกเรากำลังตามหามัน ตอนนี้พวกเรารู้ว่าพวกเขาเข้าใกล้ถึงมันมากเพียงใด และพวกเรารู้ว่าจะเกิดความหายนะต่อประเทศนี้ และต่อทุกประเทศที่รักสันติภาพ ต่ออนารยธรรมทุกแห่ง หากพวกเขาหามันเจอก่อน

นี่เป็นสาเหตุว่าทำไมเราถึงรู้สึกสนใจที่จะเข้ากำกับดูแลการวิจัยและการผลิตที่ยาวนานและไม่แน่นอน และใช้งบประมาณมหาศาลแก่แรงงาน

เราชนะการแข่งขันวิจัยกับเยอรมนี

เมื่อพวกเราได้วิจัยระเบิดที่เราจะนำมาใช้ เรานำมันมาใช้กับผู้ใดที่โจมตีพวกเราโดยไม่มีคำเตือนที่เพิร์ลฮาร์เบอร์ กับผู้ใดที่กระทำทารุณและสังหารเชลยศึกชาวอเมริกัน กับผู้ใดที่ละทิ้งการปฏิบัติตามกฎหมายสงครามทุกประการแม้จะต้องเสแสร้งทำก็ตาม พวกเราได้ใช้มันเพื่อให้เวลาแห่งสงครามอันน่าเจ็บปวดสั้นลง และเพื่อช่วยชีวิตชาวอเมริกันวัยหนุ่มนับพันนับหมื่นจากความสูญเสีย

เราจะใช้มันต่อไปจนกว่าอำนาจของญี่ปุ่นในการทำสงครามจนสูญสิ้นไปอย่างราบคาบ มีเพียงการยอมจำนนของญี่ปุ่นเท่านั้นที่จะหยุดเราได้[98]

การหารือยอมจำนน[แก้]

รัฐมนตรีการสงคราม โคเรจิกะ อานามิ

มีการประชุมคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นเต็มคณะเมื่อเวลา 14:30 น. ของวันที่ 9 สิงหาคม และใช้เวลาเกือบทั้งวันถกเถียงเรื่องการยอมจำนน เสียงของคณะรัฐมนตรีแตกเหมือนบิกซิกซ์ที่ผ่านมา โดยทั้งจุดยืนของโทโงหรืออานามิต่างไม่ได้เสียงข้างมากในคณะรัฐมนตรี[99] อานามิบอกรัฐมนตรีคนอื่น ๆ ว่านักบินเครื่องบินอเมริกัน พี-51 มัสแตงที่ถูกซ้อมทรมาน มาร์คัส แม็กดิลดา บอกกับเจ้าหน้าที่สอบสวนว่าสหรัฐมีระเบิดปรมาณูอยู่ในครอบครองกว่า 100 ลูก อีกทั้งยังบอกว่า โตเกียว และเกียวโตจะถูกทำลาย "ในอีกไม่กี่วันข้างหน้า"[100]

ในความเป็นจริง สหรัฐจะมีระเบิดลูกที่ 3 พร้อมให้ใช้เมื่อถึงช่วงวันที่ 19 สิงหาคม และลูกที่ 4 ในเดือนกันยายน[101] อย่างไรก็ดี ผู้นำญี่ปุ่นไม่มีทางรู้ถึงขนาดคลังแสงของสหรัฐ และกลัวว่าสหรัฐอาจมีความสามารถที่ไม่เพียงทำลายล้างแค่เมือง ๆ หนึ่ง แต่อาจฆ่าล้างชาวญี่ปุ่นทั้งเชื้อชาติและทั้งประเทศ และแน่นอนว่าอานามิแสดงความปรารถนาที่จะให้เกิดผลลัพธ์นี้เสียมากกว่าการยอมจำนน โดยระบุว่ามัน "จะไม่น่าอัศจรรย์กว่าหรือ หากทั้งประเทศถูกทำลายดั่งดอกไม้ที่สวยงาม"[102]

การประชุมคณะรัฐมนตรีที่ถูกเลื่อนมาเวลา 17:30 น. จบลงโดยไม่มีมติในที่ประชุม การประชุมครั้งที่สองตั้งแต่เวลา 18:00 น. ถึง 22:00 น. ได้ข้อสรุปว่าไม่มีฉันทามติเช่นกัน หลังการประชุมครั้งที่สองนี้ ซูซูกิและโทโงเข้าเฝ้าฯ จักรพรรดิฮิโรฮิโตะ และซูซูกิเสนอให้มีการเรียกประชุมสันนิบาตจักรพรรดิ (โกเซ็งไคงิ) โดยด่วน ซึ่งเริ่มขึ้นก่อนเที่ยงคืนของคืนวันที่ 9–10 สิงหาคม[103] ซูซูกิให้ข้อเสนอ 4 เงื่อนไขของอานามิเป็นฉันทามติของสภาสูงสุด สมาชิกคนอื่นของสภาสูงสุดกล่าวว่า เมื่อ คิอิจิโร ฮิรานูมะ ประธานองคมนตรี ผู้สรุปว่าญี่ปุ่นสูญเสียความสามารถในการปกป้องตนเอง และระบุถึงปัญหาภายในประเทศของญี่ปุ่นอย่างสภาวะขาดแคลนอาหาร คณะรัฐมนตรีประชุมกันแต่ไม่ได้ข้อสรุป ท้ายสุดเมื่อเวลาประมาณ 02:00 น. (10 สิงหาคม) ซูซูกิกราบบังคมทูลจักรพรรดิฮิโรฮิโตะให้ทรงเลือกระหว่าง 2 จุดยืนดังกล่าว จักรพรรดิตรัสว่า:

เราได้ไตร่ตรองอย่างถี่ถ้วนต่อสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นทั้งที่ประเทศของเราและในต่างแดน และได้สรุปว่า การทำสงครามต่อไปจะมีเพียงแต่การทำให้ชาติเราถูกทำลายล้าง อีกทั้งจะเป็นการยืดเวลาการนองเลือดและการทารุณในโลกของเรา เราไม่อาจทนเห็นบุคคลผู้บริสุทธิ์ต้องทุกข์ทนอีกต่อไป ...

ผู้ที่สนับสนุนให้มีการสู้รบต่อไปบอกกับเราว่า ภายในเดือนมิถุนายนจะมีกองพลเข้าหนุน ณ ฐานที่มั่น [ที่หาดคูจูกูริทางตะวันออกของโตเกียว] ตั้งพร้อมสำหรับการรุกรานของข้าศึกที่จะยกพลขึ้นบก ตอนนี้ถึงเดือนสิงหาคมแล้ว และการตั้งฐานที่มั่นยังไม่สำเร็จ ...

มีผู้กล่าวว่ากุญแจสู่การอยู่รอดของประเทศชาติขึ้นอยู่ที่สมรภูมิชี้ขาดในบ้านเกิดของเรา อย่างไรก็ดี ประสบการณ์ที่เราสะสมมาแต่อดีตได้สำแดงให้เห็นว่า แผนที่วางไว้กับการลงมือปฏิบัติจริงมักไม่ลงรอยกันมาโดยเสมอ เราไม่เชื่อว่าความไม่ลงรอยนี้ในกรณีของหาดคูจูกูริจะสามารถแก้ไขได้ เมื่อคำนึงถึงสภาวการณ์ในปัจจุบัน เราจะขับไล่ข้าศึกได้อย่างไร [ต่อมา พระองค์ทรงอ้างอย่างเฉพาะเจาะจงถึงแรงทำลายล้างที่เพิ่มมากขึ้นของระเบิดปรมาณู]

เป็นที่แน่ชัดแล้วว่าเราไม่อาจสามารถทนเห็นทหารที่กล้าหาญและภักดีของญี่ปุ่นต้องยอมสละอาวุธ และเราไม่อาจสามารถทนได้อย่างเท่า ๆ กัน ที่ผู้ซึ่งช่วยราชการแผ่นดินด้วยความวิริยะต้องถูกลงโทษในฐานะผู้บงการสงคราม แม้กระนั้น เวลาของการยอมทนในสิ่งที่ยากจะทนได้มาถึง ...

เราจะหักห้ามความรู้สึกไม่ให้เป็นที่ประจักษ์ และเห็นชอบต่อข้อเสนอที่จะยอมรับประกาศของฝ่ายสัมพันธมิตรตามที่ร่างโดย [โทโง] รัฐมนตรีการต่างประเทศ[104]

พลเอก ซูมิฮิซะ อิเกดะ และ พลเรือเอก เซ็นชิโร โฮชินะ ระบุว่า หลังพระราชดำรัสของพระองค์สิ้นสุดลง ฮิรานูมะ ประธานองคมนตรี หันไปทางจักรพรรดิและถามพระองค์ว่า: "ขอเดชะฯ​ พระองค์เองทรงมีส่วนที่ต้องรับผิดชอบ (เซกินิง) สำหรับความปราชัยนี้ ท่านจะมีคำขอโทษใดที่จะให้แก่องค์ปฐมจักรพรรดิผู้สถาปนาราชวงศ์ที่แสดงวีรกรรมอันกล้าหาญ และพระบรมอรรคราชบรรพบุรุษพระองค์อื่น ๆ"[105]

เมื่อจักรพรรดิฮิโรฮิโตะเสด็จออก ซูซูกิผลักดันให้คณะรัฐมนตรีรับสั่งตามพระราชประสงค์ของจักรพรรดิเป็นผลสำเร็จ ช่วงเช้าของวันเดียวกัน (10 สิงหาคม) กระทรวงการต่างประเทศส่งข้อความทางโทรเลขแก่ฝ่ายสัมพันธมิตร (ผ่าน มัคส์ เกร็สลี ประจำกระทรวงการต่างประเทศสวิตเซอร์แลนด์) ประกาศว่าญี่ปุ่นจะยอมรับปฏิญญาพ็อทซ์ดัม แต่จะไม่ยอมรับเงื่อนไขสันติภาพใดที่จะเป็นการ "เดียดฉันท์พระราชอำนาจ" ของจักรพรรดิ ซึ่งหมายความว่าจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองของญี่ปุ่น และจักรพรรดิของญี่ปุ่นจะยังคงเป็นผู้ทรงอำนาจที่แท้จริง[106]

12 สิงหาคม[แก้]

คำตอบรับต่อการยอมรับปฏิญญาพ็อทซ์ดัมของญี่ปุ่นเขียนโดย เจมส์ เอฟ. เบินส์ และอนุมัติโดยรัฐบาลสหราชอาณาจักร, จีน และโซเวียต อย่างไรก็ดี โซเวียตเห็นชอบอย่างไม่เต็มใจ ฝ่ายสัมพันธมิตรส่งคำตอบรับ (ผ่านกระทรวงการต่างประเทศสวิตเซอร์แลนด์) เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม โดยได้กล่าวถึงตำแหน่งของจักรพรรดิว่า:

ตั้งแต่เวลาที่มีการยอมจำนน อำนาจของจักรพรรดิและรัฐบาลญี่ปุ่นในการปกครองประเทศจะตกเป็นของผู้บัญชาการสูงสุดของฝ่ายสัมพันธมิตรซึ่งจะดำเนินการใด ๆ ที่เห็นสมควรว่าจะเป็นการเหมาะสมต่อการสัมฤทธิ์ผลของเงื่อนไขการยอมจำนน ... ระบอบการปกครองของญี่ปุ่น ท้ายสุด จะเป็นไปตามปฏิญญาพ็อทซ์ดัม และจะสถาปนาโดยเจตจำนงเสรีของชาวญี่ปุ่น[107]

ประธานาธิบดีทรูแมนออกคำสั่งไม่ให้มีการทิ้งอาวุธปรมาณูเหนือญี่ปุ่นอีกหากไม่มีคำสั่ง[108] แต่อนุญาตให้มีปฏิบัติการทางทหาร (รวมถึงการทิ้งระเบิดปูพรมของเครื่องบินรบบี-29) ต่อไปจนกว่าญี่ปุ่นจะประกาศยอมจำนนอย่างเป็นทางการ อย่างไรก็ดี สื่อมวลชนตีความความเห็นของ พลเอก คาร์ล สปาตซ์ ผู้บังคับการกองทัพอากาศทางยุทธศาสตร์สหรัฐในแปซิฟิก ผิดพลาดไปว่าบี-29 จะไม่ออกบินในวันที่ 11 สิงหาคม (เพราะสภาพอากาศแย่) เป็นถ้อยแถลงว่าการหยุดยิงยังอยู่ระหว่างใช้บังคับ เพื่อหลีกเลี่ยงการให้ญี่ปุ่นรู้สึกว่าฝ่ายสัมพันธมิตรได้ล้มเลิกความพยายามนำสันติภาพมาให้สำเร็จและเริ่มการทิ้งระเบิดอีกครั้ง ทรูแมนสั่งหยุดการทิ้งระเบิดเพิ่มเติมต่อจากนี้[109][110]

คณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นพิจารณาถึงคำตอบรับของฝ่ายสัมพันธมิตร และซูซูกิโต้ว่าต้องปฏิเสธและยืนหยัดว่าจะต้องมีการรับประกันอย่างหนักแน่นว่าจะคงระบบจักรพรรดิไว้ อานามิกล่าวย้อนกลับไปยังจุดยืนเดิมของตนว่าจะต้องไม่มีการบุกครองญี่ปุ่น หลังจากนั้น โทโงบอกกับซูซูกิว่าไม่มีความหวังที่ฝ่ายสัมพันธมิตรจะยื่นข้อเสนอที่ดีกว่านี้ได้ และคิโดะได้แสดงความปรารถนาของพระองค์ที่จะให้ญี่ปุ่นยอมจำนนแล้ว ในการประชุมกับจักรพรรดิฮิโรฮิโตะ โยไนกล่าวถึงความกังวลเกี่ยวกับการก่อความไม่สงบที่กำลังเพิ่มขึ้น:

