สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าศิราภรณ์โสภณ พิมลรัตนวดี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ
เจ้าฟ้าศิราภรณ์โสภณ พิมลรัตนวดี
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอชั้น 5
เจ้าฟ้าชั้นเอก
ประสูติ19 กรกฎาคม พ.ศ. 2431
พระบรมมหาราชวัง กรุงเทพพระมหานคร
สิ้นพระชนม์28 พฤษภาคม พ.ศ. 2441 (9 ปี)
พระบรมมหาราชวัง กรุงเทพพระมหานคร
ราชวงศ์จักรี
พระบิดาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระมารดาสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า
ศาสนาพุทธ
ธรรมเนียมพระยศของ
เจ้าฟ้าศิราภรณ์โสภณ
การทูลใต้ฝ่าพระบาท
การแทนตนข้าพระพุทธเจ้า
การขานรับพ่ะย่ะค่ะ/เพคะ

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าศิราภรณ์โสภณ พิมลรัตนวดี (19 กรกฎาคม พ.ศ. 2431 – 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2441) เป็นพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า

พระประวัติ[แก้]

พระชนม์ชีพช่วงต้น[แก้]

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าศิราภรณ์โสภณ พิมลรัตนวดีเป็นพระราชธิดาลำดับที่ 57 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า[1] เมื่อเวลา 03.54 น.[2] ของวันพฤหัสบดีที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2431[3] ชาววังออกนามว่า ทูลกระหม่อมฟ้าหญิงเล็ก[4] พระองค์เป็นพระราชบุตรร่วมพระชนกชนนีพระองค์ที่หก จากพี่น้องทั้งหมดแปดพระองค์คือ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร,[5] สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าอิศริยาลงกรณ์,[6] สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าวิจิตรจิรประภา อดุลยาดิเรกรัตน ขัตติยราชกุมารี,[7] สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าสมมติวงศ์วโรทัย กรมขุนศรีธรรมราชธำรงฤทธิ์,[8] สมเด็จพระราชปิตุจฉา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร,[9] สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก[10] และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าหญิง (ไม่มีพระนาม)[11]

ใน จดหมายเหตุพระราชกิจรายวันในรัชกาลที่ 5 ได้บันทึกเรื่องราวของพระราชธิดาพระองค์นี้ว่า วันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2431 มีการสมโภชสมเด็จพระเจ้าลูกเธอประสูติใหม่สามวัน และมีการสมโภชเดือนเมื่อวันที่ 28 กันยายนปีเดียวกัน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระนามแก่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระองค์นี้ว่าสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าสิราภรณ์โสภณพิมลรัตนวดี[12]

สิ้นพระชนม์[แก้]

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าศิราภรณ์โสภณ พิมลรัตนวดีประชวรพระโรคตับเคลื่อน แม้จะมีแพทย์สมัยใหม่คอยถวายการรักษาแต่พระอาการหาได้ทุเลาลง กระทั่งเวลาราว 23.00 น. ของวันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2441 พระองค์มีพระอาการทรุดหนัก แล้วสิ้นพระชนม์ช่วงย่ำรุ่งของวันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2441 สิริพระชนมพรรษาได้ 9 ปี[1] โดยพระองค์สิ้นพระชนม์ต่อจากสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร พระเชษฐาร่วมพระชนกชนนีซึ่งสวรรคตเมื่อสามปีก่อน

