พระราชพิธีราชาภิเษกสมรส พุทธศักราช 2493

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระราชพิธีราชาภิเษกสมรสระหว่างสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชและหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร
วันที่28 เมษายน พ.ศ. 2493
สถานที่วังสระปทุม
ที่ตั้งจังหวัดพระนคร ประเทศไทย
ผู้เข้าร่วมสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช
หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงประกอบพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสกับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากรวังสระปทุม เมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2493 นับเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกแห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ที่ทรงจดทะเบียนสมรสตามกฎหมาย

เบื้องหลัง[แก้]

ปี พุทธศักราช 2491 ขณะที่หม่อมเจ้านักขัตรมงคลรับราชการในฐานะเอกอัครราชทูตนั่นเอง สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จจากเมืองโลซาน ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ มายังชานเมืองปารีส ประเทศฝรั่งเศส ครอบครัวของหม่อมเจ้านักขัตรมงคลจึงได้มาเฝ้ารับเสด็จ

ในครั้งนั้น สมเด็จพระราชชนนีมีรับสั่งให้พระราชโอรสทอดพระเนตรหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากรด้วยว่าสวยน่ารักไหม ท่านผู้หญิงเกนหลง สนิทวงศ์ ณ อยุธยา เขียนเล่าใน “ บันทึก เป็น อยู่ คือ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ” ว่า หม่อมเจ้านักขัตรมงคลก็ไม่ใช่ใครอื่น เป็นหลานแท้ ๆ ของสมเด็จย่า และเป็นคนดี หม่อมหลวงบัวก็เป็นลูกสาวเจ้าพระยาวงศาฯ ซึ่งเป็นคนดี ซื่อตรง และยังทรงกำชับว่า ถึงปารีสแล้วโทรฯ บอกแม่ด้วย ท่านผู้หญิงเกนหลงทรงเล่าในบันทึกต่อมาว่า เมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ถึงปารีสแล้ว จึงโทรศัพท์ตอบคำถามพระราชชนนีว่า “เห็นแล้วน่ารักมาก”

วันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2491 ในระหว่างเสด็จประทับยังต่างประเทศ ขณะที่พระองค์ทรงขับรถยนต์พระที่นั่งเฟียส ทอปอลิโน จากเจนีวาไปยังโลซาน ทรงประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ กล่าวคือ รถยนต์พระที่นั่งชนกับรถบรรทุกอย่างแรง ทำให้เศษกระจกกระเด็นเข้าพระเนตรขวา พระอาการสาหัส หลังการถวายการรักษา พระองค์มีพระอาการแทรกซ้อนบริเวณพระเนตรขวา แพทย์จึงถวายการรักษาอย่างต่อเนื่องหลายครั้ง หากแต่พระอาการยังคงไม่ดีขึ้น กระทั่งวินิจฉัยแล้วว่าพระองค์ไม่สามารถทอดพระเนตรผ่านทางพระเนตรขวาของพระองค์เองได้ต่อไปแล้ว จึงได้ถวายการแนะนำให้พระองค์ทรงพระเนตรปลอมในที่สุด ทั้งนี้ ม.ร.ว. สิริกิติ์ ได้มีโอกาสเข้าเฝ้าเยี่ยมพระอาการเป็นประจำจนกระทั่งหายจากอาการประชวร

ตอนที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงประสบอุบัติเหตุ ก็มีรับสังให้ครอบครัวเราเข้าเฝ้า เพราะทรงได้รับบาดเจ็บที่พระเนตรและพระ เศียร คุณแม่ก็เข้าไปก่อน ตอนเข้าเฝ้าฯ ก็ให้จับพระหัตถ์ท่านแล้วบอกชื่อ พอถึงสมเด็จฯ ท่านก็ทูลว่า หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์เพคะ พระเจ้าอยู่หัวท่านทรงจับมืออยู่นานพอสมควรเลย ” ท่านผู้หญิงบุษบา สธนพงษ์ เล่าถึงเหตุการณ์ครั้งนั้นในหนังสือ “ ด้วยพลังแห่งรัก ”

