พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเจริญกมลสุขสวัสดิ์
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเจริญกมลสุขสวัสดิ์ | |
---|---|
| |
พระอิสริยยศ | พระเจ้าบรมวงศ์เธอ ชั้น 4 |
ฐานันดรศักดิ์ | พระองค์เจ้า |
ราชวงศ์ | จักรี |
ข้อมูลส่วนพระองค์ | |
ประสูติ | 23 มีนาคม พ.ศ. 2412 |
สิ้นพระชนม์ | 7 ตุลาคม พ.ศ. 2417 (5 ปี) |
พระบิดา | พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว |
พระมารดา | เจ้าจอมมารดาห่วง |
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเจริญกมลสุขสวัสดิ์ เป็นพระราชธิดาพระองค์ที่ 82 และพระองค์สุดท้ายในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาห่วง
พระประวัติ[แก้]
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเจริญกมลสุขสวัสดิ์ ประสูติในรัชกาลที่ 5 เมื่อวันอังคาร ที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2411[1] (ปัจจุบันคือ พ.ศ. 2412) เป็นพระราชธิดาพระองค์สุดท้ายในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่จ้าจอมมารดาห่วง ธิดาขุนเทพฯกับเกษ มีพระเชษฐภคินี พระเชษฐาร่วมเจ้าจอมมารดาเดียวกัน 2 พระองค์คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบุษบันบัวผันและพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย
พระองค์ประสูติหลังสมเด็จพระบรมชนกนาถเสด็จสวรรคตแล้ว 5 เดือน จึงทรงพระราชทานพระนามไว้ล่วงหน้าเป็นกลาง ๆ เมื่อยังไม่ทรงทราบว่าเป็นพระราชโอรสหรือพระราชธิดาว่า เจริญกมลสุขสวัสดิ์[2]
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเจริญกมลสุขสวัสดิ์สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ 5 เมื่อวันพุธที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2417 พระราชทานเพลิงพระศพ ณ พระเมรุผ้าขาว วัดสระเกศ วันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2419[1] ในงานงานพระเมรุของพระองค์นั้นพระบรมวงศานุวงศ์ล้วนฉลองพระองค์ดำทั้งหมด ยกเว้นพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนสุพรรณภาควดีที่ทรงฉลองพระองค์ขาว เพราะแม้กรมขุนสุพรรณภาควดีจะทรงมีพระชนมายุเดือนมากกว่าแต่พระองค์เจ้าเจริญกมลสุขสวัสดิ์ทรงอยู่ในฐานะเป็นพระขนิษฐาของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่องนี้ปรากฏในหนังสือ ธรรมเนียมพระบรมศพและพระศพเจ้านาย ว่า[3]
พระบรมวงษานุวงทั้งนั้น ทรงผ้าพื้นดำทรงฉลองพระองค์ดำ แต่พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าศรีวิไลย ทรงผ้าสีน้ำเงินแก่ ฉลองพระองค์ขาว ทรงสภักษขาว เพราะพระชนพรรษาของท่านนั้นแก่กว่าพระองค์เจ้าที่สิ้นพระชน
พระอิสริยยศ[แก้]
- พระเจ้าน้องนางเธอ พระองค์เจ้าเจริญกมลสุขสวัสดิ์ (23 มีนาคม พ.ศ. 2412 - 7 ตุลาคม พ.ศ. 2417)
- พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเจริญกมลสุขสวัสดิ์ (พระนามหลังการสิ้นพระชนม์)
อ้างอิง[แก้]
- ↑ 1.0 1.1 กรมศิลปากร. สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ (2554). ราชสกุลวงศ์ (PDF). กรุงเทพฯ: สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร. p. 79.
- ↑ เวียงวัง ตอนที่ 298 : ที่ดินพระราชทาน
- ↑ รู้จักวิธีการไว้ทุกข์ "สีเครื่องแต่งกาย" ตามธรรมเนียมพระบรมศพและพระศพเจ้านาย