พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ายี่สุ่น

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ายี่สุ่น
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ ชั้น 2
พระองค์เจ้าชั้นเอก
ประสูติ22 มีนาคม พ.ศ. 2333
สิ้นพระชนม์14 กันยายน พ.ศ. 2412 (79 ปี)
ราชวงศ์จักรี
พระบิดาพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
พระมารดาเจ้าจอมมารดาเหมใหญ่ ในรัชกาลที่ 2

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ายี่สุ่น (22 มีนาคม พ.ศ. 2333 – 14 กันยายน พ.ศ. 2412) พระราชธิดาพระองค์ที่ 6 ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาเหมใหญ่

พระประวัติ[แก้]

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ายี่สุ่น เป็นพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาเหมใหญ่ เมื่อวันจันทร์ที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2332 (แบบสากลคือ พ.ศ. 2333)[1] มีพระโสทรอนุชา 1 พระองค์ คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเนียม

พระองค์เจ้ายี่สุ่น ทรงรับว่าราชการพนักงานพระภูษา ในสมัยรัชกาลที่ 5 ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์เจ้ายี่สุ่นเป็นผู้ถวายพระแส้หางช้างเผือก ระหว่างทรงเฉลิมพระมหามนเทียร ปรากฏใน พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 5 ว่า[2]

"...ครั้นได้เวลาพระฤกษ์เฉลิมพระมหามนเทียร จึงเสด็จมายังพระที่นั่งไพศาลทักษิณ แล้วเสด็จขึ้นพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ทรงโปรยดอกพิกุลทองพิกุลเงินไปตามทางมีนางเชิญเครื่องราชูปโภคตามเสด็จ แล้วมีนางเชื้อพระวงศ์ อุ้มวิลา ๑ เชิญศิลาบด ๑ เชิญพานผลฟักเขียว ๑ เชิญพานพลข้าวเปลือก ๒ เชิญพานถั่ว ๑ เชิญพานงา ๑ ที่เชิงบันไดพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน มีนางชำระพระบาท ๒ คน ครั้นเสด็จถึงในที่ทรงเปลื้องฉลองพระองค์ครุย และทรงจุดเทียนนมัสการ แล้วเสด็จขึ้นพระแท่นที่บรรทม พระองค์เจ้าปุกถวายดอกหมากทำด้วยทองคำหนัก ๕ ตำลึง พระองค์เจ้ายี่สุ่นถวายพระแส้หางช้างเผือก ท้าวทรงกันดาล (ศรี) ถวายลูกกุญแจ ทรงรับวางไว้ข้างที่ แล้วทรงเอนพระองค์ลงบรรทมเหนือพระแท่นที่โดยทักษิณปรัศว์เบื้องขวาเป็นพระฤกษ์ และพระเจ้าราชวรวงศเธอพระองค์เจ้าลม่อมถวายพระพรก่อน แล้วพระบรมวงศานุวงศทั้งนั้นถวายพระพรต่อภายหลัง และชาวประโคมดุริยางคดนตรีก็ประโคมขึ้นพร้อมกัน..."

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ายี่สุ่น ทรงดำรงตำแหน่งเป็นองค์กุลเชษฐ์แห่งพระบรมวงศานุวงศ์ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นเวลาเกือบ 2 ปีเศษ ตั้งแต่ พ.ศ. 2409 ต่อจากพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพลับ พระปิตุจฉา ตราบจนสิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ 5 เมื่อวันอังคารที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2412 สิริพระชันษา 79 ปี พระราชทานเพลิงพระศพ ณ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร วันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2413[1]

พระอิสริยยศ[แก้]

ธรรมเนียมพระยศของ
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ายี่สุ่น
การทูลใต้ฝ่าพระบาท
การแทนตนข้าพระพุทธเจ้า
การขานรับพ่ะย่ะค่ะ/เพคะ
  • 22 มีนาคม พ.ศ. 2332 – พ.ศ. 2349 : หม่อมเจ้ายี่สุ่น
  • พ.ศ. 2349 – 7 กันยายน พ.ศ. 2352 : พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้ายี่สุ่น
  • 7 กันยายน พ.ศ. 2352 – 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2367 : พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้ายี่สุ่น
  • 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2367 – 2 เมษายน พ.ศ. 2394 : พระเจ้าน้องนางเธอ พระองค์เจ้ายี่สุ่น
  • 2 เมษายน พ.ศ. 2394 – 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2411 : พระเจ้าพี่นางเธอ พระองค์เจ้ายี่สุ่น
  • 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2411 – 14 กันยายน พ.ศ. 2412 : พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ายี่สุ่น

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 กรมศิลปากร. สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ (2554). ราชสกุลวงศ์. กรุงเทพฯ: สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร. p. 21.
  2. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 5 ตอนที่ 5
ก่อนหน้า พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ายี่สุ่น ถัดไป
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพลับ กุลเชษฐ์ในราชวงศ์จักรี
(พ.ศ. 2409 – 14 กันยายน พ.ศ. 2412)
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปุก