ข้ามไปเนื้อหา

กัมพูชาในอารักขาของฝรั่งเศส

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระราชอาณาจักรกัมพูชา
(สมัยอารักขาของฝรั่งเศส)
ព្រះរាជាណាចក្រកម្ពុជា
(សម័យអាណានិគមបារាំង)
Cambodge

พ.ศ. 2406–พ.ศ. 2488
พ.ศ. 2488–พ.ศ. 2496
ธงชาติกัมพูชาในอารักขาของฝรั่งเศส
ธงชาติ (พ.ศ. 2406–2491)
ตราประจำพระราชอาณาจักรของกัมพูชาในอารักขาของฝรั่งเศส
ตราประจำพระราชอาณาจักร
ที่ตั้งของกัมพูชาในอารักขาของฝรั่งเศส
สถานะราชอาณาจักร สมบูรณาญาสิทธิราชย์กึ่งรัฐในอารักขาของฝรั่งเศส
เมืองหลวงอุดงมีชัย (จนถึง พ.ศ. 2410)
พนมเปญ (ตั้งแต่ พ.ศ. 2410)
ภาษาทั่วไปภาษาฝรั่งเศส (ทางราชการ)
ภาษาเขมร
ศาสนา
ศาสนาพุทธนิกายเถรวาท 70% (ชาวกัมพูชา), ศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก 30% (ชาวฝรั่งเศส)
เดมะนิมชาวเขมร
การปกครองสมบูรณาญาสิทธิราชย์ภายใต้การบริหารอาณานิคม
(2406–2490)
รัฐเดี่ยว ระบบรัฐสภา
ราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ
ภายในสหภาพฝรั่งเศส (2490–2496)
พระมหากษัตริย์แห่งกัมพูชา 
• พ.ศ. 2403–2447
พระนโรดม (องค์แรก)
• พ.ศ. 2447–2470
พระสีสุวัตถิ์
• พ.ศ. 2470–2484
พระสีสุวัตถิ์ มุนีวงศ์
• พ.ศ. 2484-2496
พระนโรดม สีหนุ (องค์สุดท้าย)
ผู้สำเร็จราชการฝ่ายฝรั่งเศส (อัครธิบดี) 
• พ.ศ. 2406-2409
แอร์แน็สต์ ดูดาร์ เดอ ลาเกร (คนแรก)
• พ.ศ. 2496
Jean Risterucci (ข้าหลวงใหญ่) (คนสุดท้าย)
นายกรัฐมนตรีกัมพูชา 
• พ.ศ. 2488
พระนโรดม สีหนุ (ครั้งแรก)
• พ.ศ. 2496
สมเด็จ แปน โนต (สุดท้าย)
สภานิติบัญญัติสมบูรณาญาสิทธิราชย์ภายใต้การบริหารอาณานิคม (จนถึง พ.ศ. 2490)
ระบบสภาผู้แทนราษฎร (หลัง พ.ศ. 2490)
ประวัติศาสตร์ 
• เริ่มเป็นรัฐในอารักขา
11 สิงหาคม พ.ศ. 2406
• ผนวกเข้ากับอินโดจีนฝรั่งเศส
17 ตุลาคม พ.ศ. 2430
13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2447
23 มีนาคม พ.ศ. 2450
ตุลาคม พ.ศ. 2483 – มกราคม พ.ศ. 2484
• เอกราชครั้งแรกภายใต้การยึดครองของญี่ปุ่น
13 มีนาคม พ.ศ. 2488
• การกลับเข้ามาของฝรั่งเศส
16 ตุลาคม พ.ศ. 2488
• รัฐธรรมนูญกัมพูชา
6 พฤษภาคม พ.ศ. 2490
9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2496
• ได้รับเอกราชตามอนุสัญญาเจนีวา
21 กรกฎาคม พ.ศ. 2497
ประชากร
• พ.ศ. 2474
2,803,000
สกุลเงินฟรังก์กัมพูชา (พ.ศ. 2418–2428)
เงินเปียสอินโดจีน (หลัง พ.ศ. 2428)
ก่อนหน้า
ถัดไป
พ.ศ. 2406:
ยุคมืดของกัมพูชา
พ.ศ. 2488:
การยึดครองกัมพูชาของญี่ปุ่น
พ.ศ. 2430:
อินโดจีนของฝรั่งเศส
พ.ศ. 2488:
การยึดครองกัมพูชาของญี่ปุ่น
พ.ศ. 2496:
ราชอาณาจักรกัมพูชาหลังได้รับเอกราช
ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของประเทศกัมพูชา

กัมพูชาในอารักขาของฝรั่งเศส (อังกฤษ: French protectorate of Cambodia; เขมร: ប្រទេសកម្ពុជាក្រោមអាណាព្យាបាលបារាំង; ฝรั่งเศส: Protectorat français du Cambodge) หรือ พระราชอาณาจักรกัมพูชาในอารักขาฝรั่งเศส (เขมร: ព្រះរាជាណាចក្រកម្ពុជាក្រោមអាណាព្យាបាលបារាំង) เป็นระยะเวลาช่วงที่กัมพูชาเข้าเป็นรัฐในอารักขาของฝรั่งเศสก่อนจะถูกรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพอินโดจีนที่เป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส จนกระทั่งกลายเป็นดินแดนที่ถูกญี่ปุ่นยึดครองระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง จากนั้นกลายเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพฝรั่งเศส และต่อสู้จนได้รับเอกราชในที่สุด

การเข้ามามีอิทธิพลในกัมพูชาของฝรั่งเศส

[แก้]

การติดต่อระหว่างฝรั่งเศสและกัมพูชาครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อคณะทูตของมงติญี กงสุลฝรั่งเศสประจำเซี่ยงไฮ้เข้ามาทำสนธิสัญญากับไทยแบบเดียวกับสนธิสัญญาเบาว์ริงของอังกฤษเมื่อ พ.ศ. 2399 เมื่อเดินทางออกจากไทย มงติญีได้เดินทางต่อไปยังกัมพูชา แต่พระองค์ด้วงกษัตริย์ในกัมพูชาขณะนั้นตอบว่ากัมพูชาเป็นเมืองน้อยไม่อาจทำสัญญาได้ตามลำพัง ต้องปรึกษาสยามก่อน คณะทูตของมงติญีจึงเดินทางต่อไปยังราชสำนักเว้ของเวียดนาม[1]

อย่างไรก็ตาม หลังจากคณะทูตของมงติญีกลับไปไม่นาน พระองค์ด้วงได้ส่งหนังสือไปยังกงสุลฝรั่งเศสของสิงคโปร์เมื่อ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2399 เพื่อนำไปถวายพระเจ้านโปเลียนที่ 3 ของฝรั่งเศส เพื่อขอให้ฝรั่งเศสช่วยคุ้มครองกัมพูชาให้พ้นจากอำนาจของสยามและเวียดนาม[2] ต่อมา ใน พ.ศ. 2406 หลังจากที่ฝรั่งเศสดำเนินนโยบายแข็งกร้าวในการยึดครองดินแดนเวียดนาม พลเรือเอก เดอ ลากรองดิแยร์ ได้เป็นข้าหลวงอินโดจีนฝรั่งเศสได้เข้ามาติดต่อกัมพูชาอีกครั้ง เพื่อให้กัมพูชาเป็นดินแดนในอารักขาของฝรั่งเศส ในสมัยนั้น กษัตริย์กัมพูชาคือพระนโรดม พระโอรสของพระองค์ด้วง ได้ตกลงใจทำสนธิสัญญาดังกล่าว

การคัดค้านของสยาม

[แก้]

หลังจากการลงนามในสนธิสัญญาเมื่อ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2406 พระนโรดมได้ทำหนังสือกราบทูลรัชกาลที่ 4 ว่าถูกฝรั่งเศสบังคับให้ทำสัญญา สยามได้พยายามรักษาสิทธิของตนเหนือกัมพูชาโดยทำสนธิสัญญาลับสยาม-กัมพูชา เมื่อ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2406 เพื่อยืนยันสิทธิของสยามเหนือกัมพูชา พระนโรดมยินยอมลงนามในสนธิสัญญานี้เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม เมื่อฝรั่งเศสทราบถึงการทำสนธิสัญญาลับสยาม-กัมพูชา ฝรั่งเศสได้เข้ามาคัดค้านและเจรจาเพื่อขอยกเลิกสนธิสัญญา ในที่สุด ได้มีการลงนามในสนธิสัญญาฝรั่งเศส-สยาม พ.ศ. 2410 โดยสยามประกาศสละสิทธิ์การอ้างสิทธิใดๆเหนือกัมพูชา โดยเสียมราฐและพระตะบองยังเป็นของสยาม ซึ่งช่วงเวลานั้นเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่เวียดนามรบแพ้ฝรั่งเศส ยอมรับว่าโคชินจีนเป็นของฝรั่งเศส

การปกครองของฝรั่งเศส

[แก้]

การปกครองระยะแรก

[แก้]

