ข้ามไปเนื้อหา

ศาสนาในประเทศลาว

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระธาตุหลวงเวียงจันทน์ สถูปพุทธที่เป็นสัญลักษณ์ของชาติลาว

ศาสนาในประเทศลาว (สำนักวิจัยพิว 2558)[1]

  พุทธ (66.0%)
  ฮินดู (0.2%)
  ยูดาห์ (0.01%)
  อื่น ๆ/ไม่ระบุ (1.6%)

ศาสนาในประเทศลาวที่มีผู้นับถือมากที่สุดคือศาสนาพุทธนิกายเถรวาท โดยมีประชากรที่นับถือศาสนาถึงร้อยละ 66[2] กลุ่มชาติพันธุ์ลาวหรือ ลาว "ที่ต่ำ" (ลาวลุ่มและลาวหล่ม) เกือบทั้งหมดนับถือศาสนาพุทธนิกายเถรวาท อย่างไรก็ตาม กลุ่มเหล่านี้มีเพียงร้อยละ 40-50 ของประชากรทั้งหมด[3] ส่วนประชากรที่เหลืออยู่ในชนกลุ่มน้อยทางชาติพันธุ์จำเพาะอย่างน้อย 48 กลุ่ม[3] ส่วนใหญ่นับถือศาสนาผีที่มีความเชื่อหลากหลายไปตามกลุ่ม[3]

ศาสนาผีเป็นศาสนาหลักของกลุ่มชนชาวไททางเหนือ เช่น ไทดำและไทแดง เช่นเดียวกันกับกลุ่มชนมอญ-เขมรและทิเบต-พม่า[3] แม้แต่ในบรรดาลาวที่ต่ำ ความเชื่อ "ผี" ก่อนการมาของศาสนาพุทธหลายอย่าง ถูกรวมเข้ากับแนวปฏิบัติของศาสนาพุทธนิกายเถรวาท[3] ศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกและโปรเตสแตนต์มีผู้นับถือเพียงประมาณร้อยละ 2 ของประชากรทั้งหมด[3] ศาสนาขนาดเล็กอื่น ๆ ได้แก่ศาสนาบาไฮ, อิสลาม, พุทธนิกายมหายาน และลัทธิขงจื๊อ[3] โดยมีจำนวนพลเมืองที่เป็นอเทวนิยมหรืออไญยนิยมน้อยมาก[3]

ถึงแม้ว่ารัฐบาลห้ามชาวต่างชาติเข้ามาเปลี่ยนศาสนา ชาวต่างชาติที่พำนักอาศัยบางคนที่มีความเกี่ยวข้องกับธุรกิจเอกชนหรือองค์กรพัฒนาเอกชนทำกิจกรรมทางศาสนาอย่างเงียบ ๆ[3] แนวลาวส้างซาดมีหน้าที่ดูแลกิจการศาสนาภายในประเทศ และองค์กรทางศาสนาทุกแห่งในประเทศลาวต้องจดทะเบียนกับองค์กรนี้[4]

ศาสนาพุทธ

[แก้]
วัดในพระราชวังหลวงในหลวงพระบาง

ศาสนาพุทธนิกายเถรวาทเป็นศาสนาที่มีผู้นับถือมากที่สุดในลาว มีวัดทั่วประเทศราว 5,000 วัด ชายลาวที่นับถือศาสนาพุทธจะบวชเป็นพระภิกษุในช่วงเวลาหนึ่งของชีวิต มีพระภิกษุในประเทศราว 22,000 รูป และเป็นพระภิกษุชั้นผู้ใหญ่ราว ๆ 9,000 รูป มีสตรีที่บวชเป็นแม่ชี พระภิกษุส่วนใหญ่ในลาวเป็นมหานิกายหลัง พ.ศ. 2518 แต่ก็ยังมีที่เป็นธรรมยุติกนิกายอยู่บ้างเป็นส่วนน้อย ส่วนใหญ่จะอยู่ในเวียงจันทน์

