ข้ามไปเนื้อหา

สนธิสัญญาสยาม–ฝรั่งเศส ร.ศ. 112

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส
ร.ศ. 112
ผู้ลงนามในสนธิสัญญาของฝ่ายสยาม (ซ้าย) และ ฝ่ายฝรั่งเศส (ขวา)
ประเภทสนธิสัญญาสันติภาพ
บริบท
วันลงนาม3 ตุลาคม พ.ศ. 2436
ที่ลงนามกรุงเทพมหานคร
ผู้ลงนามไทย สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ
ฝรั่งเศส ชาร์ล เลอร์ มี เดอ วิแลร์
ภาคีไทย ราชอาณาจักรสยาม
ฝรั่งเศส สาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ 3
ภาษาภาษาไทย
ภาษาฝรั่งเศส

สนธิสัญญาสยาม–ฝรั่งเศส ร.ศ. 112[1] (อังกฤษ: Franco–Siamese Treaty of 1893; ฝรั่งเศส: Traité français–siamois de 1893) เป็นสนธิสัญญาสันติภาพระหว่าง ราชอาณาจักรสยาม (ต่อมาคือ ประเทศไทย) ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ กับสาธารณรัฐฝรั่งเศส ในสมัยของประธานาธิบดีมารี ฟร็องซัว ซาดี การ์โน (Marie François Sadi Carnot) ซึ่งได้มีการลงนามสนธิสัญญาฉบับนี้ที่กรุงเทพมหานครเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2436 (ตรงกับ ร.ศ. 112 และ ค.ศ. 1893) เพื่อยุติวิกฤตการณ์ ร.ศ. 112

สนธิสัญญาสยาม–ฝรั่งเศส ร.ศ. 112 มีสาระสำคัญดังนี้:

  • สยามต้องยอมสละดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง ตลอดถึงเกาะแก่งในแม่น้ำโขงทั้งหมด เป็นพื้นที่ 143,800 ตารางกิโลเมตร พลเมืองประมาณ 600,000 คน ให้แก่ฝรั่งเศส
  • สยามต้องห้ามมิให้มีเรือติดอาวุธไว้ใช้ หรือเดินไปมาในน่านน้ำของทะเลสาบ และของแม่น้ำโขง และลำน้ำที่แยกจากแม่น้ำโขง
  • สยามต้องไม่สร้างค่ายหรือที่ตั้งกองทหารไว้ในเมืองพระตะบอง และเมืองนครเสียมราฐ รวมทั้งบนฝั่งขวาแม่น้ำโขงในรัศมี 25 กิโลเมตร
  • ฝรั่งเศสสงวนสิทธิจะตั้งกงสุล ณ ที่ใดก็ได้ โดยเฉพาะที่น่านและโคราช
  • สยามต้องชดใช้ค่าเสียหายให้ฝรั่งเศสเป็นเงินจำนวน 3 ล้านฟรังก์ ตีเป็นเงินไทยประมาณ 1,560,000 บาท ในสมัยนั้น
  • ฝรั่งเศสได้ยึดเมืองจันทบุรีไว้ในอารักขาจนกว่าสยามจะชดใช้ค่าเสียหายจนครบ

การลงนาม

[แก้]

ผู้มีอำนาจเต็มฝ่ายสยามซึ่งลงลายมือชื่อในสนธิสัญญา คือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ[2] เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศ ส่วนฝ่ายฝรั่งเศส คือ ชาร์ล เลอร์ มี เดอ วิแลร์ (Charles Le Myre de Vilers) ผู้แทนฝรั่งเศส ซึ่งลงนาม ณ กรุงเทพมหานคร ราชอาณาจักรสยาม เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม ร.ศ. 112 (ตรงกับ ค.ศ. 1893 และ พ.ศ. 2436)

เหตุการณ์สืบเนื่อง

[แก้]

ฝรั่งเศสยึดเมืองจันทบุรีไว้ในอารักขา พ.ศ. 2436–2447

[แก้]
ตึกแดงเป็นอาคารที่ฝรั่งเศสสร้างขึ้นในสมัยที่ฝรั่งเศสยึดครองเมืองจันทบุรี ระหว่าง 9 สิงหาคม พ.ศ. 2436 ถึง 8 มกราคม พ.ศ. 2447

ฝรั่งเศสได้ยึดเมืองจันทบุรีตั้งแต่วันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2436 ถึง 8 มกราคม พ.ศ. 2447 รวมเป็นเวลา 10 ปี 6 เดือน โดยฝรั่งเศสได้สร้างตึกแดงให้เป็นฐานทัพบัญชาการทหารฝรั่งเศส และสร้างคุกขี้ไก่ขึ้นมาเพื่อกักขังนักโทษชาวไทยที่ได้ต่อต้านกับชาวฝรั่งเศส

หลังจากผลของสนธิสัญญาสยาม–ฝรั่งเศส ร.ศ. 122 สยามจึงต้องเอาฝั่งขวาแม่น้ำโขงตรงข้ามเมืองหลวงพระบาง นครจำปาศักดิ์ จังหวัดตราด และจังหวัดปัจจันตคีรีเขตเข้าแลก เพื่อให้ฝรั่งเศสคืนจันทบุรี ฝรั่งเศสจึงจะยอมถอนทหารออกจากจันทบุรีไปอยู่ตราด

การถอนทหารออกจากฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง

[แก้]
แผนที่ทางรัฐศาสตร์ของราชอาณาจักรสยาม: (ซ้าย)​ ก่อนวิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 (ขวา)​ หลังสนธิสัญญาในวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2436

หลังการลงนามในหนังสือสัญญา เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2436 แล้ว เรื่องที่ต้องดำเนินการต่อมาซึ่งสืบเนื่องกับวิกฤตการณ์คือ การถอนทหารออกจากฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง การประกาศให้คนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงที่เข้ามาอยู่ทางฝั่งขวาแม่น้ำโขงกลับถิ่นฐานของตนเอง

การพิจารณาคดีพระยอดเมืองขวาง

[แก้]

การพิจารณาคดีพระยอดเมืองขวาง ในกรณีพระยอดเมืองขวาง (ขำ ยอดเพชร) ซึ่งเป็นข้าหลวงไทยประจำเมืองคำเกิด คำมวน และเป็นผู้นำในการต่อสู้กับทหารฝรั่งเศส เมื่อปลายเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2436 ทำให้ทหารฝรั่งเศสชื่อ นายโกรส กูแรง กับทหารญวน อีก 12 คนถึงแก่ความตาย (แต่ฝรั่งเศสกล่าวหาว่ามีทหารเสียชีวิตระหว่าง 16 - 24 คน) ฝ่ายไทยเสียชีวิต 6 คน บาดเจ็บ 5 คน ฝรั่งเศสต้องการให้ลงโทษพระยอดเมืองขวาง รัฐบาลไทยจึงตั้ง “ศาลรับสั่งพิเศษ” ขึ้นมาพิจารณาคดีนี้และมีคำตัดสินว่า พระยอดเมืองขวางไม่ผิด เพราะเป็นการปฏิบัติงานในหน้าที่ ซึ่งทำให้ฝรั่งเศสไม่พอใจจึงเรียกร้องให้ไทยตั้ง “ศาลผสม” ฝรั่งเศส-ไทย ขึ้นทำหน้าที่พิพากษาคดี ทำให้ฝ่ายไทยไม่พอใจมาก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวถึงกับทรงปรารภว่า “แลไม่เห็นเลยว่าจะจบเพียงใด กว่าจะได้ตัดหัวพระยอด...” ศาลผสมได้ตัดสินคดีในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2437 ว่าพระยอดเมืองขวางมีความผิดให้จำคุกเป็นเวลา 20 ปี พระยอดเมืองขวางถูกจำคุกอยู่จนเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2441 จึงได้รับการปล่อยตัวโดยข้อตกลงระหว่างไทยกับฝรั่งเศส[3]

การเสด็จประพาสยุโรปของรัชกาลที่ 5 พ.ศ. 2440 และ 2450

[แก้]

สนธิสัญญาสยาม–ฝรั่งเศส ร.ศ. 122 และ 125

[แก้]

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. ฝรั่งเศสและสยาม ลงนามใน ‘สนธิสัญญาสงบศึก' ในวิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 ในวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2436
  2. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทววงศ์วโรปการ ทรงลงนามในสนธิสัญญาไทยกับฝรั่งเศส
  3. "วิกฤตการณ์ ร.ศ. 112". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-09-13. สืบค้นเมื่อ 2023-02-27.