พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถ
บทความนี้ยังต้องการเพิ่มแหล่งอ้างอิงเพื่อพิสูจน์ความถูกต้อง |
พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถ | |
---|---|
พระวรวงศ์เธอ ชั้น 5 พระองค์เจ้าชั้นตรี | |
ประสูติ | 4 มกราคม พ.ศ. 2441 เมืองพระนคร ประเทศสยาม |
สิ้นพระชนม์ | 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2496 (55 ปี) จังหวัดพระนคร ประเทศไทย |
พระราชทานเพลิง | 7 มิถุนายน พ.ศ. 2496 พระเมรุ วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม |
หม่อม | หม่อมหลวงบัว กิติยากร |
พระบุตร | |
ราชสกุล | กิติยากร |
ราชวงศ์ | จักรี |
พระบิดา | พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ |
พระมารดา | หม่อมเจ้าอับศรสมาน กิติยากร |
พลเอก พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถ (4 มกราคม พ.ศ. 2441 – 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2496) เมื่อแรกประสูติมีพระอิสริยยศที่ หม่อมเจ้านักขัตรมงคล เป็นพระโอรสในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ กับหม่อมเจ้าอับศรสมาน กิติยากร (ราชสกุลเดิม เทวกุล) เป็นพระสัสสุระในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ด้วยเป็นพระราชชนกในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และเป็นพระราชอัยกาในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว
การศึกษา
[แก้]พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถ ทรงรับการศึกษาเบื้องต้น ณ วังที่ประทับ จากนั้นทรงศึกษาในโรงเรียนราชวิทยาลัย (ปัจจุบันคือโรงเรียน ภ.ป.ร. ราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์) กระทั่ง พ.ศ. 2453 ทรงศึกษาในโรงเรียนนายร้อยทหารบก ชั้นประถม และชั้นมัธยมตามลำดับ ครั้น พ.ศ. 2454 เสด็จไปศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษ เป็นนักเรียนในสังกัดกระทรวงกลาโหม เมื่อ พ.ศ. 2457 เข้าเรียนในโรงเรียนมัธยม ในประเทศฝรั่งเศส กระทั่งได้รับประกาศนียบัตร Baccalauréat ทั้ง 2 ภาค ในทางวิทยาศาสตร์ จากนั้นจึงเข้าศึกษาในโรงเรียนนายร้อยฝรั่งเศส École Spéciale Militaire de Saint Cyr โดยได้รับยศสิบโทและสิบเอกแห่งกองทัพฝรั่งเศส
การทำงาน
[แก้]พ.ศ. 2463 ทรงศึกษาจนจบหลักสูตร พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้พระราชทานสัญญาบัตรเป็นร้อยตรีเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2463[1] ตำแหน่งนายทหารนอกกอง สังกัดกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่อมาในวันที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2465 โปรดเกล้าฯ พระราชทานยศ ร้อยโท ขณะศึกษาวิชาการทหารอยู่ที่ประเทศฝรั่งเศส[2] และยังได้ประจำการในกรมทหารราบฝรั่งเศสหลายแห่งด้วย ขณะเดียวกันได้ทรงรับคำสั่งเป็นนายทหารประจำพระองค์พันเอก สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิ์เดชน์ กรมขุนสุโขทัยธรรมราชา (ภายหลังคือพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว) และได้เสด็จไปทอดพระเนตรงานในกองทัพฝรั่งเศสอย่างกว้างขวาง และได้รู้จักคุ้นเคยนายทหารผู้ใหญ่เป็นจำนวนมาก จากนั้นในวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2467 ได้รับพระราชทานยศ ร้อยเอก[3] ต่อมาในวันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2469 รับพระราชทานยศ พันตรี[4]
วันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2472 ทรงรับราชการทหารจนได้รับพระราชทานยศพันโท[5] วันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2473 รับพระราชทานยศพันเอก[6] ระหว่างนี้ทรงสร้างตำราทางทหารและสร้างแบบฝึก และวางแผนการป้องกันราชอาณาจักรไว้หลายอย่าง เมื่อ พ.ศ. 2474 ทรงได้รับตำแหน่งเลขานุการสภาการป้องกันพระราชอาณาจักร [7] และตำแหน่งผู้ช่วยเสนาธิการทหารบกด้วยเมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2475[8] โดยก่อนหน้านั้นในวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2474 พระองค์ได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่ง ผู้ช่วยเสนาธิการทหารบกฝ่ายทหาร [9]
