พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิมลนาคนพีสี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิมลนาคนพีสี
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ ชั้น 5
พระองค์เจ้าชั้นเอก
ประสูติ2 ตุลาคม พ.ศ. 2432
สิ้นพระชนม์21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2435 (2 ปี)
ราชวงศ์จักรี
พระบิดาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระมารดาเจ้าดารารัศมี พระราชชายา
ธรรมเนียมพระยศของ
พระองค์เจ้าวิมลนาคนพีสี
การทูลใต้ฝ่าพระบาท
การแทนตนข้าพระพุทธเจ้า
การขานรับพ่ะย่ะค่ะ/เพคะ

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิมลนาคนพีสี [วิ-มน-นาก-นะ-พี-สี] (2 ตุลาคม พ.ศ. 2432 – 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2435) เป็นพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่เจ้าดารารัศมี พระราชชายา[1] เจ้านายจากราชวงศ์เจ้าเจ็ดตนนครเชียงใหม่ที่ต่อมาได้รับการสถาปนาเป็นเจ้านายในราชวงศ์จักรี

พระประวัติ[แก้]

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิมลนาคนพีสี ประสูติเมื่อวันพุธ เดือน 11 ขึ้น 8 ค่ำ ปีฉลูเอกศก จ.ศ. 1251 ตรงกับวันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2432 เป็นพระราชธิดาลำดับที่ 73 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเป็นพระราชธิดาเพียงพระองค์เดียวที่ประสูติแต่เจ้าดารารัศมี พระราชชายา ที่ขณะนั้นยังมีตำแหน่งเป็นพระสนม[2] ทั้งนี้พระมารดาเป็นพระธิดาคนเล็กในพระเจ้าอินทวิชยานนท์ เจ้าประเทศราชผู้ครองนครเชียงใหม่ที่ประสูติแต่เจ้าทิพเกสร ที่ต่อมาเข้ามารับราชการฝ่ายในที่ราชสำนักกรุงเทพฯ [3]

ขณะที่ตั้งครรภ์นั้นเจ้าจอมมารดาดารารัศมี มีพระชันษาได้ 16 ปี ได้มีอาการแพ้ท้องอยากเสวยงวงช้าง เมื่อความทราบถึงพระเจ้าเมืองเชียงใหม่ จึงทรงจัดให้ตามพระประสงค์โดยการส่งมาจากเชียงใหม่ผ่านทางเรือแรมเดือน[4] เมื่อมีพระประสูติกาล พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระนามว่า "พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าวิมลนาคนพีสี" แปลว่า "ผู้ประเสริฐไม่มีมลทินของเมืองเชียงใหม่"[5] พระราชบิดาทรงเรียกอย่างลำลองว่า "ลูกหญิงวิมลนาค"[6]

การประสูติกาลดังกล่าวยังความปลาบปลื้มใจแก่พระเจ้าอินทวิชยานนท์เป็นอย่างยิ่ง และได้ใช้โอกาสนี้แสดงความสัมพันธ์อันแนบชิดระหว่างเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่กับพระมหากษัตริย์ราชสำนักกรุงเทพฯ[2] เมื่อเจ้าดารารัศมีโปรดให้มีการฉายพระรูปพระองค์เจ้าวิมลนาคนพีสีส่งขึ้นมาถวายแก่พระบิดาที่เชียงใหม่ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่จึงได้มีการจัดขบวนแห่ไปรับพระรูปที่จวนของพระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าโสณบัณฑิต ข้าหลวงพิเศษอย่างยิ่งใหญ่ ดังปรากฏในบันทึกของพระองค์เจ้าโสณบัณฑิต ความว่า[2]

"...พระเจ้านครเชียงใหม่ เจ้าอุปราช เจ้านายบุตรหลาน หลายคนมาพร้อมกันที่ที่พักของข้าพระพุทธเจ้า ๆ ได้เชิญพระรูปให้ดูพร้อมกัน พระเจ้านครเชียงใหม่ดูพระรูปแล้วกลั้นน้ำตาไม่ได้คิดถึงเจ้าทิพเกสร พูดว่าพระขนงนั้น 'แม่นแม่เฒ่าทีเดียว' เจ้านายอื่นอยู่ข้างปีติยินดีเชยชมกันมาก"

และ[2]

"...ข้าหลวงเชิญพระรูปตั้งบนพระยานมาศแล้ว ขบวนแห่ 'พระรูป' จากบ้านพักของข้าหลวงพิเศษริมแม่น้ำปิง ไปทางถนนท่าแพ เข้าในเวียง ทางประตูท่าแพ ถึงสี่แยกกลางเวียงเลี้ยวไปออกประตูช้างเผือก เลี้ยวออกทางริมแม่น้ำปิงถึงคุ้มของพระเจ้าอินทวิชยานนท์ บริเวณคุ้มมีพลับพลาข้าราชการรวมทั้งข้าหลวงพิเศษแต่งชุดเต็มยศรอรับ พระเจ้าอินทวิชยานนท์สวมเสื้อครุยและชฎา ขึ้นรับพระรูปบนเกย เข้ากอดพระรูปอย่างสุดปลื้ม เชิญพระรูปขึ้นบนตึก ตั้งบนพระยานมาศถอดคานมียกพื้นหุ้มผ้าแดง ๒ ชั้น และกระโจมข้างบนด้วยเครื่องสูงจนเวลาบ่ายพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ในบริเวณคุ้ม มีการละเล่น เช่น มวย มีละคร มีการโปรยผลกัลปพฤกษ์ด้วย ที่ขาดไม่ได้ และคนสนใจร่วมด้วยมากคือม่อนป๊อก ฉลองสมโภชกัน ๔ วัน ๔ คืน มีงานเลี้ยงอาหารมื้อค่ำ แก่บรรดากงสุลและฝรั่งในเชียงใหม่ด้วย..."

