พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าทักษิณชา นราธิราชบุตรี
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าทักษิณชา นราธิราชบุตรี | |
---|---|
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ ชั้น 4 พระองค์เจ้าชั้นเอก | |
ประสูติ | 18 กันยายน พ.ศ. 2395 |
สิ้นพระชนม์ | 13 กันยายน พ.ศ. 2449 (53 ปี) |
พระสวามี | พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว |
พระบุตร | สมเด็จเจ้าฟ้าชายไม่มีพระนาม |
ราชวงศ์ | จักรี |
พระบิดา | พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว |
พระมารดา | เจ้าจอมมารดาจันทร์ ในรัชกาลที่ 4 |
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าทักษิณชา นราธิราชบุตรี (18 กันยายน พ.ศ. 2395 - 13 กันยายน พ.ศ. 2449) เป็นพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาจันทร์ ในรัชกาลที่ 4 และเป็นพระภรรยาเจ้าชั้นลูกหลวงพระองค์แรกในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ประสูติกาลพระราชบุตร
แต่เมื่อมีพระประสูติกาล พระราชบุตรพระองค์นั้นก็ได้สิ้นพระชนม์ไปอย่างกะทันหันภายในเวลาอันสั้น พระองค์เจ้าทักษิณชาทรงเสียพระทัยยิ่งนักจนสูญเสียพระจริตในเวลาต่อมา และมิสามารถสนองพระเดชพระคุณรับราชการฝ่ายในได้ต่อไป ทรงอยู่ในสภาพผู้ป่วยตลอดชีพตราบจนสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2449 ที่ตำหนักของกรมหมื่นทิวากรวงศ์ประวัติ[1]
พระประวัติ
[แก้]พระชนม์ชีพช่วงต้น
[แก้]พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าทักษิณชา นราธิราชบุตรี ประสูติเมื่อวันเสาร์ ขึ้น 5 ค่ำ เดือน 11 ปีชวด จัตวาศก จ.ศ. 1214 ตรงกับวันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2395 เป็นพระราชธิดาลำดับที่หกในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาจันทร์ ในรัชกาลที่ 4 (สกุลเดิม สุขสถิตย์) ธิดาของพระยาพิพิธสุนทรการ (สุข สุขสถิตย์) เจ้าเมืองตราด พระองค์มีพระขนิษฐาและพระอนุชาร่วมเจ้าจอมมารดา คือ พระองค์เจ้ามัณยาภาธร, พระองค์เจ้าศุขสวัสดี และพระองค์เจ้าเกษมศรีศุภโยค[2]
พระองค์เจ้าทักษิณชาเป็นพระราชธิดาที่ประสูติหลังพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติในปีแรก จึงทรงเป็นหนึ่งในกลุ่มราชธิดาที่พระราชบิดาทรงมีพระเมตตาสนิทเสน่หาเป็นพิเศษ ทั้งยังทรงอบรมเลี้ยงดูด้วยพระองค์เอง มักตามพระทัยและมิเข้มงวดดังรัชกาลก่อน ๆ[3] พระองค์จึงได้รับพระราชทานสร้อยพระนามว่า นราธิราชบุตรี ซึ่งมีพระราชธิดาเพียงสามพระองค์ใหญ่เท่านั้นที่ได้รับพระราชทานสร้อยพระนาม โดยอีกสองพระองค์ ได้แก่ พระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์ อรรคราชสุดาในเจ้าจอมมารดาแพ และพระองค์เจ้าโสมาวดี ศรีรัตนราชธิดา ในเจ้าจอมมารดาเที่ยง [4] นอกจากนี้พระนามของทั้งสามพระองค์ยังสอดคล้องกันโดยเรียงตามพระชนมายุ ได้แก่ พระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์, พระองค์เจ้าทักษิณชา และพระองค์เจ้าโสมาวดี[5]
ทั้งนี้พระองค์เจ้าทักษิณชาเป็นพระราชธิดาที่พระราชบิดาทรงโปรดปรานและยกย่องมากเป็นพิเศษพระองค์หนึ่ง ดังปรากฏในความตอนหนึ่งว่า[6]
"...เมื่อพระชันษาได้ ๓ ปี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาราชสุภาวดีสักเลกพระราชทานพระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าทักษิณชาฯ แต่กรมพระสัสดีกลับเอาเลกไปสักไว้กับพระอภัยสุรินทร์ เจ้ากรมพลฝ่ายขวา เป็นเหตุให้ทรงขัดเคืองพระทัยมาก ถึงแก่ทรงออกเป็นประกาศตักเตือนเจ้านาย ข้าราชการ และพระสงฆ์ให้ปฏิบัติตามพระกระแสรับสั่งอย่างเคร่งครัด มิให้ผิดไปจากรับสั่ง..."
