ประเทศรัสเซีย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

พิกัดภูมิศาสตร์: 66°N 94°E / 66°N 94°E / 66; 94

สหพันธรัฐรัสเซีย

Росси́йская Федера́ция (รัสเซีย)
เพลงชาติ
Государственный гимн Российской Федерации
("เพลงชาติสหพันธรัฐรัสเซีย")
ที่ตั้งของประเทศรัสเซียบนลูกโลก โดยมีดินแดนที่อ้างว่าผนวกจากยูเครนและไครเมียแสดงเป็นสีเขียวอ่อน[a]
ที่ตั้งของประเทศรัสเซียบนลูกโลก โดยมีดินแดนที่อ้างว่าผนวกจากยูเครนและไครเมียแสดงเป็นสีเขียวอ่อน[a]
เมืองหลวง
และเมืองใหญ่สุด
มอสโก
55°45′N 37°37′E / 55.750°N 37.617°E / 55.750; 37.617
ภาษาราชการ
และภาษาประจำชาติ
รัสเซีย[2]
ภาษาประจำชาติ
ที่ถูกรับรอง
ดูที่: ภาษาของประเทศรัสเซีย
กลุ่มชาติพันธุ์
(ค.ศ. 2010)[3]
ศาสนา
(ค.ศ. 2017)[4]
เดมะนิมชาวรัสเซีย
การปกครองสหพันธ์สาธารณรัฐกึ่งประธานาธิบดีภายใต้รัฐบาลอำนาจนิยมแบบรวมศูนย์[5][6][7][8][9]
วลาดีมีร์ ปูติน
มีฮาอิล มีชุสติน
วาเลนตินา มัตวิเยนโก
วยาเชสลาฟ โวโลดิน
วยาเชสลาฟ เลเบเดฟ
สภานิติบัญญัติรัฐสภาสหพันธ์
สภาสหพันธ์
สภาดูมา
ก่อตั้ง
ค.ศ. 862
ค.ศ. 879
ค.ศ. 1283
16 มกราคม ค.ศ. 1547
2 พฤศจิกายน ค.ศ. 1721
15 มีนาคม ค.ศ. 1917
30 ธันวาคม ค.ศ. 1922
12 ธันวาคม ค.ศ. 1991
12 ธันวาคม ค.ศ. 1993
18 มีนาคม ค.ศ. 2014
4 กรกฎาคม ค.ศ. 2020
พื้นที่
• รวม
17,098,246 ตารางกิโลเมตร (6,601,670 ตารางไมล์)[10] 17,125,191 ตารางกิโลเมตร (รวมถึงไครเมีย)[11] (อันดับที่ 1)
13[12]  (รวมถึงหนองน้ำ)
ประชากร
• ค.ศ. 2021 ประมาณ
(อันดับ 9)
8.4 ต่อตารางกิโลเมตร (21.8 ต่อตารางไมล์) (อันดับที่ 181)
จีดีพี (อำนาจซื้อ) ค.ศ. 2021 (ประมาณ)
• รวม
เพิ่มขึ้น 4.328 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ[14] (อันดับที่ 6)
เพิ่มขึ้น 29,485 ดอลลาร์สหรัฐ[14] (อันดับที่ 55)
จีดีพี (ราคาตลาด) ค.ศ. 2021 (ประมาณ)
• รวม
เพิ่มขึ้น 1.710 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ[14] (อันดับที่ 11)
เพิ่มขึ้น 11,654 ดอลลาร์สหรัฐ[14] (อันดับที่ 64)
จีนี (ค.ศ. 2018)Negative increase 37.5[15]
ปานกลาง · อันดับที่ 98
เอชดีไอ (ค.ศ. 2019)เพิ่มขึ้น 0.824[16]
สูงมาก · อันดับที่ 52
สกุลเงินรูเบิลรัสเซีย () (RUB)
เขตเวลาUTC+2 to +12
ขับรถด้านขวา
รหัสโทรศัพท์+7
โดเมนบนสุด

รัสเซีย (อังกฤษ: Russia; รัสเซีย: Росси́я, อักษรโรมัน: Rossiya, ออกเสียง: [rɐˈsʲijə] ( ฟังเสียง)) มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า สหพันธรัฐรัสเซีย[b] เป็นประเทศในยูเรเชียเหนือ และเป็นประเทศใหญ่ที่สุดในโลกด้วยพื้นที่กว่า 17,098,246 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ที่สามารถอยู่อาศัยของโลกถึงหนึ่งในแปด ด้วยประชากรกว่า 146 ล้านคน รัสเซียจึงเป็นชาติมีประชากรมากที่สุดอันดับที่ 9 ของโลก และมากที่สุดในยุโรป[18][19] รัสเซียปกครองด้วยระบอบสหพันธ์สาธารณรัฐกึ่งประธานาธิบดี ประกอบด้วย 89 เขตการปกครอง อาณาเขตของรัสเซียแผ่ข้ามสิบเอ็ดเขตเวลา มีพรมแดนติดกับ 16 ประเทศ ถือเป็นประเทศที่มีพรมแดนติดกับประเทศอื่นมากที่สุดในโลก โดยอาณาเขตครอบคลุมพื้นที่เอเชียเหนือทั้งหมด และพื้นที่กว่า 40% ของยุโรป เมืองหลวงและเมืองขนาดใหญ่ที่สุดคือมอสโก โดยมีเซนต์ปีเตอส์เบิร์กเป็นศูนย์กลางทางวัฒนธรรมและเป็นเมืองใหญ่อันดับสอง เมืองสำคัญอื่น ๆ ได้แก่ โนโวซีบีสค์, เยคาเตรินบุร์ก, นิจนีนอฟโกรอด, เชเลียบินสค์, ครัสโนยาสค์ และ คาซัน

ประวัติศาสตร์ของชาติเริ่มขึ้นด้วยชาวสลาฟตะวันออก ผู้ถือกำเนิดขึ้นเป็นกลุ่มที่โดดเด่นได้ในยุโรประหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 3 ถึงที่ 8[20] รัฐรุสในสมัยกลาง ซึ่งก่อตั้งและปกครองโดยอภิชนนักรบวารันเจียนและผู้สืบเชื้อสาย เกิดขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 9 ใน พ.ศ. 1531 มีการรับศาสนาคริสต์นิกายออร์โธด็อกซ์จากจักรวรรดิไบแซนไทน์[21] เริ่มต้นการประสมวัฒนธรรมไบแซนไทน์และสลาฟซึ่งนิยามวัฒนธรรมรัสเซียเป็นเวลาอีกสหัสวรรษหน้า[21] ท้ายที่สุด รุสล่มสลายเป็นรัฐขนาดเล็กหลายรัฐ พื้นที่ส่วนใหญ่ของรุสถูกพิชิตโดยการรุกรานของมองโกล และกลายเป็นรัฐบรรณาการของโกลเดนฮอร์ดเร่ร่อน[22] อาณาจักรแกรนด์ดยุคแห่งมอสโกค่อย ๆ รวมราชรัฐรัสเซียในละแวก ได้รับเอกราชจากโกลเดนฮอร์ด และมาครอบงำมรดกทางวัฒนธรรมและการเมืองของเคียฟรุส จนคริสต์ศตวรรษที่ 18 รัสเซียได้ขยายอาณาเขตออกไปอย่างกว้างขวางผ่านการพิชิตดินแดน การผนวก และการสำรวจเป็นของจักรวรรดิรัสเซีย นับเป็นจักรวรรดิใหญ่ที่สุดอันดับสามในประวัติศาสตร์ แผ่จากโปแลนด์ในยุโรปจรดอะแลสกาในอเมริกาเหนือ[23][24]

การปฏิวัติรัสเซียถือเป็นจุดสิ้นสุดของระบอบราชาธิปไตย และจุดเริ่มต้นของสหพันธ์สาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตรัสเซียซึ่งกลายเป็นสาธารณรัฐใหญ่ที่สุดและผู้นำในสหภาพโซเวียต เป็นรัฐสังคมนิยมมีรัฐธรรมนูญแห่งแรกของโลกและอภิมหาอำนาจที่ได้การยอมรับ[25] ซึ่งมีบทบาทสำคัญในชัยชนะของฝ่ายสัมพันธมิตรในสงครามโลกครั้งที่สอง[26][27] สมัยโซเวียตได้ประสบความสำเร็จทางเทคโนโลยีที่สำคัญที่สุดของคริสต์ศตรวรรษที่ 20 รวมทั้งการส่งมนุษย์คนแรกขึ้นสู่อวกาศ และผลิตดาวเทียมดวงแรกของโลก และยังเป็นหนึ่งในอภิมหาอำนาจร่วมกับสหรัฐในช่วงสงครามเย็น สหพันธรัฐรัสเซียก่อตั้งขึ้นหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียตใน พ.ศ. 2534 แต่ได้รับการยอมรับสถานะเป็นนิติบุคคลที่สืบทอดจากสหภาพโซเวียต[28] รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ถูกนำมาใช้ภายหลังวิกฤตการณ์รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2536 วลาดีมีร์ ปูติน มีบทบาททางการเมืองอย่างสูงนับตั้งแต่การเลือกตั้งใน พ.ศ. 2543 ประเทศถูกครอบงำโดยลัทธิอำนาจนิยมเบ็ดเสร็จ ปัจจุบันรัสเซียถูกจัดอยู่ในอันดับต่ำในด้านเสรีภาพสื่อและสิทธิมนุษยชน และมีการรับรู้การฉ้อราษฎร์บังหลวงสูง รัสเซียมีส่วนร่วมในสงครามความขัดแย้งกับประเทศเพื่อนบ้านหลายครั้ง รวมถึงการผนวกไครเมียใน พ.ศ. 2557 และการผนวกภาคใต้และภาคตะวันออกของยูเครนซึ่งนำไปสู่การรุกรานยูเครนใน พ.ศ. 2565

รัสเซียมีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดอันดับที่ 11 ของโลกโดยจีดีพีมูลค่าตลาด หรือใหญ่ที่สุดอันดับที่ 6 โดยความเท่าเทียมกันของอำนาจซื้อ โดยมีงบประมาณทางทหารมากที่สุดอันดับที่ 5 ของโลก รัสเซียเป็นหนึ่งในห้ารัฐอาวุธนิวเคลียร์ที่ได้รับการรับรองและครอบครองคลังแสงอาวุธอานุภาพทำลายล้างสูงใหญ่ที่สุดในโลก[29] ถือเป็นมหาอำนาจและสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ และยังเป็นสมาชิก กลุ่ม 20 สภายุโรป ความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก องค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ สหภาพเศรษฐกิจยูเรเชีย องค์การว่าด้วยความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป องค์การการค้าโลก องค์การสนธิสัญญาความมั่นคงร่วมกัน สหภาพเศรษฐกิจยูเรเชีย และเป็นสมาชิกผู้นำเครือจักรภพรัฐเอกราช อดีตสมาชิกกลุ่ม 7 และมีแหล่งมรดกโลกมากถึง 30 รายการ รัสเซียเป็นหนึ่งในประเทศที่มีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ที่สุดในโลก มีปริมาณแร่ธาตุและพลังงานสำรองใหญ่ที่สุดของโลก[30] และเป็นผู้ผลิตก๊าซธรรมชาติอันดับหนึ่งของโลก[31] เช่นเดียวกับผู้ผลิตน้ำมันอันดับหนึ่งทั่วโลก[32] มีพื้นที่ป่าไม้มากที่สุดในโลก[33] และทะเลสาบในรัสเซียบรรจุน้ำจืดประมาณหนึ่งในสี่ของโลก

นิรุกติศาสตร์[แก้]

ชื่อ รัสเซีย นั้นสืบทอดมาจาก รุส' (สลาฟตะวันออกเก่า: Рѹсь) ซึ่งเป็นรัฐยุคกลางที่มีประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวสลาฟตะวันออก อย่างไรก็ตามชื่อ รัสเซีย มีความสำคัญในประวัติศาสตร์ในช่วงต่อมาและประเทศมักถูกเรียกโดยผู้ตั้งถิ่นฐานว่า รัสกายา เซมลียา (รัสเซีย: Русская Земля, russkaja zemlja) ซึ่งสามารถแปลได้ว่า ดินแดนรัสเซีย หรือ ดินแดนแห่งรุส เพื่อที่จะแยกแยะความแตกต่างของรัฐนี้กับรัฐอื่น ๆ ที่สืบทอดต่อมา จึงถูกนักประวัติศาสตร์สมัยใหม่กำหนดเรียกว่า เคียฟสกายา รุส' (รัสเซีย: Ки́евская Русь, Kievskaya Rus’) ชื่อรุสนั้นมาจากชาวรุส' ต้นยุคกลาง ซึ่งเป็นพ่อค้าและนักรบจากเผ่าสวีเดส (อังกฤษ: Swedes; นอร์สโบราณ: svíar / suar)[34][35] อพยพย้ายถิ่นข้ามทะเลบอลติก และตั้งรัฐที่มีศูนย์กลางอยู่ที่ โนฟโกรอด (รัสเซีย: Новгород) ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนเป็น เคียฟสกายา รุส'

ภาษาละตินเก่าของชื่อ รุส' คือ รูทีเนีย (ละติน: Ruthenia) ส่วนใหญ่หมายถึงพื้นที่ภูมิภาคตะวันตกและภาคใต้ซึ่งชาวรุส' อาศัยอยู่ติดกับแคว้นคาทอลิกในยุโรป ชื่อปัจจุบันของประเทศ โรสซิยา (รัสเซีย: Россия, Rossija) มาจากชื่อในภาษากรีกยุคไบเซนไทน์ของรุส' (กรีกสมัยกลาง: Ρωσσία) ซึ่งสะกด โรเซีย (กรีก: Ρωσία, Rosía) ในภาษากรีกสมัยใหม่[36]

คำเรียกพลเมืองของรัสเซียคือ รัสเซียน (อังกฤษ: Russians) ในภาษาอังกฤษ[37] และ โรสซิยาเนีย (รัสเซีย: россияне) ในภาษารัสเซีย

ภูมิศาสตร์[แก้]

ดินแดนอันกว้างใหญ่ของสหพันธรัฐรัสเซียครอบคลุมพื้นที่แถบตะวันออกเฉียงเหนือของทวีปยูเรเชีย จุดที่ห่างไกลกันที่สุดของรัสเซีย ซึ่งได้แก่ชายแดนที่ติดต่อกับโปแลนด์และหมู่เกาะคูริล มีระยะห่างถึง 8,000 กิโลเมตร ทำให้รัสเซียมีถึง 11 เขตเวลา[38] รัสเซียมีเขตป่าสงวนที่ใหญ่ที่สุดในโลก[39] และถูกเรียกว่าเป็น "ปอดของยุโรป"[40] เพราะปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ที่ดูดซึมนั้นเป็นรองเพียงแค่ป่าดิบชื้นแอมะซอนเท่านั้น[40] รัสเซียมีทางออกสู่มหาสมุทรถึงสามแห่ง ได้แก่มหาสมุทรแอตแลนติก อาร์กติก และแปซิฟิก จึงทำให้รัสเซียเป็นประเทศที่มีบทบาทสำคัญต่ออุปทานของสินค้าประมงในโลก[41]

พื้นที่ส่วนใหญ่ของรัสเซียเป็นที่ราบกว้างใหญ่ ทางตอนใต้ส่วนใหญ่เป็นที่ราบสเตปป์ มีป่าไม้มากทางตอนเหนือ และมีพื้นที่แบบทุนดราตามชายฝั่งทางเหนือ เทือกเขาจะอยู่ตามชายแดนทางใต้ เช่นเทือกเขาคอเคซัส ซึ่งมียอดเขาเอลบรุส ที่มีความสูง 5,642 เมตรและเป็นจุดสูงสุดของรัสเซียและยุโรป หรือเทือกเขาอัลไต และทางตะวันออก เช่นเทือกเขาเวอร์โฮยันสค์ หรือภูเขาไฟในแหลมคัมชัตคา เทือกเขาอูรัลทางตะวันตกวางตัวเหนือใต้และเป็นเขตแดนทางธรรมชาติของทวีปเอเชียและทวีปยุโรป

รัสเซียมีชายฝั่งที่ยาวถึง 37,000 กิโลเมตร ตามแนวมหาสมุทรอาร์กติก มหาสมุทรแปซิฟิก ทะเลบอลติก ทะเลอะซอฟ ทะเลดำ และทะเลแคสเปียน[42] นอกจากนั้น รัสเซียยังมีทางออกสู่ทะเลแบเร็นตส์ ทะเลขาว ทะเลคารา ทะเลลัปเตฟ ทะเลไซบีเรียตะวันออก ทะเลชุกชี ทะเลเบริง ทะเลโอค็อตสค์ และทะเลญี่ปุ่น เกาะและหมู่เกาะที่สำคัญได้แก่ หมู่เกาะโนวายาเซมเลีย หมู่เกาะฟรัสซ์โยเซฟแลนด์ หมู่เกาะเซเวอร์นายาเซมเลีย หมู่เกาะนิวไซบีเรีย เกาะแวรงเกล เกาะคูริล และเกาะซาคาลิน เกาะดีโอมีด (ซึ่งเกาะหนึ่งปกครองโดยรัสเซีย ส่วนอีกเกาะปกครองโดยสหรัฐอเมริกา) อยู่ห่างกันเพียง 3 กิโลเมตร และเกาะคุนาชิร์ก็อยู่ห่างจากฮกไกโดเพียงประมาณ 20 กิโลเมตร