นอกจากนี้พระเจ้าอินทวิชยานนท์ยังส่งอ่างสรงน้ำทองคำมาถวายแด่พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าวิมลนาคนพีสี แต่เจ้าจอมมารดาดารารัศมีมิกล้าใช้ เพราะแม้แต่เจ้าฟ้ายังไม่ได้สรงด้วยอ่างทองคำ เกรงว่าหากใช้ของเกินฐานะจะเกิดอัปมงคล จึงได้ถวายอ่างทองคำดังกล่าวกับเจ้าฟ้าที่ประสูติใหม่[7]

สิ้นพระชนม์[แก้]

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิมลนาคนพีสี สิ้นพระชนม์เมื่อวันอังคาร เดือน 4 ขึ้น 6 ค่ำ ปีมะโรงจัตวาศก จ.ศ. 1254 ตรงกับวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2435 สิริพระชันษา 3 ปี 4 เดือน 19 วัน นับเรียงวันได้ 1238 วัน สร้างความเสียใจแก่เจ้าจอมมารดาดารารัศมีเป็นอันมาก แม้แต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเองก็ทรงเสียพระทัยมากนัก ทรงปรารภกับสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพว่า "ฉันผิดเอง ลูกเขาควรเป็นเจ้าฟ้าแต่ฉันลืมตั้งจึงตาย"[8] มีการโจษจันกันว่าพระองค์ถูกพระพี่เลี้ยงวางยาพิษเพื่อหวังเครื่องแต่งพระองค์ แต่ข่าวลือดังกล่าวก็ถูกปฏิเสธ เพราะเจ้าจอมมารดาดารารัศมีก็กล่าวถึงพระอาการประชวรของพระราชธิดาไว้ชัดแจ้ง[4]

อย่างไรก็ตามแม้ว่าพระองค์เจ้าวิมลนาคนพีสีจะสิ้นพระชนม์ไปแล้ว แต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ยังไม่สิ้นพระกรุณากับเจ้าจอมมารดาดารารัศมี ในปี พ.ศ. 2451 ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าสถาปนาเจ้าจอมมารดาดารารัศมีขึ้นเป็นเจ้าในราชวงศ์จักรีดำรงพระอิสริยยศเป็น "พระราชชายา"[9]

ส่วนพระอัฐิของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิมลนาคนพีสี ถูกประดิษฐานเคียงคู่กับพระอัฐิของเจ้าดารารัศมี พระราชชายาสุสานหลวง วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร

พงศาวลี[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. ส.พลายน้อย. พระบรมราชินีและเจ้าจอมมารดาแห่งราชสำนักสยาม. พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ : ฐานบุ๊คส์. 2554, หน้า 170
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 จิรชาติ สันต๊ะยศ. (11 กันยายน 2551). "พระราชชายาเจ้าดารารัศมี กับการสร้างความทรงจำด้วยพิพิธภัณฑ์และอนุสาวรีย์". ศิลปวัฒนธรรม. 29:11, หน้า 89-90
  3. "แม่เจ้าทิพเกสร (เทพไกรสร) ผู้ฉลาดหลักแหลม และมีปฏิภาณเป็นเลิศ". แม่ญิงล้านนา. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-02-09. สืบค้นเมื่อ 28 ตุลาคม 2556. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  4. 4.0 4.1 ลาวัณย์ โชตามระ. พระมเหสีเทวี. กรุงเทพฯ : โอเดียนสโตร์, 2532, หน้า 96
  5. จิรวัฒน์ อุตตมะกุล, นายแพทย์. พระภรรยาเจ้า และสมเด็จเจ้าฟ้าในรัชกาลที่ 5. พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ : ลายคำ, 2552, หน้า 343
  6. จิรวัฒน์ อุตตมะกุล, นายแพทย์. พระภรรยาเจ้า และสมเด็จเจ้าฟ้าในรัชกาลที่ 5. พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ : ลายคำ, 2552, หน้า 344
  7. ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย. หอมติดกระดาน. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ : มติชน. 2553, หน้า 165
  8. พูนพิศมัย ดิศกุล. หม่อมเจ้า. ประชุมพระนิพนธ์ เล่ม ๑. กรุงเทพฯ : บำรุงบัณฑิต. 2529, หน้า 11
  9. จิรวัฒน์ อุตตมะกุล, นายแพทย์. พระภรรยาเจ้า และสมเด็จเจ้าฟ้าในรัชกาลที่ 5. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ : มติชน. 2548, หน้า 343