สงครามเชียงแสน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สงครามเชียงแสน
ส่วนหนึ่งของ สงครามพม่า–สยาม

สงครามเชียงแสนในล้านนา;
ค.ศ. 1797-98, 1802-3 และ 1804
การรุกรานเชียงตุง (1802) และเชียงรุ่งของสยาม (1805)
สีเขียวแสดงเส้นทางของพม่า
สีแดงแสดงเส้นทางของสยาม
วันที่พ.ศ. 2345, 2346 และ พ.ศ. 2348
สถานที่
ผล สยามได้รับชัยชนะ; บังคับย้ายประชากรไทเขินและชาวไทลื้อเข้าสยาม
ดินแดน
เปลี่ยนแปลง
สยามเข้าควบคุมเชียงแสน
คู่สงคราม
ราชวงศ์โก้นบอง (พม่า)
นครรัฐเชียงแสน (รัฐบริวารพม่า)
อาณาจักรรัตนโกสินทร์ (สยาม)
นครเชียงใหม่ (รัฐบริวารสยาม)
นครลำปาง (รัฐบริวารสยาม)
นครน่าน (รัฐบริวารสยาม)
อาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์ (รัฐบริวารสยาม)
ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ
พระเจ้าปดุง
Einshe Wun Nemyo Kyawdin Thihathu
โป่มะยุง่วน 
เจ้าฟ้านาขวา (เชลย)
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท
สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมพระอนุรักษ์เทเวศร์
พระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์
เจ้าอนุวงศ์
พระเจ้ากาวิละ
พระยาอุปราชน้อยธรรม

สงครามเชียงแสน ใน พ.ศ. 2347 เป็นสงครามระหว่างสยามอาณาจักรรัตนโกสินทร์ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พร้อมทั้งอาณาจักรล้านนาในสมัยของพระเจ้ากาวิละ ทำสงครามกับเมืองเชียงแสนซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองของพม่าในรัชสมัยพระเจ้าปดุงแห่งราชวงศ์โก้นบอง หลังจากที่สยามและล้านนาสามารถต้านทานการรุกรานเมืองเชียงใหม่ของพม่าไปได้ในพ.ศ. 2345 ทำให้สยามและล้านนามีโอกาสยกทัพเข้าโจมตีเมืองเชียงแสนในพ.ศ. 2347 ซึ่งเป็นศูนย์กลางอำนาจของพม่าในหัวเมืองล้านนา สยามและล้านนายึดเมืองเชียงแสนได้สำเร็จทำให้พม่าสูญสิ้นอิทธิพลและอำนาจไปจากล้านนาอย่างถาวร[1]

เหตุการณ์นำ[แก้]

เชียงแสนภายใต้การปกครองของพม่า[แก้]

นับตั้งแต่ที่เมืองเชียงใหม่ถูกยึดครองโดยพระเจ้าบุเรงนองแห่งพม่าราชวงศ์ตองอูใน พ.ศ. 2101[2] อาณาจักรล้านนาหรือภาคเหนือของประเทศไทยในปัจจุบันจึงตกอยู่ภายใต้การปกครองของพม่าเป็นเวลาประมาณ 200 ปี[3] ใน พ.ศ. 2173 พระเจ้าตาลูน (Thalun Min သာလွန်မင်း) หรือที่ล้านนาเรียก พระเจ้าสุทโธธัมมราชา แห่งพม่าราชวงศ์ตองอู ทรงแต่งตั้งให้แสนหลวงเรือดอนเป็นเจ้าฟ้าหลวงทิพเนตรเจ้าฟ้าเมืองเชียงแสน[4] จากนั้นวงศ์ของเจ้าฟ้าหลวงทิพเนตร (แสนหลวงเรือดอน) จึงปกครองเมืองเชียงแสนไปเป็นระยะเวลาประมาณหนึ่งร้อยเจ็ดสิบปี ใน พ.ศ. 2244 พระเจ้าสเน่ห์ (Sanay စနေမင်း) แห่งพม่าราชวงศ์ตองอูมีพระราชโองการให้แบ่งแยกเมืองเชียงแสนออกจากเชียงใหม่ ให้พม่าเข้าปกครองโดยตรง[5][6] พม่าแต่งตั้งเมียวหวุ่น (Myo Wun မြို့ဝန်) หรือข้าหลวงชาวพม่าเข้าปกครองเมืองเชียงแสนร่วมกับเจ้าฟ้าเมืองเชียงแสนฝ่ายล้านนา พม่าจึงเข้าปกครองเชียงแสนอย่างใกล้ชิดมากขึ้น