ผมคิดว่าเงื่อนไขนี้ไม่เหมาะสม แต่ระเบิดปรมาณูและการที่โซเวียตเข้าสู่สงครามนั้น อาจมองได้ว่าเป็นของขวัญจากพระผู้เป็นเจ้า หากมองเช่นนี้เราจะได้ไม่ต้องพูดว่าเราต้องออกจากสงครามเพราะสภาวการณ์ภายในของประเทศ[111]

ในวันนั้น จักรพรรดิฮิโรฮิโตะแจ้งกับราชวงศ์ถึงการตัดสินใจยอมจำนน พระปิตุลา (ลุง) เจ้าชายยาซูฮิโกะ ตรัสถามถึงความจำเป็นในการดำเนินสงครามต่อไป หากไม่สามารถรักษาโคกูไต (อำนาจสูงสุดแห่งองค์จักรพรรดิ) ไว้ได้ พระองค์ทรงตอบเพียงว่า "แน่นอน"[112][113]

13–14 สิงหาคม[แก้]

เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม เครื่องบินบี-29 โปรยใบปลิวชวนเชื่อเหนือญี่ปุ่นตามคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญด้านการปฏิบัติการจิตวิทยาชาวอเมริกัน ระบุข้อเสนอของญี่ปุ่นให้ยอมจำนนและคำตอบกลับของฝ่ายสัมพันธมิตร[114] ใบปลิวส่วนหนึ่งซึ่งตกลงที่พระราชวังหลวงซึ่งเป็นสถานที่ที่จักรพรรดิและองคมนตรีมาพบเพื่อหารือกัน มีผลอย่างยิ่งต่อกระบวนการตัดสินใจของญี่ปุ่น และเป็นที่แน่ชัดว่าการยอมรับเงื่อนไขของฝ่ายสัมพันธมิตรทุกประการและทั้งสิ้นแม้จะต้องยุบรัฐบาลที่เคยมีอยู่ เป็นหนทางเดียวที่จะทำให้เกิดสันติภาพได้[114] บิกซิกส์และคณะรัฐมนตรีถกเถียงวิธีการตอบรับฝ่ายสัมพันธมิตรจนถึงดึกแต่ไม่ได้ข้อสรุป ขณะที่ฝ่ายสัมพันธมิตรรอคำตอบจากญี่ปุ่นอย่างเคลือบแคลงใจ ญี่ปุ่นได้รับคำสั่งให้ส่งผ่านคำตอบรับโดยไม่มีเงื่อนไขที่ชัดเจน แต่พวกเขาส่งข้อความเข้ารหัสในเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเจรจายอมจำนนแทน ฝ่ายสัมพันธมิตรมองว่าคำตอบรับผ่านการเข้ารหัสนี้ไม่ใช่การยอมรับต่อเงื่อนไข[114]

ใบปลิวที่โปรยลงมาเหนือญี่ปุ่นหลังการทิ้งระเบิดที่ฮิโรชิมะ ใบปลิวระบุว่า: ชาวญี่ปุ่นกำลังเผชิญกับฤดูใบไม้ผลิที่สำคัญอย่างยิ่งยวด ผู้นำทหารของคุณได้รับข้อเสนอการยอมจำนน 13 ข้อโดยฝ่ายสัมพันธมิตร 3 ประเทศ เพื่อสิ้นสุดสงครามที่ไม่ก่อผลดีนี้ลง ผู้นำกองทัพของพวกคุณเพิกเฉยต่อข้อเสนอนี้... สหรัฐได้พัฒนาระเบิดปรมาณู ซึ่งไม่เคยมีชาติไหนเคยทำมาก่อน และเราจะใช้ระเบิดที่น่าหวาดกลัวนี้ ระเบิดปรมาณู 1 ลูกมีพลังทำลายล้างเทียบเท่าเครื่องบินบี-29 2,000 ลำ

ฝ่ายสัมพันธมิตรยังสามารถตรวจจับการดำเนินการด้านการทูตและการทหารที่เพิ่มขึ้นผ่านคลื่นสกัดกั้นอัลตรา ซึ่งใช้เป็นหลักฐานว่าญี่ปุ่นกำลังเตรียม "การโจมตีบันไซเต็มรูปแบบ"[114] ประธานาธิบดีทรูแมนสั่งให้มีการโจมตีญี่ปุ่นอย่างสุดกำลังอีกครั้ง "เพื่อเป็นการส่งสัญญาณให้ญี่ปุ่นรู้ว่าพวกเราต้องการให้ยอมรับข้อเสนอสันติภาพอย่างจริงจังและเอาจริงโดยไม่ล่าช้า"[114] ในสงครามแปซิฟิกซึ่งมีการโจมตีโฉบฉวบด้วยการทิ้งระเบิดที่ใหญ่ที่สุดและยาวนานที่สุด เครื่องบินรบบี-29 มากกว่า 400 ลำ โจมตีญี่ปุ่นในช่วงกลางวันของวันที่ 14 สิงหาคม และมากกว่า 300 ลำในช่วงกลางคืน[115][116] เครื่องบินรบทั้งสิ้น 1,014 ลำ ออกปฏิบัติการโดยไม่มีลำใดสูญเสียไป[117] เครื่องบินบี-29 จากกองบินทิ้งระเบิดที่ 315 บินที่ความสูง 6,100 กิโลเมตร (3,800 ไมล์) เพื่อโจมตีบริษัทโรงกลั่นน้ำมันนิปปง ที่สึจิซากิซึ่งตั้งอยู่จุดเหนือสุดของฮนชู โรงกลั่นน้ำมันนิปปงเป็นโรงกลั่นที่ยังคงทำงานอยู่โรงสุดท้ายบนเกาะแผ่นดินใหญ่ญี่ปุ่น โดยทำหน้าที่เป็นแหล่งผลิตน้ำมันร้อยละ 67 ของประเทศ[118] การโจมตีต่อเนื่องไปจนกว่ามีการประกาศยอมจำนน และประปรายหลังประกาศยอมจำนน[119]

ทรูแมนสั่งให้หยุดการทิ้งระเบิดปรมาณูเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม หลังได้ข่าวว่าระเบิดอีกลูกพร้อมให้ใช้กับญี่ปุ่นในอีกราวสัปดาห์ เขาบอกกับคณะรัฐมนตรีว่าเขาจะไม่สนับสนุนความคิดการฆ่า "เด็กพวกนั้น"[108] อย่างไรก็ดี เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม ทรูแมนกล่าวด้วย "ความเศร้าโศก" กับเอกอัครราชทูตอังกฤษว่า "ตอนนี้เขาไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องสั่งให้ทิ้งระเบิดปรมาณูที่โตเกียว"[120] ตามที่เหล่าทหารเสนาธิการได้ให้เสียงสนับสนุน[121]

เมื่อเช้าของวันที่ 14 สิงหาคม เริ่มขึ้น ซูซูกิ คิโด และจักรพรรดิฮิโรฮิโตะตระหนักว่าวันนี้อาจจบลงด้วยไม่การยอมรับเงื่อนไขของอเมริกันหรือการรัฐประหาร[122] พระองค์ทรงพบกับทหารบกและทหารเรือที่อาวุโสที่สุด ขณะที่หลายนายกล่าวสนับสนุนให้สู้ต่อไป จอมพล ชุนโรกุ ฮาตะ คัดค้าน ในฐานะผู้บัญชาการกองพลที่ 2 ซึ่งเคยมีกองบัญชาการตั้งอยู่ที่ฮิโรชิมะ จอมพลฮาตะเป็นผู้บัญชาทุกหน่วยทหารที่ตั้งรับญี่ปุ่นตอนใต้ซึ่งเตรียมพร้อมที่จะต่อสู้ใน "สมรภูมิชี้ขาด" ฮาตะบอกว่าเขาไม่มีความมั่นใจในการสู้ศึกรุกรานนี้ และไม่ขัดข้องต่อการตัดสินพระราชหฤทัยของจักรพรรดิฮิโรฮิโตะ พระองค์ทรงขอให้ผู้นำทหารอนุเคราะห์การสิ้นสุดสงครามร่วมกับพระองค์[122]

ในการประชุมกับคณะรัฐมนตรีและที่ปรึกษาคนอื่น อานามิ, โทโยดะ และอูเมซุ ยังคงกล่าวสนับสนุนให้สู้ศึก โดยต่อมาจักรพรรดิฮิโรฮิโตะตรัสว่า:

เราได้ฟังทุกข้อคัดค้านมุมมองที่ว่าญี่ปุ่นควรยอมรับคำตอบกลับของฝ่ายสัมพันธมิตร ณ ปัจจุบัน โดยปราศจากข้อกังขาหรือการแก้ไขเพิ่มเติม แต่ความคิดของเรานั้นยังคงไม่เปลี่ยนแปลง ... เพื่อที่จะให้ประชาชนรู้ถึงการตัดสินใจของเรา เราร้องขอให้ท่านเตรียมร่างพระราชหัตถเลขาโดยพลัน เราจึงจะได้ออกประกาศแก่ประชาชน ท้ายสุดนี้ เราขอให้ทุกท่านทุกคนใช้ความพยายามสูงสุดเพื่อเรารับมือกับการเผชิญวันอันน่าลำบากที่รอเราอยู่ข้างหน้า[123]

คณะรัฐมนตรีได้รวมตัวกันโดยเร็วและรับสั่งตามพระราชประสงค์ของพระองค์โดยพร้อมใจ พวกเขายังตัดสินใจทำลายเอกสารจำนวนมากหลายฉบับที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมสงคราม และความรับผิดในสงครามของผู้นำประเทศสูงสุดหลายคน[124] ทันทีหลังการประชุม กระทรวงการต่างประเทศส่งผ่านคำสั่งกับสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นในสวิตเซอร์แลนด์และสวีแดนให้ยอมรับเงื่อนไขยอมจำนนของฝ่ายสัมพันธมิตร สหรัฐได้รับคำสั่งเหล่านี้เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม เวลา 02:49 น.[123]

พบความยากลำบากในการติดต่อกับผู้บัญชาการที่ตั้งอยู่แนวรบห่างไกล มีการส่งเจ้าชายที่ทรงปฏิบัติราชการทัพในวันที่ 14 สิงหาคม ไปยังแนวรบต่าง ๆ เพื่อส่งข่าวให้ด้วยพระองค์เอง เจ้าชายสึเนโยชิ ทาเกดะ เสด็จไปเกาหลีและแมนจูเรีย เจ้าชายยาซูฮิโกะ อาซากะ เสด็จไปกองกำลังรบนอกประเทศจีนและกองเรือจีน และ เจ้าชายคันอิง ฮารูฮิโตะ เสด็จไปเชี่ยงไฮ้, จีนตอนใต้, อินโดจีน และสิงคโปร์[125][126]

เนื้อความของพระราชหัตถเลขายอมจำนนร่างแล้วเสร็จเมื่อเวลา 19:00 น. ของวันที่ 14 สิงหาคม คัดโดยอาลักษณ์หลวงพระราชสำนัก และนำส่งให้คณะรัฐมนตรีลงนาม เวลาประมาณ 23:00 น. จักรพรรดิฮิโรฮิโตะ โดยความช่วยเหลือจากทีมบันทึกเสียงเอ็นเอชเค จัดทำแผ่นเสียงพระสุรเสียงของพระองค์ทรงอ่านข้อความในพระราชหัตถเลขา[127] และส่งให้แก่จางวางหลวงพระราชสำนัก โยชิฮิโระ โทกูงาวะ ซึ่งได้ซ่อนแผ่นเสียงไว้ในห้องทำงานของราชเลขาธิการในจักรพรรดินีโคจุง[128]

ความพยายามรัฐประหาร (12–15 สิงหาคม)[แก้]

เค็นจิ ฮาตานากะ ผู้นำการรัฐประหาร

กลางดึกของคืนวันที่ 12 สิงหาคม ค.ศ. 1945 พันตรี เค็นจิ ฮาตานากะ ร่วมด้วย พันโท มาซาตากะ อิดะ, มาซาฮิโกะ ทาเกชิตะ (พี่เขยของอานามิ) และ อินาบะ มาซาโอะ และ พันเอก โอกิกัตสึ อาราโอะ ผู้บัญชาการฝ่ายกิจการทหาร พูดคุยกับรัฐมนตรีการสงคราม โคเรจิกะ อานามิ (รัฐมนตรีทหารบกและ "ผู้ทรงอำนาจที่สุดในญี่ปุ่นรองจากจักรพรรดิ")[129] และร้องขอให้เขาทำทุกอย่างเท่าที่ทำได้เพื่อยับยั้งการยอมรับปฏิญญาพ็อทซ์ดัม พลเอกอานามิปฏิเสธที่จะพูดว่าจะให้ความช่วยเหลือแก่เหล่าทหารหนุ่มในการก่อกบฏ[130] โดยคำนึงว่าการสนับสนุนของเขานั้นจำเป็นต่อการก่อรัฐประหาร ฮาตานากะและผู้ก่อการคนอื่นไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากวางแผนและเตรียมการต่อไปด้วยตนเอง ฮาตานากะใช้เวลาเกือบทั้งวันของวันที่ 13 สิงหาคม และช่วงเช้าของวันที่ 14 สิงหาคมในการรวบรวมพันธมิตร แสวงหาเสียงสนับสนุนจากข้าราชการอาวุโสตามกระทรวงต่าง ๆ และทำให้แผนของเขาไร้ที่ติ[131]