ทรงประสบอุบัติเหตุ
[แก้]เมื่อมีพระชันษาราว 5-7 ปี พระองค์ได้ประสบอุบัติเหตุขณะโดยเสด็จพระราชบิดา พร้อมกับพระพี่น้อง อีก 3 พระองค์คือ พระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์, พระองค์เจ้าโสมาวดี และสมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ ขณะประทับบนรถม้าพระที่นั่งเพื่อทอดพระเนตรความเรียบร้อยบริเวณใกล้พระบรมมหาราชวัง[7] แต่เมื่อรถม้าพระที่นั่งเข้ามาตามถนนด้านประตูวิเศษไชยศรีใกล้ทางเลี้ยวไปยังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ม้าได้ตื่นเสียงแตรเสียงกลอง ทำให้รั้งไม่อยู่ สายบังเหียนขาดไปข้างหนึ่งรถพระที่นั่งจึงเสียการทรงตัวแล้วพลิกคว่ำลง[7] จากอุปัทวเหตุดังกล่าวพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระเจ้าลูกเธอทั้งสี่ได้รับบาดเจ็บทุกพระองค์ ดังปรากฏดังนี้[7]
“...ชายจุฬาลงกรณ์ศีรษะแตกสามแห่งแต่น้อย บางแห่งฟกบวมบ้าง ยิ่งเยาวลักษณ์เท้าเคล็ดห้อยยืนในเวลานี้ไม่ได้ ขัดยอกที่สันหลังด้วย แต่มีแผลเล็กน้อย โสมาวดีก็เป็นแผลบ้าง หลังบวมแห่งหนึ่ง... แต่ทักษิณชาป่วยมากจะเป็นอะไรทับก็สังเกตไม่ได้ หลังเท้าขวาฉีกยับเยินโลหิตตกมากทีเดียว...อาการน่ากลัวมาก โลหิตไหล ไม่หยุด สักชั่วทุ่มหนึ่งต้องแก้ไข แต่หมอว่ากระดูกไม่แตกเป็นแต่เนื้อแหลกเหลวไป ในกลางคืนวันนั้น ให้ชักกระตุกตัวสั่นไป แต่แก้ไขมาก็ค่อยยังชั่วขึ้น...”
และต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงมีพระราชหัตเลขาเล่าพระอาการประชวรของพระองค์เจ้าทักษิณชาให้เจ้าหมื่นสรรเพชรภักดี ความว่า[8]
“...ทักษิณชา ลูกข้าค่อยยังชั่วแล้ว แต่ยังเดินไม่ได้ กับบางเวลาข้างเท้าและขาข้างดีอยู่นั้นสั่นระทุกไป เขาว่าเป็นเพราะเทพจรไม่เสมอกันทั้งสองข้าง ๆ หนึ่งเป็นแผลใหญ่อยู่จนเทพจรเดินไม่สะดวกจึงกลับมาลงเดินข้างหนึ่งแรงไปกว่าข้างหนึ่ง การก็จะไม่เป็นอะไรดอก เมื่อแผลหายแล้วอาการก็ปกติ...”