เปลี่ยนผ่านจากพม่าเข้าสู่สยาม[แก้]

พญาจ่าบ้าน (บุญมา) แห่งเชียงเชียงใหม่ เกิดความขัดแย้งกับสะโตมังถาง (Thado Mindin သတိုးမင်းထင်)[7] หรือโป่มะยุง่วน (Po Myo Wun ဗိုလ်မြို့ဝန်) เจ้าเมืองเชียงใหม่ชาวพม่า เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินแห่งกรุงธนบุรีทรงยกทัพขึ้นไปตีเมืองเชียงใหม่ใน พ.ศ. 2317 พญาจ่าบ้านเชียงใหม่และนายกาวิละแห่งลำปางเข้าสวามิภักดิ์ต่อฝ่ายสยาม[2][8] นำทางให้เจ้าพระยาจักรี (ทองด้วง) และเจ้าพระยาสุรสีห์ (บุญมา) สามารถเข้ายึดเมืองเชียงใหม่ได้สำเร็จ นับจากนั้นหัวเมืองล้านนาได้แก่เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แพร่ และน่าน จึงแยกตัวจากพม่ามาอยู่ภายใต้การปกครองของสยาม ในขณะที่หัวเมืองล้านนาฝ่ายเหนือได้แก่เชียงแสน เชียงราย ฝาง พะเยา ยังคงอยู่ภายใต้การปกครองของพม่าอยู่ สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงแต่งตั้งพญาจ่าบ้านขึ้นเป็นพระยาวิเชียรปราการเจ้าเมืองเชียงใหม่ และทรงแต่งตั้งนายกาวิละขึ้นเป็นพระยากาวิละเจ้าเมืองลำปาง เมืองเชียงแสนจึงกลายเป็นศูนย์กลางอำนาจของพม่าในดินแดนล้านนา พระยาวิเชียรปราการ (บุญมา) และพระยากาวิละยกทัพขึ้นมาตีเมืองเชียงแสนอีกหลายครั้งแต่ไม่สำเร็จ

ในสงครามเก้าทัพ พ.ศ. 2328 พระเจ้าปดุงทรงส่งเจ้าชายสะโดสิริมหาอุจนาพระอนุชายกทัพจำนวน 30,000 คน มาที่เมืองเชียงแสน เจ้าชายสะโดสิริมหาอุจนาและธาปะระกามะนี (Abaya-Kamani အဘယကာမဏိ) (พื้นเมืองเชียงแสนเรียก พะแพหวุ่น) ยกทัพขึ้นโจมตีเมืองลำปางของพระยากาวิละ นำไปสู่การล้อมเมืองลำปาง และส่งทัพไปโจมตีเมืองแพร่จับพระยาแพร่มังไชยเจ้าเมืองแพร่มาไว้ที่เชียงแสน ฝ่ายกรุงเทพฯ ส่งทัพขึ้นมาช่วยเหลือแก้เมืองลำปางออกจากการล้อมของพม่าได้ กองทัพพม่าถอยทัพกลับไป แต่ตั้งให้ธาปะระกามะนีเป็นเจ้าเมืองเชียงแสน ใน พ.ศ. 2330 พระเจ้าปดุงส่งทัพมาปราบเมืองฝางได้ และตั้งทัพที่เมืองฝางเตรียมเข้ารุกรานลำปางต่อไป ธาปะระกามะนีนำกองทัพเข้ามาสมทบก่อนกลับเมืองเชียงแสน พระยาแพร่มังไชยร่วมมือกับเจ้ากอง เจ้าฟ้าเมืองยอง  (Mong Yawng) ก่อการกบฏต่อพม่า พระยาแพร่มังไชยและเจ้าเมืองยองยกทัพเข้าโจมตียึดเมืองเชียงแสนได้ ธาปะระกามะนีหลบหนีไปเมืองเชียงราย พระยาเพชรเม็ง (น้อยจิตตะ) เจ้าฟ้าเมืองเชียงรายจับตัวธาปะระกามะนีส่งให้แก่พระยากาวิละ[6] พระยากาวิละจึงส่งตัวธาปะระกามะนีไปกรุงเทพ[9][10] พม่ายกทัพมายึดเมืองเชียงแสนคืนได้และยกไปตีเมืองลำปางต่อ กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทเสด็จยกทัพมาขับไล่พม่าออกไปจากลำปางได้สำเร็จ พระยากาวิละแห่งลำปางเข้าครองเมืองเชียงใหม่ในพ.ศ. 2339

พม่าตีเชียงใหม่ พ.ศ. 2340 และพ.ศ. 2345[แก้]

พระเจ้ากาวิละแห่งลำปางทรงยึดเมืองนี้ไว้เพื่อต่อต้านการล้อมของพม่าเป็นเวลาสี่เดือนในปี พ.ศ. 2328-29 จนกระทั่งสยามได้จัดเตรียมกองกำลังเสริม ต่อมาได้ขึ้นเป็นผู้ปกครองเมืองเชียงใหม่ และได้รับการสวมมงกุฎเป็นพระมหากษัตริย์เชียงใหม่โดยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกในปี พ.ศ. 2346

พระเจ้าปดุงแห่งพม่าราชวงศ์โก้นบองยังทรงมีความพยายามที่จะยึดล้านนากลับไปเป็นของพม่าดังเดิม พระเจ้าปดุงส่งทัพมาโจมตีเมืองเชียงใหม่ใน พ.ศ. 2340 นำไปสู่สงครามพม่าตีเชียงใหม่ พ.ศ. 2340 กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท พร้อมทั้งพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ เสด็จยกทัพขึ้นมาขับทัพพม่าที่ล้อมเมืองเชียงใหม่ออกไปได้ ต่อมาใน พ.ศ. 2345 พระเจ้าปดุงยกราชาจอมหงส์ (ใหม่พละ) เจ้าเมืองสาด (Mong Hsat) ขึ้นเป็นใหญ่เหนือล้านนา พระยากาวิละมอบหมายให้พระยาอุปราชน้อยธรรมยกทัพเชียงใหม่ไปตียึดเมืองสาดได้ และยกทัพต่อไปตีและยึดเมืองเชียงตุง เมืองเชียงตุงถูกทำลายว่างร้างลง[11] เจ้าฟ้าศิริไชยเจ้าฟ้าเมืองเชียงตุงหลบหนีไป พระยาอุปราชน้อยธรรมกวาดต้อนชาวไทเขินจากเชียงตุงและเมืองสาดมาที่เชียงใหม่[12]

พระเจ้าปดุงพิโรธที่พระยากาวิละส่งทัพไปตีเมืองสาดและเชียงตุงจึงส่งทัพเข้ามาล้อมเมืองเชียงใหม่อีกครั้ง นำไปสู่สงครามพม่าตีเชียงใหม่ พ.ศ. 2345 กองทัพฝ่ายพระราชวังบวรฯเสด็จนำโดยกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท และกองทัพฝ่ายพระราชวังหลวงเสด็จนำโดยกรมหลวงเทพหริรักษ์และพระยายมราช (บุญมา) ยกทัพขึ้นมาช่วยเหลือพระยากาวิละแห่งเชียงใหม่ เมื่อเสด็จยกทัพไปถึงเมืองเถิน กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาททรงพระประชวร[12]เป็นเหตุให้ไม่สามารถเสด็จยกทัพต่อไปได้ จึงมีพระราชบัณฑูรให้กรมขุนสุนทรภูเบศร์และพระยากลาโหมราชเสนา (ทองอิน) ยกทัพฝ่ายวังหน้า และกรมหลวงเทพหริรักษ์และพระยายมราชยกทัพฝ่ายวังหลวง ขึ้นไปทางเมืองลี้ไปเมืองลำพูนก่อน ด้วยเหตุบางประการทำให้ทัพฝ่ายวังหลวงของกรมหลวงเทพหริรักษ์ล่าช้า[13]และถอยหลังไปตามหลังทัพฝ่ายวังหน้า[12] เมื่อทัพฝ่ายไทยเข้าตีพม่าที่เชียงใหม่แตกพ่ายไปแล้วนั้น กรมพระราชวังบวรฯพิโรธ[13]ทัพฝ่ายพระราชวังหลวง กรมหลวงเทพหริรักษ์และพระยายมราช ว่ายกทัพช้าตามหลังทัพของวังหน้า และพิโรธเจ้าอนุวงศ์แห่งเวียงจันทน์ซึ่งยกทัพมาถึงช้าไม่ทันการรบมาถึงเมื่อพม่าพ่ายแพ้ไปแล้วเจ็ดวัน จึงมีพระราชบัณฑูรปรับโทษให้กรมหลวงเทพหริรักษ์ พระยายมราช และเจ้าอนุวงศ์ยกทัพเข้าโจมตียึดเมืองเชียงแสนให้ได้ กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทสิ้นพระชนม์เมื่อพ.ศ. 2346[12]

สงครามตีเมืองเชียงแสน[แก้]

สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทแห่งวังหน้า พระอนุชาในรัชกาลที่ 1 ทรงนำกองทัพสยามไปสนับสนุนพระเจ้ากาวิละ พระเชษฐาถึงสามครั้งในปี พ.ศ. 2330, 2340 และ 2345 พระองค์สิ้นพระชนม์ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2346

ตีเมืองเชียงแสนครั้งแรก[แก้]

กรมหลวงเทพหริรักษ์ พร้อมทั้งพระยายมราช (บุญมา) และเจ้าอนุวงศ์ ประทับอยู่ที่เมืองล้านนาเพื่อทรงเตรียมทัพเข้าตีเมืองเชียงแสน ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2346 กรมหลวงเทพหริรักษ์ พระเจ้ากาวิละ พระยายมราช เจ้าอนุวงศ์ และเจ้าอัตถวรปัญโญเจ้าเมืองน่าน ยกทัพฝ่ายไทยและล้านนาจำนวนทั้งสิ้น 20,000 คน[14] ไปโจมตีเมืองเชียงแสน นำไปสู่การโจมตีเมืองเชียงแสนครั้งแรกในเดือนมีนาคม เจ้าฟ้านาขวาเจ้าเมืองเชียงแสนนำทัพพม่าออกมาต่อรบกับฝ่ายไทยและล้านนาเป็นสามารถ ทัพฝ่ายไทยและล้านนาเข้ายึดเมืองเชียงแสนไม่ได้จึงตั้งล้อมเมืองไว้ ไทยและล้านนาล้อมเมืองเชียงแสนอยู่เป็นเวลาสองเดือนจนเลิกทัพถอยกลับมาในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2346

การจัดเตรียมทัพ[แก้]

หลังจากที่ตีเมืองเชียงแสนไม่สำเร็จในพ.ศ. 2346 กรมหลวงเทพหริรักษ์ทรงปรึกษากับเจ้าอนุวงศ์และพระเจ้ากาวิละว่า ถึงฤดูฝนทัพอ่อนกำลังแรงลง ควรปล่อยให้ไพร่พลไปทำนาเก็บเสบียงกันเสียก่อน[12] พอถึงฤดูแล้งจึงยกขึ้นไปเชียงแสนอีกครั้งหนึ่ง ฝ่ายไทยและล้านนาจึงเตรียมการรวมรวบกำลังพล เพื่อยกไปตีเมืองเชียงแสนอีกครั้งในปีถัดมาพ.ศ. 2347 มีการจัดทัพของฝ่ายไทยและล้านนาเพื่อเข้าตีเมืองเชียงแสนดังนี้;[6][14]

ฝ่ายพม่าเมืองเชียงแสน มีโป่มะยุง่วนเป็นเมียวหวุ่นเมืองเชียงแสน กับเจ้าใหม่หน่อคำหรือเจ้าฟ้านาขวาเจ้าเมืองเชียงแสน ซึ่งเป็นวงศ์ของเจ้าฟ้าหลวงทิพเนตร (แสนหลวงเรือดอน) นอกจากนี้ยังมีเจ้าเมืองบริวารของเมืองเชียงแสน นำกำลังไทยวนไทเขินและไทลื้อมาช่วยป้องกันเมืองเชียงแสน

