เศรษฐกิจลาว

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ตลาดสดในหลวงพระบาง

เศรษฐกิจของประเทศลาวเจริญเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วโดยรัฐบาลลดการควบคุมจากส่วนกลางและกระตุ้นการลงทุนของเอกชนตั้งแต่ พ.ศ. 2529 ลาวเป็นประเทศที่ผลิตพลังงานและส่งไปขายให้จีน เวียดนาม และไทยแม้จะยังเป็นประเทศที่ยากจนที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ประวัติ[แก้]

หลังจากเข้าสู่อำนาจใน พ.ศ. 2518 รัฐบาลคอมมิวนิสต์ได้นำระบบเศรษฐกิจแบบโซเวียตมาใช้ โดยแทนที่การลงทุนของเอกชนด้วยการลงทุนของรัฐและสหกรณ์ การลงทุนมาจากศูนย์กลางทั้งการผลิต การค้าและการกำนดราคา และสร้างระบบกั้นขวางการค้าภายในกับภายนอกประเทศ หลังจากใช้ระบบเศรษฐกิจนี้ไปไม่นาน พบว่าเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาจนต้องมีการปฏิรูป เปลี่ยนการกำหนดราคาจากการกำหนดโดยรัฐมาเป็นมาเป็นตามกลไกตลาด อนุญาตให้เกษตรกรยึดครองที่ดินและขายผลผลิตทางการเกษตรได้ ยกเลิกการกีดกันสินค้าจากภายนอก

ใน พ.ศ. 2532 ลาวได้บรรลุข้อตกลงกับธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ในด้านการปฏิรูปเศรษฐกิจ สนับสนุนการลงทุนของเอกชน ลาวยอมรับความช่วยเหลือจากออสเตรเลียในการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงเชื่อมระหว่างเวียงจันทน์กับหนองคาย ในช่วงที่เกิดวิกฤติการเงินในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อ พ.ศ. 2540 ลาวได้รับผลกระทบโดยค่าเงินกีบลดลง ใช้นโยบายเศรษฐกิจแบบเงินฝืดซึ่งทำให้เศรษฐกิจมีเสถียรภาพใน พ.ศ. 2543

นอกจากการเพาะปลูกทางการเกษตรแล้ว ในลาวมีการลงทุนทางอุตสาหกรรมที่ประสบความสำเร็จ เช่น เครื่องยนต์ เบียร์ กาแฟ และการท่องเที่ยว โดยได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐ ญี่ปุ่นและเยอรมัน

เกษตรกรรม[แก้]

ส่วนใหญ่เป็นการปลูกข้าว ซึ่งมีผลผลิตคิดเป็น 51% ของจีดีพี การออมภายในประเทศต่ำ ทำให้ลาวต้องได้รับความช่วยเหลือและการลงทุนจากต่างประเทศ ผลผลิตทางการเกษตรที่สำคัญได้แก่ มันเทศ ผัก ข้าวโพด กาแฟ อ้อย ยาสูบ ชา ฝ้าย ถั่วลิสง ข้าว ควาย หมู สัตว์เคี้ยวเอื้อง ใน พ.ศ. 2542 การลงทุนจากต่างประเทศคิดเป็นมากกว่า 20% ของจีดีพี และมากกว่า 75% ของการลงทุนภายในประเทศ

การท่องเที่ยว[แก้]

การท่องเที่ยวจัดเป็นอุตสาหกรรมที่เจริญเติบโตอย่างรวดเร็วในลาว หลังการเปิดประเทศเมื่อ พ.ศ. 2533 ลาวเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง