หลวงอาสาสำแดง (แตง)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
หลวงอาสาสำแดง
(แตง สุจริตกุล)
เกิดแตง
พ.ศ. 2320
อาณาจักรธนบุรี
เสียชีวิตพ.ศ. 2395
ประเทศสยาม
มีชื่อเสียงจากต้นราชินิกุลสุจริตกุล
คู่สมรสท้าวสุจริตธำรง
บุตรเจ้าพระยาสิริรัตนมนตรี
• ท้าววนิดาพิจาริณี
สมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทรมาตา
• พระยาราชภักดี
• นายรองพันธ์
• ปุก สุจริตกุล
• เหมือน สุจริตกุล
• สุด สุจริตกุล
บิดามารดา
  • พระยาจินดารังสรรค์ (บิดา)
ญาติเจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์ (ปู่)
ตรานาคพันแตง ประจำราชินิกูลสุจริตกุล

หลวงอาสาสำแดง นามเดิม แตง (พ.ศ. 2320 — พ.ศ. 2395) เป็นพระชนกในสมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทรมาตา (เจ้าคุณจอมมารดาเปี่ยมในรัชกาลที่ 4) และเป็นขรัวตาในพระอัครมเหสีในรัชกาลที่ 5 ถึง 3 พระองค์คือ สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี, สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า และสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เป็นพระปัยกาในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

ประวัติ[แก้]

หลวงอาสาสำแดง มีนามเดิมว่า แตง เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2320 เป็นบุตรพระยาจินดารังสรรค์ (แก้วแขก) ต้นสกุลนรรัตน์ เป็นหลานปู่เจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์ (อู่) ในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ และสืบเชื้อสายจากมาแต่พระมหาราชครู พระราชปุโรหิตาจารย์ราชสุภาวดีศรีบรมหงส์ องค์ปุริโสดมพรหมญาณวิบุลสิลสุจริต วิวิทธเวทยพรหมพุทธาจารย์ปุโรหิต (พราหมณ์ศิริวัฒนะ) ราชปุโรหิตในสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

เมื่อท่านเติบใหญ่ขึ้น ท่านบิดาได้ฝากตัวให้รับราชการในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ท่านรับราชการจนมีความชอบ จนได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์สุดท้ายที่หลวงอาสาสำแดง

เมื่อปี พ.ศ. 2367 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสด็จสวรรคต หลวงอาสาสำแดง (แตง) ได้ลาออกจากราชการ เพื่อเป็นอุปัฏฐากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่เสด็จทรงผนวช โดยท่านทำหน้าที่ควบคุมเรือพระที่นั่งไม่ว่าเสด็จไปที่ใดก็ตาม ท่านเป็นอุปัฏฐากมาตลอดที่เจ้าฟ้าวชิรญาณภิขุทรงดำรงสมณเพศ

จนกระทั่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชสมบัติต่อจากพระบรมเชษฐาธิราช พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รับราชการเป็นเจ้ากรมเรือต้นซ้าย

ครอบครัว[แก้]

หลวงอาสาสำแดง (แตง) สมรสกับคุณนาค ธิดาของบิดาเป็นคหบดีเชื้อสายจีนแห่งปากน้ำโพ นครสวรรค์ และได้ตั้งนิวาสสถานบนถนนตีทอง ข้างวัดสุทัศน์เทพวราราม   

หลวงอาสาสำแดงมีบุตรธิดากับท้าวสุจริตธำรง (นาค) รวม 9 คนตามลำดับอายุได้แก่

  1. ธิดาคนโตไม่ปรากฏนาม (ถึงแก่กรรมเมื่อยังเยาว์)
  2. ธิดาคนรองไม่ปรากฏนาม (ถึงแก่กรรมเมื่อยังเยาว์)
  3. เจ้าพระยาสิริรัตนมนตรี (หงส์ สุจริตกุล) มีบุตรธิดา 16 คน ที่สำคัญคือ หม่อมใหญ่ เทวกุล ณ อยุธยา ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ)
  4. ท้าววนิดาพิจาริณี (เหม สุจริตกุล) (ถึงแก่กรรม 10 สิงหาคม พ.ศ. 2464[1])
  5. สมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทรมาตา (เจ้าคุณจอมมารดาเปี่ยม) ถวายตัวเป็นบาทจาริกาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเป็นพระราชมารดา/พระมารดาของ
    1. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอุณากรรณอนันตนรไชย
    2. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ
    3. สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี
    4. สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า
    5. สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
    6. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์
  6. พระยาราชภักดี (โค สุจริตกุล) มีบุตรธิดาคือ
    1. เจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (ปลื้ม สุจริตกุล) ซึ่งเป็นพระบิดาของสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายา และพระสุจริตสุดา พระสนมในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
    2. ท้าววนิดาพิจาริณี (เจ้าจอมเพิ่ม ในรัชกาลที่ 5)
  7. นายรองพันธ์ (หล่อ สุจริตกุล)
  8. ปุก สุจริตกุล (ถึงแก่กรรมแต่ยังเยาว์)
  9. เหมือน สุจริตกุล (ถึงแก่กรรมแต่ยังเยาว์)

นอกจากนี้ยังมีบุตรธิดากับภรรยาอื่น แต่ที่มีปรากฏนามคือธิดาคนหนึ่งชื่อว่า สุด หรือรู้จักในนาม ขรัวนายสุด ซึ่งท้าวสุจริตธำรง (นาค) ได้รับอุปการะมาแต่เยาว์วัยโดยเลี้ยงคู่มากับเจ้าพระยาสิริรัตนมนตรี (หงส์ สุจริตกุล) ภายหลังคุณสุดได้ติดตามสมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทรมาตา ซึ่งมีศักดิ์เป็นน้องสาวเข้าไปอยู่ในพระบรมมหาราชวัง เพื่อช่วยอภิบาลพระราชโอรส-พระราชธิดาที่ยังทรงพระเยาว์อีกด้วย

ถึงแก่กรรมและพระมหากรุณาธิคุณต่อครอบครัว[แก้]

หลวงอาสาสำแดง (แตง) ถึงแก่กรรมอย่างสงบเมื่อปี พ.ศ. 2395 อันเป็นปีที่ 1 ของรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สิริอายุได้ 75 ปี

ภายหลังจากที่หลวงอาสาสำแดง (แตง) ถึงแก่กรรม พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระเมตตาต่อครอบครัวของคุณหลวง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้คุณนาคเข้ารับราชการโดยรับพระราชทานบรรดาศักดิ์ที่ ท้าวทองพยศ นายวิเสทกลางสำรับหวาน พร้อมรับพระราชทานเบี้ยหวัด 2 ชั่ง และโปรดเกล้าฯ ให้ควบคุมเลกวัดสุทัศน์เทพวรารามอีกด้วย และทรงอุปถัมภ์บุตรธิดาของคุณหลวงทุกคน

ซึ่งต่อมาเมื่อท้าวทองพยศ (นาค) ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อ พ.ศ. 2434 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนตำแหน่งขึ้นเป็น ท้าวสุจริตธำรง มีบรรดาศักดิ์เสมอด้วยท้าวสนองพระโอษฐ์ ถือศักดินา 1000 และโปรดฯ พระราชทานหีบหมากทองคำใหญ่ จำหลักเชิงชายเครื่องในพร้อมสำรับ 1, กาทองคำจำหลักเชิงชาย 1,หีบหมากทองคำเล็กจำหลักสรรพางค์ 1, โต๊ะเงินคู่ 1 แลพระราชทานโกศรองศพเพิ่มขึ้นเป็นเกียรติยศ ในฐานะพระประยูรญาติชั้นผู้ใหญ่ ในสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชเทวี พระนางเจ้าพระวรราชเทวี และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมาร (พระยศขณะนั้น)

และหลวงอาสาสำแดง (แตง) ถือเป็นบรรพบุรุษของราชินีกุลสุจริตกุล

ลำดับสาแหรก[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  • เล็ก พงษ์สมัครไทย. พระญาติ ราชสกุลกรุงรัตนโกสินทร์. กรุงเทพ : สำนักพิมพ์ข้าวฟ่าง, พ.ศ. 2549. 160 หน้า. ISBN 974-9687-35-3
  • ธำรงศักดิ์ อายุวัฒนะ. ราชสกุลจักรีวงศ์ และราชสกุลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ฉบับสมบูรณ์ (ภาคจบ). พิมพ์ครั้งที่ 2. นครหลวงฯ:รุ่งวัฒนา. 2515, หน้า 305
  • ธำรงศักดิ์ อายุวัฒนะ. ราชสกุลจักรีวงศ์ และราชสกุลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ฉบับสมบูรณ์ (ภาคจบ). พิมพ์ครั้งที่ 2. นครหลวงฯ:รุ่งวัฒนา. 2515, หน้า 306
  • ส.พลายน้อย. พระบรมราชินีและเจ้าจอมมารดาแห่งราชสำนักสยาม. พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ:ฐานบุ๊คส์, 2554. หน้า 211
  • สกุลไทย - 'ชื่อสกุล ที่มาจากบรรพบุรุษเดียวกัน'
  • ราชกิจจานุเบกษา, หมายตั้งท้าวสุจริตธำรง, เล่ม ๘, ตอน ๔๗, ๒๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๓๔, หน้า ๔๒๘