หม่อมศรีพรหมา กฤดากร ณ อยุธยาได้บันทึกเหตุการณ์เกี่ยวกับการสิ้นพระชนม์ไว้ว่า "วันนั้นเป็นวันครึ้มฝนตลอดทั้งวัน ชาววังโจษกันว่าพระอาการหนักมาก อาจสิ้นใจในวันนี้และก็ได้สิ้นใจในบ่ายวันนั้นจริง ๆ เด็ก ๆ ที่ห้องหม่อมเจ้ามีความสนใจเป็นพิเศษ เห็นจะเป็นที่รู้สึกว่ารุ่นราวคราวเดียวกัน มีความรู้สึกเศร้าใจในข่าวนี้ตามกัน พอจวนใกล้ค่ำ ซึ่งกะว่าจะต้องเชิญพระศพออก เด็ก ๆ ก็ชวนกันไปคอยดูที่ตำหนักที่ประทับซึ่งเรียกว่าพระตำหนักเฉย ๆ [...] ขบวนเชิญพระโกศบ่ายหน้าไปทางออกคือประตูเทวาพิทักษ์ ว่าเอาไปไว้ที่หอ จะเป็นหอชื่อนิเพทพิทยาหรือหอธรรมสังเวช หอนี้แหละ พอพระโกศผ่าน เด็ก ๆ ออกจะเบ้ ๆ น้ำตาไหลปนกับน้ำฝน บางทีจะเป็นด้วยบรรยากาศ เพราะไหนจะเสียงคนร้องไห้บนพระตำหนักเซ็งแซ่ เสียงปี่ เสียงเปิงพรวดที่เป่าอย่างเศร้า เห็นเจ้านายผู้ชายซับน้ำพระเนตรด้วยผ้าซับพระพักตร์..."[13] และ "...ภายหลังทราบว่าสมเด็จพระชนนีกันแสงไม่ได้พระสติ และต่อจากนั้นมาก็ทรงระทมพระทัยทรุดโทรมมาก"[13] และหลังจากนั้นหนึ่งปี สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าสมมติวงศ์วโรทัย กรมขุนศรีธรรมราชธำรงฤทธิ์ พระเชษฐาร่วมพระชนกชนนีก็สิ้นพระชนม์ด้วยพระโรคบิดไปอีกพระองค์ สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าที่ทรงพระประชวรอยู่แล้วตั้งแต่การสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าศิราภรณ์โสภณก็ยิ่งทรุดหนักลงไปอีก[14]

วันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2443 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดงานพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าสมมติวงศ์วโรทัย กรมขุนศรีธรรมราชธำรงฤทธิ์ และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าศิราภรณ์โสภณ พิมลรัตนวดี ณ พระเมรุท้องสนามหลวง[3] พร้อมกันและต่อเนื่องไปกับงานพระราชทานเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร ณ พระเมรุมณฑป วัดบวรสถานสุทธาวาส[15]

พงศาวลี[แก้]

อ้างอิง[แก้]

เชิงอรรถ
  1. 1.0 1.1 "ข่าวสิ้นพระชนม์สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าศิราภรณ์โสภณ" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 15 (9): 94. 29 ตุลาคม 2441.
  2. พระภรรยาเจ้า และสมเด็จเจ้าฟ้าในรัชกาลที่ 5, หน้า 350
  3. 3.0 3.1 ราชสกุลวงศ์, หน้า 98
  4. พระภรรยาเจ้า และสมเด็จเจ้าฟ้าในรัชกาลที่ 5, หน้า 441
  5. ราชสกุลวงศ์, หน้า 86
  6. ราชสกุลวงศ์, หน้า 87
  7. ราชสกุลวงศ์, หน้า 88-89
  8. ราชสกุลวงศ์, หน้า 91
  9. ราชสกุลวงศ์, หน้า 94
  10. ราชสกุลวงศ์, หน้า 101
  11. ราชสกุลวงศ์, หน้า 104
  12. พระภรรยาเจ้า และสมเด็จเจ้าฟ้าในรัชกาลที่ 5, หน้า 353
  13. 13.0 13.1 ราชสกุลวงศ์, หน้า 455-456
  14. พระภรรยาเจ้า และสมเด็จเจ้าฟ้าในรัชกาลที่ 5, หน้า 365
  15. พระภรรยาเจ้า และสมเด็จเจ้าฟ้าในรัชกาลที่ 5, หน้า 473
บรรณานุกรม
  • กรมศิลปากร. สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ (2554). ราชสกุลวงศ์ (PDF). กรุงเทพฯ: สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2017-02-02. สืบค้นเมื่อ 2019-01-04.
  • จิรวัฒน์ อุตตมะกุล, นายแพทย์. พระภรรยาเจ้า และสมเด็จเจ้าฟ้าในรัชกาลที่ 5. พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ : ลายคำ, 2552