เมื่อ พ.ศ. 2475 ทรงออกจากประจำการเป็นนายทหารกองหนุน[10] แล้วย้ายไปรับราชการในกระทรวงการต่างประเทศ ตำแหน่งเลขานุการเอกประจำสถานเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. อีกสองปีต่อมา ทรงลาออกจากตำแหน่งและเสด็จกลับประเทศไทย ระหว่างนี้ทรงศึกษาวิชาการต่าง ๆ หลายแขนง เช่น ประวัติศาสตร์ โหราศาสตร์ และวรรณคดี
วันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2489 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กลับเข้ารับราชการในตำแหน่ง อัครราชทูตประจำราชสำนักเซนต์เจมส์ สหราชอาณาจักร[11] ต่อมาในวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2489 อันตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้พระองค์เป็นอัครราชทูตไทยประจำราชสำนักเซนต์เจมส์อีกวาระหนึ่ง[12] วันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2490 ย้ายไปดำรงตำแหน่งอัครราชทูตประจำประเทศเดนมาร์ก[13] และฝรั่งเศส ตามลำดับ[14] จากนั้นก็ย้ายไปดำรงตำแหน่ง เอกอัครราชทูตประจำสำนักเซนต์เจมส์[15] อันเป็นตำแหน่งสุดท้ายในกระทรวงการต่างประเทศ
พ.ศ. 2493 ทรงพ้นตำแหน่งเอกอัครราชทูต และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ จากพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานยศทหารเป็น พลเอก นายทหารพิเศษประจำกองพันที่ 1 กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ และเป็นราชองครักษ์พิเศษ เมื่อวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2493[16] และโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งองคมนตรี เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2493[17] และสถาปนาพระอิสริยศักดิ์ขึ้นเป็น พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้านักขัตรมงคล เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2493[18]
เมื่อ พ.ศ. 2495 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระอิสริยศักดิ์ขึ้นเป็น พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถ[19] และรับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก และมหาจักรีบรมราชวงศ์ ตามลำดับ
พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถ เริ่มประชวรพระโรคหลอดลมอักเสบ เมื่อกลางเดือนมกราคม พ.ศ. 2496 และยังประชวรพระโรควักกะ (ไต) พิการด้วย จนถึงวันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2496 เวลา 7.45 น. ก็สิ้นพระชนม์ ณ วังที่ประทับ สิริพระชันษา 55 ปี 1 เดือน 8 วัน ในการนี้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระโกศกุดั่นน้อยทรงพระศพ ประดิษฐานพระศพ ณ พระที่นั่งทรงธรรม วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามฯ ทั้งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานบำเพ็ญพระราชกุศล 7 วัน 15 วัน 50 วัน และ 100 วัน อุทิศถวาย มีพิธีพระราชทานเพลิงพระศพเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2496 ณ พระเมรุ วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร
พระโอรส-ธิดา
[แก้]พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถ ทรงเสกสมรสกับหม่อมหลวงบัว กิติยากร (ราชสกุลเดิม สนิทวงศ์; 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2452 − 19 กันยายน พ.ศ. 2542); บุตรีของเจ้าพระยาวงษานุประพัทธ์ (หม่อมราชวงศ์สท้าน สนิทวงศ์)) เมื่อ พ.ศ. 2471 ทรงมีพระโอรส-ธิดา ดังนี้
- หม่อมราชวงศ์กัลยาณกิติ์ กิติยากร (20 กันยายน พ.ศ. 2472 − 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2530) สมรสกับท่านผู้หญิงอรุณ กิติยากร ณ อยุธยา (ราชสกุลเดิม: สนิทวงศ์ ณ อยุธยา; 24 ธันวาคม พ.ศ. 2470 − 29 กันยายน พ.ศ. 2551) มีบุตรธิดาสองคน
- หม่อมราชวงศ์อดุลกิติ์ กิติยากร (2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2473 − 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2547) สมรสกับท่านผู้หญิงพันธุ์สวลี กิติยากร (เดิม หม่อมเจ้าพันธุ์สวลี ยุคล; ประสูติ 24 กันยายน พ.ศ. 2476) มีธิดาสองคน
- สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง (เดิม หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร; พระราชสมภพ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2475) ราชาภิเษกสมรสกับพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (5 ธันวาคม พ.ศ. 2470 – 13 ตุลาคม พ.ศ. 2559) มีพระราชบุตรสี่พระองค์
- หม่อมราชวงศ์บุษบา สธนพงศ์ (เกิด 2 สิงหาคม พ.ศ. 2477) สมรสครั้งแรกกับหม่อมหลวงทวีสันต์ ลดาวัลย์ (26 มกราคม พ.ศ. 2467 – 7 เมษายน พ.ศ. 2549) สมรสครั้งที่สองกับนาวาเอกสุรยุทธ สธนพงศ์ มีธิดาจากการสมรสครั้งแรกหนึ่งคน
พระเกียรติยศ
[แก้]ธรรมเนียมพระยศของ พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถ | |
---|---|
การทูล | ฝ่าพระบาท |
การแทนตน | เกล้ากระหม่อม/เกล้ากระหม่อมฉัน |
การขานรับ | เกล้ากระหม่อม/เพคะ |
ลำดับโปเจียม | ไม่ทราบ |
พระอิสริยยศ
[แก้]- 4 มกราคม พ.ศ. 2441 - 5 มิถุนายน พ.ศ. 2472 : หม่อมเจ้านักขัตรมงคล
- 5 มิถุนายน พ.ศ. 2472 – 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2493 : หม่อมเจ้านักขัตรมงคล กิติยากร
- 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2493 - 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2495 : พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้านักขัตรมงคล
- 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2495 - 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2496 : พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถ
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
[แก้]เครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทย
[แก้]- พ.ศ. 2495 – เครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ (ม.จ.ก.) (ฝ่ายหน้า)[20]
- พ.ศ. 2493 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นที่ 1 ปฐมจุลจอมเกล้า (ป.จ.) (ฝ่ายหน้า)[21]
- พ.ศ. 2495 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นสูงสุด มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก (ม.ป.ช.)[20]
- พ.ศ. 2493 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นที่ 1 ประถมาภรณ์มงกุฎไทย (ป.ม.)[22]
- พ.ศ. 2470 – เหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา (ร.ด.ม.(ศ))[23]
- พ.ศ. 2469 – เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 7 ชั้นที่ 3 (ป.ป.ร.3)[24]
- พ.ศ. 2496 – เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 9 ชั้นที่ 1 (ภ.ป.ร.1)[25]
- พ.ศ. 2440 – เหรียญประพาสมาลา (ร.ป.ม.)
- พ.ศ. 2446 – เหรียญทวีธาภิเศก (ท.ศ.)
- พ.ศ. 2450 – เหรียญรัชมงคล (ร.ร.ม.)
- พ.ศ. 2451 – เหรียญรัชมังคลาภิเศก รัชกาลที่ 5 (ร.ม.ศ.5)
- พ.ศ. 2454 – เหรียญบรมราชาภิเษก รัชกาลที่ 6 (ร.ร.ศ.6)
- พ.ศ. 2468 – เหรียญบรมราชาภิเษก รัชกาลที่ 7 (ร.ร.ศ.7)
- พ.ศ. 2493 – เหรียญบรมราชาภิเษก รัชกาลที่ 9 (ร.ร.ศ.9)
เครื่องราชอิสริยาภรณ์ต่างประเทศ
[แก้]- ฝรั่งเศส :
- พ.ศ. 2471 – เครื่องอิสริยาภรณ์เลฌียงดอเนอร์ ชั้นออฟีซีเย[26]
- เดนมาร์ก :
- พ.ศ. 2493 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์แดนเนอโบร ชั้นที่ 1[27]
พระยศทหาร
[แก้]พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถ | |
---|---|
รับใช้ | ไทย |
แผนก/ | กองทัพบกไทย |
ประจำการ | พ.ศ. 2463 - 2496 |
ชั้นยศ | พลเอก |
พระยศทหารบก
[แก้]- 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2463: นายร้อยตรี[28]
- 27 มกราคม พ.ศ. 2466: นายร้อยโท[29]
- 26 มีนาคม พ.ศ. 2468: นายร้อยเอก[30]
- 17 เมษายน พ.ศ. 2493: พลเอก[31]
พงศาวลี
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ "พระราชทานยศทหารบก" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 8 สิงหาคม 1920.
