การเฉลิมพระยศเจ้านาย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สำหรับพระยศในราชวงศ์ไทย ดูที่ พระยศเจ้านายไทย

พระยศเจ้านายในราชสกุลมี 2 ประเภท[1] คือ

  1. สกุลยศ คือ ยศที่เกิดเป็นเจ้านายชั้นต่าง ๆ
  2. อิสริยยศ คือ ยศที่พระมหากษัตริย์ทรงสถาปนา

การเฉลิมพระยศเจ้านาย[แก้]

ประเพณีการเฉลิมพระยศ เจ้านายแต่โบราณ ถือเอาการสองอย่างเป็นหลัก คือ การอภิเษกอย่างหนึ่ง และ การจารึกพระสุพรรณบัฏอย่างหนึ่ง

  • การอภิเษก คือ ผู้มีอำนาจแต่งตั้ง (คือพระเจ้าแผ่นดิน) รดน้ำให้บนศีรษะ คือ สัญลักษณ์ของการมอบหมายทั้งยศและหน้าที่
  • พระสุพรรณบัฏ คือ แผ่นทองจารึกพระนามของเจ้านายพระองค์นั้น และจะพระราชทานจากพระหัตถ์ ให้แก่เจ้านายที่ได้รับการเฉลิมพระยศ

การเฉลิมพระยศเจ้านายนั้น ถือเอาการ จารึกพระสุพรรณบัฏ เป็นสำคัญ โดยจะต้องทำพิธีสำคัญดังต่อไปนี้

  1. ต้องหาวันฤกษ์งามยามดีที่จะจารึก
  2. ต้องทำพิธีจารึกในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เช่น ในพระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
  3. ต้องมีสมณะและพราหมณ์พร้อมกันอวยชัยในพิธี
  4. ต้องประชุมเสนาบดีนั่งเป็นสักขีพยาน

ในสมัยรัชกาลที่ 5 หลังจากทรงยกเลิกระบบไพร่แล้ว การ "ทรงกรม" ของเจ้านาย จึงเป็นเพียงแต่การให้พระเกียรติยศ แก่เจ้านายพระองค์นั้น แต่ไม่มีไพร่สังกัดกรมแต่อย่างใด ส่วนพระนามของเจ้านายที่ทรงกรมได้แบบธรรมเนียมมาจากยุโรป โดยทรงตั้งพระนามเจ้านายที่ทรงกรมตามชื่อเมืองต่าง ๆ เช่น สมเด็จพระเชษฐาธิราช เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ หรือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจันทราสรัทวาร กรมขุนพิจิตรเจษฎ์จันทร์ และ สมเด็จพระราชปิตุจฉา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร เป็นต้น

เจ้านายที่ทรงกรมพระองค์ล่าสุด คือ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2562 ในการราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2562 แต่ไม่มีประเพณี เจ้ากรม ปลัดกรม ตามโบราณ เนื่องจากไทยได้ยกเลิกระบบไพร่ซึ่งสังกัดกรมเจ้านายไปแล้วรัชกาลที่ 5 และเลิกบรรดาศักดิ์ของขุนนางไปแล้วในสมัยจอมพล แปลก พิบูลสงคราม

อ้างอิง[แก้]

เชิงอรรถ
  1. จดหมายเหตุเรื่องทรงตั้งพระบรมวงศานุวงศ์กรุงรัตนโกสินทร์ เล่ม 1, หน้า 1
บรรณานุกรม

ดูเพิ่ม[แก้]