การปกครองกัมพูชาในช่วงแรกของฝรั่งเศส (พ.ศ. 2406 - 2427) ฝรั่งเศสไม่ได้เข้ามาแทรกแซงกิจการภายในกัมพูชามากนัก บทบาทในช่วงนี้ของฝรั่งเศสได้สนับสนุนให้สถานะของกษัตริย์มั่นคงขึ้น เช่นการปราบกบฏสวาระหว่างพ.ศ. 2408 - 2410 และการปราบกบฏชาวนาที่นำโดยพูกอมโบเมื่อ พ.ศ. 2410 ในช่วงนี้ ฝรั่งเศสควบคุมด้านการทหาร การต่างประเทศ และการคลังเป็นหลัก นอกจากนั้นได้แต่งตั้งให้พระสีสุวัตถ์ที่เคยมีข้อขัดแย้งกับพระนโรดมก่อนขึ้นครองราชย์ให้เป็นอุปราชของกัมพูชา และปี พ.ศ. 2409 ภายใต้คำปรึกษาของฝรั่งเศสของพระบาทสมเด็จพระนโรดมจึงได้มีพระราชดำริให้ย้ายราชธานีจากกรุงอุดงมีชัยมาที่กรุงพนมเปญเป็นเมืองหลวงของประเทศอีกครั้งทำให้กรุงพนมเปญเป็นเมืองหลวงนับแต่นั้นเป็นต้นมา สิ้นสุดยุคสมัยอุดงที่ดำเนินมาหลายร้อยปี

หลัง พ.ศ. 2426 ซึ่งฝรั่งเศสยึดครองเวียดนามได้อย่างสมบูรณ์ ทำให้ฝรั่งเศสเปลี่ยนนโยบายในการปกครองกัมพูชา เริ่มจาก พ.ศ. 2427 ข้าหลวงทอมสันเสนอให้มีการปฏิรูปในกัมพูชาครั้งใหญ่ ทั้งด้านการเก็บภาษี การตำรวจและการยกเลิกระบบไพร่ทาส แต่พระนโรดมไม่ให้ความร่วมมือ พยายามร้องเรียนไปยังรัฐบาลฝรั่งเศส จนข้าหลวงทอมสันนำเรือปืนเข้ามาทอดสมอริมพระราชวังและข่มขู่ให้พระนโรดมลงพระนามาภิไธย[3] พระนโรดมจึงทรงลงพระนามาภิไธยเมื่อ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2427

การต่อต้านฝรั่งเศส พ.ศ. 2427 - 2430

[แก้]

ผลที่เกิดมาตามจากการบังคับให้ปฏิรูปของฝรั่งเศสคือการเกิดกบฏชาวนาภายในประเทศ องค์พระสีวัตถากลับมาเป็นผู้นำกบฏที่มีฐานที่มั่นทางตะวันออกของกัมพูชา ฝรั่งเศสได้ส่งกำลังทหารเข้าปราบปรามกบฏและตั้งข้อสงสัยพระนโรดมอยู่เบื้องหลังการก่อกบฏครั้งนี้ ผลจากการปราบปรามทำให้ชาวกัมพูชาอพยพเข้าพระตะบองที่ยังอยู่ภายใต้การปกครองของสยามกว่า 40,000 คน การกบฏกินระยะเวลากว่าสองปี ยุติลงเมื่อข้าหลวงคนใหม่คือฟิลิปินีเข้าเจรจากับพระนโรดมให้ยุติการกบฏภายใน 1 มกราคม พ.ศ. 2430 โดยฝรั่งเศสจะชะลอการปฏิรูประบบไพร่ทาส พระนโรดมจึงออกประกาศเรียกร้องให้ยุติการกบฏและประกาศนิรโทษกรรม องค์พระสีวัตถาหนีเข้าไปอยู่ที่แม่น้ำโขงตามแนวชายแดนกัมพูชา - ลาว การกบฏจึงสิ้นสุดลง

การรวมเข้ากับสหภาพอินโดจีนและลิดรอนอำนาจของกษัตริย์

[แก้]
ข้าราชการกัมพูชารับอิทธิพลแต่งกายจากฝรั่งเศส หลังการย้ายเมืองหลวงมากรุงพนมเปญ รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระสีสุวัตถิ์
สตรีราชสำนักกัมพูชารัชสมัยพระสีสุวัตถิ์

ฝรั่งเศสจัดตั้งสหภาพอินโดจีนขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2430 โดยให้ขึ้นกับกระทรวงอาณานิคม ข้าหลวงใหญ่ประจำสหภาพอินโดจีนประจำที่ฮานอย ส่วนกัมพูชาเป็นรัฐในอารักขาจึงมีผู้ว่าการสูงสุดเป็นตัวแทนของฝรั่งเศส

เมื่อพระนโรดมประชวรหนักเมื่อ พ.ศ. 2440 ขณะมีพระชนม์ได้ 61 พรรษา ฝรั่งเศสเตรียมการสถาปนาพระสีสุวัตถ์เป็นกษัตริย์โดยให้พระองค์ยอมมอบอำนาจการบริหารทั้งหมดให้ฝรั่งเศส อย่างไรก็ตาม เมื่อพระนโรดมหายประชวร ไม่ได้สวรรคตอย่างที่คาด ฝรั่งเศสจึงบังคับให้พระองค์ออกพระราชบัญญัติลงวันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2440 เพื่อปฏิรูปการปกครอง ได้แก่การให้สิทธิประชาชนครอบครองทรัพย์สิน และกำหนดให้กฎหมายที่ใช้บังคับได้ต้องมีผู้ว่าการสูงสุดของฝรั่งเศสลงนาม