  • เจ้าเมืองเชียงราย
  • เจ้าเมืองยอง (Mong Yawng)
  • เจ้าเมืองเชียงแข็ง (Kengcheng)
  • เจ้าเมืองเทิง
  • เจ้าเมืองไร

ตีเมืองเชียงแสนครั้งที่สอง[แก้]

พระยาอุปราชน้อยธรรมยกทัพเมืองเชียงใหม่ออกไปเมืองเชียงแสนในเดือนเมษายนพ.ศ. 2347 ทัพฝ่ายไทยล้านนาและลาวเวียงจันทน์ต่างเดินทางออกจากเมืองเชียงใหม่ ลำปาง และน่าน ถึงเมืองเชียงแสนพร้อมกันในเดือนพฤษภาคม ฝ่ายเชียงแสนยกทัพเรือออกไปรับที่หาดหลวงแต่ถูกตีกลับเนื่องจากฝั่งไทยและล้านนามีปืนใหญ่มากกว่า[4] พระยาอุปราชน้อยธรรมยกทัพเชียงใหม่เข้าตีเมืองเชียงแสนทางท่าข้าวเปลือกทางด้านตะวันตกของเชียงแสน[6] เจ้าอัตถวรปัญโญยกทัพเมืองน่านเข้าโจมที่ทางประตูดินขอ[14] เมียวหวุ่นเมืองเชียงแสนและพญานาขวา รวมทั้งเจ้าเมืองยองเจ้าเมืองเชียงแข็ง ยกทัพออกมาสู้กับฝ่ายไทยและล้านนาอย่างเข้มแข็ง ทัพฝ่ายไทยและล้านนาเข้ายึดเมืองเชียงแสนไม่ได้ จึงตั้งล้อมเมืองไว้ดังเช่นครั้งก่อน หลังจากล้อมเมืองเชียงแสนได้หนึ่งเดือน ขณะนั้นเป็นฤดูฝนฝนตกอากาศร้อนกองทัพฝ่ายกรุงเทพล้มป่วยเป็นจำนวนมาก ขาดแคลนเสบียงอาหารและได้ข่าวว่าเมืองอังวะกำลังยกทัพมาช่วยเมืองเชียงแสน กรมหลวงเทพหริรักษ์จึงมีพระบัญชาให้ถอยทัพกรุงเทพกลับออกมาจากเชียงแสน[12] เหลือเพียงทัพล้านนาและลาวเวียงจันทน์ล้อมเมืองเชียงแสนไว้

ในขณะนั้นชาวเมืองเชียงแสนถูกทัพไทยและล้านนาล้อมเมืองไว้เกิดความอดอยากอาหารขาดแคลน สังหารโคกระบือและช้างมากินจนหมดสิ้น[12] ชาวเมืองเชียงแสนจึงพากันออกมาจากเมืองมาสวามิภักดิ์ต่อพระยาอุปราชน้อยธรรมจำนวนมาก เจ้าเมืองเชียงรายยกทัพออกมาสู้กับพระยาอุปราชน้อยธรรมและเจ้าอนุวงศ์ที่ประตูท่าม่าน เจ้าเมืองยองตั้งรับทางแม่น้ำโขง เจ้าเมืองเชียงแข็งยึดปืนใหญ่ของเชียงใหม่มาได้ แต่ต่อมาเจ้าเมืองเชียงแข็งถูกปืนเสียชีวิต เจ้าเมืองเชียงรายถูกยิงเสียชีวิตขณะรับประทานอาหาร[4] เจ้าเมืองเทิงและเจ้าเมืองไรเสียชีวิตในที่รบ พระยาอุปราชน้อยธรรมจึงยกทัพเข้ายึดเมืองเชียงแสนได้สำเร็จในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2347 โป่มะยุง่วนเมียวหวุ่นเมืองเชียงแสนถูกปืนเสียชีวิตในที่รบ[12] เจ้าฟ้านาขวาพร้อมครอบครัวหลบหนีข้ามแม่น้ำโขงไปทางเหนือไปทางเมืองเกิงไปอยู่ที่ดอยจอมเผ้าจอมแซว[6] ชาวเมืองเชียงแสนแตกตื่นหลบหนีไปทางเหนือ พระยาอุปราชน้อยธรรมส่งกองกำลังไปติดตามตัวเจ้าฟ้านาขวา จับตัวเจ้าฟ้านาขวาได้ที่ดอยจอมเผ้าจอมแซวนำกลับมาที่เชียงใหม่

สงครามในครั้งนี้ชาวเมืองเชียงแสนได้รับความทุกขเวทนา “ข้าพลัดเจ้า ลูกเต้าพลัดพ่อพลัดแม่ ผัวพลัดเมีย ค็พลัดพรากจากกันเป็นทุกขเวทนามากนัก[15] เมืองเชียงแสนถูกเผาทำลายลงกำแพงเมืองถูกรื้อลง เพื่อไม่ให้เป็นที่มั่นสำหรับพม่าอีกต่อไป ชาวเมืองเชียงแสนทั้งหมดจำนวน 23,000 คน[12] ถูกกวาดต้อนโดยแบ่งประชากรออกเป็นห้าส่วน ให้แก่ทางกรุงเทพหนึ่งส่วน ให้เชียงใหม่หนึ่งส่วน ให้เวียงจันทน์หนึ่งส่วน ให้ลำปางหนึ่งส่วน และให้เมืองน่านอีกหนึ่งส่วน

กรมหลวงเทพหริรักษ์พร้อมทั้งพระยายมราช (บุญมา) เสด็จยกทัพกลับคืนพระนครนำชาวเมืองเชียงแสนที่กวาดต้อนลงมานั้น ไปอยู่ที่เมืองสระบุรีและเมืองราชบุรี พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯทรงขัดเคือง[12]กรมหลวงเทพหริรักษ์ด้วยเหตุว่าทัพกรุงฯนั้นกลับลงมาจากเชียงแสนนั้น กลับมาเปล่าไม่ได้ราชการสิ่งใด “ไม่รู้เท่าลาว[12] จึงมีพระราชโองการให้จำกรมหลวงเทพหริรักษ์และพระยายมราชไว้ที่ทิมดาบชั้นนอกไว้สี่วัน เมื่อคลายพระพิโรธแล้วจึงทรงปล่อยกรมหลวงเทพหริรักษ์และพระยายมราชให้พ้นโทษออกมา

เจ้าฟ้านาขวาเป็นเจ้าฟ้าองค์สุดท้ายที่ปกครองเชียงแสน วงศ์ของเจ้าฟ้าหลวงทิพเนตร (แสนหลวงเรือดอน) ซึ่งปกครองเมืองเชียงแสนมาเป็นเวลากว่าหนึ่งร้อยเจ็ดสิบปีจึงยุติลง พระยาอุปราชน้อยธรรมนำตัวเจ้าฟ้านาขวาพร้อมทั้งเจ้าฟ้าศิริไชยแห่งเชียงตุงเดินทางลงไปเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกที่กรุงเทพ[15] เจ้าฟ้านาขวาแห่งเชียงแสนล้มป่วยถึงแก่อสัญกรรมที่กรุงเทพ กรมหลวงเทพหริรักษ์ประชวรสิ้นพระชนม์เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2348[12]

บทสรุปและเหตุการณ์สืบเนื่อง[แก้]

วัดป่าสักเชียงแสน หนึ่งในไม่กี่สิ่งก่อสร้างที่รอดจากการถูกทำลายของสงครามเชียงแสนในเดือนเมษายน พ.ศ. 2347

สงครามสยามและล้านนาตีเมืองเชียงแสนมาจากพม่าได้สำเร็จในพ.ศ. 2347 นั้น ทำให้หัวเมืองล้านนาฝ่ายเหนือที่ยังอยู่ขึ้นแก่พม่าได้แก่ เชียงราย ฝาง พะเยา แยกตัวจากพม่ามาขึ้นกับสยาม ทำให้พม่าสูญสิ้นอำนาจและอิทธิพลไปจากล้านนาอย่างถาวร

สงครามตีเมืองเชียงรุ่ง[แก้]

เมื่อสยามและล้านนายึดเมืองเชียงแสนกำจัดอิทธิพลของพม่าในล้านนาไปแล้ว เปิดโอกาสให้สยามและล้านนาขยายอำนาจขึ้นสู่หัวเมืองทางเหนือของล้านนา ได้แก่ ชาวไทเขินกลุ่มเมืองเชียงตุง และชาวไทลื้อกลุ่มเมืองเชียงรุ้งสิบสองปันนา ทั้งไทยวนล้านนา ไทเขินเชียงตุง และไทลื้อเชียงรุ้งสิบสองปันนา ต่างเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรล้านนาในสมัยราชวงศ์มังราย มีวัฒนธรรมร่วมกัน[11] ใช้อักษรธรรมล้านนาเหมือนกัน ต่อมาเมืองเชียงตุงตกอยู่ภายใต้การปกครองของพม่า ส่วนเมืองเชียงรุ้งนั้นอยู่ภายใต้การปกครองของทั้งพม่าและจักรวรรดิจีน เมื่อพระยาอุปราชน้อยธรรมแห่งเชียงใหม่ยึดเมืองเชียงตุงในพ.ศ. 2345 เมืองเชียงตุงถูกทำลายและร้างลง

ในช่วงสงครามกับพม่าตลอดเวลาประมาณสี่สิบปีที่ผ่านมา ทำให้หัวเมืองล้านนาต่างๆขาดแคลนกำลังคน เจ้าเมืองล้านนาทั้งหลายจึงดำเนินนโยบาย”เก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง” ยกทัพออกไปโจมตีเมืองต่างๆเพื่อกวาดต้อนกำลังพลเข้ามา ในเดือนสิงหาคมพ.ศ. 2347 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมีพระราชโองการให้เจ้าเมืองเชียงใหม่ ลำปาง แพร่ น่าน หลวงพระบาง และเวียงจันทน์ ยกทัพขึ้นไปตีกลุ่มหัวเมืองไทเขินและไทลื้อทางเหนือ เรียกรวมกันว่า "ลื้อเขิน" พระเจ้ากาวิละมอบหมายให้พระยาอุปราชน้อยธรรมยกทัพเมืองเชียงใหม่ขึ้นไปตีเมืองยอง (Mong Yawng) ในเดือนมีนาคมพ.ศ. 2348 เจ้าเมืองยองไม่สู้รบ ยอมสวามิภักดิ์แต่โดยดี พระยาอุปราชกวาดต้อนชาวเมืองยองจำนวน 10,000 คน[12] ลงมาไว้ที่ลำพูน

เจ้าอัตถวรปัญโญเจ้าเมืองน่านยกทัพเมืองน่านขึ้นไปโจมตีหัวเมืองไทลื้อสิบสองปันนาในเดือนมีนาคมพ.ศ. 2348 ยกขึ้นไปทางตะวันออกเฉียงเหนือไปทางเมืองเวียงภูคา (Vieng Phouka) และเมืองหลวงน้ำทา (Luang Namtha) เจ้าเมืองเวียงภูคายอมจำนนแต่เจ้าเมืองหลวงน้ำทาหลบหนีไปอยู่ที่เมืองพง (Mengpeng) เจ้าอัตถวรปัญโญจึงทัพต่อไปที่เมืองพง เจ้าเมืองพงหนีไปอยู่เมืองนูน (Menglun) เมื่อทัพเมืองน่านยกล้ำขึ้นไปเรื่อยๆ เจ้าเมืองพง เจ้าเมืองรำ เจ้าเมืองนูน ต่างหลบหนีเข้าไปอยู่เมืองเชียงรุ่ง เจ้าอัตถวรปัญโญยกทัพเข้าตีเมืองเชียงรุ่ง ในเวลานั้น เจ้าหม่อมมหาน้อยเจ้าเมืองเชียงรุ่งอายุเพียงสองชันษา เจ้าหม่อมมหาวังผู้เป็นอาว์สำเร็จราชการแทน เมืองเชียงรุ่งยอมจำนนต่อกองทัพเมืองน่านแต่โดยดีไม่สู้รบ เจ้าเมืองเชียงแข็ง (Kengcheng ปัจจุบันคือเมืองสิงห์) ยอมสวามิภักดิ์ต่อน่านเช่นกัน เจ้าอัตถวรปัญโญกวาดต้อนชาวไทลื้อจากหัวเมืองต่างๆในสิบสองปันนาลงมาเป็นจำนวนถึง 40,000 ถึง 50,000 คน[12] ลงมาอยู่ที่เมืองน่าน