ไม่นานหลังการประชุมในคืนวันที่ 13–14 สิงหาคมซึ่งมีการตกลงว่าจะยอมจำนน กลุ่มของนายทหารชั้นยศสูง รวมถึงอานามิ มาพร้อมกันที่ห้องใกล้ ๆ กัน ทุกคนที่อยู่ที่นั่นกังวลถึงความเป็นไปได้ที่จะเกิดรัฐประหารเพื่อยับยั้งการยอมจำนน บางส่วนที่อยู่ในที่ประชุมถึงขั้นคิดจะก่อรัฐประหารด้วยตนเอง หลังเสียงเงียบ พลเอก โทราชิโร คาวาเบะ เสนอให้นายทหารอาวุโสที่อยู่ในที่ประชุมลงนามความตกลงในการรับพระราชกระแสของจักรพรรดิให้ยอมจำนน โดยระบุว่า "กองทัพจะปฏิบัติตามพระราชวินิจฉัยของพระองค์จนถึงที่สุด" นายทหารชั้นยศสูง ณ ที่ประชุมทุกนายลงนามในความตกลง รวมถึง อานามิ, ฮาจิเมะ ซูงิยามะ, โยชิจิโร อูเมซุ, เค็นจิ โดอิฮาระ, โทราชิโร คาวาเบะ, มาซากาซุ คาวาเบะ และ ทาดาอิจิ วากามัตสึ "ข้อตกลงลายลักษณ์อักษรนี้ที่นายทหารอาวุโสในกองทัพลงนาม ... เปรียบดั่งแนวกันไฟที่น่าเกรงขามต่อความพยายามใด ๆ ในการก่อรัฐประหารในโตเกียว"[132]

ชิซูอิจิ ทานากะ โน้มน้าวให้นายทหารผู้ก่อกบฏยอมถอยกลับ ทานากะฆ่าตัวตายเก้าวันให้หลัง

เมื่อเวลาประมาณ 21:30 น. ของวันที่ 14 สิงหาคม ผู้ก่อการกบฏของฮาตานากะเริ่มปฏิบัติการตามแผน กรมทหารที่ 2 ทหารรักษาพระองค์ที่ 1 เข้าไปยังพื้นที่ของพระราชวัง ผนวกกำลังกับกองพันที่ประจำอยู่ที่นั่นแล้ว มีการสันนิษฐานว่าเป็นการเพิ่มความคุ้มกันให้แก่ผู้ก่อการกบฏของฮาตานากะ แต่ฮาตานากะร่วมด้วย พันโท จิโร ชีซากิ โน้มน้าว พันเอก โทโยจิโร ฮางะ ผู้บังคับการกรมทหารที่ 2 ทหารรักษาพระองค์ที่ 1 ถึงเหตุผลของตนเองโดยกล่าว (ความเท็จ) กับเขาว่า ทั้งพลเอกอานามิและอูเมซุ และผู้บัญชาการกองทัพบกมณฆลตะวันออก และกองทหารรักษาพระองค์ เป็นส่วนหนึ่งของขบวนการนี้ด้วย ฮาตานากะยังไปที่สำนักงานของ ชิซูอิจิ ทานากะ ผู้บัญชาการกองทัพบกมณฆลตะวันออก เพื่อโน้มน้าวให้เขาเข้าร่วมการก่อรัฐประหาร ทานากะปฏิเสธ และสั่งให้ฮาตานากะยอมถอยกลับ แต่ฮาตานากะปฏิเสธคำสั่ง[128]

โดยแต่เดิม ฮาตานากะหวังเพียงแค่ยึดพระราชวังเพื่อเป็นการแสดงถึงจุดเริ่มต้นของการกบฏซึ่งจะผลักดันให้กองทัพที่เหลือลุกฮือต่อต้านการยอมจำนน ความคิดนี้กินเวลาวันและชั่วโมงท้าย ๆ ของการก่อกบฏ และหลงผิดเดินหน้าแผนต่อแม้จะได้รับแรงสนับสนุนเพียงเล็กน้อยจากเจ้านายของเขา เมื่อทุกกลุ่มประจำอยู่ ณ จุดที่วางแผนไว้ ฮาตานากะและผู้สมรู้ร่วมคิดตัดสินใจให้ทหารรักษาพระองค์เข้ายึดพระราชวังตอน 02:00 น. โดยหลายชั่วโมงก่อนหน้านั้นเป็นความพยายามโน้มน้าวนายทหารอาวุโสของกองทัพให้เข้าร่วมการก่อรัฐประหารอย่างต่อเนื่อง ในเวลาใกล้เคียงกัน พลเอก อานามิกระทำเซ็ปปูกุ ทิ้งข้อความลาว่า "ผม ด้วยการตายของผม ขอเดชะพระอาญาไม่พ้นเกล้าสมเด็จพระจักรพรรดิต่ออาชญากรรมอันยิ่งใหญ่ที่ได้กระทำ"[133] ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าอาชญากรรมที่อานามิกล่าวถึง เป็นความพ่ายแพ้ต่อสงคราม หรือการก่อรัฐประหาร[134]

หลังเวลา 01:00 น. ได้ไม่นาน ฮาตานากะและคนของเขาล้อมพระราชวัง ฮาตานากะ, ชีซากิ, อิดะ และเรืออากาศเอก ชิเงตาโร อูเอฮาระ (จากโรงเรียนนายเรืออากาศ) ไปยังสำนักงานของพลโท ทาเกชิ โมริ เพื่อขอให้เขาเข้าร่วมการก่อรัฐประหาร ณ ขณะนั้น โมริอยู่ในการประชุมกับ มิชิโนริ ชิราอิชิ น้องเขยของเขา ความร่วมมือของโมริในฐานะผู้บังคับการกองทหารรักษาพระองค์ที่ 1 นั้นจำเป็น เมื่อโมริปฏิเสธที่จะให้ความช่วยเหลือ ฮาตานากะฆ่าเขา โดยกังวลว่าโมริจะสั่งให้ทหารรักษาพระองค์หยุดการก่อกบฏ[135] อูเอฮาระฆ่าชิราอิชิ การฆาตกรรมของทั้งสองเป็นการฆาตกรรมเดียวในคืนนั้น ต่อมาฮาตานากะใช้ตราประทับของพลเอกโมริในการอนุมัติคำสั่งยุทธศาสตร์กองทหารรักษาพระองค์ที่ 584 ซึ่งเป็นชุดของคำสั่งเท็จออกโดยผู้ร่วมสมรู้ร่วมคิดของฮาตานากะซึ่งจะเพิ่มกำลังพลในการยึดพระราชวังหลวง และกระทรวงพระราชวัง และเป็นการถวาย "อารักขา" แด่จักรพรรดิฮิโรฮิโตะ[136]

ตำรวจวังถูกยึดอาวุธและประตูทางเข้าทุกทางถูกกีดขวาง[127] ตลอดทั้งคืน กบฏของฮาตานากะจับและกักขังคนได้ 18 คน รวมถึงข้าราชการกระทรวงและพนักงานเอ็นเอชเคที่มาทำหน้าที่บันทึกพระสุรเสียงยอมจำนน[127]

กบฏภายใต้การนำของฮาตานากะใช้เวลาอีกหลายชั่วโมงต่อมาเพื่อตามหารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพระราชวัง โซตาโร อิชิวาตะ ผู้รักษาพระราชลัญจกร โคอิจิ คิโด และแผ่นเสียงประกาศยอมจำนนอย่างไร้ซึ่งประโยชน์ ทั้งสองซ่อนตนอยู่ใน "ห้องนิรภัย" โถงขนาดใหญ่ใต้พระราชวัง[137][138] การตามหายากขึ้นเพราะการพรางไฟ (blackout) ด้วยการทิ้งระเบิดของฝ่ายสัมพันธมิตรและผังโครงสร้างที่โบราณของอาคารกระทรวงสำนักพระราชวัง ชื่อห้องหลายห้องไม่เป็นที่รู้จักของฝ่ายกบฏ แม้จะเป็นเช่นนั้น พวกเขาพบตัวจางวางหลวง โยชิฮิโระ โทกูงาวะ แม้ฮาตานากะขู่เข็ญว่าจะคว้านท้องเขาด้วยดาบซามูไร โทกูงาวะโกหกว่าเขาไม่รู้ว่าแผ่นเสียงหรือบุคคลที่ตามหาอยู่ที่ใด[139][140]

ในเวลาไล่เลี่ยกัน กบฏของฮาตานากะอีกกลุ่มนำโดย ร้อยเอก ทาเกโอะ ซาซากิ ไปยังสำนักนายกรัฐมนตรีซูซูกิหวังจะฆ่าเขา เมื่อถึงแล้วไม่พบใครอยู่จึงกราดยิงด้วยปืนกลใส่สำนักงานและวางเพลิง จากนั้นจึงออกไปตามหาที่บ้านพักของเขา ฮิซัตสึเนะ ซาโกมิซุ เลขาธิการคณะรัฐมนตรี เตือนซูซูกิ และสามารถหนีออกมาได้ทันเพียงไม่กี่นาทีก่อนจะกบฏของฮาตานากะจะมาถึง หลังวางเพลิงที่บ้านพักของซูซูกิ พวกเขาไปบ้านพักของ คิอิจิโร ฮิรานูมะ เพื่อจะลอบสังหารเขา ฮิรานูมะหนีผ่านประตูทางเข้าด้านข้างก่อนกบฏจะเผาบ้านเขาทิ้งเช่นกัน ซูซูกิใช้เวลาตลอดเดือนสิงหาคมที่เหลือภายใต้การอารักขาของเจ้าหน้าที่ตำรวจโดยย้ายที่หลบภัยไม่ซ้ำคืนกันทุกคืน[139][141]

เวลาราว 03:00 น. พันโท มาซาตากะ อิดะ บอกกับฮาตานากะว่า กองทัพบกมณฆลตะวันออกกำลังเคลื่อนทัพมายังพระราชวังเพื่อหยุดเขาพร้อมให้ล้มเลิกการก่อรัฐประหาร[142][143] ในที่สุด หลังเห็นแผนของเขาล่ม ฮาตานากะขอร้อง ทัตสึฮิโกะ ทากาชิมะ เสนาธิการกองทัพบกมณฑลตะวันออก ให้อนุญาตเขาประกาศผ่านทางวิทยุเอ็นเอชเคอย่างน้อย 10 นาที เพื่ออธิบายประชาชนชาวญี่ปุ่นให้ทราบว่าเขากำลังพยายามทำอะไรและเพราะเหตุใด ทากาชิมะปฏิเสธ[144] พันเอกฮางะ ผู้บังคับการกรมทหารที่ 2 ทหารรักษาพระองค์ที่ 1 พบว่ากองทัพไม่ได้สนับสนุนการก่อกบฏนี้ จึงสั่งให้ฮาตานากะออกจากพื้นที่โดยรอบพระราชวัง

ไม่นานก่อนเวลา 05:00 น. เมื่อกบฏเดินหน้าค้นหาแผ่นเสียงต่อ พันตรีฮาตานากะ บุกเข้าไปยังสตูดิโอเอ็นเอชเคด้วยปืนพก และพยายามกล่าวประกาศอธิบายการกระทำของเขาด้วยความหมดหวัง[145] ราวหนึ่งชั่วโมงผ่านไป ฮาตานากะยอมแพ้หลังได้รับสายโทรศัพท์จากกองทัพบกมณฑลตะวันออก เขาเรียกรวมนายทหารของเขาและเดินออกจากสตูดิโอเอ็ชเอชเค[146]

เมื่อรุ่งสาง ทานากะทราบว่าพระราชวังถูกบุกรุก เขารุดไปที่นั่นและเผชิญหน้ากับนายทหารกบฏ กล่าวโทษว่าพวกเขาว่ากระทำในสิ่งตรงกันข้ามกับจิตวิญญาณของกองทัพญี่ปุ่น และโน้มน้าวให้เดินทางกลับไปยังค่ายทหารของตน[139][147] เวลา 08:00 น. กบฏสลายตัวอย่างสิ้นเชิง แม้จะสามารถยึดพระราชวังไว้ได้เกือบตลอดทั้งคืน แต่พลาดในการค้นหาแผ่นเสียงจนพบ[148]

ฮาตานากะบนรถจักรยานยนต์ และชีซากิบนอานหลังม้า แล่นทั่วตามท้องถนนโดยโปรยใบปลิวอธิบายเหตุจูงใจและการกระทำของตน ภายในไม่กี่ชั่วโมงก่อนการประกาศของจักรพรรดิฮิโรฮิโตะ เวลาราว 11:00 น. ของวันที่ 15 สิงหาคม ฮาตานากะนำปืนจ่อศีรษะและลั่นไกปืน ชีซากิแทงตนเองด้วยดาบสั้นและยิงตัวตาย ในกระเป๋าของฮาตานากะพบบทกวีลาตายระบุ: "ผมไม่มีสิ่งใดที่ต้องเสียใจอีกเมื่อเมฆดำทะมึนได้พ้นไปจากรัชสมัยของพระองค์"[141]

การยอมจำนน[แก้]