โสกันต์
[แก้]ครั้นเมื่อทรงมีพระชันษาสมควรแก่การโสกันต์แล้ว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระดำริเห็นว่า พระเจ้าลูกเธอพระองค์นี้ทรงมีพระนามและพระเกียรติยศปรากฏกว่าพระเจ้าลูกเธอพระองค์อื่น ๆ ด้วยรู้จักมักคุ้นเป็นที่นับถือกันในพระบรมวงศานุวงศ์ทั้งฝ่ายหน้าฝ่ายใน เสนาบดีข้าราชการใหญ่น้อย ตลอดจนกงสุลนานาประเทศก็นับถือมาเฝ้าแหนไต่ถามอยู่เนือง ๆ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดพระราชพิธีโสกันต์เป็นพิธีใหญ่ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทในปี พ.ศ. 2405[9]
เมื่อโสกันต์แล้ว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเบี้ยหวัดให้ปีละ 10 ชั่ง เงินเดือนเดือนละ 3 ตำลึง[9]
เข้ารับราชการฝ่ายใน การประชวร และสิ้นพระชนม์
[แก้]พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติ ทรงรับพระเจ้าพี่นางเธอ พระองค์เจ้าทักษิณชา นราธิราชบุตรี เป็นพระภรรยาเจ้าชั้นลูกหลวงพระองค์แรกในรัชกาล ด้วยทรงสนิทสนมมาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์และเป็นมเหสีที่พระราชสวามีทรงโปรดปรานเป็นพิเศษ ทั้งยังสร้างความโสมนัสเมื่อทรงพระครรภ์ เพราะพระราชบุตรที่จะประสูติในภายหน้าจะเป็นเจ้าฟ้าพระองค์แรกในรัชกาล
จนเมื่อประสูติพระราชบุตรเป็นพระราชโอรส เมื่อวันพฤหัสบดี ขึ้น 8 ค่ำ เดือน 8 ปีวอก ตรงกับวันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2415[10] แต่หลังจากนั้นเพียงแปดชั่วโมง ความโสมนัสกลับเป็นทุกข์โทมนัสอันใหญ่หลวงที่เจ้าฟ้าพระราชกุมารสิ้นพระชนม์ลง พระองค์เจ้าทักษิณชามิอาจปลงพระทัยเชื่อว่าพระราชกุมารที่ดูแข็งแรงเมื่อแรกประสูติจะสิ้นพระชนม์ในเวลาอันสั้น[11]
เหตุการณ์ดังกล่าวสร้างความสะเทือนพระทัยแก่พระองค์เจ้าทักษิณชาอย่างมาก พระองค์ประชวรและไม่รับรู้สรรพสิ่งรอบข้างด้วยมีพระสัญญาที่ฝังแน่นแต่เรื่องราวของพระราชโอรสและทรงอยู่ในโลกส่วนพระองค์ มิสามารถสนองพระเดชพระคุณรับราชการฝ่ายในได้อีกต่อไป[9]
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้พระยาเวียงในนฤบาลสร้างพระตำหนักพิเศษให้พระองค์เจ้าทักษิณชาพักผ่อนแต่พระอาการก็ไม่ดีขึ้น[12] ภายหลังจึงเสด็จไปประทับร่วมกับพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงอดิศรอุดมเดช พระอนุชาร่วมเจ้าจอมมารดา ณ วังท้ายวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม[12] และย้ายไปประทับร่วมกับพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นทิวากรวงศ์ประวัติ พระอนุชาร่วมเจ้าจอมมารดาอีกพระองค์หนึ่ง ณ วังตำบลสามเสน
พระเจ้าพี่นางเธอ พระองค์เจ้าทักษิณชา ประชวรสิ้นพระชนม์ที่พระตำหนักวังพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นทิวากรวงศ์ประวัติ เมื่อวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2449 เวลา 3 ยามเศษ สิริพระชันษาได้ 53 ปี 360 วัน เวลาบ่ายวันต่อมาพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นอดิศรอุดมเดช เสด็จแทนพระองค์มาพระราชทานน้ำสรงพระศพ เจ้าพนักงานแต่งพระศพแล้วอัญเชิญลงพระลองใน ตั้งบนแว่นฟ้า 2 ชั้น ประกอบโกศมณฑป แวดล้อมด้วยเครื่องสูง พระเจ้าน้องยาเธอที่เสด็จมาร่วมพิธีร่วมกันทอดผ้าไตร พระสงฆ์มีพระธรรมเจดีย์ (แก้ว) วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร เป็นประธาน สวดสดับปกรณ์แล้วถวายอนุโมทนา และโปรดให้พระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรมมีกำหนด 1 เดือน[13]
การนี้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเพลิงพระศพพระเจ้าพี่นางเธอ พระองค์เจ้าทักษิณชา นราธิราชบุตรี ณ วัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหาร เมื่อวันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2450[12]
พระกรณียกิจ
[แก้]พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระราชธิดาได้ทรงศึกษาเล่าเรียนวิชาการสมัยใหม่และภาษาอังกฤษ ทรงเปิดโอกาสให้พระราชบุตรทั้งหลายคบหาสมาคมกับชาวต่างประเทศทั้งหญิงชาย[14]
