ข้ามไปเนื้อหา

ฌ็อง-บาติสต์ ปาลกัว

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ฌ็อง-บาติสต์ ปาลกัว
พระคุณเจ้าปาลกัว กับเด็กไทยชื่อแก้ว และเด็กญวนชื่อชมถ่ายที่ปารีส เมื่อ พ.ศ. 2397
ประมุขมิสซังสยามตะวันออก
ดำรงตำแหน่ง
10 กันยายน พ.ศ. 2384 – 18 มิถุนายน พ.ศ. 2405
ก่อนหน้าฌ็อง-ปอล-อีแลร์-มีแชล กูร์เวอซี
ถัดไปโอกุสแต็ง-โฌแซ็ฟ ดูว์ป็อง
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด24 ตุลาคม พ.ศ. 2348
โกต-ดอร์ ประเทศฝรั่งเศส
เสียชีวิต18 มิถุนายน พ.ศ. 2405 (56 ปี)
พระนคร ประเทศสยาม
เชื้อชาติฝรั่งเศส
ศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก
ที่อยู่อาศัยสำนักมิสซังสยาม

ฌ็อง-บาติสต์ ปาลกัว[1] (ฝรั่งเศส: Jean-Baptiste Pallegoix) หรือที่รู้จักในนามพระสังฆราชปัลเลอกัวซ์[2] เป็นบาทหลวงคณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีส ปฏิบัติหน้าที่มิชชันนารีในประเทศไทยในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวถึงพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีสมณศักดิ์เป็นประมุขมิสซังสยามตะวันออก (apostolic vicar of Eastern Siam) และมุขนายกเกียรตินามแห่งมาลลอสหรือมัลลุส (titular bishop of Mallos/Mallus) ท่านได้นำวิทยาการการถ่ายรูปเข้ามาในประเทศไทย และนอกจากนี้ท่านยังจัดทำพจนานุกรมสี่ภาษาเล่มแรกของไทยขึ้นชื่อ สัพะ พะจะนะ พาสา ไท โดยมีภาษาทั้งสี่ที่ว่านี้คือ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส และภาษาละติน กอเอ๋ยกอไก่ขอไข่อยู่ในเล้า ฃ ขวดของเรา ค ควายเข้านา ฅ ขึงขัง

ประวัติ

[แก้]

พระราชสังฆราชปัลเลอกัวซ์เกิดเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2348 ที่ เมืองโกต-ดอร์ ประเทศฝรั่งเศส เมื่อท่านอายุได้ 23 ปี ท่านก็ได้ตัดสินใจบวชเป็นบาทหลวง เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2371 ที่เซมินารีของคณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีส จากนั้นท่านก็ได้รับมอบหมายให้ไปเผยแผ่ศาสนาคริสต์ที่อาณาจักรสยาม ได้ออกเดินทางเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2371 ถึงสยามเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2372 ในปี พ.ศ. 2381 ท่านได้รับตำแหน่งอธิการวัดคอนเซ็ปชัญ ท่านได้ปรับปรุงโบสถ์แห่งนี้ ซึ่งสร้างขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2217 ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แล้วจากถูกทิ้งร้างมานาน[3]แล้วย้ายไปอยู่ที่โบสถ์อัสสัมชัญในปี พ.ศ. 2381

จนปี พ.ศ. 2378 พระคุณเจ้าฌ็อง-ปอล-อีแลร์-มีแชล กูร์เวอซี (Jean-Paul-Hilaire-Michel Courvezy) ประมุขมิสซังสยามในขณะนั้นได้แต่งตั้งท่านเป็นอุปมุขนายก (vicar general) แล้วให้ดูแลดินแดนสยามในช่วงที่ท่านไปดูแลมิสซังที่สิงคโปร์[4] เมื่อกลับมาก็ได้รับอนุญาตจากสันตะสำนักให้อภิเษกท่านปาเลอกัวเป็นมุขนายกรองประจำมิสซังสยาม (Coadjutor Vicar Apostolic of Siam) ในปี พ.ศ. 2381[4] พร้อมทั้งดำรงตำแหน่งมุขนายกเกียรตินามแห่งมาลลอส[5] เมื่อมีการแบ่งมิสซังสยามออกเป็นสองมิสซัง ท่านจึงได้รับแต่งตั้งให้เป็นประมุขมิสซังสยามตะวันออกเป็นท่านแรก ในวันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2384[5]

จากนั้น หลุยส์ ลาร์นอดี เดินทางเข้ามาสยาม เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2388 พร้อมกับนำกล้องถ่ายรูปที่ พระสังฆราชปาลเลอกัวซ์ สั่งซื้อมาจากปารีส มาด้วย[6]

การศึกษา

[แก้]

ท่านได้เรียนภาษาไทยและภาษาบาลี มีความรู้ในภาษาทั้งสองเป็นอย่างดีจนสามารถแต่งหนังสือได้หลายเล่ม นอกจากนั้นท่านมีความรู้ทางด้านดาราศาสตร์ ภูมิศาสตร์ วิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะฟิสิกส์ เคมี และดาราศาสตร์ มีความรู้ความชำนาญทางด้านวิชาการถ่ายรูปและชุบโลหะ บุตรหลานข้าราชการบางคนได้เรียนรู้วิชาเหล่านี้กับท่าน ท่านได้สร้างตึกทำเป็นโรงพิมพ์ภายในโบสถ์คอนเซ็ปชัญ จัดพิมพ์หนังสือสวด[7]

การทำงาน

[แก้]

สังฆราชปัลเลอกัวซ์ได้เดินทางกลับประเทศฝรั่งเศสเมื่อ พ.ศ. 2397 ช่วงต้นรัชกาลที่ 4 หลังจากใช้ชีวิตอยู่ในประเทศไทยนานหลายปี และเป็นผู้นำพระราชสาส์นจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวไปถวายสมเด็จพระสันตะปาปาปิอุสที่ 9 ขณะพำนักอยู่ที่ประเทศฝรั่งเศสสังฆราชปัลเลอกัวซ์ ได้ตีพิมพ์หนังสือขึ้น 3 เล่ม คือ

  • เล่าเรื่องกรุงสยาม (Description du Royaume Thai ou Siam)
  • สัพะ พะจะนะ พาสา ไท (พจนานุกรมสี่ภาษา)
  • Grammatica linguoe Thai (ไวยากรณ์ภาษาไทย) [3]

พระสังฆราชปัลเลอกัวซ์เป็นผู้นำวิทยาการถ่ายรูปเข้ามาในประเทศไทย เมื่อ พ.ศ. 2388[8][9] โดยได้สั่งบาทหลวงอัลบรันด์ซื้อกล้องถ่ายรูปมาจากฝรั่งเศสฝากมากับบาทหลวงลาร์นอดี (L'abbe Larnaudie) เดินทางมาถึงประเทศไทยเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2388[10]-

ถึงแก่มรณภาพ

[แก้]

พระสังฆราชปัลเลอกัวซ์ใช้ชีวิตอยู่ที่ฝรั่งเศสนาน 3 ปี จึงเดินทางกลับประเทศไทยเมื่อ พ.ศ. 2399 และถึงแก่มรณภาพที่โบสถ์อัสสัมชัญ เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2405 อายุ 57 ปี ศพฝังอยู่ในโบสถ์คอนเซ็ปชัญ ได้มีขบวนแห่จากหน้าโบสถ์อัสสัมชัญไปยังหน้าโบสถ์คอนเซ็ปชัญ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ มีพระประสงค์ให้พิธีศพเป็นไปอย่างสง่างามที่สุด จึงพระราชทานเรือหลวงสองลำเพื่อนำขบวนโดยบรรทุกหีบศพ ขบวนแห่นั้นประกอบไปด้วยเรือดนตรี (ดนตรีไทยจากค่ายคริสตัง) เรือของคริสตัง ข้าราชการไทย และทูตต่างประเทศ[7]

ในวัฒนธรรมสมัยนิยม

[แก้]

ภาพยนตร์ไทยแนวย้อนยุค–โรแมนติกคอเมดีที่ร่วมทุนสร้างระหว่างค่ายจีดีเอชและบรอดคาซท์ ไทย เทเลวิชั่น เรื่อง บุพเพสันนิวาส 2 ออกฉายในวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2565 มีตัวละครหนึ่งชื่อ "ฌ็อง-บาติสต์ ปาลกัว" หรือ "หลวงพ่อปาลเลอกัว" รับบทโดยโจนาธาน แซมซัน นักแสดงตลกของไทยชาวอเมริกา[11][12][13]

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิงและเชิงอรรถ

[แก้]
  1. ตาม"หลักเกณฑ์การทับศัพท์ภาษาฝรั่งเศสของราชบัณฑิตยสถาน" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา.
  2. "พระสังฆราชปัลเลอกัวซ์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-04-17. สืบค้นเมื่อ 2011-06-30.
  3. 3.0 3.1 เอนก นาวิกมูลฝรั่งในเมืองสยาม. กรุงเทพฯ : แสงดาว, 2549. 288 หน้า. ISBN 974-9818-46-6
  4. 4.0 4.1 วิกตอร์ ลาร์เก, ประวัติพระศาสนจักรคาทอลิกในประเทศไทย, ฉะเชิงเทรา: แม่พระยุคใหม่, 2539, หน้า 152-3
  5. 5.0 5.1 Bishop Jean-Baptiste Pallegoix, M.E.P.. The Hierarchy of the Catholic Church. เรียกข้อมูลวันที่ 25 ก.พ. พ.ศ. 2554.
  6. Charles Mayniard. Le second Empire en Indo-Chine. ปารีส : Sociate S'editions Scientifiques, ค.ศ. 1891.
  7. 7.0 7.1 ส. พลายน้อย (นามแฝง). ชาวต่างชาติในประวัติศาสตร์ไทย. กรุงเทพฯ : รวมสาส์น, 2505.
  8. กิตติพงษ์ วิโรจน์ธรรมากูร. ๑๐๐ ปีภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในงานพระพุทธชินราชประจำปี วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม รัตนโกสินทรศก ๑๒๓. กรุงเทพฯ : ดำรงวิทยา, 2548. 132 หน้า. ISBN 974-93740-5-3
  9. เอนก นาวิกมูลลิ้นชักภาพเก่า ประมวลภาพ จากคอลัมน์เปิดกรุภาพเก่าในนิตยสารแพรวรายปักษ์ และคอลัมน์ลิ้นชักภาพเก่าในวิทยาจารย์. กรุงเทพ : สำนักพิมพ์วิญญูชน, พ.ศ. 2550. 392 หน้า. หน้า หน้าที่. ISBN 978-974-94365-2-3
  10. Charles Mayniard. Le second Empire en Indo-Chine. ปารีส : Sociate S'editions Scientifiques, ค.ศ. 1891.
  11. บุพเพสันนิวาส 2
  12. เผยโฉมเหล่าบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ ปรากฎให้เห็นกันแล้วใน "บุพเพสันนิวาส ๒"
  13. ย้อนรอย 4 บุคคลในประวัติศาสตร์ “บุพเพสันนิวาส 2” เล่ายังไงให้สนุก กรุงเทพธุรกิจ สืบค้นเมื่อ 2 สิงหาคม 2565