การบินไทย
![]() | ลิงก์ข้ามภาษาในบทความนี้ มีไว้ให้ผู้อ่านและผู้ร่วมแก้ไขบทความศึกษาเพิ่มเติมโดยสะดวก เนื่องจากวิกิพีเดียภาษาไทยยังไม่มีบทความดังกล่าว กระนั้น ควรรีบสร้างเป็นบทความโดยเร็วที่สุด |
![]() | ||||
| ||||
ก่อตั้ง | 29 มีนาคม พ.ศ. 2503 | |||
---|---|---|---|---|
เริ่มดำเนินงาน | 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2503 (60 ปี) | |||
ท่าหลัก | ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานดอนเมือง | |||
เมืองสำคัญ | ท่าอากาศยานเชียงใหม่ ท่าอากาศยานภูเก็ต ท่าอากาศยานนานาชาติกระบี่ ท่าอากาศยานนานาชาติอินช็อน | |||
สะสมไมล์ | รอยัลออร์คิดพลัส (ROP) | |||
ห้องรับรอง | รอยัลเฟิร์สต์เลาจน์ รอยัลซิลค์เลาจน์ รอยัลออคิดเลาจน์ รอยัลออคิดสปา | |||
พันธมิตรการบิน | แปซิฟิคสตาร์อัลไลแอนซ์ | |||
ขนาดฝูงบิน | 81 (ไม่รวมไทยสมายล์) | |||
จุดหมาย | 62 (ไม่รวม การบินไทยสมายล์) | |||
บริษัทแม่ | กระทรวงการคลัง[1] | |||
สำนักงานใหญ่ | ![]() | |||
บุคลากรหลัก | พลอากาศเอก ชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน (ประธานกรรมการ) พลอากาศเอก ชาญยุทธ ศิริธรรมกุล (รองประธานกรรมการ) ชาญศิลป์ ตรีนุชกร (รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่) จักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล (รองประธานกรรมการ) | |||
เว็บไซต์ | www.thaiairways.com |
บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) (อังกฤษ: Thai Airways International Public Company Limited; ชื่อย่อ: ไทย, THAI) เป็นบริษัทฯ มหาชน จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ดำเนินธุรกิจการบินพาณิชย์ในฐานะสายการบินประจำชาติ ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2503[2] โดยปฏิบัติการบินจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเป็นหลัก ทั้งนี้ การบินไทยยังได้ร่วมก่อตั้งกลุ่มพันธมิตรการบิน แปซิฟิคสตาร์อัลไลแอนซ์ เคยเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในสายการบินนกแอร์[3] และเปิดตัวสายการบินลูก ไทยสมายล์ อีกด้วย
ณ เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2561 การบินไทยได้ให้บริการการบินไปยังท่าอากาศยานทั้งหมด 62 แห่งใน 32 ประเทศ และประเทศไทย แบ่งเป็นต่างประเทศ 59 สนามบิน ในประเทศไทย 4 สนามบิน ครอบคลุม 3 ทวีปทั่วโลก จากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ด้วยฝูงบินกว่า 81 ลำ การบินไทยเป็นสายการบินลำดับต้นในเอเชีย ที่ทำการบินในเส้นทางกรุงเทพ – ลอนดอน (ท่าอากาศยานฮีทโธรว์)[4]
นอกจากนี้ การบินไทยได้รับรางวัลยอดเยี่ยมจากองค์การอนามัยโลกว่าด้วยสุขอนามัยบนเครื่องบินและรางวัลชั้นประหยัดที่ดีที่สุดในโลก (World's Best Economy Class) ในปี พ.ศ. 2561, พ.ศ. 2560 อีกด้วย[5]
ประวัติ[แก้]
วันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2502 รัฐบาลไทยดำเนินการให้ บริษัท เดินอากาศไทย จำกัด (อังกฤษ: Thai Airways Company Limited; ชื่อย่อ: บดท.; TAC) กับสายการบินสแกนดิเนเวียน (อังกฤษ: Scandinavian Airlines System; ชื่อย่อ: SAS) ทำสัญญาร่วมทุนระหว่างกัน ต่อมาในวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2503 บริษัท การบินไทย จำกัด ได้จดทะเบียนจัดตั้งขึ้นด้วยทุนประเดิม 2 ล้านบาท เพื่อดำเนินธุรกิจสายการบินระหว่างประเทศ มีเที่ยวบินปฐมฤกษ์ไปยังฮ่องกงเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม ปีเดียวกัน
วันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2520 SAS คืนหุ้นให้เดินอากาศไทย หลังจากครบระยะเวลาตามสัญญาร่วมทุน แล้วโอนหุ้นให้แก่กระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ตามมติคณะรัฐมนตรี
วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2531 เดินอากาศไทยซึ่งดำเนินธุรกิจสายการบินภายในประเทศได้รวมกิจการเข้ากับการบินไทย เพื่อให้สายการบินแห่งชาติเป็นหนึ่งเดียวตามมติคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ จากนั้นในวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2534 การบินไทยได้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยตามมติคณะรัฐมนตรี และจดทะเบียนแปลงสภาพเป็นบริษัทมหาชนจำกัดเมื่อปี พ.ศ. 2537[6]
วันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2540 การบินไทย ร่วมกับสายการบินลุฟต์ฮันซา, แอร์แคนาดา, เอสเอเอส, และ ยูไนเต็ดแอร์ไลน์ ก่อตั้งสตาร์อัลไลแอนซ์ ซึ่งเป็นพันธมิตรการบินแห่งแรก
วันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2556 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้การบินไทย ดำเนินโครงการลงทุนจัดตั้งสายการบินไทยสมายล์ โดยจัดตั้ง บริษัท ไทยสมายล์แอร์เวย์ จำกัด เป็นบริษัทย่อยในเครือการบินไทย และถือหุ้นทั้งหมด โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้สายการบินไทยสมายล์เป็นสายการบินภูมิภาค มีเครือข่ายการเชื่อมต่อผู้โดยสารทั้งในและต่างประเทศ ทั้งนี้ เนื่องจากการบินไทยในขณะนั้น มีกระทรวงการคลังถือหุ้นร้อยละ 51.03 และมีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจ จึงทำให้บริษัทไทยสมายล์มีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจด้วย[7]
![]() |
วิกิซอร์ซ มีงานต้นฉบับเกี่ยวกับ: |
วันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 กระทรวงการคลังจำหน่ายหุ้นจนมีสัดส่วนถือหุ้นทั้งหมดเหลือร้อยละ 47.86 ทำให้บริษัทฯ หลุดพ้นสภาพการเป็นรัฐวิสาหกิจ[8] นอกจากนี้ ในวันที่ 25 พฤษภาคม คณะกรรมการบริษัทการบินไทยฯ ได้มีมติแต่งตั้งให้พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค, บุญทักษ์ หวังเจริญ, ไพรินทร์ ชูโชติถาวร และปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ดำรงตำแหน่งกรรมการบริษัทฯ แทนกรรมการเดิม[9] ไม่กี่วันถัดมา ไพรินทร์ลาออกเพราะเพิ่งพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีจึงไม่เหมาะสมต่อการรักษาธรรมาภิบาลของบริษัท และขัดต่อกฎหมายของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ[10]
ด้วยปัญหาขาดทุนสะสม และวิกฤตโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้ร้องขอให้ศาล ได้พิจารณาฟื้นฟูกิจการ โดยวันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2563 ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้การบินไทยดำเนินการฟื้นฟูกิจการตามที่บริษัทร้องขอ และได้เห็นสมควรให้บริษัท อีวาย คอร์ปอเรทแอดไวซอรี่ เซอร์วิสเซส จำกัด รวมถึงกรรมการบริษัทอีก 6 คน ประกอบด้วย พล.อ.อ.ชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน, นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล. นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค, นายบุญทักษ์ หวังเจริญ, นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ และชาญศิลป์ ตรีนุชกร เป็นผู้ดำเนินการฟื้นฟูกิจการตามที่การบินไทยเสนอ
ข้อมูลบริษัท[แก้]
ผู้ถือหุ้นรายใหญ่[แก้]
- จำนวนผู้ถือหุ้นทั้งหมด: 111,697 ข้อมูล ณ วันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2563[11]
ลำดับที่ | รายชื่อผู้ถือหุ้น | จำนวนหุ้นสามัญ | สัดส่วนการถือหุ้น |
1 | กระทรวงการคลัง | 1,044,737,191 | 47.86% |
2 | กองทุนรวมวายุภักษ์ 1 โดย บลจ.เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) | 186,513,817 | 8.54% |
3 | กองทุนรวมวายุภักษ์ 1 โดย บลจ.กรุงไทย จำกัด (มหาชน) | 186,513,817 | 8.54% |
4 | บริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด | 56,069,382 | 2.57% |
5 | ธนาคารออมสิน | 46,409,885 | 2.13% |
6 | นาย ทรงศักดิ์ จิตเจือจุน | 42,159,900 | 1.93% |
7 | SOUTH EAST ASIA UK (TYPE C) NOMINEES LIMITED | 23,195,271 | 1.06% |
8 | นาย ธนาธิป วิวัฒนกิจเจริญ | 20,000,900 | 0.92% |
9 | นาย วิชัย คณาธนะวนิชย์ | 13,225,500 | 0.61% |
สำนักงาน[แก้]
สำนักงานการบินไทยในกรุงเทพมหานครแห่งแรก เป็นห้องแถวสามชั้น เลขที่ 1101 ริมถนนเจริญกรุง ซึ่งอยู่ฝั่งตรงกันข้ามเยื้องกับไปรษณีย์กลางบางรัก [12] อันเป็นศูนย์รวมธุรกิจในยุคนั้น เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ลูกค้า ซึ่งส่วนมากเป็นนักธุรกิจและชาวต่างชาติ ต่อมาในปี พ.ศ. 2513 การบินไทยเช่าอาคารเลขที่ 1043 ถนนพหลโยธิน ติดกับซอยลือชา (ซอยพหลโยธิน 3) บริเวณสนามเป้าเป็นสำนักงาน[13] โดยเมื่อปี พ.ศ. 2522 การบินไทยจัดซื้อที่ดินริมถนนวิภาวดีรังสิต เพื่อเป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ และก่อสร้างอาคารหลังแรกขนาด 5 ชั้น ซึ่งเริ่มใช้ปฏิบัติงานเมื่อปี พ.ศ. 2523[14] หลังจากนั้นจึงมีโครงการสร้างอาคารถาวร จนกระทั่งแล้วเสร็จสมบูรณ์ในปี พ.ศ. 2532 ปัจจุบัน สำนักงานการบินไทย มีสำนักงานอยู่ 2 แห่ง คือสำนักงานใหญ่ถนนวิภาวดีรังสิต และ สำนักงานถนนหลานหลวง ซึ่งเป็นที่ตั้งเดิมของเดินอากาศไทยก่อนการควบรวมกิจการ
เมื่อปี พ.ศ. 2506 การบินไทยเปิดสำนักงานสาขาในต่างประเทศที่กรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก เป็นแห่งแรก ในปี พ.ศ. 2553 สำนักงานสาขาในต่างประเทศของการบินไทย มีทั้งหมด 76 สาขาใน 38 ประเทศ ครอบคลุมทั้ง 5 ทวีป ส่วนศูนย์ซ่อมเครื่องบินของการบินไทย มีอยู่สองแห่งคือ ภายในบริเวณท่าอากาศยานดอนเมือง กรุงเทพมหานคร และภายในบริเวณท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา จังหวัดระยอง
ผลประกอบการ[แก้]
ในปี พ.ศ. 2556 ถึง พ.ศ. 2558 การบินไทยมีผลประกอบการขาดทุน การบินไทยมีผลประกอบการกำไรอีกครั้งในปี พ.ศ. 2559 โดยมีกำไรสุทธิ 15.14 ล้านบาท[15]
2553 | 2554 | 2555 | 2556 | 2557 | 2558 | 2559 | 2560 | |
---|---|---|---|---|---|---|---|---|
รายได้ (ล้านบาท) | 184,270 | 194,342 | 216,743 | 207,711 | 203,889 | 192,591 | 181,446 | 191,946 |
กำไร/ขาดทุน สุทธิ (ล้านบาท) | 14,744 | −10,197 | 6,229 | −12,047 | −15,612 | −13,068 | 15 | −2,072 |
จำนวนพนักงาน (คน) | 25,884 | 25,848 | 25,412 | 25,323 | 24,952 | 22,864 | 21,998 | 22,370 |
จำนวนผู้โดยสาร (ล้านคน) | 18.2 | 18.4 | 20.6 | 21.5 | 19.1 | 21.2 | 22.2 | 24.6 |
อัตราเปลี่ยนแปลงของผู้โดยสาร | ![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
![]() | |
อัตราการบรรทุกผู้โดยสาร (%) | 73.6 | 70.4 | 76.6 | 74.1 | 68.9 | 72.9 | 73.4 | 79.2 |
จำนวนอากาศยาน (ณ สิ้นปี) | 90 | 89 | 95 | 100 | 102 | 95 | 95 | 100 |
อ้างอิง | [16] | [16] | [17] | [18][17] | [18][17] |
บริษัทร่วมทุน[แก้]
![]() | เนื้อหาในบทความนี้ล้าสมัย โปรดปรับปรุงข้อมูลให้เป็นไปตามเหตุการณ์ปัจจุบันหรือล่าสุด ดูหน้าอภิปรายประกอบ |
การบินไทยเคยถือหุ้นอยู่ในสายการบินนกแอร์อยู่ 49% นับเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่อันดับหนึ่ง[19] ในปี พ.ศ. 2560 นกแอร์ได้เสนอขายหุ้นเพิ่มทุนให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมของบริษัท การบินไทยตัดสินใจไม่ซื้อหุ้นเพิ่ม และสัดส่วนหุ้นนกแอร์ที่ถือโดยการบินไทยลดลงจากเดิม 39.2% เหลือ 21.57% (29 พฤษภาคม พ.ศ. 2560)[20]
นอกจากนั้นบริษัทการบินไทยยังมีบริษัทย่อยดังต่อไปนี้[21]
- บริษัท ไทย-อะมาดิอุส เซาท์อีสต์เอเชีย จำกัด ถือหุ้นร้อยละ 55
- บริษัท วิงสแปน เซอร์วิสเซส จำกัด ถือหุ้นร้อยละ 49
- บริษัท ไทยไฟลท์เทรนนิ่ง จำกัด ถือหุ้นร้อยละ 49
- บริษัท ทัวร์เอื้องหลวง จำกัด ถือหุ้นร้อยละ 49
- บริษัท ดอนเมือง อินเตอร์เนชั่นแนล แอร์พอร์ต โฮเต็ล จำกัด ถือหุ้นร้อยละ 40
- บริษัท ครัวการบินภูเก็ต จำกัด ถือหุ้นร้อยละ 30
- บริษัท โรงแรมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จำกัด ถือหุ้นร้อยละ 30
- บริษัท โรงแรม รอยัลออคิด (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ถือหุ้นร้อยละ 24
- บริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ถือหุ้นร้อยละ 22.59
การบินไทยคาร์โก[แก้]
บริษัทการบินไทยเคยทำกิจการขนส่งเฉพาะสินค้า โดยมีเครื่องบินขนส่งสินค้าเป็นของบริษัทเองในช่วง ปี พ.ศ. 2522 ถึง พ.ศ. 2526 ด้วยเครื่องบิน Douglas DC-8-62F ทะเบียน HS-TGS
และในระหว่างวันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2555 - 27 มีนาคม พ.ศ. 2558 ทำการบินโดย B747-400BCF ทะเบียน HS-TGH และ HS-THJ เส้นทางบินได้แก่ทางกรุงเทพแวะเชนไนไปอัมสเตอร์ดัม TG898 กรุงเทพแวะไฮเดอราบัดสิ้นสุดที่แฟรงเฟิร์ต TG890 กรุงเทพแวะไฮเดอราบัดสิ้นสุดที่แฟรงเฟิร์ต TG894 กรุงเทพไปซิดนีย์ TG865 กรุงเทพไปนะริตะ TG862 นะริตะไปเทเปกลับกรุงเทพ TG863 เส้นทางจาก แฟรงเฟิร์ต แวะ เซี่ยเหมิน สิ้นสุดที่ กรุงเทพ TG897[22]
นอกเหนือจากนั้นเป็นเครื่องบินที่บริษัทเช่าทำการบินโดยสายการบินอื่น อีก 3 ลำ ได้แก่เครื่องบินทะเบียน N552MC ใช้บินระหว่าง พ.ศ. 2539 ถึง พ.ศ. 2542 เครื่องบินทะเบียน N774SA N775SA ใช้ในปี พ.ศ. 2553 ถึง พ.ศ. 2554 รวมการบินไทยเคยทำการบินเฉพาะขนส่งสินค้าทั้งหมด 6 ลำ
ครัวการบินไทย[แก้]
ครัวการบินไทย (อังกฤษ: THAI Catering Service) เริ่มดำเนินกิจการเมื่อวันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2503 โดยเช่าโรงซ่อมบำรุงรักษาเครื่องบิน และอาคารเล็กอย่างละหนึ่งหลัง ภายในบริเวณท่าอากาศยานกรุงเทพ ที่ดอนเมืองเป็นแห่งแรก เพื่อทำการผลิตและให้บริการอาหารชนิดต่าง ๆ สำหรับสายการบินไทย และสายการบินอื่นอีกมากกว่า 50 สายการบิน[23]
สำนักงานของครัวการบินไทย มีสองแห่งคือ อาคารขนาดใหญ่บนพื้นที่ 90,000 ตารางเมตร ภายในบริเวณท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ ซึ่งใช้เทคโนโลยีการผลิตอันทันสมัย เพื่อผลิตอาหารสำหรับรองรับในส่วนของสายการบินไทย และคำสั่งจากลูกค้าทุกสายการบิน โดยปัจจุบันมีกำลังการผลิตอาหารจำนวนมากกว่า 87,000 มื้อต่อวัน ส่วนสำนักงานอีกแห่งหนึ่ง ตั้งอยู่ภายในบริเวณท่าอากาศยานดอนเมือง เพื่อสนับสนุนการกลับมาเปิดดำเนินการบินอีกครั้ง ตลอดจนรองรับความต้องการของเที่ยวบินภายในประเทศ รวมทั้งกิจการภาคพื้นดินอย่างการผลิตขนมอบ (Bakery) และการจัดเลี้ยงต่าง ๆ [23] โดยมีศักยภาพผลิตอาหารได้สูงสุด 49,000 มื้อต่อวัน
ครัวการบินไทยมีผลงานที่สำคัญคือ เป็นผู้ดำเนินการผลิตและให้บริการอาหารและเครื่องดื่ม แก่นักกีฬาและเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง ในการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ครั้งที่ 13 เมื่อปี พ.ศ. 2541, เฟสปิกเกมส์ครั้งที่ 7 เมื่อปี พ.ศ. 2542 และกีฬามหาวิทยาลัยโลกฤดูร้อนครั้งที่ 24 เมื่อปี พ.ศ. 2550 ที่กรุงเทพมหานคร รวมถึงในงานไอฉิเอ็กซโป (Aichi Expo) เมื่อปี พ.ศ. 2548 ที่ประเทศญี่ปุ่นด้วย[23]
ภัตตาคารเยลโล ออร์คิด[แก้]
ภัตตาคารเยลโล ออร์คิด (อังกฤษ: Yellow Orchid Restaurant) เปิดให้บริการเป็นแห่งแรก ภายในท่าอากาศยานดอนเมือง เมื่อปี พ.ศ. 2515 และเริ่มให้บริการสาขาแรก ภายในท่าอากาศยานเชียงใหม่ เมื่อปี พ.ศ. 2529
พัฟแอนด์พาย[แก้]
ร้านขนมอบพัฟแอนด์พาย (อังกฤษ: Puff & Pie Bakery House) ก่อตั้งขึ้นราวปลายปี พ.ศ. 2538 โดยครัวการบินไทย และเริ่มเปิดทำการเป็นแห่งแรก เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2540 บริเวณหน้าอาคารรักคุณเท่าฟ้า ด้วยวัตถุประสงค์เพื่อสร้างรายได้เพิ่ม ตลอดจนบริหารบุคลากรและอุปกรณ์ที่มีอยู่ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เนื่องจากครัวการบินไทยต้องสูญเสียรายได้ จากการบริการอาหารบนเครื่องบิน (Uplift) เนื่องจาก บมจ.การบินไทย มีนโยบายงดให้บริการอาหาร บนเที่ยวบินที่ไม่ตรงเวลาอาหาร ดังนั้นจึงทดลองเปิดขายขนมชนิดต่าง ๆ ปรากฏว่าได้รับความนิยมจากลูกค้าอย่างรวดเร็ว เป็นผลให้ครัวการบินไทยมีรายได้เพิ่ม เกินกว่าเป้าหมายที่กำหนด จึงเพิ่มความสำคัญอย่างจริงจัง โดยมีเป้าหมายในการสร้างรายได้ จากกิจการพัฟแอนด์พาย ให้เป็นรายได้หลักอีกทางหนึ่ง นอกเหนือจากงานจัดเลี้ยง รวมถึงจากการผลิตและบริการอาหารบนเที่ยวบิน
ดังนั้น ครัวการบินไทยจึงดำเนินการขยายสาขาของร้านพัฟแอนด์พาย โดยแผนระยะแรก จะเปิดขายในพื้นที่ของ บมจ.การบินไทยก่อน เพื่อเป็นสวัสดิการของพนักงาน ทว่าต่อมาได้รับการเรียกร้องจากลูกค้าภายนอก ให้ขยายสาขาเพิ่มขึ้นในที่ต่าง ๆ เพื่อความสามารถในการให้บริการอย่างทั่วถึง ครัวการบินไทยจึงพิจารณาขยายสาขา ในสถานที่ราชการและรัฐวิสาหกิจอื่น ตลอดจนร้านพัฟแอนด์พายเฉพาะกิจ ภายในศูนย์การค้าและงานแสดงสินค้าต่าง ๆ ซึ่งได้รับความนิยมจากลูกค้าเป็นอย่างมากและต่อเนื่อง ครัวการบินไทยจึงพิจารณาขยายตลาด โดยเปิดโครงการ Puff & Pie Whole Sales โดยให้บุคคลภายนอกที่สนใจกิจการ เข้าร่วมประกอบธุรกิจในชื่อ "Puff & Pie Supreme Bakery Delight" ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2550 เป็นต้นมา
สำหรับรูปแบบของร้านพัฟแอนด์พายส่วนมาก จะสร้างเป็นร้านค้าขนาดเล็ก (Kiosk) มีหลังคาผ้าใบสีขาวและเหลืองเป็นสัญลักษณ์ จำหน่ายอาหารไทย อาหารจีน และอาหารฝรั่งชนิดปรุงสำเร็จ ในชื่อผลิตภัณฑ์ซื้อกลับบ้าน (Take Home) รวมทั้งผลิตภัณฑ์เอื้องหลวง ที่ฝ่ายผลิตและบริการภาคพื้นเป็นผู้ผลิต วางจำหน่ายร่วมด้วย[24]
จุดหมายปลายทาง[แก้]
เส้นทางบินที่ไกลที่สุด 10 อันดับแรก ได้แก่
- ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ไปกลับ ท่าอากาศยานนานาชาติจอห์น เอฟ. เคนเนดี TG790/TG791
- ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ไปกลับ ท่าอากาศยานนานาชาติลอสแอนเจลิส TG794/TG795
- ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ไปกลับ ท่าอากาศยานนานาชาติมาดริดบาราคัส TG948/TG949
- ท่าอากาศยานนานาชาติไต้หวันเถา-ยฺเหวียน ไปกลับ ซีแอตเทิล TG762/TG763
- ท่าอากาศยานนานาชาติอินช็อน ไปกลับ ท่าอากาศยานนานาชาติลอสแอนเจลิส TG692/693 (เดิมคือ ท่าอากาศยานนานาชาติคิมโพไปกลับท่าอากาศยานนานาชาติลอสแอนเจลิส)[25]
- ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ไปกลับ ท่าอากาศยานลอนดอนฮีทโธรว์ TG910/TG911 (เดิมคือ ท่าอากาศยานดอนเมืองไปกลับท่าอากาศยานลอนดอนฮีทโธรว์)
- ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ไปกลับ ท่าอากาศยานนานาชาติออกแลนด์ TG491/492
