อาณาจักรรัตนโกสินทร์ (สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์)
บทความนี้ยังต้องการเพิ่มแหล่งอ้างอิงเพื่อพิสูจน์ความถูกต้อง |
อาณาจักรรัตนโกสินทร์ ราชอาณาจักรสยาม[a] | |
---|---|
2325–2475 | |
เพลงชาติ: จอมราชจงเจริญ (พ.ศ. 2395–2414) บุหลันลอยเลื่อน (พ.ศ. 2414–2431) เพลงสรรเสริญพระบารมี (พ.ศ. 2431–2475) (โดยพฤตินัย) | |
แผนที่แสดงอาณาเขตของอาณาจักรรัตนโกสินทร์ พ.ศ. 2348 (รวมดินแดนของเจ้าประเทศราช) | |
แผนที่ทางรัฐศาสตร์ของราชอาณาจักรสยามก่อนสนธิสัญญาอังกฤษ–สยาม พ.ศ. 2452 | |
เมืองหลวง | กรุงรัตนโกสินทร์ |
ภาษาทั่วไป | ไทย |
ศาสนา | ศาสนาพุทธเถรวาท |
เดมะนิม | ชาวสยาม |
การปกครอง | ระบอบราชาธิปไตยแบบระบบเจ้าขุนมูลนาย (พ.ศ. 2325–2435) (110 ปี) ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (พ.ศ. 2435–2475) (40 ปี) ระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ (พ.ศ. 2475) (92 ปี) |
พระมหากษัตริย์ | |
• พ.ศ. 2325–2352 | พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (พระองค์แรก) |
• พ.ศ. 2411–2453 | พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว |
• พ.ศ. 2468–2478 | พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (พระองค์สุดท้าย) |
สภานิติบัญญัติ | อภิรัฐมนตรีสภา (พ.ศ. 2468–2475) |
ยุคประวัติศาสตร์ | ยุคต้นสมัยใหม่, ยุคสมัยใหม่ |
• สถาปนา | 6 เมษายน 2325 |
2328–2329, 2352–2355 | |
2369 | |
• กบฏลาว | 2369–2371 |
2384–2388 | |
18 เมษายน 2398 | |
2417–2418 | |
2436 | |
22 กรกฎาคม 2460 | |
24 มิถุนายน 2475 | |
ประชากร | |
• พ.ศ. 2343[1] | 4,000,000 |
• พ.ศ. 2472[2] | 11,506,207 |
สกุลเงิน | พดด้วง (จนถึง พ.ศ. 2447) บาทไทย (ตั้งแต่ พ.ศ. 2447) |
ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของ |
ประวัติศาสตร์ไทย |
---|
ตัวเลขในวงเล็บ หมายถึง ปีพุทธศักราช |
อาณาจักรรัตนโกสินทร์ ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น ราชอาณาจักรสยาม ตั้งแต่ พ.ศ. 2398 เป็นราชอาณาจักรของไทย เริ่มตั้งแต่การย้ายเมืองหลวงจากฝั่งกรุงธนบุรี มายังกรุงเทพมหานคร ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี เสด็จขึ้นครองราชสมบัติ เมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2325
ครึ่งแรกของสมัยนี้เป็นการเพิ่มพูนอำนาจของอาณาจักร ถูกขัดจังหวะด้วยความขัดแย้งเป็นระยะกับพม่า เวียดนามและลาว ส่วนครึ่งหลังนั้นเป็นการเผชิญกับประเทศเจ้าอาณานิคม อังกฤษและฝรั่งเศส จนทำให้ไทยเป็นเพียงประเทศเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ไม่ตกเป็นอาณานิคมของตะวันตก ผลกระทบจากภัยคุกคามนั้น นำให้อาณาจักรพัฒนาไปสู่รัฐชาติ สมัยใหม่ที่รวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง โดยมีพรมแดนที่กำหนดร่วมกับชาติตะวันตก สมัยนี้มีพัฒนาการทางเศรษฐกิจและสังคมที่สำคัญ ด้วยการเพิ่มการค้ากับต่างประเทศ การเลิกทาส และการขยายการศึกษาแก่ชนชั้นกลางที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม ไม่มีการปฏิรูปทางการเมืองอย่างแท้จริงกระทั่งระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ถูกแทนที่ด้วยระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ ในการปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475
ชื่อ "รัตนโกสินทร์" ยังคงใช้มาจนถึงปัจจุบัน แต่บทความนี้จะกล่าวถึงเหตุการณ์จนถึง พ.ศ. 2475 เท่านั้น
การก่อตั้ง
[แก้]รัชกาลที่ 1 ทรงฟื้นฟูระบบสังคมและการเมืองของราชอาณาจักรอยุธยา ทรงออกกฎหมายตราสามดวงประมวลกฎหมายใหม่ทรงฟื้นฟูพิธีในราชสำนัก และทรงบัญญัติวินัยสงฆ์ การปกครองแบ่งเป็นหกกรม โดยในจำนวนนี้สี่กรมมีหน้าทีปกครองดินแดนโดยเฉพาะ กรมกลาโหมปกครองทางใต้ กรมมหาดไทยปกครองทางเหนือและตะวันออก กรมพระคลังปกครองดินแดนที่อยู่ทางใต้ของพระนคร และกรมเมืองปกครองพื้นที่รอบกรุงเทพมหานคร ส่วนอีกสองกรมนั้นคือ กรมนาและกรมวัง กองทัพอยู่ภายใต้การควบคุมของอุปราชซึ่งเป็นพระอนุชาในพระมหากษัตริย์ พม่าซึ่งเห็นความวุ่นวาย ประกอบกับการโค่นล้มสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ได้รุกรานสยามอีกใน พ.ศ. 2328 ฝ่ายสยามแบ่งกำลังออกเป็นทางตะวันตกได้บดขยี้ทัพพม่าใกล้จังหวัดกาญจนบุรี นี่เป็นการรุกรานสยามใหญ่ครั้งสุดท้ายของพม่า พ.ศ. 2345 พม่าถูกขับออกจากล้านนา พ.ศ. 2335 สยามยึดครองหลวงพระบาง และนำดินแดนลาวส่วนใหญ่มาอยู่ใต้การปกครองโดยอ้อมของสยาม กัมพูชาอยู่ภายใต้การปกครองของสยามอย่างเต็มที่ และกระทั่งสวรรคตใน พ.ศ. 2352 พระองค์ทรงสถาปนาความเป็นเจ้าของสยามเหนือดินแดนที่ใหญ่กว่าประเทศไทยปัจจุบันอยู่มาก
การรุกรานเวียดนาม
[แก้]ใน พ.ศ. 2319 เมื่อกบฏเต็ยเซิน (Tây Sơn) ยึดซาดินห์ (Gia Dinh) ก็ได้ประหารพระราชวงศ์เหงียนและประชากรท้องถิ่นเป็นอันมาก เหงียน อั๊ญ (Nguyễn Ánh) พระราชวงศ์เหงียนพระองค์สุดท้ายที่ยังมีพระชนม์อยู่ ทรงหนีข้ามแม่น้ำมายังสยาม ขณะที่ลี้ภัยในสยาม เหงียน อั๋นห์ทรงปรารถนาจะยึดซาดินห์คืน และขับกบฏเต็ยเซินออกไป พระองค์ทรงโน้มน้าวพระทัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ที่วางพระองค์เป็นกลาง ให้การสนับสนุนด้านกำลังพลและกำลังรุกรานขนาดเล็กแก่พระองค์ใน พ.ศ. 2326
กลาง พ.ศ. 2327 เหงียน อั๊ญ พร้อมกับกองทัพสยาม 20,000-50,000 นาย และเรือ 300 ลำ[3] เคลื่อนผ่านกัมพูชา ทางตะวันออกของโตนเลสาบ และแทรกซึมแคว้นอันนัมซึ่งเพิ่งถูกผนวกล่าสุด ทหาร 20,000 นายถึงเกียนเซียง (Kien Giang) และอีก 30,000 นายขึ้นบกที่ชัป หลาบ (Chap Lap) ขณะที่สยามรุกคืบสู่เกิ่นเทอ (Cần Thơ) ปีเดียวกัน สยามยึดแคว้นเดียดินห์ ซึ่งอดีตเป็นของกัมพูชา มีการอ้างว่า ทหารสยามกระทำทารุณต่อประชากรผู้ตั้งถิ่นฐานชาวเวียดนาม ทำให้ประชาชนท้องถิ่นหันไปสนับสนุนเตยเซิน[3]
เหงวียนเหว (Nguyễn Huệ) แห่งราชวงศ์เตยเซิน ทรงคาดการณ์ล่วงหน้าถึงการเคลื่อนไหวของสยาม ทรงจัดวางทหารราบอย่างลับ ๆ ตามแม่น้ำเตียง (Tiền) ใกล้กับมายโตว (Mỹ Tho) ปัจจุบัน และเกาะกลางแม่น้ำบางเกาะ เผชิญกับกำลังอื่นฝั่งเหนือ พร้อมกำลังเสริมทางเรือทั้งสองฝั่งของที่ตั้งทหารราบ[3]
เช้าวันที่ 19 มกราคม เหงวียนเหวทรงส่งกำลังทางเรือขนาดเล็กใต้ธงสงบศึก เพื่อลวงให้ฝ่ายสยามเข้าสู่กับดัก หลังได้รับชัยชนะหลายครั้ง ทัพบกและทัพเรือสยามจึงมั่นใจว่าจะต้องเป็นการยอมแพ้โดยบริสุทธิ์ ดังนั้น จึงเดินเข้าสู่การเจรจาโดยไม่รู้เลยว่าเป็นกับดัก กองทัพของเหงวียนเหวโผเข้าทำลายแนวของสยาม สังหารทูตไม่มีอาวุธและโจมตีต่อไปยังทหารที่ไม่ทันตั้งตัว ยุทธการจบลงโดยกองทัพสยามเกือบถูกทำลายสิ้น แหล่งข้อมูลเวียดนามบันทึกว่า เรือทั้งหมดของทัพเรือสยามถูกทำลาย และมีกองทหารดั้งเดิมเพียง 2,000-3,000 นายที่รอดชีวิตหลบหนีกลับข้ามแม่น้ำไปในสยามได้[4]
สันติภาพ
[แก้]รัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ค่อนข้างไม่มีเหตุการณ์ใดเกิดขึ้น ขณะนี้ราชวงศ์จักรีเข้าควบคุมทุกส่วนของรัฐบาลสยาม เพราะพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชมีพระราชโอรส-ธิดารวมทั้งสิ้น 42 พระองค์ พระมหาอุปราช พระอนุชา มีพระโอรส-ธิดารวม 43 พระองค์ และพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยมีพระราชโอรส-ธิดาทั้งสิ้น 100 พระองค์ จึงมีเจ้านายพอที่จะจัดเข้าสู่ระบบข้าราชการประจำ กองทัพ สมณเพศอาวุโสและรัฐบาลส่วนภูมิภาค มีการเผชิญหน้ากับเวียดนาม ซึ่งกลายมาเป็นมหาอำานจในภูมิภาค เหนือการควบคุมกัมพูชาใน พ.ศ. 2356 ซึ่งสิ้นสุดลงด้วยการฟื้นฟูสถานะเดิม
อิทธิพลของตะวันตกเริ่มแผ่ขยายเข้ามาในภูมิภาค โดยเริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2328 อังกฤษยึดครองปีนัง และใน พ.ศ. 2362 เข้ามาตั้งสิงคโปร์ ไม่นาน อังกฤษก็ได้เข้ามาแทนที่ฮอลันดาและโปรตุเกสเป็นชาติตะวันตกที่มีอิทธิพลทางเศรษฐกิจและการเมืองหลักในสยาม อังกฤษคัดค้านระบบเศรษฐกิจสยาม ซึ่งเจ้านายเป็นผู้ผูกขาดการค้า และธุรกิจถูกจัดเก็บภาษีตามอำเภอใจ ใน พ.ศ. 2364 ลอร์ดฮัสติงส์แห่งบริษัทอินเดียตะวันออก ซึ่งขณะนั้นเป็นข้าหลวงใหญ่แห่งอินเดีย ส่งตัวแทนของบริษัท จอห์น ครอว์เฟิร์ด เป็นคณะทูตเพื่อเรียกร้องให้สยามยกเลิกการจำกัดการค้าเสรี อันเป็นสัญญาณแรกของประเด็นซึ่งจะครอบงำการเมืองของสยามในคริสต์ศตวรรษที่ 19
พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสด็จสวรรคตใน พ.ศ. 2367 กรมหมื่นเจษฏาบดินทร์ พระราชโอรสพระองค์ใหญ่ เสวยราชสมบัติต่อเป็นพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชโอรสพระองค์เล็ก เจ้าฟ้ามงกุฎ ทรงได้รับการแนะนำให้ออกผนวช เพื่อจะได้ไม่เข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมือง
ใน พ.ศ. 2368 อังกฤษส่งคณะทูตเข้ามาในกรุงเทพมหานครอีกครั้ง นำโดย ผู้แทนทางการทูตของบริษัทอินเดียตะวันออก เฮนรี เบอร์นี ขณะนั้น อังกฤษได้ผนวกพม่าตอนใต้แล้ว และจึงเป็นเพื่อนบ้านของสยามทางตะวันตก และอังกฤษยังพยายามขยายการควบคุมเหนือมลายูด้วย พระมหากษัตริย์ไม่เต็มพระทัยยอมข้อเรียกร้องของอังกฤษ แต่ที่ปรึกษาของพระองค์กราบทูลเตือนว่า สยามจะเผชิญชะตาเดียวกับพม่าหากไม่บรรลุข้อตกลงกับอังกฤษ ฉะนั้น ใน พ.ศ. 2369 สยามจึงบรรลุสนธิสัญญาพาณิชย์ฉบับแรกกับชาติตะวันตก คือ สนธิสัญญาไมตรีและพาณิชย์ (หรือสนธิสัญญาเบอร์นี) ภายใต้เงื่อนไขแห่งสนธิสัญญา สยามตกลงจัดตั้งระบบการจัดเก็บภาษีเป็นแบบเดียวกัน ลดภาษีการค้าต่างชาติและลดการผูกขาดของหลวงบางประเภท ผลคือ การค้าของสยามเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ชาวต่างชาติจำนวนมากเข้ามาตั้งถิ่นฐานในกรุงเทพมหานคร และอิทธิพลวัฒนธรรมตะวันตกเริ่มแผ่ขยาย ราชอาณาจักรมั่งคั่งขึ้นและกองทัพติดอาวุธดีขึ้น
กบฏเจ้าอนุวงศ์ของลาวพ่ายแพ้ใน พ.ศ. 2370 ซึ่งหลังจากนั้นสยามได้ทำลายกรุงเวียงจันทน์ และดำเนินการถ่ายโอนประชากรแบบบังคับจากลาวมายังภาคอีสานปัจจุบันที่ครอบครองแน่นหนากว่า และแบ่งแยกเมืองลาวเป็นหน่วยเล็ก ๆ เพื่อป้องกันการก่อการกำเริบอีก ใน พ.ศ. 2385-2388 สยามทำสงครามกับเวียดนามเป็นผลสำเร็จ ซึ่งเป็นผลให้สยามปกครองกัมพูชาได้รัดกุมขึ้น
จนถึงคริสต์ทศวรรษ 1840 (พ.ศ. 2383) เป็นที่ประจักษ์ว่า เอกราชของสยามอยู่ในอันตรายจากประเทศเจ้าอาณานิคม ซึ่งแสดงให้เห็นชัดเจนจากสงครามฝิ่นครั้งที่หนึ่งระหว่างอังกฤษกับจีนใน พ.ศ. 2382-2385 ใน พ.ศ. 2393 อังกฤษและอเมริกาส่งคณะทูตมายังกรุงเทพมหานครเรียกร้องให้ยุติการจำกัดการค้าทั้งหมด จัดตั้งรัฐบาลแบบตะวันตกและสิทธิสภาพนอกอาณาเขตแก่พลเมืองของตน รัฐบาลในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวปฏิเสธข้อเรียกร้องเหล่านี้
ในทางเศรษฐกิจ นับแต่ก่อตั้งราชอาณาจักรรัตนโกสินทร์ พ่อค้าจีนมีบทบาทเพิ่มขึ้นอย่างมาก จากเดิมที่ถูกขับไล่ออกไปโดยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี นอกเหนือจากพ่อค้า ชาวจีนที่เป็นชาวนาก็เข้ามาแสวงโชคไม่หยุดหย่อนในราชอาณาจักร ผู้ปกครองสมัยนี้ต้อนรับชาวจีนเพราะเป็นแหล่งการฟื้นฟูเศรษฐกิจ พ่อค้าเชื้อสายจีนบางคนได้กลายมาเป็นข้าราชสำนึกถือตำแหน่งสำคัญ วัฒนธรรมจีน เช่น วรรณกรรม ได้รับการยอมรับและสนับสนุน ความสัมพันธ์ของสยามกับจักรวรรดิจีนนั้นเข้มแข็ง ซึ่งรับประกันโดยคณะทูตบรรณาการ ซึ่งดำเนินเรื่อยมาจนถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ดังนั้น ชาวจีนจึงมีบทบาทสำคัญยิ่งในการเกิดใหม่ของราชอาณาจักรรัตนโกสินทร์
การทำให้ทันสมัย
[แก้]เจ้าฟ้ามงกุฎเสด็จขึ้นครองราชย์เป็นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวใน พ.ศ. 2394 ทรงถูกกำหนดให้ช่วยสยามให้รอดพ้นจากการครอบงำอาณานิคมโดยทรงบังคับให้คนในบังคับทันสมัย แม้พระองค์จะเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชในทางทฤษฎี แต่พระราชอำนาจของพระองค์มีจำกัด หลังจากออกผนวชนาน 27 ปี พระองค์จึงขาดฐานในหมู่เจ้านายที่ทรงอำนาจ และไม่อาจดำเนินระบบรัฐสมัยใหม่ตามพระประสงค์ได้ ความพยายามแรกของพระองค์ในการปฏิรูปเพื่อสถาปนาระบบการปกครองใหม่และยกสถานภาพของทาสสินไถ่และสตรีไม่สัมฤทธิ์ผล
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงต้อนรับการบุกรุกของตะวันตกในสยาม อันที่จริง พระองค์และข้าราชบริพารนิยมอังกฤษอย่างแข็งขัน ใน พ.ศ. 2398 มีคณะทูตอังกฤษ นำโดย เซอร์จอห์น เบาริง ผู้ว่าราชการฮ่องกง เดินทางเข้ามาในกรุงเทพมหานครเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงทันที โดยได้รับการสนับสนุนจากการข่มขู่ใช้กำลัง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพร้อมยอมรับข้อเรียกร้องทำสนธิสัญญาฉบับใหม่ เรียกว่า สนธิสัญญาเบาว์ริง ซึ่งจำกัดอัตราภาษีขาเข้าที่ร้อยละ 3 กำจัดการผูกขาดการค้าของพระมหากษัตริย์ และให้สิทธิสภาพนอกอาณาเขตแก่คนในบังคับอังกฤษ ไม่นาน ชาติตะวันตกอื่น ๆ ก็ได้เรียกร้องและได้สัมปทานที่คล้ายกัน
ไม่นาน พระองค์ก็ทรงตระหนักว่า ภัยคุกคามต่อสยามแท้จริงนั้นมาจากฝรั่งเศส มิใช่อังกฤษ อังกฤษสนใจในประโยชน์พาณิชย์ แต่ฝรั่งเศสสนใจสร้างจักรวรรดิอาณานิคม ฝรั่งเศสยึดครองไซ่ง่อนใน พ.ศ. 2402 และ พ.ศ. 2410 ได้สถาปนารัฐในอารักขาเหนือเวียดนามตอนใต้และกัมพูชาตะวันออก พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงหวังว่าอังกฤษจะปกป้องสยามหากพระองค์พระราชทานสัมปทานเศรษฐกิจตามที่ต้องการ แต่เหตุการณ์ในรัชกาลต่อมาได้พิสูจน์แล้วว่า ความหวังของพระองค์เป็นเพียงภาพลวงตา แต่ก็เป็นจริงที่อังกฤษมองสยามเป็นรัฐกันชนที่มีประโยชน์ระหว่างพม่าและมลายูของอังกฤษกับอินโดจีนฝรั่งเศส
การปฏิรูป
[แก้]พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตใน พ.