- ↑ พระราชทานยศทหารบก
- ↑ พระราชทานยศทหารบก
- ↑ พระราชทานยศทหารบกและข้าราชการ (หน้า ๗๔๕)
- ↑ พระราชทานยศ (หน้า ๑๑๒)
- ↑ พระราชทานยศ
- ↑ ประกาศสภาการป้องกันพระราชอาณาจักร เรื่อง ตั้งเลขานุการแห่งสภาการป้องกันพระราชอาณาจักร
- ↑ ประกาศกระทรวงกลาโหม เรื่อง เลื่อนย้ายและปลดนายทหารกับตั้งราชองครักษ์เวร (ลำดับที่ ๑๓)
- ↑ ประกาศกระทรวงกลาโหม เรื่อง เลื่อนย้ายนายทหารรับราชการ
- ↑ ประกาศกระทรวงกลาโหม เรื่อง นายทหารออกจากประจำการ (ลำดับที่ ๓๐)
- ↑ ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ตั้งอัครราชทูตไทยประจำประเทศอังกฤษ
- ↑ ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ตั้งอัครราชทูตไทยประจำประเทศอังกฤษ
- ↑ ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ตั้งอัครราชทูตไทยประจำประเทศเดนมาร์ก
- ↑ ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ตั้งอัครราชทูตไทยประจำสาธารณรัฐฝรั่งเศส
- ↑ ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ตั้งเอกอัครราชทูตประจำประเทศอังกฤษและสาธารณรัฐจีนกับตั้งอัครราชทูตประจำสาธารณรัฐฝรั่งเศส
- ↑ ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานยศทหาร
- ↑ พระบรมราชโองการ ประกาศ ตั้งองคมนตรี (พลเอก หม่อมเจ้านักขัตรมงคล กิติยากร)
- ↑ พระบรมราชโองการ ประกาศ สถาปนาพระราชวงศ์
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการประกาศสถาปนาพระราชวงศ์, เล่ม ๖๙, ตอน ๒๘ ก, ๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๕, หน้า ๖๔๔
- ↑ 20.0 20.1 ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2022-10-21 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๖๙ ตอนที่ ๒๙ ง หน้า ๑๒๘๖, ๕ พฤษภาคม ๒๔๙๕
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2022-09-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๖๗ ตอนที่ ๒๕ ง หน้า ๑๘๐๖, ๒ พฤษภาคม ๒๔๙๓
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2022-10-18 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๖๗ ตอนที่ ๑๖ ง หน้า ๑๓๐๔, ๒๑ มีนาคม ๒๔๙๓
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์และเหรียญ เก็บถาวร 2022-09-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๔๔ หน้า ๒๕๖๘, ๒๐ พฤศจิกายน ๒๔๗๐
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ฝ่ายหน้า เก็บถาวร 2022-09-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๔๓ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๓๑๒๒, ๒๖ พฤศจิกายน ๒๔๖๙
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ เก็บถาวร 2022-10-18 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๗๐ ตอนที่ ๖ ง หน้า ๒๓๔, ๒๐ มกราคม ๒๔๙๖
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ประดับตราต่างประเทศ, เล่ม ๔๕ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๕๘๗, ๒๐ พฤษภาคม ๒๔๗๑
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานพระบรมราชานุญาตประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ต่างประเทศ เก็บถาวร 2022-10-18 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๖๗ ตอนที่ ๖๓ ง หน้า ๖๐๐๒, ๒๑ พฤศจิกายน ๒๔๙๓
- ↑ พระราชทานยศทหารบก
- ↑ พระราชทานยศทหารบก
- ↑ พระราชทานยศทหารบก
- ↑ ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานยศทหาร
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- พระราชพิธีสิบสองเดือน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์. (พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์พระราชทาน ในงานพระราชทานเพลิงพระศพ พลเอก พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถ ณ พระเมรุวัดเบญจมบพิตร วันที่ 7 มิถุนายน พุทธศักราช 2496).
- บุคคลที่เกิดในปี พ.ศ. 2441
- บุคคลที่เสียชีวิตในปี พ.ศ. 2496
- พระวรวงศ์เธอ
- พระองค์เจ้าตั้ง
- กรมหมื่น
- ราชสกุลกิติยากร
- นายพลชาวไทย
- เอกอัครราชทูตไทยประจำสหราชอาณาจักร
- เอกอัครราชทูตไทยประจำสาธารณรัฐฝรั่งเศส
- องคมนตรีในรัชกาลที่ 9
- บุคคลจากโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า
- บุคคลจากโรงเรียน ภ.ป.ร. ราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์
- ผู้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ม.จ.ก. (ฝ่ายหน้า)
- ผู้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ป.จ. (ฝ่ายหน้า)
- ผู้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ม.ป.ช.
- ผู้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ม.ว.ม.
- ผู้ได้รับเหรียญ ร.ด.ม.(ศ)
- ผู้ได้รับเหรียญรัตนาภรณ์ ภ.ป.ร.1
- เสียชีวิตจากโรคไต
- เสียชีวิตจากโรคระบบทางเดินหายใจ
- บุคคลในประวัติศาสตร์กรุงรัตนโกสินทร์
- ทหารบกชาวไทย
- บทความเกี่ยวกับ ชีวประวัติ ที่ยังไม่สมบูรณ์