- ท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต ไปกลับ ท่าอากาศยานนานาชาติแฟรงก์เฟิร์ต TG926/927
- ท่าอากาศยานนานาชาติคันไซ ไปกลับ ท่าอากาศยานนานาชาติลอสแอนเจลิส TG694/695
- ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ไปกลับ ท่าอากาศยานนานาชาติโออาร์ แทมโบ TG991/992
โดยทุกเส้นทางทำการบินมากกว่า 9,000 กิโลเมตร
ข้อตกลงการทำการบินร่วม[แก้]
การบินไทยทำข้อตกลงการทำการบินร่วม กับสายการบินต่าง ๆ ดังต่อไปนี้:
- แอโรสวิตแอร์ไลน์ระหว่างประเทศยูเครน (กรุงเทพมหานคร-เคียฟ)
- แอร์แคนาดา (SA) ระหว่างประเทศแคนาดา (แวนคูเวอร์-โตเกียว/ฮ่องกง) (โทรอนโต-แฟรงก์เฟิร์ต/ลอนดอน/ซูริก/ฮ่องกง/โตเกียว) (มอนทรีออล-แฟรงก์เฟิร์ต/ลอนดอน)
- แอร์มาดากัสการ์ ระหว่างประเทศไทยกับเรอูว์นียง (กรุงเทพมหานคร-แซง-เดอนี เรอูว์นียง) ระหว่างประเทศมาดากัสการ์กับเรอูว์นียง (อันตานานารีโว-แซงเดอนี เรอูว์นียง)
- ออลนิปปอนแอร์เวย์ (SA) ภายในประเทศญี่ปุ่น (โอซะกะ-ซัปโปะโระ+) (ฟุกุโอะกะ/โอซะกะ-โตเกียวฮะเนะดะ-นีงาตะ), (โตเกียวนะริตะ-ซัปโปะโระ) ระหว่างญี่ปุ่นกับอเมริกา (โตเกียวนะริตะ-นิวยอร์ก/วอชิงตัน/ชิคาโก/แซนแฟรนซิสโก/ลอสแอนเจลิส) ระหว่างประเทศไทยกับญี่ปุ่น (กรุงเทพ-โตเกียวฮะเนะดะ)
- แอร์นิปปอนเน็ทเวิร์ก (SA) ภายในประเทศญี่ปุ่น (ซัปโปะโระ-โอซะกะ+) (นะโงะยะ-เซ็นได/ฟุกุโอะกะ) (โอซะกะ-โอะกินะวะ)
- แอร์นิวซีแลนด์ (SA) ภายในประเทศนิวซีแลนด์ (ออกแลนด์-เวลลิงตัน/ไครสต์เชิร์ช) ระหว่างประเทศนิวซีแลนด์ (ออกแลนด์-บริสเบน/เมลเบิร์น/ฮ่องกง) (ไครสต์เชิร์ช-บริสเบน/ซิดนีย์/เมลเบิร์น) ระหว่างประเทศออสเตรเลีย (ซิดนีย์-เวลลิงตัน/ออกแลนด์) (เพิร์ท-ออกแลนด์+)
- แอร์เจแปน (SA) ระหว่างญี่ปุ่นกับสหรัฐอเมริกา (โตเกียวนะริตะ-โฮโนลูลู) ระหว่างกรุงเทพกับญี่ปุ่น (กรุงเทพ-โตเกียวนะริตะ)
- เอเชียนาแอร์ไลน์ (SA) รหว่างประเทศเกาหลีใต้ (กรุงเทพมหานคร-โซล, ภูเก็ต-โซล) ภายในประเทศเกาหลี (ปูซาน-โซล)
- ออสเตรียนแอร์ไลน์ (SA) ระหว่างประเทศออสเตรีย (เวียนนา-ซูริก/แฟรงก์เฟิร์ต/กรุงเทพ)
- บางกอกแอร์เวย์ ระหว่างประเทศมัลดีฟส์ (กรุงเทพมหานคร-มาเล)
- บีเอ็มไอ (SA) ภายในประเทศอังกฤษ (ลอนดอน-เอดิบะระ/กลาสโกว์/แมนเชสเตอร์ /เบลฟาสต์) ระหว่างประเทศอังกฤษ (ลอนดอน-ดับลิน)
- บูลวัน (SA) ระหว่างประเทศฟินแลนด์ (เฮลซิงกิ-ซูริก/สต็อกโฮล์ม/โคเปนเฮเกน) ระหว่างประเทศสวีเดน (ตุรกุ-สต็อกโฮล์ม) (สต็อกโฮล์ม-ตัมเปเร/วาซา)
- ไชน่าแอร์ไลน์ ระหว่างประเทศจีน (กรุงเทพมหานคร-เกาซง)
- ไชน่าอีสเทิร์นแอร์ไลน์ ระหว่างประเทศจีน (กรุงเทพมหานคร-เซี่ยงไฮ้)
- ไชนาเซาเทิร์นแอร์ไลน์ ระหว่างประเทศจีน (กรุงเทพมหานคร-ปักกิ่ง)
- อียิปต์แอร์ (SA) ระหว่างประเทศอียิปต์ (กรุงเทพมหานคร-ไคโร)
- เอลอัล อิสราเอลแอร์ไลน์ ระหว่างประเทศอิสราเอล (กรุงเทพมหานคร-เทลอาวีฟ ยาโฟ)
- เอมิเรตส์ ระหว่างสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (กรุงเทพมหานคร-ดูไบ)
- กัลฟ์แอร์ ระหว่างประเทศบาห์เรน (กรุงเทพมหานคร-บาห์เรน)
- เจแปนแอร์ไลน์ (OW) ภายในประเทศญี่ปุ่น (โอะกินะวะ-นะโงะยะ/โอซะกะ) (นะโงะยะ/โอซะกะ/ฟุกุโอะกะ-ซัปโปะโระ) ระหว่างประเทศญี่ปุ่น (กรุงเทพมหานคร-โอซากา)
- เจแปนทรานสโอเชียนแอร์ (OW) ภายในประเทศญี่ปุ่น (โอะกินะวะ-โอซะกะ+)
- ลุฟต์ฮันซา (SA) ภายในประเทศจากแฟรงก์เฟิร์ต (แฟรงก์เฟิร์ต-เบอร์ลิน/ดัสเซลดอร์ฟ/ฮัมเบิร์ก/ฮันโนเฟอร์/มิวนิก/นูเรมเบิร์ก/ชตุทท์การ์ท)
- ระหว่างประเทศจากแฟรงก์เฟิร์ต (แฟรงก์เฟิร์ต-อัมสเตอร์ดัม/บูดาเปสต์/บรัสเซลส์/ปราก/เวียนนา/วอร์ซอ/เจนีวา/ลิสบอน/บาร์เซโลนา)
- ระหว่างแฟรงก์เฟิร์ตกับอเมริกา (แฟรงก์เฟิร์ต-แอตแลนตา/ชิคาโก/แดลลัส-ฟอร์ตเวิร์ธ/ไมอามี/นิวยอร์ก/วอชิงตัน)
- ภายในประเทศจากมิวนิก (มิวนิก-เบอร์ลิน/โคโลญ/ดัสเซลดอร์ฟ/ฮัมเบิร์ก/ฮันโนเฟอร์)
- ระหว่างประเทศจากมิวนิก (มิวนิก-อัมสเตอร์ดัม/บรัสเซลส์/บูดาเปสต์)
- มาเลเซียแอร์ไลน์ ระหว่างประเทศมาเลเซีย (กัวลาลัมเปอร์-กรุงเทพมหานคร/ภูเก็ต)
- นกแอร์ ภายในประเทศไทย (ดอนเมือง-แม่ฮ่องสอน)
- ปากีสถานอินเตอร์เนชันแนลแอร์ไลน์ ระหว่างประเทศปากีสถาน (กรุงเทพมหานคร-อิสลามาบาด)
- รอยัลบรูไนแอร์ไลน์ ระหว่างประเทศบรูไน (กรุงเทพมหานคร-บันดาร์เซอรีเบอกาวัน)
- SAS (SA) ระหว่างประเทศนอร์เวย์ (สตาวังเงร์-โคเปนเฮเกน) ภายในประเทศนอร์เวย์ (ออสโล-เบอร์เกน/เฮาเกซุนต์/คริสเตียนซานต์/สตาวังเงร์/ทรอนด์เฮม)
- ระหว่างประเทศเดนมาร์ก (โคเปนเฮเกน-กอเทนเบิร์ก/ออสโล/เบอร์เกน/คริสเตียนซานต์/แฟรงก์เฟิร์ต/อัมสเตอร์ดัม/แมนเชสเตอร์/ฮัมเบิร์ก) ภายในประเทศเดนมาร์ก (โคเปนเฮเกน-ออฮุส/อัลบอร์ก)
- ระหว่างประเทศสวีเดน (สต็อกโฮล์ม-ทรอนด์เฮม/ออสโล/อัมสเตอร์ดัม/โคเปนเฮเกน/แฟรงก์เฟิร์ต/ลอนดอน/แมนเชสเตอร์) ภายในประเทศสวีเดน (สต็อกโฮล์ม-กอเทนเบิร์ก/คาลมาร์/อูเมียว/ลูเลียว)
- สเปนแอร์ (SA) ภายในประเทศสเปน (มาดริด-ปาลมาส เดอ มายอร์กา) (บิลบาโอ-มาดริด) (วาเลนเซีย-มาดริด+)
- สวิสอินเตอร์เนชันแนลแอร์ไลน์ (SA) ระหว่างประเทศสวิตเซอร์แลนด์ (กรุงเทพมหานคร-ซูริก)
- เตอร์กิชแอร์ไลน์ (SA) กรุงเทพฯ-อิสตันบูล
- ตัปปูร์ตูกัล (SA) ระหว่างประเทศโปรตุเกส (ลิสบอน-ซูริก/แฟรงก์เฟิร์ต/มาดริด)
- ไทโรเลี่ยน แอร์เวย์ (SA) ระหว่างประเทศออสเตรีย (แฟรงก์เฟิร์ต-ซาลซ์บูร์ก) (เวียนนา-มิวนิก) ภายในประเทศออสเตรีย (เวียนนา-กราซ/อินส์บรุค/ลินซ์/ซาลซ์บูร์ก/คลาเกนฟูร์ท)
- ยูไนเต็ดแอร์ไลน์ (SA) ภายในสหรัฐอเมริกา (ลอสแอนเจลิส-เดนเวอร์ /นิวยอร์ก/ ซานฟานซิสโก /วอชิงตัน/ชิคาโก) ระหว่างสหรัฐอเมริกา (ชิคาโก-ลอนดอน, โตเกียว-ชิคาโก/แซนแฟรนซิสโก)
(SA) = Star Alliance Member (OW) = One World member + = มีเฉพาะขาไปเท่านั้น
ภาพลักษณ์[แก้]
การบินไทยเป็นหนึ่งในไม่กี่สายการบินที่มีระเบียบการเปลี่ยนเครื่องแบบในตลอดการเดินทาง โดยพนักงานต้อนรับหญิงประจำเที่ยวบินระหว่างประเทศจะต้องเปลี่ยนเครื่องแบบจากชุดสูทสีม่วง (สำหรับแต่งกายนอกห้องโดยสาร) เป็นชุดไทยประเพณี (เห็นได้จากโฆษณาของสายการบิน) ขณะต้อนรับผู้โดยสารที่ขึ้นเครื่องบิน และต้องเปลี่ยนกลับเป็นชุดสูทเมื่อนำผู้โดยสารออกจากเครื่องบิน เว็บไซต์อาสค์เมนจัดอันดับ สุดยอดแอร์โฮสเตทสาวที่ฮอทที่สุด 10 สายการบินทั่วโลก โดยการบินไทยได้อันดับที่ 7 เว็บไซต์อาร์คเมนส์ ให้เหตุผลว่า พนักงานต้อนรับหญิงบนเครื่องบินดูดีในชุดเครื่องแบบโทนสีม่วง-ทอง รูปร่างหน้าตาสวยงาม การบริการระหว่างการเดินทางดี นอกจากนี้ยังยิ้มแย้มแจ่มใส เป็นมิตรและมารยาทงามอีกด้วย[26]นอกจากนี้ การบินไทยยังถูกจัดให้เป็นสายการบินที่ดีที่สุด ลำดับ 5 ของโลก[27]การบินไทยเป็นสายการบินที่คำนึงถึงสุขภาพผู้โดยสารเป็นสำคัญ โดยที่ผ่านมาการบินไทยได้นำเครื่องลงจอดฉุกเฉินที่ท่าอากาศยานนะฮะ[28]
อย่างไรก็ตามเป็นที่ยอมรับ[29]ว่าการบินไทยมีการแทรกแซงจากผู้มีอำนาจทางการเมืองโดยข้อเท็จจริงการบินไทยมีกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ 17 คน (นับถึงปี พ.ศ. 2559) [30]
ตราสัญลักษณ์[แก้]
เมื่อวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2503 การบินไทยเปิดตัวตราสัญลักษณ์แบบแรก เป็นภาพตุ๊กตารำไทยซึ่งออกแบบโดย หม่อมเจ้าไกรสิงห์ วุฒิไชย นักออกแบบที่มีชื่อเสียงในสมัยนั้น ซึ่งเป็นผู้ออกเครื่องแบบพนักงานต้อนรับชุดแรกด้วย ต่อมาในปี พ.ศ. 2515 การบินไทยจัดจ้างวอลเตอร์ แลนเดอร์ แอนด์ แอสโซซิเอทส์ (อังกฤษ: Walter Landor & Associates) บริษัทโฆษณาระดับโลก ให้ออกแบบตราสัญลักษณ์ใหม่[31]
จากนั้นราวปลายปี พ.ศ. 2517 คณะผู้แทนการบินไทยเดินทางไปพิจารณาเลือกแบบ ซึ่งคณะผู้ออกแบบนำเสนอกว่าสิบภาพ โดยภาพดอกบัวโดดเด่นที่สุด เนื่องจากมีสีสันกลมกลืนสดใส แต่มีผู้แทนคนหนึ่งเห็นว่า การบินไทยใช้ชื่อบริการว่าเอื้องหลวง หากใช้สัญลักษณ์ดอกบัวก็เป็นการขัดกัน จึงเสนอแนะแก่คณะผู้ออกแบบไว้[31] ซึ่งต่อมาในวันที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2520 เดินอากาศไทยนำภาพดอกบัวดังกล่าว มาใช้เป็นตราสัญลักษณ์ใหม่ แทนภาพช้างเอราวัณสามเศียรอยู่กลางตราอาร์ม สองข้างซ้ายขวาประกอบด้วยภาพปีกนกซ้อนทับบนปีกเครื่องบิน
โดยในปีถัดมา (พ.ศ. 2518) คณะผู้ออกแบบพยายามดัดแปลงแก้ไขจากแบบที่เลือกไว้แล้ว จึงได้แบบที่คณะผู้แทนการบินไทยเห็นชอบเป็นเอกฉันท์ จึงนำมาใช้เป็นตราสัญลักษณ์ใหม่ ซึ่งคณะผู้ออกแบบอธิบายว่าเป็นภาพใบเสมา ซึ่งพบเห็นทั่วไปในประเทศไทย โดยจับวางตะแคงข้าง เพื่อต้องการสื่อถึงความเร็ว เนื่องจากนำมาใช้กับสายการบิน สำหรับสีทองมาจากแสงอร่ามของวัดวาอารามไทย สีม่วงสดมาจากกล้วยไม้ ดอกไม้สัญลักษณ์ของการบินไทย ส่วนสีชมพูมาจากดอกบัว[31]
ทั้งนี้ มักใช้ประกอบกับตัวอักษรชื่อ "ไทย" หรือ "Thai" ตามรูปแบบเดียวกับที่ประกอบอยู่ในตราสัญลักษณ์ใหม่ของเดินอากาศไทย สำหรับตราสัญลักษณ์นี้มักมีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า มีความคล้ายคลึงกับลักษณะของดอกรักเสียมากกว่า ผิดแต่เพียงสีที่แท้จริงของดอกรักเป็นขาว โดยตราสัญลักษณ์ดังกล่าวใช้มาถึง 30 ปี จนกระทั่ง พ.ศ. 2548 การบินไทยจัดจ้าง ห้างหุ้นส่วนอินเตอร์แบรนด์ (อังกฤษ: Interbrand Partnership) เป็นผู้ออกแบบลวดลายภายนอกตัวเครื่องบิน พร้อมทั้งเปลี่ยนแปลงสีสันภายในตราสัญลักษณ์ให้สดใสขึ้นกว่าเดิม และปรับปรุงตัวอักษรชื่อที่ประกอบอยู่กับตราสัญลักษณ์ โดยออกแบบขึ้นใหม่ และใช้อักษรอังกฤษตัวพิมพ์ใหญ่ทั้งหมด[31]