จักรพรรดิฮิโรฮิโตะพระราชทานหลายเหตุผลแก่สาธารณชนและฝ่ายทหารต่อการยอมจำนน โดยตรัสต่อสาธารณะว่า: "ศัตรูได้เริ่มใช้ระเบิดรูปแบบใหม่อันร้ายกาจที่สุด มีอำนาจทำลายล้างมหาศาลเกินคณานับ ... หากเรายังคงต่อสู้ต่อไป ไม่เพียงแค่ทำให้ชาติญี่ปุ่นเราต้องล่มสลายและหายไปจากหน้าประวัติศาสตร์ (obliteration) แต่จะเป็นการนำไปสู่การสูญสิ้นของอารยธรรมมนุษย์"[149] และตรัสกับฝ่ายทหารโดยไม่ได้กล่าวถึง "ระเบิดรูปแบบใหม่อันร้ายกาจที่สุด" แต่ตรัสว่า "สหภาพโซเวียตได้เข้าร่วมสงครามต่อต้านเรา [และ] การเดินหน้าต่อสู้ ... จะ [เป็นภัยต่อ] สถาบันหลักของจักรวรรดิ"[149]

15 สิงหาคม ค.ศ. 1945: พระราชทานพระราชดำรัสยอมจำนนแก่สาธารณชนญี่ปุ่น[แก้]

เมื่อเวลาเที่ยงตรงตามเวลามาตรฐานญี่ปุ่นของวันที่ 15 สิงหาคม บันทึกพระราชดำรัสต่อประเทศของจักรพรรดิฮิโรฮิโตะทรงอ่านพระราชหัตถเลขาสิ้นสุดสงครามระบุว่า:

หลังจากเราได้ใคร่ครวญเกี่ยวกับสถานการณ์ของโลกและเงื่อนไขปัจจุบันที่เกี่ยวข้องกับจักรวรรดิของเราในวันนี้ เราได้ตัดสินใจให้ข้อยุติของสถานการณ์ในปัจจุบันนั้นมีผลไปในมาตรการพิเศษนี้

เราได้มีบัญชาให้รัฐบาลจักรวรรดิแจ้งไปยังสหรัฐ, สหราชอาณาจักร, จีน และสหภาพโซเวียต ว่าเรายอมรับบทบัญญัติที่ปรากฏในปฏิญญาร่วมของพวกเขา

เพื่อเดินหน้าไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองและความสุขร่วมกันของชาติทั้งหลาย รวมทั้งความปลอดภัยและสวัสดิภาพของประชาราษฎรของเรา ซึ่งเป็นสิ่งที่พระบรมอรรคราชบรรพบุรุษได้ทรงสืบทอดรักษา เป็นพันธกรณีอันมั่นคงสืบต่อกันมาจนถึงตัวเรา

ในชั้นต้น เราได้ประกาศสงครามต่อสหราชอาณาจักรและสหรัฐ เพื่อสำแดงถึงการดำรงอยู่ของจักรวรรดิอย่างแท้จริง และเพื่อสร้างเสถียรภาพในเอเชียบูรพา การล่วงละเมิดอธิปไตยของชาติอื่น หรือการรุกรานดินแดนในทำนองเดียวกัน หาใช่ความตั้งใจของเรามาแต่ต้นไม่

ทว่า บัดนี้สงครามได้ยืดเยื้อมาเป็นเวลาเกือบสี่ปี แม้ทุกท่านได้กระทำการต่าง ๆ อย่างสุดความสามารถ ทั้งการรบอันกล้าหาญของกองทัพบกและกองทัพเรือ ความเพียรพยายามของเหล่าข้าราชการของเรา และการอุทิศตนของประชาชนกว่าร้อยล้านคนของเรา สถานการณ์สงครามได้ดำเนินไปจนไม่เอื้อประโยชน์ต่อญี่ปุ่นอีกต่อไป ในขณะที่ทิศทางลมหลักของโลกนี้ได้หันกลับมาทำร้ายผลประโยชน์ของชาติ

มิหนำซ้ำ ศัตรูได้เริ่มใช้ระเบิดรูปแบบใหม่อันร้ายกาจที่สุด มีอำนาจทำลายล้างมหาศาลเกินคณานับ คร่าชีวิตผู้บริสุทธิ์ไปมากมายเหลือประมาณ หากเรายังคงต่อสู้ต่อไป ไม่เพียงแค่ทำให้ชาติญี่ปุ่นเราต้องล่มสลายและหายไปจากหน้าประวัติศาสตร์ แต่จะเป็นการนำไปสู่การสูญสิ้นของอารยธรรมมนุษย์

ในเมื่อการณ์เป็นไปเช่นนั้น เราจะปกป้องประชาราษฎรนับล้านของเรา หรือชดเชยความผิดของเราต่อหน้าวิญญาณของพระบรมอรรคราชบรรพบุรุษได้อย่างไรเล่า นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมเราจึงให้มีการยอมรับปฏิญญาที่มหาอำนาจร่วมกันประกาศไว้...

ความยากลำบากและความทุกข์ของชาติเราที่จำต้องแบกรับไว้ต่อจากนี้จะต้องหนักหนาเป็นแน่ ความรู้สึกของบรรดาประชาราษฎรนั้น เรารับรู้และเข้าใจดี แต่ถึงกระนั้น เราจะต้องดำเนินไปตามกระแสแห่งกาลเวลา อดทนในสิ่งที่เหลือจะทานทน ข่มกลั้นในสิ่งที่ยากจะข่มกลั้น เพื่อถากถางปูทางสู่มหาสันติภาพอันจะยั่งยืนสืบไปนับพันปี[149]

บันทึกที่มีคุณภาพต่ำประกอบกับภาษาญี่ปุ่นคลาสสิกที่พระองค์ใช้ในพระราชหัตถเลขา ทำให้ผู้ฟังส่วนใหญ่เข้าใจได้ยาก[150][151] นอกจากนี้ พระองค์ไม่ได้กล่าวถึงการยอมจำนนอย่างชัดเจนในพระราชดำรัส ด้วยเหตุนี้ เพื่อป้องกันความสับสนจึงมีการอธิบายตามมาว่าญี่ปุ่นได้ยอมจำนนโดยไม่มีเงื่อนไขต่อฝ่ายสัมพันธมิตรอย่างแน่นอนหลังสิ้นสุดการออกอากาศพระราชดำรัส[152]

ปฏิกิริยาสาธารณะต่อพระราชดำรัสของจักรพรรดิฮิโรฮิโตะนั้นหลากหลาย ชาวญี่ปุ่นส่วนใหญ่เพียงฟังอย่างเรียบเฉยและใช้ชีวิตต่อไปให้ดีที่สุด ขณะที่นายทหารบกและเรือบางส่วนตัดสินใจฆ่าตัวตายเพราะการยอมจำนน มีการรวมตัวของกลุ่มคนขนาดเล็กด้านหน้าพระราชวังหลวงในโตเกียวและร้องไห้ จอห์น ดาวเวอร์ นักเขียน ระบุว่า น้ำตาที่หลั่งออกมา "สะท้อนให้เห็นถึงความรู้สึกที่หลากหลาย ... ตรอมใจ, เสียใจ, รู้สึกสูญเสีย และโมโห ที่ถูกลวงหลอก รู้สึกว่างเปล่าอย่างกะทันหัน และสูญเสียความหมายในชีวิตไป"[153]

เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม เจ้าชายฮิงาชิกูนิ พระปิตุลา (ลุง) ของจักรพรรดิฮิโรฮิโตะ ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทนซูซูกิ ซึ่งอาจเป็นการดักหน้าความพยายามรัฐประหารหรือการลอบปลงพระชนม์ที่อาจเกิดขึ้น[154]

กองกำลังญี่ปุ่นยังคงต่อสู้กับโซเวียต รวมถึงจีนบนเอเชียแผ่นดินใหญ่ และการจัดการเพื่อให้มีการหยุดยิงและการให้เหล่าทหารยอมจำนนนั้นเป็นไปอย่างยากลำบาก วันที่ 18 สิงหาคม เป็นการโจมตีทางอากาศครั้งสุดท้ายโดยเครื่องบินรบญี่ปุ่นต่อเครื่องบินทิ้งระเบิดลาดตระเวณสอดแนมสหรัฐ[155] สหภาพโซเวียตต่อสู้ต่อไปจนถึงต้นเดือนกันยายนโดยพิชิตเกาะคูริลได้สำเร็จ

17 สิงหาคม ค.ศ. 1945: พระราชทานพระราชดำรัสยอมจำนนแก่กองทัพญี่ปุ่น[แก้]

สองวันให้หลังที่จักรพรรดิฮิโรฮิโตะพระราชทานพระราชดำรัสยอมจำนนแก่ประชาชน พระองค์ยังพระราชทานพระราชดำรัสที่มีความสั้นกว่า "แก่นายทหารแห่งกองทัพจักรวรรดิ" ระบุว่า "เป็นระยะเวลากว่าสามปีและแปดเดือน นับตั้งแต่ที่เราได้ประกาศสงครามต่อสหรัฐและสหราชอาณาจักร ทหารเหล่ากองทัพบกและกองทัพเรือผู้กล้าได้ต่อสู้อย่างอาจหาญและสละชีพของตน ... ซึ่งเรามีความปิติเป็นยิ่ง แต่เมื่อสหภาพโซเวียตได้เข้าร่วมสงครามต่อต้านเรา การจะดำเนินการทัพต่อไปภายใต้สภาวการณ์ทั้งในและนอกนั้น เป็นเพียงแต่จะทำให้สถาบันหลักของจักรวรรดิตกอยู่ในภยันตรายจากสงครามโดยไม่จำเป็น เมื่อตระหนักได้เช่นนั้น และแม้นจิตวิญญาณของกองทัพบกและกองทัพเรือแห่งจักรวรรดิที่แรงกล้าที่สุดอย่างไม่เคยมีมาก่อน และคำนึงถึงการธำรงรักษานโยบายแห่งชาติว่าเราจะสร้างสันติภาพร่วมกันกับสหรัฐ, สหราชอาณาจักร, สหภาพโซเวียต และฉงชิ่ง ... เราเชื่อในท่านทั้งหลายในฐานะนายทหารแห่งกองทัพจักรวรรดิ ว่าท่านจะปฏิบัติตามความปรารถนาของเรา ... ยอมทนในสิ่งที่ยากจะทนเพื่อให้สถาบันของชาติเราสืบต่อไปชั่วกัลปาวสานเทอญ"[156]

การยึดครองและพิธียอมจำนน[แก้]

ทหารฝ่ายสัมพันธมิตรเฉลิมฉลองการยอมจำนนของญี่ปุ่นในปารีส

มีการประกาศข่าวการยอมรับเงื่อนไขยอมจำนนของญี่ปุ่นแก่สาธารณชนชาวอเมริกันทางวิทยุเมื่อเวลา 19:00 น. ของวันที่ 14 สิงหาคม ทำให้ทั้งประชาชนและนายทหารทั่วทุกแห่งหนต่างเฉลิมฉลองและรื่นเริงที่ได้รับข่าวการสิ้นสุดลงของสงคราม ภาพถ่ายวี-เจเดย์อินไทม์สแควร์ ปรากฏกะลาสีอเมริกันจุมพิตผู้หญิงคนหนึ่งในนิวยอร์ก และภาพยนตร์แนวข่าว แดนซ์ซิงแมน ในซิดนีย์ เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่ชัดเจนของการแสดงปฏิกิริยาเฉลิมฉลองทันทีเมื่อได้ทราบข่าว หลายประเทศฝ่ายสัมพันธมิตรมีการร่วมระลึกถึงวันชัยเหนือญี่ปุ่นในวันที่ 14 และ 15 สิงหาคม[157]

เรือประจัญบานฝ่ายสัมพันธมิตรในอ่าวซางามิ วันที่ 28 สิงหาคม ค.ศ. 1945

การยอมจำนนของญี่ปุ่นอย่างกะทันหันหลังการใช้อาวุธปรมาณูอย่างคาดไม่ถึงสร้างความตกใจให้รัฐบาลส่วนใหญ่นอกจากสหรัฐและสหราชอาณาจักร[158] สหภาพโซเวียตมีความตั้งใจเล็กน้อยที่จะยึดครองฮกไกโด[159] อย่างไรก็ดี แผนเหล่านี้ถูกปัดตกไปจากเสียงไม่เห็นด้วยของประธานาธิบดีทรูแมน ไม่เหมือนกับการยึดครองเยอรมนีตะวันออกของโซเวียตและเกาหลีตอนเหนือ[159]