พระธาตุหลวงเวียงจันทน์ซึ่งเป็นพระเจดีย์แบบลาวจัดเป็นสถานที่ที่สำคัญทางพุทธศาสนาในลาว และมีงานฉลองในเดือนพฤศจิกายน วัดของศาสนาพุทธนิกายมหายานในลาวเป็นของชาวเวียดนาม 2 แห่ง ชาวจีน 2 แห่ง

ประวัติศาสตร์

[แก้]

คาดว่าศาสนาพุทธเข้าสู่ประเทศลาวเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 13 โดยผ่านมาทางมอญและได้แพร่หลายไปจนทั่วประเทศในราวพุทธศตวรรษที่ 19 กษัตริย์ลาวทรงให้การสนับสนุนพุทธศาสนา ในอดีตพระสงฆ์ในลาวมีบทบาทด้านการให้การศึกษาแก่ประชาชน แต่หมดบทบาทไปเมื่อฝรั่งเศสจัดการศึกษาแบบตะวันตกขึ้น จนกระทั่งญี่ปุ่นเข้ามาในลาว มีการจัดตั้งขบวนการชาตินิยมลาวโดยใช้พุทธศาสนาเป็นศูนย์กลาง วัดมีบทบาทในการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องเอกราช[5]

ตั้งแต่ พ.ศ. 2493 เป็นต้นมา ขบวนการประเทศลาวพยายามนำพระสงฆ์มาอยู่ฝ่ายซ้าย ในขณะที่รัฐบาลราชอาณาจักรลาวก็พยายามควบคุมพระสงฆ์ หลังจากที่มีการสถาปนาสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ได้มีการเปรียบเทียบคำสอนในพุทธศาสนากับลัทธิมาร์กซิสม์[5] พระสงฆ์บางส่วนถูกส่งไปค่ายสัมมนา พระสงฆ์บางส่วนลาสิกขาและหนีมาประเทศไทย การบวชพระและเณรลดลง วัดว่างเปล่ามากขึ้น

สถานการณ์ของพุทธศาสนาดีขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ. 2522 โดยนโยบายของรัฐบาลให้อิสระมากขึ้น จำนวนพระสงฆ์มากขึ้น การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจหลัง พ.ศ. 2523 ทำให้การควบคุมทางการเมืองผ่อนคลาย การเฉลิมฉลองทางพุทธศาสนาเพิ่มขึ้น รวมทั้งงานฉลองพระธาตุหลวงที่จัดขึ้นอีกครั้งใน พ.ศ. 2529 หลังจากถูกห้ามไปนาน

ศาสนาผี

[แก้]

ศาสนาผีมีอิทธิพลต่อชาวลาวทุกกลุ่ม แม้แต่ชาวลาวลุ่มที่นับถือพุทธศาสนา แต่ก็นับถือผีควบคู่ไปด้วย เช่น ความเชื่อเรื่องขวัญ มนุษย์จะมีขวัญประจำตัว เมื่อขวัญออกจากร่างกายจะต้องทำพิธิสู่ขวัญ ศาสนาของชาวลาวเทิงและชาวลาวสูงหลายเผ่าเป็นการนับถือผี ทั้งในธรรมชาติและผีบรรพบุรุษ อาการเจ็บไข้ได้ป่วยจะเกี่ยวข้องกับการกระทำของผี

ศาสนาคริสต์

[แก้]
อาสนวิหารพระหฤทัย นครเวียงจันทน์

ศาสนาคริสต์เป็นศาสนาของชนกลุ่มน้อยในลาว นิกายที่พบได้แก่โรมันคาทอลิกและโปรเตสแตนต์ เช่น คริสตจักรสายประกาศข่าวประเสริฐลาว และคริสตจักรเซเวนต์เดย์แอดเวนทิสต์ เป็นต้น

คริสตชนนิกายโรมันคาทอลิกมีประมาณ 45,000 คน ส่วนใหญ่เป็นชาวญวน อยู่ในเขตเมืองหลักและบริเวณรอบ ๆ แม่น้ำโขง ทางภาคกลางและภาคใต้ ส่วนในภาคเหนือมีผู้นับถือศาสนาคริสต์จำนวนน้อย คริสตชนนิกายโปรเตสแตนต์มีน้อยแต่กำลังเพิ่มจำนวนขึ้น คาดว่ามีประมาณ 100,000 คน คริสตจักรเพรสไบทีเรียน มักเป็นชนเผ่าที่พูดภาษาในกลุ่มมอญ-เขมร โดยเฉพาะชาวขมุทางภาคเหนือและชาวบรูทางภาคกลาง และกำลังเพิ่มจำนวนในหมู่ชาวม้งและชาวเย้า ผู้นับถือนิกายโปรเตสแตนต์พบในเวียงจันทน์ ไชยบุรี หลวงพระบาง เชียงขวาง บอลิคำไซ สุวรรณเขต จำปาศักดิ์ และอัตตะปือ

ศาสนาอิสลาม

[แก้]

มีมุสลิมน้อยมากในลาวคิดเป็นร้อยละ 0.01 ของประชากรทั้งหมด[6] ส่วนใหญ่พบในเวียงจันทน์ซึ่งมีมัสยิดเป็นของตนเอง มีมุสลิมที่เป็นชาวจามบางส่วนอพยพหนีภัยในยุคเขมรแดงจากกัมพูชามาสู่ลาว[7]

ศาสนาบาไฮ

[แก้]

ศาสนาบาไฮเริ่มเข้าสู่ลาวเมื่อ พ.ศ. 2498[8] มีกลุ่มชนที่นับถือศาสนานี้ราว 8000 คน ในเวียงจันทน์ เมืองไกสอนพมวิหาร และปากเซ

อื่น ๆ

[แก้]
ปราสาทวัดภูซึ่งสร้างในสมัยจักรวรรดิเขมรในลาวใต้ เดิมใช้ในการบูชาพระศิวะแต่ต่อมาเปลี่ยนเป็นวัดในพุทธศาสนา

ดินแดนบางส่วนของลาวเคยเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิเขมร และยังคงมีโบสถ์พราหมณ์เหลืออยู่ ในเมืองใหญ่มีกลุ่มคนที่นับถือลัทธิเต๋าและลัทธิขงจื๊อ

อ้างอิง

[แก้]
  1. https://assets.pewresearch.org/wp-content/uploads/sites/11/2012/12/globalReligion-tables.pdf [bare URL PDF]
  2. Pew Research Center 2015
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 3.5 3.6 3.7 3.8 "Laos". International Religious Freedom Report 2007. U.S. Department of State. 2007. สืบค้นเมื่อ October 26, 2021. บทความนี้รวมเอาเนื้อความจากแหล่งอ้างอิงนี้ ซึ่งเป็นสาธารณสมบัติ{{cite web}}: CS1 maint: postscript (ลิงก์) CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  4. USCIRF Annual Report 2009 - The Commission's Watch List: Laos เก็บถาวร 2012-10-10 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  5. 5.0 5.1 ทวีวัฒน์ ปุณฑริกวิวัฒน์. พุทธศาสนากับสังคมการเมืองในอุษาคเนย์ ใน อุษาคเนย์ที่รัก. สุเจน กรรพฤทธิ์ และ สิทธา เลิศไพบูลย์ศิริ, บก. กทม. คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. 2553
  6. “2008 Report on International Religious Freedom,” Bureau of Democracy, Human Rights, and Labor, Under Secretary for Democracy and Global Affairs, United States Department of State, September 2008.
  7. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-09-28. สืบค้นเมื่อ 2013-01-16.
  8. `Abdu'l-Bahá (1991). Tablets of the Divine Plan (Paperback ed.). Wilmette, Illinois, USA: Bahá'í Publishing Trust. pp. 40–42. ISBN 0-87743-233-3. {{cite book}}: ไม่รู้จักพารามิเตอร์ |origdate= ถูกละเว้น แนะนำ (|orig-date=) (help)

ข้อมูล

[แก้]