อันเป็นเหตุที่ทำให้ทั้งสองพระองค์มีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา เป็นต้นเหตุให้เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม พุทธศักราช 2492 สมเด็จพระราชชนนีได้รับสั่งขอหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ต่อหม่อมเจ้านักขัตมงคล โดยพิธีหมั้นได้จัดขึ้นอย่างเงียบ ๆ เรียบง่าย ณ โรงแรมวินด์เซอร์ เมืองโลซาน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสวมพระธำมรงค์เป็นของหมั้นต่อหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ ซึ่งเป็นพระธำมรงค์องค์เดียวกับที่สมเด็จพระบรมราชชนกทรงมอบต่อสมเด็จพระบรมราชชนนี

จนวันที่ 12 สิงหาคม ปีเดียวกัน สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศข่าวทรงหมั้นให้คนไทยทราบในงานเลี้ยงอันเรียบง่าย ที่สถานเอกอัครราชทูตไทยในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ

ข่าวอันเป็นสิริมงคลนี้ ทำให้คนไทยเกิดความปิติยินดีเป็นอย่างยิ่ง ประหนึ่งดังแสงสว่างที่ส่องสู่หัวใจทุกดวง ท่ามกลางข่าวอันน่าเศร้าสลดที่จะทรงมีพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ในเดือนมีนาคม พุทธศักราช 2493

หลังจากนั้น รัฐบาลได้แจ้งให้ประชาชนชาวไทยทราบว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะเสด็จนิวัติประเทศไทย พร้อมด้วยพระคู่หมั้นในวันที่ 24 มีนาคม พุทธศักราช 2493

พระราชพิธี[แก้]

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม กำหนดให้วันที่ 28 เมษายน พุทธศักราช 2493 เป็นวันประกอบพระราชพิธีราชาภิเษกสมรส ณ วังสระปทุม อันเป็นที่ประทับของสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า เมื่อใกล้ถึงเวลาพระฤกษ์ เวลา 09.30 น. หม่อมเจ้านักขัตรมงคล กิติยากร ทรงนำหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ไปยังวังสระปทุม สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงลงพระปรมาภิไธย และหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ ลงนามในสมุดทะเบียนสมรส ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ราชสักขี 2 คน คือ จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ในขณะนั้น, พลเอกมังกร พรหมโยธี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในขณะนั้น ร่วมลงนามด้วย เช่นเดียวกับสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร พระราชปิตุลา[ต้องการอ้างอิง]

เมื่อสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า เสด็จออก ณ ชั้น 2 ของพระตำหนักแล้ว สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชและหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ฯ ทูลเกล้าฯ ถวายดอกไม้ธูปเทียนเครื่องราชสักการะ สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ประทานน้ำพระพุทธมนต์ เทพมนต์ แด่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และพระราชทานน้ำพระพุทธมนต์ เทพมนต์แก่หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ ตามโบราณราชประเพณี พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการ และบุคคลที่ได้รับเชิญมาร่วมในพระราชพิธี ทูลเกล้าฯ ถวายของขวัญ ในโอกาสนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานของที่ระลึกเป็นหีบบุหรี่เงินขนาดเล็ก ประดับอักษรพระนามาภิไธยย่อ ภ.อ. และ ส.ก

ต่อมา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้อาลักษณ์อ่านประกาศสถาปนาหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ พระอัครมเหสี เป็นสมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ และพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์มหาจักรีบรมราชวงศ์แก่สมเด็จพระราชินีในโอกาสนี้ด้วย เมื่อเวลา 16.00 น. ของวันเดียวกันนี้ ทั้งสองพระองค์ได้เสด็จออกมหาสมาคม ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ ในพระบรมมหาราชวัง พระราชทานพระราชวโรกาสให้พระบรมวงศานุวงศ์ เข้าเฝ้าฯ ถวายพระพรชัยมงคล แล้วเสด็จออก ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยให้คณะองคมนตรี คณะรัฐมนตรี สมาชิกรัฐสภา ข้าราชการและคณะทูตานุทูต เฝ้าฯ ถวายพระพรชัยมงคล

ในวันรุ่งขึ้น คือวันที่ 29 เมษายน พุทธศักราช 2493 ทั้งสองพระองค์เสด็จแปรพระราชฐานโดยรถไฟพระที่นั่งไปประทับ ณ วังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นเวลา 5 วัน

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

อ้างอิง[แก้]