เจ้าจอมมารดาชุ่ม ในรัชกาลที่ 5

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เจ้าจอมมารดา

ชุ่ม ในรัชกาลที่ 5

เกิด19 กันยายน พ.ศ. 2412
บ้านปากคลองโอ่งอ่าง จังหวัดพระนคร อาณาจักรสยาม
เสียชีวิต22 มิถุนายน พ.ศ. 2454 (41 ปี)
พระตำหนักสวนภาพผู้หญิง จังหวัดพระนคร อาณาจักรสยาม
คู่สมรสพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. 2431–2453)
บุตรพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทรทิพยนิภา
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุจิตราภรณี
บุพการีพระมงคลรัตนราชมนตรี (ช่วง ไกรฤกษ์)
ขรัวยายไข่

เจ้าจอมมารดาชุ่ม ในรัชกาลที่ 5 (สกุลเดิม ไกรฤกษ์; 19 กันยายน พ.ศ. 2412 – 22 มิถุนายน พ.ศ. 2454) เป็นบาทบริจาริกาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นธิดาของพระมงคลรัตนราชมนตรี (ช่วง ไกรฤกษ์) และเป็นสตรีที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นนางสนองพระโอษฐ์คนแรกของราชสำนักไทย

ประวัติ[แก้]

เจ้าจอมมารดาชุ่ม และพระราชธิดาสองพระองค์

เจ้าจอมมารดาชุ่ม เกิดเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2412 ณ บ้านปากคลองโอ่งอ่าง จังหวัดพระนคร (ปัจจุบันคือบริเวณเชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้าฝั่งพระนคร) เป็นธิดาคนที่เจ็ดจากทั้งหมดสิบคนของพระมงคลรัตนราชมนตรี (ช่วง ไกรฤกษ์) กับภรรยาชื่อไข่ บุตรีเจ้ากรมไม้สูงฝ่ายพระราชวังบวรสถานมงคล[1] เมื่อบุตรีจำเริญวัยขึ้น เจ้าจอมอิ่มย่าหรัน ในรัชกาลที่ 3 พี่สาวต่างมารดาของพระมงคลรัตนราชมนตรี แนะนำให้นำบุตรสาวนี้ถวายตัวแก่สมเด็จพระบรมราชมาตามหัยิกาเธอ กรมพระยาสุดารัตน์ราชประยูร ด้วยเหตุนี้เจ้าจอมมารดาชุ่มจึงได้รับการอบรมเลี้ยงดูเป็นหญิงชาววังโดยแท้มาแต่นั้น[1] หลังจากนั้นไม่นานเจ้าจอมอิ่มย่าหรันซึ่งเป็นป้าของท่านก็ถึงแก่อนิจกรรม แต่เจ้าจอมอิ่มได้มอบมรดกเล็ก ๆ น้อย ๆ ให้หลานน้อยไว้ดูต่างหน้า คือหีบหมากหินทรายขลิบทองแก่เจ้าจอมมารดาชุ่ม[2]

ครั้นเข้าสู่วัยสาว เจ้าจอมมารดาชุ่มคอยถวายงานแก่สมเด็จพระบรมราชมาตามหัยิกาเธอ กรมพระยาสุดารัตน์ราชประยูร และมีโอกาสได้เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวอยู่เนือง ๆ[1] ด้วยความที่เจ้าจอมมารดาชุ่มเป็นคนรูปพรรณดี บุคลิกงามสง่า มีดวงหน้ายาว คางหักเหลี่ยม และมีความมั่นใจในตัวเองสูง จึงได้รับการแต่งตั้งเป็นบาทบริจาริกาในตำแหน่ง เจ้าจอม เมื่ออายุได้ 19 ปี[3] ปีถัดมาท่านมีบรรดาศักดิ์เป็น เจ้าจอมมารดา เพราะให้ประสูติกาลพระราชธิดาสองพระองค์คือ

  1. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทรทิพยนิภา (21 เมษายน พ.ศ. 2432 – 23 มีนาคม พ.ศ. 2501) ชาววังออกพระนามว่า "เสด็จพระองค์ใหญ่"
  2. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุจิตราภรณี (6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2433 – 26 ตุลาคม พ.ศ. 2461) ชาววังออกพระนามว่า "เสด็จพระองค์เล็ก"

เมื่อคราวพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงหายจากพระอาการประชวรใน พ.ศ. 2439 แพทย์กราบบังคมทูลถวายคำแนะนำให้แปรพระราชฐานไปประทับสถานที่อากาศดีสักแห่ง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเลือกเสด็จประพาสชวาเป็นการส่วนพระองค์ เพราะเคยเสด็จอย่างเป็นทางการใน พ.ศ. 2413 มาก่อน พระองค์โปรดอัธยาศัยของชาวฮอลันดาและชนพื้นเมือง ภูมิประเทศที่สวยงาม และกิจการของฮอลันดาที่ปกครองชวา[4] ทรงใช้เวลาประพาสนานถึงสองเดือน ด้วยเหตุนี้พระองค์จึงแต่งตั้งเจ้าจอมมารดาชุ่มเป็นนางสนองพระโอษฐ์ตามธรรมเนียมยุโรปคนแรก และโปรดเกล้าให้สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และเจ้าจอมมารดาชุ่มแต่งกายอย่างสตรียุโรป ประกอบด้วยกระโปรงแบบสุ่ม เสื้อแขนหมูแฮม และสวมหมวก นอกจากนี้เจ้าจอมมารดาชุ่มยังมีโอกาสร่วมโต๊ะเสวยกับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งไม่เคยปฏิบัติมาก่อนในสยาม[5]

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแปรพระราชฐานไปประทับพระที่นั่งวิมานเมฆ พระราชวังดุสิต และพระราชทานพระตำหนักต่าง ๆ ให้พระราชธิดาประทับร่วมกับพระมารดา เจ้าจอมมารดาชุ่มและพระราชธิดาทั้งสองพระองค์อาศัยในพระตำหนักสวนภาพผู้หญิง ติดกับพระตำหนักของเจ้าจอมมารดาอ่อน[6]

เจ้าจอมมารดาชุ่มเริ่มกระเสาะกระแสะ และถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2454 เวลา 23.30 น. สิริอายุ 41 ปี วันต่อมา วันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2454 เวลา 17.00 น. พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ เสนาบดีกระทรวงวัง เสด็จแทนพระองค์ไปในการพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ[7]

การทำงาน[แก้]

เจ้าจอมมารดาชุ่ม สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และคุณหญิงดักมาร์ ชลยุทธโยธิน ในชุดสตรีตะวันตก พ.ศ. 2439

เจ้าจอมมารดาชุ่ม เป็นเจ้าจอมที่ทรงโปรดมากคนหนึ่ง เพราะท่านสามารถพูดภาษาอังกฤษได้คล่อง จึงได้รับพระกรุณาธิคุณให้ตามเสด็จประพาสชวาถึงสองครั้ง [8]

ครั้งแรกใน พ.ศ. 2439 เจ้าจอมมารดาชุ่มได้ตามเสด็จพระราชดำเนินโดยรับหน้าที่เป็นนางสนองพระโอษฐ์ให้กับสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระอัครราชเทวี

ครั้งที่ 2 ใน พ.ศ. 2444 เจ้าจอมมารดาชุ่มได้ตามเสด็จพระราชดำเนินอีกครั้ง โดยในครั้งนี้พระเจ้าลูกเธอของท่านโสกันต์แล้ว จึงได้ตามเสด็จพระราชดำเนินด้วยทั้งสองพระองค์ ส่วนสาเหตุที่เจ้าจอมมารดาชุ่มได้ตามเสด็จด้วยนั้นเป็นเพราะว่า "ท่านใส่ชุดฝรั่งขึ้น"

ในการตามเสด็จประพาสชวาครั้งที่ 2 ของเจ้าจอมมารดาชุ่มนั้น ยังมีเจ้านายฝ่ายในอีกหลายท่านตามเสด็จด้วย ได้แก่ สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ, พระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระราชเทวี, พระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์, เจ้าจอมเอี่ยม และ เจ้าจอมเอิบ ส่วนพระราชธิดาที่ตามเสด็จด้วยนอกจากพระเจ้าลูกเธอทั้งสองของเจ้าจอมมารดาชุ่มแล้ว ยังมี สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงสุทธาทิพยรัตน์, สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงมาลินีนพดารา และ สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงนิภานภดล พระองค์ท่านยังได้ตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประพาสยุโรปทั้งสองครั้งด้วย

เกียรติยศ[แก้]

บรรดาศักดิ์[แก้]

  • 19 กันยายน พ.ศ. 2412 – พ.ศ. 2431 : ชุ่ม
  • พ.ศ. 2431 – 21 เมษายน พ.ศ. 2432 : เจ้าจอมชุ่ม ในรัชกาลที่ 5
  • 21 เมษายน พ.ศ. 2432 – 22 มิถุนายน พ.ศ. 2454 : เจ้าจอมมารดาชุ่ม ในรัชกาลที่ 5

เครื่องราชอิสริยาภรณ์[แก้]

อ้างอิง[แก้]

เชิงอรรถ
  1. 1.0 1.1 1.2 แลวังหลังตำหนัก, หน้า 14
  2. แลวังหลังตำหนัก, หน้า 12
  3. แลวังหลังตำหนัก, หน้า 15
  4. แลวังหลังตำหนัก, หน้า 16
  5. แลวังหลังตำหนัก, หน้า 17
  6. แลวังหลังตำหนัก, หน้า 18
  7. ข่าวอสัญกรรม
  8. วรรณพร บุญญาสถิตย์. จอมนางแห่งสยาม ในสมัยรัชกาลที่ 4 ถึงรัชกาลที่ 6 กับกระแสวัฒนธรรมตะวันตก. กรุงเทพ : สำนักพิมพ์สร้างสรรค์บุ๊คส์, พ.ศ. 2549. 338 หน้า. ISBN 874341-471-1 ข้อผิดพลาดพารามิเตอร์ใน {{ISBN}}: checksum
  9. "การพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์สำหรับตระกูลพระจุลจอมเกล้าแลถวายบังคมพระบรมรูป" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 16 (34): 498. 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2442. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 2014-10-26. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)
บรรณานุกรม
  • เบญจาภา (จักรพันธุ์) ไกรฤกษ์, ม.ร.ว. ดร.. แลวังหลังตำหนัก. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, 2558. 417 หน้า. ISBN 978-616-18-0326-1