ท้าวสุจริตธำรง (นาค)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ท้าวสุจริตธำรง
(นาค สุจริตกุล)
เกิดนาค
10 กันยายน พ.ศ. 2355
อาณาจักรรัตนโกสินทร์
เสียชีวิต26 กรกฎาคม พ.ศ. 2434 (78 ปี)
ประเทศสยาม
มีชื่อเสียงจากต้นราชินิกุลสุจริตกุล
คู่สมรสหลวงอาสาสำแดง
บุตรเจ้าพระยาสิริรัตนมนตรี
ท้าววนิดาพิจาริณี
สมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทรมาตา
• พระยาราชภักดี
• นายรองพันธ์
• ปุก สุจริตกุล
• เหมือน สุจริตกุล

ท้าวสุจริตธำรง (นาค) (10 กันยายน พ.ศ. 2355 - 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2434) ต้นสกุลสุจริตกุล ผู้เป็นมารดาของสมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทรมาตา (เจ้าคุณจอมมารดาเปี่ยมในรัชกาลที่ 4) และเป็นขรัวยายของพระมเหสีในรัชกาลที่ 5 ทั้งสามพระองค์คือ สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี, สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า และสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เป็นพระปัยยิกาในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

ประวัติ[แก้]

ท้าวสุจริตธำรง เกิดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2355 มีนามเดิมว่า นาค ซึ่งมีบรรพบุรุษเชื้อสายจีน[1] และรับราชการฝ่ายในมาตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นนายวิเสทกลางสำรับหวานที่ ท้าวทองพยศ รับพระราชทานเบี้ยหวัด 2 ชั่ง

ท่านได้แต่งงานกับหลวงอาสาสำแดง (แตง) มีบุตรธิดารวม 9 คน (ธิดาคนที่ 1 และ 2 ถึงแก่กรรมตั้งแต่วัยเยาว์) ได้แก่

  1. ไม่ปรากฏนาม (ถึงแก่กรรมแต่ยังเยาว์)
  2. ไม่ปรากฏนาม (ถึงแก่กรรมแต่ยังเยาว์)
  3. เจ้าพระยาสิริรัตนมนตรี (หงส์ สุจริตกุล) สมรสกับคุณหญิงตาด ศิริรัตนมนตรี มีบุตรธิดา 16 คน มีธิดาคือหม่อมใหญ่ในกรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ
  4. ท้าววนิดาพิจาริณี (เหม สุจริตกุล)
  5. สมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทรมาตา เจ้าจอมมารดาในรัชกาลที่ 4 มีพระโอรส-ธิดา 6 พระองค์
  6. พระยาราชภักดี (โค สุจริตกุล) สมรสกับคุณหญิงทองศุข ราชภักดี มีบุตรธิดา 2 คน เป็นบิดาของท้าววนิดาพิจาริณี (เจ้าจอมเพิ่ม ในรัชกาลที่ 5) และเป็นพระอัยกา (ปู่) ของสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายาในรัชกาลที่ 6[2] และพระสุจริตสุดา พระสนมในรัชกาลที่ 6[2][3]
  7. นายรองพันธ์ (หล่อ สุจริตกุล)
  8. ปุก สุจริตกุล (ถึงแก่กรรมแต่ยังเยาว์)
  9. เหมือน สุจริตกุล (ถึงแก่กรรมแต่ยังเยาว์)

นอกจากนี้ท้าวสุจริตธำรงยังได้อุปการะธิดาของสามีที่มิได้เกิดด้วยกัน ชื่อ สุด เปรียบประดุจบุตรแท้ ๆ ของตน และสุดได้ติดตามสมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทรมาตา ซึ่งมีศักดิ์เป็นน้องสาวเข้าไปอยู่ในพระบรมมหาราชวังด้วย[4]

ท้าวทองพยศ (นาค) ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2434 อายุ 79 ปี ต่อมา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนตำแหน่งขึ้นเป็น ท้าวสุจริตธำรง มีบรรดาศักดิ์เสมอด้วยท้าวสนองพระโอษฐ์ ถือศักดินา 1000[5]

อ้างอิง[แก้]

  • เล็ก พงษ์สมัครไทย. พระญาติ ราชสกุลกรุงรัตนโกสินทร์. กรุงเทพ : สำนักพิมพ์ข้าวฟ่าง, พ.ศ. 2549. 160 หน้า. หน้า หน้าที่. ISBN 974-9687-35-3
  1. ธำรงศักดิ์ อายุวัฒนะ. ราชสกุลจักรีวงศ์ และราชสกุลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ฉบับสมบูรณ์ (ภาคจบ). พิมพ์ครั้งที่ 2. นครหลวงฯ:รุ่งวัฒนา. 2515, หน้า 305
  2. 2.0 2.1 ธำรงศักดิ์ อายุวัฒนะ. ราชสกุลจักรีวงศ์ และราชสกุลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ฉบับสมบูรณ์ (ภาคจบ). พิมพ์ครั้งที่ 2. นครหลวงฯ:รุ่งวัฒนา. 2515, หน้า 306
  3. ส.พลายน้อย. พระบรมราชินีและเจ้าจอมมารดาแห่งราชสำนักสยาม. พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ:ฐานบุ๊คส์, 2554. หน้า 211
  4. "สกุลไทย - 'ชื่อสกุล ที่มาจากบรรพบุรุษเดียวกัน'". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2003-07-22. สืบค้นเมื่อ 2011-11-05.
  5. ราชกิจจานุเบกษา, หมายตั้งท้าวสุจริตธำรง, เล่ม ๘, ตอน ๔๗, ๒๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๓๔, หน้า ๔๒๘