ศ. 2411 และสืบราชบัลลังก์ต่อโดยเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ วัย 15 ชันษา เป็นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์เป็นพระมหากษัตริย์สยามพระองค์แรกที่ทรงได้รับการศึกษาอย่างตะวันตกมาอย่างสมบูรณ์ ในตอนแรก รัชสมัยของพระองค์ถูกครอบงำโดยสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ซึ่งมีแนวคิดอนุรักษนิยม แต่เมื่อพระองค์มีพระชนมายุครบ 20 พรรษา พระองค์ก็ทรงเข้าปกครองโดยตรง พระองค์ทรงตั้งสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน และสภาที่ปรึกษาในพระองค์ ระบบศาลและสำนักงบประมาณอย่างเป็นทางการ พระองค์ทรงประกาศว่า ความเป็นทาสจะค่อย ๆ ถูกเลิกไปและจำกัดพันธะหนี้สินในช่วงแรก เจ้านายและผู้มีแนวคิดอนุรักษนิยมพระองค์อื่นสามารถขัดขวางวาระการปฏิรูปของพระมหากษัตริย์ได้ แต่เมื่อเจ้านายรุ่นเก่าถูกแทนที่ด้วยเจ้านายรุ่นใหม่และได้รับการศึกษาแบบตะวันตก การขัดขวางก็จางลง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างพันธมิตรอันทรงพลังในพระอนุชา สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กรมพระจักรพรรดิพงษ์ ซึ่งพระองค์โปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ (กระทรวงการคลังปัจจุบัน) พระองค์แรก สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ผู้ทรงจัดระเบียบรัฐบาลภายในและการศึกษา และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ เป็นราชเลขานุการฝ่ายต่างประเทศกว่า 38 ปี เมื่อ พ.ศ. 2430 กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการเสด็จเยือนยุโรปเพื่อทรงศึกษาระบบรัฐบาล ในการถวายความเห็น พระมหากษัตริย์ทรงจัดตั้งการปกครองแบบรัฐสภา สำนักงานตรวจสอบบัญชีและกระทรวงธรรมการ (ดูแลการศึกษา) สถานะกึ่งปกครองตนเองของเชียงใหม่สิ้นสุดลง และกองทัพถูกจัดระเบียบใหม่และทำให้ทันสมัย
พ.ศ. 2436 เจ้าหน้าที่ฝรั่งเศสในอินโดจีนใช้ข้อพิพาทพรมแดนเล็กน้อยเพื่อปลุกปั่นวิกฤตการณ์ เรือปืนฝรั่งเศสปรากฏขึ้นที่กรุงเทพมหานคร และเรียกร้องให้โอนดินแดนลาวที่อยู่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำโขง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงขออังกฤษ แต่นายกรัฐมนตรีอังกฤษกราบทูลพระองค์ให้ระงับด้วยเงื่อนไขใดก็ตามที่พระองค์จะทรงได้รับ และพระองค์ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องยอมทำตาม ท่าทีเดียวของอังกฤษคือ ความตกลงกับฝรั่งเศสรับประกันบูรณภาพของสยามส่วนที่เหลือ เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยน สยามยอมยกการอ้างสิทธิ์เหนือรัฐฉานทางตะวันออกเฉียงเหนือของพม่าแก่อังกฤษ
อย่างไรก็ดี ฝรั่งเศสยังคงกดดันสยาม และใน พ.ศ. 2449-2450 ก็ได้ก่อวิกฤตการณ์ขึ้นอีกหน หนนี้สยามจำต้องโอนดินแดนทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำโขงตรงข้ามหลวงพระบางและรอบจำปาศักดิ์ทางตอนใต้ของลาว ตลอดจนกัมพูชาตะวันตก ให้อยู่ในการควบคุมของฝรั่งศส อังกฤษเข้าไกล่เกลี่ยเพื่อกันมิให้ฝรั่งเศสระรานสยามอีก แต่ใน พ.ศ. 2452 สยามจำต้องจ่ายราคาเป็นการยอมรับอธิปไตยของอังกฤษเหนือไทรบุรี กลันตัน ปะลิสและตรังกานูภายใต้สนธิสัญญาอังกฤษ–สยาม พ.ศ. 2452 "ดินแดนที่เสียไป" ทั้งหมดเหล่านี้อยู่ที่ขอบเขตอิทธิพลของสยามและไม่เคยกลับมาอยู่ภายใต้การควบคุมของสยามอย่างรัดกุมอีกเลย แต่ถูกบังคับให้สละการอ้างสิทธิ์ทั้งหมดเหนือดินแดนเหล่านี้เป็นการทำให้พระมหากษัตริย์และประเทศอัปยศ และเป็นรากฐานของการเปลี่ยนแปลงชื่อประเทศ ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 วิกฤตการณ์เหล่านี้ถูกรัฐบาลที่เป็นชาตินิยมเพิ่มขึ้นใช้เป็นสัญลักษณ์แห่งการถือสิทธิ์ของตนต่อตะวันตกและประเทศเพื่อนบ้าน
ขณะเดียวกัน การปฏิรูปดำเนินไปอย่างรวดเร็ว โดยเปลี่ยนแปลงจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชซึ่งอิงความสัมพันธ์ของอำนาจเป็นรัฐชาติรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางสมัยใหม่ ขบวนการดังกล่าวเพิ่มพูนขึ้นภายใต้รัชสมัยพระราชโอรสของพระองค์ ซึ่งล้วนแต่ได้รับการศึกษาในยุโรปทั้งสิ้น ทางรถไฟและสายโทรเลขเชื่อมจังหวัดที่แต่ก่อนเคยห่างไกลและกึ่งปกครองตนเอง สกุลเงินถูกผูกติดกับมาตรฐานทองคำและระบบการจัดเก็บภาษีสมัยใหม่แทนที่การรีดภาษีตามอำเภอใจและราชการแรงงานอย่างในอดีต ปัญหาใหญ่ที่สุดคือ การขาดแคลนข้าราชการที่ผ่านการฝึกฝน และจำต้องจ้างชาวต่างชาติหลายคนกระทั่งสามารถสร้างโรงเรียนใหม่และมีการผลิตบัณฑิตออกมา จนถึง พ.ศ. 2453 หลังพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตแล้ว อย่างน้อยสยามได้กลายมาเป็นประเทศกึ่งสมัยใหม่ และยังหนีการปกครองแบบอาณานิคมต่อไป
การกลายเป็นชาติสมัยใหม่
[แก้]หนึ่งในการปฏิรูปของรัชกาลที่ 5 คือ การนำกฎหมายการสืบพระราชสันตติวงศ์แบบยุโรปมาใช้ ดังนั้น ใน พ.ศ. 2453 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชโอรส จึงเสด็จขึ้นครองราชสมบัติต่อมา พระองค์ทรงเข้ารับการศึกษาที่วิทยาลัยทหารแซนเฮิสต์ และที่ออกซฟอร์ด ปัญหาหนึ่งของสยาม คือ ช่องว่างที่กว้างขึ้นระหว่างพระราชวงศ์ที่มีแนวคิดแบบตะวันตกกับชนชั้นสูงและประชาชนที่เหลือของประเทศ ต้องใช้เวลาอีก 20 ปี การศึกษาแบบตะวันตกจึงขยายไปยังข้าราชการส่วนที่เหลือและกองทัพ อันเป็นแหล่งความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นได้
สมัยรัชกาลที่ 5 ได้มีการปฏิรูปทางการเมืองอยู่บ้าง แต่พระมหากษัตริย์ยังทรงเป็นสมบูรณาญาสิทธิราช ซึ่งทรงเป็นหัวหน้าคณะรัฐมนตรีและทรงแต่งตั้งพระประยูรญาติดำรงตำแหน่งในทุกหน่วยงานของรัฐ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงมีการศึกษาแบบตะวันตก ทรงทราบว่า ส่วนที่เหลือของชาติใหม่นี้ไม่อาจถูกตัดออกจากรัฐบาลได้ตลอดไป แต่พระองค์ไม่ศรัทธาในประชาธิปไตยแบบตะวันตก พระองค์ทรงปรับการสังเกตความสำเร็จของพระมหากษัตริย์อังกฤษในการปกครองอินเดีย โดยทรงปรากฏพระองค์แก่สาธารณะบ่อยครั้งขึ้นและทรงริเริ่มพระราชพิธีเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี พระองค์ยังดำเนินแผนการปฏิรูปประเทศให้ทันสมัยต่อจากพระราชชนก มีการยกเลิกพหุสามีภริยา ริเริ่มการศึกษาขั้นประถมแบบบังคับ และใน พ.ศ. 2459 มีการก่อตั้งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอันเป็นจุดเริ่มต้นของอุดมศึกษา ซึ่งต่อมาจะกลายเป็นแหล่งเพาะกลุ่มปัญญาชนใหม่ของสยาม
กรุงเทพมหานครกลายเป็นเมืองหลวงของชาติมากขึ้นทุกที รัฐบาลในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเริ่มโครงการพัฒนาทั่วประเทศหลายอย่าง แม้จะประสบปัญหาด้านการเงิน มีถนน สะพาน ทางรถไฟ โรงพยาบาลและโรงเรียนผุดขึ้นเป็นดอกเห็ดทั่วประเทศด้วยงบประมาณแห่งชาติจากกรุงเทพมหานคร ตำแหน่งอุปราชที่เพิ่งตั้งใหม่ถูกแต่งตั้งไปประจำมณฑลเทศาภิบาล เป็นผู้แทนของพระมหากษัตริย์คอยกำกับเรื่องการปกครองในจังหวัดต่าง ๆ
พระองค์ยังได้ทรงจัดตั้งกองเสือป่า ซึ่งเป็นองค์การกำลังกึ่งทหารของสยามที่มีการผสมรวม "คุณลักษณะที่ดี" เข้าเพื่อส่งเสริมอุดมการณ์ของชาติ พระองค์ยังทรงจัดตั้งสาขาเยาวชนซึ่งดำรงมาถึงปัจจุบันเป็นคณะลูกเสือแห่งชาติ พระองค์ทรงใช้เวลามากในการพัฒนาขบวนการดังกล่าว ด้วยทรงเห็นว่าเป็นโอกาสที่จะสร้างพันธะระหว่างพระองค์กับพลเมืองที่จงรักภักดี เหล่าอาสาสมัครที่ตั้งใจสละชีพเพื่อชาติและพระมหากษัตริย์ นอกจากนี้ยังเป็นหนทางหนึ่งที่พระองค์จะเลือกและให้เกียรติแก่ผู้ที่พระองค์โปรด ขบวนการกึ่งทหารดังกล่าวนี้ส่วนใหญ่หายไปเมื่อถึง พ.ศ. 2470 แต่มีการฟื้นฟูและวิวัฒนามาเป็นกองอาสารักษาดินแดน หรือเรียก ลูกเสือชาวบ้าน
รูปแบบรัฐบาลในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวแตกต่างจากรัฐบาลในพระราชชนก ช่วงต้นรัชกาลที่ 6 พระมหากษัตริย์ใช้คณะของพระราชชนกและกิจวัตรประจำวันของรัฐบาลยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงกะทันหัน ฉะนั้นกิจการประจำวันที่กำลังดำเนินอยู่ส่วนมากจึงอยู่ในมือของผู้มีประสบการณ์และความสามารถ ซึ่งบุคคลเหล่านี้ได้ทำให้สยามก้าวหน้า เช่น การพัฒนาแผนแห่งชาติให้การศึกษาแก่ประชากรทั้งหมด การจัดตั้งคลินิกที่มีการฉีดวัคซีนป้องกันโรคฝีดาษฟรี และการขยายทางรถไฟอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ดี ตำแหน่งอาวุโสค่อย ๆ ถูกแทนที่ด้วยพรรคพวกของพระมหากษัตริย์ เมื่อถึง พ.ศ. 2458 คณะรัฐมนตรีครึ่งหนึ่งเป็นหน้าใหม่ ที่โดดเด่นเห็นจะเป็นการเข้ามาของเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) แทนสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพในตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย กรมพระยาดำรงราชานุภาพลาออกจากตำแหน่งด้วยเหตุผลอย่างเป็นทางการว่าสุขภาพไม่ดี แต่อันที่จริงเป็นเพราะการไม่ลงรอยกับพระมหากษัตริย์
ใน พ.ศ. 2460 สยามประกาศสงครามกับจักรวรรดิเยอรมันและออสเตรีย-ฮังการี โดยหลักเพื่อให้เป็นที่พอใจของอังกฤษและฝรั่งเศส การมีส่วนร่วมในสงครามโลกครั้งที่หนึ่งในเชิงสัญลักษณ์ของสยามทำให้ได้ที่นั่งในการประชุมสันติภาพแวร์ซาย และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศ ทรงใช้โอกาสนี้อภิปรายเรื่องการยกเลิกสนธิสัญญาเก่าสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 19 และการฟื้นฟูอธิปไตยอย่างสมบูรณ์ของสยาม สหรัฐอเมริกาตกลงยกเลิกสนธิสัญญาเหล่านั้นใน พ.ศ. 2463 ขณะที่ฝรั่งเศสและอังกฤษชะลอออกไปกระทั่ง พ.ศ. 2468 ชัยชนะนี้ทำให้พระมหากษัตริย์ได้รับความนิยมบ้าง แต่ความนิยมในพระองค์ได้ลดลงไปจากความไม่พอใจในประเด็นอื่น เช่น ความฟุ่มเฟือย ซึ่งกลายมาเป็นที่สังเกตได้เมื่อภาวะเศรษฐกิจตกต่ำอย่างรุนแรงหลังสงครามส่งผลกระทบต่อสยามใน พ.ศ. 2462
พระองค์ไม่มีทายาทที่เป็นโอรส ฉะนั้น เมื่อพระองค์เสด็จสวรรคตอย่างกะทันหันเมื่อ พ.ศ. 2468 ด้วยพระชนมายุเพียง 44 พรรษา สถาบันพระมหากษัตริย์ก็อยู่ในสภาพที่อ่อนแอแล้ว พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระอนุชา เสด็จขึ้นครองราชย์สืบต่อมา
วัฒนธรรม
[แก้]ในสยามสมัยหลังกรุงเก่า การฟื้นฟูการปฏิบัติธรรมเป็นส่วนสำคัญของการสืบทอดพระพุทธศาสนามิให้เสื่อมสูญไปตามภาวะสงครามและสภาพบ้านเมืองที่มีปัญหาขื่อแปเป็นเวลานาน
