วิกฤตการณ์ปากน้ำ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วิกฤตการณ์ปากน้ำ
ส่วนหนึ่งของ วิกฤตการณ์ ร.ศ. 112

ภาพวาดใน L'Illustration แสดงเรือฝรั่งเศสวางสมอที่สถานอัครราชทูต
วันที่13 กรกฎาคม พ.ศ. 2436
สถานที่13°32′17″N 100°35′01″E / 13.537941°N 100.583600°E / 13.537941; 100.583600พิกัดภูมิศาสตร์: 13°32′17″N 100°35′01″E / 13.537941°N 100.583600°E / 13.537941; 100.583600
ผล ฝรั่งเศสได้นำเรือผ่านการต้านทานของฝ่ายสยามเข้ามาจอดในแม่น้ำเจ้าพระยาและขยายผลด้วยข้อเรียกร้องเงินค่าชดใช้จำนวนมหาศาล
คู่สงคราม
 สาธารณรัฐฝรั่งเศส ไทย สยาม
ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ
สาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ 3 แอดการ์ อูว์มัน ไทย พระยาชลยุทธโยธินทร์
กำลัง
เรือการข่าว 1 ลำ
เรือปืน 1 ลำ
เรือกลไฟ 1 ลำ
พื้นดิน:
ปืนเสือหมอบ 7 กระบอก
ค่ายทหาร 1 แห่ง
ทะเล:
เรือปืน 5 ลำ
ความสูญเสีย
เสียชีวิต 3 นาย
บาดเจ็บ 2 นาย
เรือกลไฟเกยตื้น 1 ลำ
เรือนำร่องเสียหาย 1 ลำ
เรือปืนเสียหาย 1 ลำ
เสียชีวิต ~10 นาย
บาดเจ็บ ~12 นาย
เรือปืนอับปาง 1 ลำ
เรือปืนเสียหาย 1 ลำ1
  • เรือกลไฟของฝรั่งเศสถูกควบคุมโดยสยามหลังจากการรบโดยปราศจากการต่อต้าน

วิกฤตการณ์ปากน้ำ เป็นจุดแตกหักของความตึงเครียดในวิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 การปะทะกันเกิดขึ้นในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2436 เมื่อเรือรบฝรั่งเศสแล่นฝ่าเข้าไปในปากแม่น้ำเจ้าพระยาทั้ง 3 ลำถูกโจมตีโดยป้อมปืนของสยามและเรือปืน ผลการรบ ฝรั่งเศสสามารถดำเนินการปิดล้อมกรุงเทพฯ มีการเจรจาระหว่างกันซึ่งเป็นจุดสิ้นสุดของเหตุการณ์

ภูมิหลัง[แก้]

การรุกคืบของฝรั่งเศสเพื่อเข้ามายึดครองดินแดนในแถบอินโดจีนเกิดขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 กรณีพิพาทเริ่มคุกรุ่นจากเหตุการณ์เมื่อพวกฮ่อได้รุกจากสิบสองจุไทลงมาตีเมืองหลวงพระบางในช่วงปี พ.ศ. 2428 [1] พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงได้โปรดเกล้าฯ ให้นายพันเอก เจ้าหมื่นไวยวรนาถ (เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสง-ชูโต)) เป็นแม่ทัพยกกำลังไปปราบฮ่อ ฝ่ายฝรั่งเศสอ้างกรรมสิทธิ์เหนือดินแดนสิบสองจุไทและหัวพันทั้งห้าทั้งหกว่าเป็นเมืองขึ้นของญวน ขอให้ทัพไทยถอยออกไปให้พ้นเขต การเจรจาต่างฝ่ายต่างไม่ยอมรับข้อเสนอของกันและกัน มีการข่มขู่จากฝรั่งเศสว่ามีกองกำลังเสริมประจำในไซ่ง่อนและจะส่งกองเรือรบเข้ามากรุงเทพฯและอ้างว่าฝ่ายอังกฤษได้จัดส่งเรือรบเข้ามาเพิ่มเติมในน่านน้ำไทย