หลังการประกาศยอมจำนนของญี่ปุ่น เครื่องบินทิ้งระเบิดบี-32 โดมิเนเตอร์ ของสหรัฐซึ่งประจำอยู่ที่โอกินาวะเริ่มบินลาดตระเวนเหนือญี่ปุ่นเพื่อสังเกตการณ์ให้แน่ใจว่าญี่ปุ่นยังคงปฏิบัติตามคำสั่งหยุดยิง รวมถึงการรวบรวมข้อมูลเพื่อทำให้การยึดครองสามารถดำเนินไปได้ดีขึ้น และเพื่อทดสอบความซื่อสัตย์ของญี่ปุ่น เพราะกลัวว่าญี่ปุ่นอาจวางแผนซุ่มโจมตีกองกำลังยึดครองของฝ่ายสัมพันธมิตร แม้บี-32 จะถูกติดตามโดยเรดาร์ของญี่ปุ่น แต่สามารถสำเร็จภารกิจได้โดยไม่มีการขัดขวางใด ๆ ในวันที่ 18 สิงหาคม ฝูงเครื่องบินบี-32 สี่ลำบินเหนือโตเกียวถูกโจมตีโดยเครื่องบินนาวีขับไล่ (naval fighter aircraft) ของญี่ปุ่นขึ้นบินจากสนามบินกองทัพเรืออัตสึงิ และสนามบินกองทัพเรือโยโกซูกะ นักบินโจมตีโดยไม่ได้รับคำสั่งจากรัฐบาลญี่ปุ่น พวกเขาอาจจะไม่เห็นด้วยกับคำสั่งหยุดยิง หรือเชื่อว่าไม่ควรมีการล่วงล้ำน่านฟ้าจนกว่าจะมีการลงนามตราสารยอมจำนนอย่างเป็นทางการ พลปืนบนบี-32 ตอบโต้โดยไม่ให้เกิดความเสียหายหนักแก่เครื่องบินรบและทำให้ญี่ปุ่นต้องถอยกลับไป จากเหตุการณ์ดังกล่าวสร้างความตกใจแก่ผู้บัญชาการสหรัฐ และสั่งให้มีการลาดตระเวนทางอากาศเพิ่มอีกเพื่อสืบให้แน่ใจว่าการโจมตีดังกล่าวเป็นเพียงการโจมตีของนักบินหัวรั้นที่กระทำโดยเจตนารมณ์ของตนเอง หรือเป็นการแสดงออกของญี่ปุ่นว่าต้องการจะทำสงครามต่อ ในวันถัดมา บี-32 ระหว่างปฏิบัติภารกิจลาดตระเวนเหนือโตเกียวถูกโจมตีโดยเครื่องบินขับไล่ญี่ปุ่นใกล้กับสนามบินกองทัพเรือโยโกซูกะ นักบินเป็นผู้โจมตีเองโดยไม่มีคำสั่งอีกครั้ง สร้างความเสียหายแก่เครื่องบินทิ้งระเบิด 1 ลำ หนึ่งในทหารบนเครื่องบินทิ้งระเบิดเสียชีวิตและอีก 2 นายได้รับบาดเจ็บ การโจมตีครั้งนี้ถือเป็นการเผชิญหน้าทางอากาศครั้งสุดท้ายของสงคราม วันต่อมา ตามบทบัญญัติในความตกลงหยุดยิง มีการนำใบพัดออกจากเครื่องบินรบญี่ปุ่นทุกลำ และทำให้ไม่มีการต่อต้านเครื่องบินลาดตระเวนของฝ่ายสัมพันธมิตรเหนือญี่ปุ่นอีก[160]

เจ้าหน้าที่ทางการของญี่ปุ่นเดินทางไปยังมะนิลาเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม เพื่อพบกับ ดักลาส แมกอาร์เธอร์ ผู้บัญชาการสูงสุดของฝ่ายสัมพันธมิตร และได้รับการสรุปแผนการยึดครองของเขา ในวันที่ 28 สิงหาคม เจ้าหน้าที่สหรัฐ 150 คน บินไปยังเมืองอัตสึงิ จังหวัดคานางาวะ จากนั้นการยึดครองญี่ปุ่นจึงเริ่มต้นขึ้น เรือยูเอสเอส มิสซูรี บรรทุกเรือของกรมทหารเรือที่ 4 ลงจอดที่ชายฝั่งทิศใต้ของจังหวัดคานางาวะ กองพลส่งทางอากาศที่ 11 เดินทางจากโอกินาวะไปยังสนามบินกองทัพเรืออัตสึงิ ห่างจากโตเกียว 50 กิโลเมตร (30 ไมล์) เจ้าหน้าที่ฝ่ายสัมพันธมิตรส่วนอื่นตามมาภายหลัง

แมกอาร์เธอร์ถึงโตเกียวเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม และผ่านกฎหมายหลายฉบับทันที: ห้ามไม่ให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายสัมพันธมิตรกระทำการอันเป็นการประทุษร้ายชาวญี่ปุ่น ห้ามไม่ให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายสัมพันธมิตรบริโภคอาหารญี่ปุ่นซึ่งอยู่ในภาวะขาดแคลน มีการห้ามไม่ให้เชิญฮิโนมารุ หรือ "ธงอาทิตย์อุทัย" อย่างเข้มงวด[161]

แมกอาร์เธอร์ที่พิธียอมจำนน ธงที่เพร์รีนำมาแสดงสามารถเห็นได้ในพื้นหลัง

พิธียอมจำนนจัดขึ้นเมื่อวันที่ 2 กันยายน ค.ศ. 1945 เวลาประมาณ 09:00 น. ตามเวลาที่โตเกียว เมื่อผู้แทนจากจักรวรรดิญี่ปุ่นลงนามในตราสารยอมจำนนของญี่ปุ่นที่อ่าวโตเกียวบนเรือยูเอสเอสมิสซูรี มีการคัดเลือกผู้ทรงเกียรติหรือผู้แทนจากทั่วโลกที่จะสามารถขึ้นอยู่บนเรืออย่างระมัดระวัง[162] ชิเงมิตสึ รัฐมนตรีการต่างประเทศญี่ปุ่น เป็นผู้แทนลงนามในฐานะรัฐบาลญี่ปุ่น ขณะที่พลเอกอูเมซุ ลงนามในฐานะผู้แทนของกองทัพญี่ปุ่น[163]

มีการวางตำแหน่งที่นั่งของทหารบก ทหารเรือ และผู้แทนฝ่ายสัมพันธมิตรบนเรือยูเอสเอสมิสซูรี อย่างระมัดระวังเช่นกัน[164] ผู้ลงนามต่างนั่งลงบนเก้าอี้ที่ตั้งไว้ด้านหน้าโต๊ะจากห้องกลาสีคลุมด้วยผ้าสักหลาดสีเขียว และลงนามในตราสารยอมจำนนโดยไม่มีเงื่อนไข 2 ฉบับ กองกำลังฝ่ายสัมพันธมิตรเก็บฉบับปกหนัง และญี่ปุ่นเก็บฉบับเข้ากรอบรูป[165] จอร์จ เอฟ. คอสโก เป็นผู้ถ่ายฟิล์มสีตลอดพิธี แต่เก็บไว้จนกว่าจะถึง ค.ศ. 2010 จึงเปิดเผยภาพสู่สาธารณะ[166]

บนเรือมิสซูรี ในวันนั้น มีธงสหรัฐผืนเดียวกันกับที่ พลเรือจัตวา แมทธิว ซี. เพร์รี เชิญไว้บนเรือยูเอสเอส เพาว์ฮาทัน ใน ค.ศ. 1853 เมื่อได้นำคณะเดินทางสำรวจไปยังญี่ปุ่นเป็นครั้งแรก การเดินทางของเพร์รีทำให้เกิดสนธิสัญญาคานางาวะซึ่งบังคับให้ญี่ปุ่นเปิดประเทศเพื่อทำการค้ากับสหรัฐ[167][168]

หลังการยอมจำนนอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 2 กันยายน บนเรือมิสซูรี มีการเริ่มต้นสืบสวนอาชญากรรมสงครามของญี่ปุ่นอย่างรวดเร็ว เจ้าชายหลายพระองค์ในจักรพรรดิฮิโรฮิโตะ อาทิ พระเชษฐา (พี่ชาย) ของพระองค์ เจ้าชายชิจิบุ และเจ้าชายทากามัตสึ และพระอนุชา (น้องชาย) เจ้าชายมิกาซะ รวมถึง พระปิตุลา (ลุง) เจ้าชายฮิงาชิกูนิ กดดันให้พระองค์ทรงสละราชบัลลังก์เพื่อให้หนึ่งในเจ้าชายสำเร็จราชการแทนพระองค์จนกว่าเจ้าชายอากิฮิโตะ มกุฎราชกุมาร จะทรงเจริญพระชนพรรษา[169] อย่างไรก็ตาม ในการประชุมต่อมากับจักรพรรดิฮิโรฮิโตะในเดือนกันยายน พลเอกแมกอาร์เธอร์มั่นใจว่าเขาต้องการความช่วยเหลือจากพระองค์เพื่อช่วยปกครองญี่ปุ่น และด้วยเหตุนี้พระองค์จึงไม่ถูกไต่สวนพิจารณาคดี มีการออกหลักการทางกฎหมายสำหรับศาลทหารระหว่างประเทศสำหรับตะวันออกไกลเมื่อวันที่ 19 มกราคม ค.ศ. 1946 โดยไม่มีสมาชิกราชวงศ์พระองค์ใดถูกดำเนินคดี[170]

นอกจากวันที่ 14 และ 15 สิงหาคมแล้ว วันที่ 2 กันยายน ค.ศ. 1945 ยังถือว่าเป็นวันชัยเหนือญี่ปุ่นด้วยเช่นกัน[171] ประธานาธิบดีทรูแมนกำหนดให้วันที่ 2 กันยายนเป็นวันชัยเหนือญี่ปุ่น แต่ระบุว่า "ยังไม่ใช่วันประกาศสิ้นสุดสงครามอย่างเป็นทางการ และไม่ใช่การสิ้นสุดความเป็นศัตรูระหว่างกันเช่นกัน"[172] ในญี่ปุ่น วันที่ 15 สิงหาคมมักเรียกว่าชูเซ็งคิเน็มบิ (終戦記念日, Shūsen-kinenbi) ซึ่งแปลตรงตัวว่า "วันระลึกถึงการสิ้นสุดสงคราม" แต่รัฐบาลตั้งชื่อวันดังกล่าว (ซึ่งไม่ถือว่าเป็นวันหยุดราชการ) ว่าเซ็มบตสึชะโอะสึอิโตชิเฮวะโอะคิเน็งซูรุฮิ (戦没者を追悼し平和を祈念する日, Senbotsusha o tsuitō shi heiwa o kinen suru hi, "วันไว้อาลัยแก่ผู้เสียชีวิตจากสงครามและภาวนาเพื่อสันติภาพ")[173]

การยอมจำนนและการต่อต้านเพิ่มเติม[แก้]

พิธียอมจำนนที่เกิดขึ้นในเวลาเดียวกันไล่เลี่ยกันจัดเมื่อวันที่ 2 กันยายน บนเรือยูเอสเอส พอร์ตแลนด์ ที่อะทอลล์ชูก ซึ่งพลเรือโท จอร์จ ดี. เมอร์รีย์ ยอมรับการยอมจำนนหมู่เกาะแคโรไลน์จากนายทหารญี่ปุ่นชั้นผู้ใหญ่และข้าราชการฝ่ายพลเรือน

ภายหลังการลงนามตราสารยอมจำนน มีการจัดพิธียอมจำนนตามสถานที่ต่าง ๆ ที่ญี่ปุ่นยึดครองเหลืออยู่ในแปซิฟิก กองกำลังญี่ปุ่นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยอมจำนนในวันที่ 2 กันยายน ค.ศ. 1945 ที่ปีนัง 10 กันยายนที่ลาบวน 11 กันยายนที่รัฐรายาซาราวัก และ 12 กันยายนที่สิงคโปร์[174][175] พรรคก๊กมินตั๋งยึดอำนาจปกครองไต้หวันเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม[176][177] จนกว่าจะถึง ค.ศ. 1947 นักโทษทุกคนที่สหรัฐและสหราชอาณาจักรจับจะถูกส่งกลับประเทศ และจนถึง ค.ศ. 1949 จีนยังคงจับนักโทษชาวญี่ปุ่นกว่า 60,000 คน[178] บางคน เช่น โชโซ โทมินางะ ไม่ได้รับการส่งกลับประเทศจนถึงช่วงปลายคริสต์ทศวรรษ 1950[179]

เกิดปัญหาการจัดสรรสวัสดิภาพของทหารผู้ยอมจำนนที่ยากจะจัดการ หลังการยอมจำนนของญี่ปุ่น ทหารบกญี่ปุ่นกว่า 5,400,000 นาย และทหารเรือญี่ปุ่น 1,800,000 นาย ถูกจับเป็นเชลยศึกโดยฝ่ายสัมพันธมิตร[180][181] ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับโครงสร้างพื้นฐานญี่ปุ่น ประกอบกับภาวะข้าวยากหมากแพงใน ค.ศ. 1946 ทำให้ฝ่ายสัมพันธมิตรประสบปัญหาการจัดการอาหารให้เชลยศึกและประชาชนชาวญี่ปุ่น[182][183]

สถานะคู่สงครามระหว่างประเทศฝ่ายสัมพันธมิตรส่วนใหญ่และญี่ปุ่นสิ้นสุดลงอย่างเป็นทางการเมื่อสนธิสัญญาซานฟรานซิสโกมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 28 เมษายน ค.ศ. 1952 เป็นต้นมา ในวันเดียวกันที่สนธิสัญญานี้ใช้บังคับ ญี่ปุ่นได้ทำความตกลงสันติภาพอย่างเป็นทางการกับสาธารณรัฐจีนโดยลงนามในสนธิสัญญากรุงไทเป ญี่ปุ่นและสหภาพโซเวียตลงนามในปฏิญญาร่วมโซเวียต–ญี่ปุ่น ค.ศ. 1956 เป็นการสถาปนาสันติภาพระหว่างกันอย่างเป็นทางการสี่ปีให้หลัง[184]

นายทหารญี่ปุ่น โดยเฉพาะที่ประจำอยู่บนเกาะเล็ก ๆ ในแปซิฟิกปฏิเสธที่จะยอมจำนนไม่ว่าอย่างไร (เพราะเชื่อว่าการประกาศยอมจำนนเป็นโฆษณาชวนเชื่อ หรือเชื่อว่าการยอมจำนนจะเป็นการขัดต่อหลักความเป็นทหารญี่ปุ่น) บางคนอาจไม่รู้ถึงการยอมจำนนเลย เทรูโอะ นากามูระ นายทหารคนสุดท้ายที่ไม่ยอมแพ้ โผล่ออกมาจากที่ซ่อนลับซึ่งต่อมากลายเป็นอินโดนีเซียที่ประกาศเอกราชได้สำเร็จในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1974 ขณะที่นายทหารญี่ปุ่นอีกสองนายที่เข้าร่วมกองโจรคอมมิวนิสต์เมื่อสงครามสิ้นสุดลงยังคงต่อสู้ในภาคใต้ของไทยจนถึง ค.ศ. 1991[185]

พิธียอมจำนนทั่วเขตสงครามแปซิฟิก
ฮาตาโซ อาดาจิ ผู้บัญชาการกองทัพญี่ปุ่นที่ 18 ในเกาะนิวกินีจำนนดาบของเขาแก่ ฮอเรซ รอเบิร์ตสัน ผู้บัญชาการกองพลทหารราบออสเตรเลียที่ 6
ฮาตาโซ อาดาจิ ผู้บัญชาการกองทัพญี่ปุ่นที่ 18 ในเกาะนิวกินีจำนนดาบของเขาแก่ ฮอเรซ รอเบิร์ตสัน ผู้บัญชาการกองพลทหารราบออสเตรเลียที่ 6 
ไคดะ ทัตสึอิจิ ผู้บังคับการกรมทหารม้ารถถังญี่ปุ่นที่ 4 และเสนาธิการทหารของเขา โชจิ มิโนรุ ฟังเงื่อนไขการยอมจำนนบนเรือเอสเอ็มเอ เอสมอร์สบี ที่เกาะติมอร์
ไคดะ ทัตสึอิจิ ผู้บังคับการกรมทหารม้ารถถังญี่ปุ่นที่ 4 และเสนาธิการทหารของเขา โชจิ มิโนรุ ฟังเงื่อนไขการยอมจำนนบนเรือเอสเอ็มเอ เอสมอร์สบี ที่เกาะติมอร์ 
เฉิน อี๋ (ขวา) กำลังรับคำสั่งที่ 1 ลงนามโดย ริกิจิ อันโด (ซ้าย) ผู้สำเร็จราชการไต้หวันชาวญี่ปุ่นคนสุดท้ายในศาลาว่าการไต้หวัน
เฉิน อี๋ (ขวา) กำลังรับคำสั่งที่ 1 ลงนามโดย ริกิจิ อันโด (ซ้าย) ผู้สำเร็จราชการไต้หวันชาวญี่ปุ่นคนสุดท้ายในศาลาว่าการไต้หวัน 
มาซาตาเนะ คันดะ ลงนามตราสารยอมจำนนของกองกำลังญี่ปุ่นบนเกาะบูเกนวิลล์ นิวกีนี
มาซาตาเนะ คันดะ ลงนามตราสารยอมจำนนของกองกำลังญี่ปุ่นบนเกาะบูเกนวิลล์ นิวกีนี 
นายทหารญี่ปุ่นจำนนดาบของเขาให้แก่ร้อยโทชาวอังกฤษในพิธียอมจำนนในไซ่ง่อน อินโดจีนของฝรั่งเศส
นายทหารญี่ปุ่นจำนนดาบของเขาให้แก่ร้อยโทชาวอังกฤษในพิธียอมจำนนในไซ่ง่อน อินโดจีนของฝรั่งเศส 
นายทหารกองทัพเรือญี่ปุ่นลงนามยอมจำนนรัฐปีนังบนเรือเอชเอ็มเอส เนลสัน ในวันที่ 2 กันยายน ค.ศ. 1945 ราชนาวิกโยธินสหราชอาณาจักรปลดแอกรัฐปีนังในวันต่อมาในปฏิบัติการจูริสต์
นายทหารกองทัพเรือญี่ปุ่นลงนามยอมจำนนรัฐปีนังบนเรือเอชเอ็มเอส เนลสัน ในวันที่ 2 กันยายน ค.ศ. 1945 ราชนาวิกโยธินสหราชอาณาจักรปลดแอกรัฐปีนังในวันต่อมาในปฏิบัติการจูริสต์ 
พลโท มาซาโอะ บาบะ ผู้บัญชาการกองทัพญี่ปุ่นที่ 37 ลงนามตราสารยอมจำนนที่ลาบวน บอร์เนียวของอังกฤษ โดยมี พลตรี จอร์จ วุตเทิน นายทหารชาวออสเตรเลียและจากหน่วยอื่น ๆ ร่วมสังเกตการลงนาม
พลโท มาซาโอะ บาบะ ผู้บัญชาการกองทัพญี่ปุ่นที่ 37 ลงนามตราสารยอมจำนนที่ลาบวน บอร์เนียวของอังกฤษ โดยมี พลตรี จอร์จ วุตเทิน นายทหารชาวออสเตรเลียและจากหน่วยอื่น ๆ ร่วมสังเกตการลงนาม 
พิธียอมจำนนของญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการต่อกองกำลังออสเตรเลียบนเรือเอชเอ็มเอเอส คาพันดา เมื่อวันที่ 11 กันยายน ค.ศ. 1945
พิธียอมจำนนของญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการต่อกองกำลังออสเตรเลียบนเรือเอชเอ็มเอเอส คาพันดา เมื่อวันที่ 11 กันยายน ค.ศ. 1945 
กองทัพเขตรบตอนใต้ญี่ปุ่นยอมจำนนที่สิงคโปร์เมื่อวันที่ 12 กันยายน ค.ศ. 1945 พลเอกอิตางากิยอมจำนนต่อสหราชอาณาจักร ซึ่งมีลอร์ดเมานต์แบ็ตเทนเป็นผู้แทนที่ศาลาว่าการสิงคโปร์
กองทัพเขตรบตอนใต้ญี่ปุ่นยอมจำนนที่สิงคโปร์เมื่อวันที่ 12 กันยายน ค.ศ. 1945 พลเอกอิตางากิยอมจำนนต่อสหราชอาณาจักร ซึ่งมีลอร์ดเมานต์แบ็ตเทนเป็นผู้แทนที่ศาลาว่าการสิงคโปร์ 
พลเรือ เซอร์ เซซิล แฮลลิเดย์ เจปสัน ฮาร์คอร์ต นายทหารเรือชาวอังกฤษยืนดู พลเรือโท รูอิตาโกะ ฟูจิตะ ลงนามตราสารยอมจำนนเมื่อวันที่ 16 กันยายน ค.ศ. 1945 ในฮ่องกง
พลเรือ เซอร์ เซซิล แฮลลิเดย์ เจปสัน ฮาร์คอร์ต นายทหารเรือชาวอังกฤษยืนดู พลเรือโท รูอิตาโกะ ฟูจิตะ ลงนามตราสารยอมจำนนเมื่อวันที่ 16 กันยายน ค.ศ. 1945 ในฮ่องกง 
พิธียอมจำนนของญี่ปุ่นต่อกองกำลังออสเตรเลียที่เกอนีเงา บอร์เนียวเหนือของอังกฤษ เมื่อวันที่ 17 กันยายน ค.ศ. 1945
พิธียอมจำนนของญี่ปุ่นต่อกองกำลังออสเตรเลียที่เกอนีเงา บอร์เนียวเหนือของอังกฤษ เมื่อวันที่ 17 กันยายน ค.ศ. 1945 
พิธียอมจำนนของญี่ปุ่นต่อกองกำลังอังกฤษ โดยพลเอกอิตางากิจำนนดาบของเขาแก่ พลเอก แฟรงก์ เมสเซอร์วี ที่กัวลาลัมเปอร์ บริติชมาลายา เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1946
พิธียอมจำนนของญี่ปุ่นต่อกองกำลังอังกฤษ โดยพลเอกอิตางากิจำนนดาบของเขาแก่ พลเอก แฟรงก์ เมสเซอร์วี ที่กัวลาลัมเปอร์ บริติชมาลายา เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1946 
พิธียอมจำนนของญี่ปุ่นต่อกองกำลังสหรัฐในฟิลิปปินส์ซึ่งปัจจุบันเป็นบ้านพักของเอกอัครราชทูตสหรัฐในแคมป์จอห์นเฮย์ เมืองบาเกียว เมื่อวันที่ 3 กันยายน ค.ศ. 1945
พิธียอมจำนนของญี่ปุ่นต่อกองกำลังสหรัฐในฟิลิปปินส์ซึ่งปัจจุบันเป็นบ้านพักของเอกอัครราชทูตสหรัฐในแคมป์จอห์นเฮย์ เมืองบาเกียว เมื่อวันที่ 3 กันยายน ค.ศ. 1945 
พลเอก ซุน เว่ย์หรู ผู้บัญชาการเขตรบที่ 6 ของจีน ยอมรับการยอมจำนนของกองทหารญี่ปุ่นในจีนกลางจาก พลเอก นาโอซาบูโร โอกาเบะ ที่อู่ฮั่น เมื่อวันที่ 18 กันยายน ค.ศ. 1945
พลเอก ซุน เว่ย์หรู ผู้บัญชาการเขตรบที่ 6 ของจีน ยอมรับการยอมจำนนของกองทหารญี่ปุ่นในจีนกลางจาก พลเอก นาโอซาบูโร โอกาเบะ ที่อู่ฮั่น เมื่อวันที่ 18 กันยายน ค.ศ. 1945 

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

เชิงอรรถ[แก้]

