ดิอาเซียนเวย์
The ASEAN Way | |
เพลงชาติของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ | |
ชื่ออื่น | เพลงชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ |
---|---|
เนื้อร้อง | พยอม วลัยพัชรา |
ทำนอง | กิตติคุณ สดประเสริฐ และสำเภา ไตรอุดม |
รับไปใช้ | 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551 |
ตัวอย่างเสียง | |
"วิถีอาเซียน" (อังกฤษ: The ASEAN Way) เป็นบทเพลงประจำสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) อย่างเป็นทางการ ประพันธ์ทำนองโดย กิตติคุณ สดประเสริฐ และสำเภา ไตรอุดม คำร้องโดยพยอม วลัยพัชรา จากประเทศไทย[1] เพลงนี้ได้รับการคัดเลือกเป็นเพลงประจำสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551 จากผลงานเพลงที่เข้าประกวดทั้งหมด 99 เพลงจากชาติสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ[2]
ประวัติ
[แก้]แนวคิดในการจัดทำเพลงประจำอาเซียน
[แก้]แนวคิดในการมีเพลงประจำอาเซียนเกิดขึ้นครั้งแรกจากการหารือในที่ประชุมคณะกรรมการอาเซียนว่าด้วยวัฒนธรรมและสนเทศ ครั้งที่ 29 เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2537 โดยที่ประชุมมีความเห็นว่าอาเซียนควรจะมีเพลงประจำอาเซียน เพื่อใช้เปิดในช่วงของการจัดกิจกรรมต่างๆ ทางด้านวัฒนธรรมและสนเทศ โดยการจัดทำโครงการประกวดเพลงประจำอาเซียนนั้น ที่ประชุมมีมติให้ใช้เงินจากกองทุนวัฒนธรรมอาเซียน
ต่อมาในการประชุมคณะกรรมการอาเซียนว่าด้วยวัฒนธรรมและสนเทศ ครั้งที่ 29 ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2540 ที่ประเทศมาเลเซีย ได้มีการพิจารณาเพลงประจำอาเซียนที่เข้าประกวดในรอบสุดท้าย โดยเพลงที่เข้ารอบในครั้งนั้นเป็นเพลงจากประเทศไทย ประเทศมาเลเซีย และประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งบทเพลงที่ได้รับรางวัลชนะเลิศคือเพลง ASEAN Song of Unity จากประเทศฟิลิปปินส์ แต่เพลงดังกล่าวนี้ไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลายในประเทศสมาชิก เนื่องจากได้ใช้เปิดเฉพาะในการประชุมคณะกรรมการอาเซียนว่าด้วยวัฒนธรรมและสนเทศและกิจกรรมที่เกี่ยวข้องเท่านั้น ทำให้การประชุมสุดยอดอาเซียนช่วงต่อมามีการแต่งเพลงเพื่อใช้เปิดในที่ประชุมเป็นคราวๆ ไป
การประกวดเพลงประจำอาเซียนในปี พ.ศ. 2551
[แก้]เพื่อให้เป็นไปตามกฎบัตรอาเซียนบทที่ 40 ซึ่งระบุให้อาเซียนมีเพลงประจำอาเซียน สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จึงได้มอบหมายให้ประเทศไทยเป็นผู้ดำเนินการจัดการประกวดเพลงประจำอาเซียน โดยที่ประชุมประเทศสมาชิกอาเซียนได้เห็นชอบให้กำหนดรูปแบบการแข่งขันเป็น open competition ทั้งนี้ อาเซียนได้มอบหมายให้สำนักเลขานุการอาเซียนในแต่ละประเทศกลั่นกรองคุณสมบัติเบื้องต้นและจัดส่งให้ประเทศไทยภายในเดือนกันยายน พ.ศ. 2551
กรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ ประเทศไทย ได้ดำเนินการเป็นเจ้าภาพจัดการประกวดเพลงประจำอาเซียนระดับภูมิภาคในรอบแรก เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2551 ที่โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ กรุงเทพ โดยมีกรรมการจากประเทศสมาชิกอาเซียนประเทศละ 1 คน ซึ่งคณะกรรมการการประกวดได้คัดเลือกเพลงจำนวน 10 เพลงให้เข้ารอบสุดท้าย จากผลงานที่ส่งเข้าประกวดทั้งหมด 99 เพลง และได้ดำเนินการประกวดรอบตัดสิน เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551 โดยคณะผู้ตัดสินประกอบด้วยกรรมการจากอาเซียน 10 คนในรอบแรก และจากประเทศนอกอาเซียนอีก 3 คน ได้แก่ ประเทศญี่ปุ่น ประเทศจีน และประเทศออสเตรเลีย โดยที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์เลือกเพลง "The ASEAN Way" (ดิอาเซียนเวย์) ของประเทศไทย ซึ่งประพันธ์โดยกิตติคุณ สดประเสริฐ (ทำนองและเรียบเรียง) สำเภา ไตรอุดม (ทำนอง) และพะยอม วลัยพัชรา (เนื้อร้อง) ให้เป็นเพลงประจำอาเซียน
เพลงดิอาเซียนเวย์ได้เปิดตัวครั้งแรกเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551 ณ โรงละครอักษรา โดยมีวงดุริยางค์ทหารเรือของกองทัพเรือไทยเป็นผู้บรรเลงเพลง และได้ใช้บรรเลงอย่างเป็นทางการในพิธีเปิดการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 14 ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552 ที่อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ประเทศไทย
หลักเกณฑ์การประกวดเพลงประจำอาเซียน
[แก้]หลักเกณฑ์การประกวดเพลงประจำอาเซียนมีดังนี้[3]
- เป็นภาษาอังกฤษ
- มีลักษณะเป็นเพลงชาติประเทศสมาชิกอาเซียน
- มีความยาวไม่เกิน 1 นาที
- เนื้อร้องสะท้อนความเป็นหนึ่งเดียวของอาเซียนและความหลากหลายทางด้านวัฒนธรรมและเชื้อชาติ
- เป็นเพลงที่แต่งขึ้นใหม่
คณะกรรมการผู้ตัดสิน
[แก้]คณะกรรมการจากประเทศสมาชิกทั้ง 10 ประเทศ[3]
- ฮาจิ มานัฟ บิน ฮาจิมานัฟ จากประเทศบรูไน
- ดร.แสม อั่ง แสม จากประเทศกัมพูชา
- ปูร์วา จารากา จากประเทศอินโดนีเซีย
- คำพัน โพนทองสี จากประเทศลาว
- อายอบ อิบราฮิม จากประเทศมาเลเซีย
- ทิน อู่ ท้วง จากประเทศพม่า
- อากริปริโน วี. เดียสโทร จากประเทศฟิลิปปินส์
- ผุน หยู เทียน จากประเทศสิงคโปร์
- ฝ่าม ฮง ไฮ จากประเทศเวียดนาม
- พลเรือเอก หม่อมหลวงอัศนี ปราโมช จากประเทศไทย
คณะกรรมการจากประเทศที่มิได้เป็นสมาชิกอาเซียน[3]
- ซานดรา มิลลิเคน จากประเทศออสเตรเลีย
- เปา หยวน ไค จากประเทศจีน
- เคโกะ ฮาราดะ จากประเทศญี่ปุ่น
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "ASEAN Anthem THE ASEAN WAY" (PDF). asean.org. สืบค้นเมื่อ 2022-01-04.
{{cite web}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ Auto, Hermes (2018-11-15). "From socks to handwave: Some light-hearted moments from Asean Summit | The Straits Times". www.straitstimes.com (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2022-01-04.
- ↑ 3.0 3.1 3.2 "Change of chair will see the #Asean Anthem return to its roots" (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2022-01-04.