สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าฉิมใหญ่

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ
เจ้าฟ้าฉิมใหญ่
พระราชชายาในสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอชั้น 1
ประสูติไม่ปรากฏ
สิ้นพระชนม์พ.ศ. 2322
พระสวามีสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี
พระบุตรหม่อมเหม็น
ราชวงศ์ธนบุรี (เสกสมรส)
จักรี (สถาปนา)
พระบิดาพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
พระมารดาสมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี

สมเด็จพระปฐมบรมวงศ์ หรือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าฉิมใหญ่ (สมัยกรุงศรีอยุธยา - พ.ศ. 2322) หรือ เจ้าจอมมารดาฉิมใหญ่ ในสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี มีพระนามเดิมว่า ฉิมใหญ่ หรือ หวาน เป็นพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ที่ประสูติแต่สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี

เจ้าจอมมารดาฉิมใหญ่พระราชชายาในสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี และได้ประสูติพระราชโอรสคือเจ้าฟ้าสุพันธุวงศ์ (ต่อมาคือ เจ้าฟ้าอภัยธิเบศร์, เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ และหม่อมเหม็น ตามลำดับ) แต่เจ้าจอมมารดาฉิมใหญ่ได้ถึงแก่อนิจกรรมหลังจากนั้น 12 วัน หลังการปราบดาภิเษกของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ได้มีการสถาปนาเจ้าจอมมารดาฉิมใหญ่ ขึ้นเป็น เจ้าฟ้าฉิมใหญ่ ย้อนหลัง

พระประวัติ[แก้]

พระชนม์ชีพตอนต้น[แก้]

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าฉิมใหญ่ ในจดหมายเหตุออกพระนามว่า "หวาน"[1] เป็นพระราชธิดาลำดับที่สามในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ที่ประสูติแต่สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี เมื่อยังไม่สิ้นกรุงศรีอยุธยาและไม่ปรากฏหลักฐานที่แน่ชัดว่าประสูติเมื่อใด

มีการสันนิษฐานว่าน่าจะประสูติเมื่อ พ.ศ. 2304[2] บ้างก็ว่าประสูติช่วงปี พ.ศ. 2306-2307 และไม่เกินปี พ.ศ. 2308 เพราะพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ประสูติในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2310[3]

เข้ารับราชการฝ่ายใน[แก้]

เมื่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีปราบดาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์แห่งกรุงธนบุรี พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชขณะนั้นทรงดำรงพระยศเป็นเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ได้ถวายตัวคุณฉิมใหญ่เป็นบาทบริจาริกาในสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี และให้ประสูติการพระราชโอรสพระนามว่า "เจ้าฟ้าเหม็น" ต่อมาทรงพระนามว่า "สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสุพันธุวงศ์" เมื่อวันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2322 ดังปรากฏใน จดหมายเหตุความทรงจำกรมหลวงนรินทรเทวี ซึ่งได้บันทึกเรื่องราวดังกล่าวไว้ ความว่า[4]

เจ้าฟ้ากษัตริย์ศึกเข้าเมืองได้ ณ วันจันทร์ ขึ้น ๓ ค่ำ เดือน ๑๐ เจ้าเมืองหนี ได้พระแก้วพระบาง พระไอยกาเข้าเมืองได้ ๓ วัน เจ้าลูกทรงครรภ์ประสูตร์เจ้า ณ วันศุกร์ ขึ้น ๗ ค่ำ เดือน ๑๐ ประสูตร์เปนพระราชกุมาร ประโคมแตรสังข์ลั่นฆ้องไชย แมงมุมทั้งไข่จิ้งจกตกพร้อมกัน แมงมุมอนิจกรรม จิ้งจกไปได้ ๑๒ วัน เจ้าแม่สิ้นพระชนม์ ส่วนเจ้าลูกให้พระพี่นางเธอเอาไปเลี้ยง ให้นามเจ้าสุพันทวงษ์

ซึ่งนิมิตดีคือพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้ทำศึกตีเวียงจันทน์แตกได้พระแก้วมรกตและพระบางมาสู่พระนคร ส่วนลางร้ายคือแมงมุมและจิ้งจกตกลงมาพร้อมกัน หลังจากนั้นเจ้าจอมมารดาฉิมใหญ่ก็สิ้นพระชนม์ แต่ขณะเดียวกันการ "ประโคมแตรสังข์ลั่นฆ้องไชย" เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าพระราชโอรสที่ประสูติเป็นเจ้าฟ้าทั้ง ๆ ที่ผู้ให้กำเนิดเป็นเพียงเจ้าจอมมารดาเท่านั้น[4] ซึ่งกรณีในกรณีดังกล่าวจัดว่าเป็นเจ้าฟ้าตั้ง[5]

หลังการสิ้นพระชนม์[แก้]

เจ้าจอมมารดาฉิมใหญ่สิ้นพระชนม์ลงในปี พ.ศ. 2322 การนี้ฝ่ายกรุงธนบุรีจึงมีใบบอกเพื่อแจ้งข่าวร้ายไปยังพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชซึ่งขณะนั้นมิได้อยู่ในพระนคร และยังติดศึกอยู่ที่เวียงจันทน์ ความว่า[6]

ศพนั้นก่อกุฎไว้ ณ วัดบางยี่เรือ ให้ประโคมทุกเพลาฯ ณ เดือนอ้าย มีศุภอักษรขึ้นไปถึงเจ้าฟ้ากษัตริย์ศึก ว่าสำเร็จการศึกแล้วให้กลับลงมา บุตรนั้นเสียแล้ว ยังแต่หลานเป็นผู้ชาย

ส่วนการศพของเจ้าจอมมารดาฉิมใหญ่ก็ถูกจัดขึ้นอย่างเจ้าฟ้าที่วัดบางยี่เรือ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชวิจารณ์เพิ่มเติมไว้ว่า[6]

การพระศพสมเด็จพระเจ้าปฐมบรมไอยิกาเธอ ซึ่งเปนพระมารดาเจ้าฟ้าเหม็นองค์นี้ มีหมายว่า จุลศักราช ๑๑๔๓ ปีชวดโทศกมีหมายเวรควรรู้อัศว์ ว่าเจ้าพระยาจักรีรับมีรับสั่งใส่เกล้าฯ สั่งว่าจะได้พระราชทางเพลิงพระศพพระมารดาสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ ณ วัดบางยี่เรือนอก ให้ทำการเมรุเปนอย่างพระศพเจ้าฟ้า แลเครื่องการพระศพครั้งนี้ เจ้าพระยาจักรีให้ช่างทำสังเคตเอก ฉัตรราชวัตรหีบบุทองอังกฤษทั้งสิ้น แลโรงพิเศษ ทิมพระสงฆ์สังเคตสามสร้าง แลโรงโขนนางรำ ระทาดอกไม้เพลิงต้นกัลปพฤกษ์ การทั้งปวงเหมือนพระศพกรมขุนอินทรพิทักษ์ พระเจ้านราสุริวงษ์ จะได้พระราชทานเพลิงพระศพพระมารดาสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ ณะ เดือน ๗ ปีวอกโทศก หลวงศรีกาฬสมุดให้ตัวอย่าง มีรูปเมรุ ในงานเมรุคราวนี้พระราชทานเงินโรงการเล่นขึ้นทุก ๆ อย่าง

ทั้งนี้การศพดังกล่าวถือเป็นการถวายพระเกียรติตามศักดิ์ที่เป็นพระราชมารดาของเจ้าฟ้า ปรากฏพระนามจารึกที่พระโกศว่า "เจ้าครอกฉิมใหญ่" และหลังการปราบดาภิเษกของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ก็ได้ยกเจ้าจอมมารดาฉิมใหญ่ขึ้นเป็นเจ้าฟ้าย้อนหลังด้วยเช่นกัน[7]

ผู้สืบเชื้อสาย[แก้]

ส่วนเจ้าฟ้าสุพันธุวงศ์ พระราชโอรสเพียงพระองค์เดียวของพระองค์ ได้รับการสถาปนาในรัชกาลที่ 1 เป็น สมเด็จเจ้าฟ้าอภัยธิเบศร์ กรมขุนกระษัตรานุชิต และเปลี่ยนพระนามเป็น ธรรมาธิเบศร์ ครั้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงถูกฟ้องร้องว่าคิดวางแผนก่อการกบฏ จึงถูกถอดยศเป็น "หม่อมเหม็น" และถูกสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์ ที่วัดปทุมคงคา พร้อมพระโอรสทั้งหกพระองค์[8] เหลือแต่เหล่าพระธิดาซึ่งถูกถอดพระยศเป็น คุณ หรือ หม่อม[1]

อย่างไรก็ตามในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้สืบเชื้อสายของหม่อมเหม็นได้รับพระราชทานนามสกุลว่า "อภัยกุล"[1]

พระอิสริยยศ[แก้]

  • คุณฉิมใหญ่
  • เจ้าจอมฉิมใหญ่
  • เจ้าจอมมารดาฉิมใหญ่ / เจ้าครอกฉิมใหญ่

พระอิสริยยศภายหลังสิ้นพระชนม์

  • สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าฉิมใหญ่
  • สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้าฉิมใหญ่
  • สมเด็จพระเจ้าปฐมบรมไอยิกาเธอ เจ้าฟ้าฉิมใหญ่
  • สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าฉิมใหญ่

พงศาวลี[แก้]

อ้างอิง[แก้]

เชิงอรรถ
  1. 1.0 1.1 1.2 กรมศิลปากร. สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ (2554). ราชสกุลวงศ์ (PDF). กรุงเทพฯ: สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร. p. 9. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2017-02-02. สืบค้นเมื่อ 2013-09-17.
  2. ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย. ลูกแก้ว เมียขวัญ. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์มติชน, พ.ศ. 2551. 328 หน้า. หน้า 19. ISBN 974-02-0107-6 ข้อผิดพลาดพารามิเตอร์ใน {{ISBN}}: checksum
  3. ปรามินทร์ เครือทอง. กบฏเจ้าฟ้าเหม็น. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ:มติชน. 2555, หน้า 17-18
  4. 4.0 4.1 ปรามินทร์ เครือทอง. กบฏเจ้าฟ้าเหม็น. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ:มติชน. 2555, หน้า 29
  5. ปรามินทร์ เครือทอง. กบฏเจ้าฟ้าเหม็น. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ:มติชน. 2555, หน้า 31
  6. 6.0 6.1 ปรามินทร์ เครือทอง. กบฏเจ้าฟ้าเหม็น. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ:มติชน. 2555, หน้า 32
  7. ปรามินทร์ เครือทอง. กบฏเจ้าฟ้าเหม็น. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ:มติชน. 2555, หน้า 33
  8. ปรามินทร์ เครือทอง. กบฏเจ้าฟ้าเหม็น. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ:มติชน. 2555, หน้า 151
บรรณานุกรม
  • ธำรงศักดิ์ อายุวัฒนะ. ราชสกุลจักรีวงศ์ และราชสกุลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช. กรุงเทพ : สำนักพิมพ์บรรณกิจ, พิมพ์ครั้งที่ 3 พ.ศ. 2544. 490 หน้า. ISBN 974-222-648-2
  • เล็ก พงษ์สมัครไทย. พระญาติ ราชสกุลกรุงรัตนโกสินทร์. กรุงเทพ : สำนักพิมพ์ข้าวฟ่าง, พ.ศ. 2549. 160 หน้า. หน้า หน้าที่. ISBN 974-9687-35-3