บรรดาเจ้าไทลื้อทั้งหลาย เจ้าหม่อมมหาวังเมืองเชียงรุ่ง เจ้าเมืองเชียงแข็ง พญาพาบเจ้าเมืองพง พญาคำลือเจ้าเมืองนูน ต่างเดินทางลงมากรุงเทพในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2348 เพื่อถวายเครื่องบรรณาการต้นไม้เงินต้นไม้ทอง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ทรงมีพระวินิจฉัยว่า เจ้าเมืองไทลื้อเหล่านี้มิได้กระทำความผิด หัวเมืองไทลื้อนั้นสยามรักษาไว้ได้ยากเนื่องจากอยู่ห่างไกลและอยู่ภายใต้อิทธิพลของพม่าและจีน[12] จึงพระราชทานให้เจ้าเมืองไทลื้อเหล่านั้นเดินทางกลับคืนไปยังบ้านเมืองของตน

อ้างอิง[แก้]

  1. Baker, Chris (20 Apr 2005). A History of Thailand. Cambridge University Press.
  2. 2.0 2.1 Wyatt, David K. (2003). Thailand: A Short History. Silkworm Books.
  3. Ricklefs, M.C. (2010). A New History of Southeast Asia. Macmillan International Higher Education.
  4. 4.0 4.1 4.2 พื้นเมืองเชียงแสน
  5. Kirigaya, Ken (2014). "Some Annotations to The Chiang Mai Chronicle: The Era of Burmese Rule in Lan Na". Journal of Siam Society.
  6. 6.0 6.1 6.2 6.3 6.4 ประชากิจกรจักร (แช่ม บุนนาค), พระยา. พงศาวดารโยนก. โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร, พ.ศ. 2478.
  7. Phraison Salarak (Thien Subindu), Luang. Intercourse between Burma and Siam as recorded in Hmannan Yazawindawgyi. Bangkok; July 25, 1919.
  8. Chiu, Angela S. (31 March 2017). The Buddha in Lanna: Art, Lineage, Power, and Place in Northern Thailand. University of Hawaii Press.
  9. ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๑๔.พิมพ์ครั้งที่ ๒. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ เถ้าแก่ทองดี ปาณิกบุตร์ จ.จ.เมื่อปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๔๗๒.
  10. สุเนตร ชุตินธรานนท์. พม่ารบไทย ว่าด้วยการสงครามระหว่างไทยกับพม่า . พิมพ์ครั้งที่ 15. กรุงเทพฯ : มติชน, 2562
  11. 11.0 11.1 Grabowsky, Volker. Forced Resettlement Campaigns in Northern Thailand during the Early Bangkok Period. Journal of Siamese Society, 1999.
  12. 12.00 12.01 12.02 12.03 12.04 12.05 12.06 12.07 12.08 12.09 12.10 12.11 12.12 12.13 12.14 ทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค), เจ้าพระยา. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑. พิมพ์ครั้งที่ ๖.
  13. 13.0 13.1 ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จกรมพระยา. พงษาวดารเรื่องเรารบพม่า ครั้งกรุงธน ฯ แลกรุงเทพ ฯ.
  14. 14.0 14.1 14.2 ปีมะเมีย พ.ศ. ๒๔๖๑. ประชุมพงษาวดาร ภาคที่ ๑๐: เรื่อง ราชวงษปกรณ์ พงษาวดารเมืองน่าน. ในงานปลงศพพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ. พิมพ์ครั้งแรก. กรุงเทพฯ:โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร.
  15. 15.0 15.1 ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ฉบับ เชียงใหม่ ๗๐๐ ปี. ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่ สถาบันราชภัฏเชียงใหม่, พ.ศ. 2538.