ข้ามไปเนื้อหา

ประเทศลาว

พิกัด: 18°N 105°E / 18°N 105°E / 18; 105
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

18°N 105°E / 18°N 105°E / 18; 105

สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

ສາທາລະນະລັດ ປະຊາທິປະໄຕ ປະຊາຊົນລາວ (ลาว)
คำขวัญ"สันติภาพ เอกราช ประชาธิปไตย
เอกภาพ วัฒนาถาวร"
(ลาว: ສັນຕິພາບ ເອກະລາດ ປະຊາທິປະໄຕ
ເອກະພາບ ວັດທະນະຖາວອນ
)
ที่ตั้งของ ประเทศลาว  (เขียว)

ในอาเซียน  (เทาเข้ม)  —  [คำอธิบายสัญลักษณ์]

เมืองหลวง
และเมืองใหญ่สุด
เวียงจันทน์
17°58′N 102°36′E / 17.967°N 102.600°E / 17.967; 102.600
ภาษาราชการภาษาลาว
ภาษาพูด
กลุ่มชาติพันธุ์
(2015[2])
ศาสนา
เดมะนิมชาวลาว
การปกครองรัฐเดี่ยว ลัทธิมากซ์–เลนิน พรรคเดียว สาธารณรัฐสังคมนิยม
ทองลุน สีสุลิด
สอนไซ สีพันดอน
บุนทอง จิดมะนี
ปานี ยาท่อตู้
ไซสมพอน พมวิหาน
สภานิติบัญญัติสภาแห่งชาติ
ก่อตั้ง
ค.ศ. 1354–1707
ค.ศ. 1707–1778
• รัฐบรรณาการของสยาม
ค.ศ. 1778–1893
ค.ศ. 1893–1953
• รวมราชอาณาจักร
11 พฤษภาคม ค.ศ. 1947
22 ตุลาคม ค.ศ. 1953
2 ธันวาคม ค.ศ. 1975
14 สิงหาคม ค.ศ. 1991
พื้นที่
• รวม
237,955 ตารางกิโลเมตร (91,875 ตารางไมล์)[5] (อันดับที่ 82)
2
ประชากร
• ค.ศ. 2022 ประมาณ
7,749,595[5] (อันดับที่ 103)
26.7 ต่อตารางกิโลเมตร (69.2 ต่อตารางไมล์)
จีดีพี (อำนาจซื้อ) ค.ศ. 2023 (ประมาณ)
• รวม
เพิ่มขึ้น 74.309 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ[6] (อันดับที่ 106)
เพิ่มขึ้น 9,800 ดอลลาร์สหรัฐ[6] (อันดับที่ 125)
จีดีพี (ราคาตลาด) ค.ศ. 2023 (ประมาณ)
• รวม
ลดลง 14.091 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ[6] (อันดับที่ 145)
ลดลง 1,858 ดอลลาร์สหรัฐ[6] (อันดับที่ 152)
จีนี (ค.ศ. 2012)36.4[7]
ปานกลาง
เอชดีไอ (ค.ศ. 2021)ลดลง 0.607[8]
ปานกลาง · อันดับที่ 140
สกุลเงินกีบ (₭) (LAK)
เขตเวลาUTC+7 (เวลาในประเทศลาว)
รูปแบบวันที่วดป
ขับรถด้านขวา
รหัสโทรศัพท์+856
รหัส ISO 3166LA
โดเมนบนสุด.la

ลาว (ลาว: ລາວ) หรือชื่ออย่างเป็นทางการคือ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (ลาว: ສາທາລະນະລັດ ປະຊາທິປະໄຕ ປະຊາຊົນລາວ, อักษรย่อ: ສປປ ລາວ) เป็นประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีพื้นที่ 236,800 ตารางกิโลเมตร มีพรมแดนติดกับจีนทางทิศเหนือ ติดกับพม่าทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ติดกับเวียดนามทางทิศตะวันออก ติดกับกัมพูชาทางทิศใต้ และติดกับไทยทางทิศตะวันตก กั้นด้วยแม่น้ำโขงเป็นบางช่วง มีเมืองหลวงและเมืองที่ใหญ่ที่สุดคือเวียงจันทน์[9]

ลาวเป็นประเทศที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานมาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 14 โดยเคยเป็นหนึ่งในอาณาจักรที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้[10] เนื่องจากที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ซึ่งอยู่ในศูนย์กลางของภูมิภาค จึงกลายเป็นศูนย์กลางการค้าทางบกและร่ำรวยทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรม[11] หลังจากช่วงเวลาแห่งความขัดแย้งภายในอาณาจักรล้านช้างได้แยกออกเป็นสามส่วนได้แก่ หลวงพระบาง, เวียงจันทน์ และจำปาศักดิ์[12] ก่อนจะตกเป็นประเทศราชของสยามในปี ค.ศ. 1778 ยาวนานนับศตวรรษจนเกิดวิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 ใน ค.ศ. 1893 ทำให้ดินแดนลาวทั้งหมดได้ตกอยู่ภายใต้การปกครองของฝรั่งเศสและได้รวมตัวกันเป็นประเทศลาวใน ค.ศ. 1949[13] หลังจากการยึดครองของญี่ปุ่น แต่ถูกฝรั่งเศสยึดครองอีกครั้งกระทั่งได้รับเอกราชใน ค.ศ. 1953[14] ราชอาณาจักรลาวได้กำเนิดขึ้นโดยปกครองแบบราชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญภายใต้การปกครองของสมเด็จพระเจ้าศรีสว่างวงศ์ ต่อมาลาวได้เผชิญกับสงครามกลางเมืองระหว่างฝ่ายคอมมิวนิสต์ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสหภาพโซเวียต ต่อสู้กับรัฐบาลฝ่ายประชาธิปไตยซึ่งสนับสนุนสถาบันพระมหากษัตริย์และได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกา ภายใต้การปกครองของราชอาณาจักรลาวทำให้ลาวต้องเข้าไปเป็นพันธมิตรกับสหรัฐ มีการก่อรัฐประหารและการปกครองภายใต้ระบอบเผด็จการทหารอยู่หลายครั้งเช่น การรัฐประหารของภูมี หน่อสวรรค์และกองแล วีระสาน การที่ราชอาณาจักรลาวเข้าไปพัวพันกับยาเสพติดของซีไอเอและการเพิ่มอำนาจทางการเมืองให้กับกลุ่มทหารและสถาบันพระมหากษัตริย์จนขัดกับหลักการประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญอย่างร้ายแรง ในวันที่ 21 พฤศจิกายน ค.ศ. 1975 ขบวนการนักศึกษา 21 องค์กรที่ไม่พอใจการปกครองของราชอาณาจักรลาวได้จัดชุมนุมในเวียงจันทน์เพื่อเรียกร้องให้ล้มเลิกสถาบันกษัตริย์

หลังสงครามเวียดนามยุติลงใน ค.ศ. 1975 เหล่าขบวนการนักศึกษา 21 องค์กรได้หันไปร่วมมือกับ"ปะเทดลาว" ขบวนการปฏิวัติของฝ่ายคอมมิวนิสต์ที่ได้ครองอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จและสงครามกลางเมืองได้ยุติลง ประกอบกับกระแสเรียกร้องของเหล่าประชาชนและนักศึกษาได้มีการลงมติล้มเลิกระบอบกษัตริย์อย่างถาวร สมเด็จพระเจ้าศรีสว่างวัฒนาในฐานะพระมหากษัตริย์องค์สุดท้ายถูกเชิญเข้าค่ายกักกันในเวียงไซ และสวรรคตอย่างเป็นปริศนา มีการเปลี่ยนระบอบการปกครองมาเป็นระบอบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์และสถาปนาประเทศเป็น "สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว" ซึ่งในช่วงแรกลาวต้องพึ่งพาความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจจากสหภาพโซเวียตจนกระทั่งล่มสลายใน ค.ศ. 1991[15]

ประเทศลาวมีส่วนร่วมในข้อตกลงการค้าเอเชียแปซิฟิก การประชุมสุดยอดอาเซียน การประชุมเอเชียตะวันออก และสมัครเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลกตั้งแต่ ค.ศ. 1997 ก่อนจะได้รับการตอบรับใน ค.ศ. 2013 ลาวเป็นประเทศที่สามารถผลิตไฟฟ้าได้เอง[16] มีการสร้างเขื่อนโดยผลิตจากพลังงานน้ำและส่งขายไปยังประเทศเพื่อนบ้านเช่น ไทย, จีน และเวียดนาม ในด้านเทคโนโลยีนั้น ลาวได้เปิดให้บริการ 4 จี เป็นประเทศที่ 2 ของอาเซียนต่อจากสิงคโปร์ มาตั้งแต่ ค.ศ. 2012 ลาวยังเป็นประเทศที่เป็นจุดเชื่อมต่อของการคมนาคมโดยรถไฟไปสู่ประเทศเพื่อนบ้านจากการมีทางรถไฟสายสำคัญ 4 แห่ง ซึ่งล่าสุดได้มีการเปิดใช้ทางรถไฟสายเวียงจันทน์–บ่อเต็น ใน ค.ศ. 2021[17] ลาวยังถือเป็นประเทศที่มีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูงที่สุดชาติหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียแปซิฟิค[18] โดยมีอัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) เฉลี่ย 7.4% นับตั้งแต่ ค.ศ. 2009 เป็นต้นมา[19]

แม้ปัจจุบันลาวจะเป็นประเทศที่มีการพัฒนาและความเจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็วแต่การปกครองแบบสาธารณรัฐสังคมนิยมพรรคเดียวตามอุดมการณ์ของลัทธิมากซ์-เลนิน นำโดยพรรคประชาชนปฏิวัติลาว[20] ทำให้ยังคงได้รับการวิจารณ์จากนานาชาติในด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศอันนำไปสู่ความยากจน, ความเหลื่อมล้ำทางสังคม, การจำกัดเสรีภาพพลเมือง และการกดขี่ชนกลุ่มน้อยซึ่งยังเป็นปัญหาสำคัญ กว่า 53% ของประชากรลาวอาศัยอยู่ในเขตพื้นที่ราบลุ่ม ลาวถือเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์มากที่สุดแห่งหนึ่ง[21] โดยมีทั้งชาวมอญ, กัมพูชา และเผ่าม้งอาศัยอยู่ตามหุบเขาทั่วประเทศ

ศัพทมูลวิทยา

[แก้]

คำว่า (Laos) ในภาษาอังกฤษ ได้รับการบัญญัติโดยฝรั่งเศสซึ่งรวมราชอาณาจักรลาวทั้งสามในอินโดจีนของฝรั่งเศสใน ค.ศ. 1893 และตั้งชื่อประเทศเป็นรูปพหุพจน์ตามกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีมากที่สุดคือชาวลาว[22] ในภาษาอังกฤษ อักษร 's' เป็นอักษรที่ต้องออกเสียงและไม่ใช่อักษรเงียบ[22][23][24][25][26] ในภาษาลาว ชื่อประเทศคือเมืองลาว (ເມືອງລາວ) หรือ ปะเทดลาว (ປະເທດລາວ) ทั้งสองคำหมายถึง 'ประเทศลาว'[27]

ประวัติศาสตร์

[แก้]

ยุคก่อนประวัติศาสตร์และประวัติศาสตร์ช่วงต้น

[แก้]
พระธาตุหลวงที่นครหลวงเวียงจันทน์ ถือเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ประจำชาติลาว

มีการค้นพบกะโหลกศีรษะมนุษย์ยุคโบราณในปี 2009 ที่ถ้ำผาลิงในเทือกเขาอันนัมทางตอนเหนือของลาว โดยกะโหลกศีรษะนี้มีอายุราว 46,000 ปี จึงกลายเป็นซากดึกดำบรรพ์มนุษย์สมัยใหม่ที่เก่าแก่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้[28] มีการค้นพบโบราณวัตถุจากหินที่สันนิษฐานว่าร่วมสมัยเดียวกับช่วงปลายสมัยไพลสโตซีนทางตอนเหนือของลาว[29] หลักฐานทางโบราณคดีชี้ให้เห็นถึงสภาพสังคมเกษตรกรรมที่พัฒนาขึ้นในช่วงสหัสวรรษที่ 4 ก่อนคริสตกาล[30] หลุมศพและสุสานประเภทอื่น ๆ บ่งบอกถึงสภาพสังคมอันซับซ้อน มีการค้นพบเครื่องสัมฤทธิ์ในช่วง 1500 ปีก่อนคริสตกาล และเครื่องมือเหล็กในช่วง 700 ปีก่อนคริสตกาล ในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ของลาวได้มีการติดต่อกับอารยธรรมอื่น ๆ เช่น อารยธรรมจีนและอินเดีย เป็นต้น ตามหลักฐานทางภาษาและประวัติศาสตร์อื่น ๆ กลุ่มชนเผ่าที่พูดภาษาไทได้อพยพจากกว่างซีไปยังดินแดนทางตะวันตกเฉียงใต้หรือดินแดนสมัยใหม่ของลาวและไทยในช่วงระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 8 และ 10[31]

ยุคล้านช้าง

[แก้]
อาณาเขตของอาณาจักรลาวล้านช้าง

ประเทศลาวมีประวัติศาสตร์ความเป็นมาอันยาวนานจนถึงสมัยอาณาจักรล้านช้าง ซึ่งสถาปนาขึ้นในช่วงคริสต์ศวรรษ 14 โดยเจ้าชายฟ้างุ้ม[32]: 223  ซึ่งพระองค์ถูกเนรเทศออกจากจักรวรรดิเขมร เจ้าชายฟ้างุ่มพร้อมทหารเขมร 10,000 นาย พิชิตดินแดนของลาวหลายแห่งในแถบลุ่มแม่น้ำโขง จนในที่สุดก็สามารถยึดครองเวียงจันทน์ได้ พระเจ้าฟ้างุ้มสืบสายมาจากกษัตริย์ลาวที่สืบสายอันยาวนานจากขุนบรม[33] พระองค์ทำให้พระพุทธศาสนาเถรวาทเป็นศาสนาประจำอาณาจักร และเป็นรัชสมัยของพระองค์เป็นยุคที่ล้านช้างเจริญรุ่งเรือง ในเวลาต่อมา เสนาอำมาตย์ใหญ่ไม่สามารถทานทนต่อการประพฤติตนของพระองค์ จึงเป็นเหตุให้พระองค์ถูกขับออกจากเวียงจันทน์ และเสด็จลี้ภัยไปอยู่บริเวณจังหวัดน่านของไทยในปัจจุบันในปี 1373[34] ซึ่งเมื่อพระองค์เสด็จสวรรคต พระราชบุตรองค์โตของพระองค์ ท้าวอุ่นเฮือน เสด็จขึ้นครองราชย์ภายใต้พระนาม "พระเจ้าสามแสนไท" และครองราชย์ยาวนานถึง 43 ปี อาณาจักรล้านช้างกลายเป็นศูนย์กลางทางการค้าที่สำคัญในรัชสมัยของพระเจ้าสามแสนไท แต่ภายหลังจากพระองค์เสด็จสวรรคตในปี 1421 ล้านช้างก็เริ่มเสื่อมอำนาจลงและเกิดความวุ่นวายยาวนานเป็นศตวรรษ[35]

ในปี 1520 พระยาโพธิสาลราชขึ้นครองราชย์และทรงย้ายราชธานีจากเชียงทองมายังเวียงจันทน์เพื่อหลีกเลี่ยงการรุกรานของพม่า ต่อมาสมเด็จพระไชยเชษฐาธิราชขึ้นครองราชย์ในปี 1548 ภายหลังจากการสวรรคตของพระราชบิดาของพระองค์ โดยพระองค์โปรดเกล้าฯ ให้สร้างธาตุหลวง ซึ่งต่อมาจะกลายเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ประจำชาติลาว พระไชยเชษฐาธิราชเสด็จสวรรคตระหว่างที่พระองค์ทรงเดินทัพไปปราบกบฏในกัมพูชา และล้านช้างก็เกิดการโกลาหลไม่มั่นคงกว่าเจ็ดสิบปี ซึ่งเกี่ยวข้องกับการรุกรานของพม่าและสงครามกลางเมือง[36]

ในปี 1637 เมื่อพระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราชขึ้นครองราชย์ อาณาจักรล้านช้างได้ขยายอาณาเขตได้อย่างกว้างขวาง ทำให้รัชสมัยของพระองค์จึงถูกมองว่าเป็นยุคทองของประเทศลาว อย่างไรก็ตาม พระองค์เสด็จสวรรคตโดยไม่มีรัชทายาทสืบราชสมบัติ จึงทำให้อาณาจักรถูกแบ่งออกเป็นสามส่วนในช่วงระหว่างปี 1763 จนถึง 1769 เมื่อกองทัพพม่าได้เข้ารุกรานทางตอนเหนือของลาวและหลวงพระบาง ในขณะที่จำปาศักดิ์ตกเป็นประเทศราชภายใต้การปกครองของสยาม[37]

เจ้าอนุวงศ์ได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้เป็นพระมหากษัตริย์แห่งเวียงจันทน์โดยสยาม พระองค์ทรงสนับสนุนการฟื้นฟูศิลปกรรมและวรรณคดีลาว และได้ฟื้นฟูความสัมพันธ์อันดีกับหลวงพระบาง อย่างไรก็ตาม เนื่องด้วยแรงผลักดันของเวียดนาม จึงทำให้พระองค์กระทำการกบฏต่อสยามในปี 1826 แต่กบฏครั้งนี้ไม่ประสบความสำเร็จ และเวียงจันทน์ถูกทำลายอย่างย่อยยับ[38] เจ้าอนุวงศ์ถูกคุมตัวมายังกรุงเทพในฐานะนักโทษ จนในที่สุดพระองค์ก็สิ้นพระชนม์ที่นั่น[39]

การทัพทางทหารของสยามในลาวเมื่อปี 1876 ได้รับการอธิบายโดยชาวอังกฤษที่อาศัยอยู่ในสยามว่า "เป็นการกวาดต้อนทาสขนานใหญ่"[40]

พรรคประชาชนสมัยอาณานิคม การประกาศเอกราช และสงครามกลางเมือง

[แก้]
สมเด็จพระเจ้าศรีสว่างวัฒนากับนายพลฝรั่งเศสที่นครหลวงพระบาง วันที่ 4 พฤษภาคม ค.ศ. 1953

ในปี ค.ศ. 1893 สยามได้เกิดข้อขัดแย้งกับฝรั่งเศสในเรื่องอำนาจเหนือดินแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงจนเกิดวิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 จากการใช้เล่ห์เหลี่ยมของโอกุสต์ ปาวีกงสุลฝรั่งเศส โดยการใช้เรือรบมาปิดอ่าวไทยเพื่อบังคับให้ยกดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง รวมทั้งดินแดนอื่น ๆ ดินแดนลาวเกือบทั้งหมดก็เปลี่ยนไปตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของประเทศฝรั่งเศสในปีนั้นและถูกรวมเป็นส่วนหนึ่งของอินโดจีนฝรั่งเศส ต่อมาภายหลังดินแดนลาวส่วนอื่นที่อยู่ฝั่งขวาของแม่น้ำโขงก็ตกเป็นของฝรั่งเศสอีกในปี ค.ศ. 1907

ราชอาณาจักรลาว

[แก้]
ซากปรักหักพังที่เมืองคูณ, อดีตเมืองหลวงของแขวงเชียงขวาง ถูกทิ้งระเบิดทำลายโดยกองทัพอากาศสหรัฐอเมริกาใน ปฏิบัติการทิ้งระเบิดในลาว ปี ค.ศ. 1960 โดยความยินยอมของรัฐบาลราชอาณาจักรลาวที่มีนโยบายนิยมอเมริกา

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 กองทัพญี่ปุ่นได้รุกเข้ามาในลาวและดินแดนอินโดจีนฝรั่งเศสอื่น ๆ เมื่อญี่ปุ่นใกล้แพ้สงคราม ขบวนการลาวอิสระซึ่งเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อกู้เอกราชลาวในเวลานั้นประกาศเอกราชให้ประเทศลาวเป็นประเทศ ราชอาณาจักรลาว หลังญี่ปุ่นแพ้สงคราม ฝรั่งเศสก็กลับเข้ามามีอำนาจในอินโดจีนอีกครั้งหนึ่ง แต่เนื่องจากการที่ เวียดมินห์ปลดปล่อยเวียดนามได้ จึงเป็นการสั่นคลอนอำนาจฝรั่งเศสจนยอมให้ลาวประกาศเอกราชบางส่วนในปี ค.ศ. 1949 และได้เอกราชสมบูรณ์ในปี ค.ศ. 1953 ภายหลังฝรั่งเศสรบแพ้เวียดนามที่เดียนเบียนฟู ผู้ที่มีบทบาทในการประกาศเอกราชคือ เจ้าสุวรรณภูมา เจ้าเพชรราช และ เจ้าสุภานุวงศ์ โดยมี เจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวงศ์ ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้ามหาชีวิต (พระมหากษัตริย์) จากอาณาจักรล้านช้างหลวงพระบางเดิม และได้รวมทั้ง 3 อาณาจักรคือ ล้านช้างหลวงพระบาง ล้านช้างเวียงจันทน์ และ ล้านช้างจำปาศักดิ์ เข้าด้วยกันเป็นราชอาณาจักรลาว

ค.ศ. 1959 เจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวงศ์เสด็จสวรรคต เจ้าสว่างวัฒนาจึงขึ้นครองราชย์เป็นเจ้ามหาชีวิตแทน เหตุการณ์ในลาวยุ่งยากมาก เจ้าสุภานุวงศ์ 1 ในคณะลาวอิสระประกาศตนว่าเป็นพวกฝ่ายซ้ายนิยมคอมมิวนิสต์ และเป็นหัวหน้าขบวนการประเทศลาว ได้ออกไปเคลื่อนไหวทางการเมืองในป่า เนื่องจากถูกฝ่ายขวาในลาวคุกคามอย่างหนัก ถึงปี ค.ศ. 1961 ร้อยเอกกองแลทำการรัฐประหารรัฐบาลเจ้าสุวรรณภูมา แต่ถูกกองทัพฝ่ายขวาและฝ่ายซ้ายรุมจนพ่ายแพ้ กองแลต้องลี้ภัยไปสหรัฐจนถึงปัจจุบัน

เหตุการณ์ทางการเมืองในระยะเวลาไม่นานหลังจากนั้นบังคับให้ลาวต้องกลายเป็นสมรภูมิลับของสงครามเวียดนาม และเป็นปัจจัยก่อให้เกิดการรัฐประหารและสงครามกลางเมืองที่ยืดเยื้อ ภายใต้การแทรกแซงของชาติต่าง ๆ ทั้งฝ่ายคอมมิวนิสต์และฝ่ายโลกเสรี จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1975 พรรคประชาชนปฏิวัติลาว ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสหภาพโซเวียตและเวียดนามเหนือ โดยการนำของเจ้าสุภานุวงศ์ ก็ยึดอำนาจรัฐจากรัฐบาลประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขของ เจ้าสุวรรณภูมา พระเชษฐา ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลฝรั่งเศสและสหรัฐอเมริกาสำเร็จ และได้เรียกร้องให้เจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวัฒนาทรงยินยอมสละราชสมบัติ เจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวัฒนาจึงทรงยินยอมสละราชสมบัติ คณะปฏิวัติลาวจึงประกาศสถาปนาประเทศลาวเป็น "สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว" อย่างเป็นทางการในวันที่ 2 ธันวาคม ค.ศ. 1975 โดยยังคงแต่ตั้งให้อดีตเจ้ามหาชีวิตเป็นที่ปรึกษาของรัฐบาลระบอบใหม่

สมัยสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

[แก้]
กองกำลังประชาชนของขบวนการปะเทดลาว (ต่อมาเป็นกองทัพประชาชนลาว)
การลงมติล้มล้างระบอบกษัตริย์และจัดตั้งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวของการประชุมสมัชชาใหญ่ สมาชิกสภาแห่งชาติลาวชุดแรก‎

ในวันที่ 1 ธันวาคม ค.ศ. 1975 กองประชุมผู้แทนทั่วประเทศที่นครหลวงเวียงจันทน์ มีผู้แทนเข้าร่วม 264 คน พิจารณารับรองประกาศยุบรัฐบาลชั่วคราวแห่งชาติ และพิจารณาเรื่องต่าง ๆ กองประชุมมีมติเอาธงดวงเดือนของขบวนการลาวอิสระเป็นธงชาติลาว เปลี่ยนเนื้อร้องเพลงชาติใหม่ ยกเลิกระบอบราชาธิปไตยและสถาปนาเป็นสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ยกเลิกบรรดาศักดิ์และฐานันดรศักดิ์ของเหล่าเชื้อพระวงศ์ เลิกการใช้คำราชาศัพท์ที่แย่งแยกชนชั้น แต่งตั้งเจ้าสุภานุวงศ์เป็นประธานาธิบดี, ท่านไกสอน พมวิหาน เป็นนายกรัฐมนตรี, เจ้าศรีสว่างวัฒนา เป็นที่ปรึกษาสูงสุดของประธานาธิบดี, เจ้าสุวรรณภูมา เป็นที่ปรึกษาสูงสุดของรัฐบาล และมีมติอื่น ๆ ในวันที่ 2 ธันวาคม ค.ศ. 1975 และปิดกองประชุมด้วยผลสำเร็จ แต่ภายหลังพรรคประชาชนปฏิวัติลาวก็ได้กุมตัวอดีตเจ้ามหาชีวิต,พระมเหสีและอดีตพระบรมวงศานุวงศ์ราชวงศ์ล้านช้าง ไปคุมขังในค่ายกักกัน เนื่องจากความขัดแย้งทางการเมือง และต่อมาทุกพระองค์ต่างสิ้นพระชนม์ด้วยโรคมาลาเรีย และยังมีการจับกุมนักการเมือง ข้าราชการในระบอบเก่า รวมทั้งประชาชนลาวจำนวนมากเข้าค่ายกักกัน ส่วนใหญ่เสียชีวิตด้วยโรคขาดสารอาหารและถูกยิงทิ้ง ระหว่างสงครามกลางเมืองมีผู้เสียชีวิตระหว่าง 20,000 ถึง 62,000 คน[41][42] ฝ่ายนิยมเจ้าที่ยังจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ต่างลี้ภัยออกนอกประเทศไปตั้งรัฐบาลราชอาณาจักรลาวพลัดถิ่นในสหรัฐ เพื่อหวังฟื้นฟูระบอบกษัตริย์อีกครั้ง แต่ไม่มีประเทศใดรับรอง

ประเทศลาวลงนามความตกลงยกสิทธิประจำกองทัพและแต่งตั้งที่ปรึกษาเพื่อสนับสนุนในการบริหารประเทศแก่เวียดนาม ความสัมพันธ์อันใกล้ชิดนี้มีการลงนามเป็นสนธิสัญญาอย่างเป็นทางการใน ค.ศ. 1977 ซึ่งเวียดนามไม่เพียงแต่ชี้นำนโยบายต่างประเทศของลาวเท่านั้น แต่ยังให้เวียดนามเข้ามาข้องแวะในชีวิตการเมืองและเศรษฐกิจทุกส่วนของลาว[41][43] ใน ค.ศ. 1979 เวียดนามขอให้ทางการลาวยุติความสัมพันธ์กับสาธารณรัฐประชาชนจีน ทำให้ถูกโดดเดี่ยวทางการค้าทั้งจากจีน สหรัฐและประเทศอื่น[44] ในปีนั้น เวียดนามมีทหารประจำการในลาว 50,000 นาย และมีข้าราชการพลเรือนเวียดนาม 6,000 คน[45][46]

ความขัดแย้งระหว่างกบฏม้งและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ดำเนินไปในพื้นที่สำคัญของลาว รวมทั้งเขตทหารปิด Saysaboune, เขตทหารปิด Xaisamboune และแขวงเชียงขวาง ระหว่าง ค.ศ. 1975 ถึง 1996 สหรัฐย้ายถิ่นผู้ลี้ภัยชาวลาวประมาณ 250,000 คน และม้ง 130,000 คนในประเทศไทย[47]

ภูมิศาสตร์

[แก้]
แผนที่ประเทศลาว

ที่ตั้งและอาณาเขต

[แก้]

ประเทศลาวเป็นประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งตั้งอยู่บนใจกลางของคาบสมุทรอินโดจีน ระหว่างละติจูดที่ 14 - 23 องศาเหนือ ลองจิจูดที่ 100 - 108 องศาตะวันออก มีพื้นที่โดยรวมประมาณ 236,800 ตารางกิโลเมตร แบ่งเป็นภาคพื้นดิน 230,800 ตารางกิโลเมตร ภาคพื้นน้ำ 6,000 ตารางกิโลเมตร โดยลาวเป็นประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล เนื่องด้วยตลอดแนวชายแดนของประเทศลาว ซึ่งมีความยาวรวม 5,083 กิโลเมตร ล้อมรอบด้วยชายแดนของประเทศเพื่อนบ้าน 5 ประเทศ เรียงตามเข็มนาฬิกา ดังนี้

ความยาวพื้นที่ประเทศลาวตั้งแต่เหนือจรดใต้ยาวประมาณ 1,700 กิโลเมตร ส่วนที่กว้างที่สุดกว้าง 500 กิโลเมตร และที่แคบที่สุด 140 กิโลเมตร เนื้อที่ทั้งหมด 236,800 ตารางกิโลเมตร

ลักษณะภูมิประเทศ

[แก้]

ภูมิประเทศของลาวอาจแบ่งได้เป็น 3 เขต คือ

  1. เขตภูเขาสูง เป็นพื้นที่ที่สูงกว่าระดับน้ำทะเลโดยเฉลี่ย 1,500 เมตรขึ้นไป พื้นที่นี้อยู่ในเขตภาคเหนือของประเทศ
  2. เขตที่ราบสูง คือพื้นที่ซึ่งสูงกว่าระดับน้ำทะเลเฉลี่ย 1,000 เมตร ปรากฏตั้งแต่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของที่ราบสูงเมืองพวนไปจนถึงชายแดนกัมพูชา เขตที่ราบสูงนี้มีที่ราบสูงขนาดใหญ่อยู่ 3 แห่ง ได้แก่ ที่ราบสูงเมืองพวน (แขวงเชียงขวาง), ที่ราบสูงนากาย (แขวงคำม่วน) และที่ราบสูงบริเวณ (ภาคใต้)
  3. เขตที่ราบลุ่ม เป็นเขตที่ราบตามแนวฝั่งแม่น้ำโขงและแม่น้ำต่าง ๆ เป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์มากที่สุดในเขตพื้นที่ทั้ง 3 เขต นับเป็นพื้นที่อู่ข้าวอู่น้ำที่สำคัญของประเทศ แนวที่ราบลุ่มเหล่านี้เริ่มปรากฏตั้งแต่บริเวณตอนใต้ของแม่น้ำงึม เรียกว่า ที่ราบลุ่มเวียงจันทน์ ผ่านที่ราบลุ่มสุวรรณเขต ซึ่งอยู่ตอนใต้เซบั้งไฟและเซบั้งเหียง และที่ราบจำปาศักดิ์ทางภาคใต้ของลาว ซึ่งปรากฏตามแนวแม่น้ำโขงเรื่อยไปจนจดชายแดนประเทศกัมพูชา

ทั้งนี้ เมื่อนำเอาพื้นที่ของเขตภูเขาสูงและเขตที่ราบสูงมารวมกันแล้ว จะมากถึง 3 ใน 4 ของพื้นที่ประเทศลาวทั้งหมด โดยจุดที่สูงที่สุดของประเทศลาวอยู่ที่ภูเบี้ย ในแขวงเชียงขวาง วัดความสูงได้ 2,817 เมตร (9,242 ฟุต)

ประเทศลาวมีแม่น้ำสายสำคัญอยู่หลายสาย โดยแม่น้ำซึ่งเป็นสายหัวใจหลักของประเทศ คือ แม่น้ำโขง ซึ่งไหลผ่านประเทศลาวเป็นระยะทาง 1,835 กิโลเมตร แม่น้ำสายนี้เป็นแม่น้ำสำคัญทั้งในด้านเกษตรกรรม การประมง การผลิตพลังงานไฟฟ้า การคมนาคมจากลาวเหนือไปจนถึงลาวใต้ และการใช้เป็นพรมแดนธรรมชาติระหว่างประเทศลาวกับประเทศเพื่อนบ้าน นอกจากนี้ แม่น้ำสายสำคัญของลาวแห่งอื่น ๆ ยังได้แก่

แม่น้ำโขงไหลผ่านหลวงพระบาง
แม่น้ำโขงไหลผ่านหลวงพระบาง
  • แม่น้ำอู (พงสาลี-หลวงพระบาง) ยาว 448 กิโลเมตร
  • แม่น้ำงึม (เชียงขวาง-เวียงจันทน์) ยาว 353 กิโลเมตร
  • แม่น้ำเซบั้งเหียง (สุวรรณเขต) ยาว 338 กิโลเมตร
  • แม่น้ำทา (หลวงน้ำทา-บ่อแก้ว) ยาว 523กิโลเมตร
  • แม่น้ำเซกอง (สาละวัน-เซกอง-อัตตะปือ) ยาว 320 กิโลเมตร
  • แม่น้ำเซบั้งไฟ (คำม่วน-สุวรรณเขต) ยาว 239 กิโลเมตร
  • แม่น้ำแบ่ง (อุดมไซ) ยาว 215 กิโลเมตร
  • แม่น้ำเซโดน (สาละวัน-จำปาศักดิ์) ยาว 192 กิโลเมตร
  • แม่น้ำเซละนอง (สุวรรณเขต) ยาว 115 กิโลเมตร
  • แม่น้ำกะดิ่ง (บอลิคำไซ) ยาว 103 กิโลเมตร
  • แม่น้ำคาน (หัวพัน-หลวงพระบาง) ยาว 90 กิโลเมตร

ลักษณะภูมิอากาศ

[แก้]

ประเทศลาวอยู่ในภูมิอากาศเขตร้อน มีลมมรสุมแต่ไม่มีลมพายุ สำหรับเขตภูเขาภาคเหนือและเขตเทือกเขา อากาศมีลักษณะกึ่งร้อนกึ่งหนาว อุณหภูมิสะสมเฉลี่ยประจำปีสูงถึง 15-30 องศาเซลเซียส และความแตกต่างของอุณหภูมิระหว่างกลางวันกับกลางคืนมีประมาณ 10 องศาเซลเซียส จำนวนชั่วโมงที่มีแสงแดดต่อปีประมาณ 2,300-2,400 ชั่วโมง (ประมาณ 6.3-6.5 ชั่วโมงต่อวัน) ความชื้นสัมพัทธ์ของอากาศมีประมาณร้อยละ 70-85 ปริมาณน้ำฝนในฤดูฝน (ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงตุลาคม) มีร้อยละ 75 - 90 ส่วนในฤดูแล้ง (ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ถึงเมษายน) ปริมาณน้ำฝนมีเพียงร้อยละ 10-25 และปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยต่อปีของแต่เขตก็แตกต่างกันอย่างมากมาย เช่น เขตเทือกเขาบริเวณทางใต้ได้รับน้ำฝนเฉลี่ยปีละ 300 เซนติเมตร ขณะที่บริเวณแขวงเชียงขวาง แขวงหลวงพระบาง แขวงไชยบุรี ได้รับเพียงแค่ 100-150 เซนติเมตร ส่วนแขวงเวียงจันทน์และแขวงสุวรรณเขตในช่วง 150-200 เซนติเมตร เช่นเดียวกับแขวงพงสาลี แขวงหลวงน้ำทา และแขวงบ่อแก้ว

การเมืองการปกครอง

[แก้]
กองทัพประชาชนลาวต้อนรับดมีตรี เมดเวเดฟ นายกรัฐมนตรีแห่งสหพันธรัฐรัสเซีย

สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวมีระบบการปกครองแบบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ (ทางการลาวใช้คำว่า ระบอบประชาธิปไตยประชาชน) โดยมีพรรคประชาชนปฏิวัติลาวเป็นองค์กรชี้นำประเทศ ซึ่งพรรคนี้เริ่มมีอำนาจสูงสุดตั้งแต่ลาวเริ่มปกครองในระบอบสังคมนิยมเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม ค.ศ. 1975 ประธานประเทศ (ประธานาธิบดี) ของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวคนปัจจุบัน ซึ่งมีวาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปี คือ ดร.ทองลุน สีสุลิด (ดำรงตำแหน่งเลขาธิการใหญ่คณะบริหารงานศูนย์กลางพรรคประชาชนปฏิวัติลาวอีกตำแหน่งหนึ่ง) ส่วนนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันคือนาย สอนไซ สีพันดอน

บริหาร

[แก้]

สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว มีนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร ซึ่งนายกรัฐมนตรีมาจากการแต่งตั้งของประธานประเทศโดยผ่านการอนุมัติจากสภาแห่งชาติ

นิติบัญญัติ

[แก้]

สภาแห่งชาติลาว เป็นองค์กรนิติบัญญัติสูงสุดของลาว มีอำนาจในการเห็นชอบตำแหน่งสำคัญต่าง ๆ อาทิ ประธานประเทศ นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี และยังถือเป็นองค์กรตัวแทนของประชาชน เป็นองค์การตัวแทนแห่งสิทธิ อำนาจ และ ผลประโยชน์ของประชาชน เป็นองค์การอำนาจแห่งรัฐ และเป็นองค์การนิติบัญญัติที่มี สิทธิพิจารณาข้อตัดสินใจหรือปัญหาสำคัญของชาติ รวมทั้ง ติดตามตรวจสอบการดำเนินงานของคณะรัฐบาล ศาลประชาชน และ องค์การอัยการประชาชน

ตุลาการ

[แก้]

ศาลประชาชนของลาวเป็นองค์กรตุลาการ ที่ได้รับการแต่งตั้งและเห็นชอบจากสภาแห่งชาติลาว

สถาบันการเมืองที่สำคัญ

[แก้]
  1. แนวลาวสร้างชาติ
  2. องค์กรจัดตั้ง เช่น สหพันธ์วัยหนุ่มลาว (สหพันธ์เยาวชน) สหพันธ์แม่หญิงลาว (สมาคมสตรี) กรรมบาลลาว (สหพันธ์กรรมกร) ซึ่งได้รับการสนับสนุนโดยพรรคประชาชนปฏิวัติลาว

การจัดตั้งและการบริหาร

[แก้]
  • หลายหมู่บ้านรวมกันเป็น เมือง (ก่อนหน้านี้จัดให้หลายหมู่บ้านรวมกันเป็น ตาแสง มีตาแสงเป็นผู้ปกครอง หลายตาแสงรวมกันจึงเรียกว่า เมือง)
  • หลายเมืองรวมกันเป็น แขวง
  • "คณะกรรมการปกครองหมู่บ้าน" มี นายบ้าน เป็นหัวหน้า เป็นผู้บริหารของหมู่บ้าน
  • "คณะกรรมการปกครองเมือง" มี เจ้าเมือง เป็นหัวหน้า เป็นผู้บริหารเมือง
  • "คณะกรรมการปกครองแขวง" มี เจ้าแขวง เป็นหัวหน้า เป็นผู้บริหารแขวง
  • "คณะกรรมการปกครองนครหลวง" มี เจ้าครองนครหลวง เป็นหัวหน้า เป็นผู้บริหารนครหลวง

กระทรวง

[แก้]

ประเทศลาวมีทั้งหมด 17 กระทรวง และ 4 องค์กรเทียบเท่า ได้แก่

ลำดับ กระทรวง ชื่อภาษาลาว ชื่อภาษาอังกฤษ
1 ห้องว่าการประธานประเทศ ຫ້ອງວ່າການປະທານປະເທດ Presidential Office
2 ห้องว่าการรัฐบาล ຫ້ອງວ່າການລັດຖະບານ Government's Office
3 กระทรวงกสิกรรมและป่าไม้ ກະຊວງກະສິກຳແລະປ່າໄມ້ Ministry of Agricultural and Forestry
4 กระทรวงศึกษาธิการและกีฬา ກະຊວງສຶກສາທິການ ແລະ ກິລາ Ministry of Education and Sports
5 กระทรวงพลังงานและบ่อแร่ ກະຊວງພະລັງງານແລະບໍ່ແຮ່ Ministry of Energy and Mine
6 กระทรวงการเงิน ກະຊວງການເງິນ Ministry of Finance
7 กระทรวงการต่างประเทศ ກະຊວງການຕ່າງປະເທດ Ministry of Foreign Affairs
8 กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า ກະຊວງອຸດສະຫະກຳແລະການຄ້າ Ministry of Industry and Commerce
9 กระทรวงแถลงข่าว วัฒนธรรม และท่องเที่ยว ກະຊວງຖະແຫລງຂ່າວ ວັດທະນະທຳ ແລະ ທ່ອງທ່ຽວ Ministry of Information, Culture and Tourism
10 กระทรวงยุติธรรม ກະຊວງຍຸຕິທຳ Ministry of Justice
11 กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม ກະຊວງແຮງງານແລະສະຫວັດດີການສັງຄົມ Ministry of Labour and Social Welfare
12 กระทรวงป้องกันประเทศ ກະຊວງປ້ອງກັນປະເທດ Ministry of Defence
13 กระทรวงแผนการและการลงทุน ກະຊວງແຜນການແລະການລົງທຶນ Ministry of Planning and Investment
14 กระทรวงสาธารณสุข ກະຊວງສາທາລະນະສຸກ Ministry of Health
15 กระทรวงป้องกันความสงบ ກະຊວງປ້ອງກັນຄວາມສະຫງົບ Ministry of Public Security
16 กระทรวงโยธาธิการและขนส่ง ກະຊວງໂຍທາທິການແລະຂົນສົ່ງ Ministry of Public Work and Transportation
17 กระทรวงภายใน ກະຊວງພາຍໃນ Ministry of Home Affaire
18 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ກະຊວງຊັບພະຍາກອນທໍາມະຊາດ ແລະ ສິ່ງແວດລ້ອມ Ministry of Natural Resource and Environment
19 กระทรวงเทคโนโลยี และ การสื่อสาร ກະຊວງເຕັກໂນໂລຊີ ແລະ ການສື່ສານ Ministry of Technology and Communication
20 องค์การตรวจตรารัฐบาล ອົງການກວດກາລັດຖະບານ Government Inspection Authority
21 ธนาคารแห่ง สปป.ลาว ທະນາຄານແຫ່ງ ສປປ.ລາວ Bank of Lao PDR

ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

[แก้]

ในปัจจุบัน ลาวมีความสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับรัสเซียจากการที่สหภาพโซเวียตเคยให้ความช่วยเหลือลาวตั้งแต่สงครามกลางเมือง โดยลาวพึ่งพาโซเวียตในแง่เศรษฐกิจมายาวนานจนกระทั่งการล่มสลายของจักรวรรดิ[48] ลาวยังมีความสัมพันธ์ที่ดีกับเวียดนามในแง่การทูต การเมือง การทหาร และการค้า โดยเวียดนามเป็นหนึ่งในชาติในภูมิภาคอาเซียนที่นำเข้ากระแสไฟฟ้าจากลาว โดยทั้งสองประเทศมีการลงนามในสนธิสัญญามิตรภาพในปี 1977[49]

ลาวยังมีความสัมพันธ์ทางการค้ากับสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ช่วงหลังสงครามกลางเมือง และได้มีการอนุมัติอย่างเป็นทางการผ่านกฎหมายของสภาคองเกรส[50] ในสมัยของประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู. บุช ลาวเข้าเป็นสมาชิกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ในเดือนกรกฎาคม 1997 และเข้ากับองค์การการค้าโลกในปี 2016 และในปี 2005 ลาวได้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกครั้งแรก[51]

จิตรกรรมฝาผนัง ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ในภาพแสดงโครงการพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดศูนย์พัฒนาและบริการด้านการเกษตร ห้วยซอน-ห้วยซั้ว (หลัก 22) ที่บ้านนายาง เมืองนาทรายทอง นครหลวงเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ร่วมกับ ฯพณฯ หนูฮัก พูมสะหวัน ประธานประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เมื่อวันที่ 8 เมษายน ค.ศ. 1994
สะพานมิตรภาพไทย–ลาว 1

กองทัพ

[แก้]

กองทัพประชาชนลาว (ลาว: ກອງທັບປະຊາຊົນລາວ) เป็นกองทัพของประเทศลาว โดยแบ่งออกเป็น 3 เหล่าทัพหลัก คือ กองทัพบก กองทัพอากาศ และกองทัพเรือ กองทัพประชาชนลาวอยู่ภายใต้การบริหารจัดการของกระทรวงป้องกันประเทศ มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงป้องกันประเทศเป็นผู้สั่งการ และมีประธานาธิบดีดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด ในปี 2563 กองทัพประชาชนลาวมีกำลังทหารประมาณร่วม 30,000 นาย โดยเป็นทหารบก 26,000 นาย และทหารอากาศ 4,000 นาย[52]

ปัญหาด้านสิทธิมนุษยชน

[แก้]

การละเมิดสิทธิมนุษยชนยังคงเป็นปัญหาสำคัญในลาว[53][54] ในดัชนีประชาธิปไตยของนักเศรษฐศาสตร์ปี 2016 ลาวจัดเป็นประเทศที่มี "ระบอบเผด็จการ"[55] ซึ่งจัดอยู่ในอันดับที่ต่ำที่สุดในบรรดาประเทศอาเซียนที่อยู่ในการศึกษานี้[56] ผู้สนับสนุนภาคประชาสังคมที่มีชื่อเสียง นักปกป้องสิทธิมนุษยชน ผู้คัดค้านทางการเมืองและศาสนา และผู้ลี้ภัยชาวม้งหายตัวไปจากฝีมือกองกำลังทหารและความมั่นคงของลาว แต่เห็นได้ชัดว่ารัฐธรรมนูญของลาวที่ประกาศใช้ในปี 1991 และแก้ไขในปี 2003[57] มีมาตรการป้องกันสำหรับสิทธิมนุษยชน ตัวอย่างเช่น มาตรา 8 ทำให้ต่างชาติเริ่มเชื่อมั่นว่าลาวเป็นรัฐข้ามชาติและมุ่งมั่นที่จะสร้างความเท่าเทียมกันระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ รัฐธรรมนูญยังมีบทบัญญัติเพื่อความเท่าเทียมทางเพศ เสรีภาพในการนับถือศาสนา เสรีภาพในการพูด และเสรีภาพในการกดและการชุมนุม เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2009 ลาวให้สัตยาบันในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองในการมุ่งเน้นไปที่การบรรลุการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน และการลดความยากจน

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลลาวมักฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญของตนเองและหลักนิติธรรมที่เคยให้ไว้ เนื่องจากฝ่ายตุลาการและผู้พิพากษาได้รับการแต่งตั้งจากพรรคคอมมิวนิสต์ที่ปกครองประเทศและมีอำนาจเบ็ดเสร็จในการบริหาร อ้างอิงจากองค์กรอิสระที่ไม่แสวงหากำไร/องค์กรนอกภาครัฐ (เอ็นจีโอ) เช่น แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ฮิวแมนไรตส์วอตช์ และกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ สิทธิมนุษยชนในลาวยังเป็นปัญหาที่ร้ายแรง[58] การละเมิดต่าง ๆ เช่น การกักขังหน่วงเหนี่ยว การหายตัวไปของสตรี การจำกัดเสรีภาพในการพูด การล่วงละเมิดในเรือนจำ และการละเมิดอื่น ๆ ยังคงเป็นปัญหาอย่างต่อเนื่อง แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล แสดงความกังวลเกี่ยวกับบันทึกการให้สัตยาบันของรัฐบาลลาวเกี่ยวกับมาตรฐานสิทธิมนุษยชนและการขาดความร่วมมือกับกลไกและมาตรการด้านกฎหมายด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ[59] ทั้งส่งผลกระทบในทางลบต่อสิทธิมนุษยชน องค์กรยังแสดงความกังวลเกี่ยวกับเสรีภาพในการแสดงออก สภาพเรือนจำที่ย่ำแย่ การจำกัดเสรีภาพในการนับถือศาสนา การคุ้มครองผู้ลี้ภัยและผู้ขอลี้ภัย และโทษประหารชีวิตที่ทารุณ[60]

ในเดือนตุลาคม 1999 เยาวชน 30 คนถูกจับในข้อหาพยายามแสดงโปสเตอร์เรียกร้องการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมอย่างสันติในประเทศลาว พวกเขา 5 คนถูกจับกุมและถูกตัดสินจำคุกสูงสุด 10 ปีในข้อหากบฏ ก่อนจะได้รับการปล่อยตัวในเดือนตุลาคม 2009 โดยยังไม่ทราบที่อยู่ที่แน่ชัดของพวกเขาในปัจจุบันและหลายคนถูกระบุเป็นบุคคลหายสาบสูญนับตั้งแต่พ้นโทษจากเรือนจำ แต่รัฐบาลได้มีการรายงานในภายหลังซึ่งขัดแย้งกับเรื่องนี้ โดยอ้างว่าพวกเขาถูกตัดสินจำคุก 20 ปี ต่อมา ในปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2017 ผู้ต้องขังสองคนได้รับการปล่อยตัวในที่สุดหลังจากจำคุกเป็นเวลา 17 ปี[61][62] ในขณะที่คนที่เหลือยังไม่ทราบชะตากรรม

ตามการประมาณการ ผู้คนประมาณ 300,000 คนหลบหนีมาที่ประเทศไทยอันเป็นผลมาจากการปราบปรามของรัฐบาล โดยมีชาวม้ง 100,000 คน คิดเป็น 30% ของประชากรม้งทั้งหมด ยิ่งไปกว่านั้น มีผู้เสียชีวิตกว่า 130,000 ราย จากการทำสงครามกลางเมือง ลาวเป็นประเทศต้นทางของผู้ถูกค้ามนุษย์ทางเพศ พลเมืองจำนวนหนึ่งซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงและเด็กหญิงจากทุกกลุ่มชาติพันธุ์และชาวต่างชาติตกเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์ในลาว

การแบ่งเขตการปกครอง

[แก้]

ประเทศลาวแบ่งเป็น 17 แขวง และ 1 นครหลวง (ได้แก่ นครหลวงเวียงจันทน์) แขวงแต่ละแขวงจะแบ่งเป็นเมือง ซึ่งจะมีหนึ่งเมืองเป็นเมืองหลวงของแขวงเรียกว่า เมืองเอก[63]

ในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1995 ได้มีการยุบเขตพิเศษไชยสมบูรณ์อย่างเป็นทางการตามดำรัสนายกรัฐมนตรี (คำสั่งนายกรัฐมนตรี) เลขที่ 10/ນຍ. ลงวันที่ 13 มกราคม ค.ศ. 1995 โดยเมืองท่าโทมถูกรวมกับแขวงเชียงขวาง และเมืองไชยสมบูรณ์ถูกรวมกับแขวงเวียงจันทน์

ต่อมาในวันที่ 31 ธันวาคม ค.ศ. 2013 ทางการลาวได้จัดตั้งแขวงใหม่ในบริเวณที่เคยเป็นเขตพิเศษไชยสมบูรณ์เดิมกับ 2 หมู่บ้านจากเมืองวังเวียงในแขวงเวียงจันทน์ โดยใช้ชื่อว่า "แขวงไชยสมบูรณ์" แบ่งเขตปกครองย่อยออกเป็น 5 เมือง ได้แก่ เมืองอะนุวง (เดิมชื่อเมืองไชยสมบูรณ์) เมืองห่ม เมืองท่าทูม เมืองล่องสาน และเมืองล่องแจ้ง[64][65]

ตารางข้อมูลประชากรลาว ค.ศ. 2018
ชื่อไทย ชื่อลาว เมืองเอก พื้นที่
(ตารางกิโลเมตร)
ประชากร
1. แขวงคำม่วน ແຂວງຄໍາມ່ວນ ท่าแขก 16,315 420,950
2. แขวงจำปาศักดิ์ ແຂວງຈໍາປາສັກ ปากเซ 15,415 733,582
3. แขวงเชียงขวาง ແຂວງຊຽງຂວາງ โพนสะหวัน 15,880 261,686
4. แขวงไชยบุรี ແຂວງໄຊຍະບູລີ ไชยบุรี 16,389 411,893
5. แขวงไชยสมบูรณ์ ແຂວງໄຊສົມບູນ อะนุวง 8,300 102,041
6. แขวงเซกอง ແຂວງເຊກອງ เซกอง 7,665 124,570
7. แขวงบอลิคำไซ ແຂວງບໍລິຄໍາໄຊ ปากซัน 14,863 303,794
8. แขวงบ่อแก้ว ແຂວງບໍ່ແກ້ວ ห้วยทราย 6,196 196,641
9. แขวงพงสาลี ແຂວງຜົ້ງສາລີ พงสาลี 16,270 189,777
10. แขวงเวียงจันทน์ ແຂວງວຽງຈັນ โพนโฮง 15,927 450,475
11. แขวงสาละวัน ແຂວງສາລະວັນ สาละวัน 10,691 426,991
12. แขวงสุวรรณเขต ແຂວງສະຫວັນນະເຂດ ไกสอน พมวิหาน 21,774 1,037,553
13. แขวงหลวงน้ำทา ແຂວງຫຼວງນ້ຳທາ หลวงน้ำทา 9,325 192,392
14. แขวงหลวงพระบาง ແຂວງຫຼວງພະບາງ หลวงพระบาง 16,875 459,189
15. แขวงหัวพัน ແຂວງຫົວພັນ ซำเหนือ 16,500 306,247
16. แขวงอัตตะปือ ແຂວງອັດຕະປື อัตตะปือ 10,320 153,656
17. แขวงอุดมไซ ແຂວງອຸດົມໄຊ เมืองไซ 15,370 334,702
18. นครหลวงเวียงจันทน์ ນະຄອນຫຼວງວຽງຈັນ เวียงจันทน์ 3,920 906,859
เขตการปกครองระดับบนสุดของประเทศลาว

เศรษฐกิจ

[แก้]
ด่านพรมแดนช่องเม็ก แขวงจำปาศักดิ์

ภาวะเศรษฐกิจของประเทศลาวมีพัฒนาการที่ดีตามลำดับ โดยในช่วง 20 ปีนับตั้งแต่ปรับเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมสู่ระบบเศรษฐกิจเสรีการตลาดเมื่อปี 1986 ประเทศลาวมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องในอัตราเฉลี่ยร้อยละ 6.2 ต่อปี ประชากรมีรายได้เพิ่มขึ้นจากประมาณ 200 ดอลลาร์สหรัฐเมื่อปี 1986 เป็น 491 ดอลลาร์สหรัฐในปี 2005 ภาคอุตสาหกรรมขยายตัวในอัตราไม่ต่ำกว่า ร้อยละ 10 ต่อปี โดยอุตสาหกรรมพลังงานไฟฟ้าเป็นสาขาหลักที่สร้างรายได้ให้แก่ประเทศ

อย่างไรก็ดี ลาวยังคงประสบปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไขที่สำคัญได้แก่ ปัญหาราคาน้ำมัน ที่เพิ่มสูงขึ้น ปัญหาการขาดดุลการค้าในอัตราสูง ค่าเงินกีบไม่มีเสถียรภาพ การจัดเก็บรายได้ต่ำกว่าเป้าหมาย และปัญหาการฉ้อราษฎร์บังหลวง

ทรัพยากรสำคัญของลาว ได้แก่ ไม้ ดีบุก ยิปซัม ตะกั่ว หินเกลือ เหล็ก ถ่านหินลิกไนต์ สังกะสี ทองคำ อัญมณี หินอ่อน น้ำมัน และแหล่งน้ำผลิตไฟฟ้า

การลงทุน

[แก้]

การลงทุน รัฐบาลได้ปรับปรุงกฎระเบียบเพื่อสร้างบรรยากาศให้เอื้ออำนวยต่อการลงทุนมากยิ่งขึ้น อาทิ มาตรการด้านภาษี อนุญาตให้นครหลวงเวียงจันทน์ แขวงจำปาศักดิ์ และแขวงหลวงพระบาง มีอำนาจอนุมัติโครงการลงทุนที่มีมูลค่าไม่เกิน 2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนแขวงอื่น ๆ สามารถอนุมัติโครงการลงทุนที่มีมูลค่าลงทุนไม่เกิน 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้การลงทุนจากต่างประเทศในลาวมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2003 มีมูลค่า 465 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปี 2004 มีมูลค่า 533 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และปี 2005 มีมูลค่า 1.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ นักลงทุนที่สำคัญ ได้แก่ ไทย เวียดนาม ฝรั่งเศส ออสเตรเลีย จีน ฯลฯ

ตลาดหลักทรัพย์

[แก้]

ลาวกำหนดให้วันที่ 10 ตุลาคม ค.ศ. 2010 (10-10-10) เป็นวันเปิดดำเนินการของตลาดหลักทรัพย์ลาว โดยมีที่ปรึกษาทางการเงินจากประเทศไทย และได้ช่วยเหลือ5บริษัทจากประเทศเกาหลี เปิดทำการจริงในวันที่ 10 มกราคม ค.ศ. 2011 จะมีบริษัทแรกเข้าจดทะเบียนประมาณ 5 บริษัท[66]

โครงการความร่วมมือในภูมิภาคใกล้เคียง

[แก้]
  • อาเซียน ลาวเข้าเป็นสมาชิกอาเซียนเมื่อเดือนกรกฎาคม 1997 ได้เป็นประธาน คณะกรรมการประจำอาเซียนเมื่อกรกฎาคม 2004
  • ยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (Ayeyawady-Chao Phraya-Mekong Economic Cooperation Strategy - ACMECS)
  • ความร่วมมือในกรอบสามเหลี่ยมมรกต

การนำเข้าและการส่งออก

[แก้]

สินค้าส่งออกที่สำคัญของลาวได้แก่ เสื้อผ้าสำเร็จรูป ไม้ซุง ไม้แปรรูป ผลิตภัณฑ์ไม้ สินแร่ เศษโลหะ ถ่านหิน หนังดิบ และหนังฟอก ข้าวโพด ใบยาสูบ กาแฟ โดยส่งออกไปยังประเทศไทย เวียดนาม ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร สหรัฐ เนเธอร์แลนด์ และเยอรมนี ส่วนการนำเข้าสินค้า ประเทศลาวได้นำเข้าสินค้าจากไทย จีน เวียดนาม สิงคโปร์ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย เยอรมนี โดยสินค้าที่สำคัญได้แก่ รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ เครื่องจักรกล เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ให้ความร้อน อาหาร ผ้าผืน สารเคมี และเครื่องอุปโภคบริโภค

การท่องเที่ยว

[แก้]

การท่องเที่ยวมีการเติบโตอย่างรวดเร็วจาก 80,000 คนในปี ค.ศ. 1990 เป็นจำนวน 1.876 ล้านคนในปี 2010[67] การท่องเที่ยวคาดว่าจะมีมูลค่าถึง 679.1 ล้านเหรียญสหรัฐต่อผลผลิตมวลรวมภายในประเทศในปี 2010 และจะเพิ่มขึ้นเป็น 1.5857 พันล้านเหรียญสหรัฐภายในปี ค.ศ. 2020 รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติและสินค้าเพื่อการท่องเที่ยวคาดว่าจะเติบโต 15.5% ของยอดการส่งออกหรือ 270.3 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2010 และจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นถึง 484.2 ล้านเหรียญสหรัฐ (12.5 เปอร์เซ็นต์ของทั้งหมด) ในปี 2020[68]

หลวงพระบางและปราสาทหินวัดพูเป็นทั้งมรดกโลกโดยองค์การยูเนสโก เทศกาลที่สำคัญ ได้แก่ วันขึ้นปีใหม่ลาวซึ่งจัดขึ้นในช่วงวันที่ 13-15 เมษายน สำนักงานการท่องเที่ยวแห่งชาติลาว หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง และภาคเอกชนกำลังทำงานร่วมกันเพื่อให้เกิดวิสัยทัศน์ที่วางไว้ในแผนยุทธศาสตร์และปฏิบัติการการท่องเที่ยวเชิงนิเวศแห่งชาติของประเทศ ซึ่งรวมถึงการลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมของการท่องเที่ยว เพิ่มความตระหนักในความสำคัญของกลุ่มชาติพันธุ์และความหลากหลายทางชีวภาพ จัดหาแหล่งรายได้เพื่อการอนุรักษ์ รักษา และจัดการเครือข่ายพื้นที่คุ้มครองของลาวและแหล่งมรดกทางวัฒนธรรม และเน้นความจำเป็นในการกำหนดเขตท่องเที่ยวและแผนการจัดการสถานที่ที่จะพัฒนาเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

โครงสร้างพื้นฐาน

[แก้]
ขบวนรถไฟ "ขบวนล้านช้าง" ของทางรถไฟลาว-จีน หรือ (ทางรถไฟสายเวียงจันทน์–บ่อเต็น)
ทางรถไฟสายเวียงจันทน์–บ่อเต็นผ่านทางด่วนเวียงจันทน์–บ่อเต็น

ท่ากาศยานหลักของประเทศ คือ ท่าอากาศยานนานาชาติวัตไตของเวียงจันทน์ และท่าอากาศยานนานาชาติหลวงพระบาง ส่วนท่าอากาศยานนานาชาติปากเซมีเที่ยวบินระหว่างประเทศจำนวนน้อย สายการบินประจำชาติ คือ การบินลาว สายการบินอื่น ๆ ไดแก่ บางกอกแอร์เวย์ เวียดนามแอร์ไลน์ แอร์เอเชีย การบินไทย และไชนาอีสเทิร์นแอร์ไลน์

ประเทศลาวมีทางรถไฟระยะสั้น ซึ่งเชื่อมต่อเวียงจันทน์กับประเทศไทยด้วยสะพานมิตรภาพไทย-ลาว 1 (หนองคาย-เวียงจันทน์) ถนนสายหลักในประเทศลาวมีการเชื่อมต่อไปยังเมืองสำคัญต่าง ๆ โดยเฉพาะทางหลวงหมายเลข 13 ซึ่งได้รับการปรับปรุงในไม่กี่ปีที่ผ่านมา แต่หมู่บ้านที่อยู่ห่างไกลจากถนนสายหลักยังเดินทางด้วยถนนลูกรัง ซึ่งไม่สามารถเข้าถึงได้ตลอดทั้งปี

ในปี ค.ศ. 2021 ประเทศลาวได้เปิดทางรถไฟสายจีน–ลาว หรือ "ทางรถไฟสายเวียงจันทน์–บ่อเต็น" โดยเชื่อมทางรถไฟลาวกับทางรถไฟของประเทศจีน ทางรถไฟมีเส้นทางเวียงจันทน์ไปถึงหลวงพระบาง ใช้เวลาเดินทาง 2 ชั่วโมง

สื่อสารมวลชน

[แก้]
ตราของสถานีโทรภาพแห่งชาติลาว

สื่อในประเทศลาวล้วนอยู่ในความดูแลของรัฐโดยตรง รัฐบาลลาวมีสำนักข่าวสารประเทศลาว (ขปล.) เป็นสำนักข่าวแห่งชาติที่เผยแพร่ข่าวของรัฐ ส่วนหนังสือพิมพ์ภาษาลาวที่สำคัญในประเทศได้แก่ หนังสือพิมพ์ประชาชนซึ่งเป็นกระบอกเสียงของพรรคประชาชนปฏิวัติลาว และหนังสือพิมพ์เวียงจันทน์ใหม่ นอกจากนี้ยังมีหนังสือพิมพ์ภาษาต่างประเทศอีก 2 ฉบับ คือ หนังสือพิมพ์เวียงจันทน์ไทมส์ (Vientiane Times) ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษ และหนังสือพิมพ์ "เลอเรนอวาเตอร์" (Le Rénovateur) ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ภาษาฝรั่งเศส

ในประเทศลาวยังไม่มีสถานีโทรทัศน์อย่างเป็นทางการ โดยปัจจุบันนี้มีสถานีโทรทัศน์ที่กำลังทดลองออกอากาศ คือ สถานีโทรทัศน์แห่งประเทศลาว (ທຊລ.) ซี่งเป็นสถานีโทรทัศน์ของรัฐ ออกอากาศผ่านเครือข่ายสถานีในประเทศ มีสถานีส่งต่อในประเทศไทยในชุมชนลาว และออกอากาศทางดาวเทียมไทยคม 5 นอกจากนี้ยังมีลาวสตาร์แชนแนล ที่ออกอากาศผ่านดาวเทียมจากประเทศไทย[ต้องการอ้างอิง]

ด้านการใช้อินเทอร์เน็ต ตามหัวเมืองใหญ่และนครหลวงมีการเปิดให้บริการอินเทอร์เน็ตคาเฟโดยทั่วไป และได้รับความนิยมอย่างยิ่งในหมู่เยาวชนรุ่นใหม่ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลลาวก็ได้มีการตรวจพิจารณาเนื้อหาและการเข้าถึงข้อมูลอินเทอร์เน็ตอย่างเข้มงวด เนื่องจากเป็นประเทศที่ปกครองโดยรัฐบาลคอมมิวนิสต์[ต้องการอ้างอิง]

ทรัพยากรน้ำ

[แก้]
กว่า 80% ของประชากรลาวอาศัยอยู่ในพื้นที่ชนบท

ลาวสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้เอง โดยใช้พลังงานน้ำ ตามข้อมูลของธนาคารโลกที่ดำเนินการในปี 2014 ลาวได้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (MDG) ในด้านน้ำและการสุขาภิบาลเกี่ยวกับโครงการติดตามตรวจสอบร่วมของยูนิเซฟ/WHO อย่างไรก็ตาม ณ ปี 2018 มีประชากรลาวประมาณ 1.9 ล้านคนที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งน้ำที่ได้รับการปรับปรุง และ 2.4 ล้านคนที่ไม่สามารถเข้าถึงระบบสุขาภิบาลที่ดีขึ้น[69]

ลาวมีความก้าวหน้าในการเพิ่มการเข้าถึงการสุขาภิบาล ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวชนบท ทำให้การลงทุนด้านสุขอนามัยทำได้ยาก ในปี 1990 มีเพียง 8% ของประชากรในชนบทเท่านั้นที่สามารถเข้าถึงการสุขาภิบาลที่ดีขึ้น การเข้าถึงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจาก 10 เปอร์เซ็นต์ในปี 1995 เป็น 38 เปอร์เซ็นต์ในปี 2008 ระหว่างปี 1995 ถึง 2008 ผู้คนอีกประมาณ 1,232,900 คนเข้าถึงการสุขาภิบาลที่ดีขึ้นในพื้นที่ชนบท ความก้าวหน้าของลาวมีความโดดเด่นเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศกำลังพัฒนาที่คล้ายคลึงกัน ทางการลาวได้พัฒนากรอบการกำกับดูแลที่เป็นนวัตกรรมใหม่สำหรับสัญญาความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนที่ลงนามกับวิสาหกิจขนาดเล็ก ควบคู่ไปกับกฎระเบียบทั่วไปของรัฐวิสาหกิจด้านน้ำ

ประชากรศาสตร์

[แก้]

ประชากรลาวประมาณ 7.57 ล้านคนในปี 2021 กระจายไปทั่วประเทศอย่างไม่เท่าเทียมกัน คนส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในหุบเขาของแม่น้ำโขงและแม่น้ำสาขา แขวงเวียงจันทน์ เมืองหลวงและเมืองที่ใหญ่ที่สุด มีประชากรประมาณ 706,000 คนในปี 2022[70]

เชื้อชาติ

[แก้]

ประเทศลาวเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ แต่กลุ่มชาติพันธุ์ลาวเป็นประชากรกลุ่มใหญ่ ส่วนที่เหลือเป็นพวกไทขาว ไทดำ และกลุ่มที่อาศัยอยู่ในบริเวณภูเขา ได้แก่ ม้ง เย้า และข่า[ต้องการอ้างอิง]

ศาสนา

[แก้]
ศาสนาในประเทศลาว
ศาสนา ร้อยละ
พุทธ
  
66%
ผี
  
30.7%
คริสต์
  
1.5%
อื่น ๆ
  
1.8%

จากการสำรวจในปี ค.ศ. 2010[71] ประเทศลาวมีผู้นับถือศาสนา 7.2 ล้านคน โดยแบ่งได้ดังนี้ ศาสนาพุทธ 66% ศาสนาผี 30.7% ศาสนาคริสต์ 1.5% และศาสนาอื่น ๆ 1.8%

ภาษา

[แก้]
หนังสือภาษาลาว

ภาษาประจำชาติ คือ ภาษาลาว อย่างไรก็ตาม มีประชากรเพียงครึ่งเดียวเท่านั้นที่พูดภาษาลาวเป็นภาษาแม่ ส่วนที่เหลือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ชนบท พูดภาษาชนกลุ่มน้อย ตัวอักษรลาวซึ่งมีวิวัฒนาการในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 13 ถึง 14 ได้มาจากอักษรเขมรโบราณและมีความคล้ายคลึงกับอักษรไทยมาก ภาษาต่าง ๆ เช่น ขมุ (ออสโตรเอเชียติก) และม้ง (ม้ง-เมี้ยน) เป็นภาษาพูดของชนกลุ่มน้อย โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคกลางและที่ราบสูง ภาษามือลาวจำนวนหนึ่งถูกนำมาใช้ในพื้นที่ที่มีอัตราการหูหนวกพิการแต่กำเนิดสูง

มีการใช้ภาษาฝรั่งเศสเป็นครั้งคราวในกิจกรรมของรัฐบาล ลาวเป็นสมาชิกขององค์กรที่พูดภาษาฝรั่งเศสของ La Francophonie องค์กรประมาณการว่ามีผู้พูดภาษาฝรั่งเศส 173,800 คนในลาว[72] (ประมาณ พ.ศ. 2010) นอกจากนี้รัฐบาลลาวได้มีการส่งเสริมการเรียนการสอนภาษาอังกฤษมากขึ้นในทุกโรงเรียน[73]

การศึกษา

[แก้]
มหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว ในกรุงเวียงจันทน์
มหาวิทยาลัยสุภานุวงศ์ ในนครหลวงพระบาง

หลังประเทศลาวได้ล้มล้างราชอาณาจักรอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมาเป็นสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ในปี ค.ศ. 1975 เป็นต้นมา ประเทศลาวได้เกิดมหาวิทยาลัยแห่งชาติที่สำคัญ 2 แห่งได้แก่ มหาวิทยาลัยแห่งชาติลาวในกรุงเวียงจันทน์และมหาวิทยาลัยสุภานุวงศ์ในนครหลวงพระบาง

สำหรับอัตราการรู้หนังสือของผู้ใหญ่เพศหญิงในปี 2017 อยู่ที่ 62.9%; สำหรับเพศชายที่เป็นผู้ใหญ่อยู่ที่ 78.1%[74]. ในปี 2004 อัตราการเข้าเรียนหนังสืออยู่ที่ 84% ในฐานะประเทศที่มีรายได้ต่ำ ลาวต้องเผชิญกับปัญหาสมองไหลเนื่องจากผู้ที่มีการศึกษาจำนวนมากอพยพไปยังประเทศที่พัฒนาแล้ว คาดว่าประมาณ 37% ของชาวลาวที่มีการศึกษาอาศัยอยู่นอกประเทศลาว[75] ลาวอยู่ในอันดับที่ 113 ในดัชนีนวัตกรรมโลกในปี 2020[76][77][78]

สุขภาพ

[แก้]

อายุขัยเฉลี่ยของประชากรลาวในปี 2017 คือ 62.6 ปี ในเพศชาย และ 66.7 ปีในเพศหญิง[79] ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่ต่ำหากเทียบกับกลุ่มประเทศในเอเชีย ปัญหาหลักมาจากการขาดแคลนระบบสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพในแถบชนบท สาเหตุการเสียชีวิตมาจากโรคติดต่อเช่น ไข้รากสาดใหญ่, ไข้รากสาดน้อย, มาลาเรีย และโลหิตเป็นพิษ ประเทศลาวมีศูนย์กลางทางการแพทย์เพียงแห่งเดียวคือ โรงพยาบาลมโหสถ ในกรุงเวียงจันทร์

วัฒนธรรม

[แก้]
อาหารลาว
การแต่งผ้าซิ่นของสตรีชาวลาว

พุทธศาสนานิกายเถรวาทมีอิทธิพลเหนือวัฒนธรรมลาว เป็นที่ประจักษ์ชัดทั่วประเทศ ทั้งในภาษา วัด และศิลปะและวรรณคดี องค์ประกอบหลายอย่างของวัฒนธรรมลาวเกิดขึ้นก่อนพุทธศาสนา ตัวอย่างเช่น ดนตรีลาวถูกครอบงำด้วยเครื่องดนตรีประจำชาติคือแคน ซึ่งเป็นออร์แกนปากไม้ไผ่ชนิดหนึ่งที่มีต้นกำเนิดมาจากยุคก่อนประวัติศาสตร์

ข้าวเหนียวเป็นอาหารหลักและมีความสำคัญทางวัฒนธรรมและศาสนาของชาวลาว โดยทั่วไปแล้วจะนิยมทานข้าวเหนียวมากกว่าข้าวหอมมะลิ และมีหลักฐานบางประการว่าการปลูกและการผลิตข้าวเหนียวมีถิ่นกำเนิดในประเทศลาว มีประเพณีและพิธีกรรมมากมายที่เกี่ยวข้องกับการผลิตข้าวในสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกันและในกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ตัวอย่างเช่น ชาวนาคำมูในหลวงพระบางปลูกข้าวพันธุ์เขาคำในปริมาณเล็กน้อยใกล้บ้านไร่เพื่อระลึกถึงพ่อแม่ที่เสียชีวิต หรือที่ริมนาเพื่อแสดงว่าพ่อแม่ยังมีชีวิตอยู่[80]

อาหารลาวเป็นเอกลักษณ์ที่แสดงออกถึงวัฒนธรรมของชาวลาวได้เป็นอย่างดี คนไทยมักเข้าใจว่าอาหารลาวคืออาหารไทยภาคอีสาน[81] แต่แท้จริงแล้วอาหารลาวมักไม่มีรสชาติจัดจ้าน แม้จะมีส่วนประกอบหลักคือข้าวเหนียวเหมือนอาหารไทยอีสาน แต่อาหารลาวจะมีเกลือเป็นเครื่องปรุงหลักเพียงอย่างเดียว อาหารลาวที่มีชื่อเสียงได้แก่[82][83] ซุปไก่ สลัดหลวงพระบาง เฝอ บาแกตต์ (ข้าวจี่, แป้งจี่) ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากฝรั่งเศส ลาบ ส้มตำ ข้าวเปียก

ผ้าซิ่น เป็นเสื้อผ้าแบบดั้งเดิมที่ผู้หญิงลาวสวมใส่ในชีวิตประจำวัน เป็นกระโปรงผ้าไหมทอมือที่สามารถระบุผู้หญิงที่สวมใส่ได้หลากหลายรูปแบบ

กีฬา

[แก้]

ศิลปะการป้องกันตัวมวยลาวเป็นกีฬาประจำชาติ[84] เป็นรูปแบบหนึ่งของคิกบ็อกซิ่งที่คล้ายกับมวยไทยของไทย[85] เลทเว่ยของพม่า และปราดาลกัมพูชา

ฟุตบอลเป็นกีฬาที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในลาว ลีกลาวเป็นลีกอาชีพชั้นนำสำหรับสโมสรฟุตบอลในประเทศ ตั้งแต่เริ่มลีก ลาว อาร์มี่ เอฟซี เป็นสโมสรที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดด้วย 8 ถ้วยรางวัล แม้ฟุตบอลทีมชาติจะยังไม่มีผลงานโดดเด่นและยังอยู่ในอันดับโลกท้าย ๆ ของการจัดอันดับฟีฟ่า[86] แต่ยังคงได้รับการสนับสนุนจากคนทั้งชาติ ทีมชาติลาวยังไม่เคยร่วมแข่งขันในรายการสำคัญ เช่น ฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย เอเชียนคัพ แต่มีส่วนร่วมในรายการ ฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติอาเซียน โดยยังไม่เคยผ่านรอบแบ่งกลุ่ม

อันดับในเวทีระหว่างประเทศ

[แก้]
องค์กร หัวข้อสำรวจ อันดับที่
Heritage Foundation/
The Wall Street Journal
ดัชนีเสรีภาพทางเศรษฐกิจ
(Index of Economic Freedom)
150 จาก 178 [87]
องค์กรสื่อไร้พรมแดน
(Reporters Without Borders)
ดัชนีเสรีภาพสื่อทั่วโลก
(Worldwide Press Freedom Index)
171 จาก 180 [88]
องค์กรความโปร่งใสนานาชาติ
(Transparency International)
ดัชนีความตระหนักในการทุจริตคอร์รัปชั่น
(Corruption Perceptions Index)
145 จาก 175 [89]
United Nations Development Programme ดัชนีการพัฒนามนุษย์
(Human Development Index)
139 จาก 187 [90]

ดูเพิ่ม

[แก้]

หมายเหตุ

[แก้]
  1. รวมกลุ่มชาติพันธุ์ขนาดเล็กมากกว่า 100 กลุ่ม
  2. รัฐให้เกียรติและปกป้องทุกกิจกรรมของศาสนาพุทธและผู้ที่นับถือศาสนาอื่น [และ]รวมตัวกับให้กำลังใจแก่พระสงฆ์กับสามเณร เช่นเดียวกันกับนักบวชศาสนาอื่นในการมีส่วนร่วมที่ก่อให้เกิดผลประโยชน์ต่อประเทศและประชาชน[3]
  3. ประเทศลาวเป็นรัฐเดี่ยวที่เป็นรัฐคอมมิวนิสต์แบบลัทธิมากซ์-เลนิน ตำแหน่งที่ทรงอำนาจมากที่สุดคือเลขาธิการใหญ่พรรคประชาชนปฏิวัติลาว ไม่ใช่ประธานาธิบดี เลขาธิการใหญ่ควบคุมโปลิตบูโรและเลขาธิการ ทำให้ผู้ดำรงตำแหน่งกลายเป็นผู้นำลาวโดยพฤตินัย

อ้างอิง

[แก้]
  1. "The Languages spoken in Laos". Studycountry. สืบค้นเมื่อ 16 September 2018.
  2. "Results of Population and Housing Census 2015" (PDF). Lao Statistics Bureau. สืบค้นเมื่อ 1 May 2020.
  3. "Lao People's Democratic Republic's Constitution of 1991 with Amendments through 2003" (PDF). constituteproject.org. สืบค้นเมื่อ 29 October 2017. Article 9: The State respects and protects all lawful activities of Buddhists and of followers of other religions, [and] mobilises and encourages Buddhist monks and novices as well as the priests of other religions to participate in activities that are beneficial to the country and people.
  4. https://assets.pewresearch.org/wp-content/uploads/sites/11/2012/12/globalReligion-tables.pdf
  5. 5.0 5.1 "Laos". The World Factbook (2024 ed.). Central Intelligence Agency. สืบค้นเมื่อ 24 September 2022. (Archived 2022 edition)
  6. 6.0 6.1 6.2 6.3 "World Economic Outlook Database, April 2023". IMF.org. International Monetary Fund. สืบค้นเมื่อ 23 April 2023.
  7. "Gini Index". World Bank. สืบค้นเมื่อ 2 March 2011.
  8. "Human Development Report 2021/2022" (PDF) (ภาษาอังกฤษ). United Nations Development Programme. 8 September 2022. สืบค้นเมื่อ 8 September 2022.
  9. "Biggest Cities In Laos". WorldAtlas (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 2017-04-25.
  10. Lockhart, Bruce M. (1999-03). "Laos - Buddhist Kingdom, Marxist State: The Making of Modern Laos. By Martin Stuart-Fox. Bangkok: White Lotus, 1996. Pp. xv, 295. Index. - A History of Laos. By Martin Stuart-Fox. Cambridge: Cambridge University Press, 1997. Pp. xiii, 253. Bibliography, Index. - The Lao Kingdom of Lan Xang: Rise and Decline. By Martin Stuart-Fox. Bangkok: White Lotus, 1998. Pp. xvi, 234. Bibliography, Index". Journal of Southeast Asian Studies. 30 (1): 187–190. doi:10.1017/s0022463400008250. ISSN 0022-4634. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)
  11. Stuart-Fox, Martin (1998). The Lao Kingdom of Lan Xang : rise and decline. Bangkok, Thailand: White Lotus Press. ISBN 974-8434-33-8. OCLC 40643686.
  12. "Laos - Under foreign rule". Encyclopedia Britannica (ภาษาอังกฤษ).
  13. "Laos History". www.asia-discovery.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-04-16. สืบค้นเมื่อ 2021-07-07.
  14. "Laos profile - timeline". BBC News (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). 2018-01-09. สืบค้นเมื่อ 2021-07-07.
  15. http://www.timelinesdb.com/listevents.php?subjid=129&title=Laos
  16. https://www.bangkokpost.com/business/1980027/chinese-firm-to-run-lao-electric-grid
  17. รถไฟจีน-ลาว เปิดให้บริการวันนี้ (3 ธ.ค.) ควรรู้อะไรบ้าง? ก่อนตกขบวน
  18. "Overview". World Bank (ภาษาอังกฤษ).
  19. "WTO | Lao People's Democratic Republic - Member information". www.wto.org.
  20. Hays, Jeffrey. "GOVERNMENT, CONSTITUTION AND POLITICS IN LAOS | Facts and Details". factsanddetails.com (ภาษาอังกฤษ).
  21. "Cultural Diversity | Official Website for Tourism Luang prabang" (ภาษาอังกฤษ). 2016-09-12.
  22. 22.0 22.1 Rodgers, Greg. "How to Say "Laos"". TripSavvy. สืบค้นเมื่อ 18 March 2020.
  23. Ragusa, Nina (4 April 2019). "10 Things You Need to Know Before Visiting Laos". Fodors. สืบค้นเมื่อ 18 March 2020.
  24. "Meaning of Laos in English". Cambridge Dictionary. สืบค้นเมื่อ 7 October 2019.
  25. "Laos – definition and synonyms". Macmillan Dictionary. สืบค้นเมื่อ 7 October 2019.
  26. "Definition of Laos by Merriam-Webster". Merriam-Webster. สืบค้นเมื่อ 27 March 2020.
  27. Kislenko, Arne (2009). Culture and customs of Laos. ABC-CLIO. p. 20. ISBN 978-0-313-33977-6.
  28. Demeter, F; และคณะ (2012). "Anatomically modern human in Southeast Asia (Laos) by 46 ka". Proceedings of the National Academy of Sciences. 109 (36): 14375–14380. Bibcode:2012PNAS..10914375D. doi:10.1073/pnas.1208104109. ISSN 0027-8424. PMC 3437904. PMID 22908291.
  29. White, J.C.; Lewis, H.; Bouasisengpaseuth, B.; Marwick, B.; Arrell, K (2009). "Archaeological Investigations in northern Laos: New contributions to Southeast Asian prehistory". Antiquity. 83 (319).
  30. Marwick, Ben; Bouasisengpaseuth, Bounheung (2017). "History and Practice of Archaeology in Laos". ใน Habu, Junko; Lape, Peter; Olsen, John (บ.ก.). Handbook of East and Southeast Asian Archaeology. Springer.
  31. Pittayaporn, Pittayawat [พิทยาวัฒน์ พิทยาภรณ์ (2014). Layers of Chinese Loanwords in Proto-Southwestern Tai as Evidence for the Dating of the Spread of Southwestern Tai] เก็บถาวร 27 มิถุนายน 2015 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. MANUSYA: Journal of Humanities, Special Issue No 20: 47–64.
  32. Coedès, George (1968). Walter F. Vella (บ.ก.). The Indianized States of Southeast Asia. trans. Susan Brown Cowing. University of Hawaii Press. ISBN 978-0-8248-0368-1.
  33. "Fa Ngum". Encyclopædia Britannica. สืบค้นเมื่อ December 23, 2019.
  34. "Fa Ngum". History.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 8 March 2010. สืบค้นเมื่อ 23 January 2011.
  35. Sanda Simms, ch. 3, "Through Chaos to a New Order", in The Kingdoms of Laos (London: Taylor & Francis, 2013). ISBN 9781136863370
  36. Sanda Simms, ch. 6, "Seventy Years of Anarchy", in The Kingdoms of Laos (London: Taylor & Francis, 2013). ISBN 9781136863370; see also P.C. Sinha, ed., Encyclopaedia of South East and Far East Asia, vol. 3 (Anmol, 2006).
  37. Askew, Marc. (2010) [2007]. Vientiane : transformations of a Lao landscape. Logan, William Stewart, 1942–, Long, Colin, 1966–. London: Routledge. ISBN 978-0-415-59662-6. OCLC 68416667.
  38. "Let's hope Laos hangs on to its identity". Asianewsnet.net. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 26 November 2010. สืบค้นเมื่อ 23 January 2011.{{cite web}}: CS1 maint: unfit URL (ลิงก์)
  39. Imperial Wars 1815–1914. Showalter, Dennis. London. 17 September 2013. ISBN 978-1-78274-125-1. OCLC 1152285624.{{cite book}}: CS1 maint: others (ลิงก์)
  40. "Slavery in Nineteenth-Century Northern Thailand: Archival Anecdotes and Village Voices". The Kyoto Review of Southeast Asia
  41. 41.0 41.1 อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ bbc
  42. Obermeyer, Ziad; Murray, Christopher J. L.; Gakidou, Emmanuela (2008). "Fifty years of violent war deaths from Vietnam to Bosnia: analysis of data from the world health survey programme". BMJ. 336 (7659): 1482–1486. doi:10.1136/bmj.a137. PMC 2440905. PMID 18566045. See Table 3.
  43. Stuart-Fox, Martin (1980). LAOS: The Vietnamese Connection. In Suryadinata, L (Ed.), Southeast Asian Affairs 1980. Singapore: Institute of Southeast Asian Stuides, p. 191.
  44. Kingsbury, Damien (2016). Politics in Contemporary Southeast Asia: Authority, Democracy and Political Change. Taylor & Francis, p. 50. ISBN 978-1-317-49628-1
  45. Savada, Andrea M. (1995). Laos: a country study. Federal Research Division, Library of Congress, p. 271. ISBN 0-8444-0832-8
  46. Prayaga, M. (2005). Renovation in vietnam since 1988 a study in political, economic and social change (PhD thesis). Sri Venkateswara University. Chapter IV: The Metamorphosed Foreign Relations, p. 154.
  47. Laos (04/09). U.S. Department of State.
  48. "Laos - Foreign Aid". www.country-data.com.
  49. "Laos (LAO) Exports, Imports, and Trade Partners | OEC". OEC - The Observatory of Economic Complexity (ภาษาอังกฤษ). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-09-26. สืบค้นเมื่อ 2021-09-26.
  50. https://www.trade.gov/export-solutions
  51. "Q+A - What is the East Asia Summit all about?". Reuters (ภาษาอังกฤษ). 2009-10-24. สืบค้นเมื่อ 2021-09-26.
  52. indexmundi.com. Laos Military Profile. สืบค้นเมื่อ 7 สิงหาคม 2565.
  53. "Everything you need to know about human rights in Laos 2017/2018". Amnesty International (ภาษาอังกฤษ).
  54. "Somsanga's Secrets: Arbitrary Detention, Physical Abuse, and Suicide inside a Lao Drug Detention Center" (ภาษาอังกฤษ). 2011-10-11. {{cite journal}}: Cite journal ต้องการ |journal= (help)
  55. "Laos, Peoples Democratic Republic". Laos, Peoples Democratic Republic | Communist Crimes (ภาษาอังกฤษ).
  56. "Democracy Index 2020". Economist Intelligence Unit (ภาษาอังกฤษแบบบริติช).
  57. https://www.constituteproject.org/constitution/Laos_2003.pdf?lang=en
  58. "Laos: Lao People's Democratic Republic: Submission to the UN Universal Periodic Review: Eighth session of the UPR Working Group of the Human Rights Council, May 2010" (PDF). Amnesty International (ภาษาอังกฤษ).
  59. https://www.hrw.org/sites/default/files/supporting_resources/hrw_submission_to_the_european_union-laos_hr_dialogue_-proofed.pdf
  60. "Latest Posts". Sombath Somphone | ສົມບັດ ສົມພອນ (ภาษาอังกฤษแบบบริติช).
  61. "Free former student leaders arbitrarily detained for 17 years". International Federation for Human Rights (ภาษาอังกฤษ).
  62. "Two teenagers rescued from forced prostitution in Laos". Thanh Nien Daily. 2014-11-04. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-06-17. สืบค้นเมื่อ 2021-09-26.
  63. "Nsc Lao Pdr". Nsc.gov.la. สืบค้นเมื่อ 21 January 2012.
  64. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-01-19. สืบค้นเมื่อ 2014-01-08.
  65. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-11-06. สืบค้นเมื่อ 2014-01-08.
  66. "ตลาดหลักทรัพย์ลาว". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-11-23. สืบค้นเมื่อ 2010-11-23.
  67. "International visitor data". World Travel & Tourism Council. สืบค้นเมื่อ 20 มกราคม 2011.
  68. "Laos – Key Facts". World Travel & Tourism Council. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-05-11. สืบค้นเมื่อ 20 มกราคม 2011.
  69. "สำเนาที่เก็บถาวร" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2021-04-29. สืบค้นเมื่อ 2021-09-25.
  70. "Laos", The World Factbook (ภาษาอังกฤษ), Central Intelligence Agency, 2021-09-22, สืบค้นเมื่อ 2022-03-12
  71. [1] Religion in Vietnam
  72. "Portail de l'Organisation Internationale de la Francophonie (OIF)". Organisation Internationale de la Francophonie (ภาษาฝรั่งเศส).
  73. "L'aménagement linguistique dans le monde: page d'accueil". www.axl.cefan.ulaval.ca.
  74. "สำเนาที่เก็บถาวร" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2021-04-29. สืบค้นเมื่อ 2021-09-25.
  75. Fielding, Tony (2015-07-16). Asian Migrations: Social and Geographical Mobilities in Southeast, East, and Northeast Asia (ภาษาอังกฤษ). Routledge. ISBN 978-1-317-95208-4.
  76. "Release of the Global Innovation Index 2020: Who Will Finance Innovation?". www.wipo.int (ภาษาอังกฤษ).
  77. "Global Innovation Index 2019". www.wipo.int (ภาษาอังกฤษ).
  78. "Global Innovation Index". INSEAD Knowledge (ภาษาอังกฤษ). 2013-10-28. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-09-02. สืบค้นเมื่อ 2021-09-25.
  79. "Laos", The World Factbook (ภาษาอังกฤษ), Central Intelligence Agency, 2021-10-19, สืบค้นเมื่อ 2021-10-28
  80. https://web.archive.org/web/20070702234215/http://www.adb.org/Evaluation/case-studies/LAO/Evaluation-Synthesis-on-Rice.pdf
  81. "12 อาหารขึ้นชื่อในถิ่นลาวที่ไปแล้วต้องลอง!!". www.clickstour.com.
  82. Beach, Regina (2017-10-19). "The Best Traditional Laos Dishes You Need To Try". Culture Trip.
  83. "Top 10 foods to eat in Laos". BBC Good Food (ภาษาอังกฤษ).
  84. https://www.beijing-visitor.com/laos/muay-lao-kick-boxing-laos
  85. https://www.bangkokpost.com/life/social-and-lifestyle/1863704/laos-bust-up-sparks-boxing-match-dare-pavement-spies-cash-in
  86. "FIFA". fifa.com (ภาษาอังกฤษ).
  87. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-12-26. สืบค้นเมื่อ 2015-12-01.
  88. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-04-19. สืบค้นเมื่อ 2015-12-01.
  89. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-12-03. สืบค้นเมื่อ 2015-12-01.
  90. https://en.wikipedia.org/wiki/List_of_countries_by_Human_Development_Index

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]