ในพ.ศ. 2443 พระองค์ยุคนธร โอรสของพระนโรดมเดินทางไปฝรั่งเศสเพื่อเปิดเผยความไม่ยุติธรรมของฝรั่งเศสให้สื่อมวลชนทราบและเรียกร้องการปกครองตนเอง ผลคือพระองค์ยุคนธรถูกถอดออกจากบรรดาศักดิ์ และต้องลี้ภัยในสยามตลอดชีวิต พระนโรดมสวรรคตเมื่อ 25 เมษายน พ.ศ. 2447 พระสีสุวัตถ์ขึ้นครองราชสมบัติขึ้นเป็นพระบาทสมเด็จพระสีสุวัตถิ์ และได้ลงนามมอบอำนาจการบริหารราชการแผ่นดินให้ฝรั่งเศสจนหมด กัมพูชาจึงกลายเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศสอย่างสมบูรณ์

สภาพเศรษฐกิจระหว่างการเป็นอาณานิคม

[แก้]

ไม่นานหลังจากฝรั่งเศสเข้าปกครองกัมพูชาเมื่อ พ.ศ. 2406 ฝรั่งเศสสร้างความฝันว่ากัมพูชาจะเป็น"สิงคโปร์แห่งอินโดจีน" แต่สภาพเศรษฐกิจของกัมพูชาก็ไม่ได้ต่างไปจากเดิมมากนัก ฝรั่งเศสเก็บภาษีได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ก็ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงในสภาพเศรษฐกิจระดับหมู่บ้านของกัมพูชา ชาวกัมพูชากลายเป็นกลุ่มที่เสียภาษีมากที่สุดในอินโดจีน การปฏิรูปภาษีทำให้ชาวนากัมพูชากว่าหมื่นคนเข้ามายังพนมเปญเพื่องร้องเรียนต่อกษัตริย์ให้ลดภาษีเมื่อ พ.ศ. 2458 - 2459 แต่ก็ทำอะไรไม่ได้ ใน พ.ศ. 2468 ชาวกัมพูชาได้ฆ่าเจ้าหน้าที่เก็บภาษีของฝรั่งเศส

ในบางพื้นที่ ได้มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจในช่วงที่ฝรั่งเศสปกครอง ฝรั่งเศสสร้างถนนและทางรถไฟในกัมพูชา มีการสร้างทางรถไฟเพื่อเชื่อมพนมเปญเข้ากับชายแดนไทยที่พระตะบอง มีการปลูกข้าวโพดและยางพาราเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ จังหวัดพระตะบองและจังหวัดเสียมราฐกลายเป็นแหล่งปลูกข้าวที่สำคัญในอินโดจีน กัมพูชาปลูกข้าวโพดและยางได้เพียงพอ แต่หลังจากเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่ทั่วโลกเมื่อ พ.ศ. 2472 เริ่มเกิดสภาวะขาดแคลนในกัมพูชา โดยเฉพาะชาวนาที่รายได้ไม่พอกับหนี้สิน

มีการวางรากฐานอุตสาหกรรมเพื่อแปรรูปวัตถุดิบเพื่อใช้ในท้องถิ่นและส่งออก มีการอพยพย้ายถิ่นเข้ามาในกัมพูชาแบบเดียวกับที่เกิดในพม่าและมาเลเซียที่อยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ ชาวเวียดนามจำนวนมากเข้ามาเป็นคนงานในสวนยางพารา ชาวประมงและนักธุรกิจ รวมทั้งชาวเขมรต่ำหรือแขมร์กรอมที่มาจากเมืองโจดกและเตย์นิญในโคชินจีน ชาวจีนที่เคยมีบทบาทโดดเด่นในเศรษฐกิจของกัมพูชามาก่อนถูกฝรั่งเศสควบคุมอย่างเข้มงวดกว่า แต่ก็มีเครือข่ายเศรษฐกิจของคนจีนตลอดอินโดจีน

เงินตราที่ใช้ในสมัยอาณานิคมฝรั่งเศส

[แก้]

เมื่อฝรั่งเศสเข้าปกครองกัมพูชา กัมพูชาก็ถูกรวมเข้ากับสหภาพอินโดจีนของฝรั่งเศสซึ่งใช้สกุลเงินเปียส (Piastre) โดยธนบัตรสกุลเงินเปียสสามารถใช้จ่ายชำระหมุนเวียนได้ในเวียดนามและลาวด้วย

การศึกษาในระหว่างการเป็นอาณานิคม

[แก้]