ในที่สุดฝรั่งเศสจึงส่งเรือการข่าว "แองกงสตัง" (Inconstant) และเรือปืน "โกแมต" (Comète) 2 มาถึงปากแม่น้ำและขออนุญาตแล่นเรือผ่านปากแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อไปสมทบกับเรือ "ลูแตง" (Le Lutin) [2] เพื่อเจรจาต่อรอง เมื่อสยามปฏิเสธ ผู้บังคับบัญชาฝ่ายฝรั่งเศส พลเรือตรี แอดการ์ อูว์มัน (Edgar Humann) เมินเฉยต่อความต้องการของสยามและคำสั่งจากรัฐบาลฝร่งเศส ซึ่งก่อนการต่อสู้ พลเรือตรี อูว์มัน ได้รับคำสั่งห้ามเข้าสู่ปากแม่น้ำเพราะสยามได้เตรียมการอย่างดีสำหรับการรบ กองกำลังฝ่ายสยามประกอบด้วยป้อมพระจุลจอมเกล้าที่พึ่งสร้างเสร็จ มีปืนเสือหมอบขนาด 6 นิ้ว 7 กระบอก3 ป้อมอื่น ๆ ใกล้เคียง (ป้อมแผลงไฟฟ้า ที่เมืองนครเขื่อนขันธ์ (พระประแดง), ป้อมเสือซ่อนเล็บ, ป้อมผีเสื้อสมุทร) ระดมพลและเตรียมความพร้อมตามหัวเมืองชายทะเลตะวันออก มีการติดต่อสั่งซื้อยุทธภัณฑ์จากต่างประเทศ และการเตรียมการนี้มีมาอย่างน้อยก็ตั้งแต่เดือนเมษายน เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ได้เสด็จตรวจป้อมพระจุลจอมเกล้าอยู่เนือง ๆ ทรงเปิดทางรถไฟสายปากน้ำ และมีการทดลองยิงปืนใหญ่ให้ทอดพระเนตร สยามยังได้จมเรือสำเภาและเรือบรรทุกหินในแม่น้ำเพื่อเป็นแนวป้องกัน บีบให้เส้นทางเดินเรือกลายเป็นทางผ่านแคบ ๆ เพียงทางเดียว มีการเตรียมระเบิดตอร์ปิโดขนาดเล็ก เตรียมปืนใหญ่ไว้ที่บางนา บางจาก และคลองพระโขนง[3]

เรือปืน 5 ลำจอดทอดสมออยู่ด้านหลังแนวสิ่งกีดขวาง ประกอบไปด้วย เรือมกุฎราชกุมาร, เรือทูลกระหม่อม, เรือหาญหักศัตรู, เรือนฤเบนทร์บุตรี และ เรือมูรธาวสิตสวัสดิ์4 มีเรือ 2 ลำเป็นเรือรบทันสมัย คือ เรือมกุฎราชกุมาร และเรือมูรธาวสิตสวัสดิ์[4] ขณะที่เรือที่เหลือเป็นเรือปืนเก่าหรือเรือกลไฟแม่น้ำที่ดัดแปลงมา มีการวางข่ายทุ่นระเบิด 16 ลูก ผู้บังคับบัญชาป้อมเป็นนายพลเรือชาวดัตช์ซึ่งเป็นหนึ่งในชาวยุโรปหลายคนที่เข้ารับราชการในกองทัพไทย พลเรือโท พระยาชลยุทธโยธินทร์ (อองเดร ดู เปลซี เดอ ริเชอลิเออ) เป็นผู้บังคับบัญชาเรือปืน

ยุทธนาวี[แก้]

วันที่ 13 กรกฎาคม ร.ศ. 112 (พ.ศ. 2436) หมู่เรือรบฝรั่งเศสมาถึงสันดอนปากแม่น้ำเจ้าพระยาเวลา 17.00 น. โชคเข้าข้างฝรั่งเศสเมื่อฝนตกเกือบหนึ่งชั่วโมง พอแสงสุดท้ายเริ่มจางหายเรือรบเหล่านั้นก็แล่นเข้าสู่เจ้าพระยาโดยมีเรือกลไฟนำร่องฌองบัปติสต์เซย์ (Jean Baptist Say) เรือสินค้าเป็นเรือนำร่อง ติดตามด้วยเรือแองกงสตัง และเรือโกแมตเป็นขบวนเรียงตามกัน เข้าสู่ปากแม่น้ำ เมื่อเวลา 18.30 น. ทหารในป้อมพระจุลจอมเกล้าก็เริ่มยิงเพื่อเป็นสัญญาณเตือน 2 นัด แต่เรือรบฝรั่งเศสก็ยังคงแล่นเรื่อยมาอย่างเดิม ในนัดที่สามสยามได้ใช้กระสุนจริงยิงเตือน กระสุนตกลงในน้ำหน้าเรือฌองบัปติสต์เซย์ เมื่อเห็นฝรั่งเศสเพิกเฉยต่อสัญญาณเตือน นัดที่สี่จากเรือปืน มกุฎราชกุมาร และ มูรธาวสิตสวัสดิ์ ก็เปิดฉากยิงเมื่อเวลา 18.50 น. เรือแองกองสตองได้ยิงตอบโต้กับป้อมในขณะที่โกแมตยิงสู้กับเรือปืนสยาม มีเรือขนาดเล็กที่บรรจุระเบิดถูกส่งมาพุ่งชนเรือฝรั่งเศสแต่พลาดเป้า การต่อสู้กินเวลาประมาณ 30 นาที