  1. 1.0 1.1 Frank 1999, p. 90
  2. Skates 1994, pp. 158, 195.
  3. Bellamy 2007, p. 676.
  4. Frank 1999, pp. 87–88.
  5. Frank 1999, p. 81.
  6. Pape 1993.
  7. Feifer 2001, p. 418.
  8. 8.0 8.1 8.2 Reynolds 1968, p. 363.
  9. Frank 1999, p. 89, อ้างถึง ไดกิจิ อิโรกาวะ, The Age of Hirohito: In Search of Modern Japan (New York: Free Press, 1995; ISBN 978-0-02-915665-0). ญี่ปุ่นรายงานจำนวนประชากรเกินความเป็นจริงอย่างต่อเนื่องว่าอยู่ที่ 100 ล้านคน ในความเป็นจริง การทำสำมะโนครัว ค.ศ. 1944 เปิดเผยตัวเลขที่ 72 ล้านคน
  10. Skates 1994, pp. 100–15.
  11. Hasegawa 2005, pp. 295–96.
  12. Frank 1999, p. 87.
  13. Frank 1999, p. 86.
  14. Spector 1985, p. 33.
  15. บทบาทที่แน่นอนของจักรพรรดิฮิโรฮิโตะยังคงตกเป็นประเด็นถกเถียงทางประวัติศาสตร์อย่างมาก หลังคำสั่งของนายกรัฐมนตรีซูซูกิ หลักฐานสำคัญหลายชิ้นถูกทำลายในห้วงเวลาตั้งแต่การยอมจำนนของญี่ปุ่นถึงการยึดครองของฝ่ายสัมพันธมิตร เมื่อมีธรรมนูญให้มีการพิจารณาศาลคดีโตเกียว ราชวงศ์เริ่มโต้เถียงว่าจักรพรรดิฮิโรฮิโตะเป็นหุ่นเชิดไร้อำนาจ และนักประวัติศาสตร์บางส่วนยอมรับมุมมองนี้ ขณะที่อีกส่วนหนึ่ง เช่น เฮอร์เบิร์ด บิกซ์, จอห์น ดับเบิลยู. ดาวเวอร์, อากิระ ฟูจิวาระ และ โยชิอากิ โยชิมิ แย้งว่าพระองค์ทรงมีพระบัญชาอย่างต่อเนื่องหลังฉาก. อ้างถึง Frank 1999, p. 87 "ไม่มีขั้วจุดยืนใดถูกต้อง" และความจริงเป็นอันปรากฏสักทีหนึ่งระหว่างกลางนั้น
  16. Chang 1997, p. 177.
  17. สำหรับรายละเอียดเพิ่มเติมว่ามีสิ่งใดถูกทำลายบ้าง ดู Wilson 2009, p. 63.
  18. Booth 1996, p. 67.
  19. Frank 1999, p. 92.
  20. Frank 1999, pp. 91–92.
  21. Butow 1954, pp. 70–71.
  22. Spector 1985, pp. 44–45.
  23. Frank 1999, p. 89.
  24. Bix 2001, pp. 488–89.
  25. Hogan 1996, p. 86.
  26. Hasegawa 2005, p. 39.
  27. Hasegawa 2005, pp. 39, 68.
  28. Frank 1999, p. 291.
  29. Soviet-Japanese Neutrality Pact, 13 April 1941. (Avalon Project at Yale University)
    Declaration Regarding Mongolia, 13 April 1941. (Avalon Project at Yale University)
  30. Soviet Denunciation of the Pact with Japan. Avalon Project, Yale Law School. Text from United States Department of State Bulletin Vol. XII, No. 305, 29 April 1945. Retrieved 22 February 2009.
  31. "จดหมายโต้ตอบของโมโลตอฟไม่ได้จำเป็นว่าหมายถึงทั้งการประกาศสงครามหรือความประสงค์เพื่อก่อสงคราม ในทางกฎหมายนั้น สนธิสัญญายังมีเวลาอีกหนึ่งปีหลังโซเวียตแจ้งว่าจะไม่ต่ออายุ แต่น้ำเสียงของคอมมิสซาร์การต่างประเทศชี้ว่าอาจเป็นการทำไม่แยแสสนใจของรัสเซีย" So Sorry, Mr. Sato". Time, 16 April 1945.
  32. Russia and Japan เก็บถาวร 13 กันยายน 2011 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, รายงานของสำนักข่าวกรองกลาง (CIA) จากเดือนเมษายน ค.ศ. 1945
  33. สลาวินสกี โดยอ้างจากบันทึกของโมโลตอฟ บรรยายการสนทนาระหว่างโมโลตอฟและซาโต เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำมอสโก: หลังโมโลตอฟได้ออกประกาศแถลงการณ์ ซาโต "ถามหาคำอธิบายเพิ่มเติมจากโมโลตอฟโดยไม่มีคำสั่ง" ระบุว่ารัฐบาลญี่ปุ่นคาดหวังว่ารัฐบาลโซเวียตในปีนั้น (25 เมษายน ค.ศ. 1945 – 25 เมษายน ค.ศ. 1946) จะยังคงรักษาความสัมพันธ์เช่นเดิมเหมือนในปัจจุบัน "โดยยังคำนึงว่ากติกาสัญญายังคงมีผลใช้บังคับ" โมโลตอฟตอบกลับว่า "จริง ๆ แล้ว (เมื่อกติกาสัญญาสิ้นสุดลง) ความสัมพันธ์โซเวียต–ญี่ปุ่นนั้นจะย้อนกลับไปถึงสถานการณ์ก่อนที่เราทั้งสองชาติจะได้ลงนามในกติกาสัญญา" ซาโตสังเกตว่าในกรณีดังกล่าวนั้นรัฐบาลโซเวียตและรัฐบาลญี่ปุ่นได้ตีความคำถามไม่เหมือนกัน โมโลตอฟตอบกลับว่า "นี่ต้องมีความเข้าใจผิดกัน" และอธิบายว่า "เมื่อกติกาสัญญาห้าปีหมดอายุ ... ความสัมพันธ์โซเวียต–ญี่ปุ่นจะย้อนกลับไปสถานะเดิมก่อนการลงนามในกติกาสัญญาอย่างแน่นอน" ภายหลังการหารือเพิ่มเติม โมโลตอฟระบุว่า "ระยะเวลาความสมบูรณ์ของกติกาสัญญายังไม่สิ้นสุดลง" (Slavinskiĭ 2004, pp. 153–154.)
    สลาวินสกีสรุปเหตุการณ์ต่อเนื่องกันเพิ่มเติม:
    • "แม้หลังการออกจากสงครามของเยอรมนี โซเวียตเอาแต่กล่าวว่ากติกาสัญญายังคงมีผล และญี่ปุ่นไม่มีเหตุให้ต้องกังวลถึงอนาคตของความสัมพันธ์โซเวียต–ญี่ปุ่น"
    • 21 พฤษภาคม ค.ศ. 1945: มาลิค (เอกอัครราชทูตโซเวียตประจำโตเกียว) บอกกับ ซูเกอัตสึ ทานากามูระ ผู้แทนเพื่อผลประโยชน์การประมงญี่ปุ่นในน่านน้ำโซเวียต ว่าสนธิสัญญายังคงมีผลใช้บังคับ
    • 29 พฤษภาคม ค.ศ. 1945: โมโลตอฟบอกกับซาโต: "เรายังไม่ได้ฉีกกติกาสัญญาทิ้ง"
    • 24 มิถุนายน ค.ศ. 1945: มาลิคบอกกับ โคกิ ฮิโรตะ ว่ากติกาสัญญาความเป็นกลาง ... จะยังมีผล ... จนกว่าจะหมดอายุ
    หมายเหตุ: อย่างไรก็ตาม มาลิคไม่รู้ (ไม่ได้รับการแจ้ง) ว่าโซเวียตกำลังเตรียมโจมตี (Slavinskiĭ 2004, p. 184.)
  34. Frank 1999, p. 93.
  35. Frank 1999, p. 95.
  36. 36.0 36.1 36.2 36.3 36.4 36.5 36.6 Zuberi, Matin (August 2001). "Atomic bombing of Hiroshima and Nagasaki". Strategic Analysis. 25 (5): 623–662. doi:10.1080/09700160108458986. S2CID 154800868.
  37. Frank 1999, pp. 93–94.
  38. Frank 1999, p. 96.
  39. Toland, John. The Rising Sun. Modern Library, 2003. ISBN 978-0-8129-6858-3. Page 923.
  40. Frank 1999, p. 97, quoting The Diary of Marquis Kido, 1931–45: Selected Translations into English, pp. 435–36.
  41. Frank 1999, pp. 97–99.
  42. 42.0 42.1 Frank 1999, p. 100, quoting Terasaki, 136–37.
  43. Frank 1999, p. 102.
  44. Frank 1999, p. 94.
  45. Hewlett & Anderson 1962, pp. 81–83.
  46. Hewlett & Anderson 1962, pp. 376–80.
  47. United States Army Corps of Engineers, Manhattan Engineer District (1946). "The atomic bombings of Hiroshima and Nagasaki". OCLC 77648098. สืบค้นเมื่อ 23 January 2011.
  48. Frank 1999, pp. 254–55.
  49. 49.0 49.1 49.2 Hasegawa 2005, p. 67.
  50. Schmitz 2001, p. 182.
  51. Hewlett & Anderson 1962, p. 19.
  52. 52.0 52.1 Hewlett & Anderson 1962, pp. 340–42.
  53. Hewlett & Anderson 1962, pp. 344–45.
  54. Hasegawa 2005, p. 90.
  55. Frank 1999, p. 256.
  56. Frank 1999, p. 260.
  57. Hasegawa 2005, p. 149.
  58. Hasegawa 2005, pp. 150–152. "ทรูแมนไม่ได้ออกคำสั่งใดให้ทิ้งระเบิด ในความเป็นจริง เขาไม่ได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจนี้แต่เป็นเพียงการให้ทหารดำเนินการโดยไม่มีการแทรกแซงของเขา"
  59. Frank 1999, p. 221, citing Magic Diplomatic Summary No. 1201.
  60. Frank 1999, pp. 222–23, citing Magic Diplomatic Summary No. 1205, 2 (PDF).
  61. Frank 1999, p. 226, citing Magic Diplomatic Summary No. 1208, 10–12.
  62. Frank 1999, p. 227, citing Magic Diplomatic Summary No. 1209.
  63. Frank 1999, p. 229, citing Magic Diplomatic Summary No. 1212.
  64. Frank 1999, p. 230, citing Magic Diplomatic Summary No. 1214, 2–3 (PDF).
  65. "บางข้อความสามารถถอดรหัสและแปลได้ในวันเดียวกัน และส่วนใหญ่ภายในสัปดาห์ แต่บางครั้งมีการเปลี่ยนกุญแจจึงอาจทำให้การถอดรหัสใช้เวลานานขึ้น"—The Oxford Guide to World War II, ed. I.C.B. Dear. Oxford: Oxford University Press, 2007. ISBN 978-0-19-534096-9 S.v. "MAGIC".
  66. Hasegawa 2005, p. 60.
  67. Hasegawa 2005, pp. 19, 25.
  68. Hasegawa 2005, p. 32.
  69. 69.0 69.1 Hasegawa 2005, p. 86.
  70. Hasegawa 2005, pp. 115–16.
  71. Frank 1999, p. 279.
  72. Hasegawa 2005, pp. 152–53.
  73. "การประชุมของเจ้าหน้าที่สหรัฐในวอชิงตันเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม ค.ศ. 1945; ... เมื่อพิจารณาว่าเส้นแบ่งเขตการยึดครองการปกครองที่จะเป็นประโยชน์ต่อสหรัฐและโซเวียตอยู่ที่เส้นขนานที่ 38 ตัดที่ตรงกลางของคาบสมุทร [เกาหลี] จะทำให้โซล เมืองหลวงของเกาหลี อยู่ในเขตของสหรัฐ มีการเสนอการแบ่งเขตนี้ให้ทางโซเวียตไม่นานหลังสหภาพโซเวียตได้เข้าร่วมสงครามแปซิฟิกและคาบสมุทรเกาหลี โซเวียตยอมรับเส้นแบ่งที่สหรัฐเสนอ แม้ความพยายามในการได้มาซึ่งเขตการยึดครองญี่ปุ่นตอนเหนือแถบเกาะฮกไกโดถูกปฏิเสธโดยสหรัฐ" – Edward A. Olsen. Korea, the Divided Nation. Greenwood Publishing Group, 2005. ISBN 978-0-275-98307-9. Page 62.
  74. Rhodes 1986, p. 690.
  75. Hasegawa 2005, pp. 145–48.
  76. Hasegawa 2005, pp. 118–19.
  77. Weintraub 1995, p. 288
  78. Frank 1999, p. 234
  79. Kenkyusha. 2004. Kenkyusha's New Japanese-English Dictionary 5th ed. ISBN 978-4-7674-2016-5
  80. Zanettin, Federico (2016). "'The deadliest error': Translation, international relations and the news media". The Translator. 22 (3): 303–318. doi:10.1080/13556509.2016.1149754. S2CID 148299383.
  81. Frank 1999, p. 236, citing Magic Diplomatic Summary No. 1224.
  82. Frank 1999, p. 236, citing Magic Diplomatic Summary No. 1225, 2 (PDF).
  83. Tucker, Spencer. A Global Chronology of Conflict: From the Ancient World to the Modern Middle East: From the Ancient World to the Modern Middle East, p. 2086 (ABC-CLIO, 2009).
  84. White House Press Release Announcing the Bombing of Hiroshima, August 6, 1945. The American Experience: Truman. PBS.org. Sourced to The Harry S. Truman Library, "Army press notes," box 4, Papers of Eben A. Ayers.
  85. Frank 1999, pp. 270–71. "ขณะที่เจ้าหน้าที่ระดับสูงของญี่ปุ่นไม่ได้โต้แย้งความเป็นไปได้ทางทฤษฎีของระเบิดปรมาณู พวกเขาปฏิเสธที่จะยอมรับว่าสหรัฐได้ก้าวข้ามปัญหาเชิงลงมือปฏิบัติมากมายเพื่อสร้างระเบิดปรมาณู" เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม ข้าราชบริพารของจักรพรรดิฮิโรฮิโตะออกประกาศข้อความว่า ฮิโรชิมะถูกโจมตีด้วยระเบิดประเภทใหม่ มีการส่งทีมนำโดย พลโท เซโซ อาริซูเอะ ไปยังฮิโรชิมะเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม เพื่อไขความกระจ่างเรื่องทฤษฎีต่าง ๆ เกี่ยวกับสาเหตุของการระเบิด รวมถึงฮิโรชิมะถูกโจมตีด้วยระเบิดแมกนีเซียมหรือระเบิดออกซิเจนเหลว
  86. Frank 1999, pp. 270–71.
  87. Frank 1999, pp. 283–84.
  88. Nikolaevich, Boris (2004). The Japanese-Soviet neutrality pact : a diplomatic history, 1941–1945 in SearchWorks catalog. searchworks.stanford.edu (ภาษาอังกฤษ). ISBN 9780415322928. สืบค้นเมื่อ 28 August 2018.
  89. Hasegawa, Tsuyoshi Hasegawa. "THE SOVIET FACTOR IN ENDING THE PACIFIC WAR: From the Hirota-Malik Negotiations to Soviet Entry into the War" (PDF). University Center for International Studies. สืบค้นเมื่อ 28 August 2018.
  90. Tertitskiy, Fyodor (8 August 2018). "The Soviet-Japanese War: the brief conflict that created North Korea". NK News (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 28 August 2018.
  91. Soviet Declaration of War on Japan, 8 August 1945. (Avalon Project at Yale University)
  92. Butow 1954, pp. 154–64; Hoyt 1986, p. 401. โซเวียตได้แจ้งการประกาศสงครามแก่ซาโต เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำมอสโก สองชั่วโมงให้หลังการรุกรานแมนจูเรีย อย่างไรก็ตาม โซเวียตไม่ได้ส่งสารแจ้งการประกาศสงครามถึงญี่ปุ่นแม้จะมีการรับประกันว่าจะทำเช่นนั้น อีกทั้งยังตัดสายโทรศัพท์ของสถานเอกอัครราชทูต การกระทำของโซเวียตเป็นการแก้แค้นต่อการซุ่มโจมตีที่พอร์ตอาเธอร์เมื่อ 40 ปีก่อน ญี่ปุ่นรู้ถึงการโจมตีจากประกาศทางวิทยุที่มอสโก
  93. Wilson, Ward (30 May 2013). "The Bomb Didn't Beat Japan... Stalin Did". foreignpolicy.com. สืบค้นเมื่อ 18 June 2016.
  94. Asada 1998.