การศึกษาในกัมพูชาช่วงที่เป็นอาณานิคมส่วนใหญ่ยังเป็นการเรียนในวัดแบบดั้งเดิม ซึ่งไม่เหมาะกับการทำงานในระบบราชการของฝรั่งเศส การที่ฝรั่งเศสนำชาวเวียดนามเข้ามาทำงานในระบบราชการของฝรั่งเศส ทำให้ฝรั่งเศสละเลยที่จะจัดการศึกษาในกัมพูชาดังที่ได้จัดในเวียดนาม[3] การจัดการศึกษาด้วยระบบโรงเรียนแบบตะวันตกมีเฉพาะแต่ในเมืองใหญ่และไม่ทั่วถึง นักเรียนส่วนใหญ่เป็นลูกหลานของชาวเวียดนามและชาวกัมพูชาเชื้อสายจีน โรงเรียนระดับมัธยมศึกษาแห่งแรกในกัมพูชาคือลีเซสีสุวัตถิ์ ตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2478 แต่มีผู้สำเร็จการศึกษาในช่วงแรกน้อยมาก ใน พ.ศ. 2483 มีผู้สำเร็จการศึกษาราวๆ 4 คน[3] ส่วนผู้ต้องการเรียนระดับอุดมศึกษาต้องไปเรียนที่เวียดนามหรือฝรั่งเศส

สิ่งก่อสร้างสมัยอาณานิคม

[แก้]

การเกิดลัทธิชาตินิยมกัมพูชา

[แก้]

แนวคิดชาตินิยมของกัมพูชาต่างจากในเวียดนามที่นิ่งเงียบจนถึง พ.ศ. 2473 ซึ่งอาจเป็นเพราะยังมีกษัตริย์กัมพูชาครองราชย์อยู่ และการรู้หนังสือขอชาวกัมพูชาในเวลานั้นน้อยกว่าในเวียดนาม แนงคิดชาตินิยมกัมพูชาเกิดขึ้นในกลุ่มของชาวเมืองที่มีการศึกษา หลังจากที่มีการก่อตั้งโรงเรียนบาลีระดับมัธยมเมื่อ พ.ศ. 2457 ทำให้เกิดพระสงฆ์กลุ่มใหม่ซึ่งเป็นหัวก้าวหน้า นิยมการวิพากษ์วิจารณ์[3] การค้นพบนครวัดของฝรั่งเศสและมีการเผยแพร่ให้ชาวกัมพูชารับรู้ผ่านทางวารสารของพุทธศาสนบัณฑิตย์ซึ่งเป็นสมาคมที่ฝรั่งเศสสนับสนุนให้ตั้งขึ้นได้ทำให้ชาวกัมพูชาตื่นตัวถึงความยิ่งใหญ่ในอดีตของตนเอง สิ่งเหล่านี้ต่างล้วนส่งผลให้ลัทธิชาตินิยมของกัมพูชาเป็นรูปเป็นร่างขึ้น นักชาตินิยมในยุคแรก ๆ เป็นชาวขแมร์กรอม (เขมรต่ำ) ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยในเวียดนาม เซิง งอกทัญ และแปช เชือน ออกหนังสือพิมพ์ภาษาเขมรฉบับแรกชื่อ “นครวัด” ซึ่งแสดงความกังวลเกี่ยวกับนโยบายของฝรั่งเศส การฉ้อราษฎร์บังหลวง ความยากลำบากในชนบท อิทธิพลของชาวต่างชาติด้านเศรษฐกิจ รวมทั้งแนวคิดของเวียดนามที่จะสร้างจักรวรรดินิยมในอินโดจีน

ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อมีการจัดตั้งรัฐบาลวิชีของฝรั่งเศสเมื่อ พ.ศ. 2483 กองทัพญี่ปุ่นได้เคลื่อนเข้าสู่เวียดนามและเข้าแทนที่การปกครองของฝรั่งเศส ช่วงกลางปี พ.ศ. 2484 กองทัพญี่ปุ่นเคลื่อนเข้าสู่กัมพูชาแต่ยอมให้รัฐบาลวิชีปกครองดังเดิม รัฐบาลไทยในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงครามได้เรียกร้องดินแดนบางส่วนในลาวและกัมพูชาคืนจากฝรั่งเศสจนนำไปสู่กรณีพิพาทอินโดจีนฝรั่งเศสที่เริ่มขึ้นเมื่อ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2484 ในที่สุด ญี่ปุ่นเข้ามาไกล่เกลี่ยโดยที่ไทยได้จังหวัดพระตะบอง เสียมราฐและบางส่วนของจังหวัดสตึงแตรง ยกเว้นปราสาทนครวัดยังอยู่ในเขตแดนของฝรั่งเศส แต่กรณีพิพาทนี้ ไม่ได้มีผลต่อชาวกัมพูชาที่อยู่ห่างไกลจากกรณีพิพาท