ความแม่นยำในการยิงของฝ่ายสยามน้อยและอาวุธที่ยิงได้ช้ากว่า ตอร์ปิโดระเบิดก่อนเวลาอันสมควร ทุ่นกีดขวางไม่เพียงพอ ในที่สุด พลเรือตรี อูว์มัน ก็พาเรือรบฝ่าการด่านของสยามเข้ามาได้ในความมืด และสามารถจมเรือปืนฝ่ายสยามได้หนึ่งลำ ส่วนอีกลำได้รับความเสียหายจากกระสุนปืน ทหารสยามตาย 10 นาย บาดเจ็บ 12 นาย ฝรั่งเศสได้รับความเสียหายน้อยกว่า ขณะที่ผ่านปากน้ำเรือฌองบัปติสต์เซย์ถูกยิงด้วยปืนใหญ่ ไปเกยตื้นที่แหลมลำพูราย เรือแองกงสตังและเรือโกแมตมีความเสียหายจากรอยกระสุนปืนแต่ก็แล่นผ่านไปได้ถึงกรุงเทพ จอดทอดสมออยู่ที่สถานทูตฝรั่งเศส[2] ทหารฝรั่งเศสตาย 3 นาย บาดเจ็บ 2 นาย เรือโกแมตถูกยิงได้รับความเสียหายมากกว่าเรือแองกงสตัง ป้อมของสยามไม่ได้รับความเสียหาย

ฝ่ายสยามเตรียมที่จะนำเรือพระที่นั่งมหาจักรีมาต่อสู้ แต่ก็ไม่ได้รับความเห็นชอบจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ[5]

ผลที่ตามมา[แก้]

เช้าวันต่อมา ลูกเรือฌองบัปติสต์เซย์ยังคงอยู่บนเรือที่เกยตื้น สยามได้ส่งเรือเข้ามาควบคุมเรือกลไฟฌองบัปติสต์เซย์และได้พยายามจมเรือแต่ไม่สำเร็จ จากรายงาน นักโทษได้รับการปฏิบัติที่เลวร้ายและถูกส่งตัวเข้าคุกกรุงเทพ วันต่อมาเรือปืนฝรั่งเศส ฟอร์แฟต (Forfait) ได้มาถึงปากน้ำและส่งเรือพร้อมทหารเต็มลำเข้ายึดเรือฌองบัปติสต์เซย์แต่เมื่อถึงเรือกลับโดนโจมตีขับไล่ถอยไปโดยทหารสยามที่ยึดเรืออยู่ เมื่อพลเรือตรี อูว์มัน มาถึงกรุงเทพ เขาได้ทำการปิดล้อมและหันกระบอกปืนมาทางพระบรมมหาราชวัง

ผ่านไป 1 สัปดาห์ วันที่ 19 กรกฎาคม ฝรั่งเศสยื่นคำขาดให้สยามเคารพสิทธิ์ของญวนและเขมรเหนือดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง ให้เสียค่าปรับไหมในเหตุการณ์ที่ทุ่งเชียงคำ,คำม่วนและการรบที่ปากน้ำเจ้าพระยา ให้เสียเงิน 2,000,000 ฟรังค์เป็นค่าปรับไหมในความเสียหาย, ให้จ่ายเงิน 3,000,000 ฟรังค์ ชำระเป็นเงินเหรียญโดยทันที เป็นมัดจำการจะชดใช้ค่าเสียหายต่างๆ และ “ค่าทำขวัญ” หรือถ้าไม่สามารถก็ต้องยอมให้รัฐบาลฝรั่งเศสมีสิทธิเก็บภาษีอากรในเมืองพระตะบองและเสียมราฐ, ให้รัฐบาลสยามตอบข้อเสนอให้ทราบภายใน 48 ชั่วโมง

ฝ่ายสยามยื่นคำตอบเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม ยอมยกดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง, ชำระค่าเสียหาย 2 ล้านฟรังค์ และจ่ายเงินเหรียญนกเม็กซิกัน 3 ล้านฟรังค์ทันทีเพื่อมัดจำ

เมื่อฝ่ายสยามยอมรับข้อเสนอทุกข้อของฝรั่งเศสโดยไม่มีเงื่อนไข ฝรั่งเศสก็เรียกร้องเพิ่มเติมโดยยึดปากน้ำและเมืองจันทบุรีไว้เป็นประกัน, ให้ถอนกำลังจากเมืองพระตะบองและเสียมราฐ และสงวนไว้ซึ่งสิทธิที่จะตั้งกงสุลที่เมืองนครราชสีมาและเมืองน่าน

เหตุการณ์ร.ศ. 112 สิ้นสุดลงด้วยการลงนามในหนังสือสัญญาวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2436 รัฐบาลสยามยอมสละกรรมสิทธิ์เหนือดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง

ดูเพิ่ม[แก้]

เชิงอรรถ[แก้]

  • หมายเหตุ 1:
    เอกสารบางฉบับแสดงความสูญเสียดังนี้ ทหารฝรั่งเศสตาย 3 คนบาดเจ็บ 3 คน ทหารสยามตาย 8 คน บาดเจ็บ 41 คนและสูญหาย 1 คน[2]
  • หมายเหตุ 2:
    เรือการข่าวแองกงสตัง ระวางขับน้ำ 825 ตัน ความเร็ว 13 นอต ปืนใหญ่ 14 ซม. 3 กระบอก ปืนใหญ่ 10 ซม. 1 กระบอก ปืนกล 37 มม. 5 กระบอก มีนาวาโท โบรี (Boy) เป็นผู้บังคับการเรือ และ ผู้บังคับหมู่เรือ
    เรือปืนโกแมต ระวางขับน้ำ 495 ตัน ปืนใหญ่ 14 ซม. 2 กระบอก ปืนใหญ่ 10 ซม. 2 กระบอก ปืนกล 37 มม. 2 กระบอก มีเรือเอกหลุยส์ ดาร์ติช ดู ฟูร์เนต์ (Louis Dartige du Fournet) เป็นผู้บังคับการเรือ[4]
  • หมายเหตุ 3:
    เอกสารบางฉบับมีป้อมผีเสื้อสมุทรรวมอยู่ด้วย[2]
  • หมายเหตุ 4:
    เรือมกุฎราชกุมาร ระวางขับน้ำ 609 ตัน ความเร็ว 11 นอต อาวุธประจำเรือไม่ทราบชัด ฝ่ายฝรั่งเศสบันทึกว่า มีปืนใหญ่ 15 ซม. 1 กระบอก ปืนใหญ่ 12 ซม. 5 กระบอก ปืนกล 3 กระบอก มีนาวาโท วี. กูลด์แบร์ก (Commander V. Guldberg) เป็นผู้บังคับการเรือ ดับเบิลยู. สมาร์ท (W. Smart) เป็นต้นกลเรือ
    เรือมูรธาวสิตสวัสดิ์ ระวางขับน้ำ 250 ตัน ปืนใหญ่อาร์มสตรอง 70 ปอนด์ 1 กระบอก ปืนใหญ่ 10 ซม. 4 กระบอก ปืนกล 1 กระบอก มี เรือเอก ดับเบิลยู. คริสต์มาส (Lieutenant W. Christmas) เป็นผู้บังคับการเรือ จี. แคนดุตตี (G. Candutti) เป็นต้นเรือ
    เรือหาญหักศัตรูระวางน้ำ 120 ตัน ความเร็ว 7 นอต ปืนใหญ่ 15 ซม. 1 กระบอก ปืนใหญ่ 12 ซม. 1 กระบอก มี เรือเอก เอส. สมีเกโล (Lieutenant S. Smiegelow) เป็นผู้บังคับการเรือ
    เรือนฤเบนทร์บุตรีระวางขับน้ำ 260 ตัน ปืนใหญ่ 10 ซม. 6 กระบอก เรือทูลกระหม่อม (เรือใบ) ระวางขับน้ำ 475 ตัน ปืนใหญ่ 10 ซม. 6 กระบอก[4]

อ้างอิง[แก้]

  1. พระราชประสงค์ของรัชกาลที่ 5 ในสงครามปราบฮ่อ คืออะไร? ศิลปวัฒนธรรม สืบค้นเมื่อ 13 มกราคม 2565
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 ไกรฤกษ์ นานา, วิกฤตการณ์ ร.ศ. 112, สารคดีปีที่ 26 ฉบับที่ 308 ตุลาคม 2553
  3. ต้องการอ้างอิง
  4. 4.0 4.1 4.2 การสู้รบทางเรือในวิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 พระปิยมหาราช กองทัพเรือ
  5. ต้องการอ้างอิง

อ่านเพิ่ม[แก้]