โดยเฉพาะเหล่าราชธิดารุ่นใหญ่ คือ พระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์, พระองค์เจ้าทักษิณชา และพระองค์เจ้าโสมาวดี มักทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้โดยเสด็จพระราชดำเนินออกสมาคมเช่นการต้อนรับแขกเมือง ดังที่เซอร์แฮรี ออด ผู้สำเร็จราชการมลายูของอังกฤษประจำเมืองสิงคโปร์ซึ่งมีโอกาสเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรสุริยุปราคาที่ตำบลหว้ากอ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เมื่อ พ.ศ. 2411 โดยเขาได้บันทึกเกี่ยวกับการออกสมาคมของราชธิดารุ่นใหญ่ ดังนี้[14]
“...พระเจ้าลูกเธอพระองค์หญิง ๓ พระองค์ ที่มีพระชนมายุสูงกว่า [สมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์] ก็ทรงพระโฉมศุภลักษณ์ เสียแต่เสวยหมาก ถ้าไม่ย้อมพระทนต์ [ให้ดำ] ตามธรรมเนียมของชาวสยามแล้ว ต้องชมว่าเป็นสตรีที่ทรงกัลยาณีเลิศลักษณ์ทีเดียว พระกิริยามารยาทก็น่าชมและตรัสภาษาอังกฤษได้ทุกพระองค์ ขณะเมื่อท่านเจ้าเมือง [เซอร์แฮรี ออด] เข้าเฝ้าพระเจ้าแผ่นดินอยู่นั้น พระเจ้าลูกเธอทั้งพระองค์หญิงและพระองค์ชาย ได้ทรงต้อนรับพวกที่ไปกับท่านเจ้าเมืองที่ในท้องพระโรง ทรงแจกการ์ดและพระรูปถ่ายแก่พวกเหล่านั้น และทรงแสดงความหวังในที่พระเจ้าแผ่นดินจะได้เสด็จประพาสเมืองสิงคโปร์...”
พระอิสริยยศ
[แก้]ธรรมเนียมพระยศของ พระองค์เจ้าทักษิณชา | |
---|---|
ธงประจำพระอิสริยยศ | |
การทูล | ใต้ฝ่าพระบาท |
การแทนตน | ข้าพระพุทธเจ้า |
การขานรับ | พ่ะย่ะค่ะ/เพคะ |
- 18 กันยายน พ.ศ. 2395 — 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2411 : พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าทักษิณชา นราธิราชบุตรี
- 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2411 — 13 กันยายน พ.ศ. 2449 : พระเจ้าพี่นางเธอ พระองค์เจ้าทักษิณชา นราธิราชบุตรี
- 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453 : พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าทักษิณชา นราธิราชบุตรี
พงศาวลี
[แก้]พงศาวลีของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าทักษิณชา นราธิราชบุตรี | ||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
|
อ้างอิง
[แก้]- เชิงอรรถ
- ↑ ข่าวสิ้นพระชนม์
- ↑ สมบัติ พลายน้อย, หน้า 294-295
- ↑ ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย, หน้า 111
- ↑ จิรวัฒน์ อุตตมะกุล, หน้า 31
- ↑ จุลลดา ภักดีภูมินทร์, "พระราชพิธีถวายโถข้าวยาคู[ลิงก์เสีย]", สกุลไทย, ฉบับที่ 2652, ปีที่ 51, 16 สิงหาคม 2548
- ↑ ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย, หน้า 111
- ↑ 7.0 7.1 7.2 ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย, หน้า 112-113
- ↑ ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย, หน้า 113-114
- ↑ 9.0 9.1 9.2 ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย, หน้า 114
- ↑ ส.พลายน้อย, หน้า 331
- ↑ ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย, หน้า 116
- ↑ 12.0 12.1 12.2 ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย, หน้า 117
- ↑ "ข่าวสิ้นพระชนม์" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 23 (26): 646. 23 กันยายน ร.ศ. 125. สืบค้นเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562.
{{cite journal}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
และ|date=
(help) - ↑ 14.0 14.1 ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย, หน้า 115
- บรรณานุกรม
- จิรวัฒน์ อุตตมะกุล. สมเด็จพระภรรยาเจ้าและสมเด็จเจ้าฟ้าในรัชกาลที่ ๕. [ม.ป.ท.] : สำนักพิมพ์มติชน, พ.ศ. 2546. ISBN 974-322-964-7
- ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย. ลูกท่านหลานเธอ ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จในราชสำนัก. พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพฯ:มติชน. 2555. 360 หน้า
- สมบัติ พลายน้อย. พระบรมราชินีและเจ้าจอมมารดาแห่งราชสำนักสยาม. พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ:ฐานบุ๊คส์. 2554. 368 หน้า
- สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร. ราชสกุลวงศ์. กรุงเทพฯ : สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, 2554. 296 หน้า. หน้า 69. ISBN 978-974-417-594-6
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- HRH Princess Daksinajar Naradhirajbutri เก็บถาวร 2012-11-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน