ข้ามไปเนื้อหา

จอร์จ ดับเบิลยู. บุช

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
จอร์จ ดับเบิลยู. บุช
George W. Bush
ประธานาธิบดีสหรัฐ คนที่ 43
ดำรงตำแหน่ง
20 มกราคม ค.ศ. 2001 – 20 มกราคม ค.ศ. 2009
(8 ปี 0 วัน)
รองประธานาธิบดีดิก ชีนีย์
ก่อนหน้าบิล คลินตัน
ถัดไปบารัก โอบามา
ผู้ว่าการรัฐเท็กซัส คนที่ 46
ดำรงตำแหน่ง
22 มกราคม ค.ศ. 1995 – 14 ธันวาคม ค.ศ. 2000
(5 ปี 327 วัน)
รักษาการแทนบ็อบ บุลล็อก (1995–1999)
ริก เพอร์รี (1999–2000)
ก่อนหน้าแอนน์ ริชาร์ด
ถัดไปริก เพอร์รี
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด (1946-07-06) 6 กรกฎาคม ค.ศ. 1946 (78 ปี)
นิวเฮเวน รัฐคอนเนทิคัต สหรัฐ
ศาสนาUnited Methodist Church
พรรคการเมืองริพับลิกัน
คู่สมรสลอรา บุช
ลายมือชื่อ

เรืออากาศโท จอร์จ วอล์กเกอร์ บุช (อังกฤษ: George Walker Bush; เกิด 6 กรกฎาคม ค.ศ. 1946) เป็นประธานาธิบดีสหรัฐคนที่ 43 สังกัดพรรครีพับลิกัน เขาเกิดในตระกูลบุชซึ่งเป็นตระกูลนักการเมืองตระกูลใหญ่ของสหรัฐ โดยบิดาของเขาคือ จอร์จ เอช. ดับเบิลยู. บุช ประธานาธิบดีคนที่ 41 และน้องชายเขา เจบ บุช เป็นอดีตผู้ว่าการรัฐฟลอริดา

ก่อนเริ่มเล่นการเมือง บุช เคยทำธุรกิจบ่อน้ำมัน และเป็นเจ้าของทีมเบสบอล เท็กซัส เรนเจอร์ (Texas Rangers) เขาเริ่มเล่นการเมืองระดับท้องถิ่นโดยเป็นผู้ว่าการรัฐเท็กซัสคนที่ 46[1] และช่วยทำให้เท็กซัสเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานลมชั้นนำของประเทศ เขาชนะการเสนอชื่อลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของพรรครีพับลิกัน และชนะการเลือกตั้งต่อรองประธานาธิบดี อัล กอร์ใน ค.ศ. 2000 แม้จะมีการฟ้องศาลเพื่อนับคะแนนใหม่ในรัฐฟลอริดา[2][3][4] โดยเขาถือเป็นประธานาธิบดีคนที่ 4 ที่ชนะการเลือกตั้งแม้จะแพ้คะแนน Popular Vote[5]

เมื่อเข้ารับตำแหน่ง บุชได้ผลักดันโครงการลดหย่อนภาษีจำนวนมาก[6] และมีส่วนสำคัญในพระราชบัญญัติการดูแลเด็กและเยาวชน ซึ่งเป็นร่างพระราชบัญญัติการปฏิรูปการศึกษาที่สำคัญ นอกจากนี้ เขายังผลักดันให้มีการอนุรักษ์ทางสังคม เช่น พระราชบัญญัติการห้ามทำแท้ง และริเริ่มด้านสวัสดิการ เหตุการณ์สำคัญที่พลิกโฉมรัฐบาลของเขาคือวินาศกรรม 11 กันยา[7] เพื่อเป็นการตอบโต้ บุชจึงก่อตั้งกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิและประกาศสงครามต่อต้านการก่อการร้าย[8] เขาสั่งโจมตีอัฟกานิสถานโดยมีเป้าหมายเพื่อโค่นล้มกลุ่มตอลิบาน ทำลายกลุ่มก่อการร้ายอัลกออิดะห์ และจับกุมอุซามะฮ์ บิน ลาดิน เขายังลงนามในพระราชบัญญัติเฝ้าระวังผู้ต้องสงสัยการก่อการร้ายใน ค.ศ. 2003 บุชได้สั่งการบุกอิรักซึ่งเป็นการเริ่มสงครามอิรัก[9] โดยต่อต้านการปกครองของซัดดัม ฮุสเซน ซึ่งสหรัฐฯ กล่าวหามีอาวุธที่มีอำนาจทำลายล้างสูง แต่ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงเมื่อไม่ปรากฏหลักฐานว่ารัฐบาลอิรักมีอาวุธดังกล่าว รวมทั้งไม่มีหลักฐานเพื่อพิสูจน์ความสัมพันธ์ระหว่างอิรักกับอัลกออิดะห์ บุชยังได้ลงนามในกฎหมายว่าด้วยการประกันสุขภาพ

บุชชนะการเลือกตั้งสมัยที่ 2 ใน ค.ศ. 2004 โดยเอาชนะจอห์น เคร์รี วุฒิสมาชิกจากพรรคเดโมแครต ในการดำรงตำแหน่งสมัยที่สอง บุชบรรลุข้อตกลงการค้าเสรีหลายฉบับ เขาแต่งตั้ง จอห์น โรเบิร์ตส์ และ ซามูเอล อาลิโต เพื่อรับผิดชอบงานศาลสูงสุด เขาพยายามเปลี่ยนแปลงกฎหมายประกันสังคมและกฎหมายผู้อพยพเข้าเมือง แต่ความพยายามทั้งสองล้มเหลวในสภาคองเกรส บุชได้รับการวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการจัดการพายุเฮอริเคนแคทรีนา ส่งผลให้คะแนนนิยมของเขาลดลง และพรรคเดโมแครตกลับเข้ามาได้เสียงข้างมากในสภาคองเกรสอีกครั้งหลังการเลือกตั้ง ค.ศ. 2006 ในขณะที่สงครามในอัฟกานิสถานและอิรักยังคงดำเนินต่อไป และในเดือนมกราคม ค.ศ. 2007 เขาได้เพิ่มกำลังทหารไปประจำการในอิรัก และในเดือนธันวาคม สหรัฐเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ กระตุ้นให้รัฐบาลบุชต้องได้รับการอนุมัติจากรัฐสภาสำหรับโครงการเศรษฐกิจหลายโครงการเพื่อรักษาระบบการเงินของประเทศ

บุชเป็นหนึ่งในประธานาธิบดีที่ได้รับทั้งความนิยมและไม่เป็นที่นิยมมากที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองสหรัฐ[10] เขาได้รับเสียงชื่นชมหลังการตอบโต้จากการโจมตี 11 กันยายน แต่คะแนนนิยมของเขาตกต่ำที่สุดในช่วงวิกฤตการเงิน ค.ศ. 2007 หลังจากลงจากตำแหน่ง บุชกลับมาที่เท็กซัส และเปิดตัวห้องสมุดประธานาธิบดีของเขาใน ค.ศ. 2013[11]

การศึกษา การรับราชการทหาร และชีวิตส่วนตัวในช่วงแรก

[แก้]
จอร์จ และลอรา บุช กับบุตรสาว เจนนา และบาบารา ถ่ายเมื่อปี 1990

บุช เป็นบุตรชายคนโต ของอดีตประธานาธิบดีจอร์จ เอ็ช. ดับเบิลยู. บุช และบาบารา บุช(นามสกุลเดิม เพียร์ซ) ภริยาของบุช เกิดที่เมืองนิว ฮาเวน รัฐคอนเน็กติกัต เขาบอกว่าตนเองเป็นชาวเท็กซัสขนานแท้ เนื่องจากครอบครัวได้ย้ายภูมิลำเนาไปอยู่ที่รัฐเท็กซัสเมื่อเขาอายุได้สองขวบ และเติบโตขึ้นในเมืองมิดแลนด์ และนครฮิวสตัน รัฐเท็กซัส พร้อมกับนายเจบ บุช นีล บุช มาร์วิน บุช น้องชาย และ โดโรธี บุช คอช น้องสาว

หลังจบการศึกษาจาก ฟีลิปป์ อคาเดมี ที่เมืองอานโดเวอร์ รัฐแมสซาชูเสต เมื่อเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1964 บุชเดินทางกลับมายังคอนเน็กติกัต[12][13] และได้เข้าศึกษาที่มหาวิทยาลัยเยล สำเร็จปริญญาอักษรศาสตร์ สาขาประวัติศาสตร์ ในปี 1968[14] เมื่อเรียนอยู่ชั้นปีที่สี่ บุชเป็นสมาชิกสมาคมสกัลแอนด์โบนส์ เมื่อเดือนพฤษภาคม ค.ศ 1968[15] ระหว่างสงครามเวียดนาม เขาได้เข้าประจำการกองกำลังป้องกันประเทศทางอากาศ แห่งรัฐเท็กซัส เขาเข้ารับการฝึกฝนในกองกำลังเป็นเวลาสองปี และก็ได้เรียนขับเครื่องบินในช่วงนั้นเอง ต่อมาได้รับการแต่งตั้งเป็นเรืออากาศเอก เมื่อเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1970 จากการสนับสนุนของนาวาอากาศโทเจอรี บี. คิลเลน ผู้บังคับบัญชาในสมัยนั้น บุชรับราชการเป็นนักบินเครื่องเอฟ-102 จนกระทั่งปี 1972

ในปี 1974 เขาได้รับอนุญาตให้สิ้นสุดวาระรับราชการทหาร หกเดือนก่อนกำหนด เพื่อเข้ารับการศึกษาต่อที่โรงเรียนธุรกิจแห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ซึ่งเขาก็ได้รับปริญญาโทสาขาการบริหารธุรกิจ (MBA) ในปี 1975}[16] ทำให้บุชเป็นประธานาธิบดีสหรัฐคนแรกที่จบ MBA ภายหลังจบการศึกษา เขาได้กลับไปยังรัฐเท็กซัสเพื่อเข้าสู่ธุรกิจน้ำมัน สองปีต่อมา เขาได้เข้าพิธีสมรสกับนางสาวลอรา เวลช์ บรรณารักษ์ห้องสมุดโรงเรียน ผู้มีพื้นเพมาจากมิดแลนด์ รัฐเท็กซัส พวกเขามีบุตรสาวฝาแฝด บาบารา และเจนนา บุช เมื่อปี 1981 บุชเป็นประธานาธิบดีสหรัฐคนแรกที่มีบุตรฝาแฝด

ข้อเท็จจริงที่เป็นที่ถกเถียงเกี่ยวกับการรับราชการทหาร

[แก้]
จอร์จ ดับเบิลยู. บุช ในชุดเครื่องแบบ กองกำลังป้องกันประเทศ

การรับราชการทหารของบุชกลายเป็นข้อถกเพียง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ระหว่างการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในเมื่อปี 2004 ผู้วิจารณ์บุชอ้างว่า เขาได้ลัดคิวเพื่อให้ได้เข้าร่วมกองกำลังป้องกันประเทศ ได้ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ระหว่างปี 1972 ถึง 1973 และถูกห้ามบิน หลังไม่เข้ารับการตรวจร่างกายและการตรวจปัสสาวะหาสารเสพติด ประเด็นเหล่านี้ได้ปรากฏต่อสาธารณชนตลอดการหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อปี 2004 อันเกิดจากความพยายามของกลุ่ม "เท็กซัน ฟอร์ ทรูธ" ผู้สนับสนุนบุชอ้างว่าเอกสารหลักฐานที่ยังหลงเหลืออยู่ เกี่ยวกับการรับราชการทหารของบุชให้กองกำลังป้องกันประเทศ รวมถึงบันทึกการจ่ายเงินเดือน และเอกสารปลดประจำการอย่างเป็นทางการ ต่างระบุว่าบุชได้รับราชการอย่างสมเกียรติ ผู้ที่ตั้งข้อกังขายินดีอย่างยิ่งที่หาเอกสารอย่างเป็นทางการไม่พบ และเหตุการณ์นี้จะคลุมเครืออยู่ต่อไป แต่การพบเอกสารเพิ่มเติมที่ไม่ได้เป็นทั้งหลักฐานที่มัดตัว หรือช่วยให้พ้นข้อกล่าวหา ทำให้ข้อเท็จจริงยังไม่กระจ่างชัดในเร็ววันนี้

ข้อเท็จจริงที่เป็นที่ถกเถียงเกี่ยวกับการเสพสุราเกินขนาด

[แก้]

เมื่อวันที่ 4 กันยายน ค.ศ. 1976 ใกล้ ๆ กับบ้านพักฤดูร้อนของพ่อแม่ของบุชที่เมืองเคนเนอบังค์พอร์ต รัฐเมน ตำรวจได้จับกุมตัวจอร์จ ดับเบิลยู. บุช ในข้อหาขับขี่รถยนต์ขณะเมาสุรา เขาถูกตัดสินว่ามีความผิดและถูกปรับเป็นเงิน 150 ดอลลาร์สหรัฐ และถูกพักใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ในรัฐเมนเป็นเวลา 30 วัน[17][18]

ได้มีการตีพิมพ์ข่าวการจับกุมห้าวันก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 2000 บุชได้เล่าถึงชีวิตก่อนที่เขาจะหันมานับถือศาสนาเมื่อย่างเข้าปีที่ 40 ของชีวิตว่า เป็นช่วงเวลา "ร่อนเร่พเนจร" ของ "วัยเยาว์ที่ไม่มีความรับผิดชอบ" และยอมรับว่าดื่ม "มากเกินไป" ในตลอดช่วงปีดังกล่าว เขากล่าวว่าได้เปลี่ยนรูปแบบการดำเนินชีวิตเป็นแบบสมถะ หลังจากตื่นขึ้นมาด้วยอาการเมาค้างในวันเกิดปีที่ 40 ของเขา และยังอ้างว่าการเปลี่ยนแปลงส่วนหนึ่งมาจากการได้พบปะกับบาทหลวงบิลลี เกรแฮม เมื่อปี 1985 แม้ว่าเขาจะยอมรับว่ายังดื่มสุราต่อมาจนกระทั่งถึงเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1986 ก็ตาม[19][20][21]

บุชยืนยันว่าเขาไม่ได้ใช้สารเสพติดที่ผิดกฎหมายอีกเลยตั้งแต่ปี 1979 ได้มีบทความสนับสนุนว่าเขาหยุดใช้ยาเสพติดตั้งแต่ปี 1974[22] จากบทความดังกล่าว การสนทนาทางโทรศัพท์ทำให้เราทราบว่าเคยสูบกัญชา และดูเหมือนจะไม่ได้ปฏิเสธการเสพโคเคน

เขายังปฏิเสธข้อกล่าวหาของนายเจมส์ ฮาตฟิล์ด นักเขียนที่เขียนไว้ว่าเขาได้ใช้อิทธิพลของครอบครัวเพื่อลบประวัติการถูกจับกุมข้อหามีโคเคนไว้ในครอบครองเมื่อปี 1972 แต่ขอไม่พูดถึงว่าเขาใช้ยาเสพติดก่อนปี 1974 หรือไม่[23][24][25]

ความเชื่อทางศาสนาและการปฏิบัติศาสนกิจ

[แก้]

หลังจากได้พบปะกับบิลลี เกรแฮม จากโบสต์นิกายเอแวนเจลิสต์ บุชได้เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับความเชื่อ และการปฏิบัติของศาสนาคริสต์มากขึ้น[26] ตลอดระยะเวลานี้ เขาได้ออกจากโบสต์เอปิสโปคัล ที่ครอบครัวบุชนับถือ เพื่อมาเข้าร่วมโบสต์ยูไนเต็ด เมธอดิสต์ ที่ภรรยานับถืออยู่ ซึ่งเป็นการแสดงถึงแนวคิดทางสังคมที่อนุรักษนิยมมากกว่าเดิม บุชมักจะถูกอ้างถึงว่าเป็นชาวคริสต์ที่ได้เกิดอีกครั้งจากการหันมานับถือศาสนาอย่างจริงจัง

ในการโต้วาทีทางโทรทัศน์ครั้งหนึ่ง เมื่อปี 2000 ของนักการเมืองดังพรรครีพับลิกัน ผู้ร่วมรายการต่างถูกถามว่าใครเป็นนักปราชญ์คนโปรดของพวกเขา บุชตอบว่า "พระเยซู" โดยอ้างว่าพระเยซูเจ้าเป็นนักปราชญ์ผู้ที่ได้ "เปลี่ยนชีวิตของเขา"

อาชีพการงาน

[แก้]

อาชีพนักธุรกิจ

[แก้]

บุชเริ่มอาชีพนักธุรกิจค้าน้ำมันในปี 1979 ซึ่งเป็นปีที่เขาก่อตั้ง "อาร์บุสโต แอร์เนอจี" บริษัทสำรวจหาน้ำมันและก๊าซขึ้น ด้วยเงินส่วนที่เหลือจากกองทุนเพื่อการศึกษาของเขา กับเงินสนับสนุนจากผู้ร่วมลงทุน รวมถึงโดโรธี บุช ลิววิส เลห์แมน วิลเลียม เฮนรี เดรปเปอร์ ที่สาม บิล แกมเมล และเจมส์ อาร์. บาธ ซึ่งเป็นตัวแทนของซาลิม บิน ลาเดน ต่อมาในปี 1984 บุชได้ขายกิจการไปเนื่องจากเจ็บตัวจากช่วงแรกเริ่มของวิกฤตการณ์นำมันปี 1979 และได้เปลี่ยนชื่อ "บุช เอ็กพลอเรชัน คอมพานี" เป็น "สเป็กตรัม เซเวน" ซึ่งเป็นบริษัทสำรวจหาน้ำมันและแก๊สอีกแห่งที่มีฐานที่ตั้งอยู่ในรัฐเท็กซัส ภายใต้เงื่อนไขของการขายกิจการ บุชได้กลายเป็นซีอีโอ ของบริษัท ต่อมา "สเป็กตรัม เซเวน" มีรายได้ลดลง จึงถูกรวมเข้ากับ"ฮาร์เกน แอร์เนอจี คอร์ปอเรชัน" ในปี 1986 โดยมีบุชเป็นผู้อำนวยการ

หลังจากที่ได้ช่วยงานบิดาในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ค.ศ. 1988 จนประสบความสำเร็จ บุชได้ทราบจากนายวิลเลียม เดวิท จูเนียร์ เพื่อนที่เป็นศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยเยลว่า นายเอ็ดดี ชีลส์ เพื่อนของครอบครัวเขาต้องการขายเฟรนไชส์ของทีมเท็กซัส เรนเจอร์ ซึ่งเป็นทีมเบสบอลในเมเจอร์ลีก ในเดือนเมษายน ค.ศ. 1989 บุชได้รวบรวมนักลงทุนได้กลุ่มหนึ่ง จากบรรดาเพื่อนสนิทของบิดา รวมทั้งนายโรแลนด์ ดับเบิลยู. เบ็ทส์ เพื่อนรักของพ่อ กลุ่มนักลงทุนนี้ได้ซื้อหุ้น 86 % ของทีมเรนเจอร์ มาด้วยมูลค่าราว 75 ล้านดอลลาร์สหรัฐ บุชได้รับส่วนแบ่งหุ้น 2% ด้วยการลงทุนเป็นเงิน 606,302 ดอลลาร์สหรัฐ โดยที่ในจำนวนนั้น มีเงิน 500,000 ดอลลาร์ที่ได้มาจากการกู้ธนาคาร บุชจ่ายเงินกู้ด้วยการขายหุ้นของฮาร์เกน แอร์เนอร์จีไปรวมมูลค่า 848,000 ดอลลาร์สหรัฐ ท่ามกลางเสียงคัดค้านของที่ปรึกษา ฮาร์เกนสูญเสียรายได้อย่างมากหลังจากการขายหุ้นของบุช ทำให้บุชถูกตั้งข้อกล่าวหาว่าขายหุ้นเนื่องจากทราบข้อมูลภายใน ในวันที่ 27 มีนาคม ค.ศ. 1992 คณะกรรมาธิการความมั่นคงและการแลกเปลี่ยนของสหรัฐ สรุปว่าบุชได้มี "แผนการที่วางไว้ล่วงหน้า" ว่าจะขายหุ้น และบุช "มีบทบาทเพียงน้อยนิดในการบริหารฮาร์เกน" ดังนั้นจึงไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะบ่งชี้ว่าบุชขายหุ้นเนื่องจากทราบข้อมูลภายใน[27][28][29][30]

ในฐานะหุ้นส่วนร่วมบริหารของทีมเรนเจอร์ บุชได้ช่วยในด้านการประสานงานกับสื่อและการก่อสร้างสเตเดียมแห่งใหม่[31] บทบาทของเขาต่อสาธารณชนได้ทำให้เกิดแรงสนับสนุนของอาสาสมัครที่มีคุณค่าอย่างยิ่ง และทำให้ชื่อของบุชเป็นที่รู้จักไปทั่วรัฐเท็กซัส แม้ว่าเขาจะเป็นที่รู้จักแล้วก็ตาม จากการมีพ่อที่ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีตลอดช่วงเวลาดังกล่าว[32]

อาชีพนักการเมือง

[แก้]

บุชเริ่มต้นอาชีพทางการเมืองของเขาด้วยการช่วยการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งวุฒิสมาชิกของบิดาในปี 1964 และ 1970 ซึ่งก็ไม่ประสบความสำเร็จทั้งสองครั้ง หลังจากถูกโยกย้ายไปรับตำแหน่งในกองกำลังป้องกันประเทศสหรัฐ ในปี 1972 เขาก็ได้ทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการการเลือกตั้งวุฒิสมาชิกรัฐแอละแบมา ต่อมาในปี 1978 บุชสมัครต้องการเป็นตัวแทนของพรรครีพับลิกันเข้าชิงที่นั่งส.ส.รัฐเท็กซัส แต่ก็พ่ายต่อนายเคนท์ แฮนซ์ ที่เป็นวุฒิสมาชิกรัฐเท็กซัส โรนัลด์ เรแกน ได้แต่งตั้งคู่แข่งของบุชเป็นผู้สมัครชิงตำแหน่งในการเลือกรายชื่อผู้สมัครขั้นต้นของพรรครีพับลิกัน

ในปี 1994 บุชได้สมัครเข้าชิงตำแหน่งผู้ว่าการรัฐเท็กซัส แข่งกับแอน ริชาร์ด เจ้าของธุรกิจผู้ได้รับความนิยมสูงจากพรรคเดโมแครต โดยเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน ค.ศ. 1994 เขาสามารถเอาชนะริชาร์ดไปได้ด้วยคะแนนเสียง 53 % ต่อ 46 % ในปีเดียวกันนี้เอง เขากํบหุ้นส่วนได้ขายทีมเท็กซัส เรนเจอร์ อันทำให้บุชได้กำไรไปกว่า 14 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในฐานะผู้ว่าการรัฐ บุชได้เข้าเป็นแนวร่วมทางการเมืองกับบ็อบ บุลล็อก รองผู้ว่าการรัฐเท็กซัสผู้มีอิทธิพล และอยู่กับพรรคเดโมแครตสมานาน ในปี 1998 บุชได้รับเลือกเข้ามาดำรงตำแหน่งผู้ว่าการรัฐอีกครั้ง อย่างถล่มทลายด้วยคะแนนเสียงเกือบๆ 69% และได้กลายเป็นผู้ว่าการรัฐเท็กซัสคนแรกที่ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งสองสมัยติดกัน โดยแต่ละสมัยมีวาระดำรงตำแหน่ง 4 ปี (ก่อนปี 1975 วาระดำรงตำแหน่งคือสองปี)[33]

ตลอดระยะเวลาที่บุชดำรงตำแหน่งผู้ว่าการรัฐ เขาได้ดำเนินการแก้กฎหมายสำคัญๆหลายข้อ ที่ว่าด้วยระบบความยุติธรรมทางอาญา กฎหมายละเมิด และการให้เงินสนับสนุนโรงเรียน บุชได้เลือกแนวทางที่ยากลำบากเมื่อเขาสนับสนุนการประหารชีวิต และได้รับกระแสวิพากษ์วิจารณ์เป็นอย่างมากจากทนายความที่ต้องการให้ยกเลิกโทษประหาร และจากผู้ที่โต้แย้งว่ากฎหมายของรัฐเท็กซัสมีจุดบกพร่องอย่างเห็นได้ชัด จนต้องนำโทษประหารมาใช้อย่างระมัดระวัง

ภายใต้การนำของบุช อัตราการจำคุกของรัฐเท็กซัส อยู่ที่นักโทษ 1,014 คน ต่อประชากร 100,000 คนในปี 1999 ซึ่งถือว่าสูงสุดเป็นอันดับสองจากการสำรวจทั่วสหรัฐ อันเนื่องมาจากการขยายเวลารับโทษจำคุกในคดีที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด

ในเดือนกันยายน ค.ศ. 1999 บุชได้ลงนามในกฎหมายว่าด้วยเจตจำนงของผู้ป่วยที่ระบุไว้ล่วงหน้า ซึ่งอนุญาตให้หน่วยงานสาธารณสุขเอาเครื่องช่วยชีวิตออก โดยที่ผู้ป่วยไม่ยินยอมก็ได้ เป็นเวลาสิบวันหลังจากได้รับถ้อยแถลงจากผู้ป่วย โครงการปฏิรูปต่างๆของบุช รวมทั้งชื่อเสียงของวงศ์ตระกูล ทำให้เขามีโอกาสก้าวหน้าในอาชีพการเมืองในระดับประเทศ

การรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดี

[แก้]

การรณรงค์หาเสียงปี 2000

[แก้]

คณะที่ปรึกษาได้ให้ความเชื่อมั่นกับจอร์จ ดับเบิลยู. บุชว่า ปี 2000 จะเป็นปีที่เหมาะสมสำหรับเข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดี บุชมีเงินเหลือเฟือ และพรรครีพับลิกันก็ขาดผู้สมัครคู่แข่งที่น่ากลัว ก่อนที่บุชจะสมัครเข้าชิงตำแหน่งนั้น ผลการสำรวจหยั่งเสียงระบุอย่างเด่นชัดว่าเขาเป็นที่ชื่นชอบของประชาชน ระหว่างการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีของบุชในปี 2000 บุชได้ประกาศตนเป็น "นักการเมืองอนุรักษนิยมที่มีอัธยาศัยดี" ซึ่งเป็นคำที่ถูกตั้งขึ้นเป็นครั้งแรกโดยศาสตราจารย์ มาร์วิน โอลาสกี แห่งมหาวิทยาลัยเท็กซัส ในการเลือกตั้งทั่วไป การรณรงค์ทางการเมืองของบุชได้ชูประเด็นสัญญาว่าจะ "ฟื้นฟูเกียรติยศและความภาคภูมิของทำเนียบขาว" และสัญญาว่าจะลดภาษีครั้งใหญ่เพื่อนำเงินส่วนที่เหลือจากการร่างงบประมาณจำนวนมากมาคืนให้แก่ผู้เสียภาษี และในบรรดาประเด็นต่างๆที่ถูกหยิบยกมาหาเสียง เขายังสนับสนุนให้องค์กรทางศาสนามีส่วนร่วมให้การสนับสนุนทางการเงินในโครงการต่าง ๆ ของรัฐบาลกลาง อุดหนุนการใช้คูปองเพื่อการศึกษา สนับสนุนการขุดเจาะน้ำมันในเขตสงวนพันธุ์สัตว์แห่งชาติในแถบอาร์กติก รักษางบดุลของงบประมาณกลางสหรัฐ และปรับโครงสร้างกองทัพสหรัฐ

บุชได้พ่ายแพ้ต่อวุฒิสมาชิก จอห์น แมคเคน แห่งรัฐอริโซนา ในการสรรหาผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของรัฐนิวแฮมเชียร์ (รัฐแรกที่มีการลงคะแนน) แต่ก็ตีตื้นขึ้นมาชนะ 9 ใน 13 รัฐ จากการลงคะแนน "ซูเปอร์ทิวสเดย์" (การลงคะแนนที่จัดพร้อมๆกันหลายรัฐในวันอังคารต้นเดือนมีนาคม) ซึ่งทำให้เขาได้รับเลือกเป็นผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจากพรรครีพับลิกันในที่สุด จากนั้น บุชก็ได้เลือกนายดิก เชนนี อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติของสหรัฐ และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐในสมัยที่บิดาของเขาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ให้เป็นรับตำแหน่งรองประธานาธิบดีหากเขาได้รับเลือก

หลังการรณรงค์หาเสียงเป็นนานเวลาหลายเดือน การเลือกตั้งที่มีขึ้นในคืนวันที่ 7 พฤศจิกายน ค.ศ. 2000 ได้ให้ผลดีเกินคาด เครือข่ายสถานีโทรทัศน์ได้รายงานว่าอัล กอร์นำ จากนั้นก็บอกว่าบุชนำ และท้ายสุด บอกว่าสูสีกันมากจนไม่อาจวัดได้ อัล กอร์ ผู้ซึ่งโทรศัพท์ไปหาบุชเพื่ออ้างว่าตนได้รับชัยชนะนั้น ได้โทรไปขอถอนคำพูดภายในเวลาไม่ถึงหนึ่งชั่วโมงต่อมา เมื่อการแข่งขันสิ้นสุดลง บุชได้รับการประกาศว่าสามารถเอาชนะอัล กอร์ อดีตรองประธานาธิบดีสหรัฐคู่แข่งจากพรรคเดโมแครตไปได้ และได้ไป 271 คะแนน โดยที่กอร์ได้ 266 คะแนน ชนะการเลือกตั้งแบบเอเลคตอรัลโวตใน 30 รัฐ จากทั้งหมด 50 รัฐ กอร์ได้รับการคาดการณ์ว่าจะชนะการลงคะแนนแบบป็อบปูลาร์โวตจากผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งทั้งหมดราว 105,000,000 เสียง โดยที่บุชได้ไป 50,456,002 เสียง (47.9%) และกอร์ได้ 50,999,897 เสียง (48.4 %) แต่คะแนนนี้ก็ไม่อาจเป็นเครื่องตัดสินว่าใครจะครองตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐได้ คะแนนส่วนที่เหลือถูกแบ่งปันกันระหว่างผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีอิสระ รวมทั้งนายราล์ฟ เนเดอร์ ผู้สมัครจากพรรคกรีน (2,695,696 คะแนน/2.7%) นายแพต บูชานา จากพรรครีฟอร์ม (449,895 คะแนน/0.4%) และ นายแฮร์รี บราวน์เนอร์ จากพรรคลิเบอร์ทาเรียน (386,024 คะแนน/0.4%)

การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในปี 2000 เป็นครั้งล่าสุดนับตั้งแต่เบนจามิน แฮริสัน ได้เป็นประธานาธิบดี (ค.ศ. 1888) ที่ผู้ชนะไม่ได้รับเสียงข้างมากจากการเลือกตั้งแบบป็อบปูลาร์โวต ซึ่งมีเหตุการณ์ทำนองเดียวกันนี้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก ตั้งแต่รัทเธอร์ฟอร์ด เฮย์ ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี โดยการตัดสินของศาลฎีกาสหรัฐ การนับคะแนนเสียงในรัฐฟลอริดา ที่เคยให้บุชชนะในการลงคะแนนสรรหาผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี ได้ถูกคัดค้านและกล่าวหาว่ามีความผิดปกติในการลงคะแนนและนับคะแนน อาทิเช่น เกิดการสับสนในการลงคะแนน เครื่องลงคะแนนบกพร่อง มีผู้ลงคะแนนปลอมในหมู่ทหาร และการจัดสรรผู้ลงคะแนนแบบผิดกฎหมายจำนวนมากทำให้กระบวนการเป็นไปด้วยความสับสนอลหม่าน

ได้เกิดการฟ้องศาลตามมาหลายครั้งว่าด้วยความชอบธรรมทางกฎหมายในการนับคะแนนซ้ำระดับเคาท์ตี และระดับรัฐ หลังการนับคะแนนซ้ำด้วยมือและด้วยเครื่องในสี่เคาท์ตี และบุชยังอยู่ในศาลฎีการัฐฟลอริดาเพื่อขอให้มีการนับคะแนนใหม่อีกครั้งทั่วทุกเคาท์ตี ศาลฎีกาสหรัฐ ภายใต้การรณรงค์หาเสียง "บุช ปะทะ กอร์" ได้ล้มล้างคำตัดสินและยับยั้งการนับคะแนนที่จะมีขึ้นใหม่ทั้งหมด หลังจากนำอยู่ระยะหนึ่ง กอร์ก็เป็นฝ่ายยอมประนีประนอม หลายเดือนต่อมา การนับคะแนนใหม่ด้วยเมืองทั่วทั้งรัฐฟลอริดาได้สิ้นสุดลงโดยกลุ่มของนักหนังสือพิมพ์ ผลถูกระบุว่าอัล กอร์เอาชนะบุชไปได้ในรัฐฟลอริดาด้วยมาตรฐานสี่แบบ และพ่ายต่อบุชในการนับแบบมาตรฐานอีกสี่แบบ[34][35] ในเมื่อศาลสูงสุดรัฐฟลอริดาไม่ได้กำหนดวิธีการนับคะแนนแบบมาตรฐานในการนับคะแนนใหม่ด้วยมือทั่วทุกเคาท์ตีในรัฐ จึงยังคงเป็นที่ถกเถียงกันว่าใครเป็นผู้ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีในรัฐฟลอริดา หากว่าศาลฎีกาไม่ได้ยับยั้งการนับคะแนน ในการนับคะแนนครั้งสุดท้าย บุชมีชัยในรัฐฟลอริดาด้วยคะแนนเสียงเพียง 537 คะแนน (บุช 2,912,790 คะแนน/กอร์ 2,912,253 คะแนน)[36] ทำให้เขาได้เอเล็คตอรัลโวตจากรัฐนี้ไป 25 แต้ม และได้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐในที่สุด บุชเข้าพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 20 มกราคม ค.ศ. 2001

การรณรงค์หาเสียงปี 2004

[แก้]
จอร์จ ดับเบิลยู. บุช กล่าวปราศรัยหาเสียงใน ค.ศ. 2004

ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐปี 2004 บุชได้รับชัยชนะใน 31 รัฐจากทั้งหมด 50 รัฐ ทำให้ได้คะแนนเอเล็คตอรัลโวตไปทั้งสิ้น 286 คะแนน ผู้ลงคะแนนได้ออกมาเลือกบุชอย่างถล่มทลาย ทำให้เขากลายเป็นประธานาธิบดีที่ได้ป็อบปูลาโวต มากกว่าผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีคนไหน ๆ ในประวัติศาสตร์ (62,040,610 โวต/50.7%) ซึ่งนับเป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี 1988 ที่ประธานาธิบดีได้รับเสียงประชานิยมข้างมาก ทางด้านวุฒิสมาชิกจอห์น แครี ผู้สมัครคู่แข่งจากพรรคเดโมแครต ชนะไป 19 รัฐรวมทั้งในวอชิงตัน ดี.ซี. ทำให้ได้เอเล็คตอรัลโวตไป 251 คะแนน (59,028,111 โวต/48.3%) โดยที่ผู้ลงคะแนนแบบเอเล็คตอรัลโวตคนหนึ่ง ที่ควรจะลงคะแนนให้จอห์น แครี่ ได้เปลี่ยนใจไปลงคะแนนให้จอห์น เอ็ดเวิร์ด คู่สมัครชิงประธานาธิบดีของแครี่จากพรรคเดโมแครตแทน ทำให้จอห์น เอ็ดเวิร์ด มีเอเล็คตอรัลโวต 1 คะแนน นอกจากนี้แล้วก็ไม่มีผู้สมัครคนไหนได้เอเล็คตอรัลโวตอีก ผู้สมัครที่ไม่ใช่เดโมแครตหรือ รีพับลิกันที่เด่นๆ เป็นต้นว่า ราล์ฟ เนเดอร์ ผู้สมัครอิสระ (463,653 คะแนน/ 0.4%) และ ไมเคิล แบดแนริก จากพรรคลิเบอร์แทเรียน (397,265 คะแนน/0.3%) สภาคองเกรสได้เปิดการโต้วาทีเกี่ยวกับความผิดปกติในการลงคะแนนที่อาจเกิดขึ้น รวมทั้งข้อกล่าวหาว่าเกิดความผิดปกติขึ้นที่รัฐโอไฮโอ และการปลอมแปลงเครื่องลงคะแนนอิเล็คทรอนิกส์

บุชได้เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีเป็นสมัยที่สอง เมื่อวันที่ 20 มกราคม ค.ศ. 2005 ผู้เป็นประธานในพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งได้แก่ นายวิลเลียม เรนควิสต์ ประธานกรรมการตุลาการสหรัฐในขณะนั้น คำปราศรัยของบุชเน้นไปที่อิสรภาพและประชาธิปไตยที่แผ่ขยายออกไปทั่วโลก

คนสำคัญในชีวิตและอาชีพของบุช

[แก้]

จอร์จ ดับเบิลยู. บุช เป็นสมาชิกครอบครัวบุช อันเป็นครอบครัวการเมืองที่มีอำนาจมากของสหรัฐ จอร์จ เอ็ช. ดับเบิลยู. บุช บิดาของเขา เคยดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีหนึ่งสมัย และเป็นรองประธานาธิบดีของโรนัลด์ เรแกน สองสมัย เจบ บุช น้องชายเป็นผู้ว่าการรัฐฟลอริดา ส่วนเพรสสก็อต บุช ปู่ของเขา เคยเป็นวุฒิสมาชิกสหรัฐ บุชยังมีน้องชายอีกสองคนที่เป็นนักธุรกิจ ได้แก่มาร์วิน บุช และนีล บุช

ในบรรดาประธานาธิบดีสหรัฐทั้งหมดแล้ว มีเพียงจอร์จ ดับเบิลยู. บุช กับ จอห์น ควินซี แอดัมส์เท่านั้น ที่เป็นบุตรชายของอดีตประธานาธิบดีและได้ก้าวขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีตามรอยเท้าของบิดา

บุชใช้ชีวิตใกล้ชิตกับลอรา บุช ผู้เป็นภริยามาก รวมทั้งยังสนิทกับ จอร์จ เอ็ช. ดับเบิลยู. บุช ผู้เป็นบิดา และบาบารา บุช ผู้เป็นมารดาอีกด้วย นอกจากนี้แล้ว เขายังใกล้ชิดกับโดโรธี บุช คอช พี่สาว และมาร์วิน บุช น้องชาย ความซื่อสัตย์ต่อครอบครัวเป็นเรื่องสำคัญต่อบุชเป็นอย่างมาก และแม้ว่าสมาชิกในครอบครัวจะมีความเห็นที่แตกต่างในเรื่องนโยบายหรือแนวความคิดอยู่บ้าง อีกทั้งยังดำรงชีวิตเป็นเอกเทศต่อกัน แต่บุช กับเจบ บุช น้องชาย ได้ทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดเพื่อช่วยเหลือกันและกันในอาชีพการเมือง

ในการประกอบอาชีพแล้ว บุชยึดมั่นต่อความจงรักภักดีและการทดแทนบุญคุณเป็นหลัก เขาได้สร้างความสัมพันธ์กับที่ปรึกษาหลายต่อหลายคน ที่ยังคงจงรักภักดีต่อเขา และในช่วงที่บุชดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐเป็นสมัยที่สอง บุชได้มอบตำแหน่งสำคัญ ๆ ในคณะรัฐบาลให้บรรดาที่ปรึกษาส่วนตัวเหล่านั้น

ที่ปรึกษาทางธุรกิจและการเมืองที่ใกล้ชิดกับบุช และได้รับความไว้วางใจที่สุดหลายคนเป็นสตรี คอนโดลีซซา ไรซ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ เป็นผู้ที่บุชไว้วางใจมากที่สุดในฐานะที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐ ในช่วงที่เขาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยแรก และได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่จงรักภักดีต่อบุชมาก ทางด้านมากาเร็ต สเปลลิงส์ เคยดำรงตำแหน่งหัวหน้าคณะที่ปรึกษาด้านกิจการภายในประเทศเมื่อครั้งที่บุชเป็นผู้ว่าการรัฐเท็กซัส และขณะนี้ นางเป็นผู้บริหารสำนักการศึกษาสหรัฐ นอกจาากนี้ยังมีคาเรน ฮิวส์ เป็นหนึ่งในบรรดาที่ปรึกษาที่บุชให้ความไว้วางใจมากที่สุด และมีบทบาทสำคัญในการรณรงค์หาเสียงของเขาระหว่างปี 1994 - 2004 เคยดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาทำเนียบขาวเป็นระยะเวลาสั้นๆ และขณะนี้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ด้านการทูต รับผิดชอบด้านการปรับปรุงภาพลักษณ์ของสหรัฐในสายตาชองชาวโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มประเทศมุสลิม แฮเรียต ไมเยอร์ เธอเป็นที่ปรึกษาด้านกฎหมายของบุชและผู้จงรักภักดีจากรัฐเท็กซัส และตั้งแต่บุชเข้าดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเป็นสมัยที่สองเธอก็ได้รับตำแหน่งที่ปรึกษาทำเนียบขาว บุชได้เสนอชื่อไมเยอร์ เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม ค.ศ. 2005 ให้เข้าดำรงตำแหน่งแทนแซนดรา โอคอนเนอร์ ผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกาสหรัฐที่กำลังจะเกษียณอายุ แต่ไมเยอร์เองก็ขอถอนตัวออกไปเองในอีก 24 วันต่อมา หลังจากถูกวิพากษ์วิจารณ์จากกลุ่มผู้สนับสนุนหัวอนุรักษนิยมของบุชเอง ว่าเธอไม่เคยมีเอกสารแสดงความคิดเห็นทางกฎหมายเป็นลายลักษณ์อักษร หรือแม้แต่ประสบการณ์ด้านการยุติธรรมแต่อย่างใดเลย

คาร์ล โรฟ เป็นบุคคลที่มีอิทธิพลต่อชีวิต และหน้าที่การงานของบุชมากที่สุดคนหนึ่ง ตั้งแต่ทั้งคู่พบกันเมื่อปี 1972 โรฟได้สร้างกลไกในการรณรงค์หาเสียงให้บุชเมื่อเขาตัดสินใจลงสมัครชิงตำแหน่งผู้ว่าการรัฐเท็กซัสในปี 1994 และได้กลายเป็นที่ปรึกษาทางการเมืองที่ใกล้ชิดกับบุชมากที่สุด เมื่อบุชได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีสหรัฐในปี 2001 บุชได้ขอให้โรฟเลิกทำธุรกิจไปรษณีย์และมาร่วมงานกับเขาอย่างเต็มตัวที่กรุงวอชิงตัน โดยได้มอบตำแหน่งที่ปรึกษาทำเนียบขาวอย่างเป็นทางการให้ โรฟยังได้ออกแบบกลยุทธทางการเมือง เพื่อให้บุชได้นำไปใช้ในการออกกฎหมายวาระต่างๆ และยังให้คำแนะนำทางการเมืองในประเด็นสำคัญๆของชาติ ทั้งในส่วนของทำเนียบขาวและพรรครีพับลิกัน เพื่อให้บุชได้รับเลือกอีกครั้งในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 2004 หลังจากได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีอีกสมัย บุชได้ยกย่องโรฟว่าเป็น "สถาปนิก" ของการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง และให้โรฟดำรงตำแหน่งหัวหน้าคณะทำงานของประธานาธิบดี ในส่วนของการเมืองในประเทศและความมั่นคงแห่งชาติ โรฟยังมีส่วนสำคัญต่อการขึ้นสู่อำนาจของสมาชิกพรรครีพับลิกันที่ภักดีต่อบุช เป็นต้นว่าเคน เมห์ลแมน ผู้จัดการการรณรงค์หาเสียงของบุช ที่ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการพรรครีพับลิกัน

อัลเบอร์โต กอนซาเลส เคยเป็นที่ปรึกษาทางกฎหมายของผู้ว่าการรัฐเท็กซัส และหัวหน้าอัยการ เขาได้มาร่วมงานกับบุชที่กรุงวอชิงตันในปี 2001 และ 2005 และได้รับการแต่งตั้งให้เป็นอัยการสูงสุดของสหรัฐ นับเป็นชาวอเมริกันเชื้อสายสเปนคนแรกที่เข้ามาเป็นผู้บริหารในกระทรวงสหรัฐ

การดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ (ค.ศ. 2001-2009)

[แก้]
บุช พบปะกับนายมามุด อับบาส ผู้นำปาเลสไตน์ และนายกรัฐมนตรีอาเรียล ชารอน แห่งอิสราเอล ระหว่างการประชุมสุดยอด กลุ่มประเทศในแถบทะเลแดง ที่เมืองอากาบา ประเทศจอร์แดน เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน ค.ศ. 2003

100 วันแรก

[แก้]

ช่วงหนึ่งร้อยวันแรกหลังจากที่บุชเข้าดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ ถือว่าเป็นช่วงที่ไม่ได้มีความปรองดองระหว่างสองพรรคใหญ่มากเท่าที่บุชได้อ้างไว้ระหว่างการรณรงค์หาเสียง บุชถูกวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุด จากการแต่งตั้งนายจอห์น แอชครอฟต์ เป็นหัวหน้าอัยการ พรรคเดโมแครตต่อต้านแอชครอฟต์เป็นอย่างมาก เนื่องด้วยเขามีหัวอนุรักษนิยมขวาจัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับประเด็นเรื่องการทำแท้งและโทษประหารชีวิต แม้ว่าแอชคอรฟต์จะได้รับการยอมรับในเวลาต่อมาก็ตาม ในวันแรกที่บุชเข้าทำงานในทำเนียบขาว เขาก็ได้ยับยั้งการให้เงินช่วยของรัฐบาลกลางที่ให้แก่กลุ่มองค์กรต่างชาติ ที่ให้คำปรึกษาหรือความช่วยเหลือใดๆแก่สตรีให้มีการทำแท้ง หลายวันต่อมา เขาก็ได้ประกาศพันธกิจที่จะเพิ่มเงินช่วยเหลือของรัฐบาลกลางให้แก่องค์กรที่อ้างอิงความเชื่อทางศาสนา จนทำให้นักวิจารณ์หวั่นเกรงว่าจะเกิดความขัดแย้ง ต่อการแยกกันเป็นอิสระระหว่างโบสถ์และรัฐ ตามประเพณีที่เคยปฏิบัติกันมา

พรรครีพับลิกันสูญเสียอำนาจควบคุมวุฒิสภาสหรัฐ ในเดือนมิถุนายน เมื่อวุฒิสมาชิกเจมส์ เจฟฟอร์ด จากรัฐเวอร์มอนต์ ลาออกจากพรรครีพับลิกันเพื่อมาเป็นนักการเมืองอิสระ แต่การลาออกเกิดก่อนหน้าที่สมาชิกวุฒิสภาของพรรคเดโมแครตห้าคน จะแหกคอกออกมายกมือสนับสนุนโครงการตัดลดภาษีมูลค่า 1.35 พันล้านดอลลาร์สหรัฐของบุช อย่างไรก็ดี อีกไม่ถึงสามเดือนต่อมา หน่วยงานราชการได้ออกร่างงบประมาณที่แสดงให้เห็นว่าเงินคงคลังที่ได้มาจากการเก็บภาษีเงินได้จะลดลงจนไม่เหลือเลยในอีกหลายปีต่อมา

อุดมคติทางการเมือง

[แก้]

ระหว่างการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดี ค.ศ. 2000 บุชได้เริ่มใช้ประโยคว่า "นักอนุรักษนิยมผู้มีความเมตตาปราณี" เพื่ออธิบายอุดมคติความเชื่อของเขา นักอนุรักษนิยมบางคนได้ตั้งข้อกังขาเกี่ยวกับพันธกิจของบุช ที่มีต่ออุดมคติแนวอนุรักษนิยม เนื่องด้วยบุชยินยอมให้เกิดการขาดดุลงบประมาณจำนวนมาก จากการใช้จ่ายในเรื่องสำคัญๆมากขึ้น สมาชิกพรรคเดโมแครตและสมาชิกอิสระอ้างว่า การใช้คำว่า "อนุรักษนิยม" ตามด้วยคำว่า "เมตตาปราณี" ไม่ได้แสดงให้เห็นถึงอุดมคติที่แปลกใหม่แต่อย่างใด หากแต่เป็นการทำให้แนวทางอนุรักษนิยมได้รับการยอมรับมากขึ้นจากกลุ่มผู้ลงคะแนนเลือกตั้งอิสระและกลุ่มที่ไม่ได้ปักใจลงคะแนนกับฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดอย่างเด็ดขาด ในการกล่าวปราศรัยในพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีของบุช เมื่อปี 2005 บุชได้เน้นถึงวิสัยทัศน์ด้านนโยบายการต่างประเทศของเขา และอ้างถึงแผนการที่จะสนับสนุนการเติบโตของระบอบประชาธิปไตยทั่วโลก ตามที่ระบุไว้ใน[37]

องค์ประกอบสำคัญในการเป็นประธานาธิบดีของบุช เห็นจะได้แก่การเน้นความสำคัญของอำนาจและสิทธิพิเศษของผู้บริหารระดับสูง ตามความเห็นของบุชและผู้ที่สนับสนุนเขาแล้ว การทำสงครามกับการก่อการร้ายจะเป็นที่จะต้องใช้บริหารระดับสูงที่เข้มแข็ง และมีความสามารถที่จะใช้กลวิธีต่างๆที่ขัดต่อบทบัญญัติของกฎหมายเพื่อต่อกรกับผู้ก่อการร้าย เป็นต้นว่า ครั้งหนึ่ง บุชได้โต้แย้งซ้ำๆหลายครั้งว่าข้อจำกัดของกฎหมายการเฝ้าระวังการข่าวกรองของต่างชาตินั้น เป็นกรอบที่เข้มงวดจนเกินไปต่อความสามารถในการเฝ้าระแวดระวังผู้ก่อการร้ายผ่านทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ และบุชได้ผลักดันให้มีการยกเว้นข้อจำกัดต่างๆเหล่านั้นชั่วคราว รวมทั้งบางส่วนของกฎหมายต่อต้านการก่อการร้ายสหรัฐปี 2001 (USA PATRIOT ACT ย่อมาจาก Uniting and Strengthening America by Providing Appropriate Tools Required to Intercept and Obstruct Terrorism ACT of 2001 แปลตรงตัวว่า กฎหมายเพื่อการรวมกำลังและเสริมสร้างความแข็งแกร่งของอเมริกา ด้วยการให้เครื่องมือที่เหมาะสมซึ่งจำเป็นต่อการดักจับและขัดขวางการก่อการร้าย บัญญัติเมื่อ ค.ศ. 2001) คณะผู้บริหารงานแผ่นดินของบุช ได้ข่มขู่ว่าจะวีโต้เอกสารระบุกลวิธีป้องกันประเทศสองฉบับ ที่รวมข้อความที่ถูกแก้ไขโดยวุฒิสมาชิกจอห์น แมคเคน เพื่อจำกัดอำนาจของผู้บริหารระดับสูงในอันที่จะอนุญาตให้มีการกระทำทารุณกรรมต่อมนุษย์ บุชกับพวกได้โต้แย้งว่า การกระทำรุนแรงต่อผู้ถูกจับกุมและเชื่อว่าเป็นผู้ก่อการร้ายนั้น จำเป็นต่อการได้มาซึ่งข้อมูลสำคัญเพื่อต่อต้านการก่อการร้าย [38] ทนายความในคณะรัฐบาลของบุช เป็นต้นว่าจอห์น ยู ได้โต้แย้งว่า ประธานาธิบดีมีอำนาจเบ็ดเสร็จในการนำประเทศเข้าสู่สงครามอยู่แล้วหากเห็นว่าเหมาะสม แม้ว่าจะมีข้อกฎหมายมาจำกัดอำนาจนั้นก็ตาม [39] นายจอห์น จี. โรเบิร์ต ผู้ได้รับการแต่งตั้งเป็นหัวหน้าผู้พิพากษาศาลฎีกาสหรัฐ เห็นว่าผู้บริหารระดับสูงควรมีขอบเขตอำนาจกว้างขวางเช่นกัน ในกรณีฮัมแดน ปะทะ รัมสเฟลด์ เขาได้เขียนระบุไว้ว่า มาตราทั่วไปที่ 3 ของสนธิสัญญาเจนีวา ไม่ได้ครอบคลุมถึงผู้ถูกจับกุมตัวจากสงครามการต่อต้านการก่อการร้าย ดังนั้น บุชจึงสามารถเลือกที่จะอนุญาตให้มีการจัดตั้งศาลทหารลับเพื่อพิจารณาคดีผู้ต้องสงสัยว่าเป็นผู้ก่อการร้ายได้ หากเขาต้องการ คณะรัฐบาลของบุชได้สั่งให้เก็บข้อมูลเกี่ยวกับผู้บริหารระดับสูงที่เคยเปิดเผยต่อสาธารณะได้ไว้เป็นความลับ และได้ร่างคำสั่งของผู้บริหารระดับสูงขึ้นเพื่อใช้ยับยั้งคำร้องขอข้อมูลที่อ้างอิงกฎหมายอิสรภาพทางสารสนเทศ อีกทั้งให้เก็บรักษาข้อมูลเก่าที่เป็นความลับต่อไปเกินกว่าวันหมดอายุความลับเดิม [40] ผู้วิพากษ์วิจารณ์บุชได้โต้แย้งว่า อำนาจของผู้บริหารระดับสูงที่ไม่ผ่านการกลั่นกรองนั้นเสี่ยงต่อการล่วงละเมิดวัตถุประสงค์ทางการเมือง และละเมิดต่ออิสรภาพของพลเรือน [41] อีกทั้งยังบอกว่าเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญ ไร้จริยธรรม และมีแนวโน้มก่อให้เกิดกระแสต่อต้าน ดังที่เคยเกิดกระแสต่อต้านของชาวโลกต่อกรณีการทำทารุณกรรมต่อนักโทษในเรือนจำอาบู กราอิบมาแล้ว [42] ส่วนผู้สนับสนุนบุชได้แย้งว่า ขอบข่ายอำนาจที่กว้างขวางในการทำสงครามต่อต้านการก่อการร้ายนั้น จำเป็นอย่างยิ่งในการป้องกันการจู่โจมสหรัฐครั้งสำคัญๆ [43] และประธานาธิบดีก็มิได้ใช้อำนาจนั้นเกินความจำเป็นแต่อย่างใด[44]

การบริหารงานแผ่นดิน

[แก้]

บุชได้ให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อความจงรักภักดีส่วนบุคคล อันส่งผลให้คณะบริหารงานแผ่นดินของบุชสามารถสื่อสารแนวความคิดทางการเมืองของบุชแก่ประชาชนได้โดยไม่ไขว้เขว เขายังคงรักษารูปแบบการทำงานแบบ วางมือให้ทีมดำเนินการไป เนื่องจากเชื่อว่าจะป้องกันไม่ให้เขาถูกขัดขวางด้วยกระบวนการตัดสินใจอันสลับซับซ้อน บุชกล่าวกับไดแอน ซอวเยอร์ ในรายการของเอบีซี ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 2003 ว่า "ข้าพเจ้ามั่นใจในรูปแบบการบริหารงานของตน ข้าพเจ้ามีต้วแทนในการดำเนินงานต่างๆเนื่องจากข้าพเจ้าไว้ใจผู้ที่ข้าพเจ้าขอให้มาร่วมทีม ข้าพเจ้ายินดีที่จะแต่งตั้งตัวแทน และนั่นทำให้การเป็นประธานาธิบดีนั้นง่ายขึ้น" อย่างไรก็ดี นักวิจารณ์ได้กล่าวหาว่าบุชต้องการมองข้ามข้อผิดพลาด[45][46] ที่ผู้ใต้บังคับบัญชาก่อขึ้น และตัวบุชเองก็แวดล้อมไปด้วยพวกประจบสอพลอ[47]

ตลอดระยะเวลาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของบุชนั้น เป็นช่วงที่มีการปกป้องสิทธิพิเศษของผู้บริหารระดับสูงอยู่มาก นักวิจารณ์หลายคนได้อ้างว่า บุชได้ให้ความสำคัญต่อสิทธิพิเศษของผู้บริหารระดับสูง เมื่อเขาเสนอชื่อบุคคลสามคนให้เป็นผู้ดำรงตำแหน่งในศาลฎีกาสหรัฐ และการเสนอชื่อนายจอห์น อาร์. โบลตัน ดำรงตำแหน่งทูตสหรัฐประจำองค์การสหประชาชาติ

บุชยังได้บริหารงานแผ่นดินในตำแหน่งประธานาธิบดีหลายอย่าง ในขณะที่พำนักในบ้านไร่เมืองครอวฟอร์ด รัฐเท็กซัส ที่ถูกขนานนามว่า "ทำเนียบขาวบ้านไร่" ดังเช่นเมื่อวันที่ 2 กันยายน ค.ศ. 2005 บุชได้ไปเยือนบ้านไร่ถึง 49 ครั้งขณะดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี รวมเป็นเวลาที่เขาจากทำเนียบขาวไปทั้งสิ้น 319 วัน จนเกือบจะเท่ากับสถิติที่โรนัลด์ เรแกน เคยทำไว้ คือ 335 วัน ภายใน 5 ปีครึ่ง คณะผู้บริหารงานแผ่นดินของบุชได้สนับสนุนแนวทางนี้ โดยกล่าวว่าการไปเยือนบ้านไร่ ช่วยให้ประธานาธิบดีได้มีมุมมองที่แตกต่างจากในวงจรการเมืองน้ำเน่าของแวดวงรัฐบาลกลาง ซึ่งแม้จะอยู่บ้านไร่ ประธานาธิบดีก็ยังคงปฏิบัติภารกิจตามปกติ (คณะผู้บริหารงานแผ่นดินได้บันทึกไว้ว่า การเยือนบ้านไร่ครอวฟอร์ด ครั้งที่ยาวนานที่สุดของบุช คือเมื่อเดือนกันยายน ค.ศ. 2005 ใช้เวลาพักผ่อนรวมเพียงหนึ่งสัปดาห์ จากระยะเวลาเยือนรวมทั้งสิ้น 5 สัปดาห์)

รายชื่อคณะรัฐมนตรีของบุชได้ถูกรวบรวมไว้ใน หน้าหลักของรายชื่อคณะรัฐบาล ภายใต้ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช (จากวิกิพีเดียภาษาอังกฤษ)

นโยบายการต่างประเทศและความมั่นคง

[แก้]

ระหว่างการเยือนยุโรปครั้งแรกของบุชในฐานะประธานาธิบดี ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 2001 ผู้นำชาติยุโรปได้วิพากษ์วิจารณ์บุชเกี่ยวกับการที่เขาปฏิเสธพิธีสารโตเกียว เพื่อลดการเพิ่มอุณหภูมิของโลก ในปี 2002 บุชได้ปฏิเสธสนธิสัญญาดังกล่าวเนื่องจากเห็นว่าเป็นตัวขัดขวางการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐ โดยกล่าวว่า "แนวทางของข้าพเจ้านั้นเห็นว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นทางออก ไม่ใช่ปัญหา"[48] คณะบริหารงานแผ่นดินของบุชยังโต้แย้งเกี่ยวกับความน่าเชื่อถือทางวิทยาศาสตร์ อันเป็นที่มาของสนธิสัญญาฉบับนี้ [49] ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2004 รัสเซียได้ลงนามยอมรับสนธิสัญญาดังกล่าว ทำให้มันมีผลบังคับใช้โดยไม่จำเป็นต้องผ่านการลงนามเห็นชอบของสหรัฐอเมริกา

นโยบายต่างประเทศของบุชได้รณรงค์สนับสนุนการกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ และการเมืองกับกลุ่มประเทศในแถบละตินอเมริกา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเม็กซิโก และลดการเข้าแทรกแซง "การสร้างชาติ" และการแทรกแซงทางการทหารเล็กๆน้อยๆที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของสหรัฐ อย่างไรก็ดี หลังจากเหตุการณ์ก่อวินาศกรรมเมื่อวันที่ 11 กันยายน ค.ศ. 2001 (9/11) กระทรวงการต่างประเทศได้มุ่งเน้นความสำคัญไปยังกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง

การก่อการร้าย

[แก้]
บุชกล่าวต่อบรรดา เจ้าหน้าที่กู้ภัยที่ปฏิบัติงานบริเวณ กราวด์ซีโร ในมหานครนิวยอร์ก เมื่อวันที่ 14 กันยายน ค.ศ. 2001 ว่า "กระผมได้ยินเสียงพวกท่าน โลกทั้งใบได้ยินพวกท่าน และผู้ที่ทำตึกเหล่านี้ล้มครืนลงมา จะได้ยินพวกเราทั้งหมดในไม่ช้านี้"

เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม ค.ศ. 2001 สหรัฐอเมริกาภายใต้การสนับสนุนจากนานาชาติ ได้ประกาศสงครามกับรัฐบาลตาลีบัน ของอัฟกานิสถาน ที่ถูกตั้งข้อกล่าวหาว่าให้ที่พักพิงแก่นายโอซามา บิน ลาเดน ผลพวงของความพยายามสร้างชาติอัฟกันร่วมกับสหประชาชาติ และประธานาธิบดีฮามิด การ์ไซ ส่งผลทั้งในแง่บวกและแง่ลบ ในปี 2005 สหรัฐก็ยังหาตัว บิน ลาเดน ไม่พบ การเลือกตั้งประธานาธิบดีอัฟกานิสถานมีขึ้นเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม ค.ศ. 2004 แม้ว่าผู้สังเกตการณ์จากนานาชาติจะบอกว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ เป็นไปอย่าง "ค่อนข้างเป็นประชาธิปไตย" และ "ได้รับคะแนนเสียงข้างมาก" ตามที่ศูนย์สำรวจคะแนนนิยมกลางระบุ ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี 15 จากทั้งหมด 18 คน ก็ถูกข่มขู่ให้ถอนตัว โดยถูกกล่าวหาว่าการลงทะเบียนเป็นมลทิน และไม่มีสภาพเป็นผู้สมัครอย่างถูกต้อง[50]

หลายวันหลังจากที่บุชกลับเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี เขาได้ประกาศว่า "ผมจะเดินหน้าแผนระบบต่อต้านขีปนาวุธ" [51] และเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว บุชได้ประกาศเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม ค.ศ. 2001 ว่าเขาประสงค์จะถอนตัวจากสนธิสัญญาต่อต้านขีปนาวุธ ของปี 1972 และใช้ระบบต่อต้านขีปนาวุธที่สามารถกำบังการจู่โจมจากประเทศที่เป็นภัยคุกคามได้[52] สมาคมฟิสิกส์แห่งสหรัฐได้วิพากษ์วิจารณ์การเปลี่ยนแปลงนโยบายครั้งนี้ โดยตั้งข้อกังขาเกี่ยวกับประสิทธิภาพของระบบ[53] บุชได้โต้แย้งว่ามีความสมเหตุสมผลดีแล้ว เนื่องจากสงครามเย็นอันเป็นผลพวงของสนธิสัญญาดังกล่าวได้หมดยุคลงแล้ว เอกสารที่สหรัฐขอถอนตัวจากสนธิสัญญาดังกล่าวอย่างเป็นทางการได้ถูกประกาศเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม ค.ศ. 2001 โดยกล่าวถึงความจะเป็นในการต่อต้านการก่อการร้าย แม้จะเคยมีปรากฏว่าประธานาธิบดีเป็นผู้ขอยกเลิกสนธิสัญญา แต่กรณีส่วนใหญ่แล้วจะมีการขอความเห็นชอบจากสภาคองเกรส[54]

อิรัก

[แก้]

ไม่นานหลังเกิดเหตุการณ์ 9/11 คณะบริหารงานแผ่นดินของบุชได้เริ่มรณรงค์แผนการตอบโต้เร่งด่วนต่ออิรัก โดยระบุว่าประธานาธิบดีซัดดัม ฮุสเซนของอิรัก ได้กลับมาใช้อาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูงอีกครั้ง แม้ว่าซัดดัมจะอ้างว่าเขาได้ทำลายอาวุธเคมีและชีวภาพที่เขาเคยมีเมื่อก่อนปี 1991 ทั้งหมด (ซัดดัมเคยใช้มันสังหารชาวเคิร์ดทางตอนเหนือของอิรัก เมื่อปี 1988 โดยที่โครงการอาวุธดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐและอังกฤษ)[ต้องการอ้างอิง] ทฤษฎีที่ว่าซัดดัมได้ทำลายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูงได้ถูกประกาศอย่างโจ่งแจ้งโดยนายสก็อต ริตเตอร์ อดีตผู้ตรวจอาวุธ[55] และนายฮานส์ บลิกซ์ อดีตหัวหน้าผู้ตรวจอาวุธของสหประชาชาติ[56] บุชยังกล่าวว่าซัดดัมเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐ และทำให้ขาดเสถียรภาพในตะวันออกกลาง ก่อให้เกิดกรณีพิพาทอิสราเอล-ปาเลสไตน์ อีกทั้งได้ให้เงินสนับสนุนผู้ก่อการร้าย รายงานของหน่วยข่าวกรองแห่งชาติสหรัฐหรือ ซีไอเอ ได้ระบุว่าการที่ซัดดัม ฮุสเซนพยายามจะมีวัตถุนิวเคลียร์ในครอบครองนั้น ไม่ถือว่าเป็นอาวุธเคมี หรืออาวุธชีวภาพที่ฝ่าฝืนมาตรการคว่ำบาตรของสหประชาชาติ และขีปนาวุธของอิรักบางส่วนนั้น มีวิถีไกลเกินกว่าที่มาตรการคว่ำบาตรของสหประชาชาติอนุญาต แต่ถ้าจะว่ากันไปแล้ว ตั้งแต่ปี 1998 เป็นต้นมา ประธานาธิบดีสหรัฐมีนโยบายจะโค่นล้มซัดดัม ฮุสเซน ด้วยการใช้กฎหมายปลดปล่อยอิรัก ที่ผ่านความเห็นชอบของสภานิติบัญญัติ และวุฒิสภา อีกทั้งผ่านการลงนามโดยประธานาธิบดีบิล คลินตัน [57][58]

จากการที่ประกาศออกไปว่าซัดดัม ฮุสเซน สามารถส่งมอบอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูงให้แก่ผู้ก่อการร้ายได้ บุชก็ได้เตือนสหประชาชาติให้บังคับใช้อาณัติปลดอาวุธอิรัก โดยอ้างความเร่งด่วนของวิกฤตการณ์ทางการทูต เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน ค.ศ. 2002 ภายใต้ข้อมติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ นายฮานส์ บลิกซ์ และนายโมฮัมเม็ด เอลบาราดาย ได้นำคณะผู้ตรวจอาวุธของสหประชาชาติไปยังอิรัก การที่อิรักไม่ให้ความร่วมมือ ได้ก่อให้เกิดการโต้วาทีอย่างเผ็ดร้อนเกี่ยวกับประสิทธิภาพของการตรวจการณ์ ส่งผลให้คณะผู้ตรวจอาวุธได้เดินทางออกจากอิรักภายใต้คำแนะนำของสหรัฐ สี่วันก่อนกำหนดการเดิม[59]

นายโคลิน พาวเวลล์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ ได้เตือนผู้ร่วมงานในคณะบริหารงานแผ่นดินของประธานาธิบดีบุช ให้หลีกเลี่ยงการก่อสงครามที่ไม่ได้รับความเห็นชอบอย่างเด่นชัดจากสหประชาชาติ คณะบริหารงานแผ่นดินของบุชได้พยายามผลักดันข้อมติอนุมัติการปฏิบัติหน้าที่ของกองกำลังทหาร ตามบทบัญญัติที่ 7 แห่งกฎบัตรสหประชาชาติ แต่ก็ต้องเผชิญกับกระแสคัดค้านจากชาติมหาอำนาจหลายชาติ รวมทั้งการข่มขู่ของนานาชาติจากการที่ฝรั่งเศสเสียหน้าในการใช้สิทธิ์ยับยั้ง ทำให้สหประชาชาติไม่อนุมัติ โดยมีเพียงไม่กี่ชาติ ที่ได้รับสมญาว่าเป็น "กลุ่มแนวร่วมฝักใฝ่"เห็นชอบกับสหรัฐ และเตรียมพร้อมเข้าร่วมสงคราม[60]

ประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู. บุช ได้กล่าวกับนาวิกโยธิน และกับเพื่อนร่วมชาติ จากลานบินบนเรือรบหลวง ยู.เอส.เอส. อับราฮัม ลิงคอล์น นอกชายฝั่งซานดิเอโก รัฐแคลิฟอร์เนีย เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม ค.ศ. 2003 ซึ่งคำประกาศว่า "ภารกิจสำเร็จลุล่วงแล้ว!" เพื่อประกาศชัยชนะ และการสิ้นสุดปฏิบัติการรบสำคัญๆ ในอิรัก ได้ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ตามมา

ปฏิบัติการณ์ทางทหารได้เริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 20 มีนาคม ค.ศ. 2003 เพื่อพิสูจน์ว่าอิรักมีอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูงไว้ในครอบครอง และโค่นอำนาจของซัดดัม การเตรียมพร้อมเข้าสู่ภาวะสงครามของสหรัฐมีขึ้น พร้อมๆกับการที่ซัดดัมยื้อการตรวจอาวุธให้ยืดเยื้อไปอีก การกล่าวหาว่ามีการพยายามลอบสังหารอดีตประธานาธิบดีจอร์จ เอ็ช. ดับเบิลยู. บุช ในปี 1991 การฝ่าฝืนสัญญาหยุดยิงในปีนี้ และการฝ่าฝืนข้อมติต่างๆของสหประชาชาติ โดยมีนายโคฟี อันนัน เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ และผู้นำชาติมหาอำนาจหลายประเทศได้ตั้งข้อกังขาเกี่ยวกับความชอบธรรมของสงครามดังกล่าว และแม้ว่าบุชประกาศจะประกาศชัยชนะไปเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม ค.ศ. 2003 แต่ปฏิบัติการทางทหารของสหรัฐยังคงดำเนินต่อไปถึงปี ค.ศ. 2005 อันเนื่องมาจากเหตุการณ์ไม่สงบในอิรัก แม้ว่าจะสามารถจับกุมตัวซัดดัม ฮุสเซนได้แล้วก็ตาม

เมื่อวันที่ 30 กันยายน ค.ศ. 2004 รายงานผลสุดท้ายของ คณะสำรวจอิรักของสหรัฐ ได้สรุปว่า "คณะผู้ตรวจสอบอาวุธไม่พบหลักฐานว่า ซัดดัม ฮุสเซน มีอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูงไว้ในครอบครอง ในปี 2003 แต่หลักฐานที่พบจากการตรวจสอบ รวมถึงการสัมภาษณ์ผู้ถูกกักขัง และการตรวจสอบเอกสาร ต่าง»แสดงให้เห็นว่า อาจเป็นไปได้ที่มีอาวุธดังกล่าวอยู่ในอิรัก แม้ว่าจะไม่มีนัยยะสำคัญทางการทหารก็ตาม"[61] รายงานของคณะผู้สอบสวนกรณี 9/11 ก็ไม่พบหลักฐานที่อาจเชื่อถือได้ว่าซัดดัม ฮุสเซน มีอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูงไว้ในครอบครอง แม้รายงานจะสรุปว่ารัฐบาลของซัดดัมจะพยายามอย่างหนัก ให้มีเทคโนโลยีที่ทำให้อิรักสามารถผลิตอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูงไว้ในครอบครอง ทันทีที่มีการยกเลิกการคว่ำบาตรของสหประชาชาติ[62] นอกจากนี้ คณะผู้สอบสวนกรณี 9/11 ยังพบว่า แม้อิรักจะมีการติดต่อกับกลุ่มอัลกออิดะห์ ในปี 1996 แต่ก็ "ไม่มีการประสานความร่วมมือกัน" ที่เกี่ยวเนื่องกับเหตุการณ์ก่อวินาศกรรม 9/11 แต่อย่างใด[63]

การอพยพเข้าเมือง

[แก้]

บุชได้เสนอให้แก้ไขกฎหมายผู้อพยพเข้าเมือง ที่จะทำให้เกิดการใช้วีซ่าแรงงานต่างชาติอย่างกว้างขวาง ข้อเสนอของเขาสนองตอบต่อความต้องการของนายจ้าง ที่มีแรงงานต่างชาติทำงานให้ไม่เกินหกปี อย่างไรก็ดี ผู้ใช้แรงงานจะไม่มีสิทธิ์ได้รับบัตรพำนักถาวร (หรือ กรีนการ์ด) หรือแม้กระทั่งสัญชาติสหรัฐ ร่างแก้ไขข้อกฎหมายดังกล่าวถูกคัดค้านโดยวุฒิสมาชิกจากพรรคเดโมแครตกลุ่มหนึ่ง รวมถึง บาบารา บ็อกเซอร์ และ เท็ด เคเนดี

บุชยังได้ประกาศอย่างเป็นทางการว่า ต้องการเพิ่มความเข้มงวดของการรักษาความปลอดภัย ตามแนวพรมแดนสหรัฐ - เม็กซิโก อีกทั้งต้องการเร่งรัดกระบวนการขับผู้อพยพกลับประเทศ การสร้างที่คุมขังเพิ่มเติม เพื่อรองรับผู้อพยพเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย และการติดตั้งอุปกรณ์เพิ่มเติม และเพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่ตามแนวชายแดน บุชยังเห็นชอบต่อการ "เพิ่มจำนวนกรีนการ์ดประจำปี ที่จะก่อให้เกิดการขอสัญชาติเพิ่มขึ้น" แต่ก็มิได้สนับสนุนการให้นิรโทษกรรมแก่ผู้ที่เข้าประเทศโดยผิดกฎหมายอยู่แต่ก่อนแล้ว โดยอ้างว่ามาตรการดังกล่าวมีแต่จะสนับสนุนให้มีการอพยพเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายเพิ่มขึ้น [64]

การสาธารณสุข (นานาชาติ)

[แก้]

ใน การแถลงนโยบายประจำปี เมื่อเดือนมกราคม ค.ศ. 2003 บุชได้กำหนดยุทธวิธีห้าปี เพื่อบรรเทาการแพร่ระบาดของโรคเอดส์ระดับสากล โดยเขาได้เรียกร้องงบประมาณ 15,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อการนี้ และข้อเสนอดังกล่าวก็ได้รับการสนับสนุนจากสภาคองเกรส ความพยายามบรรเทาการระบาดของโรคเอดส์อย่างเร่งด่วน มีนายแรนดาล แอล. โทเบียส ผู้ประสานงานโรคเอดส์สากล ประจำสำนักการต่างประเทศ เป็นหัวหน้าโครงการ โดยในเงินงบประมาณก้อนนี้ ได้มีการจัดสรร 9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อโครงการบรรเทาการแพร่ระบาดของเอดส์ใน 15 ประเทศที่มีผู้ติดเชื้อเอช.ไอ.วี. มากที่สุด อีก 5 พันล้านดอลลาร์จะนำไปสนับสนุนการบรรเทาการแพร่ระบาดของเอดส์อย่างต่อเนื่อง ในอีก 100 ประเทศที่สหรัฐได้เคยจัดตั้งโครงการควบคู่ไว้แล้ว และอีกหนึ่งพันล้านดอลลาร์สหรัฐจะนำไปสนับสนุนกองทุนรวมเพื่อต่อสู้กับโรคเอดส์ วัณโรค และมาลาเรีย เงินงบประมาณนี้นับเป็นมูลค่ามากกว่าเงินบริจาคเพื่อต่อสู้กับโรคเอดส์ จากทุกประเทศรวมกันเสียอีก

การพาณิชย์

[แก้]

การที่บุชบังคับใช้อัตราภาษีนำเข้าเหล็ก และไม้เนื้ออ่อนแปรรูปของแคนาดา ทำให้เกิดการถกเถียงในประเด็นที่เขาให้การสนับสนุนนโยบายการค้าเสรี กับสินค้าตัวอื่น ๆ และทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ ทั้งจากเพื่อนแนวร่วมอนุรักษนิยม และจากชาติที่ได้รับผลกระทบ อัตราภาษีเหล็กนำเข้าได้ถูกเพิกถอนในเวลาต่อมาภายใต้แรงกดดันจากองค์กรการค้าโลก กรณีพิพาทไม้เนื้ออ่อนแปรรูประหว่างแคนาดากับสหรัฐ ยังคงดำเนินอยู่

การช่วยเหลือเพื่อการพัฒนา

[แก้]

สำนักงานการต่างประเทศสหรัฐ และสำนักงานเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐ (หรือ ยูเสด) ได้ตีพิมพ์แผนยุทธวิธีสำหรับช่วงปี 2004 - 2009 ซึ่งวัตถุประสงค์หลักของยุทธวิธีดังกล่าว ได้ยึดเอาแนวทางที่ถูกระบุไว้ในยุทธวิธีเพื่อความมั่นคงแห่งชาติของประธานาธิบดีบุช สามประการด้วยกัน อันได้แก่ การทูต การพัฒนา และการป้องกันประเทศ นโยบายใหม่ของบุชจะทำให้มีการให้ความช่วยเหลือเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 50 แก่ประเทศที่ช่วยเหลือตัวเองในการพัฒนา "ด้วยการปกครองอย่างถูกต้อง ลงทุนอย่างชาญฉลาดในทรัพยากรมนุษย์ของตน และสนับสนุนให้เกิดอิสรภาพทางเศรษฐกิจ" การช่วยเหลือการพัฒนาจะต้องควบคู่ไปกับนโยบายต่างประเทศของสหรัฐ นั่นหมายความว่า ยูเสด จะให้การสนับสนุนเพื่อการพัฒนาแก่ "ประเทศที่ยึดมั่นต่อการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย เศรษฐกิจแบบเปิด และมีการลงทุนอย่างชาญฉลาดในด้านการศึกษา การสาธารณสุจ และศักยภาพของประชาชน" [65]

นโยบายภายในประเทศ

[แก้]

แนวคิดริเริ่มที่อิงคติความเชื่อทางศาสนา

[แก้]

ในช่วงต้นปี 2001 บุชได้ทำงานร่วมกับพรรครีพับลิกัน และพรรคสังคมอนุรักษนิยมในสภาคองเกรส เพื่อผ่านร่างกฎหมายสำหรับแก้ไขวิธีการที่รัฐบาลกลางใช้ในการกำหนดควบคุม เก็บภาษี และให้เงินทุนสนับสนุนองค์กรการกุศล และองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร ที่ดำเนินการโดยองค์กรทางศาสนา แม้ว่าก่อนหน้าที่จะมีร่างกฎหมายดังกล่าว องค์กรเหล่านี้ก็สามารถรับการสนับสนุนจากรัฐบาลกลางได้ แต่ร่างกฎหมายดังกล่าวก็ได้กำจัดข้อกำหนดที่ระบุว่าองค์กรจะต้องแยกการดำเนินงานเพื่อการกุศล ออกจากการดำเนินงานทางศาสนา บุชยังได้สร้าง "สำนักงานประจำทำเนียบขาว เพื่อโครงการริเริ่มที่อิงความเชื่อทางศาสนาและชุมชน" [66]

องค์การหลายแห่งด้วยกัน เป็นต้นว่า สหภาพเพื่ออิสภาพของพลเรือนอเมริกันได้วิพากษ์วิจารณ์โครงการริเริ่มของบุชที่อิงความเชื่อทางศาสนา โดยโต้แย้งว่า ทำให้รัฐต้องไปพัวพันกับศาสนา และให้การสนับสนุนศาสนา ซึ่งขัดต่อประโยคพื้นฐานในบทบัญญัติแรกของรัฐธรรมนูณของสหรัฐ ที่ว่า "สภาคองเกรสจะต้องไม่บัญญัติกฎหมายที่เอื้อต่อการมีอำนาจทางการเมืองของศาสนจักร"

ความหลากหลายของเชื้อชาติและสิทธิพลเมือง

[แก้]

บุชคัดค้านการยอมรับกฎหมายสมรสระหว่างเพศเดียวกัน แต่สนับสนุนการอยู่ด้วยกันของหญิงชายโดยไม่จดทะเบียนสมรส ("กระผมคิดว่า เราไม่ควรปฏิเสธสิทธิของพลเรือนที่จะอยู่ด้วยกันโดยไม่จดทะเบียนสมรส ที่มีการจัดการทางกฎหมายอย่างถูกต้อง" ข่าวจากสถานีโทรทัศน์เอบีซี 16 ตุลาคม ค.ศ. 2004) เขาได้ลงนามรับรองร่างแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายสมรสของรัฐบาลกลาง ซึ่งเป็นการเสนอข้อแก้ไขเพิ่มเติมของรัฐธรรมนูญสหรัฐ ที่ให้เพิ่มคำจำกัดความของการสมรสว่า "คือการอยู่ร่วมกันระหว่างหนึ่งหญิงและหนึ่งชาย" บุชได้ตอกย้ำว่าไม่เห็นด้วยกับแม่แบบทางการเมืองของพรรครีพับลิกัน ที่คัดค้านการอยู่ด้วยกันโดยไม่จดทะเบียนสมรส และกล่าวว่าประเด็นดังกล่าวควรขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของรัฐบาลท้องถิ่นในแต่ละรัฐ ในการแถลงนโยบายประจำปีวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2005 เขาได้ย้ำแนวคิดของเขาที่สนับสนุนให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

บุชเป็นประธานาธิบดีคนแรกจากพรรครีพับลิกันที่ได้แต่งตั้งให้เกย์เป็นหนึ่งในคณะบริหารงานแผ่นดินของเขาอย่างเปิดเผย[67] (สก็อต เอเวิร์ตซ ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานควบคุมนโยบายโรคเอดส์แห่งชาติ) และเป็นประธานาธิบดีคนแรกที่ประสบความสำเร็จจากการแต่งตั้งนายไมเคิล อี. เกสต์ ที่เป็นเกย์ให้เป็นเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำโรมาเนียอย่างเปิดเผย บุชอ้างว่าเขาสนับสนุนแนวนโยบายของผู้บริหารระดับสูง ที่ออกบังคับใช้โดยประธานาธิบดีบิล คลินตัน ที่ห้ามการจ้างงานที่คัดสรรบุคคลโดยการเหยียดรสนิยมทางเพศ แต่สก็อต บลอช ผู้ที่บุชได้แต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษาพิเศษในปี 2003 รู้สึกว่าเขาไม่มีอำนาจทางกฎหมายในการบังคับใช้แนวนโยบายดังกล่าว[68] ระหว่างการพิจารณาคดีเกี่ยวกับการรณรงค์หาเสียงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของเขาในปี 2000 เขาได้พบกับกลุ่มล็อกเคบินของพรรครีพับลิกัน ซึ่งทำให้เขาเป็นผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจากพรรครีพับลิกันคนแรกที่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับล็อกเคบิน องค์กรนี้ได้สนับสนุนเขาในการเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 2000 แต่ก็ไม่ได้สนับสนุนต่อเนื่องมาถึงการเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 2004

คะแนนเสียงสนับสนุนบุชจากชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกันเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญทางสถิติ เมื่อเทียบกับผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐจากพรรครีพับลิกันคนอื่นๆได้รับในช่วงที่เขารณรงค์หาเสียง แม้ว่าเขาจะได้คะแนนเสียงจากคนผิวดำเพียง 9% ในปี 2000 แต่ก็กลับเพิ่มขึ้นเป็น 12 % ในปี 2004 โดยเฉพาะอย่างยิ่งคะแนนจากคนผิวดำที่เพิ่มขึ้นในรัฐโอไฮโอ ทำให้บุชมีชัยเหนือจอห์น แครี ในที่สุด

แม้ว่าบุชจะแสดงความเห็นชอบต่อการที่ศาลฎีกาสหรัฐสนับสนุนให้สถานศึกษาในระดับอุดมศึกษา ได้คัดเลือกนักศึกษาเพื่อความหลากหลายทางเชื้อชาติ คณะบริหารราชการแผ่นดินของเขากลับคัดค้านแนวคิดดังกล่าว บุชยังได้กล่าวว่าเขาคัดค้านการแทรกแซงของรัฐที่บังคับโควตานักศึกษาและการลำเอียงเชื้อชาติ แต่เห็นว่าหน่วยงานภาครัฐและเอกชนควรให้โอกาสแก่ชนกลุ่มน้อยที่มีความสามารถเพื่อให้เกิดการจ้างงานที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติ

รายงานของคณะกรรมาธิการสหรัฐว่าด้วยสิทธิพลเมือง เมื่อเดือนสิงหาคม ค.ศ. 2005 ระบุว่า "รัฐบาลล้มเหลวที่จะรักษาความเป็นกลางทางเชื้อชาติอย่างจริงจัง ตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ" [69] นายเจอรัลด์ เอ. เรย์โนลด์ ประธานคณะกรรมาธิการ อธิบายว่า "หน่วยงานของรัฐบาลกลางไม่ได้ประเมิน ทำวิจัย เก็บรวบรวมข้อมูล หรือทบทวนโครงการต่างๆอย่างสม่ำเสมอและเป็นเอกเทศ เพื่อที่จะตัดสินว่ายุทธวิธีเป็นกลางทางเชื้อชาติจะเป็นทางเลือกที่เหมาะสมสำหรับโครงการรณรงค์ให้เกิดความตระหนักทางเชื้อชาติ" กลุ่มรณรงค์สิทธิพลเมืองได้แสดงความห่วงใยว่ารายงานฉบับนี้ เป็นการโจมตีการสนับสนุนให้เกิดความหลากหลายทางเชื้อชาติที่สวนทางกับคำวินิจฉัยของศาลฎีกาสหรัฐในคดีกรัทเทอร์ ปะทะ โบลลินเจอร์

ในช่วงที่บุชดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐสมัยแรก เขาได้แต่งตั้งโคลิน พาวเวลล์ ให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ พาวเวลล์เป็นชาวสหรัฐเชื้อสายอัฟริกาคนแรกที่ได้รับตำแหน่งนี้ ซึ่งก็ตามมาด้วย ดร.คอนโดลีซซา ไรซ์ ที่เป็นสตรีสหรัฐเชื้อสายอัฟริกาคนแรกที่ได้รับตำแหน่งนี้ ในปี 2005 เขาได้แต่งตั้งนายอัลแบร์โต กอนซาเลส ให้เป็นอัยการกลางสหรัฐ ทำให้เขาเป็นชาวสหรัฐเชื้อสายสเปนคนแรกที่ดำรงตำแหน่งนี้ โดยรวมแล้ว บุชได้แต่งตั้งสตรีและชนกลุ่มน้อยให้ดำรงตำแหน่งสำคัญทางการเมือง มากกว่าประธาธิบดีสหรัฐทุกคนที่ผ่านมา

เศรษฐกิจ

[แก้]

ระหว่างช่วงที่เขาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยแรก บุชได้ดำเนินความพยายามและประสบผลสำเร็จในการเรียกร้องให้สภาคองเกรสรับรองการลดภาษีสำคัญๆสามอย่างด้วยกัน อันได้แก่การเก็บภาษีเงินได้ทั่วไปสำหรับคู่สมรสน้อยลง ยกเลิกภาษีมรดก และลดอัตราภาษีหน่วยสุดท้าย การลดอัตราภาษีดังกล่าวกำหนดให้มีอันสิ้นสุดภายหลังบังคับใช้เป็นเวลา 10 ปี ซึ่งบุชก็ได้ขอให้สภาคองเกรสอนุมัติการลดอัตราภาษีเป็นการถาวร จากรายงานของสำนักงานวิจัยเศรษฐกิจแห่งชาติ เศรษฐกิจสหรัฐได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยช่วงต้นคริสต์ทศวรรษที่ 2000 หรือระหว่างเดือนมีนาคม จนกระทั่งถึงเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2001

รัฐบาลกลางใช้จ่ายงบประมาณประจำปีเพิ่มขึ้น 26% ตลอดช่วงสี่ปีครึ่งแรกภายใต้การบริหารของบุช อีกทั้งเงินงบประมาณที่ไม่ได้ถูกใช้เพื่อการป้องกันประเทศเพิ่มขึ้น 18%[70]

การลดอัตราภาษี ภาวะเศรษฐกิจถดถอย และการปลดคนงานเพิ่มขึ้น ต่างมีส่วนทำให้เกิดการขาดดุลงบประมาณในช่วงที่บุชดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี การขาดดุลประจำปีเพิ่มสูงขึ้นจาก 374,000,000,000 ดอลลาร์สหรัฐในปี 2003 เป็น 413,000,000,000 ดอลลาร์สหรัฐในปี 2004 หนี้สินแห่งชาติ ซึ่งเป็นยอดที่สะสมจากการขาดดุลงบประมาณในแต่ละปี เพิ่มขึ้นจาก 5.7 ล้านล้านดอลลาร์ (58 % ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ) เป็น[71] (68% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ) ภายใต้การนำของบุช ซึ่งนับว่าสูงมาก เมื่อเทียบกับหนี้สิน 2.7 ล้านล้านดอลลาร์เมื่อเรแกนพ้นจากตำแหน่ง หรือเท่ากับ 52% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ

จากการคาดคะเน"ข้อมูลฐาน" รายรับรายจ่ายของรัฐบาลกลางโดยสำนักงบประมาณสภาคองเกรส (การคาดคะเนงบประมาณเมื่อเดือนมกราคม ค.ศ. 2005[72] ระบุว่า อัตราการขาดดุลงบประมาณจะลดลงในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ซึ่งการขาดดุลจะลดลงเหลือ 368,000,000,000 (ดอลลาร์สหรัฐ) ในปี 2005 เป็น 261,000,000,000 (ดอลลาร์สหรัฐ) ในปี 2007 และ 207,000,000,000 (ดอลลาร์สหรัฐ) ในปี 2009 จนกระทั่งเกินดุลเล็กน้อยในปี 2012 สำนักงานงบประมาณกลางยังระบุด้วยว่า อย่างไรก็ดี "การประมาณการครั้งนี้ไม่ได้คำนึงถึงงบประมาณรายจ่ายจำนวนมหาศาลในปีนั้นๆ สำหรับปฏิบัติการทางทหารในอิรัก และอัฟกานิสถาน และปฏิบัติการต่อต้านการก่อการร้ายทั่วโลก" ประมาณการดังกล่าวยังยึดข้อมูลที่ว่าการตัดลดอัตราภาษีของบุช "จะไม่มีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม ค.ศ. 2010 เป็นต้นไป" และถ้าหากว่ามีการขยายระยะเวลาลดอัตราภาษีต่อไปอีก ตามที่บุชเรียกร้อง ประมาณการงบประมาณสำหรับปีค.ศ. 2015 จะเปลี่ยนจากเกินดุลอยู่ 141,000,000,000 (ดอลลาร์สหรัฐ) ไปเป็นขาดดุล 282,000,000,000 (ดอลลาร์สหรัฐ) ในทันที"

อัตราเงินเฟ้อภายใต้การนำของบุช นับว่าต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ เหลือเพียงแค่ปีละ 2-3% เท่านั้น เศรษฐกิจถดถอยและราคาสินค้าที่ลดลงนั้น มีผลสืบเนื่องมาจากการชะลอตัวของราคา ตั้งแต่ช่วงกลางปี 2001 ถึง 2003 เมื่อไม่นานมานี้ ราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับการเพิ่มของอัตราเงินเฟ้อ

อัตราการว่างงาน ระหว่างปีค.ศ. 2000 – ค.ศ. 2005

การจ้างงานภาคเอกชน (ที่มีการเปลี่ยนแปลงตามฤดูกาล) ได้ลดลงอย่างมากภายใต้การบริหารราชการของบุช จากอัตราจ้างงาน 111,680,000 ตำแหน่งในเดือนธันวาคม ค.ศ. 2000 เหลือเพียง 108,250,000 ตำแหน่งในช่วงกลางปี 2003 นับว่าการจ้างงานนั้นได้ลดลงมากเป็นประวัติการณ์ นับตั้งแต่ปี 1981 - 1983 แต่จากนั้นมา อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจก็ได้เพิ่มงานในภาคเอกชนตลอดช่วง 25 เดือนต่อมา (ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2003 ถึงเดือนสิงหาคม ค.ศ. 2005) แต่อัตราการจ้างงานภาคเอกชนยังคงต่ำกว่าอัตราก่อนที่บุชจะเข้ามาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี จนกระทั่งถึงเดือนมิถุนายน ค.ศ. 2005 ที่อัตราการจ้างงานเพิ่มขึ้นเป็น 111,828,000 ตำแหน่ง เมื่อเราคำนึงถึงอัตราการเพิ่มของประชากรด้วยแล้ว ก็นับได้ว่า อัตราการจ้างงานได้ลดลงถึง 4.6% ตั้งแต่บุชเข้ามาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี คณะผู้บริหารงานราชการและนักเศรษฐศาสตร์หลายคนได้แสดงความเห็นว่า อัตราการจ้างงานที่เพิ่มขึ้นในภายหลังนั้น เป็นผลมาจากกฎหมายประนีประนอมการจ้างงานและการลดอัตราภาษี (Jobs and Growth Tax Relief Reconciliation Act - JGTRRA) ที่ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช ได้ลงนามไว้เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม ค.ศ. 2003[73]

การสำรวจความยากจนทั่วประเทศครั้งล่าสุด (หรือที่เรียกอีกอย่างว่า การสำรวจครัวเรือน) เป็นการวัดร้อยละของประชากรที่มีงานทำกับไม่มีงานทำโดยการสุ่มตัวอย่าง ผลการสำรวจจะถูกคูณด้วยจำนวนประชากรเพื่อหาค่าประมาณการของอัตราการจ้างงาน การสำรวจแบบนี้ได้เปรียบกว่าการสำรวจการจ่ายเงินค่าจ้าง เนื่องจากรวมการจ่ายเงินค่าจ้างให้ตัวเองไว้ด้วย แต่ก็ให้ผลรวมที่แม่นยำน้อยกว่า (เนื่องจากต้องมีการประมาณการจำนวนประชากร) และใช้วิธีสุ่มตัวอย่างประชากรทั่วประเทศจำนวนน้อยมาก (60,000 ครัวเรือน รวมกับอีก 400,000 บริษัทเอกชน) ไม่ว่าจะดีหรือแย่กว่าก็ตาม การสำรวจครัวเรือนนับจำนวนงานหลายๆงานที่ประชากรคนหนึ่งทำว่าเป็นเพียงงานเดียว อันรวมถึงงานในภาครัฐ ภาคเกษตรกรรม การทำงานในครอบครัวที่ไม่ได้รับค่าจ้าง และคนทำงานที่ลาหยุดโดยไม่ได้รับค่าจ้าง การสำรวจครัวเรือนระบุว่าอัตราร้อยละของประชากรที่มีงานทำ ลดลงจาก 64.4% ในเดือน ธันวาคม ค.ศ. 2000 และเดือนมกราคม ค.ศ. 2001 เป็น 62.1% ในเดือนสิงหาคม และกันยายน ค.ศ. 2003 และในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 2005 ได้มีการปรับเพิ่มขึ้นเป็น 62.9% เท่านั้น ตัวเลขต่างๆระบุว่าอัตราการมีงานทำลดลงนั้นสอดคล้องกับตำแหน่งงานที่ลดลง หนึ่งล้านหกแสนตำแหน่ง และได้เพิ่มขึ้นอีก สี่ล้านเจ็ดแสนตำแหน่งภายใต้การบริหารประเทศของบุช[74]

ภายใต้การบริหารประเทศของบุช อัตราการว่างงานที่เปลี่ยนไปตามฤดูกาล ตามผลการสำรวจครัวเรือนเริ่มต้นที่ 4.7% ในเดือนมกราคม ค.ศ. 2001 และได้เพิ่มขึ้นเป็น 6.2% ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 2003 จนกระทั่งลดลงเหลือ 4.9% ในเดือนสิงหาคม ปี 2005

จากการสำรวจการจ่ายค่าจ้างในเดือนกันยายน ค.ศ. 2005 รายได้เฉลี่ยรวมรายสัปดาห์ของภาคเอกชน คิดเป็นอัตราแลกเปลี่ยนดอลลาร์คงที่ ได้ลดลงต่ำสุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1998 แม้ว่าพายุเฮอร์ริเคนแคทรีนาและการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าอาจจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดภาวะนี้ขึ้น แต่รายได้เฉลี่ยรวมรายสัปดาห์ก็ลดลงตลอดแปดเดือนที่ผ่านมา สรุปได้ว่า ตลอดช่วงปี 2002-2004 หรือก่อนที่บุชเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีนั้น ประชากรสหรัฐมีรายรับมากกว่านี้เล็กน้อย

การเพิ่มขึ้นของผลผลิตมวลรวมประชาชาตินับตั้งแต่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ได้รับแรงส่งจากผลผลิตภาคแรงงานที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก ซึ่งส่วนหนึ่งก็เกิดจากการปลดคนงานที่ไม่ได้ถูกใช้งานเต็มที่ ปัญหาระยะยาวส่วนหนึ่งที่บุชต้องแก้ไขได้แก่การขาดแคลนการลงทุนทางสาธารณูปโภคทางเศรษฐกิจ อัตราการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลและเงินบำนาญของประชากรผู้สูงอายุ การขาดดุลการค้าและงบประมาณ และการชะลอตัวของรายรับต่อครัวเรือนในหมู่ประชากรผู้มีรายได้น้อย

ในขณะที่บางกลุ่มอ้างว่าการฟื้นตัวของผลิตผลมวลรวมประชาชาติในช่วงที่บุชดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีนั้น นั้นได้อานิสงค์จากรัฐบาลชุดก่อน ๆ[75] รายงานจากสำนักงานสำรวจสำมะโนประชากรสหรัฐกลับระบุว่าปัญหาความยากจนเลวร้ายขึ้นกว่าเดิม ร้อยละของประชากรที่อยู่ใต้ขีดความยากจนเพิ่มขึ้นในช่วงสี่ปีแรกที่บุชเข้ามาบริหารประเทศ ในขณะที่อัตราดังกล่าวลดลงตลอดเจ็ดปีก่อนหน้านั้น โดยต่ำสุดในช่วง 11 ปีที่ผ่านมา แม้ว่าจำนวนอัตราประชากรที่ยากจนจะเพิ่มขึ้น เราจำเป็นต้องเน้นว่าอัตราการเพิ่มขึ้นระหว่างช่วงปี 2000-2002 นั้น กลับต่ำกว่าระหว่างช่วงปี 1992- 1997 เสียอีก (โดยที่อัตราการเพิ่มขึ้นสูงสุดที่ 39.3% ในปี 1993 ในปี 2002 อัตราของประชากรที่ยากจนอยู่ที่ 34.6% ซึ่งก็เกือบเท่ากับอัตราในปี 1998 ที่ 34.5% ส่วนในปี 2004 นั้นอัตราความยากจนอยู่ที่ 12.7%[76][77]

ประกันสังคม

[แก้]
หลังจากบุชเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีวาระที่สองไม่นาน เขากับคณะกรรมการได้ร่วมกันออกเดินสายทั่วประเทศ (ที่เมืองโอมาฮา รัฐเนบราสกาในภาพ) เพื่อรณรงค์ข้อเสนอของเขา เกี่ยวกับบัญชีส่วนตัวสำหรับผู้ทำประกันสังคม

บุชเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในเรื่องประกันสังคม ตั้งแต่ช่วงต้นของการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเป็นสมัยที่ 2 เขาระบุว่าต้องให้ความสำคัญกับการคาดการณ์หนี้สินของระบบที่ไม่มีงบประมาณพอจ่ายเป็นอันดับแรก ตั้งแต่เดือนมกราคม ถึงเมษายน ค.ศ. 2005 เขาได้ออกเดินสายทั่วประเทศ และหยุดแวะในเมืองสำคัญ ๆ ถึง 50 เมือง เพื่อเตือนให้ประชาชนตระหนักถึง"วิกฤตการณ์"ที่กำลังคืบคลานเข้ามา โดยแรกเริ่มเดิมที ประธานาธิบดีบุชได้ย้ำถึงข้อเสนอของเขาให้มีบัญชีส่วนบุคคล ที่จะส่งเสริมให้ผู้ใช้แรงงานแต่ละคนสามารถเอาเงินภาษีประกันสังคม (FICA) ส่วนหนึ่ง มาลงทุนได้อย่างมีหลักประกัน ข้อดีประการสำคัญของบัญชีส่วนบุคคลในการประกันสังคมนั้น อนุญาตให้ผู้ใช้แรงงานเป็นเจ้าของเงินที่ตนเองได้จ่ายไปเพื่อการเกษียณอายุ โดยไม่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง

พรรคฝ่ายซ้ายได้ตอบโต้นโยบายดังกล่าว โดยระบุว่าแนวทางนี้อาจจะทำให้การเสียสมดุลระหว่างรายรับกับรายจ่ายของงบประมาณแผ่นดินแย่ขึ้นไปกว่าเดิม โดยที่บุชได้ให้ความสำคัญกับปัญหานี้มากเกินไป ยิ่งไปกว่านั้น สมาชิกพรรคเดโมแครตหลายคนได้คัดค้านการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว โดยเห็นว่าบุชเปลี่ยนการประกันสังคมให้เป็นโครงการสังคมสงเคราะห์ ซึ่งค่อนข้างสุ่มเสี่ยงในทางการเมือง ส่วนหนึ่งของกฎหมายที่บุชผลักดันให้บริษัทเอกชนได้รับยกเว้นการจ่ายเงินประกันสังคมได้รับการร้องเรียนว่า แผนการของบุชนั้นเอื้อประโยชน์ต่อบริษัทเอกชน และได้เปลี่ยนแนวคิดของการประกันสังคมให้กลายเป็นโครงการประกันแบบทั่ว ๆ ไป

การสาธารณสุข

[แก้]
ในปี 2003 ประธานาธิบดีบุช ที่รายล้อมไปด้วยวุฒิสมาชิกและสมาชิกสภาคองเกรส ได้ลงนามในกฎหมายต่อต้านการทำแท้งในช่วงแรกเริ่มของการตั้งครรภ์

ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2002 บุชได้ระงับเงินทุนจากสหรัฐที่ให้แก่กองทุนเพื่อกิจกรรมประชากรแห่งสหประชาติ โดยเขาอ้างว่ากองทุนดังกล่าวได้สนับสนุนการบังคับทำแท้งและการผ่าตัดทำหมันในสาธารณรัฐประชาชนจีน[78]

บุชได้ลงนามในกฎหมายปรับปรุงและพัฒนาการจ่ายยารักษาโรคให้ทันสมัย สำหรับปี 2003 ซึ่งได้เพิ่มรายการยาที่จะสามารถเบิกกับเมดิแคร์ของสหรัฐ ให้เงินสนับสนุนบริษัทผู้ผลิตยา และห้ามรัฐบาลกลางเจรจาต่อรองราคากับบริษัทยา บุชกล่าวว่ากฎหมายดังกล่าว ที่คาดว่าจะใช้งบประมาณถึง 400,000,000,000 ดอลลาร์สหรัฐในช่วง 10 ปีแรก จะทำให้ผู้สูงอายุ "มีทางเลือกมากขึ้น และสามารถควบคุมการดูแลรักษาสุขภาพของตนได้มากขึ้น" ผู้สูงอายุสามารถซื้อบัตรลดราคายาที่ผ่านการรับรองของเมดิแคร์ ได้ในราคา 30 ดอลลาร์หรือน้อยกว่านั้นเพื่อช่วยค่าใช้จ่ายอันเนื่องมาจากราคายาที่สูงขึ้น กฎหมายดังกล่าวยังเพิ่มการเบิกยาในโปรแกรมการประกันสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุของรัฐบาลกลาง นับตั้งแต่ปี 2006 เป็นต้นมา และกฎหมายยังสนับสนุนให้บริษัทประกันเสนอแผนการประกันสุขภาพส่วนบุคคลให้แก่ผู้สูงอายุชาวอเมริกันหลายล้านคน ที่ขณะนี้ได้รับผลประโยชน์ทางด้านสาธารณสุขภายใต้ข้อตกลงที่รัฐบาลกำหนด อันเป็นแนวคิดที่ถูกต่อต้านและโจมตีอย่างหนักจากสมาชิกพรรคเดโมแครตหลายคน

บุชได้ลงนามในกฎหมายต่อต้านการทำแท้งในช่วงแรกเริ่มของการตั้งครรภ์ เมื่อปี 2003 โดยประกาศว่าเขามีวัตถุประสงค์เพื่อ "สนับสนุนให้เกิดวัฒนธรรมแห่งชีวิต" แต่กฎหมายดังกล่าวก็ไม่เคยนำมาบังคับใช้ เนื่องจากศาลแขวงสามแห่งได้วินิจฉัยว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ ศาลอุธรณ์เก้าแห่งได้รับรองกฎหมายหนึ่งบท กฎหมายของรัฐบาลกลางสามารถที่จะห้ามกระบวนการทำให้มดลูก"ขยับและหดตัวโดยไม่ก่อให้เกิดความเสียหาย" ซึ่งผู้ทำแท้งทำให้ตัวอ่อนมนุษย์หลุดออกมาก่อนจะฆ่าทิ้ง ผู้สนับสนุนฝ่ายเสรีและฝ่ายอนุรักษนิยมหลายคนมองว่ากฎหมายดังกล่าวเป็นเพียงการเคลื่อนไหวทางการเมือง เนื่องจากในทางเทคนิคแล้ว เราสามารถฆ่าตัวอ่อนตั้งแต่อยู่ในมดลูกแล้วนำออกมาภายหลังได้

การศึกษา

[แก้]

ในเดือนมกราคม ค.ศ. 2002 บุชได้ลงนามในกฎหมายดูแลเอาใจใส่เด็กและเยาวชน โดยมีวุฒิสมาชิกเท็ด เคเนดี เป็นผู้สนับสนุนรายใหญ่[79] ที่ต้องการลดช่องว่าในการประสบความสำเร็จของเด็ก วัดประสิทธิภาพในการทำงาน ให้ทางเลือกแก่พ่อแม่ที่มีลูกเรียนด้อย และให้เงินสนับสนุนจากรัฐบาลกลางเพิ่มขึ้นแก่โรงเรียนที่มีรายได้น้อย ผู้วิพากษ์วิจารณ์ (ซึ่งรวมถึงจอห์น แครี และสมาคมการศึกษาแห่งชาติสหรัฐ) ได้แสดงความเห็นว่าโรงเรียนไม่ได้รับทรัพยากรที่เพียงพอเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานการศึกษาใหม่ แม้ว่าคำวิจารณ์ดังกล่าวจะอ้างอิงกับข้อมูลที่สัณนิษฐานเอาว่า บุคคลระดับผู้บริหารได้ให้คำมั่นสัญญาไว้มากกว่าให้งบประมาณ รัฐบาลประจำรัฐบาลแห่งได้ปฏิเสธที่จะใช้เงินตามที่ระบุไว้ในกฎหมายตราบใดที่ไม่ได้รับเงินสนับสนุนอย่างเพียงพอ [80] ในเดือนมกราคม ค.ศ. 2005 หนังสือพิมพ์ยู.เอส.เอ. ทูเดย์ ได้รายงานว่า กระทรวงศึกษาธิการของสหรัฐได้จ่ายเงิน 240,000 ดอลลาร์สหรัฐให้แก่ นายอาร์มสตรอง วิลเลียมส์ นักวิจารณ์การเมืองชาวอเมริกันเชื้อสายอัฟริกันหัวอนุรักษนิยม "เพื่อให้เขาประชาสัมพันธ์กฎหมายใหม่ในรายการของสหภาพโทรทัศน์อเมริกัน และให้เขาบอกให้นักข่าวผิวดำทำอย่างเดียวกัน[81]