พระสีสุวัตถิ์ มุนีวงศ์กษัตริย์กัมพูชาสิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ. 2484 แม้ว่าพระโอรสของพระองค์คือพระโมนิเชาจะมีสิทธิได้รับราชสมบัติ แต่ฝรั่งเศสกลับเลือกพระนโรดม สีหนุขึ้นเป็นกษัตริย์ทั้งที่ยังทรงพระเยาว์ ญี่ปุ่นได้เรียกร้องให้มีการจัดตั้งวงไพบูลย์แห่งมหาเอเชียบูรพาและสนับสนุนขบวนการชาตินิยมในกัมพูชา แม้ว่านโยบายของญี่ปุ่นจะยอมให้ฝรั่งเศสปกครองกัมพูชาต่อไป เมื่อพระภิกษุชาวกัมพูชา เฮม เชียวถูกฝ่ายฝรั่งเศสจับกุมเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2485 หนังสือพิมพ์นครวัดเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวทำให้แปต เชือนถูกจับ และเซิง งอกทัญลี้ภัยไปญี่ปุ่น

ต่อมา ญี่ปุ่นได้สลายการปกครองของฝรั่งเศสในกัมพูชาและสนับสนุนการจัดตั้งรัฐบาลหุ่นเชิดในวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2488 กัมพูชาได้ประกาศเอกราชภายใต้วงไพบูลย์แห่งมหาเอเชียบูรพาของญี่ปุ่น โดยมีพระนโรดม สีหนุเป็นประมุขรัฐ เซิง งอกทัญเดินทางกลับมากัมพูชาในเดือนพฤษภาคมและขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี หลังจากญี่ปุ่นยอมแพ้เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2488 กองทัพฝ่ายสัมพันธมิตรได้เข้ามาในพนมเปญ เซิง งอกทัญถูกจับกุมตัวพร้อมทหารญี่ปุ่นจากนั้น จึงส่งไปกักตัวที่ฝรั่งเศส กลุ่มต่อต้านฝรั่งเศสจัดตั้งขบวนการเขมรอิสระและตั้งมั่นในบริเวณที่ยังอยู่ภายใต้การปกครองของไทย

การต่อสู้เพื่อความเป็นเอกภาพของเขมร

[แก้]

รัฐบาลฝรั่งเศสอิสระได้ตัดสินใจที่จะรวมอินโดจีนเข้ากับสหภาพฝรั่งเศส ในพนมเปญ พระนโรดม สีหนุพยายามเจรจากับฝรั่งเศสเพื่อเรียกร้องเอกราชที่สมบูรณ์ ในขณะที่เขมรอิสระและเวียดมิญมองว่าพระองค์อยู่ฝ่ายเดียวกับฝรั่งเศส เขมรอิสระได้ใช้การสู้รบแบบกองโจรตามแนวชายแดน โดยได้ร่วมมือกับกลุ่มฝ่ายซ้ายทั้งที่นิยมและไม่นิยมเวียดนาม รวมทั้งกลุ่มเขมรเสรีซึ่งเป็นกลุ่มต่อต้านราชวงศ์ของเซิง งอกทัญด้วย แต่บทบาทของเซิง งอกทัญลดลงหลังการรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2490 ส่วนสมาคมเขมรอิสระที่ได้รับการสนับสนุนจากเวียดมิญสามารถยึดครองพื้นที่ในกัมพูชาได้ถึงร้อยละ 50 ใน พ.ศ. 2497

ใน พ.ศ. 2489 ฝรั่งเศสยอมให้มีการจัดตั้งพรรคการเมืองในกัมพูชา และให้มีการเลือกตั้งภายในประเทศ พรรคการเมืองหลัก 2 พรรคที่จัดตั้งโดยเชื้อพระวงศ์คือพรรคประชาธิปไตยของพระสีสุวัตถิ์ ยุทธวงศ์ซึ่งเรียกร้องเอกราช ประชาธิปไตยแบบรัฐสภา ผู้สนับสนุนส่วนใหญ่เป็นครู นักการเมืองที่นิยมศาสนาพุทธ และผู้ที่ได้รับแนวคิดจากหนังสือพิมพ์นครวัดที่ถูกฝรั่งเศสสั่งปิดไปเมื่อ พ.ศ. 2485 อีกพรรคหนึ่งคือพรรคเสรีภาพของพระนโรดม นรินทเดช ซึ่งเป็นตัวแทนของชนบทแบบดั้งเดิม ยังต้องการความสัมพันธ์กับฝรั่งเศสไปพร้อมกับการปฏิรูปประชาธิปไตย การเลือกตั้งในเดือนกันยายน พ.ศ. 2489 พรรคประชาธิปไตยได้ 50 จาก 67 ที่นั่ง

ในฐานะที่ได้เสียงส่วนใหญ่ในสภา พรรคประชาธิปไตยได้เสนอร่างรัฐธรรมนูญใหม่ของกัมพูชาซึ่งได้แบบมาจากสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ 4 อำนาจส่วนใหญ่เป็นของสภา พระมหากษัตริย์เป็นเพียงศูนย์รวมจิตวิญญาณของรัฐ ในการเลือกตั้งเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2490 พรรคประชาธิปไตยได้เสียงส่วนใหญ่อีกครั้ง แต่พระสีสุวัตถิ์ ยุเทวงศ์ผู้ก่อตั้งกลับถึงแก่อนิจกรรมและไม่มีผู้สืบทอดตำแหน่งผู้นำพรรคอย่างชัดเจน ระหว่าง พ.ศ. 2491 – 2492 มีความเป็นเอกภาพเฉพาะสถานะที่ได้รับการสนับสนุนจากพระมหากษัตริย์ หัวข้อหลักที่พระมหากษัตริย์ได้ต่อสู้คือเรียกร้องเอกราชให้กัมพูชาเป็นอิสระจากสหภาพฝรั่งเศส ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2492 มีการเจรจาระหว่างพระนโรดม สีหนุกับรัฐบาลฝรั่งเศส ได้มีการเจรจาระหว่างพระนโรดม สีหนุกับรัฐบาลฝรั่งเศสซึ่งทำให้รัฐบาลฝรั่งเศสผ่อนคลายความเข้มงวดในการปกครองกัมพูชาลง คือการปกครองแบบอาณานิคมอย่างเป็นทางการสิ้นสุดลง กัมพูชาได้บริหารในเขตปกครองตนเอง มีการจัดตั้งกองทัพแห่งชาติกัมพูชาภายในเขตปกครองตนเองในจังหวัดเสียมราฐและพระตะบองที่ได้คืนมาจากไทย นโยบายการต่างประเทศถูกควบคุมโดยสภาสูงของสหภาพฝรั่งเศส ฝรั่งเศสยังคงควบคุมระบบการศาล การเงิน การขนส่งทางทะเล และฝรั่งเศสยังคงกองทหารไว้ในกัมพูชา การประกาศกฎอัยการศึกนอกเขตปกครองตนเองเป็นอำนาจของฝรั่งเศส ใน พ.ศ. 2493 กัมพูชาได้รับการรับรองจากสหรัฐและประเทศที่ไม่ใช่คอมมิวนิสต์ แต่ในเอเชียมีเฉพาะไทยกับเกาหลีใต้

พรรคประชาธิปไตยยังคงครองเสียงส่วนใหญ่ในการเลือกตั้งสภาแห่งชาติเมื่อ พ.ศ. 2494 พระนโรดม สีหนุได้ขอให้ฝรั่งเศสปล่อยตังเซิง งอกทัญและยอมให้เขาเดินทางกลับประเทศ เซิง งอกทัญกลับมาถึงกัมพูชาเมื่อ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2494 ต่อมาเขาได้ออกหนังสือพิมพ์ชื่อ Khmer Krok (เขมรตื่นเถิด) ใน พ.ศ. 2495 แต่ถูกระงับการตีพิมพ์ ในที่สุด เซิง งอกทัญได้ออกจากพนมเปญไปต่อสู้กับเขมรอิสระ เขาได้ลี้ภัยจนลน นลประกาศตั้งรัฐบาลสาธารณรัฐเขมรเมื่อ พ.ศ. 2513

การเรียกร้องเอกราช

[แก้]

ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2495 พระนโรดม สีหนุได้ประกาศเข้าควบคุมรัฐบาลในฐานะนายกรัฐมนตรี ต่อมาในเดือนมกราคม พ.ศ. 2496 ได้ประกาศยุบสภาแห่งชาติและประกาศกฎอัยการศึกแม้จะไม่มีอำนาจตามรัฐธรรมนูญที่ชัดเจน พระองค์เข้าปกครองประเทศโดยตรงเป็นเวลาเกือบสามปี จากเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2495 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2498 โดยตั้งสภาที่ปรึกษาขึ้นแทนสภาแห่งชาติที่ถูกยุบไป

ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2496 พระนโรดม สีหนุเดินทางไปฝรั่งเศสเพื่อเจรจาให้กัมพูชาได้รับเอกราชที่สมบูรณ์ และพระองค์กล่าวว่าถ้าไม่ได้รับเอกราชโดยทันที ประชาชนจะหันไปสนับสนุนเซิง งอกทัญและเขมรอิสระ การเจรจามีทีท่าล้มเหลว พระนโรดม สีหนุเดินทางต่อไปยังสหรัฐ แคนาดา และญี่ปุ่นและประกาศว่าจะไม่กลับกัมพูชาจนกว่าจะได้รับเอกราชที่สมบูรณ์ ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2496 สีหนุเดินทางออกจากพนมเปญมายังประเทศไทย แต่ด้วยการต้อนรับที่ไม่อบอุ่น พระองค์จึงเดินทางต่อไปยังเขตปกครองตนเองในเสียมราฐ ซึ่งอยู่ในเขตอิทธิพลของลน นล