สิ่งแวดล้อม[แก้]

ด้วยขนาดและพื้นที่อันกว้างใหญ่ของประเทศ ส่งผลให้รัสเซียมีระบบนิเวศที่หลากหลาย ทั่วทุกภูมิภาคเต็มไปด้วย ทันดรา ไทกา ป่าเบญจพรรณ และป่าใบกว้าง ป่าเต็งรัง ที่ราบกว้างใหญ่ พื้นที่กึ่งทะเลทราย และกึ่งเขตร้อน[43] ป่าไม้กินพื้นที่กว่าครึ่งหนึ่งของดินแดนทั้งหมดในประเทศ[44] และมีป่าสงวนที่ใหญ่ที่สุดในโลกซึ่งเป็นบริเวณที่กักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์มากที่สุดในโลก[45][46]

ความหลากหลายทางชีวภาพของรัสเซียประกอบด้วยพืช 12,500 สปีชีส์ ไบรโอไฟต์ 2,200 สปีชีส์ ไลเคนประมาณ 3,000 สปีชีส์ สาหร่าย 7,000–9,000 สปีชีส์ และเชื้อรา 20,000–25,000 สปีชีส์ สัตว์ในรัสเซียประกอบด้วยสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 320 สายพันธุ์, นกมากกว่า 732 สายพันธุ์, สัตว์เลื้อยคลาน 75 สายพันธุ์, สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำประมาณ 30 สายพันธุ์, ปลาน้ำจืด 343 สายพันธุ์, ปลาน้ำเค็มประมาณ 1,500 สายพันธุ์, ไซโคลสโตมาตา 9 สายพันธุ์ และสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังหลายสายพันธุ์[47] มีพืชและสัตว์หายากและใกล้สูญพันธุ์ประมาณ 1,100 ชนิด

ระบบนิเวศทางธรรมชาติทั้งหมดได้รับการอนุรักษ์ในดินแดนที่ได้รับการคุ้มครองเป็นพิเศษเกือบ 15,000 แห่งทั่วประเทศกินพื้นที่มากกว่า 10% ของพื้นที่ทั้งหมด ประกอบด้วยเขตสงวนชีวมณฑล 45 แห่ง อุทยานแห่งชาติ 64 แห่ง และเขตอนุรักษ์ธรรมชาติ 101 แห่ง[48] รัสเซียมีคะแนนเฉลี่ยด้านดัชนีความสมบูรณ์ของภูมิทัศน์ป่าไม้ที่ 9.02 คะแนนในปี 2562 ซึ่งอยู่ในอันดับที่ 10 จาก 172 ประเทศ[49]

ประวัติศาสตร์[แก้]

ยุคเริ่มแรก[แก้]

อาณาจักรเคียฟรุสในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 11

ชาวสลาฟตะวันออกเป็นชนชาติแรกที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในรัสเซียบริเวณแม่น้ำนีเปอร์และแม่น้ำวอลกาทางตอนใต้ของประเทศ ส่วนทางตอนเหนือชนชาติสแกนดิเนเวียและไวกิ้งที่รู้จักกันในนามวารันเจียน ได้ตั้งถิ่นฐานบริเวณแม่น้ำเนวา และทะเลสาบลาโดกา ทำการติดต่อค้าขายกับชาวสลาฟ แต่แล้วใน ค.ศ. 880 กษัตริย์แห่งวาแรนเจียนนามรูลิค ก็เข้ามายึดเมืองเคียฟของชาวสลาฟและตั้งเคียฟเป็นเมืองหลวง โดยผนวกดินแดนทางเหนือกับใต้เข้าด้วยกันแล้วขนานนามว่า เคียฟรุส (Kievan Rus') และสถาปนาราชวงศ์รูริคขึ้น

ใน ค.ศ. 978 เจ้าชายวลาดีมีร์ โมโนมัค ขึ้นครองราชย์และทรงนำศาสนาคริสต์นิกายออร์ทอดอกซ์แห่งจักรวรรดิไบแซนไทน์เข้าสู่รัสเซีย ซึ่งต่อมามีบทบาทและอิทธิพลอย่างสูงต่อศิลปะ สถาปัตยกรรมและวัฒนธรรมของประเทศ ในช่วงศตวรรษที่ 11 เคียฟเป็นนครหลวง ศูนย์รวมของอำนาจกษัตริย์และเป็นศูนย์กลางของคริสตจักรออร์ทอดอกซ์ ในขณะที่เมืองอื่น ๆ ก็มีประชากรก่อตั้งขึ้นมาเช่นกัน จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ได้กล่าวอ้างถึงมอสโกครั้งแรกใน ค.ศ. 1147 ว่าเจ้าชายยูริ ดอลโกรูกี มกุฎราชกุมารแห่งนครเคียฟ มีรับสั่งให้สร้างป้อมปราการไม้หรือ "เครมลิน" (Kremlin) ขึ้นที่เนินเขาโบโรวิตสกายา ริมแม่น้ำมอสควา และตั้งชื่อเมืองว่า "มอสโก" (Moscow)

อาณาจักรมัสโควี[แก้]

ต่อมาในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 13 กองทัพมองโกลนำโดยบาตูข่านเข้ารุกรานรัสเซียและยึดเมืองเคียฟได้สำเร็จ หลังจากนั้นรัสเซียก็ถูกตัดขาดจากโลกภายนอก โดยถูกควบคุมทางการเมือง การปกครอง และยังต้องจ่ายภาษีให้กับชาวมองโกล กษัตริย์และพระราชาคณะจึงย้ายศูนย์กลางอำนาจขึ้นมาทางตอนเหนือ

ในปี 1328 พระเจ้าอีวานที่ 1 ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นกษัตริย์ พระองค์ทรงมีฉายาว่าอีวานถุงเงิน เนื่องจากทรงเก็บส่วยและเครื่องบรรณาการเพื่อส่งให้แก่ชาวมองโกล และในยุคนี้เองที่กษัตริย์ได้ย้ายที่ประทับมาที่มอสโก ต่อมาในยุคของพระเจ้าอีวานที่ 2 (ค.ศ. 1353-1359) ชาวมองโกลเริ่มเสื่อมอำนาจ เจ้าชายดมิตรี โอรสแห่งพระเจ้าอีวานที่ 2 ทรงขับไล่มองโกลได้สำเร็จในการรบที่คูลีโคโวบนฝั่งแม่น้ำดอน ต่อมาในปี 1380 พระองค์ทรงได้รับการสถาปนาเป็น ดมีตรี ดอนสกอย (ดมีตรีแห่งแม่น้ำดอน) ได้รวมเมืองวลาดิมีร์และซุลดัล อันเป็นเมืองสำคัญของอาณาจักรมัสโควี และยังได้บูรณะเครมลินเป็นกำแพงหินขาวแทนไม้โอ๊ก มอสโกจึงมีอีกชื่อเรียกว่า เมืองกำแพงหินขาว ในยุคนั้น แต่เพียงไม่นานพวกตาตาร์ก็กลับมาทำลายเครมลินจนพินาศ รัสเซียต้องเป็นเมืองขึ้นของตาตาร์อีกครั้งหนึ่งในปี 1382

จนเข้าสู่สมัยของพระเจ้าอีวานที่ 3 หรือพระเจ้าอีวานมหาราช (ค.ศ. 1462-1505) พระองค์ทรงอภิเษกกับหลานสาวของจักรพรรดิองค์ก่อนแห่งไบแซนไทน์ในปี 1472 และรับอินทรีสองเศียรเป็นสัญลักษณ์ของรัสเซีย ในยุคของพระองค์ได้รวบรวมดินแดนให้กลับเป็นปึกแผ่นอีกครั้ง ใน ค.ศ. 1480 ทรงขับไล่กองกำลังตาตาร์ออกจากรัสเซียจนหมดสิ้น ปิดฉากสองศตวรรษภายใต้การปกครองของมองโกล ทรงบูรณะเครมลินให้เป็นหอคอยสูงและโบสถ์งดงามไว้ภายในเครมลิน นับเป็นยุคแห่งความรุ่งเรืองของรัสเซีย

ปี 1574 พระเจ้าอีวานที่ 4 (1533-1584) หลานของพระเจ้าอีวานมหาราช ได้รับการสถาปนาเป็นพระเจ้าซาร์องค์แรก (ซาร์ มาจากคำว่า ซีซาร์ ผู้ครองอำนาจแห่งจักรวรรดิโรมันและไบแซนไทน์) [50] พระองค์ทรงปกครองอาณาจักรด้วยความเหี้ยมโหด ปราศจากความเมตตา ว่ากันว่ามีรับสั่งให้ควักลูกตาสถาปนิกผู้ออกแบบสร้างมหาวิหารเซนต์บาซิล เพื่อมิให้สร้างสิ่งก่อสร้างที่งดงามเช่นนี้ได้ที่ใดอีก ด้วยเหตุนี้พระองค์จึงถูกขนานนามว่า อีวานผู้โหดเหี้ยม ต่อมาเมื่อหมดยุคของพระองค์ใน ค.ศ. 1584 มอสโกก็ประสบปัญหาทางการเมืองและเศรษฐกิจอย่างรุนแรง มีการแย่งชิงราชบัลลังก์ระหว่างราชวงศ์รูริค และโรมานอฟ ในที่สุดสมัชชาแห่งชาติและพระราชาคณะแห่งคริสตจักรออร์ทอดอกซ์ก็มีมติเลือก มีฮาอิล โรมานอฟ ขึ้นเป็นซาร์พระองค์แรกแห่งราชวงศ์โรมานอฟ

จักรวรรดิรัสเซีย[แก้]

ค.ศ. 1613-1917 พระเจ้าปีเตอร์ที่ 1 มหาราช (ค.ศ. 1682-1725) ทรงเป็นกษัตริย์ที่มีบทบาทสำคัญที่สุดในหน้าประวัติศาสตร์รัสเซีย พระองค์ขึ้นครองราชย์ตั้งแต่พระชนมายุ 10 ชันษา พร้อมกับพระเจ้าอีวานที่ 5 (เป็นกษัตริย์บัลลังก์คู่) จนในปี 1696 เมื่อพระเจ้าอีวานที่ 5 สิ้นพระชนม์ พระเจ้าปีเตอร์ที่ 1 มหาราช จึงมีพระราชอำนาจโดยแท้จริง ในยุคของพระองค์ทรงขยายอาณาเขตรัสเซียออกไปทางตะวันออกถึงวลาดีวอสตอค และทรงใช้นโยบายสู้ตะวันตก ทรงนำรัสเซียเข้าสู่ยุคใหม่ โดยใน ค.ศ. 1712 ทรงย้ายเมืองหลวงจากมอสโกมาที่เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก และเป็นครั้งแรกที่มีการจัดตั้งกองทหารราชนาวีขึ้นในรัสเซีย ทั้งยังทรงนำช่างฝีมือจากฝรั่งเศส อิตาลี เยอรมนี และสวิตเซอร์แลนด์ มาสร้างวิหารและพระราชวังที่งดงามอีกมากมาย และทรงนำพาจักรวรรดิรัสเซียให้เป็นที่รู้จักเกรียงไกรในสังคมโลก ถัดจากพระเจ้าปีเตอร์มหาราชยังมีซาร์และซารีนาอีกหลายพระองค์ที่สืบราชบัลลังก์ ทว่าผู้ที่สร้างความเจริญเฟื่องฟูให้กับรัสเซียสูงสุด ได้แก่ พระนางเจ้าแคทเธอรีนที่ 2 (ค.ศ. 1762-1796) พระนางได้รับการยกย่องให้เป็นราชินี ด้วยทรงเชี่ยวชาญด้านการปกครองอย่างมาก กระนั้นพระนางก็มีชื่อเสียงด้านลบด้วยพระนางมีคู่เสน่หามากมาย

ผู้สืบราชวงศ์องค์ต่อมาคือ พระเจ้าพอลที่ 1 (ค.ศ. 1796-1801) พระราชโอรสของพระนางเจ้าแคทเทอรีน ทรงครองราชย์อยู่เพียงระยะสั้น จากนั้นพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ที่ 1 (1801- 1825) พระราชโอรสสืบพระราชบัลลังก์ต่อ ในปี 1812 ทรงทำศึกชนะจักรพรรดินโปเลียนแห่งฝรั่งเศส แต่แล้วในช่วงปลายรัชกาล เกิดกระแสการเปลี่ยนแปลงการปกครองสู่ระบบรัฐสภา ปี 1825 เกิดกบฏต่อต้านราชวงศ์ขึ้นในเดือนธันวาคม เรียก กบฏธันวาคม (Decembrist Movement) แต่พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 1 (ค.ศ. 1825-1855) ก็ทรงปราบกลุ่มผู้ต่อต้านไว้ได้ พอมาในสมัยพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ที่ 2 (ค.ศ. 1855-1881) พระองค์ทรงมีฉายาว่า Tzar Liberator (ซาร์ผู้ปลดปล่อย) เนื่องจากพระองค์ทรงปลดปล่อยทาสติดที่ดิน (Serf) หลายล้านคนให้พ้นจากการเป็นทาส แต่พระองค์ถูกลอบปลงพระชนม์ที่นครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กในปี 1881 ทิ้งไว้เพียงอนุสรณ์สถานที่สร้างอุทิศแด่พระองค์ ณ จุดที่ถูกลอบปลงพระชนม์ ซาร์องค์ต่อมาคือ อเล็กซานเดอร์ที่ 3 (ค.ศ. 1881-1894) จนถึงซาร์องค์สุดท้ายแห่งราชวงศ์โรมานอฟ พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 (1894-1917) ความเหลื่อมล้ำกันทางชนชั้น และความยากจน ก่อให้เกิดการปฏิวัติเป็นครั้งแรกโดยกรรมการชาวนาในวันที่ 22 มกราคม ค.ศ. 1905 [50] ซึ่งมีผู้ถูกยิงเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก เรียกเหตุการณ์ครั้งนั้นว่า วันอาทิตย์เลือด Bloody Sunday และสุดท้ายคือการปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1917 กระนั้นชนวนที่ทำให้ราชวงศ์โรมานอฟและระบอบซาร์ถึงกาลอวสานก็มีปัจจัยอื่นเช่นกัน

สมัยสหภาพโซเวียต[แก้]

การตัดสินใจเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 ของซาร์นิโคลัสที่ 2 นั้นนำมาซึ่งความสูญเสียอย่างใหญ่หลวง ทั้งชีวิตของทหารและชาวรัสเซียนับล้านที่เมื่อรัสเซียเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ การจลาจลเกิดขึ้นทั่วเมือง ในที่สุดปี 1917 จึงเกิดการปฏิวัติล้มล้างระบบซาร์ พระเจ้านิโคลัสที่ 2 สละราชสมบัติ มีการจัดตั้งคณะรัฐบาลเฉพาะกิจเคอเรนสกีขึ้นบริหารประเทศ แต่พรรคบอลเชวิค (Bolshevik) นำโดยวลาดีมีร์ เลนินก็ทำการปฏิวัติยึดอำนาจการบริหารประเทศไว้ได้ โดยการเปลี่ยนแปลงการปกครองสู่ระบอบคอมมิวนิสต์ พร้อมทั้งประกาศให้ประเทศเป็น สหภาพสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียต (Union of Soviet Socialist Repubilcs หรือ USSR)

ค.ศ. 1918 ย้ายเมืองหลวงและฐานอำนาจกลับสู่มอสโก กระนั้นก็ยังมีผู้ไม่พอใจกับสภาพแร้นแค้น การขาดสิทธิเสรีภาพ จึงทำให้เกิดสงครามกลางเมืองขึ้นหลายต่อหลายครั้ง เลนินถึงแก่อสัญกรรมในปี 1924 โจเซฟ สตาลิน (1924-1953) ขึ้นบริหารประเทศแทนด้วยความเผด็จการ และกวาดล้างทุกคนผู้ที่มีความคิดต่อต้าน เขาเปิดการพัฒนาประเทศสู่อุตสาหกรรมสมัยใหม่ จนเทียบเคียงสหรัฐอเมริกา แต่ปัญหาความอดอยาก ที่เรื้อรังมานานก็ยากเกินเยียวยา และยิ่งเลวร้ายเมื่อฮิตเลอร์สั่งล้อมมอสโกไว้ โดยเฉพาะที่เซนต์ปีเตอร์สเบิร์กถูกปิดล้อมไว้นานถึง 900 วันในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ชาวรัสเซียเรียกสงครามครั้งนั้นว่า มหาสงครามของผู้รักชาติ (The Great Patriotic War) กระนั้นสตาลินก็มีบทบาทในการพิชิตนาซีเยอรมันในสงครามโลกครั้งที่ 2 (ค.ศ. 1941-1945) นี้ไว้ได้

ค.ศ. 1955 นีกีตา ครุชชอฟ ขึ้นดำรงตำแหน่งผู้นำโดยมีแนวคิดในการบริหารประเทศที่เน้นการอยู่ร่วมกัน มีการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างขนาดใหญ่ให้เป็นที่อยู่อาศัยของประชาชน ผ่อนคลายความเข้มงวดให้น้อยกว่าสมัยสตาลิน รวมถึงเปิดเครมลินเป็นพิพิธภัณฑ์ให้ประชาชนได้เข้าชมอีกด้วย ปี 1964 ครุชชอฟลาออกจากตำแหน่งเลขาธิการพรรคแทน เบรจเนฟแผ่อิทธิพลไปถึงจีน คิวบา และอัฟกานิสถาน เพิ่มความเครียดไปทั่วโลก เขาจึงนำนโยบายต่างประเทศที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางในชื่อ การผ่อนคลายความตึงเครียด มาใช้โดยปี 1980 มอสโกได้เป็นเจ้าภาพในการจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ครั้งที่ 22

ค.ศ. 1985 มิฮาอิล กอร์บาชอฟขึ้นดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคคอมิวนิสต์ เขาเป็นผู้นำการปฏิรูปโครงสร้างการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมที่เรียกว่า เปเรสตรอยคา (Perestroyka) โดยนำพาประเทศเข้าสู่ระบบทุนนิยม มีการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และพัฒนาฝีมือแรงงานรวมถึงเสนอนโยบายเปิดกว้างกลัสนอสต์ (Glasnost) คือให้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเปิดเผยข้อมูลข่าวสารต่อสาธารณชน มีการติดต่อด้านการค้ากับตะวันตก รวมถึงถอนกำลังออกจากยุโรปตะวันออกและอัฟกานิสถานและยังได้เข้าร่วมกับองค์การนาโต หรือองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ ใน ค.ศ. 1990 กอร์บาชอฟได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ รวมถึงได้รับยกย่องจากนิตยสารไทม์เป็นบุรุษแห่งทศวรรษ (Man of the Decade) กระนั้นปัญหาขาดแคลนสินค้าอุปโภคบริโภค และความล้าหลังทางการผลิตที่สั่งสมมานานก็ทำให้นโยบายเปเรสตรอยกาล้มเหลว ความนิยมในกอร์บาชอฟเริ่มตกลง ต่อมาเกิดรัฐประหารขึ้นในเดือนสิงหาคม 1991 โดยกลุ่มคอมมิวนิสต์หัวเก่าที่ไม่ต้องการการเปลี่ยนแปลงสู่ตลาดเสรี แต่บอริส เยลต์ซิน ก็สามารถกู้สถานการณ์เอาไว้ได้ กอร์บาชอฟจึงสิ้นคะแนนนิยมอย่างแท้จริง เขาประกาศลาออกจากตำแหน่ง รวมถึงประกาศยกเลิกพรรคคอมมิวนิสต์ต่อหน้ามหาชน พร้อมด้วยการก้าวขึ้นเป็นผู้นำของเยลต์ชิน สหภาพโซเวียตจึงล่มสลาย สาธารณรัฐต่าง ๆ ทั้ง 15 สาธารณรัฐแยกตัวเป็นอิสระ รวมทั้งสาธารณรัฐรัสเซีย (Russian SFSR) ภายใต้ชื่อใหม่ว่า สหพันธรัฐรัสเซีย

สหพันธรัฐรัสเซีย[แก้]

บอริส เยลต์ซินได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีรัสเซียเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2534 ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีโดยตรงครั้งแรกในประวัติศาสตร์รัสเซีย ระหว่างและหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต ได้มีการปฏิรูปอย่างกว้างขวาง รวมทั้งการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ตลอดจนการเปิดเสรีตลาดและการค้า[51] และยังมีการเปลี่ยนแปลงลึกซึ้งตามแนวทาง "ช็อกบำบัด" (shock therapy) ดังที่สหรัฐอเมริกาและกองทุนการเงินระหว่างประเทศแนะนำ[52] ซึ่งทั้งหมดนี้ได้ส่งผลให้เกิดวิกฤตการณ์เศรษฐกิจครั้งใหญ่ ซึ่งรัสเซียมีจีดีพีและปริมาณการผลิตภาคอุตสาหกรรมลดลงถึง 50% ระหว่าง พ.ศ. 2533-2538[53]

การแปรรูปรัฐวิสาหกิจส่วนใหญ่ได้โอนการควบคุมวิสาหกิจจากหน่วยงานของรัฐ ไปเป็นของปัจเจกบุคคลซึ่งมีความเชื่อมโยงภายในในระบบรัฐบาล นักธุรกิจที่ร่ำรวยขึ้นมาใหม่หลายคนได้นำเงินสดและสินทรัพย์นับพัน ๆ ล้านออกนอกประเทศในการโยกย้ายทุนขนานใหญ่[54] ภาวะตกต่ำของรัฐและเศรษฐกิจนำไปสู่การล่มสลายของบริการสังคม อัตราการเกิดตกฮวบ ขณะที่อัตราการตายพุ่งทะยาน ประชาชนหลายล้านคนอยู่ในภาวะยากจน จากระดับความยากจน 1.5% ในปลายยุคโซเวียต เป็น 39-49% ราวกลาง พ.ศ. 2536[55] คริสต์ทศวรรษ 1990 ได้เกิดการฉ้อราษฎร์บังหลวงและความไม่มีกฎหมายสุดขีด การเพิ่มขึ้นของแก๊งอาชญากรและอาชญากรรมรุนแรง[56]

คริสต์ทศวรรษ 1990 รัสเซียได้เผชิญกับความขัดแย้งด้วยอาวุธในคอเคซัสเหนือ ทั้งการสู้รบประรายด้านชาติพันธุ์ท้องถิ่นและการก่อการกบฏของกลุ่มอิสลามแบ่งแยกดินแดน นับตั้งแต่กลุ่มแบ่งแยกดินแดนเชเชนได้ประกาศเอกราชในต้นคริสต์ทศวรรษ 1990 ก็ได้เกิดสงครามกองโจรขึ้นเป็นระยะ ๆ ระหว่างกลุ่มกบฏกับกองทัพรัสเซีย กลุ่มแบ่งแยกดินแดนได้โจมตีก่อการร้ายต่อพลเรือน ที่มีชื่อเสียงที่สุด คือ วิกฤตการณ์ตัวประกันโรงละครมอสโก และการล้อมโรงเรียนเบสลัน ซึ่งเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตหลายร้อยศพและเรียกความสนใจจากทั่วโลก

รัสเซียยอมรับความรับผิดชอบในการจัดการหนี้สินภายนอกของสหภาพโซเวียต แม้ประชากรรัสเซียจะมีเพียงครึ่งหนึ่งของประชากรสหภาพโซเวียตเมื่อสหภาพล่มสลายไปนั้น[57] การขาดดุลงบประมาณอย่างสูงเป็นเหตุของวิกฤตการณ์การเงินรัสเซีย พ.ศ. 2541[58] และยิ่งทำให้จีดีพีลดลงไปอีก[51]

วันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2542 ประธานาธิบดีเยลต์ซินลาออก ส่งมอบตำแหน่งต่อให้กับนายกรัฐมนตรีที่เพิ่งแต่งตั้งใหม่ วลาดีมีร์ ปูติน ผู้ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดี พ.ศ. 2543 ปูตินปราบปรามการก่อกบฏเชเชน แม้ความรุนแรงเป็นพัก ๆ ยังเกิดขึ้นทั่วคอเคซัสเหนือ ราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับสูงและการเริ่มต้นนโยบายเงินตราอ่อนค่า ตามมาด้วยอุปสงค์ภายในประเทศที่เพิ่มขึ้น การบริโภคและการลงทุนได้ช่วยทำให้เศรษฐกิจเติบโตในอัตราร้อยละ 7 ต่อปีระหว่างปี พ.ศ. 2541-2551 ซึ่งได้พัฒนาคุณภาพชีวิตและเพิ่มอิทธิพลของรัสเซียในเวทีโลก[6] แม้การปฏิรูปหลายอย่างที่ปูตินดำเนินการระหว่างดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี โดยทั่วไปมักถูกชาติตะวันตกวิจารณ์ว่าไม่เป็นประชาธิปไตย[59] แต่ความเป็นผู้นำของปูตินเหนือการฟื้นฟูความสงบเรียบร้อย เสถียรภาพและความก้าวหน้าได้ทำให้เขาเป็นที่นิยมอย่างกว้างขวางในรัสเซีย[60]

วันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2551 ดมิทรี เมดเวเดฟได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีรัสเซีย ขณะที่ปูตินเป็นนายกรัฐมนตรี ปูตินกลับมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีอีกครั้งหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดี พ.ศ. 2555 และเมดเวเดฟได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี

ในห้วงวิกฤตการณ์ไครเมีย พ.ศ. 2557 รัสเซียได้ผนวกสาธารณรัฐไครเมีย ซึ่งเกิดจากการรวมกันของสาธารณรัฐปกครองตนเองไครเมียและนครเซวัสโตปอลตามการลงประชามติ หลังการปฏิวัติยูเครน รัสเซียได้ยึดครองคาบสมุทรไครเมียของประเทศเพื่อนบ้าน และกองทัพรัสเซียยังมีส่วนในการแทรกแซงสงครามในดอนบัส รัสเซียยกระดับในการก่อสงครามกับยูเครนอย่างต่อเนื่อง ก่อนจะทำการโจมตีอย่างเต็มรูปแบบในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565[61] นับได้ว่าเป็นการก่อสงครามที่ใหญ่ที่สุดของยุโรปนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สอง และรัฐบาลถูกประนามจากผู้นำหลายประเทศ[62] ตามด้วยการคว่ำบาตรจากชาติมหาอำนาจ[63] เป็นผลให้รัสเซียถูกขับออกจากสภายุโรปในเดือนมีนาคม 2565[64] และถูกระงับการดำเนินกิจกรรมจากคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติในเดือนเมษายน 2565[65] ในเดือนกันยายน 2565 ปูตินประกาศว่ารัสเซียได้ทำการผนวกดินแดนกว่า 15% ในภูมิภาคโดเนตสค์ เคอร์ซัน ลูฮันสก์ และซาโปริซเซีย ซึ่งเป็นการยึดครองดินแดนครั้งใหญ่ที่สุดในยุโรปนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สอง[66]

การเมืองการปกครอง[แก้]

วลาดีมีร์ ปูติน
ประธานาธิบดี
มีฮาอิล มีชุสติน
นายกรัฐมนตรี

ตามรัฐธรรมนูญแห่งสหพันธรัฐรัสเซีย ประเทศนี้เป็นประเทศที่ถูกปกครองโดยระบอบสหพันธ์แบบอสมมาตรและระบอบสาธารณรัฐแบบกึ่งประธานาธิบดี โดยมีประธานาธิบดีเป็นประมุขแห่งรัฐ[67] และมีนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้ารัฐมนตรี สหพันธรัฐรัสเซียมีโครงสร้างทางรากฐานเป็นระบอบประชาธิปไตยแบบมีผู้แทนโดยมีหลากหลายพรรค โดยรัฐบาลสหพันธ์ประกอบไปด้วยอำนาจการบริหารสามส่วน ดังนี้:[68]

กระทรวง[แก้]

ลำดับที่ ชื่อกระทรวงภาษาไทย ชื่อกระทรวงภาษาอังกฤษ
1 กระทรวงกิจการภายใน Ministry of Internal Affairs
2 กระทรวงป้องกันพลเรือน เหตุการณ์ฉุกเฉิน
และการจัดการผลกระทบจากภัยพิบัติธรรมชาติ
Ministry for Civil Defence, Emergencies
and Elimination of Consequences of Natural Disasters *
3 กระทรวงการต่างประเทศ Ministry of Foreign Affairs
4 กระทรวงกลาโหม Ministry of Defense
5 กระทรวงยุติธรรม Ministry of Justice
6 กระทรวงสาธารณสุข Ministry of Health
7 กระทรวงวัฒนธรรม Ministry of Culture
8 กระทรวงศึกษาธิการและวิทยาศาสตร์ Ministry of Education and Science
9 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม Ministry of Natural Resources and Environment
10 กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า Ministry of Industry and Trade
11 กระทรวงการพัฒนาพื้นที่รัสเซียตะวันออกไกล Ministry for Development of Russian Far East
12 กระทรวงการสื่อสารและสื่อมวลชน Ministry of Communications and Mass Media
13 กระทรวงเกษตร Ministry of Agriculture
14 กระทรวงกีฬา Ministry of Sport
15 กระทรวงการก่อสร้าง การเคหะและสาธารณูปโภค Ministry of Construction, Housing and Utilities
16 กระทรวงคมนาคม Ministry of Transport
17 กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม Ministry of Labour and Social Affairs
18 กระทรวงการคลัง Ministry of Finance
19 กระทรวงการพัฒนาเศรษฐกิจ Ministry of Economic Development
20 กระทรวงพลังงาน Ministry of Energy

* มีชื่อเรียกโดยย่อว่า Ministry of Emergency Situations หรือกระทรวงสถานการณ์ฉุกเฉิน

การแบ่งเขตการปกครอง[แก้]

ประเทศรัสเซียแบ่งเขตการปกครองออกเป็น

  • 46 แคว้น (Provinces - oblast)
  • 22 สาธารณรัฐ (Republics - respublika )
  • 9 ดินแดน (Territories - kraya )
  • 4 เขตปกครองตนเอง (Autonomous districts - avtonomnyye okruga)
  • 1 แคว้นปกครองตนเอง (Autonomous oblast - avtonomnaya oblast )
  • 3 นครสหพันธ์ (Federal cities - federalnyye goroda ) คือ มอสโก เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก และเซวัสโตปอล

ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ[แก้]

วลาดีมีร์ ปูติน และผู้นำในกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง

รัสเซียมีเครือข่ายทางการทูตที่ใหญ่เป็นอันดับ 5 ของโลกในปี 2562 โดยรักษาความสัมพันธ์ทางการทูตกับ 190 ประเทศสมาชิกสหประชาชาติ 4 รัฐที่ได้รับการยอมรับ และสามรัฐผู้สังเกตการณ์ของสหประชาชาติ พร้อมด้วยสถานเอกอัครราชทูต 144 แห่งทั่วโลก รัสเซียเป็นหนึ่งในห้าสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ในอดีตเคยเป็นมหาอำนาจในฐานะองค์ประกอบนำของสหภาพโซเวียต[69] เป็นสมาชิกขององค์การสำคัญมากมาย เช่น กลุ่ม 20 สภายุโรป ความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก องค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ สหภาพเศรษฐกิจยูเรเชีย องค์การว่าด้วยความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป องค์การการค้าโลก องค์การสนธิสัญญาความมั่นคงร่วมกัน และ สหภาพเศรษฐกิจยูเรเชีย

รัสซียมีความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนบ้านอย่างเบลารุส ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในรัฐสหภาพรัสเซียและเบลารุส[70] เซอร์เบียเป็นอีกหนึ่งชาติที่ถือเป็นพันธมิตร เนื่องจากทั้งสองประเทศมีความสัมพันธ์อันดีในด้านวัฒนธรรม ชาติพันธุ์ และศาสนา อินเดียเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดในด้านยุทโธปกรณ์ทางทหารของรัสเซีย และทั้งสองประเทศมีความสัมพันธ์ทางยุทธศาสตร์และการทูตที่เข้มแข็งตั้งแต่สมัยโซเวียต[71] รัสเซียมีอิทธิพลมหาศาลทั่วภูมิภาคคอเคซัสใต้ และเอเชียกลางที่มีความสำคัญทางภูมิรัฐศาสตร์ และทั้งสองภูมิภาคได้รับการขนานเป็น "สนามหลังบ้าน" ของรัสเซีย[72]

ในศตวรรษที่ 21 ความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียและจีนเข้มแข็งขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทั้งในระดับทวิภาคีและกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เนื่องจากผลประโยชน์ทางการเมืองร่วมกัน ตุรกีและรัสเซียมีความสัมพันธ์เชิงกลยุทธ์ทั้งในด้านพลังงานและยุทธศาสตร์ร่วมในการป้องกันประเทศ รัสเซียยังรักษาความสัมพันธ์อันดีกับอิหร่าน เนื่องจากเป็นพันธมิตรทางการเมืองและเศรษฐกิจที่สำคัญในตะวันออกกลาง รัสเซียยังขยายอิทธิพลของตนไปทั่วแถบอาร์กติก เอเชียแปซิฟิก แอฟริกา ตะวันออกกลาง และลาตินอเมริกา ในทางตรงกันข้าม ความสัมพันธ์ของรัสเซียกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างยูเครนและโลกตะวันตกโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และเนโทได้พังทลายลงหลังจากสั่นคลอนมาร่วมทศวรรษ ภายหลังการเริ่มต้นสงครามรัสเซีย-ยูเครนในปี 2557 และเข้าสู่สงครามเต็มรูปแบบปี 2565[73]

กองทัพ[แก้]

กองทัพรัสเซียแบ่งออกเป็นกองกำลังทางบก กองทัพเรือและกองทัพอากาศ นอกจากนี้ยังมีสาขาช่วยรบ (arm of service) อิสระอีกสามสาขา ได้แก่ กองกำลังขีปนาวุธยุทธศาสตร์ กองกำลังป้องกันห้วงอากาศ-อวกาศ และหน่วยส่งทางอากาศ ในปี 2549 กองทัพรัสเซียมีกำลังพลประจำการ 1.037 ล้านนาย[74] ซึ่งบังคับเกณฑ์ให้พลเมืองชายอายุระหว่าง 18–27 ปีทุกคนรับราชการในกองทัพเป็นเวลาหนึ่งปี[6]

ประเทศรัสเซียมีคลังอาวุธนิวเคลียร์ใหญ่ที่สุดในโลก และมีกองเรือดำน้ำขีปนาวุธใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสอง และเป็นประเทศเดียวนอกจากสหรัฐอเมริกาที่มีกองกำลังเครื่องบินทิ้งระเบิดยุทธศาสตร์สมัยใหม่[29][75] กองกำลังรถถังของรัสเซียใหญ่ที่สุดในโลก และกองทัพเรือผิวน้ำและกองทัพอากาศใหญ่เป็นอันดับต้น ๆ ของโลก

ประเทศรัสเซียมีอุตสาหกรรมอาวุธขนาดใหญ่และผลิตในประเทศทั้งหมด โดยผลิตยุทโธปกรณ์ส่วนใหญ่เองโดยมีการนำเข้าอาวุธไม่กี่ชนิด ประเทศรัสเซียเป็นผู้ผลิตอาวุธรายใหญ่ที่สุดของโลกมาตั้งแต่ปี 2544 โดยมีการขายอาวุธคิดเป็นราว 30% ของทั่วโลก[76] และมีการส่งออกไปประมาณ 80 ประเทศ[77]

รายจ่ายทางทหารภาครัฐอย่างเป็นทางการในปี 2555 อยู่ที่ 90,700 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ มากเป็นอันดับสามของโลก แม้แหล่งข้อมูลต่าง ๆ จะประเมินว่ารายจ่ายทางทหารของรัสเซียสูงกว่านี้มาก[78] ปัจจุบัน การพัฒนายุทโธปกรณ์ครั้งใหญ่มูลค่าราว 200,000 ล้านดอลล่าร์สหรัฐอยู่ระหว่างดำเนินการในช่วงปี 2549 ถึง 2558[79]

สิทธิมนุษยชน[แก้]

การรุกรานยูเครนในปี 2565 ก่อให้เกิดการประท้วงต่อต้านสงครามทั่วประเทศ นำไปสู่การเข้าปราบปรามและจับกุมประชาชนกว่า 15,000 ราย[80]

สิทธิมนุษยชนในรัสเซียถูกวิพากษ์วิจารณ์โดยผู้นำประชาธิปไตย และกลุ่มสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล และ ฮิวแมนไรตส์วอตช์ ซึ่งวิจารณ์ว่ารัสเซียขาดความเป็นประชาธิปไตย และให้สิทธิพลเมืองต่ำ[81] ตั้งแต่ปี 2547 Freedom House ได้จัดอันดับรัสเซียว่า "ขาดสิทธิและเสรีภาพพลเมือง" ในการสำรวจ Freedom in the World นับตั้งแต่ปี 2554 ดิ อีโคโนมิสต์ อินเทลลิเจนซ์ ยูนิต ได้จัดอันดับรัสเซียให้เป็น "ระบอบเผด็จการ" ในดัชนีประชาธิปไตย โดยอยู่ในอันดับที่ 124 จาก 167 ประเทศในปี 2564 ในด้านเสรีภาพของสื่อ รัสเซียอยู่ในอันดับที่ 155 จาก 180 ประเทศตามดัชนีเสรีภาพสื่อของนักข่าวไร้พรมแดนประจำปี 2565

รัฐบาลรัสเซียได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางในการปฏิบัติต่อผู้เห็นต่างทางการเมือง และนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนสำหรับการเลือกตั้งที่ไม่เป็นธรรม การใช้อำนาจการเมืองและการประท้วงฝ่ายค้าน รวมถึงการกดขี่องค์กรพัฒนาเอกชน และการบังคับใช้การปราบปรามและสังหารนักข่าวอิสระ และการเซ็นเซอร์สื่อและอินเทอร์เน็ต[82] การปกครองของรัสเซียได้รับการวิจารณ์ว่ามีความเป็นอัตตาธิปไตย[83] โจราธิปไตย คณาธิปไตย และเศรษฐยาธิปไตย[84] เป็นประเทศที่อยู่ในอันดับสุดท้ายตามการจัดอันดับดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชันในยุโรป[85] สำหรับปี 2564 โดยอยู่ในอันดับที่ 136 จาก 180 ประเทศ รัสเซียมีประวัติการทุจริตมาอย่างยาวนานซึ่งเป็นปัญหาสำคัญ[86] ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ[87] การปกครอง[88] การบังคับใช้กฎหมาย[89] สาธารณสุข การศึกษา[90] และการทหาร[91]

เศรษฐกิจ[แก้]

ศูนย์ธุรกิจนานาชาติมอสโกในกรุงมอสโกแห่งนี้มีเศรษฐกิจในเมืองที่ใหญ่ที่สุดในโลกแห่งหนึ่ง

รัสเซียมีระบบเศรษฐกิจแบบตลาดซึ่งมีทรัพยากรธรรมชาติจำนวนมหาศาล โดยเฉพาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ[92] c]tมีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับเก้าของโลกเมื่อพิจารณาจาก GDP ที่ระบุ และใหญ่เป็นอันดับหกโดย PPP ภาคบริการขนาดใหญ่คิดเป็น 62% ของ GDP ทั้งหมด รองลงมาคือภาคอุตสาหกรรม (32%) ในขณะที่ภาคเกษตรกรรมมีขนาดเล็กที่สุด ซึ่งคิดเป็น 5% ของ GDP ทั้งหมด[93] รัสเซียมีอัตราการว่างงานอย่างเป็นทางการต่ำที่ 4.1%[94] ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 5 ของโลก มีมูลค่า 540 พันล้านดอลลาร์[95] มีแรงงานประมาณ 70 ล้านคน ซึ่งใหญ่เป็นอันดับ 6 ของโลก.[96]

รัสเซียเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่อันดับที่ 13 ของโลกและเป็นผู้นำเข้ารายใหญ่อันดับที่ 21[97][98] โดยอาศัยรายได้จากภาษีที่เกี่ยวข้องกับน้ำมันและก๊าซและภาษีส่งออกซึ่งคิดเป็น 45% ของรายได้งบประมาณของรัฐบาลกลางรัสเซียในเดือนมกราคม 2022[99] และมากถึง 60% ของการส่งออกในปี 2019[100] รัสเซียมีระดับหนี้ต่างประเทศต่ำที่สุดแห่งหนึ่งในบรรดาประเทศเศรษฐกิจหลักๆ[101] แม้ว่าความไม่เท่าเทียมกันของรายได้และความมั่งคั่งของครัวเรือนจะสูงที่สุดในประเทศที่พัฒนาแล้วก็ตาม[102] แต่ความแตกต่างในระดับภูมิภาคที่สูงก็เป็นปัญหาเช่นกัน[103][104]

หลังจากผ่านไปกว่าทศวรรษของการเติบโตอย่างรวดเร็วทางเศรษฐกิจหลังโซเวียต โดยได้รับแรงหนุนจากราคาน้ำมันที่สูง และการเพิ่มขึ้นของทุนสำรองและการลงทุนเงินตราต่างประเทศ[105] เศรษฐกิจของรัสเซียได้รับความเสียหายหลังจากการเริ่มสงครามรัสเซีย-ยูเครน และการผนวกไครเมียในปี 2014 เนื่องจากการคว่ำบาตรทางตะวันตกระลอกแรก[106] ภายหลังการรุกรานยูเครนของรัสเซียในปี 2022 ประเทศต้องเผชิญกับการคว่ำบาตรและการคว่ำบาตรบริษัทที่ปรับปรุงใหม่[107]และกลายเป็นประเทศที่ถูกคว่ำบาตรมากที่สุดในโลก[108]ในความเคลื่อนไหวที่อธิบายว่าเป็น "สงครามทางเศรษฐกิจและการเงินเต็มรูปแบบ" เพื่อแยกเศรษฐกิจรัสเซียออกจากระบบการเงินตะวันตก.[109] เนื่องจากผลกระทบดังกล่าว รัฐบาลรัสเซียจึงได้หยุดเผยแพร่ข้อมูลทางเศรษฐกิจบางส่วนตั้งแต่เดือนเมษายน 2022[110] นักเศรษฐศาสตร์แนะนำว่าการคว่ำบาตรจะมีผลกระทบระยะยาวต่อเศรษฐกิจรัสเซีย[111]

การพัฒนาทางเศรษฐกิจ[แก้]

รัสเซียสามารถฟื้นตัวจากวิกฤติทางการเงินในปี 1998 และมีการเติบโตทางเศรษฐกิจเฉลี่ยร้อยละ 7 ต่อปี เนื่องจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้น การลงทุนจากต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น การขยายตัวของการบริโภคในประเทศ และความมั่นคงทางการเมือง[42] ในปี 2007 รัสเซียมีจีดีพีใหญ่เป็นอันดับที่ 6 ของโลก[112] (มูลค่า 2.088 ล้านล้านดอลลาร์ เมื่อวัดด้วยความเท่าเทียมกันของอำนาจซื้อ[112]) ค่าแรงเฉลี่ยต่อเดือนในรัสเซียเพิ่มขึ้นจาก 80 ดอลลาร์ในปี 2000 เป็น 640 ดอลลาร์ในต้นปี 2008[113] ชาวรัสเซียที่ยากจนมีประมาณร้อยละ 14 ในปี 2007[114] ซึ่งลดลงอย่างมากจากร้อยละ 40 ในปี 1998 ซึ่งสถิติสูงสุดหลังสหภาพโซเวียตล่มสลาย[55] อัตราว่างงานในรัสเซียลดลงจากร้อยละ 12.4 ในปี 1999 เหลือร้อยละ 6 ในปี 2007[115][116] การที่ประชากรมีรายได้เพิ่มขึ้นนี้ทำให้ตลาดของชนชั้นกลางในรัสเซียขยายตัวหลายเท่า[117]

ระบบภาษีที่เข้าใจง่ายกว่าเดิมเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2001 ซึ่งทำให้ภาระต่อประชาชนลดลงในขณะที่รายได้ของรัฐเพิ่มขึ้น[118] รัสเซียใช้ระบบอัตราภาษีคงที่ที่ร้อยละ 13 กับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และทำให้กลายเป็นประเทศที่มีระบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ดึงดูดผู้บริหารได้ดีเป็นอันดับสองรองจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ จากการสำรวจในปี 2007[119][120] งบประมาณของรัฐเกินดุลตั้งแต่ปี 2001 และจนถึงสิ้นปี 2007 มีงบประมาณเกินดุลมาร้อยละ 6 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ รัสเซียใช้รายได้จากน้ำมันที่ได้รับผ่านกองทุนความมั่นคงของสหพันธรัฐรัสเซียในการจ่ายหนี้ซึ่งเกิดขึ้นในยุคโซเวียตคืนแก่ปารีสคลับและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ รายได้จากการส่งออกน้ำมันยังสามารถทำให้รัสเซียมีเงินสำรองระหว่างประเทศเพิ่มจาก 1 หมื่น 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 1999 เป็น 5.97 แสนล้านดอลลาร์ในปี 2008 ซึ่งสูงเป็นอันดับสามของโลก[121] รัสเซียยังสามารถลดหนี้ต่างประเทศที่ก่อขึ้นในอดีตได้อย่างมาก[122]

อย่างไรก็ตาม การพัฒนาทางเศรษฐกิจของประเทศไม่เท่าเทียมกันในแต่ละภูมิภาค โดยเขตมอสโกเป็นเขตที่ส่งผลต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศมากที่สุด[123]

พลังงาน และ การขนส่ง[แก้]

รัสเซียเป็นแหล่งน้ำมันปิโตรเลียมและแก๊สธรรมชาติที่สำคัญของยุโรป[124]

รัสเซียมีแหล่งทรัพยากรแก๊สธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุดในโลก[125] มีแหล่งทรัพยากรถ่านหินใหญ่เป็นอันดับสองของโลก และมีแหล่งทรัพยากรน้ำมันที่ใหญ่เป็นอันดับแปดของโลก[126] รัสเซียเป็นประเทศที่ส่งออกแก๊สธรรมชาติมากเป็นอันดับหนึ่ง[127] และส่งออกน้ำมันมากเป็นอันดับสองของโลก[125] น้ำมัน แก๊สธรรมชาติ โลหะ และไม้ เป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญและมีมูลค่ามากถึงร้อยละ 80 ของการส่งออกทั้งหมด[42][128]แต่หลังปี 2546 การส่งออกทรัพยากรธรรมชาติก็เริ่มลดความสำคัญลงเพราะตลาดภายในประเทศขยายตัวขึ้นอย่างมาก แม้ว่าราคาทรัพยากรด้านพลังงานจะสูงขึ้นมาก แต่น้ำมันและแก๊สธรรมชาติก็มีสัดส่วนเพียงร้อยละ 5.7 ของจีดีพี และรัฐบาลคาดการณ์ว่าสัดส่วนนี้จะลดลงเหลือร้อยละ 3.7 ภายในปี 2554[129] รัสเซียยังนับว่าเป็นประเทศที่มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจได้ดีกว่าประเทศที่ร่ำรวยทรัพยากรอื่น ๆ[117]

รัสเซียยึดมั่นในความตกลงปารีส หลังจากเข้าร่วมสนธิสัญญาอย่างเป็นทางการในปี 2562[130] รัสเซียปล่อยแก๊สเรือนกระจกมากเป็นอันดับสี่ของโลก[131] เป็นผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่อันดับสี่ของโลก และผู้ผลิตพลังงานหมุนเวียนรายใหญ่อันดับเก้าของโลกในปี 2562 นอกจากนี้ ยังเป็นประเทศแรกของโลกที่พัฒนาพลังงานนิวเคลียร์เพื่อใช้ประโยชน์สำหรับพลเรือน และสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งแรกของโลก[132] รัสเซียยังเป็นผู้ผลิตพลังงานนิวเคลียร์รายใหญ่อันดับสี่ของโลก และเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าพลังน้ำรายใหญ่อันดับห้าในปี 2564

การขนส่งระบบรางในประเทศรัสเซีย ส่วนใหญ่อยู่ภายใต้การควบคุมของการรถไฟรัสเซียที่ดำเนินการโดยรัฐ ความยาวรวมของรางรถไฟที่ใช้กันทั่วไปนั้นยาวที่สุดเป็นอันดับสามของโลก และเกิน 87,000 กม. (54,100 ไมล์)[133] ณ ปี 2559 รัสเซียมีเครือข่ายถนนใหญ่เป็นอันดับ 5 ของโลก โดยมีถนนยาว 1.5 ล้านกิโลเมตร และความหนาแน่นของถนนต่ำที่สุดในโลก[134] รัสเซียมีเส้นทางการขนส่งทางน้ำภายในประเทศที่ยาวที่สุดในโลกกว่า 102,000 กม. (63,380 ไมล์)

ในบรรดาท่าอากศยาน 1,218 แห่ง ท่าอากาศยานที่พลุกพล่านที่สุดคือท่าอากาศยานนานาชาติเชเรเมเตียโวในมอสโก ท่าเรือที่ใหญ่ที่สุดของรัสเซียคือท่าเรือ Novorossiysk ในดินแดนครัสโนดาร์ ทอดยาวตามชายฝั่งทะเลดำ

เกษตรกรรม และ ประมง[แก้]

ทุ่งข้าวสาลีในแคว้นตอมสค์

ภาคเกษตรกรรมของรัสเซียได้รับการสนับสนุนจาก 5% ของจีดีพีทั้งหมด แม้ว่าภาคส่วนนี้จะใช้แรงงานประมาณหนึ่งในแปดของแรงงานทั้งหมด[135] รัสเซียมีพื้นที่เพาะปลูกที่ใหญ่เป็นอันดับสามของโลกที่ 1,265,267 ตารางกิโลเมตร (488,522 ตารางไมล์) อย่างไรก็ตาม เนื่องจากสภาพแวดล้อมที่เลวร้าย มีที่ดินเพียง 13.1% ที่เป็นพื้นที่เกษตรกรรม และมีเพียงพื้นที่เพาะปลูกเพียง 7.4%[136] พื้นที่เกษตรกรรมของประเทศถือเป็นส่วนหนึ่งของ "อู่ข้าวอู่น้ำ" ของยุโรป[137] พื้นที่ทางการเกษตรมากกว่าหนึ่งในสามเป็นพื้นที่เพาะปลูกพืชอาหารสัตว์ และพื้นที่เพาะปลูกที่เหลือเป็นพื้นที่เพาะปลูกพืชผลทางอุตสาหกรรม ผักและผลไม้ ผลิตภัณฑ์หลักของการทำฟาร์มของรัสเซียคือธัญพืชซึ่งกินพื้นที่กว่าครึ่งหนึ่งของพื้นที่เพาะปลูก รัสเซียเป็นผู้ส่งออกข้าวสาลีรายใหญ่ที่สุดของโลก รวมทั้งเป็นผู้ผลิตข้าวบาร์เลย์และบัควีทรายใหญ่ที่สุด[138][139] เป็นผู้ส่งออกข้าวโพดและน้ำมันดอกทานตะวันรายใหญ่ที่สุด และเป็นผู้ผลิตปุ๋ยชั้นนำ

นักวิเคราะห์ด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ คาดการณ์ถึงโอกาสอันยิ่งใหญ่สำหรับการเกษตรของรัสเซียในช่วงที่เหลือของศตวรรษที่ 21 เนื่องจากความสามารถในการเพาะปลูกที่เพิ่มขึ้นในไซบีเรีย ซึ่งจะนำไปสู่การอพยพทั้งภายในและภายนอกภูมิภาค[140] จากการมีแนวชายฝั่งที่กว้างใหญ่กินพื้นที่มหาสมุทรสามแห่ง และสิบสองทะเลชายขอบ ส่งผลให้รัสเซียเป็นประเทศอุตสาหกรรมประมงที่ใหญ่เป็นอันดับหกของโลก โดยจับปลาได้เกือบ 5 ล้านตันในปี 2561 รัสเซียเป็นต้นกำเนิดของคาเวียร์ชั้นนำของโลก เป็นถิ่นอาศัยของปลาสเตอร์เจียนขาว เป็นผู้ผลิตประมาณปลากระป๋องมากถึงหนึ่งในสามของโลก และส่งออกปลาแช่แข็งเป็นจำนวนมากถึงหนึ่งในสี่ของโลก

วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี[แก้]

สถานีอวกาศมีร์ เป็นสถานีวิจัยถาวรระยะยาวแห่งแรกในอวกาศของมนุษยชาติ[141]

รัสเซียสนับสนุนใช้จ่ายประมาณ 1% ของจีดีพีประเทศในการวิจัยและพัฒนาในปี 2562 โดยถือเป็นงบประมาณสูงสุดอันดับที่ 10 ของโลก[142] นอกจากนี้ ยังอยู่ในอันดับที่สิบของโลกในด้านจำนวนสื่อสิ่งพิมพ์ทางวิทยาศาสตร์ในปี 2563 จำนวนกว่า 1.3 ล้านฉบับ[143] นับตั้งแต่ปี 2447 เป็นต้นมา มีนักวิทยาศาสตร์ของสหภาพโซเวียตและรัสเซียได้รับรางวัลโนเบลกว่า 26 คน ในสาขาต่าง ๆ ทั้ง ฟิสิกส์ เคมี สรีรวิทยาหรือการแพทย์ เศรษฐศาสตร์ วรรณกรรม และ สันติภาพ[144] รัสเซียอยู่ในอันดับที่ 45 ในดัชนีนวัตกรรมระดับโลก ปี 2564

เป็นเวลาหลายศตวรรษที่นักวิทยาศาสตร์รัสเซียมีผลงานระดับโลก มิคาอิล โลโมโนซอฟ เสนอทฤษฎีการอนุรักษ์มวลในปฏิกิริยาเคมี ค้นพบชั้นบรรยากาศของดาวศุกร์ และเป็นหนึ่งในบุคคลแรก ๆ ที่ศึกษาแนวคิดธรณีวิทยาสมัยใหม่[145] ดมีตรี เมนเดเลเยฟ ได้รับการยกย่องมีฐานะบุคคลแรกที่สร้างตารางธาตุฉบับแรก[146] โซเฟีย โควาเลฟสกายา เป็นหนึ่งในสตรีผู้บุกเบิกการศึกษาทางด้านคณิตศาสตร์ในศตวรรษที่ 19 นักคณิตศาสตร์โซเวียตและรัสเซียเก้าคนได้รับรางวัล Fields Medal กริกอรี เพเรลมาน อุทิศตนให้กับเรขาคณิตแบบรีมันน์ และ ทอพอโลยีเชิเรขาคณิต อเล็กซานเดอร์ โพพอฟ เป็นหนึ่งในนักประดิษฐ์วิทยุ[147] นิโคไล บาซอฟ และ อเล็กซันเดอร์ โปรโฮรอฟ เป็นผู้ร่วมคิดค้นเลเซอร์และเมเซอร์[148] นิโคไล วาวิลอฟ เป็นที่รู้จักจากการระบุศูนย์กลางของการกำเนิดพืช[149] นักวิทยาศาสตร์และนักประดิษฐ์ชาวรัสเซียที่มีชื่อเสียงหลายคน อิกอร์ ซีกอร์สกี เป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกด้านการบิน อีลี เมตช์นิคอฟ เป็นที่รู้จักสำหรับการวิจัยที่ก้าวล้ำในด้านวิทยาภูมิคุ้มกัน[150] อีวาน ปัฟลอฟ มีชื่อเสียงจากทฤษฎี การวางเงื่อนไขแบบดั้งเดิม และ จอร์จ กามอฟ เป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนหลักของทฤษฎีบิกแบง นักวิทยาศาสตร์ต่างชาติจำนวนมากอาศัย และทำงานในรัสเซียเป็นเวลานาน เช่น เลอ็อนฮาร์ท อ็อยเลอร์ บุคคลแรกที่เริ่มใช้คำว่า "ฟังก์ชัน" และ อัลเฟรด โนเบล ผู้ผลิตอาวุธ และผู้คิดค้นดินระเบิดไดนาไมท์[151]

สหภาพโซเวียดและสหพันธรัฐรัสเซีย เป็นหนึ่งในชาติผู้บุกเบิกทางด้านเทคโนโลยีอวกาศ และการสำรวจอวกาศ โดยมีประวัติสืบไปถึงสมัยของ คอนสตันติน ซีออลคอฟสกี ผู้บุกเบิกศาสตร์ด้านวิศวกรรมการบินและอวกาศและการสำรวจอวกาศ เซียร์เกย์ โคโรเลฟ เป็นผู้นำการออกแบบยานอวกาศในระหว่างการแข่งขันอวกาศกับสหรัฐในช่วงสงครามเย็น รัฐวิสาหกิจรอสคอสมอส หรือ องค์การอวกาศสหพันธรัฐรัสเซีย เป็นผู้รับผิดชอบกิจการด้านโครงการวิทยาศาสตร์และอวกาศของรัสเซีย ในขณะที่สถานีอวกาศมีร์เป็นสถานีอวกาศที่ประสบความสำเร็จสูงสุดของรัสเซีย และนับเป็นสถานีวิจัยถาวรระยะยาวแห่งแรกในอวกาศของมนุษยชาติ ในปี 2500 ดาวเทียมสปุตนิก 1 ในฐานะดาวเทียมดวงแรกของโลกขึ้นสู่วงโคจรโลกในรูปวงรี ได้โคจรรอบวงโคจรทั้งหมด 1440 รอบ ยูรี กาการิน ถือเป็นมนุษย์คนแรกที่ขึ้นสู่อวกาศ ตามมาด้วยการบันทึกการสำรวจอวกาศของโซเวียตและรัสเซียอื่น ๆ อีกมากมายจวบจนปัจจุบัน วาเลนตีนา เตเรชโควา เป็นนักบินอวกาศสตรีคนแรกของโลกซึ่งขึ้นสู่วงโคจรกับยานอวกาศชื่อ "ยานวอสตอค 6" พ.ศ. 2506[152] อะเลคเซย์ เลโอนอฟ เป็นบุคคลแรกที่กระทำการเดินอวกาศ ด้วยออกจากแคปซูลในภารกิจวอสฮอด 2[153]

ไลกา เป็นสัตว์ตัวแรกที่ได้โจจรรอบโลกในปี 2500[154] ในปี พ.ศ. 2509 ลูนา 9 ได้กลายเป็นยานอวกาศลำแรกที่ประสบความสำเร็จในการลงจอดบนวัตถุท้องฟ้าซึ่งก็คือดวงจันทร์[155] ในปี 2511 เวเนรา 7 กลายเป็นยานอวกาศลำแรกที่ลงจอดบนดาวเคราะห์ดวงอื่นซึ่งได้แก่ ดาวศุกร์ ในปี 2512 มาร์ 3 กลายเป็นยานอวกาศลำแรกที่ลงจอดบนดาวอังคาร รัสเซียมีดาวเทียมที่ใช้การอยู่ 172 ดวงในอวกาศในเดือนเมษายน 2565 ซึ่งสูงเป็นอันดับสามของโลก[156]

การท่องเที่ยว[แก้]

มหาวิหารนักบุญเบซิลกรุงมอสโก ได้รับการยกย่องเป็นมรดกโลก

อ้างอิงจากองค์การการท่องเที่ยวโลก รัสเซียเป็นประเทศที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามามากเป็นอันดับที่ 16 ของโลก และมากที่สุดเป็นอันดับที่ 10 ของยุโรปในปี 2561 โดยมีจำนวนกว่า 24.6 ล้านคน และจากรายงานของของ Federal Agency for Tourism จำนวนการเดินทางขาเข้าของชาวต่างชาติมายังรัสเซียมีจำนวน 24.4 ล้านคนในปี 2562 รัสเซียสร้างรายได้จากภาคการท่องเที่ยวในปี 2561 กว่า 11.6 พันล้านดอลลาร์[157] ในปี 2562 รัฐบาลสนับสนุนค่าใช้จ่ายในด้านการท่องเที่ยวคิดเป็น 4.8% ของจีดีพีทั้งหมด[158]

เส้นทางท่องเที่ยวที่สำคัญในรัสเซีย ได้แก่ การเดินทางรอบวงแหวนทองคำ เมืองโบราณ การล่องเรือในแม่น้ำขนาดใหญ่ เช่น แม่น้ำโวลก้า การเดินป่าบนทิวเขา เช่น เทือกเขาคอเคซัส[159] และทางรถไฟสายทรานส์-ไซบีเรีย[160] สถานที่ ๆ ได้รับความนิยม ได้แก่ จัตุรัสแดง พระราชวังเปเตียร์กอฟ เครมลินแห่งคาซัน อาสนวิหาร Trinity Lavra of St. Sergius และ ทะเลสาบไบคาล[161]

มอสโกซึ่งเป็นเมืองหลวงที่มีความเป็นสากล และเป็นศูนย์กลางทางประวัติศาสตร์ของประเทศ เป็นเมืองใหญ่ที่พลุกพล่าน ยังคงรักษาสถาปัตยกรรมคลาสสิกและยุคโซเวียตไว้ พร้อมด้วยศิลปะชั้นสูง การแสดงบัลเลต์ระดับโลก และตึกระฟ้าที่ทันสมัย[162] เซนต์ปีเตอส์เบิร์ก เมืองหลวงของจักรวรรดิ มีชื่อเสียงในด้านสถาปัตยกรรมคลาสสิก มหาวิหาร พิพิธภัณฑ์และโรงละคร การแสดงยามค่ำคืน แม่น้ำและลำคลองสวยงามมากมาย[163] รัสเซียยังมืชื่อเสียงในด้านพิพิธภัณฑ์และโรงละคร อาทิ โรงละครบอลชอย และ โรงละครมาริอินสกี รวมถึงสถานที่ที่เป็นสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่าง เครมลินแห่งมอสโก และ มหาวิหารนักบุญเบซิล[164]

ประชากรศาสตร์[แก้]

เมืองใหญ่สุด[แก้]


เชื้อชาติ[แก้]

สัดส่วนของเชื้อชาติ (ค.ศ. 2002)[167]
ชาวรัสเซีย 81.0%
ตาตาร์ 3.7%
ชาวยูเครน 1.4%
บัศกีร์ 1.1%
ชูวาช 1.0%
เชเชน 0.8%
อื่น ๆ/ไม่ระบุ 11.0%
จำนวนประชากรระหว่าง ค.ศ. 1991-2009 (ล้านคน)[168]

ประเทศรัสเซียมีประชากรประมาณ 144.3 ล้านคน (ค.ศ. 2016) จำนวนประชากรของรัสเซียมีแนวโน้มลดลงเรื่อย ๆ ตั้งแต่คริสต์ทศวรรษที่ 1990 ซึ่งเป็นผลจากอัตราการตายที่สูงและอัตราการเกิดที่ต่ำ ในขณะที่อัตราการเกิดในรัสเซียมีพอ ๆ กับประเทศยุโรปอื่น ๆ (อัตราการเกิด 11.3 คนต่อประชากร 1000 คนในปี 2007[169] เทียบกับอัตราเฉลี่ย 10.25 คนต่อประชากร 1000 คนของสหภาพยุโรป[170]) แต่ประชากรกลับลดลงเพราะอัตราการตายสูงกว่า (ในปี 2007 อัตราการตายของรัสเซียคือ 14.7 คนต่อประชากร 1000 คน[169] เมื่อเที่ยบกับอัตราเฉลี่ยของสหภาพยุโรป 10.39 คนต่อ 1000 คน[171]) ปัญหาประชากรที่ลดลงนี้ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจ[172] รัฐบาลจึงตั้งมาตรการต่าง ๆ ในการลดอัตราการตาย เพิ่มอัตราการเกิด พัฒนาสุขภาพของประชาชน[173] กระทรวงสาธารณสุขของรัสเซียคาดการณ์ว่าอัตราการตายและอัตราการเกิดจะปรับตัวจนเท่ากันภายในปี 2011[173]

รัสเซียมีพื้นที่มากที่สุดในโลก แต่เมื่อเทียบกับประชากรแล้ว ความหนาแน่นเพียงแค่ 40 เปอร์เซนต์เท่านั้น

ภาษา[แก้]

การกระจายของภาษาใน ตระกูลภาษายูรัล และตระกูลภาษาอัลไต

กลุ่มชาติพันธุ์ 160 กลุ่มของรัสเซียมีภาษาพูดกว่า 100 ภาษา อ้างอิงจากการสำรวจสำมะโน พ.ศ. 2545 ประชากร 142.6 ล้านคนพูดภาษารัสเซียตามด้วยภาษาตาตาร์ 5.3 ล้านและภาษายูเครน 1.8 ล้านคน[174] ภาษารัสเซียเป็นภาษาราชการของประเทศเพียงภาษาเดียว แต่รัฐธรรมนูญให้สิทธิ์แก่สาธารณรัฐต่าง ๆ ในการสถาปนาภาษาประจำชาติของตนเองนอกเหนือจากภาษารัสเซีย[175]

แม้จะมีการแพร่กระจายในพื้นที่กว้าง แต่ภาษารัสเซียนั้นเป็นสำเนียงเดียวกันทั่วประเทศ รัสเซียเป็นภาษาที่แพร่หลายมากที่สุดในภูมิภาคยูเรเซียและเป็นภาษาสลาวิกที่พูดกันอย่างกว้างขวางที่สุด[176] ภาษารัสเซียอยู่ในตระกูลภาษาอินโด-ยูโรเปียนและเป็นหนึ่งในสมาชิกที่ยังมีผู้ใช้ภาษาของกลุ่มภาษาสลาวิกตะวันออก ภาษาอื่น ๆ ในกลุ่มได้แก่ภาษาเบลารุสและภาษายูเครน (และอาจรวมถึงภาษารูซิน Rusyn) ตัวอย่างภาษาเขียนของ ภาษาสลาวิกตะวันออกเก่า (รัสเซียเก่า) ได้รับการพิสูจน์ว่ามีการบันทึกเริ่มจากคริสต์ศตวรรษที่ 10 เป็นต้นมา[177]

รัสเซียเป็นภาษาที่ใช้มากเป็นอันดับสองบนอินเทอร์เน็ต ตามหลังภาษาอังกฤษ[178], เป็นหนึ่งในสองภาษาราชการบนสถานีอวกาศนานาชาติ[179] และเป็นหนึ่งในหกภาษาราชการของสหประชาชาติ[180]

35 ภาษาได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการโดยรัฐบาลท้องถิ่นในภูมิภาคต่าง ๆ ของรัสเซีย

ศาสนา[แก้]

ศาสนา ส่วนใหญ่นับถือคริสต์ศาสนานิกายออร์โธดอกซ์รัสเซีย (ร้อยละ 94) ที่เหลือนับถือศาสนาอิสลาม (ร้อยละ 5.5) คริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอลิก (ร้อยละ 0.8) และพุทธศาสนานิกายมหายาน (ร้อยละ 0.6)

การศึกษา[แก้]

มหาวิทยาลัยมอสโก เป็นมหาวิทยาลัยที่เก่าแก่ที่สุดและมีชื่อเสียงที่สุดในประเทศ

รัสเซียมีอัตราการรู้หนังสือในประชากรผู้ใหญ่ที่ 100%[181] มีการศึกษาภาคบังคับเป็นเวลา 11 ปี เฉพาะสำหรับเด็กอายุ 7 ถึง 17-18 ปีเท่านั้น รัฐธรรมนูญกำหนดให้พลเมืองของตนมีสิทธิได้รับการศึกษาโดยไม่มีค่าใช้จ่าย กระทรวงศึกษาธิการมีหน้าที่รับผิดชอบการศึกษาในระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา และอาชีวศึกษา ในขณะที่กระทรวงศึกษาธิการและวิทยาศาสตร์รับผิดชอบด้านวิทยาศาสตร์และการศึกษาในระดับอุดมศึกษา หน่วยงานระดับภูมิภาคมีอำนาจในการควบคุมมาตรฐานการศึกษาภายในเขตอำนาจศาลของตนภายใต้กรอบทางกฎหมายของรัฐบาลกลาง รัสเซียเป็นหนึ่งในประเทศที่พลเมืองมีการศึกษาสูงที่สุดในโลก และมีสัดส่วนผู้สำเร็จการศึกษาระดับอุดมศึกษาสูงสุดเป็นอันดับหกของโลกที่ 62.1%[182] ค่าใช้จ่ายทางการศึกษาคิดเป็น 4.7 เปอร์เซนต์ ของอัตราจีดีพีรวมในประเทศ[183]

การศึกษาก่อนวัยเรียนของรัสเซียได้รับการพัฒนาอย่างมากและไม่อยู่ในระบบการศึกษาภาคบังคับ กว่าสี่ในห้าของประชากรอายุ 3 ถึง 6 ปีเข้าเรียนในสถานรับเลี้ยงเด็กหรือโรงเรียนอนุบาล โรงเรียนประถมศึกษาถือเป็นการศึกษาภาคบังคับจำนวนสิบเอ็ดปี โดยเริ่มตั้งแต่อายุ 6 ถึง 7 ปี และผู้สำเร็จการศึกษาจะได้รับใบรับรองการศึกษาขั้นพื้นฐาน และจำเป็นต้องศึกษาต่ออีกสองถึงสามปีเพื่อรับใบรับรองในระดับมัธยมศึกษา กว่าเจ็ดในแปดของประชากรทั้งหมดเลือกศึกษาต่อในระดับนี้[184]

การสอบคัดเลือกเพื่อเข้าศึกษาในระดับอุดมศึกษามีการแข่งขันสูง หลักสูตรระยะแรกมักใช้เวลาประมาณห้าปี มหาวิทยาลัยที่เก่าแก่และใหญ่ที่สุดในรัสเซีย ได้แก่ มหาวิทยาลัยมอสโก และมหาวิทยาลัยเซนต์ปีเตอส์เบิร์ก[185] มีมหาวิทยาลัยของรัฐบาลกลางที่มีชื่อเสียงกว่าสิบแห่งทั่วประเทศ รัสเซียเป็นจุดหมายปลายทางชั้นนำอันดับ 5 ของโลกสำหรับนักศึกษาต่างชาติในปี 2562 โดยมีจำนวนหลายแสนราย[186]

สาธารณสุข[แก้]

รัฐธรรมนูญกำหนดให้พลเมืองทุกคนมีสิทธิเข้าถึงการรักษาพยาบาลผ่านโครงการประกันสุขภาพของรัฐ[187] กระทรวงสาธารณสุขดูแลระบบการรักษาพยาบาลสาธารณะของรัสเซีย และภาคส่วนนี้มีผู้ปฏิบัติงานมากกว่าสองล้านคน ทุกภูมิภาคยังมีแผนกดูแลสุขภาพของตนเองที่ดูแลการบริหารงานในท้องถิ่น และมีแผนประกันสุขภาพแยกต่างหากเพื่อเข้าถึงการรักษาพยาบาลแบบส่วนตัว[188] ในปี 2562 ค่าใช้จ่ายทางด้านสุขภาพของรัสเซียคิดเป็นร้อยละ 5.6 ของจีดีพีรวมในประเทศ[189] โดยมีค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลต่ำกว่าประเทศพัฒนาแล้วอื่น ๆ อย่างเห็นได้ชัด[190] รัสเซียมีอัตราส่วนของประชากรหญิงสูงกว่าชายมาก เนื่องจากอัตราการเสียชีวิตของประชากรชายมีสูง[191] ในปี 2562 อัตราการคาดหมายคงชีพอยู่ที่ 73.2 ปี (68.2 ปีในเพศชาย และ 78.0 สำหรับเพศหญิง)[192] และมีอัตราการเสียชีวิตของทารกต่ำ (5 คน ต่ออัตราการเกิดมีชีพ 1,000 คน)[193]

สาเหตุหลักของการเสียชีวิตคือโรคหลอดเลือดหัวใจ[194] โรคอ้วนเป็นอีกหนึ่งปัญหาสำคัญ ผลสำรวจในปี 2559 พบว่ากว่า 61.1% ของผู้ใหญ่ชาวรัสเซียมีน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วน[195] อย่างไรก็ตาม อัตราการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่สูงเป็นประวัติการณ์ของรัสเซียเป็นปัญหาด้านสุขภาพที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ[196] ประชากรรัสเซียบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากที่สุดในโลก แม้จะลดลงอย่างมีนัยสำคัญในทศวรรษที่ผ่านมา[197] การสูบบุหรี่ถือเป็นปัญหาสำคัญเช่นกัน[198] และอัตราการฆ่าตัวตายที่สูงก็ถือเป็นปัญหาสังคมเรื้อรังยาวนาน[199]

กีฬา[แก้]

มาเรีย ชาราโปวา อดีตนักเทนนิสมือวางอันดับหนึ่งของโลก ชนะเลิศเทนนิสแกรนด์สแลมห้าสมัย และเป็นหนึ่งในนักกีฬาหญิงที่ทำเงินรางวัลสูงสุดตลอดกาล[200]

ฟุตบอลเป็นกีฬายอดนิยมของคนรัสเซีย[201] สหภาพโซเวียตถือเป็นทีมแรกที่ชนะเลิศการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรปซึ่งจัดแข่งขันครั้งแรกในปี 2503[202] และเข้าถึงรอบชิงชนะเลิศอีกครั้งในปี 2531 สโมสรของรัสเซียอย่างสโมสรกีฬากลางแห่งกองทัพบก มอสโก และ เซนิตเซนต์ปีเตอส์เบิร์กชนะการแข่งขันยูฟ่าคัพในปี 2548 และ 2551[203] ทีมชาติรัสเซียมีผลงานโดดเด่นด้วยการเข้ารอบรองชนะเลิศฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป 2008[204] ประเทศรัสเซียยังเป้นเจ้าภาพฟีฟ่าคอนเฟเดอเรชันส์คัพ 2017 และ ฟุตบอลโลก 2018 อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันรัสเซียถูกลงโทษห้ามลงแข่งขันทางการทั้งในระดับทวีปและระดับโลก สืบเนื่องจากการรุกรานยูเครน[205]

กีฬาที่นิยมเล่นในฤดูหนาวอย่าง แบนดี และ ฮอกกี้น้ำแข็ง ได้รับความนิยมอย่างสูง โดยเฉพาะแบนดีถือเป็นกีฬาที่สร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศมากที่สุด[206] บาสเกตบอลทีมชายของรัสเซียชนะการแข่งขันชิงแชมป์ยุโรปในปี 2547 และมีสโมสรที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในทวีปอย่างทีม PBC CSKA Moscow[207] การแข่งขันฟอร์มูลาวันและรัสเซียกรังด์ปรีซ์ถูกจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี แต่ในปัจจุบันได้ถูกระงับการแข่งขันจากการรุกรานยูเครน[208] รัสเซียยังเป็นหนึ่งในชาติที่ประสบความสำเร็จในการแข่งขันโอลิมปิก มีผลงานโดดเด่นในด้านยิมนาสติกลีลา และการว่ายน้ำแบบซิงโครไนซ์[209] กีฬาอื่น ๆ ที่ได้รับความนิยมได้แก่ สเกตลีลา หมากรุก และเทนนิส นักเทนนิสระดับโลกหลายราย อาทิ มารัต ซาฟิน, มาเรีย ชาราโปวา และ ดานีอิล เมดเวเดฟ ประสบความสำเร็จในการแข่งขันระดับแกรนด์สแลม และเคยขึ้นสู่มือวางอันดับหนึ่งของโลก นอกเหนือจากฟุตบอลโลก รัสเซียยังเคยเป็นเจ้าภาพการแข่งขันระดับโลกได้แก่ โอลิมปิกฤดูร้อน 1980 โอลิมปิกฤดูหนาว 2014 และ พาราลิมปิกฤดูหนาว 2014

วัฒนธรรม[แก้]

อาหาร[แก้]

วอดก้า หนึ่งในเครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในประเทศ

อาหารรัสเซียได้รับอิทธิพลสูงจากสถาพอากาศ ขนาดของประเทศที่กว้างใหญ่ วัฒนธรรมแต่ละภูมิภาค รวมทั้งประเพณีทางศาสนา และมีความคล้ายคลึงกับอาหารของประเทศเพื่อนบ้าน วัตถุดิบหลักอย่าง ข้าวไรย์ ข้าวบาร์เลย์ ข้าวสาลี และลูกเดือยเป็นส่วนผสมสำหรับขนมปัง แพนเค้ก และซีเรียลต่าง ๆ รวมทั้งเครื่องดื่มมากมาย ขนมปังจากหลากหลายพันธุ์เป็นที่นิยมอย่างมากในรัสเซีย[210] ซุปและสตูว์ที่ขึ้นชื่อ ได้แก่ ชี, บอชช์, อูฮา, โซลยันกา และ ออครอชคา คนรัสเซียนิยมเติมสเมทานา (ครีมเปรี้ยวหนัก) และมายองเนสลงในซุปและสลัด[211] แพนเค้กรัสเซียมีหลายชนิดขึ้นอยู่กับภูมิภาคโดย อาหารจานหลักที่ได้รับความนิยมสูงอีกรายการคือ บีฟ สโตรกานอฟ หรือการนำเนื้อวัวไปผัดเสิร์ฟในซอสมัสตาร์ดและครีม มีต้นกำเนิดในรัสเซียช่วงกลางศตวรรษที่ 19 และได้กลายเป็นที่นิยมไปทั่วโลก ปัจจุบันหลายประเทศนำไปดัดแปลงเป็นรสชาติของตนเอง โดยเนื้อไก่และปลาก็ได้รับความนิยมทั่วประเทศ

ควัสส์เป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่ำจากโดยได้จากการหมักธัญพืช เป็นเครื่องดื่มยอดนิยมเช่นเดียวกับวอดก้าซึ่งมีประวัติความเป็นมายาวนานตั้งแต่ศตวรรษที่ 14[212] โดยรัสเซียถือเป็นชาติที่ดื่มวอดก้ามากกว่าทุกประเทศ[213] ในขณะที่เบียร์เป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในประเทศ รวมทั้งไวน์และชาก็ได้รับความนิยมมาหลายทศวรรษเช่นกัน

สื่อสารมวลชน[แก้]

ดมีตรี เมดเวเดฟ อดีตนายกรัฐมนตรีและประธานาธิบดีรัสเซีย ในสตูดิโอของช่องรัสเซียทูเดย์กรุงวอชิงตัน ดี.ซี.

รัสเซียมีสำนักข่าว 400 แห่ง ซึ่งมีหน่วยงานที่ดำเนินงานในระดับสากลที่ใหญ่ที่สุด ได้แก่ ตัสส์, รีอะโนวัสติ, สปุตนิก และ อินเตอร์แฟกซ์ โทรทัศน์เป็นสื่อที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในรัสเซีย[214] มีสถานีวิทยุที่ได้รับอนุญาตกว่า 3,000 แห่งทั่วประเทศ ช่องหนึ่งรัสเซีย และ รัสเซีย-1 เป็นสถานีโทรทัศน์ชั้นนำของประเทศ ในขณะที่รัสเซียทูเดย์เป็นตัวแทนของสื่อระดับประเทศที่มีชื่อเสียง[215] รัสเซียมีตลาดวิดีโอเกมที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป โดยมีผู้เล่นมากกว่า 65 ล้านคนทั่วประเทศ[216]

ภาพยนตร์หลายเรื่องของรัสเซียนับตั้งแต่สมัยโซเวียตมีชื่อเสียงระดับโลก โบรเนโนเซตส์โปติออมกิน ได้รับการยกย่องในฐานะหนึ่งในภาพยนตร์ที่ดีที่สุดตลอดกาล และได้รับเลือกให้เป็นภาพยนตร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาลที่งานงานแสดงสินค้าโลกบรัสเซลส์ในปี 2501[217] เซียร์เกย์ ไอเซนสไตน์ และ อันเดรย์ ตาร์คอฟสกี เป็นหนึ่งในผู้กำกับภาพยนตร์ที่มีอิทธิพลต่อวงการภาพยนตร์โลก[218][219] ทฤษฎี "Kino-Eye" ของดซีกา เวียร์ตอฟ มีผลกระทบอย่างมากต่อการพัฒนาการสร้างภาพยนตร์สารคดีและความสมจริงของภาพยนตร์[220] ภาพยนตร์สัจนิยมสังคมนิยมโซเวียตหลายเรื่องประสบความสำเร็จ รวมถึง ชาปาเยฟ และ บัลลาดาโอซอลดาเต

ทศวรรษที่ 1960 และ 1970 ได้เห็นรูปแบบศิลปะที่หลากหลายมากขึ้นในภาพยนตร์ของสหภาพโซเวียต เอลดาร์ เรียซานอฟ และ เลโอนิด ไกได ได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม โดยมีวลีเด็ดมากมายที่ยังคงใช้มาถึงปัจจุบัน[221] เซียร์เกย์ บอนดาร์ชุค กำกับภาพยนตร์ วอยนาอีมีร์ ภาพยนตร์แนวชีวิตและสงครามจากสหภาพโซเวียตได้รับรางวัลออสการ์ เป็นภาพยนตร์ที่ใช้ทุนสร้างมากที่สุดของสหภาพโซเวียต เบโลเยโซลนเซปูสตืยนี เป็นอีกหนึ่งภาพยนตร์ชื่อดังที่มักเปิดให้นักบินอวกาศชมก่อนปฏิบัติภารกิจ[222] หลังจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียต อุตสาหกรรมภาพยนตร์ของรัสเซียประสบกับความตกต่ำ อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษ 2000 อุตสาหกรรมภาพยนตร์ก็เติบโตขึ้นอีกครั้ง และขยายตัวอย่างต่อเนื่อง[223]

วันหยุด[แก้]

วันที่ ชื่อ ชื่อภาษาท้องถิ่น ภาษารัสเซีย อักษรซีริลลิก หมายเหตุ
1 มกราคม วันปีใหม่ Новый год (Novy god) Новогодние каникулы (Novogodniye kanikuly)
7 มกราคม วันคริสต์มาส Rozhdestvo Khristovo Рождество Христово ตามนิกายออร์ทอดอกซ์
13 มกราคม วันปีใหม่เดิมของรัสเซีย (Old-Calendar New Year) Новый год по старому календарю วันขึ้นปีใหม่ตามปฏิทินเก่า ซึ่งช้ากว่าปฏิทินเกรโกเรียนไป 13 วัน
23 กุมภาพันธ์ วันพิทักษ์ปิตุภูมิ (Homeland Defender’s Day) Den zashchitnika Otechestva День Защитника Отечества เพื่อรำลึกถึงการก่อตั้ง กองทัพแดง ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1918 เดิมรัสเซียเรียกวันนี้ว่า "วันกองทัพโซเวียตและกองทัพเรือ" (День Советской Армии и Военно-Морского Флота; Den' Sovyetskoy Armii i Voyenno-Morskogo flota)
8 มีนาคม วันสตรีสากล Восьмое марта (Vosmoe marta) Международный Женский День วันหยุดสากลให้แก่ความเท่าเทียมทางเพศแก่สตรี
1 พฤษภาคม วันแรงงานสากล Первое Мая (May Day) День Солидарности Трудящихся ("International Day of Worker's Solidarity") มีการฉลองอย่างเป็นทางการในวันที่ 1 และ 2 พฤษภาคม มีอีกชื่อหนึ่งว่า "วันแรงงานและเฉลิมฉลองเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิ"
9 พฤษภาคม วันแห่งชัยชนะ (Victory Day) Den Pobedy День Победы วันสิ้นสุดของมหาสงครามของผู้รักชาติ ในสงครามโลกครั้งที่สอง
12 มิถุนายน วันรัสเซีย (Russia Day) Den Rossii День России เพื่อรำลึกถึงการประกาศใช้คำประกาศอำนาจอธิปไตยรัฐแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตรัสเซียเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน ค.ศ. 1990
4 พฤศจิกายน วันเอกภาพแห่งมวลชน (People’s Unity Day) Den narodnogo edinstva День Народного единства เป็นวันที่มีการรวมตัวกันของชาวมอสโกโดยไม่คำนึงถึงเชื้อชาติ ศาสนา และสถานะในสังคมเพื่อทำการต่อต้านการรุกรานของโปแลนด์ที่เข้ามาใน ค.ศ. 1612

ส่วนวันอีดทั้งสองของศาสนาอิสลามเป็นวันหยุดของ สาธารณรัฐบัชคอร์โตสถาน สาธารณรัฐอิงกูเชเตีย สาธารณรัฐคาบาร์ดีโน-บัลคาเรีย ส่วนสาธารณรัฐบูเรียตียา และสาธารณรัฐคัลมืยคียา ก็ประกาศว่าวันวิสาขบูชาเป็นวันหยุดเช่นกัน

หมายเหตุ[แก้]

  1. ไครเมียซึ่งถูกผนวกโดยรัสเซียใน ค.ศ. 2014 ยังคงเป็นที่ยอมรับในระดับสากลว่าเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของประเทศยูเครน[1]
  2. อังกฤษ: Russian Federation; รัสเซีย: Росси́йская Федера́ция, อักษรโรมัน: Rossiyskaya Federatsiya, สัทอักษรสากล: [rɐˈsʲijskəjə fʲɪdʲɪˈratsɨjə] ( ฟังเสียง)[17]

อ้างอิง[แก้]

  1. Taylor & Francis (2020). "Republic of Crimea". The Territories of the Russian Federation 2020. Routledge. ISBN 978-1-003-00706-7. Note: The territories of the Crimean peninsula, comprising Sevastopol City and the Republic of Crimea, remained internationally recognised as constituting part of Ukraine, following their annexation by Russia in March 2014.
  2. "Chapter 3. The Federal Structure". Constitution of Russia. สืบค้นเมื่อ 22 April 2015. 1. The Russian language shall be a state language on the whole territory of the Russian Federation.
  3. "ВПН-2010". perepis-2010.ru. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 18 January 2012.
  4. อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ Pew2017
  5. Håvard Bækken (21 November 2018). Law and Power in Russia: Making Sense of Quasi-Legal Practices. Routledge. pp. 64–. ISBN 978-1-351-33535-5.
  6. 6.0 6.1 6.2 "The World Factbook". Central Intelligence Agency. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-07-03. สืบค้นเมื่อ 16 February 2019.
  7. Central Intelligence Agency (25 May 2021). The CIA World Factbook 2021-2022. Simon and Schuster. ISBN 978-1-5107-6382-1.
  8. Shinichiro Tabata, บ.ก. (17 December 2014). Eurasia's Regional Powers Compared - China, India, Russia. Routledge. p. 74. ISBN 978-1-317-66787-2.
  9. Saul Bernard Cohen (2014). Geopolitics: The Geography of International Relations (3 ed.). Rowman & Littlefield. p. 217. ISBN 978-1-4422-2351-6. OCLC 1020486977.
  10. "World Statistics Pocketbook 2016 edition" (PDF). United Nations Department of Economic and Social Affairs. Statistics Division. สืบค้นเมื่อ 24 April 2018.
  11. "Information about availability and distribution of land in the Russian Federation as of 1 January 2017 (by federal subjects of Russia)" Сведения о наличии и распределении земель в Российской Федерации на 1 January 2017 (в разрезе субъектов Российской Федерации). Rosreestr. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-03-23. สืบค้นเมื่อ 2022-03-17.
  12. "The Russian federation: general characteristics". Federal State Statistics Service. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 28 July 2011. สืบค้นเมื่อ 5 April 2008.
  13. 13.0 13.1 Оценка численности постоянного населения на 1 января 2021 г. и в среднем за 2020 г. [Estimated population as of 1 January 2021 and on the average for 2020] (XLS). Russian Federal State Statistics Service (ภาษารัสเซีย). สืบค้นเมื่อ 6 April 2021.
  14. 14.0 14.1 14.2 14.3 "World Economic Outlook Database, April 2021". IMF.org. International Monetary Fund. สืบค้นเมื่อ 17 April 2020.
  15. "GINI index (World Bank estimate) – Russian Federation". World Bank. สืบค้นเมื่อ 22 March 2020.
  16. "Human Development Report 2020" (PDF) (ภาษาอังกฤษ). United Nations Development Programme. 15 December 2020. สืบค้นเมื่อ 15 December 2020.
  17. "ชื่อสหพันธรัฐรัสเซียและรัสเซียจักเสมอกัน". "The Constitution of the Russian Federation". (Article 1). สืบค้นเมื่อ 25 June 2009.
  18. Russian Federal State Statistics Service (2011). "Всероссийская перепись населения 2010 года. Том 1" [2010 All-Russian Population Census, vol. 1]. Всероссийская перепись населения 2010 года (2010 All-Russia Population Census) (ภาษารัสเซีย). Federal State Statistics Service. สืบค้นเมื่อ June 29, 2012.
  19. "Russia". Encyclopædia Britannica. สืบค้นเมื่อ 31 January 2008.
  20. "Russia". Encyclopædia Britannica. สืบค้นเมื่อ 31 January 2008.
  21. 21.0 21.1 "Russia: A Country Study: Kievan Rus' and Mongol Periods". Excerpted from Glenn E. Curtis (ed.). Washington, DC: Federal Research Division of the Library of Congress. 1998. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-09-27. สืบค้นเมื่อ 20 July 2007.{{cite web}}: CS1 maint: others (ลิงก์)
  22. Michael Prawdin; Gérard Chaliand (2005). The Mongol empire: its rise and legacy. pp. 512–550.
  23. Rein Taagepera (September 1997). "Expansion and Contraction Patterns of Large Polities: Context for Russia". International Studies Quarterly. 41 (3): 475–504. doi:10.1111/0020-8833.00053.
  24. Peter Turchin, Thomas D. Hall and Jonathan M. Adams, "East-West Orientation of Historical Empires เก็บถาวร 2007-02-22 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน", Journal of World-Systems Research Vol. 12 (no. 2), pp. 219–229 (2006).
  25. Superpower politics: change in the United States and the Soviet Union Books.Google.com
  26. Weinberg, G.L. (1995). A World at Arms: A Global History of World War II. Cambridge University Press. p. 264. ISBN 0521558794.
  27. Rozhnov, Konstantin, Who won World War II?. BBC.
  28. "Country Profile: Russia". Foreign & Commonwealth Office of the United Kingdom. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 16 October 2009. สืบค้นเมื่อ 27 December 2007.
  29. 29.0 29.1 "Status of Nuclear Powers and Their Nuclear Capabilities". Federation of American Scientists. สืบค้นเมื่อ 27 December 2007.
  30. "Commission of the Russian Federation for UNESCO: Panorama of Russia". Unesco.ru. สืบค้นเมื่อ 29 October 2010.
  31. "Country Comparison :: Natural gas – production". CIA World Factbook. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-15. สืบค้นเมื่อ 3 February 2014.
  32. "International Energy Agency – Oil Market Report" (PDF). 18 January 2012. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 18 May 2012. สืบค้นเมื่อ 11 November 2019.
  33. Ritchie, Hannah; Roser, Max (2021-02-09). "Forests and Deforestation". Our World in Data.
  34. "Online Etymology Dictionary". Etymonline.com. สืบค้นเมื่อ 2 November 2011.
  35. "Rus – definition of Rus by the Free Online Dictionary, Thesaurus and Encyclopedia". Thefreedictionary.com. สืบค้นเมื่อ 2 November 2011.
  36. Milner-Gulland, R. R. (1997). The Russians: The People of Europe. Blackwell Publishing. pp. 1–4. ISBN 978-0-631-21849-4. สืบค้นเมื่อ 15 December 2016.
  37. "Definition of Russian". Merriam-Webster. สืบค้นเมื่อ 21 September 2016.
  38. World Time Zone: Russia
  39. Library of Congress. "Topography and Drainage". สืบค้นเมื่อ 2007-12-26.
  40. 40.0 40.1 Walsh, Nick Paton. "It's Europe's lungs and home to many rare species. But to Russia it's £100bn of wood". Guardian (UK). สืบค้นเมื่อ 2009-01-17.
  41. Fish Industry of Russia — Production, Trade, Markets and Investment. Eurofish, Copenhagen, Denmark. August 2006. p. 211. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-11-23. สืบค้นเมื่อ 26 December 2007.
  42. 42.0 42.1 42.2 "The World Factbook: Russia". CIA. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-07-03. สืบค้นเมื่อ 2008-12-20.
  43. Unit, Biosafety. "Main Details". www.cbd.int (ภาษาอังกฤษ).
  44. "Russia", The World Factbook (ภาษาอังกฤษ), Central Intelligence Agency, 2022-10-04, สืบค้นเมื่อ 2022-10-13
  45. "Russia's Forests Overlooked in Climate Change Fight". Scientific American (ภาษาอังกฤษ).
  46. "REC::Biodiversity". web.archive.org. 2019-10-21. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-10-21. สืบค้นเมื่อ 2022-10-13.{{cite web}}: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์)
  47. "REC::Air". web.archive.org. 2021-05-09. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-05-09. สืบค้นเมื่อ 2022-10-13.
  48. "A Look Inside Russia's Wildest Nature Reserves—Now Turning 100". Science (ภาษาอังกฤษ). 2017-01-10.
  49. Grantham, H. S.; Duncan, A.; Evans, T. D.; Jones, K. R.; Beyer, H. L.; Schuster, R.; Walston, J.; Ray, J. C.; Robinson, J. G.; Callow, M.; Clements, T. (2020-12-08). "Anthropogenic modification of forests means only 40% of remaining forests have high ecosystem integrity". Nature Communications. 11: 5978. doi:10.1038/s41467-020-19493-3. ISSN 2041-1723. PMC 7723057. PMID 33293507.
  50. 50.0 50.1 นริศรา พลายมาศ. จักรวรรดิรัสเซียก่อนล่มสลายสู่คอมมิวนิสต์. สำนักพิมพ์ก้าวแรก. ISBN 9786167446875.
  51. 51.0 51.1 "Russian Federation" (PDF). Organisation for Economic Co-operation and Development (OECD). สืบค้นเมื่อ 24 February 2008.
  52. Sciolino, E. (21 December 1993). "U.S. is abandoning 'shock therapy' for the Russians". The New York Times. สืบค้นเมื่อ 20 January 2008.
  53. "Russia: Clawing Its Way Back to Life (international edition)". BusinessWeek. สืบค้นเมื่อ 27 December 2007.
  54. "Russia: Clawing Its Way Back to Life (international edition)". BusinessWeek. สืบค้นเมื่อ 27 December 2007.
  55. 55.0 55.1 Branko Milanovic (1998). Income, Inequality, and Poverty During the Transformation from Planned to Market Economy. The World Bank. pp. 186–189.
  56. Jason Bush (19 October 2006). "What's Behind Russia's Crime Wave?". BusinessWeek Journal.
  57. "Russia pays off USSR's entire debt, sets to become crediting country". Pravda.ru. สืบค้นเมื่อ 27 December 2007.
  58. Aslund A. "Russia's Capitalist Revolution" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 28 March 2008.
  59. Treisman, D. "Is Russia's Experiment with Democracy Over?". UCLA International Institute. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2004-11-11. สืบค้นเมื่อ 31 December 2007.
  60. Stone, N (4 December 2007). "No wonder they like Putin". The Times. UK. สืบค้นเมื่อ 31 December 2007.
  61. "Russian forces launch full-scale invasion of Ukraine". www.aljazeera.com (ภาษาอังกฤษ).
  62. "UN votes to condemn Russia's invasion of Ukraine and calls for withdrawal". the Guardian (ภาษาอังกฤษ). 2022-03-02.
  63. Walsh, Ben (2022-03-09). "The unprecedented American sanctions on Russia, explained". Vox (ภาษาอังกฤษ).
  64. "The Russian Federation is excluded from the Council of Europe". www.coe.int (ภาษาอังกฤษแบบบริติช).
  65. "UN General Assembly votes to suspend Russia from the Human Rights Council". UN News (ภาษาอังกฤษ). 2022-04-07.
  66. Landay, Jonathan (2022-09-30). "Defiant Putin proclaims Ukrainian annexation as military setback looms". Reuters (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2022-10-13.
  67. "The Constitution of the Russian Federation". (Article 80, § 1). สืบค้นเมื่อ 27 December 2007.
  68. DeRouen, Karl R.; Heo, Uk (2005). Defense and Security: A Compendium of National Armed Forces and Security Policies. ABC-CLIO. p. 666. ISBN 978-1-85109-781-4.
  69. Reiman, Michael (2016), "The USSR as the New World Superpower", About Russia, Its Revolutions, Its Development and Its Present, Peter Lang AG, pp. 169–176, ISBN 978-3-631-67136-8, สืบค้นเมื่อ 2022-10-13
  70. Hancock, Kathleen J. (April 2006). "The Semi-Sovereign State: Belarus and the Russian Neo-Empire". Foreign Policy Analysis. Oxford University Press. 2 (2) : 117–136. doi:10.1111/j.1743-8594.2006.00023.x. JSTOR 24907272. S2CID 153926665.
  71. Tamkin, Emily. "Why India and Russia Are Going to Stay Friends". Foreign Policy (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  72. Swanström, Niklas (2012). "Central Asia and Russian Relations: Breaking Out of the Russian Orbit?". Brown Journal of World Affairs. 19 (1) : 101–113. JSTOR 24590931. The Central Asian states have been dependent on Russia since they gained independence in 1991, not just in economic and energy terms, but also militarily and politically.
  73. "Ukraine cuts diplomatic ties with Russia after invasion". www.aljazeera.com (ภาษาอังกฤษ).
  74. "Overview of the major Asian Powers" (PDF). International Institute for Strategic Studies: 31. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2018-12-26. สืบค้นเมื่อ 27 January 2008.
  75. Russia pilots proud of flights to foreign shores เก็บถาวร 2011-05-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน by David Nowak. The Associated Press, 15 September 2008
  76. "US drives world military spending to record high". Australian Broadcasting Corporation. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 13 June 2006. สืบค้นเมื่อ 27 December 2007.
  77. "Russia arms exports could exceed $7 bln in 2007 – Ivanov". RIA Novosti. สืบค้นเมื่อ 27 January 2008.
  78. • Countries with the highest military spending in 2012 | Statistic
  79. Harding, Luke (9 February 2007). "Big rise in Russian military spending raises fears of new challenge to west". The Guardian. London. สืบค้นเมื่อ 6 January 2008.
  80. Shevchenko, Vitaliy (15 March 2022). "Ukraine war: Protester exposes cracks in Kremlin's war message". BBC. สืบค้นเมื่อ 3 April 2022.
  81. "Russian Federation Archives". Amnesty International (ภาษาอังกฤษ).
  82. "Russia: Growing Internet Isolation, Control, Censorship". Human Rights Watch (ภาษาอังกฤษ). 2020-06-18.
  83. "Putin's aggressive autocracy reduces Russian soft power to ashes". Financial Times. 2022-06-16. สืบค้นเมื่อ 2022-10-13.
  84. Åslund, Anders (7 May 2019). Russia's Crony Capitalism: The Path from Market Economy to Kleptocracy. Yale University Press. pp. 5–7. ISBN 978-0-300-24486-1.
  85. "2021 Corruption Perceptions Index - Explore Russia's results". Transparency.org (ภาษาอังกฤษ).
  86. "New Reports Highlight Russia's Deep-Seated Culture of Corruption". VOA (ภาษาอังกฤษ).
  87. Алферова, Екатерина (2020-10-26). "В России предложили создать должность омбудсмена по борьбе с коррупцией". Известия (ภาษารัสเซีย).
  88. https://src-h.slav.hokudai.ac.jp/sympo/03september/pdf/M_Suhara.pdf
  89. Gerber, Theodore P.; Mendelson, Sarah E. (March 2008). "Public Experiences of Police Violence and Corruption in Contemporary Russia: A Case of Predatory Policing?". Law & Society Review. Wiley. 42 (1) : 1–44. doi:10.1111/j.1540-5893.2008.00333.x. JSTOR 29734103.
  90. "Corruption at Universities is a Common Disease for Russia and Ukraine". ethics.harvard.edu (ภาษาอังกฤษ).
  91. "Corruption in the Russian Armed Forces". www.rusi.orghttps (ภาษาอังกฤษ).[ลิงก์เสีย]
  92. Glenn E. Curtis, บ.ก. (1998). "Russia – Natural Resources". Washington, D.C.: Federal Research Division of the Library of Congress. สืบค้นเมื่อ 25 June 2021.
  93. อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ cia2
  94. "Russian Federation – Unemployment Rate". Moody's Analytics. สืบค้นเมื่อ 4 April 2022.
  95. "International Reserves of the Russian Federation (End of period)". Central Bank of Russia. สืบค้นเมื่อ 21 June 2021.
  96. "Labor force – The World Factbook". Central Intelligence Agency. สืบค้นเมื่อ 16 June 2021.
  97. "List of importing markets for the product exported by Russian Federation in 2021". International Trade Centre. สืบค้นเมื่อ 27 June 2022.
  98. "List of supplying markets for the product imported by Russian Federation in 2021". International Trade Centre. สืบค้นเมื่อ 27 June 2022.
  99. "Frequently Asked Questions on Energy Security – Analysis". IEA (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 18 May 2022.
  100. Davydova, Angelina (24 November 2021). "Will Russia ever leave fossil fuels behind?". BBC. สืบค้นเมื่อ 3 March 2022. Overall in Russia, oil and gas provided 39% of the federal budget revenue and made up 60% of Russian exports in 2019.
  101. "Russian finances strong but economic problems persist". TRT World. 29 May 2020. สืบค้นเมื่อ 12 February 2022. Now Russia is one of the least indebted countries in the world – thanks to all the oil revenue.
  102. Russell, Martin (April 2018). (2018) 620225_EN.pdf "Socioeconomic inequality in Russia" (PDF). European Parliamentary Research Service. European Parliament. สืบค้นเมื่อ 25 January 2022. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่า |url= (help)
  103. Remington, Thomas F. (March 2015). "Why is interregional inequality in Russia and China not falling?". Communist and Post-Communist Studies. University of California Press. 48 (1): 1–13. doi:10.1016/j.postcomstud.2015.01.005. JSTOR 48610321.
  104. Kholodilin, Konstantin A.; Oshchepkov, Aleksey; Siliverstovs, Boriss (2012). "The Russian Regional Convergence Process: Where Is It Leading?". Eastern European Economies. Taylor & Francis. 50 (3): 5–26. doi:10.2753/EEE0012-8775500301. JSTOR 41719700. S2CID 153168354.
  105. อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ Putineconomy
  106. Likka, Korhonen (2019). "Economic Sanctions on Russia and Their Effects" (PDF). CESifo Forum. Munich: Ifo Institute for Economic Research. ISSN 2190-717X. สืบค้นเมื่อ 2 October 2022.
  107. Sonnenfeld, Jeffrey (22 March 2022). "Over 300 Companies Have Withdrawn from Russia – But Some Remain". Yale School of Management. สืบค้นเมื่อ 10 March 2022.
  108. Wadhams, Nick (8 March 2022). "Russia Is Now the World's Most-Sanctioned Nation". Bloomberg L.P. สืบค้นเมื่อ 2 October 2022. Russia has vaulted past Iran and North Korea to become the world's most-sanctioned nation in the span of just 10 days following President Vladimir Putin's invasion of Ukraine.
  109. อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ sanction1
  110. Whalen, Jeanne; Dixon, Robyn; Nakashima, Ellen; Ilyushina, Mary (23 August 2022). "Western sanctions are wounding but not yet crushing Russia's economy". The Washington Post. สืบค้นเมื่อ 2 October 2022. Russia has stopped publishing many economic statistics, making it difficult to judge how hard sanctions are hitting, but some data shows signs of distress.
  111. Martin, Nik (6 September 2022). "Is Russia's economy really hurting?". DW News. Deutsche Welle. สืบค้นเมื่อ 2 October 2022.
  112. 112.0 112.1 "Gross domestic product 2007, PPP" (PDF). The World Bank. สืบค้นเมื่อ 2008-12-20.
  113. "Russians weigh an enigma with Putin's protégé". MSNBC. สืบค้นเมื่อ 2009-01-10.
  114. "Russia's economy under Vladimir Putin: achievements and failures". RIA Novosti. สืบค้นเมื่อ 2008-05-09.
  115. "Russia's unemployment rate down 10% in 2007 - report". RIA Novosti. สืบค้นเมื่อ 2008-05-09.
  116. "Russia — Unemployment rate (%)". indexmundi.com. สืบค้นเมื่อ 2008-05-09.
  117. 117.0 117.1 Jason Bush (2006-12-07). "Russia: How Long Can The Fun Last?". BusinessWeek. สืบค้นเมื่อ 2009-01-13.
  118. Tavernise, Sabrina (23 March 2002). "Russia Imposes Flat Tax on Income, and Its Coffers Swell". The New York Times. สืบค้นเมื่อ 2007-12-27.
  119. Rabushka, Alvin. "The Flat Tax at Work in Russia: Year Three". Hoover Institution. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-01-25. สืบค้นเมื่อ 2007-12-27.
  120. "Global personal taxation comparison survey – market rankings". Mercer (consulting firms). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-04-27. สืบค้นเมื่อ 2007-12-27.
  121. "International Reserves of the Russian Federation in 2008". The Central Bank of the Russian Federation. สืบค้นเมื่อ 2008-07-30.
  122. "Russia's foreign debt down 31.3% in Q3—finance ministry". RIA Novosti. สืบค้นเมื่อ 2007-12-27.
  123. "Gross regional product by federal subjects of the Russian Federation 1998–2006". Federal State Statistics Service. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-08-27. สืบค้นเมื่อ 2008-06-30. (รัสเซีย)
  124. The City Built on Oil: EU-Russia Summit Visits Siberia's Boomtown, Spiegel
  125. 125.0 125.1 "Russia Key facts: Energy". BBC News. สืบค้นเมื่อ 2008-12-21.
  126. "Rank Order - Oil - proved reserves". CIA. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-06-13. สืบค้นเมื่อ 2008-12-21.
  127. "Rank Order - Natural gas - exports". CIA. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-01-14. สืบค้นเมื่อ 2008-12-21.
  128. "Russia Factsheet". The Economist. 2008-12-16.
  129. "Russia fixed asset investment to reach $370 bln by 2010 - Kudrin". RIA Novosti. สืบค้นเมื่อ 2007-12-27.
  130. Sauer, Natalie (2019-09-24). "Russia formally joins Paris climate pact". www.euractiv.com (ภาษาอังกฤษแบบบริติช).
  131. "Is Russia finally getting serious on climate change? | Lowy Institute". www.lowyinstitute.org.
  132. Long, Tony. "June 27, 1954: World's First Nuclear Power Plant Opens". Wired (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). ISSN 1059-1028. สืบค้นเมื่อ 2022-10-13.
  133. "Railways - The World Factbook". www.cia.gov.
  134. "Europe continues to report the world's highest Road Network Density, followed by East Asia and Pacific". World Road Statistics (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 2020-12-16.
  135. "Russia - Economy | Britannica". www.britannica.com (ภาษาอังกฤษ).
  136. "Arable land (% of land area) - Russian Federation | Data". data.worldbank.org.
  137. "System Shock: Russia's War and Global Food, Energy, and Mineral Supply Chains | Wilson Center". www.wilsoncenter.org (ภาษาอังกฤษ).
  138. "Wheat in Russia | OEC". OEC - The Observatory of Economic Complexity (ภาษาอังกฤษ).
  139. "Bloomberg - Are you a robot?". www.bloomberg.com. {{cite web}}: Cite ใช้ชื่อทั่วไป (help)
  140. Lustgarten, Abrahm (2020-12-16). "How Russia Wins the Climate Crisis". The New York Times (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). ISSN 0362-4331. สืบค้นเมื่อ 2022-10-13.
  141. "Mir Space Station". NSSDCA. NASA. สืบค้นเมื่อ 1 June 2021.
  142. "Research and development (R&D) - Gross domestic spending on R&D - OECD Data". theOECD (ภาษาอังกฤษ).
  143. "SJR - International Science Ranking". www.scimagojr.com.
  144. "Кто из российских и советских ученых и литераторов становился лауреатом Нобелевской премии - ТАСС". TACC.
  145. Usitalo, Steven A. (2011). "Lomonosov: Patronage and Reputation at the St. Petersburg Academy of Sciences". Jahrbücher für Geschichte Osteuropas. Franz Steiner Verlag. 59 (2) : 217–239. JSTOR 41302521.
  146. Leicester, Henry M. (1948). "Factors Which Led Mendeleev to the Periodic Law". Chymia. University of California Press. 1: 67–74. doi:10.2307/27757115. JSTOR 27757115.
  147. "Who Invented Radio: Guglielmo Marconi or Aleksandr Popov?". IEEE Spectrum (ภาษาอังกฤษ). 2020-04-30.
  148. Shampo, Marc A.; Kyle, Robert A.; Steensma, David P. (2012-1). "Nikolay Basov—Nobel Prize for Lasers and Masers". Mayo Clinic Proceedings. 87 (1): e3. doi:10.1016/j.mayocp.2011.11.003. ISSN 0025-6196. PMC 3498096. PMID 22212977. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)
  149. https://www.hort.purdue.edu/newcrop/pdfs/772.full.pdf
  150. Gordon, Siamon (2016-4). "Elie Metchnikoff, the Man and the Myth". Journal of Innate Immunity. 8 (3): 223–227. doi:10.1159/000443331. ISSN 1662-811X. PMC 6738810. PMID 26836137. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)
  151. Jorpes, J. Erik (1959-01-03). "Alfred Nobel". British Medical Journal. 1 (5113): 1–6. ISSN 0007-1447. PMC 1992347. PMID 13608066.
  152. "NASA - NSSDCA - Spacecraft - Details". nssdc.gsfc.nasa.gov.
  153. "The First Spacewalk". www.bbc.co.uk.
  154. Nast, Condé (2017-11-03). "Remembering Laika, Space Dog and Soviet Hero". The New Yorker (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  155. "NASA - NSSDCA - Spacecraft - Details". nssdc.gsfc.nasa.gov.
  156. "Satellite Database | Union of Concerned Scientists". www.ucsusa.org (ภาษาอังกฤษ).
  157. "UNWTO World Tourism Barometer and Statistical Annex, October 2020". www.e-unwto.org (ภาษาอังกฤษ). doi:10.18111/wtobarometereng.2020.18.1.6.
  158. "Russian Federation Contribution of travel and tourism to GDP (% of GDP), 1995-2019 - knoema.com". Knoema (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  159. Tomb, Howard (1989-08-27). "Getting to the Top In the Caucasus". The New York Times (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). ISSN 0362-4331. สืบค้นเมื่อ 2022-10-13.
  160. "Wayback Machine" (PDF). web.archive.org. 2015-01-12. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2015-02-05. สืบค้นเมื่อ 2022-10-13.
  161. Власов, Артем (2018-12-17). "Названы самые популярные достопримечательности России". Известия (ภาษารัสเซีย).
  162. Sullivan, Paul (2019-04-09). "48 hours in . . . Moscow, an insider guide to Russia's mighty metropolis". The Telegraph (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). ISSN 0307-1235. สืบค้นเมื่อ 2022-10-13.
  163. Hammer, Joshua (2011-06-03). "White Nights of St. Petersburg, Russia". The New York Times (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). ISSN 0362-4331. สืบค้นเมื่อ 2022-10-13.
  164. Centre, UNESCO World Heritage. "Kremlin and Red Square, Moscow". UNESCO World Heritage Centre (ภาษาอังกฤษ).
  165. Cities with over 1 million population Rosstat
  166. Cities with population between 500,000 and 1 million Rosstat
  167. "Russian Census of 2002". 4.1. National composition of population. Federal State Statistics Service. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-06-22. สืบค้นเมื่อ 2008-01-16.
  168. "Demographics". Federal State Statistics Service. สืบค้นเมื่อ 2008-01-15.
  169. 169.0 169.1 "Demography". Federal State Statistics Service. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-02-25. สืบค้นเมื่อ 2008-03-05.
  170. The World Factbook. "Rank Order — Birth rate". Central Intelligence Agency. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-03-10. สืบค้นเมื่อ 2007-12-27.
  171. The World Factbook. "Rank Order — Death rate". Central Intelligence Agency. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-02-28. สืบค้นเมื่อ 2007-12-27.
  172. "The incredible shrinking people". The Economist. 2008-11-27.
  173. 173.0 173.1 "Russia's birth, mortality rates to equal by 2011 - ministry". RIA Novosti. สืบค้นเมื่อ 2008-02-10.
  174. "Russian Census of 2002". 4.3. Population by nationalities and knowledge of Russian; 4.4. Spreading of knowledge of languages (except Russian). Rosstat. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 19 July 2011. สืบค้นเมื่อ 16 January 2008.
  175. "The Constitution of the Russian Federation". (Article 68, § 2). สืบค้นเมื่อ 27 December 2007.
  176. "Russian language". University of Toronto. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 6 January 2007. สืบค้นเมื่อ 27 December 2007.
  177. "Russian Language History". Foreigntranslations.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 27 July 2013. สืบค้นเมื่อ 4 May 2013.
  178. Matthias Gelbmann (19 March 2013). "Russian is now the second most used language on the web". W3Techs. Q-Success. สืบค้นเมื่อ 17 June 2013.
  179. "JAXA – My Long Mission in Space".
  180. Poser, Bill (5 May 2004). "The languages of the UN". Itre.cis.upenn.edu. สืบค้นเมื่อ 29 October 2010.
  181. "Literacy rate, adult total (% of people ages 15 and above) - Russian Federation | Data". data.worldbank.org.
  182. "Education attainment - Population with tertiary education - OECD Data". theOECD (ภาษาอังกฤษ).
  183. "Government expenditure on education, total (% of GDP) - Russian Federation | Data". data.worldbank.org.
  184. "Russia - Housing | Britannica". www.britannica.com (ภาษาอังกฤษ).
  185. Ridder-Symoens, Hilde de; Rüegg, Walter (1992). A History of the University in Europe (ภาษาอังกฤษ). Cambridge University Press. ISBN 978-0-521-54114-5.
  186. "Global Flow of Tertiary-Level Students". uis.unesco.org.
  187. "https://www.unrisd.org". UNRISD. {{cite web}}: แหล่งข้อมูลอื่นใน |title= (help)
  188. "The healthcare system in Russia". Expat Guide to Russia | Expatica (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  189. "Current health expenditure (% of GDP) - Russian Federation | Data". data.worldbank.org.
  190. Reshetnikov, Vladimir; Arsentyev, Evgeny; Bolevich, Sergey; Timofeyev, Yuriy; Jakovljević, Mihajlo (2019-5). "Analysis of the Financing of Russian Health Care over the Past 100 Years". International Journal of Environmental Research and Public Health. 16 (10): 1848. doi:10.3390/ijerph16101848. ISSN 1661-7827. PMC 6571548. PMID 31137705. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)
  191. Nuwer, Rachel (2014-02-17). "Why Russian Men Don't Live as Long". The New York Times (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). ISSN 0362-4331. สืบค้นเมื่อ 2022-10-12.
  192. "GHO | By category | Life expectancy and Healthy life expectancy - Data by country". WHO.
  193. "Mortality rate, infant (per 1,000 live births) - Russian Federation | Data". data.worldbank.org.
  194. lakunchykova, Olena; Averina, Maria; Wilsgaard, Tom; Watkins, Hugh; Malyutina, Sofia; Ragino, Yulia; Keogh, Ruth H; Kudryavtsev, Alexander V; Govorun, Vadim; Cook, Sarah; Schirmer, Henrik (2020-9). "Why does Russia have such high cardiovascular mortality rates? Comparisons of blood-based biomarkers with Norway implicate non-ischaemic cardiac damage". Journal of Epidemiology and Community Health. 74 (9): 698–704. doi:10.1136/jech-2020-213885. ISSN 0143-005X. PMC 7577103. PMID 32414935. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)
  195. Ritchie, Hannah; Roser, Max (2017-08-11). "Obesity". Our World in Data.
  196. McKee, M. (1999-11-01). "ALCOHOL IN RUSSIA". Alcohol and Alcoholism. 34 (6): 824–829. doi:10.1093/alcalc/34.6.824. ISSN 1464-3502.
  197. Lancet, The (2019-10-05). "Russia's alcohol policy: a continuing success story". The Lancet (ภาษาอังกฤษ). 394 (10205): 1205. doi:10.1016/S0140-6736(19)32265-2. ISSN 0140-6736. PMID 31591968.
  198. Shkolnikov, Vladimir M.; Churilova, Elena; Jdanov, Dmitry A.; Shalnova, Svetlana A.; Nilssen, Odd; Kudryavtsev, Alexander; Cook, Sarah; Malyutina, Sofia; McKee, Martin; Leon, David A. (2020-03-23). "Time trends in smoking in Russia in the light of recent tobacco control measures: synthesis of evidence from multiple sources". BMC Public Health. 20: 378. doi:10.1186/s12889-020-08464-4. ISSN 1471-2458. PMC 7092419. PMID 32293365.
  199. "WHO/Europe | Home". www.who.int (ภาษาอังกฤษ).
  200. Badenhausen, Kurt (8 March 2016). "How Maria Sharapova Earned $285 Million During Her Tennis Career". Forbes. สืบค้นเมื่อ 15 February 2020.
  201. Gorokhov, Vitalii Aleksandrovich (2015). "Forward Russia! Sports Mega-Events as a Venue for Building National Identity". Nationalities Papers. Cambridge University Press. 43 (2) : 278. doi:10.1080/00905992.2014.998043. S2CID 140640018.
  202. UEFA.com (2020-02-13). "EURO 1960: all you need to know". UEFA.com (ภาษาอังกฤษ).
  203. Terry, Joe (2019-11-18). "How a brilliant Zenit Saint Petersburg lifted the UEFA Cup in 2008". These Football Times (ภาษาอังกฤษแบบบริติช).
  204. Ingle, Sean (2008-06-26). "Euro 2008: Russia v Spain - as it happened". The Guardian (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). ISSN 0261-3077. สืบค้นเมื่อ 2022-10-12.
  205. "FIFA and UEFA suspend Russian national teams and clubs from all competitions "until further notice"". www.cbsnews.com (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  206. Trisvyatsky, Ilya; RBTH, special to (2013-02-14). "Bandy: A concise history of the extreme sport". Russia Beyond (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  207. Woo, Tosten Burks and Jeremy (283754). "» Follow the Bouncing Ball" (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)
  208. "Formula 1 terminates Russian GP deal". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2022-10-12.
  209. "Russian mastery in synchronized swimming yields double gold". USA TODAY (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  210. "When it comes to bread, Russians don't loaf". Christian Science Monitor. 1985-09-16. ISSN 0882-7729. สืบค้นเมื่อ 2022-10-12.
  211. "Understanding Russia's obsession with mayonnaise". the Guardian (ภาษาอังกฤษ). 2014-11-21.
  212. Nosowitz, Dan (2016-04-07). "How To Drink Vodka Like a Russian". Atlas Obscura (ภาษาอังกฤษ).
  213. Ferdman, Roberto A. (2014-02-23). "Map: Where the world's biggest vodka drinkers are". Quartz (ภาษาอังกฤษ).
  214. "Russia - Media Landscape | European Journalism Centre (EJC)". web.archive.org. 2018-03-20. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-03-20. สืบค้นเมื่อ 2022-10-13.{{cite web}}: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์)
  215. "Russia profile - Media". BBC News (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). 2021-06-08. สืบค้นเมื่อ 2022-10-13.
  216. "Russia Games Market 2018". Newzoo (ภาษาอังกฤษ). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-10-13. สืบค้นเมื่อ 2022-10-13.
  217. "EISENSTEIN, Sergei - BATTLESHIP POTEMKIN - 1925 Russia - Middlesex". www.play.mdx.ac.uk.
  218. "Where to begin with Andrei Tarkovsky". BFI (ภาษาอังกฤษ).
  219. Brown, Mike. "Sergei Eisenstein: How the "Father of Montage" Reinvented Cinema". Inverse (ภาษาอังกฤษ).
  220. Teare, Kendall (2019-08-12). "Yale film scholar on Dziga Vertov, the enigma with a movie camera". YaleNews (ภาษาอังกฤษ).
  221. "Eldar Ryazanov And His Films". RadioFreeEurope/RadioLiberty (ภาษาอังกฤษ).
  222. "Envisioning Russia - Film Society of Lincoln Center". web.archive.org. 2008-09-05. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-09-05. สืบค้นเมื่อ 2022-10-13.
  223. BNE, Ben Aris for (2019-01-18). "The Revival of Russia's Cinema Industry". The Moscow Times (ภาษาอังกฤษ).

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

Wikinews
Wikinews
วิกิข่าว มีข่าวเกี่ยวกับบทความ:
Russia
Wikiquote
Wikiquote
วิกิคำคมภาษาอังกฤษ มีคำคมที่กล่าวโดย หรือเกี่ยวกับ: Russia
รัฐบาล
อื่น ๆ