การยึดครองเยอรมนีของสยาม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เขตยึดครองเยอรมนีของสยาม
Occupation siamoise de l'Allemagne  (ฝรั่งเศส)
Siamesische Besetzung Deutschlands  (เยอรมัน)
เขตยึดครองทางทหารของสยาม
2461 – 2462

ที่ตั้งของเมืองน็อยชตัท อัน เดอร์ ไวน์สตราเซอในรัฐไรน์ลันท์-ฟัลทซ์ ประเทศเยอรมนีปัจจุบัน
เพลงชาติ
สรรเสริญพระบารมี
เมืองหลวงน็อยชตัท อัน เดอ ไวน์สตราเซอ
สถานะส่วนหนึ่งของการยึดครองไรน์ลันท์
การปกครอง
 • ประเภทการยึดครองของทหาร
ผู้บัญชาการกองทหารอาสา 
• 2461–2462
พระยาเทพหัสดิน (ผาด เทพหัสดิน ณ อยุธยา)
ยุคทางประวัติศาสตร์สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
• เริ่มต้นการยึดครอง
2461
• สิ้นสุดการยึดครอง
2462
ก่อนหน้า
ถัดไป
น็อยชตัท อัน เดอร์ ไวน์สตราเซอ
น็อยชตัท อัน เดอร์ ไวน์สตราเซอ
ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของธงของประเทศเยอรมนี เยอรมนี

การยึดครองเยอรมนีของสยาม (อังกฤษ: Siamese Occupation of Germany) เป็นช่วงเวลาระหว่าง พ.ศ. 2461–2462[1] มีกองทหารอาสาสยามประจำการอยู่ที่เมืองน็อยชตัท อัน เดอร์ ไวน์สตราเซอ (Neustadt an der Weinstraße) ซึ่งอยู่ในเขตการดูแลของประเทศฝรั่งเศส[2] โดยเป็นกองกำลังเดียวของประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เข้าร่วมในการยึดครองเยอรมนีหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่งในทวีปยุโรป[3]

ประวัติ[แก้]

ปูมหลัง[แก้]

เมื่อวูดโรว์ วิลสัน ประธานาธิบดีสหรัฐ ประกาศสงครามกับจักรวรรดิเยอรมนีเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2460 ทำให้สหรัฐเข้าฝ่ายสัมพันธมิตร เพื่อร่วมสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง เพราะจักรวรรดิเยอรมนีร่วมฝ่ายกับมหาอำนาจกลาง อันได้แก่จักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี จักรวรรดิเยอรมนี ราชอาณาจักรบัลแกเรีย และจักรวรรดิออตโตมัน ในช่วงเวลานั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์สยาม ทรงดำเนินนโยบายเป็นกลาง เมื่อแรกเริ่มสงครามก็ทรงรักษาสัมพันธภาพอันดีกับจักรวรรดิเยอรมนีมาตลอด แต่พระองค์ทรงไตร่ตรองอย่างถ้วนถี่แล้วว่า หากเข้าฝ่ายสัมพันธมิตรจะเป็นคุณแก่สยามมากกว่า[1]

ก่อนหน้านี้สยามต้องเผชิญกับการเสียดินแดนในบังคับ อันได้แก่ ลาวและกัมพูชาแก่ฝรั่งเศส และดินแดนคาบสมุทรมลายูตอนบนบางส่วน คือ รัฐเกอดะฮ์ รัฐปะลิส รัฐกลันตัน รัฐตรังกานู และบางส่วนของรัฐเปรัก แก่จักรวรรดิบริเตน ทั้งยังถูกบีบบังคับให้เสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขตแก่พลเมืองที่ถือสัญชาติสหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส และอเมริกัน ด้วยเหตุนี้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจะใช้โอกาสนี้ในการแก้ไขสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรมเหล่านี้เพื่อสิทธิประโยชน์ของฝ่ายสยาม[4]: 149 

การเข้าร่วมสงคราม[แก้]

ทหารอาสาสยามที่มาร์แซย์ เมื่อ พ.ศ. 2462

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่ทรงประกาศทำสงครามกับจักรวรรดิเยอรมนีและจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการีเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2460 ท่ามกลางเสียงสนับสนุนและการต่อต้านจากพระบรมวงศานุวงศ์ในราชวงศ์จักรี[5]: 27–9, 149  กองทัพสยามได้ยึดเรือเดินสมุทรจำนวน 12 ลำ บริเวณน่านน้ำเยอรมนีเหนือเป็นค่าปฏิกรรมสงคราม[1][3]

ฝ่ายสยามส่งทหารอาสาในกำกับของพลตรี พระยาเทพหัสดิน (ผาด เทพหัสดิน ณ อยุธยา) จำนวน 1,284 นาย เข้าร่วมกองทัพบกของฝรั่งเศสและบริเตนในแนวรบด้านตะวันตก รวมทั้งส่งทหารไปยังกองกำลังการบินทหารบกด้วย[1][3] เมื่อทหารอาสาของสยามมาถึงฝรั่งเศสใน พ.ศ. 2461 จึงเข้าฝึกที่โรงเรียนการบินของฝรั่งเศสที่เมืองอาวอร์ (Avord) และเมืองอิสทร์ (Istres) พบว่าเป็นผู้มีคุณสมบัติด้านการบินจำนวน 95 นาย ส่วนทหารอาสาคนอื่น ๆ ถูกส่งไปศึกษาที่โรงเรียนปืนใหญ่บิซการอซ (Biscarrosse) โรงเรียนเครื่องบินทิ้งระเบิดเลอกรอตัว (Le Crotoy) โรงเรียนลาดตระเวนลาชาแปล-ลา-แรน (La Chapelle-la-Reine) นักบินชาวสยามได้ขึ้นบินครั้งแรกในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของสงคราม แต่บางแหล่งข้อมูลอ้างว่าสงครามสิ้นสุดลงก่อนที่ทหารอาสาเหล่านี้จะฝึกจนจบหลักสูตร[1][6]

การยึดครอง[แก้]

สถานีรถไฟน็อยชตัท (ไวน์สตราเซอ) เมื่อ พ.ศ. 2554

ยานพาหนะของกองกำลังทหารอาสาสยามอยู่ที่ฟัลทซ์ (Pfalz) ตั้งแต่เดือนธันวาคม พ.ศ. 2461 ถึงกรกฎาคม พ.ศ. 2462 ส่วนใหญ่ยานพาหนะเหล่าจะออกปฏิบัติการในเมืองน็อยชตัท อัน เดอร์ ไวน์สตราเซอ (Neustadt an der Weinstraße)[6] เมื่อฝ่ายเยอรมนีพ่ายแพ้และลงนามสงบศึก ภาคีสมาชิกตกลงที่จะยึดครองดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำไรน์ต่อไป

กองกำลังรบนอกประเทศสยาม (The Siamese Expeditionary Forces) ได้จัดตั้งที่ทำการใหญ่ที่โรงแรมซุมเลอเวิน (Hotel zum Löwen) ใกล้สถานีรถไฟ ทั้งยังมีกองทหารกระจายอยู่ทั่วไป เช่น มุสบัค อัน เดอร์ ไวน์สตราเซอ (Mußbach an der Weinstraße) ไกน์ไชม์ (Geinsheim) โฮชชเปอแยร์ (Hochspeyer) มีเจ้าหน้าที่คอยตรวจตราความสงบเรียบร้อยของประชาชน เจ้าหน้าที่สยามเรียกร้องให้ชาวเยอรมันเคารพพวกเขา ทั้งยังต้องประพฤติตนด้วยความยับยั้งชั่งใจ ด้วยมีข้อจำกัดด้านภาษา และโดยทั่วไปจะใช้ภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษากลางในการสื่อสารกับประชากรในท้องถิ่น[7] ในช่วงเวลานั้นมีประชากรราว 20,000 คน อยู่ภายใต้การปกครองของสยาม[8] แม้จะมีอุปสรรคทางภาษา แต่ก็พบเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างทหารชาวสยามกับหญิงเยอรมันจำนวนหนึ่ง ไม่มีบันทึกเรื่องราวด้านความขัดแย้งอย่างมีนัยสำคัญระหว่างเจ้าหน้าที่ชาวสยามกับชาวเยอรมันในท้องถิ่น มีเพียงเรื่องราวเล็ก ๆ น้อย ๆ ไม่ได้สลักสำคัญอันใด[7]

เจ้าหน้าที่ของกองกำลังรบนอกประเทศสยามเสียชีวิตลง 19 นาย ส่วนใหญ่ป่วยตายหลังการแพร่ระบาดของไข้หวัดสเปน นอกนั้นเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ และไม่มีทหารสยามเสียชีวิตหรือบาดเจ็บจากการสู้รบแม้แต่คนเดียว[3]

ถอนกำลัง[แก้]

กองกำลังทหารอาสาในสงครามโลกครั้งที่หนึ่งกำลังร่วมเดินสวนสนามฉลองชัยชนะ ที่อาร์กเดอทรียงฟ์เดอเลตวล ประเทศฝรั่งเศส เมื่อ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2462

หลังสงครามสิ้นสุดลง ทหารชาวสยามถอนตัวออกจากน็อยชตัท อัน เดอร์ ไวน์สตราเซอ ช่วงต้นเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2462 เพื่อร่วมเดินสวนสนามแห่แหนชัยชนะที่ประตูชัยกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2462 ก่อนเดินทางกลับสู่มาตุภูมิในเดือนกันยายนปีเดียวกัน สยามได้เข้าร่วมการประชุมสันติภาพปารีส และในเดือนมกราคม พ.ศ. 2463 สยามได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกสันนิบาตชาติ[1][3] โดยการเข้าประชุมสันนิบาตชาติทุกครั้ง คณะผู้แทนสยามได้ย้ำเตือนต่อคณะผู้แทนจากตะวันตกอย่างละมุนละม่อมว่า สยามไม่มีอิสระที่จะกำหนดนโยบายของตนในฐานะรัฐที่มีอธิปไตย เพราะยังมีข้อกำหนดของสนธิสัญญาไม่เสมอภาคดำรงอยู่[9]

การตัดสินพระราชหฤทัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวในการเข้าฝ่ายสัมพันธมิตรในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่งเริ่มสัมฤทธิ์ผล เมื่อสหรัฐประกาศยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขตในเดือนกันยายน พ.ศ. 2463 จักรวรรดิญี่ปุ่นใน พ.ศ. 2464 ต่อมาหลังการเจรจาต่อเนื่องยาวนานหลายปี ฝรั่งเศสประกาศยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขตใน พ.ศ. 2467 และสหราชอาณาจักรประกาศยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขตในเดือนกรกฎาคมปีเดียวกัน[1][3] ประเทศเนเธอร์แลนด์ใน พ.ศ. 2468 ราชอาณาจักรอิตาลี ประเทศเบลเยียม และประเทศนอร์เวย์ ใน พ.ศ. 2469 ส่วนประเทศเยอรมนี ประเทศออสเตรีย และประเทศฮังการี ผู้แพ้สงคราม สนธิสัญญาสันติภาพให้สยามพ้นจากข้อผูกมัดที่เสียเปรียบในสนธิสัญญาโดยปริยาย[10]

อนุสรณ์สถานสงครามในกรุงเทพมหานคร[แก้]

อนุสาวรีย์ทหารอาสาสงครามโลกครั้งที่ 1 ในกรุงเทพมหานคร

ได้มีการสร้างอนุสาวรีย์ซึ่งตั้งอยู่ ณ ถนนสามเหลี่ยมตรงมุมด้านทิศเหนือของท้องสนามหลวง ตรงข้ามพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เป็นอนุสรณ์แก่ทหารไทยที่ไปร่วมรบในสมรภูมิยุโรป หลังจากที่สงครามโลกครั้งที่หนึ่งอุบัติขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2457 โดยประเทศไทยร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตร อันมีฝรั่งเศส อังกฤษ และสหรัฐอเมริกา ประกาศสงครามกับเยอรมนีและออสเตรีย-ฮังการี เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2460 ภายในบรรจุอัฐิทหารสยามที่เสียชีวิตจำนวน 19 นาย[1][6]

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 1.5 1.6 1.7 Stearn, Duncan. "Thailand and the First World War". First World War. สืบค้นเมื่อ 27 May 2023.
  2. Stearn, Duncan (22 August 2009). "Thailand and the First World War". First World War.com. สืบค้นเมื่อ 19 July 2015.
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 3.5 Hell, Stefan. "Siam". International Encyclopedia of the First World War. สืบค้นเมื่อ 29 May 2023.
  4. Heather Streets-Salter (13 April 2017). World War One in Southeast Asia: Colonialism and Anticolonialism in an Era of Global Conflict. Cambridge University Press. ISBN 978-1-107-13519-2.
  5. Stefan Hell (2017). Siam and World War I: An International History. River Books. ISBN 978-616-7339-92-4.
  6. 6.0 6.1 6.2 Whyte, Brendan; Whyte, Suthida. "The Inscriptions on the First World War Volunteers Memorial, Bangkok". Journal of the Siam Society. สืบค้นเมื่อ 29 May 2023.
  7. 7.0 7.1 Hell, Stefan (2017). Siam and World War I: An International History (ภาษาอังกฤษ). River Books. ISBN 978-616-7339-92-4. สืบค้นเมื่อ 29 May 2023.
  8. Tomczyk, Eddy B. (2009). Neustadt: Sa garnison française et le quartier Condé 1919 à 1930 et 1945 à 1992 (ภาษาฝรั่งเศส). Mémoires d'Hommes. ISBN 978-2-84367-059-6. สืบค้นเมื่อ 29 May 2023.
  9. รายงานกิจการประจำปี 2560 มูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี (PDF). มูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี. 2560. p. 8.
  10. รายงานกิจการประจำปี 2560 มูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี (PDF). มูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี. 2560. p. 9.