  95. Frank 1999, pp. 288–89.
  96. Diary of Kōichi Kido, 1966, p. 1223.
  97. Frank 1999, pp. 290–91.
  98. Truman, Harry S. (August 9, 1945). Radio Report to the American People on the Potsdam Conference (Speech). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ October 15, 2016.. Delivered from the White House at 10 p.m, 9 August 1945
  99. Hasegawa 2005, pp. 207–08.
  100. มาร์คัส แม็กดิลดา นักบินเครื่องบินลำดังกล่าวให้ความเท็จ แม็กดิลดาซึ่งถูกยิงลงบริเวณชายฝั่งของญี่ปุ่นสองวันให้หลังการทิ้งระเบิดที่ฮิโรชิมะ ไม่รู้เรื่องเกี่ยวกับโครงการแมนแฮตตันเลย เมื่อหนึ่งในเจ้าหน้าที่สอบสวนชักดาบซามูไรออกมาและจ่อที่คอของเขา จึงบอกเพียงสิ่งที่เขาคิดว่าเจ้าหน้าที่สอบสวนอยากได้ยินเท่านั้น การให้ความเท็จซึ่งทำให้แม็กดิลดากลายเป็นนักโทษชั้นสูง อาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เขารอดจากการตัดศีรษะ. Hagen 1996, pp. 159–62.
  101. Hasegawa 2005, p. 298.
  102. Coffey 1970, p. 349.
  103. Hasegawa 2005, p. 209.
  104. Frank 1999, pp. 295–96.
  105. Bix 2001, p. 517, citing Yoshida, Nihonjin no sensôkan, 42–43.
  106. Hoyt 1986, p. 405.
  107. Frank 1999, p. 302.
  108. 108.0 108.1 "ทรูแมนบอกว่าเขาได้ออกคำสั่งให้หยุดการทิ้งระเบิดปรมาณู เขาบอกว่าความคิดที่จะคร่าชีวิตอีก 100,000 คน นั้นแย่เกินไป เขาไม่ชอบความคิดที่จะฆ่าคน ดั่งที่เขาพูดว่า 'เด็กพวกนั้น'" Diary of Commerce Secretary Henry Wallace, 10 August 1945 National Security Archives. Retrieved 5 December 2017.
    "ไม่ให้มีการทิ้งระเบิดเหนือญี่ปุ่นหากประธานาธิบดีไม่ใช้อำนาจสั่งการ" บันทึกข้อความตอบกลับจากพลเอกโกรฟส์ หัวหน้าโครงการแมนแฮตตัน ถึงพลเอกมาร์แชลล์ เสนาธิการทหารบกสหรัฐ เกี่ยวกับการตระเตรียมโจมตีด้วยระเบิดปรมาณูลูกที่สาม. 10 August 1945 National Security Archives. Retrieved 5 December 2017.
  109. Frank 1999, p. 303.
  110. ขณะที่มีการใช้บังคับคำสั่งให้หยุดยิง สปาตซ์ได้ตัดสินใจในเรื่องที่ทำให้เกิดแรงกระเพื่อมต่อเหตุการณ์ โดยอิงจากหลักฐานจากรายงานการสำรวจการทิ้งระเบิดเชิงยุทธศาสตร์ยุโรป เขาสั่งให้เปลี่ยนยุทธศาสตร์การทิ้งระเบิดจากการทิ้งระเบิดเพลิงตามเมืองต่าง ๆ เป็นการทิ้งระเบิดตามโครงสร้างคมนาคมและโรงงานน้ำมันญี่ปุ่นแทน. Frank 1999, pp. 303–07.
  111. Frank 1999, p. 310.
  112. Terasaki 1991, p. 129.
  113. Bix 2001, p. 129.
  114. 114.0 114.1 114.2 114.3 114.4 Frank 1999, p. 313.
  115. Smith & McConnell 2002, p. 183.
  116. Smith & McConnell 2002, p. 188.
  117. Wesley F. Craven and James L. Cate, The Army Air Forces in World War II, Vol. 5, pp. 732–33. (Catalog entry, U Washington.)
  118. Smith & McConnell 2002, p. 187.
  119. มีการอ้างความชอบธรรมของการทิ้งระเบิดหลังสงครามสิ้นสุดลงว่าคำประกาศยอมจำนนของญี่ปุ่นเข้ามาพอดีขณะกำลังออกปฏิบัติการ แต่มีเพียงแค่ส่วนหนึ่งที่เป็นความจริงเท่านั้น. Smith, 187–88 ระบุว่าแม้เครื่องบินทิ้งระเบิดกะกลางวันได้โจมตีญี่ปุ่นแล้ว เครื่องบินทิ้งระเบิดกะกลางคืนยังไม่ได้ขึ้นบินเมื่อได้รับการแจ้งเตือนทางวิทยุถึงการยอมจำนน สมิธยังระบุว่า หลังความพยายามอย่างหนัก เขาไม่พบเอกสารทางประวัติศาสตร์ใดที่บ่งชี้ว่าสปาตซ์ออกคำสั่งให้มีการโจมตีต่อไป
  120. ไม่กี่ชั่วโมงก่อนหน้าการประกาศการยอมจำนนของญี่ปุ่น ทรูแมนได้ปรึกษาหารือกับดยุกแห่งวินด์เซอร์ และ เซอร์ จอห์น แบลฟอร์ (เอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักรประจำสหรัฐ) อ้างถึงแบลฟอร์ ทรูแมน "กล่าวด้วยความเศร้าโศกว่า ตอนนี้เขาไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากการสั่งให้ทิ้งระเบิดปรมาณูที่โตเกียว" – Frank 1999, p. 327, citing Bernstein, Eclipsed by Hiroshima and Nagasaki, p 167.
  121. โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พลเอก คาร์ล สปาตซ์ ผู้บังคับการกองทัพอากาศทางยุทธศาสตร์สหรัฐในแปซิฟิก และ พลเอก ลอริส นอร์สตาด ผู้ช่วยเสนาธิการทหารอากาศฝ่ายแผน ช่วงวันที่ 10 สิงหาคม สปาตซ์ได้ขออนุญาตให้มีการทิ้งระเบิดปรมาณูที่โตเกียวโดยเร็วที่สุดเมื่อพร้อมใช้ – Wesley F. Craven and James L. Cate, The Army Air Forces in World War II, Vol. 5, pp. 730 and Ch. 23 ref. 85. (Catalog entry, U Washington.)
  122. 122.0 122.1 Frank 1999, p. 314.
  123. 123.0 123.1 Frank 1999, p. 315.
  124. Bix 2001, p. 558.
  125. MacArthur, Douglas. "Reports of General MacArthur Vol II – Part II". US Army Center of Military History. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 31 January 2017. สืบค้นเมื่อ 16 February 2016. ในเวลาเดียวกันที่มีการออกพระราชหัตถเลขาแก่กองทัพ เจ้าชายทั้งสามพระองค์เสด็จออกโตเกียวทางอากาศในฐานะผู้แทนส่วนพระองค์ของจักรพรรดิฮิโรฮิโตะ เพื่อร้องขอให้นายทหารผู้บังคับการต่างแดนปฏิบัติตามพระราชวินิจฉัยยอมจำนน เจ้าชายทั้งสามพระองค์ให้นายทหารทุกนายเลื่อนชั้นยศเป็นชั้นสัญญาบัตรของกองทัพบก และได้รับการรับประกันความปลอดภัยในการเดินทางโดยกองบัญชาการของพลเอกแมกอาร์เธอร์ มีการส่ง พลเอก เจ้าชายยาซูฮิโกะ อาซากะ ไปยังกองบัญชาการของกองกำลังรบนอกประเทศในจีน, พลตรี เจ้าชายฮารูฮิโกะ คันนิง ไปยังกองกำลังรบนอกประเทศทางตอนใต้ และพันโท เจ้าชายสึเนโยชิ ทาเกดะ ไปยังกองทัพกวันตงในแมนจูเรีย
  126. Fuller, Richard Shokan: Hirohito's Samurai 1992 p.290 ISBN 1-85409-151-4
  127. 127.0 127.1 127.2 Hasegawa 2005, p. 244.
  128. 128.0 128.1 Hoyt 1986, p. 409.
  129. Frank 1999, p. 316.
  130. Frank 1999, p. 318.
  131. Hoyt 1986, pp. 407–08.
  132. Frank 1999, p. 317.
  133. Frank 1999, p. 319.
  134. Butow 1954, p. 220.
  135. Hoyt 1986, pp. 409–10.
  136. The Pacific War Research Society, 227.
  137. The Pacific War Research Society, 309.
  138. Butow 1954, p. 216.
  139. 139.0 139.1 139.2 Hoyt 1986, p. 410.
  140. The Pacific War Research Society 1968, p. 279.
  141. 141.0 141.1 Wainstock 1996, p. 115.
  142. The Pacific War Research Society 1968, p. 246.
  143. Hasegawa 2005, p. 247.
  144. The Pacific War Research Society 1968, p. 283.
  145. Hoyt 1986, p. 411.
  146. The Pacific War Research Society 1968, p. 303.
  147. The Pacific War Research Society 1968, p. 290.
  148. The Pacific War Research Society 1968, p. 311.
  149. 149.0 149.1 149.2 "Text of Hirohito's Radio Rescript". The New York Times. 15 August 1945. p. 3. สืบค้นเมื่อ 8 August 2015.
  150. Dower 1999, p. 34.
  151. "The Emperor's Speech: 67 Years Ago, Hirohito Transformed Japan Forever". The Atlantic. 15 August 2012. สืบค้นเมื่อ 23 May 2013.
  152. "History – 1945". The 1945 Project. สืบค้นเมื่อ 11 August 2020.
  153. Dower 1999, pp. 38–39.
  154. Spector 1985, p. 558. สเปกเตอร์ระบุตัวตนฮิงาชิกูนิผิดพลาดเป็นพระเชษฐา (พี่ชาย) ของพระองค์
  155. The Last to Die | Military Aviation | Air & Space Magazine. Airspacemag.com. Retrieved on 5 August 2010.
  156. จักรพรรดิโชวะ (17 สิงหาคม 1945), To the officers and men of the imperial forces, Taiwan Documents ProjectWikidata Q108108292
  157. วันที่ประเทศสัมพันธมิตรกำหนดให้เป็นวันชัยเหนือญี่ปุ่นขึ้นอยู่กับเวลาที่พวกเขาได้ข่าวการยอมจำนนของญี่ปุ่นตามเวลาท้องถิ่น ณ ประเทศนั้น ๆ ประเทศสมาชิกเครือจักรภพบริเตนกำหนดให้เป็นวันที่ 15 ขณะที่สหรัฐกำหนดให้เป็นวันที่ 14.
  158. Wood, James. "The Australian Military Contribution to the Occupation of Japan, 1945–1952" (PDF). Australian War Museum. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 4 November 2009. สืบค้นเมื่อ 12 August 2012.
  159. 159.0 159.1 Hasegawa 2005, p. 271ff.
  160. "The Last to die".
  161. บุคคลและสำนักงานบริหารส่วนท้องถิ่นอาจส่งคำร้องขอให้เชิญธงได้ ข้อห้ามนี้ถูกยกเลิกเป็นบางส่วนใน ค.ศ. 1948 และยกเลิกอย่างสิ้นเชิงในปีถัดมา
  162. "Order of Dignitaries – World War 2 Surrender Collection". World War 2 Surrender Collection (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 9 December 2011. สืบค้นเมื่อ 9 March 2018.
  163. "1945 Japan surrenders". สืบค้นเมื่อ 14 August 2015.
  164. "Original Copy of Surrender Ceremony Documents on USS Missouri – World War 2 Surrender Collection". World War 2 Surrender Collection (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 8 December 2011. สืบค้นเมื่อ 9 March 2018.
  165. "Nimitz at Ease", Capt. Michael A. Lilly, USN (ret), Stairway Press, 2019
  166. Patrick, Neil (10 May 2016). "This footage shows the Japanese surrender from 1945 in color". The Vintage News. สืบค้นเมื่อ 5 September 2022.
  167. "Surrender of Japan, Tokyo Bay, 2 September 1945". Photographic Collections – NARA Series (Photograph). Naval History and Heritage Command. USA C-2716. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 23 May 2021. สืบค้นเมื่อ 27 August 2021. ธงในกรอบของพลเรือจัตวา แมทธิว ซี. เพร์รี ทางซ้ายบนของภาพเป็นธงเดียวกันบนเรือของเขาเมื่อเข้าอ่าวโตเกียวใน ค.ศ. 1853 มีการยืมธงดังกล่าวจากพิพิธภัณฑ์โรงเรียนนายเรือสหรัฐเพื่อใช้ในโอกาสนี้
  168. Dower 1999, p. 41.
  169. Bix 2001, pp. 571–73.
  170. The Tokyo War Crimes Trials (1946–1948). The American Experience: MacArthur. PBS. Retrieved 25 February 2009.
  171. "1945: Japan signs unconditional surrender" On This Day: 2 September, BBC.
  172. "Radio Address to the American People after the Signing of the Terms of Unconditional Surrender by Japan," เก็บถาวร 11 กุมภาพันธ์ 2012 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน Harry S. Truman Library and Museum (1 September 1945).
  173. 厚生労働省:全国戦没者追悼式について (ภาษาญี่ปุ่น). Ministry of Health, Labour and Welfare. 8 August 2007. สืบค้นเมื่อ 16 February 2008.
  174. "WW2 People's War – Operation Jurist and the end of the War". www.bbc.co.uk. สืบค้นเมื่อ 11 March 2017.
  175. "The Japanese Formally Surrender". National Library Board, Singapore. 12 September 1945. สืบค้นเมื่อ 18 October 2016.
  176. Ng Yuzin Chiautong (1972). Historical and Legal Aspects of the International Status of Taiwan (Formosa). World United Formosans for Independence (Tokyo). สืบค้นเมื่อ 25 February 2010.
  177. "Taiwan's retrocession procedurally clear: Ma". The China Post. CNA. 26 October 2010. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 24 September 2015. สืบค้นเมื่อ 14 August 2015.
  178. Dower 1999, p. 51.
  179. Cook & Cook 1992, pp. 40, 468.
  180. Weinberg 1999, p. 892.
  181. Cook & Cook 1992, p. 403 โดยตัวเลขทหารประจำการของญี่ปุ่นอยู่ที่ทั้งสิ้น 4,335,500 นาย ณ วันที่มีการยอมจำนน ไม่รวมทหารอีก 3,527,000 นาย ประจำการอยู่ต่างแดน
  182. Frank 1999, pp. 350–52.
  183. Cook & Cook 1992. มีการให้สัมภาษณ์ของ อีโตโยะ โชโง เกี่ยวกับประสบการณ์ของเขาในฐานะเชลยศึกของสหราชอาณาจักรที่เกาะกาลัง ซึ่งเป็นที่รู้จักในหมู่เชลยว่าเป็น "เกาะแห่งความหิวโหย"
  184. "Preface". Ministry of Foreign Affairs of Japan.
  185. Wilmott, Cross & Messenger 2004, p. 293.

งานอ้างอิง[แก้]

หนังสืออ่านเพิ่ม[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

พิกัดภูมิศาสตร์: 35°21′17″N 139°45′36″E / 35.35472°N 139.76000°E / 35.35472; 139.76000 (World War II Surrender of Japan)