จากนั้น การฟื้นฟูการปฏิบัติธรรมก็ยังคงได้รับการส่งเสริมอย่างต่อเนื่อง การปฏิบัติธรรมที่รุ่งเรืองและเป็นที่รับรู้อย่างกว้างขวางในปัจจุบันจึงมิได้ดำเนินมาตามยถากรรม หากแต่ได้ผ่านการดูแลรักษาไว้แต่อดีต
สมัยกรุงธนบุรีเป็นสมัยที่การปฏิบัติธรรมได้รับการสืบทอดมิให้เสื่อมหายหรือขาดตอน
ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น การปฏิบัติธรรมได้รับการส่งเสริมให้เติบโตควบคู่ไปกับการศึกษาของพระสงฆ์
ส่วนในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนกลางและตอนปลาย การปฏิบัติธรรมได้รับการชำระให้มีแนวทางที่ถูกต้องและตรงสู่เป้าหมายที่แท้จริงของชาวพุทธ
ร้อยปีแห่งการชำระแนวทางการปฏิบัติธรรมนี้เป็นเหตุอันมีส่วนสร้างความรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนาในยุคปัจจุบัน
การสิ้นสุดรัชกาลของพระเจ้ากรุงธนบุรี สำนักกรรมฐานของสมเด็จพระวันรัต (ทองอยู่) ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลง สายปฏิบัติที่มีประวัติพอติดตามได้นั้นได้มีการสานต่อที่วัดประดู่ในอยุธยาที่เคยร้างไปตั้งแต่ครั้งเสียกรุง
อย่างไรก็ตาม การฟื้นฟูการปฏิบัติธรรมตามแนวทางสมถวิปัสสนายังคงมีการสานต่ออย่างเข้มแข็ง
เมื่อมีการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ ได้มีการเชิญพระภิกษุอาวุโสจากกรุงเก่ามาเป็นหลักในงานวิปัสสนาธุระ เกิดสำนักกรรมฐานหลักขึ้นที่วัดพลับ (วัดราชสิทธาราม) และวัดสมอราย (วัดราชาธิวาส) ทั้งสองวัดเป็นวัดฝ่ายอรัญวาสีอันเป็นวัดนอกเมืองที่มุ่งไปทางการปฏิบัติธรรม
สมเด็จพระญาณสังวร (สุก) ซึ่งครองวัดพลับและพระปัญญาพิศาลเถร (ศรี) ซึ่งครองวัดสมอรายต่างสืบสายปฏิบัติมาจากคณะวัดป่าแก้วและต่างเป็นพระอาจารย์สำคัญในพระบรมวงศานุวงศ์
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 2 ทรงเคยปฏิบัติธรรมในสำนักพระอาจารย์ทองอยู่ที่วัดระฆัง สมัยรัชกาลพระเจ้ากรุงธนบุรี และเมื่อสิ้นรัชกาลของพระเจ้ากรุงธนบุรีก็ทรงปฏิบัติในสำนักพระปัญญาพิศาลเถร (ศรี) เมื่อครั้งที่พระองค์อุปสมบทในปี พ.ศ. 2331 ส่วนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 และ 4 ก็ทรงปฏิบัติในสำนักของสมเด็จพระญาณสังวร (สุก)
ในยุครัตนโกสินทร์ตอนต้น การปฏิบัติธรรมได้รับการส่งเสริมอย่างมากและถือเป็นส่วนสำคัญของการสืบสานพระศาสนา มีการแต่งตั้งอาจารย์บอกกรรมฐานของวัดจำนวนมาก กุลบุตรกุลธิดาก็มีการศึกษาในวัดเป็นปกติ การปฏิบัติธรรมจึงมีบทบาทมากในหมู่ฆราวาสอย่างกว้างขวาง มิใช่เฉพาะพระภิกษุและผู้อาวุโสชราเท่านั้น
การศึกษากรรมฐานและธุดงควัตรแบบอรัญวาสีเป็นกิจที่พระสงฆ์สนใจปฏิบัติเพิ่มเติมจากการศึกษาพระบาลี พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงส่งเสริมวิปัสสนาธุระมาก วัดที่มีชื่อเสียงด้านวิปัสสนาธุระมีหลายแห่ง เช่น วัดเงินบางพรหม (วัดรัชฎาธิษฐาน) วัดสมอแครง (วัดเทวราชกุญชร) วัดสระเกศ วัดอรุณ วัดอินทร์ และวัดสังเวชวิชยาราม ส่วนวัดทั่วไปก็มักส่งเสริมทั้งทางด้านปริยัติและวิปัสสนาควบคู่กัน
การสิ้นสุดสมบูรณาญาสิทธิราชย์
[แก้]แตกต่างจากพระเชษฐา พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงอ่านเอกสารสำคัญของรัฐแทบทั้งหมดที่ผ่านมาทางพระองค์อย่างขันแข็ง ภายในครึ่งปี มีรัฐมนตรีที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงแต่งตั้ง 12 คน เหลือเพียง 3 คน ที่เหลือถูกแทนที่ด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ ในแง่หนึ่ง การแต่งตั้งนี้ทำให้ผู้ที่มีความสามารถและประสบการณ์กลับมาดำรงตำแหน่ง แต่อีกแง่หนึ่ง เป็นการส่งสัญญาณถึงการหวนคืนสู่คณาธิปไตยโดยราชวงศ์ ชัดเจนว่า พระองค์ทรงต้องการแสดงถึงข้อแตกต่างอย่างชัดเจนกับรัชกาลที่ 6 ที่ถูกทำให้เสียความน่าเชื่อถือ และตัวเลือกผู้มาดำรงตำแหน่งสำคัญเหมือนจะถูกชี้นำโดยพระราชประสงค์ที่จะฟื้นฟูรัฐบาลแบบพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
มรดกเริ่มต้นที่พระองค์ทรงได้รับจากพระเชษฐา คือ ปัญหาชนิดที่กลายมาเรื้อรังในรัชกาลที่ 6 ปัญหาเร่งด่วนที่สุด คือ เศรษฐกิจ การเงินของรัฐอยู่ในความยุ่งเหยิง งบประมาณติดลบอย่างหนัก และบัญชีของพระมหากษัตริย์เต็มไปด้วยหนี้สินและธุรกรรมที่น่าสงสัย และการที่ประเทศที่เหลือในโลกต่างประสบภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่หลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ก็มิได้ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้น
พระราชกรณียกิจแรก ๆ ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว คือ ทรงตั้งอภิรัฐมนตรีสภา เป็นนวัตกรรมเชิงสถาบันมีเจตนาเพื่อฟื้นฟูความความเชื่อมั่นในพระมหากษัตริย์และรัฐบาล คณะองคมนตรีนี้ประกอบด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ที่มีประสบการณ์และทรงพระปรีชาสามารถ รวมทั้งกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยที่ดำรงตำแหน่งมาอย่างยาวนานด้วย เจ้านายเหล่านี้ค่อย ๆ ถือสิทธิ์เพิ่มอำนาจโดยผูกขาดตำแหน่งรัฐมนตรีหลักทั้งหมด เจ้านายหลายพระองค์รู้สึกว่า เป็นหน้าที่ของพวกตนที่ต้องแก้ไขข้อผิดพลาดในรัชกาลก่อน แต่โดยทั่วไปไม่เป็นที่ชื่นชอบนัก
ด้วยการช่วยเหลือของอภิรัฐมนตรีนี้ พระมหากษัตริย์ทรงฟื้นฟูเสถียรภาพเศรษฐกิจ แม้จะด้วยปริมาณการลดข้าราชการจำนวนมากและการตัดเงินเดือนข้าราชการที่ยังเหลืออยู่ ซึ่งทำให้เกิดความไม่เป็นที่นิยมอย่างมากในหมู่เจ้าหน้าที่ของรัฐอย่างชัดเจน และเป็นหนึ่งในชนวนเหตุของการปฏิวัติ พ.ศ. 2475
จากนั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงหันความสนพระทัยไปยังปัญหาอนาคตการเมืองในสยาม พระองค์ทรงได้รับแรงบันดาลใจจากตัวอย่างอังกฤษ มีพระราชประสงค์ให้สามัญชนมีสิทธิ์มีเสียงในการงานของประเทศโดยการตั้งรัฐสภา มีพระบรมราชโองการให้ร่างรัฐธรรมนูญ แต่พระราชประสงค์ของพระองค์ทรงถูกที่ปรึกษาปฏิเสธ เพราะรู้สึกว่าประชาชนยังไม่พร้อมสำหรับประชาธิปไตย
เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2475 พระองค์ทรงตกลงจะนำรัฐธรรมนูญมาใช้ ซึ่งพระองค์จะทรงแบ่งพระราชอำนาจกับนายกรัฐมนตรี แต่ยังไม่เพียงพอสำหรับกลุ่มหัวรุนแรงในกองทัพ วันที่ 24 มิถุนายน ปีเดียวกัน ขณะที่พระมหากษัตริย์แปรพระราชฐาน ณ ชายทะเล กองทหารกรุงเทพมหานครก่อการกำเริบและยึดอำนาจ นำโดยผู้ก่อการ 49 คน และเป็นการสิ้นสุดประวัติศาสตร์รัตนโกสินทร์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช 150 กว่าปี.
ระบบไพร่
[แก้]อาณาจักรรัตนโกสินทร์ยังคงใช้ระบบไพร่ตามอาณาจักรอยุธยาและอาณาจักรธนบุรี แต่พบว่าจำนวนประชากรในอาณาจักรเพิ่มมากขึ้น ระยะเวลาการเกณฑ์แรงงานไพร่จึงลดลงเหลือ 4 เดือนต่อปี และ 3 เดือนต่อปีในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทั้งนี้ ทางการได้หันไปจ้างแรงงานกุลีจากจีนมาทำงานมากกว่าการใช้ไพร่เนื่องจากมีประสิทธิภาพดีกว่า ระบบไพร่จึงมีความสำคัญน้อยลงจนกระทั่งถูกยกเลิกไปในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว[5]
การเปลี่ยนแปลงทางดินแดนของสยามและไทย
[แก้]เหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงทางดินแดน
[แก้]# | รัชสมัย | วันที่ | ดินแดน | ให้ | เนื้อที่ (ตร.กม.) |
---|---|---|---|---|---|
1 | รัชกาลที่ 4 | 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2410 | แคว้นเขมร และเกาะอีก 6 เกาะ | กัมพูชาในอารักขาของฝรั่งเศส (ฝรั่งเศส) | 124,000 |
2 | รัชกาลที่ 5 | 22 ธันวาคม พ.ศ. 2431 | สิบสองจุไทและหัวพันห้าทั้งหก | อินโดจีนของฝรั่งเศส | 87,000 |
3 | รัชกาลที่ 5 | 27 ตุลาคม พ.ศ. 2435 | ดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำสาละวิน (5 เมืองเงี้ยว และ 13 เมืองกะเหรี่ยง) | บริติชราช | 30,000 |
วันที่ | ดินแดนพิพาท | เนื้อที่ | รัฐคู่พิพาท | หมายเหตุ | |
---|---|---|---|---|---|
3 ตุลาคม พ.ศ. 2436 | ดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง และ ราชอาณาจักรลาว | 143,000 | อินโดจีนของฝรั่งเศส | สนธิสัญญาสยาม–ฝรั่งเศส ร.ศ. 112 (Traité franco-siamois du 3 octobre 1893) | |
12 พฤษภาคม พ.ศ. 2446 | ดินแดนฝั่งขวาแม่น้ำโขง (จำปาศักดิ์ ไชยบุรี) | 25,500 | อินโดจีนของฝรั่งเศส | สนธิสัญญาสยาม–ฝรั่งเศส ร.ศ. 122 | |
23 มีนาคม พ.ศ. 2450 | พระตะบอง เสียมราฐ ศรีโสภณ | 51,000 | อินโดจีนของฝรั่งเศส (ฝรั่งเศส) | หนังสือสัญญาระหว่างกรุงสยามกับกรุงฝรั่งเศส ลงวันที่ 23 มีนาคม รัตนโกสินทรศก 125[6] | |
10 มีนาคม พ.ศ. 2452 | ไทรบุรี ปะลิส กลันตัน ตรังกานู | 38,455 | สหภาพมาลายา (อังกฤษ) | สัญญาในระหว่างกรุงสยามกับกรุงอังกฤษ[7] | |
9 พฤษภาคม พ.ศ. 2484 | จำปาศักดิ์ ไชยบุรี พระตะบอง เสียมราฐ | 51,326 | อินโดจีนของฝรั่งเศส | อนุสัญญาสันติภาพระหว่างประเทศไทยกับฝรั่งเศส[8] | |
30 กันยายน พ.ศ. 2484 | เกาะดอนต่างๆ ในแม่น้ำโขง 77 แห่ง | ? | อินโดจีนของฝรั่งเศส | แถลงการณ์ เรื่อง ได้คืนเกาะดอนต่าง ๆ ในลำแม่น้ำโขง ตามความตกลงกำหนดเส้นทางเขตต์แดนชั่วคราวระหว่างประเทศไทยกับอินโดจีนฝรั่งเศส[9] | |
9 ธันวาคม พ.ศ. 2489 | จำปาศักดิ์ ไชยบุรี พระตะบอง เสียมราฐ และเกาะดอนต่างๆ ในแม่น้ำโขง 77 แห่ง |
? | อินโดจีนของฝรั่งเศส | ความตกลงระงับกรณีระหว่างประเทศไทยและประเทศฝรั่งเศส (อนุสัญญาโตเกียว)[10] |
แผนที่การเปลี่ยนแปลงทางดินแดน
[แก้]-
การแบ่งเขตการปกครองของสยาม พ.ศ. 2343 (ในยุคของรัชกาลที่ 1)
-
การแบ่งเขตการปกครองของสยาม พ.ศ. 2348 (ในยุคของรัชกาลที่ 1)
-
การแบ่งเขตการปกครองของสยาม พ.ศ. 2367 (ในยุคของรัชกาลที่ 2)
-
การแบ่งเขตการปกครองของสยาม พ.ศ. 2380 (ในยุคของรัชกาลที่ 3)
-
การแบ่งเขตการปกครองของสยาม พ.ศ. 2393 (ในยุคของรัชกาลที่ 3)
-
การแบ่งเขตการปกครองของสยาม พ.ศ. 2425 (ในยุคของรัชกาลที่ 5)
-
การแบ่งเขตการปกครองของสยาม พ.ศ. 2436 (ในยุคของรัชกาลที่ 5)
-
การแบ่งเขตการปกครองของสยาม พ.ศ. 2443 (ในยุคของรัชกาลที่ 5)
-
การแบ่งเขตการปกครองของสยาม พ.ศ. 2449 (ในยุคของรัชกาลที่ 5)
-
การแบ่งเขตการปกครองของสยาม พ.ศ. 2459 (ในยุคของรัชกาลที่ 6)
-
การแบ่งเขตการปกครองของสยาม พ.ศ. 2475 (ในยุคของรัชกาลที่ 7)
-
การแบ่งเขตการปกครองของไทย พ.ศ. 2488 (ในยุคของรัชกาลที่ 8)
-
การแบ่งเขตการปกครองของไทย พ.ศ. 2493 (ในยุคของรัชกาลที่ 9)
-
การแบ่งเขตการปกครองของประเทศไทย พ.ศ. 2516 (ในยุคของรัชกาลที่ 9)
-
การแบ่งเขตการปกครองของประเทศไทย พ.ศ. 2566 (ในยุคของรัชกาลที่ 10)
พ.ศ. 2450
[แก้]เมื่อวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2450 (พ.ศ. 2449 เดิม) รัฐบาลสยามและรัฐบาลฝรั่งเศสได้ร่วมกันลงนามในหนังสือสัญญาระหว่างกรุงสยามกับกรุงฝรั่งเศส ลงวันที่ 23 มีนาคม รัตนโกสินทรศก 125 พร้อมด้วยสัญญาว่าด้วยปักปันเขตร์แดน ติดท้ายหนังสือสัญญาลงวันที่ 23 มีนาคม รัตนโกสินทรศก 125 ซึ่งลงนามโดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการและนายวี คอลแลง (เดอ ปลังซี) โดยมีเนื้อหาสาระสำคัญดังต่อไปนี้[6]
- รัฐบาลสยามยอมยกดินแดนเมืองพระตะบอง เมืองเสียมราฐ กับเมืองศรีโสภณ ให้แก่กรุงฝรั่งเศส (ข้อ 1)
- รัฐบาลฝรั่งเศสยอมยกดินแดนเมืองด่านซ้าย และเมืองตราด กับทั้งเกาะทั้งหลายซึ่งอยู่ภายใต้แหลมลิง[11]ไปจนถึงเกาะกูดนั้นให้แก่กรุงสยาม (ข้อ 2)
พ.ศ. 2452
[แก้]เมื่อวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2452 (พ.ศ. 2451 เดิม) รัฐบาลสยามและรัฐบาลอังกฤษได้ร่วมกันลงนามในสัญญาในระหว่างกรุงสยามกับกรุงอังกฤษ[7] และสัญญาว่าด้วยเขตรแดน ติดท้ายหนังสือสัญญาลงวันที่ 10 มีนาคม รัตนโกสินทร์ศก 127 คฤสตศักราช 1909[12] ซึ่งลงนามโดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการและนายราลฟ์ แปชยิด โดยมีเนื้อหาสาระดังต่อไปนี้
- รัฐบาลสยามยอมโอนเมืองกลันตัน เมืองตรังกานู เมืองไทรบุรี เมืองปลิศ และเกาะที่ใกล้เคียงเมืองเหล่านั้นให้แก่รัฐบาลอังกฤษเพื่อยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขต(สนธิสัญญาเบาว์ริง)
เชิงอรรถ
[แก้]- ↑ บทความนี้กล่าวถึงสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์เท่านั้น, ใช้ชื่อว่า "สยาม" ตั้งแต่ พ.ศ. 2398 (สนธิสัญญาเบาว์ริง)
ดูเพิ่ม
[แก้]- กบฏเจ้าอนุวงศ์ (2369–71)
- อานัมสยามยุทธ (2374-88)
- กบฏหวันหมาดหลี (2381–82)
- สงครามปราบฮ่อ (2408–33)
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Lieberman, Victor (2003). Strange Parallels: Volume 1, Integration on the Mainland: Southeast Asia in Global Context, c.800–1830 (Studies in Comparative World History) (Kindle ed.). p. 295. ISBN 978-0521800860. "Siam's population must have increased from c. 2,500,000 in 1600 to 4,000,000 in 1800."
- ↑ "Number of population in Thailand : 1911 - 1990 census years". web.nso.go.th. National Statistical Office. 2004. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-03-24. สืบค้นเมื่อ 14 January 2022.
- ↑ 3.0 3.1 3.2 Tucker, Spencer (1999). Vietnam. Lexington: University Press of Kentucky. p. 15. ISBN 0-8131-0966-3.
- ↑ Tucker, Spencer (1999). Vietnam. Lexington: University Press of Kentucky. p. 16. ISBN 0-8131-0966-3.
- ↑ โกวิท วงศ์สุรวัฒน์. การเมืองการปกครองไทย: หลายมิติ. หน้า 16.
- ↑ 6.0 6.1 ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๒๔ หน้า ๓๔๔ วันที่ ๗ กรกฎาคม ๑๒๖
- ↑ 7.0 7.1 ราชกิจจานุเบกษา ๑๘ กรกฎาคม ๑๒๘ เล่ม ๒๖ น่า ๗๐๑ สัญญาในระหว่างกรุงสยามกับกรุงอังกฤษ
- ↑ อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ
<ref>
ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อTreaty24841
- ↑ อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ
<ref>
ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อTreaty24842
- ↑ อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ
<ref>
ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อTreaty2489
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๒๔ หน้า ๓๖๘ วันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๑๒๖
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา ๑๘ กรกฎาคม ๑๒๘ เล่ม ๒๖ น่า ๗๐๕ สัญญาว่าด้วยเขตรแดน ติดท้ายหนังสือสัญญาลงวันที่ ๑๐ มีนาคม รัตนโกสินทร์ศก ๑๒๗ คฤสตศักราช ๑๙๐๙