คณะกรรมาธิการการศึกษาและแรงงานสหรัฐได้ระบุไว้ว่า "สืบเนื่องจากกฎหมายดูแลเอาใจใส่เด็กและเยาวชน ที่ประธานาธิบดีบุชได้ลงนามไว้เมื่อวันที่ 8 มกราคม ค.ศ. 2002 รัฐบาลกลางสหรัฐได้ใช้จ่ายงบประมาณเพื่อการศึกษาระดับประถมและมัธยมศึกษา (ภาคบังคับ 12 ปี) มากกว่าช่วงไหนๆในประวัติศาสตร์สหรัฐ".[82] ความต้องการเงินทุนสนับสนุนที่เพิ่มขึ้นส่งผลกระทบระดับรัฐ เช่นค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นจากใช้กฎหมายดูแลเอาใจใส่เด็กและเยาวชน รวมทั้งผลกระทบทางเศรษฐกิจในแง่ลบที่ส่งผลต่องบประมาณเพื่อการศึกษา

วิทยาศาสตร์

[แก้]

เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม ค.ศ. 2002 บุชได้ลงนามในกฎหมายที่ส่งผลกระทบในวงกว้าง อันได้แก่กฎหมายเอ็ช. อาร์. 4664 ว่าด้วยการให้งบประมาณสนับสนุนสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งชาติสหรัฐ (NSF) เพิ่มขึ้นสองเท่าในอีกห้าปีข้างหน้า และให้ริเริ่มโครงการเพื่อการศึกษาทางคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ใหม่ๆ ทั้งในระดับเตรียมอุดมศึกษาและระดับปริญญาตรี [83] ในช่วงสามปีแรกของวาระห้าปี จะมีการเพิ่มงบประมาณเพื่อการวิจัยและพัฒนาขึ้น 14%[84][85]

บุชคัดค้านงานวิจัยใหม่ๆ และได้ให้ทุนสนับสนุนจำนวนจำกัดในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยเซลล์ต้นกำเนิดจากตัวอ่อนมนุษย์ เงินสนับสนุนจากรัฐบาลกลางเพื่อการวิจัยดังกล่าว ได้รับการรับรองเป็นครั้งแรกภายใต้รัฐบาลของประธานาธิบดีบิลล์ คลินตัน เมื่อวันที่ 19 มกราคม ค.ศ. 1999[86] แต่จะไม่มีการจ่ายเงินใดๆจนกว่าจะมีการตีพิมพ์กรอบแนวทางการให้ทุนสนับสนุนการวิจัย กรอบแนวทางได้ถูกเผยแพร่ภายใต้รัฐบาลคลินตันเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม ค.ศ. 2000[87] โดยอนุญาตให้นำเอมบรีโอแช่แข็งที่ไม่ได้ถูกใช้งานมาใช้ได้ ต่อมาเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม ค.ศ. 2001 ก่อนที่จะมีการให้ทุนสนับสนุนใดๆภายใต้กรอบนี้ บุชได้ประกาศเปลี่ยนแปลงกรอบแนวทาง โดยอนุญาตให้ใช้งานเซลล์ต้นกำเนิดจากตัวอ่อนมนุษย์ ที่มีอยู่แล้วเท่านั้น[88] ในขณะที่บุชอ้างว่ามีเซลล์ต้นกำเนิดจากตัวอ่อนของมนุษย์อยู่แล้วถึง 60 สายพันธุ์ที่ ได้มาจากทุนวิจัยของภาคเอกชน ในปี 2003 นักวิทยาศาสตร์ได้อ้างว่า มีเพียง 11 สายพันธุ์เท่านั้นที่ใช้งานได้ และต่อมาในปี 2005 ได้ระบุว่าทุกสายพันธุ์ที่ได้รับการรับรองเพื่อรับทุนสนับสนุนจากรัฐบาลกลางนั้น ติดเชื้อและใช้การไม่ได้[89] อย่างไรก็ดี ไม่มีการกำหนดข้อจำกัดในการให้ทุนสนับสนุนการวิจัยเซลล์ต้นกำเนิดจากร่างกายมนุษย์ที่โตแล้ว โดยงานวิจัยดังกล่าวได้รับเงินสนับสนุนที่เป็นกอบเป็นกำมากกว่าจากประธานาธิบดีบุช

เมื่อวันที่ 14 มกราคม ค.ศ. 2004 บุชได้ประกาศการปรับเปลี่ยนแนวทางครั้งสำคัญเกี่ยวกับการบริหารองค์การอวกาศแห่งชาติสหรัฐ หรือนาซา ที่รู้จักกันในนามของวิสัยทัศน์สำหรับการสำรวจอวกาศ โดยโครงการดังกล่าวเรียกร้องให้มีการจัดตั้งสถานีอวกาศนานาชาติ ขึ้นภายในปีค.ศ. 2010 และให้ยกเลิกการใช้กระสวยอวกาศ ในขณะที่หันมาพัฒนายานอวกาศ ที่เรียกว่า ยานสำรวจของลูกเรือ ภายใต้โครงการคอนสเตลเลชัน จะมีการใช้ยานสำรวจของลูกเรือส่งนักบินอกาศอเมริกัน กลับไปยังดวงจันทร์ภายในปี 2018 โดยมีวัตถุประสงค์จะจัดตั้งฐานปฏิบัติการบนดวงจันทร์เป็นการถาวร และยังมีแผนจะส่งมนุษย์ไปปฏิบัติภารกิจบนดาวอังคารในอนาคต[90] แม้ว่าแผนดังกล่าวจะได้รับการตอบรับอย่างเย็นชา[91] งบประมาณกลับผ่านการอนุมัติไปด้วยดี และถูกแก้ไขน้อยมากภายหลังการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน ในเดือนมกราคม ค.ศ. 2005 ทำเนียบขาวได้เผยเอกสารข้อเท็จจริงเกี่ยวกับนโยบายการคมนาคมอวกาศใหม่[92] (พีดีเอฟไฟล์) ที่ได้วางกรอบการบริหารนโยบายอวกาศแห่งชาติในวงกว้าง และได้ผูกนโยบายการพัฒนาขีดความสามารถทางการคมนาคมในอวกาศ เข้ากับข้อกำหนดด้านความมั่นคงของประเทศ

เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2004 กลุ่มจับตาดูการพัฒนาทางวิทยาศาสตร์ ที่มีชื่อว่าสหภาพนักวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง ได้เผยแพร่รายงานที่มีชื่อว่า การผนวกวิทยาศาสตร์เข้ากับการวางนโยบาย [93][94] ในรายงานดังกล่าวใช้คำพูดว่า "คัดค้านการใช้เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ของคณะบริหารงานแผ่นดินของบุช" โดยได้กล่าวหาว่า "คณะบริหารราชการแผ่นดินของบุช ได้ละเลยคำแนะนำทางวิทยาศาสตร์ที่ไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียใดๆ ในการวางนโยบายที่สำคัญยิ่งต่อความอยู่ดีกินดีของพวกเรา" และได้ "ลบหรือบิดเบือนการวิเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์ ของหน่วยงานรัฐบาลกลางเพื่อให้ผลการวิเคราะห์สอดคล้องกับแนวนโยบายของคณะบริหารงานแผ่นดิน" ถึงขั้นที่เรียกว่า "อย่างไม่เคยมีมาก่อน" รายงานดังกล่าวได้รับการลงนามโดยนักวิทยาศาสตร์กว่า 7,000 คน รวมถึงผู้ที่เคยได้รับรางวัลโนเบล 49 คน ผู้ที่ได้รับเหรียญรางวัลทางวิทยาศาสตร์แห่งชาติ 63 คน และ สมาชิกสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ 154 คน

ทำเนียบขาวได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักเกี่ยวกับรายงานที่เชื่อมโยงกิจกรรมของมนุษย์กับการปล่อยแก๊สเรือนกระจก เข้ากับการเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศของโลก นอกจากนั้น นายฟิลิป คูนนีย์ เจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวและอดีตทนายความในบริษัทน้ำมัน ได้แก้ไขข้อความในรายงานวิจัยสภาวะอากาศที่ผ่านการรับรองแล้วจากนักวิทยาศาสตร์ของรัฐ แต่ทำเนียบขาวก็ปฏิเสธว่านายคูนีย์ไม่ได้แก้ไขรายงานฉบับดังกล่าวแต่อย่างใด[95] ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 2005 รายงานของกระทรวงได้แสดงว่า คณะบริหารราชการแผ่นดินของบุช ได้ขอบคุณผู้บริหารระดับสูงของบริษัทเอกซอน ที่ได้มี"บทบาทอย่างจริงจัง" ในการช่วยคาดการณ์นโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศ รวมถึงอนุสัญญาเกียวโต ข้อมูลที่ได้จากสมาพันธ์ภูมิอากาศโลก กลุ่มลอบบีทางธุรกิจก็เป็นหนึ่งในปัจจัยในการคาดการณ์[96]

วันที่ 1 สิงหาคม ค.ศ. 2005 บุชได้เสนอโครงการที่เป็นที่ถกเถียงกันมาก ว่าด้วยการให้มีการสอนเรื่อง การออกแบบปัญญา (ที่เชื่อว่าสิ่งมีชีวิตชั้นสูงถูกสร้างขึ้น) ควบคู่ไปกับการสอนเรื่องวิวัฒนาการในชั้นเรียนวิทยาศาสตร์ โดยกล่าวว่า "ข้าพเจ้าคิดว่า ส่วนหนึ่งของการศึกษาได้แก่การให้ประชาชนได้มองเห็นแนวทางต่างๆที่หลากหลาย และไม่ใช่การชี้นำแต่อย่างใด ถ้าท่านถามข้าพเจ้าว่าประชาชนควรได้รับรู้ถึงแนวคิดต่างๆที่มีอยู่หรือไม่ คำตอบก็คือใช่"[97] สถาบันการศึกษาหลายแห่ง เป็นต้นว่า[98] มองการสอนการออกแบบปัญญาว่าเป็นความผิดพลาดทางการศึกษา[99]

สิ่งแวดล้อม

[แก้]

บุชได้ลงนามในกฎหมาย มรดกแห่งทะเลสาบทั้งห้า ปี ค.ศ. 2002 ซึ่งอนุญาตให้รัฐบาลกลางเริ่มการเก็บกวาดมลภาวะและโคลนตมที่ติดเชื้อ ในทะเลสาบใหญ่ทั้งห้า รวมถึงกฎหมายบราวน์ฟิลด์ในปี 2002 ที่เร่งรัดการเก็บกวาดขยะอุตสาหกรรมในแถบบราวน์ฟิลด์

บันทึกสิ่งแวดล้อมของบุชได้ถูกโจมตีโดยนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมส่วนใหญ่ ที่โจมตีว่านโยบายของบุชหนุนหลังพวกอุตสาหกรรม และทำให้การปกป้องสิ่งแวดล้อมแย่ลง กลุ่มรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อมได้อ้างว่า นอกจากบุชและเชนนีแล้ว ยังมีเจ้าหน้าที่ในคณะบริหารงานแผ่นดินของบุชอีกหลายคนที่มีส่วนพัวพันกับธุรกิจน้ำมัน ธุรกิจยานยนต์ และกลุ่มอื่นๆที่ได้ต่อสู้กับนักรณรงค์รักษาสิ่งแวดล้อม ในเดือนมิถุนายน 2003 บุชได้ลงนามในกฎหมายที่ให้ดำเนินการเสริมสิ่งของสนับสนุนโครงการริเริ่มเพื่อป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ของเขา กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแงดล้อมได้โจมตีว่า โครงการดังกล่าวเป็นเพียงการเอื้อประโยชน์ให้บริษัททำไม้ อีกประเด็นที่เป็นที่ถกเถียงกันได้แก่แนวคิดริเริ่มทำความสะอาดท้องฟ้าของบุช ที่ต้องการลดมลภาวะในอากาศผ่านโครงการสนับสนุนทางเศรษฐกิจแก่ผู้ที่ก่อมลภาวะน้อยลง

ผลกระทบบางส่วนจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้บุชคัดค้านการเข้าไปขุดเจาะในเขตสงวนน้ำมัน ที่เป็นเขตสงวนพันธุ์สัตว์ป่าแห่งชาติในแถบอาร์กติก ซึ่งเป็นเขตเปราะบางทางนิเวศวิทยาอย่างยิ่งเนื่องด้วยมันตั้งอยู่ในแถบอาร์กติก[100] [101] คนบางกลุ่มอ้างว่าที่แห่งนี้เป็นธรรมชาติแห่งสุดท้ายในสหรัฐที่ยังไม่แปดเปื้อนด้วยน้ำมือมนุษย์ และน้ำมันส่วนใหญ่ที่ขุดเจาะได้จากแหล่งนี้จะถูกนำไปขายในต่างประเทศ เช่นที่ประเทศญี่ปุ่น ทำให้บริษัทขุดเจาะน้ำมันท้องถิ่นทำกำไรได้มาก

บุชยังได้คัดค้านพิธีสารเกียวโต โดยอ้างว่าจะเป็นอันตรายต่อเศรษฐกิจของสหรัฐ บุชยังกล่าวว่าเป็นการไม่ยุติธรรมที่จะมาตั้งข้อกำหนดกับสหรัฐ ในขณะที่ผ่อนปรนอย่างไม่สมเหตุสมผลกับประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งจีนและอินเดีย บุชยังระบุว่า "ผู้ปล่อยแก๊สเรือนกระจกรายใหญ่อันดับสองของโลกได้แก่จีน แต่ประเทศจีนก็ยังได้รับการยกเว้นไม่ต้องทำตามข้อกำหนดในพิธีสารเกียวโต" เขายังได้ตั้งคำถามเกี่ยวกับหลักการทางวิทยาศาสตร์ที่อยู่เบื้องหลังปรากฏการณ์โลกร้อนขึ้น โดยย้ำว่าจะต้องมีการทำวิจัยมากกว่านี้จึงจะสามารถบอกได้ว่าทฤษฎีดังกล่าวใช้การได้[102]

จุดยืนของบุชว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของบรรยากาศโลก ได้เปลี่ยนไป โดยเขาค่อยๆยอมรับว่าปรากฏการณ์โลกร้อนขึ้นนั้นเป็นปัญหาซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากการกระทำของมนุษย์ สหรัฐอเมริกาได้ลงนามเป็นพันธมิตรเอเชียแปซิฟิกเพื่อการพัฒนาและภูมิอากาศที่สะอาด กติกาสัญญาดังกล่าวได้อนุญาตให้ประเทศในกลุ่มตั้งเป้าในการลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจกด้วยตนเอง โดยไม่มีกลไกใดๆมาบังคับ ผู้สนับสนุนกติกาสัญญาได้มองว่านี่คือการนำพิธีสารเกียวโตมาบังคับใช้ ในแบบที่ยืดหยุ่นกว่า แต่ผู้วิพากษ์วิจารณ์ก็บอกว่ากติกาสัญญาดังกล่าวจะไม่ได้ผลหากไม่มีการบังคับใช้มาตรการ อาร์โนลด์ ชวาร์เซเนกเกอร์ ผู้ว่าการรัฐจากพรรครีพับลิกัน ร่วมกับผู้ว่าราชการและนายกเทศมนตรีจาก 187 เมืองใหญ่และเล็กทั่วสหรัฐ ได้เรียกร้องให้รัฐบาลยอมรับอนุสัญญาเกียวโตมาใช้ให้ถูกต้องตามกฎหมาย[103]

โทษประหาร

[แก้]

บุชเป็นผู้สนับสนุนตัวยงในการทำโทษประหารมาใช้ ในระหว่างที่เขาดำรงตำแหน่งผู้ว่าการรัฐเท็กซัส มีผู้ถูกประหารชีวิตในรัฐนี้ถึง 152 คน นับว่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์นำหน้ารัฐอื่นๆ เมื่อเข้ามาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ เขาได้สนับสนุนโทษประหารอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเป็นประธานในการประหารนายทิโมธี แมคเวห์ ผู้ก่อการร้ายที่ถูกรัฐบาลกลางตัดสินประหารชีวิตเป็นรายแรกในรอบทศวรรษ

คณะรัฐบาล

[แก้]
ตำแหน่ง ชื่อ วาระ (ปี พ.ศ.)
ประธานาธิบดีสหรัฐ จอร์จ ดับเบิลยู. บุช 2001 - 2009
รองประธานาธิบดีสหรัฐ ริชาร์ด บี. เชนี 2001 - 2009
การต่างประเทศ โคลิน แอล. พาวเวล 2001 - 2005
คอนโดลีซซา ไรซ์ 2005 - 2009
การคลัง พอล เอช. โอนีล 2001 - 2003
จอห์น ดับเบิลยู. สโนว 2003 - 2006
เฮนรี่ พอลสัน 2006 - 2009
กลาโหม โดนัลด์ เอช. รัมสเฟลด์ 2001 - 2006
รอเบิร์ต เกตส์ 2006 - 2009
ยุติธรรม จอห์น ดี. แอชครอฟต์ 2001 - 2005
อัลแบร์โต อาร์. กอนซาเลซ 2005 - 2007
ไมเคิล มูกาเซย์ 2550 - 2552
มหาดไทย เกล เอ. นอร์ตัน 2001 - 2006
เดิร์ก เคมพธอร์น 2006 - 2009
เกษตร แอน เอ็ม. เวเนแมน 2001 – 2005
ไมค์ โจฮันน์ 2005 - 2007
เอ็ด เชฟเฟอร์ 2007 - 2009
พาณิชย์ โดนัลด์ แอล. เอแวนส์ 2001 – 2005
คาร์ลอส เอ็ม. กูเทียเรซ 2005 - 2009
แรงงาน เอเลน แอล. ชาว 2001 - 2009
สาธารณสุขและบริการมนุษย์ ทอมมี จี. ทอมป์สัน 2001 – 2005
ไมเคิล โอ. เลียวิตต์ 2005 - 2009
พัฒนาเคหะการและผังเมือง เมลกีอาเดซ อาร์. มาร์ตีเนซ 2001 – 2004
อัลโฟโซ อาร์. แจคสัน 2004 - 2008
สตีฟ เพรสตัน 2008 - 2009
คมนาคม นอร์มัน วาย. มีเนตา 2001 - 2006
แมรี่ อี. ปีเตอร์ส 2006 - 2009
พลังงาน อี. สเปนเซอร์ อับบราฮัม 2001 – 2005
ซามูเอล ดับเบิลยู. บอดมัน 2005 - 2009
ศึกษาธิการ รอดเดอริก อาร์. เพจ 2001 - 2005
มาร์กาเร็ต สเปลลิงส์ 2005 - 2009
กิจการทหารผ่านศึก แอนโธนี แอล. พรินซีพี 2001 - 2005
เจมส์ นิคโคลสัน 2005 - 2007
เจมส์ พีค 2007 - 2009
ความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ ธอมัส เจ. ริดจ์ 2003 – 2005
ไมเคิล แชร์ทอฟฟ์ 2005 - 2009


การเสนอชื่อประธานศาลสูงสุด

[แก้]

บุชได้เสนอรายชื่อบุคคลต่อไปนี้ให้ดำรงตำแหน่งต่างๆใน ศาลสูงสุดแห่งสหรัฐอเมริกา:

  • จอห์น จี. โรเบิร์ตส จูเนียร์ — รองประธานศาลสูงสุด ได้รับการเสนอชื่อเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม ค.ศ. 2005 ต่อมาได้ถูกเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าผู้พิพากษาเมื่อวันที่ 5 กันยายน ค.ศ. 2005
  • จอห์น จี. โรเบิร์ตส จูเนียร์ — หัวหน้าผู้พิพากษาที่ได้รับการเสนอชื่อเมื่อวันที่ 5 กันยายน ค.ศ. 2005 ได้รับการรับรองโดยวุฒิสภาเมื่อวันที่ 29 กันยายน ค.ศ. 2005
  • แฮร์เรียต อี. ไมเยอร์ส — รองหัวหน้าผู้พิพากษา ถูกเสนอชื่อเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม ค.ศ. 2005 ต่อมาไมเยอร์ของถอนตัวเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม ค.ศ. 2005
  • ซามูเอล อัลลีโต — ผู้ช่วยหัวหน้าผู้พิพากษา ถูกเสนอชื่อเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม ค.ศ. 2005 เรื่องเข้าสู่วุฒิสภาเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน ค.ศ. 2005 โดยมีกำหนดการลงคะแนนเสียงรับรองในเดือนมกราคม ค.ศ. 2005

การลงนามในกฎหมายหลักๆ

[แก้]
ค.ศ. 2001
  • 7 มิถุนายน: กฎหมายประนีประนอมการเติบโตทางเศรษฐกิจและการลดอัตราภาษี เมื่อปี 2001
  • 18 กันยายน: การอนุญาตให้ใช้กำลังทหาร
  • 28 กันยายน: กฎหมายการนำเขตการค้าเสรีสหรัฐ-จอร์แดนมาปฏิบัติ
  • 26 ตุลาคม: กฎหมายต่อต้านการก่อการร้ายสหรัฐ
  • 28 พฤศจิกายน: กฎหมายเก็บภาษีทางอินเทอร์เน็ตโดยไม่เลือกปฏิบัติ
ค.ศ. 2002
  • 8 มกราคม: กฎหมายสนับสนุนการดูแลเอาใจใส่เด็กและเยาวชน
  • 9 มีนาคม: กฎหมายสร้างงานและผู้ช่วยแรงงาน เมื่อปี 2002
  • 27 มีนาคม: กฎหมายรณรงค์การปฏิรูปสองขั้ว เมื่อปี 2002
  • 13 พฤษภาคม: กฎหมายความมั่นคงของฟาร์มและการลงทุนในชนบท เมื่อปี 2002
  • 30 กรกฎาคม: กฎหมายซาร์บานส์-อ็อกซ์เลย์ เมื่อปี 2002
  • 16 ตุลาคม: ข้อตกลงร่วมกันเพื่อให้มีการใช้อาวุธของสหรัฐเพื่อการต่อสู้กับอิรัก]]
  • 25 พฤศจิกายน: กฎหมายเพื่อความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ เมื่อปี 2002
ค.ศ 2003
ค.ศ. 2004
1 เมษายน
  • กฎหมายว่าด้วยเหยื่อที่ยังไม่เกิดของการกระทำทารุณกรรม

หลังการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี (ค.ศ.2009-ปัจจุบัน)

[แก้]

บ้านพักอาศัย

[แก้]
บุชและภรรยาของเขาหลังพิธีสาบานตนของบารัค โอบามา

หลังจากการรับตำแหน่งของบารัค โอบามา บุชได้กลับไปที่ไร่ของเขาในเมืองครอว์ฟอร์ด,รัฐเท็กซัส ก่อนจะตัดสินใจซื้อบ้านในในย่านเพรสตัน ฮอลโลว์ของแดลลัสในรัฐเท็กซัส เขามักจะปรากฏตัวเป็นประจำในกิจกรรมต่าง ๆ ทั่วพื้นที่ดัลลาส/ฟอร์ตเวิร์ธ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเขาทำการโยนเหรียญเปิดเกมแรกของดัลลาสคาวบอยส์ในสนามกีฬาแห่งใหม่ของทีมในอาร์ลิงตัน[104] และเยี่ยมชมเกมเท็กซัสเรนเจอร์ในเดือนเมษายน 2009 ที่ซึ่งเขาขอบคุณชาวดัลลัสที่ต้อนรับเขาเป็นอย่างดี นอกจากนี้ เขายังได้เข้าร่วมการแข่งขันเพลย์ออฟในบ้านทุกเกมในเท็กซัส เรนเจอร์สฤดูกาล 2010 และร่วมกับพ่อของเขา ขว้างลูกเปิดสนามในพิธีที่สนามเรนเจอร์สบอลพาร์คในอาร์ลิงตันสำหรับเกมที่ 4 ของเวิลด์ซีรีส์ 2010 เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม ค.ศ. 2010[105]

อ้างอิง

[แก้]
  1. "George W. Bush - Governor of Texas". Encyclopedia Britannica (ภาษาอังกฤษ).
  2. Weiss-Meyer, Ena Alvarado, David A. Graham, Cullen Murphy, Amy (2020-08-17). "The Bush-Gore Recount Is an Omen for 2020". The Atlantic (ภาษาอังกฤษ).
  3. "Bush v. Gore | Summary, Decision, Significance, & Facts". Encyclopedia Britannica (ภาษาอังกฤษ).
  4. Kennedy, Lesley. "How the 2000 Election Came Down to a Supreme Court Decision". HISTORY (ภาษาอังกฤษ).
  5. Roos, Dave. "5 Presidents Who Lost the Popular Vote But Won the Election". HISTORY (ภาษาอังกฤษ).
  6. "George W. Bush: Domestic Affairs | Miller Center". millercenter.org (ภาษาอังกฤษ). 2016-10-04.
  7. "George W. Bush - Address to the Nation on 9-11-01 - The Rhetoric of 9/11". www.americanrhetoric.com.
  8. CNN, Veronica Stracqualursi. "George W. Bush alludes to Capitol rioters when condemning violent extremists". CNN.
  9. Editors, History com. "War in Iraq begins". HISTORY (ภาษาอังกฤษ). {{cite web}}: |last= มีชื่อเรียกทั่วไป (help)
  10. https://www.washingtonpost.com/outlook/2021/01/25/who-is-worst-american-president-all-time/
  11. "Homepage | George W. Bush Library". www.georgewbushlibrary.gov.
  12. "George W. Bush: Living the Bush Legacy". CNN. October 29, 2000. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-12-18. สืบค้นเมื่อ March 18, 2007..
  13. Nicholas D. Kristof (June 10, 2000). "George W. Bush's Journey The Cheerleader: Earning A's in People Skills at Andover". The New York Times. สืบค้นเมื่อ September 1, 2008.
  14. "Biography of President George W. Bush". The White House. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-07-11. สืบค้นเมื่อ September 1, 2008.
  15. Bush, George W., A Charge to Keep, (1999) ISBN 0-688-17441-8
  16. "GWB: HBS MBA". The American Thinker. สืบค้นเมื่อ September 1, 2008.
  17. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-07-15. สืบค้นเมื่อ 2005-12-10.
  18. http://www.thesmokinggun.com/archive/bushdui1.html
  19. http://www.washingtonpost.com/wp-srv/politics/campaigns/wh2000/stories/bushtext072599.htm
  20. http://www.washingtonpost.com/wp-srv/politics/campaigns/wh2000/stories/bush072599.htm
  21. [1]
  22. http://www.cnn.com/ALLPOLITICS/stories/1999/08/19/president.2000/bush.drug
  23. http://www.mapinc.org/drugnews/v99/n1143/a08.html?4588
  24. http://news.bbc.co.uk/1/hi/world/americas/4282799.stm
  25. http://www.msnbc.msn.com/id/6999665
  26. http://www.washingtonpost.com/wp-dyn/articles/A24634-2004Sep15_2.html
  27. "สำเนาที่เก็บถาวร" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2006-01-13. สืบค้นเมื่อ 2005-12-10.
  28. http://www.upi.com/view.cfm?StoryID=20020717-062330-9990r
  29. "สำเนาที่เก็บถาวร" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2007-06-29. สืบค้นเมื่อ 2005-12-10.
  30. http://www.washingtonpost.com/wp-srv/politics/campaigns/wh2000/stories/bush073099.htm
  31. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2005-11-25. สืบค้นเมื่อ 2005-12-10.
  32. http://espn.go.com/mlb/bush/friday.html
  33. http://www.cnn.com/ALLPOLITICS/stories/1998/11/03/election/governors/texas
  34. http://pqasb.pqarchiver.com/latimes/89693365.html?did=89693365&FMT=ABS&FMTS=FT&date=Nov+13%2C+2001&author=&pub=Los+Angeles+Times&desc=Ballot-Count+Scenarios+in+Bush-Gore+2000[ลิงก์เสีย]
  35. http://www.cnn.com/SPECIALS/2001/florida.ballots/stories/main.html
  36. http://www.fec.gov/pubrec/2000presgeresults.htm
  37. http://www.whitehouse.gov/nsc/nss.pdf เก็บถาวร 2007-11-30 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ยุทธวิธีรักษาความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐ (pdf)
  38. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-01-14. สืบค้นเมื่อ 2006-01-11.
  39. http://www.usdoj.gov/olc/warpowers925.htm
  40. http://www.tnr.com/doc.mhtml?i=express&s=prados042104[ลิงก์เสีย]
  41. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-05-31. สืบค้นเมื่อ 2006-01-11.
  42. http://www.tnr.com/doc.mhtml?i=20051219&s=sullivan121905[ลิงก์เสีย]
  43. http://www.opinionjournal.com/editorial/feature.html?id=110001797
  44. http://www.opinionjournal.com/columnists/bminiter/?id=95001607
  45. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2005-12-15. สืบค้นเมื่อ 2005-12-10.
  46. http://devilstower.dailykos.com/story/2005/7/14/131832/042[ลิงก์เสีย]
  47. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2005-12-17. สืบค้นเมื่อ 2005-12-10.
  48. http://georgewbush-whitehouse.archives.gov/news/releases/2002/02/20020214-5.html
  49. http://georgewbush-whitehouse.archives.gov/news/releases/2001/06/20010611-2.html
  50. http://fpc.state.gov/fpc/37133.htm
  51. http://georgewbush-whitehouse.archives.gov/news/releases/20010126-7.html
  52. http://www.fas.org/nuke/control/abmt/news/010501bush.html
  53. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-04-22. สืบค้นเมื่อ 2005-12-10.
  54. http://caselaw.lp.findlaw.com/data/constitution/article02/11.html#2
  55. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-06-12. สืบค้นเมื่อ 2006-01-22.
  56. http://news.bbc.co.uk/1/hi/world/middle_east/3323633.stm
  57. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-06-16. สืบค้นเมื่อ 2005-12-10.
  58. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2005-06-17. สืบค้นเมื่อ 2005-12-10.
  59. http://www.usatoday.com/news/world/iraq/2003-03-17-inspectors-iraq_x.htm
  60. http://news.bbc.co.uk/2/hi/americas/2862343.stm
  61. http://www.globalsecurity.org/wmd/library/report/2004/isg-final-report/isg-final-report_vol1_rsi-06.htm
  62. http://www.9-11commission.gov/report/911Report.pdf
  63. http://www.washingtonpost.com/wp-dyn/articles/A47812-2004Jun16.html
  64. http://www.cnn.com/2005/POLITICS/11/29/bush.immigration/
  65. [2]
  66. http://georgewbush-whitehouse.archives.gov/government/fbci/
  67. [3]
  68. [4]
  69. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2005-10-26. สืบค้นเมื่อ 2005-12-10.
  70. http://www.bea.gov/bea/dn/nipaweb/TableView.asp?SelectedTable=102&FirstYear=2003&LastYear=2005&Freq=Qtr[ลิงก์เสีย]
  71. http://www.publicdebt.treas.gov/opd/opdpenny.htm เก็บถาวร 2008-03-16 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน 7.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
  72. http://www.cbo.gov/showdoc.cfm?index=6060&sequence=2
  73. http://georgewbush-whitehouse.archives.gov/infocus/economy/
  74. http://www.bls.gov/webapps/legacy/cpsatab1.htm
  75. http://msnbc.msn.com/id/7089700/
  76. http://www.census.gov/Press-Release/www/releases/archives/income_wealth/005647.html
  77. http://www.census.gov/hhes/www/poverty/histpov/hstpov2.html
  78. http://news.bbc.co.uk/1/hi/world/americas/2145029.stm
  79. http://www.boston.com/news/nation/washington/articles/2004/03/16/bush_relaxes_rules_on_teacher_standards/
  80. http://www.washingtonpost.com/wp-dyn/articles/A52720-2004Feb18.html
  81. http://www.usatoday.com/news/washington/2005-01-06-williams-whitehouse_x.htm
  82. http://www.house.gov/ed_workforce/issues/108th/education/funding/summary.htm
  83. http://www.aibs.org/public-policy-reports/public-policy-reports-2002_12_20.html
  84. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-12-06. สืบค้นเมื่อ 2005-12-10.
  85. "สำเนาที่เก็บถาวร" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2006-11-02. สืบค้นเมื่อ 2005-12-10.
  86. http://www.cnn.com/HEALTH/9901/19/stem.cell.research/
  87. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2005-11-22. สืบค้นเมื่อ 2005-12-10.
  88. http://georgewbush-whitehouse.archives.gov/news/releases/2001/08/20010809-2.html
  89. http://www.cnn.com/2005/POLITICS/05/24/stem.cells/
  90. http://www.cnn.com/2004/TECH/space/01/14/bush.space/index.html
  91. http://www.mercurynews.com/mld/mercurynews/news/world/8572141.htm?1c
  92. http://www.ostp.gov/html/SpaceTransFactSheetJan2005.pdf
  93. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-11-30. สืบค้นเมื่อ 2005-12-10.
  94. http://msnbc.msn.com/id/5722898/
  95. http://news.bbc.co.uk/1/hi/world/americas/4075986.stm
  96. http://www.guardian.co.uk/climatechange/story/0,12374,1501646,00.html
  97. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2005-12-01. สืบค้นเมื่อ 2005-12-10.
  98. สถาบันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ
  99. http://www.nasonline.org/site/PageServer?pagename=NEWS_statement_president_08201999_BA_Kansas_curriculum
  100. "สำเนาที่เก็บถาวร" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2005-11-04. สืบค้นเมื่อ 2005-12-10.
  101. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-03-07. สืบค้นเมื่อ 2005-12-10.
  102. http://georgewbush-whitehouse.archives.gov/news/releases/2001/06/20010611-2.html
  103. http://news.bbc.co.uk/1/hi/world/americas/4400534.stm
  104. "Coin toss from George and Laura Bush was a brief taste of luck for Cowboys fans - PoliTex". web.archive.org. 2009-11-07. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-11-07. สืบค้นเมื่อ 2021-06-28.{{cite web}}: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์)
  105. "Video: George W. Bush Throws Out First Pitch Game 4 World Series, Let's Discuss It | NESW Sports". web.archive.org. 2010-11-04. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-11-04. สืบค้นเมื่อ 2021-06-28.{{cite web}}: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์)

ดูเพิ่ม

[แก้]
ก่อนหน้า จอร์จ ดับเบิลยู. บุช ถัดไป
วิลเลียม เจฟเฟอร์สัน คลินตัน
ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา คนที่ 43
(20 มกราคม ค.ศ. 2001 - 20 มกราคม ค.ศ. 2009)
บารัก โอบามา
เจฟ เบโซส บุคคลแห่งปีของนิตยสารไทม์
(ค.ศ. 2000)
รูดอล์ฟ จูลีอานี
ทหารอเมริกัน บุคคลแห่งปีของนิตยสารไทม์
(ค.ศ. 2004)
The Good Samaritans
(โบโน, บิลล์ เกตส์ และเมลินดา เกตส์)