เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์เฉียด ในรัชกาลที่ 5

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์เฉียด
เกิดหม่อมราชวงศ์ใหญ่ ลดาวัลย์
30 ตุลาคม พ.ศ. 2416
เสียชีวิต30 มิถุนายน พ.ศ. 2501 (85 ปี)
คู่สมรสพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
บิดามารดาหม่อมเจ้าฉาย ลดาวัลย์
หม่อมฉิม ลดาวัลย์ ณ อยุธยา

เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์เฉียด ในรัชกาลที่ 5 เป็นหม่อมราชวงศ์คนแรก ในราชสกุล "ลดาวัลย์" เกิดเมื่อวันศุกร์ ที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2416 เป็นธิดาของหม่อมเจ้าฉาย ลดาวัลย์ และ หม่อมฉิม ด้วยเหตุที่เป็นหม่อมราชวงศ์คนที่หนึ่งของราชสกุล จึงมีชื่อเรียกกันว่า "คุณใหญ่"

ถวายตัวรับราชการในสำนักพระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา จนเมื่ออายุได้ 11 ปี จึงได้ถวายตัวรับราชการฝ่ายใน ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานให้โกนจุกในพระราชพิธีเฉลิมพระที่นั่งวโรภาษพิมาน ที่พระราชวังบางปะอิน จึงมีชื่อพระราชทานว่า "เชียด"

ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตติยจุลจอมเกล้า เมื่อ พ.ศ. 2449 กับเหรียญรัตนาภรณ์ จปร.ชั้นที่ 3 เมื่อ พ.ศ. 2450 นอกจากนี้ยังได้รับพระราชทานตลับทองคำ เมื่อรับราชการครบ 10 ปี , หีบหมากทองคำ เมื่อรับราชการครบ 20 ปี และรับพระราชทานเงินเบี้ยหวัด ปีละ 30 ชั่งด้วย

ความสามารถของท่านในหน้าที่ราชการ เป็นผู้ที่ทรงไว้วางพระราชหฤทัย รับหน้าที่ปอกผลไม้เครื่องต้นทุกมื้อ พร้อมกับเจ้าจอมน้อม โชติกเสถียร ซึ่งเป็นผู้มีชื่อมากในด้านการปอกมะปรางริ้วสมัยนั้น คุณจอมเชียดเวลานั้นยังปอกมะปรางริ้วไม่เป็น ท่านก็พยายามปอกยัดก้นโถ จนกระทั่งปอกได้ดี เชิดหน้าชูตาขึ้นปากโถได้ นอกจากนี้ยังเป็นคนละเอียดลออยิ่ง เป็นต้นว่า ท่านเป็นผู้มีหน้าที่เก็บเครื่องเพชร ของสมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ กรมขุนพิจิตรเจตจันทร์ ความละเอียดของท่าน เช่น เข็มกลัดรูปผีเสื้อ ปีกฝังเพชรกี่เม็ดก็บอก ลายฝังนิลกี่เม็ดก็บอก หัวฝังเพชรกี่เม็ดก็บอก ทั้งยังวาดภาพกำกับด้วยดินสอลงไว้ด้วย หากชิ้นไหนชำรุดก็จดบอกไว้ในรายการ ซึ่งการจะทำเช่นนี้ได้ จะต้องเป็นคนที่ละเอียดและแช่มช้าที่สุด หาได้ยาก

ที่สำคัญ ท่านยังมีฝีมือในการเย็บจีวรตะเข็บ 2 ชั้น อันเป็นจีวรเฉพาะพระธรรมยุติกนิกาย โดยการถ่ายทอดประทานจาก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอรไทยเทพกัญญา พระราชธิดาในรัชกาลที่ 4 ดังนั้นท่านจึงได้มีโอกาสเย็บไตรครอง ถวายพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อผนวช โดยพระราชเสาวนีย์ของ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ

ภายหลังสิ้นรัชกาลที่ 5 ท่านได้กราบถวายบังคมลาออกจากพระบรมมหาราชวัง มาพำนักในเขตพระราชวังสวนสุนันทา โดยอยู่กับเจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับ ในรัชกาลที่ 5 จนเมื่อมีการเปลี่ยนการปกครองเมื่อ พ.ศ. 2475 แล้ว ท่านจึงได้ออกจากสวนสุนันทา มาอยู่ที่ทับสุข ภายในเขตวัดเขาบางทราย จังหวัดชลบุรี

บั้นปลายชีวิตท่านมีอาการป่วยเป็นต้อ การรักษาไม่ได้ผล ท่านจึงได้ตาบอด จนถึงอนิจกรรม เมือ่วันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2501

เครื่องราชอิสริยาภรณ์[แก้]

ลำดับสาแหรก[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. "พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ จุลจอมเกล้า (หน้า ๘๙๔)" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2019-05-08. สืบค้นเมื่อ 2020-02-10.
  2. "พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์รัชกาลปัตยุบันฝ่ายใน" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 25 (39): 1154. 23 ธันวาคม พ.ศ. 2451. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2011-11-20. สืบค้นเมื่อ 2014-10-22. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)