แม้ว่าการต่อสู้ของพระนโรดม สีหนุอาจทำให้ฝรั่งเศสปลดพระองค์ออกจากการเป็นกษัตริย์และเลือกเชื้อพระวงศ์อื่นขึ้นมาแทนได้ แต่ด้วยสถานการณ์ทางทหารในอินโดจีนที่ตึงเครียด ทำให้ฝรั่งเศสตัดสินใจในวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2496 ที่จะให้เอกราชที่สมบูรณ์แก่กัมพูชา ลาวและเวียดนาม พระนโรดม สีหนุยืนยันให้ฝรั่งเศสให้อำนาจในการป้องกันประเทศ เอกราชทางการศาลและการเงิน ฝรั่งเศสยอมโอนตำรวจและศาลให้กัมพูชาในช่วงปลายเดือนสิงหาคม และในเดือนตุลาคม กัมพูชาจึงมีอำนาจควบคุมกองทัพอย่างแท้จริง วันที่ได้รับเอกราชโดยสมบูรณ์คือ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2496 ทำให้พระนโรดม สีหนุกลายเป็นวีรบุรุษของชาวกัมพูชา อย่างไรก็ตาม เอกราชทางการเงินและการจัดการงบประมาณเป็นของกัมพูชาใน พ.ศ. 2497

รายพระนามพระมหากษัตริย์กัมพูชาในอารักขาของฝรั่งเศส

[แก้]

รายพระนามพระมหากษัตริย์กัมพูชา
พระมหากษัตริย์ ครองราชย์
รัชกาล พระรูป พระนาม ระหว่าง หมายเหตุ
อารักขาฝรั่งเศส
(พ.ศ. 2406 – 2496)
กัมพูชาตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส และกลายเป็นรัฐในอารักขาของฝรั่งเศสเมื่อ พ.ศ. 2406 (เข้าสู่ยุคกัมพูชาในอารักขาของฝรั่งเศส) (หมายเหตุ: กัมพูชาพ้นจากความเป็นประเทศราชของสยาม ทางฝ่ายสยามถือเป็นการเสียอิทธิพลให้ฝรั่งเศส)
108 พระบาทสมเด็จพระนโรดม บรมรามเทวาวตาร
(นักองค์ราชาวดี)
พ.ศ. 2403 – 2447
(44 ปี)
พระราชโอรสในสมเด็จพระหริรักษ์รามมหาอิศราธิบดี (นักองค์ด้วง)
109 พระบาทสมเด็จพระสีสุวัตถิ์
(นักองค์สีสุวัตถิ์)
พ.ศ. 2447 – 2470
(23 ปี)
พระราชโอรสในสมเด็จพระหริรักษ์รามมหาอิศราธิบดี (นักองค์ด้วง) พระอนุชาต่างพระราชมารดาในพระบาทสมเด็จพระนโรดม บรมรามเทวาวตาร (นักองค์ราชาวดี)
110 พระบาทสมเด็จพระสีสุวัตถิ์ มุนีวงศ์
(นักองค์สีสุวัตถิ์ มุนีวงศ์)
พ.ศ. 2470 – 2484
(14 ปี)
พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระสีสุวัตถิ์ (นักองค์สีสุวัตถิ์)
111
(1)
พระบาทสมเด็จพระนโรดม สีหนุ พ.ศ. 2484 – 2498
(14 ปี)
ครองราชย์ครั้งที่ 1 พระราชนัดดาในพระบาทสมเด็จพระสีสุวัตถิ์ มุนีวงศ์ (นักองค์สีสุวัตถิ์ มุนีวงศ์)
ในปี พ.ศ. 2496 กัมพูชาได้รับเอกราชจากฝรั่งเศสโดยสมบูรณ์ จึงมีการสถาปนาพระราชอาณาจักรกัมพูชาโดยใช้ระบอบสังคมราษฎรนิยม พ.ศ. 2496 – 2513 กัมพูชาเข้าสู่ยุคสังคมราษฎรนิยม

อ้างอิง

[แก้]
  1. ธำรงศักดิ์, 2552 หน้า 12 - 24
  2. ธำรงศักดิ์, 2552 หน้า 12 - 24
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 ธิบดี บัวคำศรี, ประวัติศาสตร์กัมพูชา, พิมพ์ครั้งที่ 2 (กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ. 2555).

บรรณานุกรมและแหล่งค้นคว้าเพิ่มเติม

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]