ท้าวนารีวรคณารักษ์ (เจ้าจอมแจ่ม ในรัชกาลที่ 5)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ท้าวนารีวรคณารักษ์ (เจ้าจอมแจ่ม ในรัชกาลที่ 5)
เกิดคุณแจ่ม ไกรฤกษ์
3 มีนาคม พ.ศ. 2399
เสียชีวิต28 ตุลาคม พ.ศ. 2466
คู่สมรสพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
บิดามารดาพระยาศรีสิงเทพ (ทัต ไกรฤกษ์)

ท้าวนารีวรคณารักษ์ หรือ เจ้าจอมแจ่ม ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เกิดเมื่อวันจันทร์ เดือน ๔ ขึ้น ๗ ค่ำ ปีมะโรงอัฐศก จุลศักราช ๑๒๑๘ ตรงกับวันที่ ๓ มีนาคม พุทธศักราช ๒๓๙๙ เป็นบุตรีที่ ๔ ของพระยาศรีสิงหเทพ (ทัต ไกรฤกษ์) คุณหญิง (เอม) บุตรีพระยานครไชยศรี (เสือ) เป็นมารดา คุณหญิงเอมถึงแก่กรรมเสียแต่ท้าวนารี ฯ ยังเยาว์ คุณหญิงจับภรรยาพระยามหาอำมาตย์ (ชื่น กัลยาณมิตร) รับไปเลี้ยงไว้ จนอายุได้ ๑๒ ปี จึงได้ถวายตัวในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในเวลาที่ถวายตัวนี้ท้าวนารีฯ เล่าว่า โปรดให้นั่งขึ้นทอดพระเนตรหน้าตาดำรัสว่า “หน้าตาดีสมเปนนายโรง ให้ฝึกหัดไว้เปนท้าวดาหาละคอนหลวงรุ่นเล็ก” เปนอันได้ฝึกหัดจริง จนรำเพลงช้าเพลงเร็วได้ แต่ไม่ทันได้ออกโรง เป็นต้นเหตุที่ท้าวนารี ฯ ได้มีความสามารถอำนวยการละครต่อมาในชั้นหลัง

ครั้นมาในรัชกาลที่ ๕ ท้าวนารี ฯ ได้รับราชการเป็นเจ้าจอมอยู่งาน ได้พระราชทานหีบหมากกาไหล่ทองเปนเกียรติยศ ต่อมาในชั้นหลังได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้เป็นพระพี่เลี้ยงสมเด็จเจ้าฟ้าชายศิริราชกกุธภัณฑ์ ครั้นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์นั้นสิ้นพระชนม์แล้วโปรดให้เป็นพระพี่เลี้ยงสมเด็จเจ้าฟ้าชายอัษฎางค์เดชาวุธต่อมา ได้รับพระราชทานเบี้ยหวัดปีละ ๒๐๐ บาท เมื่อสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงนครราชสีมาประชวร เสด็จแปรสถานไปประทับที่ เกาะสีชัง ท้าวนารี ฯ ก็ได้ตามเสด็จไปปฏิบัติรักษาจนหายประชวร นอกจากนี้ท้าวนารี ฯ ยังได้ตามเสด็จพระราชดำเนินพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวประพาสหัวเมืองมณฑลต่าง ๆ อีกหลายครั้ง ได้ตามเสด็จกระทั่งถึงสิงคโปร์และชวาก็ ๒ คราว

ครั้นสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงนครราชสีมาเสด็จออกไปทรงศึกษาวิชาการ ณ ประเทศยุโรปเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๘ ท้าวนารีฯ ได้กราบถวายบังคมลาออกไปอยู่บ้านมิได้รับราชการ ในระหว่างนี้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระราชปรารภถึงข้าราชการฝ่ายในที่ได้รับพระราชทานเบี้ยหวัดแต่กราบถวายบังคมลาไปอยู่บ้านมีมากนัก จึงโปรดให้ตรวจสอบบัญชีทรงตัดรอนเสียหลายคน แต่ท้าวนารี ฯ นั้นโปรดพระราชทานอยู่ตามเดิม ครั้นสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงนครราชสีมาเสด็จกลับจากยุโรปแล้ว ท้าวนารี ฯ ก็ไปอยู่ปฏิบัติรักษาประจำวัง คงได้รับพระราชทานเบี้ยหวัดมาจนตลอดรัชกาลที่ ๕

ครั้นถึง พ.ศ. ๒๔๕๔ ในรัชกาลที่ ๖ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถทรงเลือกเป็นท้าวนางประจำพระราชสำนักสมเด็จพระพันปีหลวง ได้พระราชทานสัญญาบัตรเป็นท้าวนารีวรคณารักษ์ รับพระราชทานเบี้ยหวัดปีละ ๑๐ ชั่ง แลได้พระราชทานหีบหมากทองคำกระโถนขันล้างหน้ากล่อง มีตรา จ.ป.ร. เปนเกียรติยศ แต่นั้นท้าวนารีฯ ก็ได้รับราชการและตามเสด็จสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ตลอดมาจนเสด็จสวรรคต

ท้าวนารีฯ ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ทุติยจุลจอมเกล้าฝ่ายใน และเหรียญรัตนาภรณ์รัชกาลที่ ๔ ชั้น ๓ รัชกาลที่ ๕ ชั้น ๓ รัชกาลที่ ๖ ชั้น ๓ และได้พระราชทานเข็มแลเหรียญที่ระลึกตามบรรดาศักดิ์อีกหลายประการ ทั้งได้รับพระราชทานเข็มข้าหลวงเดิมสำหรับสตรีด้วย

ท้าวนารี ฯ เป็นผู้มีอุปนิสัยเป็นสุภาพสตรี มีจิตโอบอ้อมอารีในบรรดาญาติมิตร มีจิตเลื่อมใสในพระพุทธสาสนาโดยมั่นคง เจ้านายชั้นพระบรมวงศานุวงศ์ตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงพระเมตตาเป็นอันมาก

มาเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๔๖๖ ท้าวนารี ฯ ป่วยกระเสาะกระแสะอยู่หลายเดือน จนถึงเดือนสิงหาคม พ.ศ. นั้นอาการทรุดหนักลง พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรด ฯ ให้เจ้าพระยารามราฆพไปเยี่ยมอาการเป็นครั้งเป็นคราว นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างยิ่ง ส่วนสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงนครราชสิมานั้นได้ทรงเป็นพระธุระในการรักษาพยาบาลทุกอย่าง แต่อาการหาคลายไม่ ถึงวันที่ ๒๘ ตุลาคม เวลา ๕ นาฬิกา ๓๐ นาทีก่อนเที่ยง ท้าวนารี ฯ ก็ถึงอนิจกรรมด้วยโรคลำไส้พิการ คำนวณอายุได้ ๖๘ ปี ได้พระราชทานโกศโถเป็นเกียรติยศ[1]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. ข่าวตาย (หน้า ๒๓๙๓)
  2. "พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์รัชกาลปัตยุบันฝ่ายใน" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 25 (39): 1154. 23 ธันวาคม พ.ศ. 2451. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2011-11-20. สืบค้นเมื่อ 2020-01-21. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)