คำขวัญ[แก้]
คำขวัญภาษาไทยของการบินไทยคือ รักคุณเท่าฟ้า ปรากฏเป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2521 เป็นชื่อใหม่ของวารสารภายใน ซึ่งเปลี่ยนจากเดิมคือ ข่าวการบินไทย (เริ่มเมื่อ พ.ศ. 2519) โดยวลีดังกล่าวมีที่มาจาก วิถีชีวิตของชาวไทย ดังที่พ่อแม่มักตั้งคำถามกับลูกว่า รักพ่อแม่แค่ไหน แล้วลูกก็มักตอบว่า "รักพ่อแม่เท่าฟ้า" ซึ่งสื่อความหมายถึงความรักที่กว้างใหญ่ไพศาลไปสุดขอบฟ้า จึงนำมาใช้เชิงเปรียบเทียบกับบริการของการบินไทย ทั้งนี้ คำขวัญของการบินไทยดังกล่าว เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายในประเทศไทย จากผลงานเพลงชื่อเดียวกัน ของวงดนตรีเพื่อชีวิต คาราบาว ซึ่งเผยแพร่เป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2528 ส่วนคำขวัญภาษาอังกฤษใช้ว่า Smooth as Silk ซึ่งแปลเป็นภาษาไทยได้ว่า นุ่มละมุนดุจแพรไหม มีชื่อเสียงมาจากเพลงชื่อเดียวกัน ที่กระจายเสียงภายในเครื่องก่อนเริ่มเที่ยวบิน และที่นำมาใช้ประกอบรายการ การบินไทยไขจักรวาล
ฝูงบิน[แก้]
ในวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2557 การบินไทยทำการบินด้วยฝูงบิน 102 ลำ โดยรวมการบินไทยสมายล์ มากที่สุดนับตั้งแต่ก่อตั้ง บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และ บริษัท การบินไทยสมายล์ จำกัด
หากไม่รวมการบินไทยสมายล์ การบินไทยทำการบินด้วยฝูงบินสูงสุด 91 ลำ ในวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2555[32]
ณ วันที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2561 การบินไทยทำการบินทั้งหมด 83 ลำ เมื่อรวมสายการบินไทยสมายล์ ฝูงบินทั้งหมด 103 ลำ
การจัดหา/ปลดระวาง[แก้]
ณ วันที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2560 อายุเฉลี่ยของฝูงบินของการบินไทยอยู่ที่ 9.3 ปี[33]
การบินไทยปลดระวาง Boeing 747-400 6 ลำ และปรับปรุงที่นั่งในชั้นทุกชั้น จำนวน 12 ลำ จะปลดระวางระหว่าง พ.ศ. 2555-2556
ปลดระวาง A300-600 15 ลำ บินครั้งสุดท้าย 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2557
ปลดระวาง Boeing 737-400 10 ลำ จะปลดระวางระหว่าง พ.ศ. 2558-2561 บินครั้งสุดท้าย 2 กันยายน พ.ศ. 2561
ปลดระวาง ATR72-201 2 ลำ ปลดระวางลำแรก เดือน มีนาคม พ.ศ. 2549 ลำที่สอง เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2552
ปลดระว่าง A330-322 12 ลำทั้งหมดใน เดือน สิงหาคม ปี พ.ศ. 2560
จอดเครื่องรอขาย A340-500 4 ลำ จอดเครื่องรอขาย A340-600 6 ลำ บินครั้งสุดท้าย เดือนมีนาคม พ.ศ. 2558
การบินไทยปลดระวาง B747-400BCF 2 ลำในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2558
การบินไทยสั่งซื้อเครื่องบินแอร์บัส เอ 380 จำนวน 6 ลำ ซึ่งจะส่งมอบตั้งแต่ พ.ศ. 2555-2556
จัดหาเข้าประจำการ A330-343X 15 ลำ มาครบแล้วเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2556
B777-300ER สั่งซื้อ 6 ลำ กำหนดมอบส่งครบทุกลำเมื่อ กันยายน พ.ศ. 2558
A350-900 ซื้อ 4 ลำ กำหนดมอบส่งครบ พ.ศ. 2559-2560
A350-900 พ.ศ. 2559-2560 เช่าซื้อ 8 ลำโดยแบ่งเป็น 6 ลำ เช่าซื้อจาก (ALAFCO) ส่งมอบ พ.ศ. 2559 และ 2 ลำ เช่าซื้อจาก (CIT) ส่งมอบ พ.ศ. 2560
B787-8 เช่าซื้อ 6 ลำ มาครบแล้วในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2558
B787-9 เช่าซื้อ 2 ลำ ได้มาครบในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2560
วันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563 การบินไทยประกาศขายเครื่องบินเพิ่มเติม 22 ลำ ประกอบด้วย B777-200 6 ลำ (HS-TJA, HS-TJB, HS-TJC, HS-TJD, HS-TJG, HS-TJH) / B777-300 6 ลำ (HS-TKA, HS-TKB, HS-TKC, HS-TKD, HS-TKE, HS-TKF) / B747-400 10 ลำ (HS-TGA, HS-TGB, HS-TGF, HS-TGG, HS-TGO, HS-TGP, HS-TGW, HS-TGX, HS-TGY, HS-TGZ) ถือเป็นการปลดประจำการฝูงบิน Boeing 747 และในรุ่น Boeing 777 เหลือเพียงรุ่น ER (Extended Range) เท่านั้น การประกาศขายเครื่องบินในครั้งนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการฟื้นฟูกิจการ
วันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2563 การบินไทยประกาศขายเครื่องบินเพิ่มเติมอีก 8 ลำ ประกอบด้วย B777-200ER 6 ลำ แต่ละลำมีอายุประมาณ 14 ปี (HS-TJR, HS-TJS, HS-TJT, HS-TJU, HS-TJV, HS-TJW) และ A380 2 ลำ (HS-TUE, HS-TUF) ที่มีอายุเพียง 7 ปี รวมถึงประกาศขายเครื่องฝึกบิน (simulator) 4 เครื่อง (AB6, 737, 747, A333) และอะไหล่อีกด้วย ทั้งนี้การบินไทยได้เช่าเครื่องบิน B777-300ER เพิ่มเติมอีก 3 ลำ (รหัส 77V) ทะเบียน HS-TTA, HS-TTB และ HS-TTC จาก BOC Aviation เมื่อรวมกับเครื่องในประจำการ (รหัส 77W และ 77B) การบินไทยจะมีฝูงบิน B777 17 ลำ โดยเครื่องที่จัดหาใหม่นี้จะให้บริการในเที่ยวบินยุโรปและออสเตรเลีย โดยมีที่นั่งชั้นหนึ่งให้บริการด้วย
ฝูงบินในประวัติศาสตร์[แก้]
เครื่องบิน | ทั้งหมด | ปีที่เริ่มใช้ | ปีที่ปลดประจำการ | หมายเหตุ |
---|---|---|---|---|
เอทีอาร์ 42-320 | 2 | พ.ศ. 2533 | พ.ศ. 2541 | |
เอทีอาร์ 72-201 | 2 | พ.ศ. 2533 | พ.ศ. 2552 | |
แอร์บัส เอ 300B4 | 14 | พ.ศ. 2520 | พ.ศ. 2541 | |
แอร์บัส เอ 300-600R | 21 | พ.ศ. 2528 | พ.ศ. 2557 | |
แอร์บัส เอ 310-200 | 2 | พ.ศ. 2531 | พ.ศ. 2544 | โอนย้ายจากเดินอากาศไทย |
แอร์บัส เอ 310-300 | 2 | พ.ศ. 2533 | พ.ศ. 2536 | |
แอร์บัส เอ 320-200 | 5 | พ.ศ. 2557 | พ.ศ. 2559 | ทั้งหมดได้โอนไปยังการบินไทยสมายล์ |
แอร์บัส เอ 340-500 | 4 | พ.ศ. 2548 | พ.ศ. 2555 | เครื่องบินหนึ่งลำที่จำหน่ายให้กับกองทัพอากาศไทย |
แอร์บัส เอ 340-600 | 6 | พ.ศ. 2548 | พ.ศ. 2558 | |
โบอิ้ง 737-200 | 3 | พ.ศ. 2531 | พ.ศ. 2536 | โอนย้ายจากเดินอากาศไทย |
โบอิ้ง 737-400 | 10 | พ.ศ. 2533 | พ.ศ. 2561 | |
โบอิ้ง 747-200B | 6 | พ.ศ. 2522 | พ.ศ. 2540 | |
โบอิ้ง 747-200SF | 1 | พ.ศ. 2539 | พ.ศ. 2542 | |
โบอิ้ง 747-300 | 2 | พ.ศ. 2530 | พ.ศ. 2550 | |
โบอิ้ง 747-400BCF | 2 | พ.ศ. 2555 | พ.ศ. 2558 | HS-TGJ ขายให้กับ Terra Avia (ER-BAG) |
โบอิ้ง 777F | 2 | พ.ศ. 2553 | พ.ศ. 2555 | |
บีเออี 146-100 | 1 | พ.ศ. 2532 | พ.ศ. 2534 | |
บีเออี 146-200 | 1 | พ.ศ. 2532 | พ.ศ. 2533 | |
บีเออี 146-300 | 9 | พ.ศ. 2532 | พ.ศ. 2541 | |
บอมบาร์ดิเอร์ ชาเลนเจอร์ CL-601-3A-ER | 1 | พ.ศ. 2534 | ไม่ทราบ | |
คอนแวร์ 990 โคโรนาโด | 1 | พ.ศ. 2505 | ไม่ทราบ | ดำเนินการโดยสแกนดิเนเวียนแอร์ไลน์ |
ดักลาส ดีซี-8-33 | 7 | พ.ศ. 2513 | พ.ศ. 2521 | |
ดักลาส ดีซี-8-63 | 3 | พ.ศ. 2517 | พ.ศ. 2527 | |
ดักลาส ดีซี-8-60F | 5 | พ.ศ. 2520 | พ.ศ. 2528 | |
Hawker Siddeley HS-748-243 | 6 | พ.ศ. 2507 | พ.ศ. 2530 | |
แมคดอนเนลล์ ดักลาส ดีซี-9-41 | 2 | พ.ศ. 2513 | พ.ศ. 2515 | |
แมคดอนเนลล์ ดักลาส ดีซี-10-30 | 6 | พ.ศ. 2518 | พ.ศ. 2530 | |
แมคดอนเนลล์ ดักลาส ดีซี-10-30ER | 3 | พ.ศ. 2530 | พ.ศ. 2541 | |
แมคดอนเนลล์ ดักลาส เอ็มดี-11 | 4 | พ.ศ. 2534 | พ.ศ. 2548 | |
ซัด เอวิเอชั่น SE-210 คาราเวล III | 5 | พ.ศ. 2507 | ไม่ทราบ |
บริการในห้องโดยสาร[แก้]
การบินไทยแบ่งการให้บริการภายในห้องโดยสาร ออกเป็น 4 ระดับ ได้แก่
รอยัลเฟิร์สคลาส (ชั้นหนึ่ง)[แก้]
ที่นั่งชั้นหนึ่งของการบินไทยสามารถปรับเอนนอนได้ 180 องศา ประกอบไปด้วยอุปกรณ์อำนวยความสะดวกต่าง ๆ เช่น ระบบนวดผ่อนคลาย, ไฟอ่านหนังสือ, ปลั๊กไฟส่วนตัว (VAC) 115 โวลต์, จอภาพส่วนตัวขนาด 10.4 นิ้วพร้อมระบบความบันเทิงส่วนตัวผู้โดยสาร ในชั้นรอยัลเฟิร์สคลาสนี้สามารถเลือกเมนูอาหาร จากเมนูต่าง ๆ ทั้ง 22 รายการก่อนขึ้นเครื่องได้อีกด้วย[34]
ส่วนเครื่องบินแอร์บัส เอ 380-800 ที่นั่งโดยสารถูกออกแบบให้เป็นห้องพักผ่อนส่วนตัว มีความห่างระหว่างแถว 83 นิ้ว ความกว้างที่นั่ง 26.5 นิ้ว สามารถปรับเอนนอนเป็นแนวราบได้ถึง 180 องศาและติดตั้งอุปกรณ์สาระบันเทิงอย่างครบครันด้วยจอภาพ AVOD ระบบสัมผัสขนาด 23 นิ้ว ติดตั้งระบบ Wi-Fi อินเทอร์เน็ตสามารถเชื่อมต่อโทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์สื่อสารได้ทุกชนิด พร้อมปลั๊กไฟส่วนตัวสำหรับคอมพิวเตอร์วางตักไว้บริการผู้โดยสาร นอกจากนี้การบินไทยยังติดตั้งห้องน้ำที่มีขนาดใหญ่เป็น 2 เท่าของห้องน้ำปกติ โดยออกแบบให้มีพื้นที่ส่วนตัวสำหรับให้ผู้โดยสารชั้นหนึ่งแต่งตัวได้อย่างสะดวกสบายด้วยเช่นกัน[35]
ปัจจุบันการบินไทยติดตั้งที่นั่งชั้นรอยัลเฟิร์สคลาสในเครื่องบิน 14 ลำดังต่อไปนี้
- เครื่องบินแอร์บัส เอ 380-841 จำนวน 6 ลำให้บริการเที่ยวบินระหว่างเส้นทางกรุงเทพ – ฮ่องกง, โตเกียว, แฟรงก์เฟิร์ต, ลอนดอน, โอซะกะ และปารีส
- เครื่องบินโบอิง 747-400 จำนวน 8 ลำในรหัส B74R และ B74N โดยจะให้บริการระหว่างเส้นทางกรุงเทพ – โอซะกะ, มิวนิก, ซิดนีย์, โตเกียว ฮาเนดะ, ฮ่องกง, มิลาน
สำหรับเที่ยวบินภายในประเทศ ที่นั่งชั้นหนึ่งจะขายในราคาแบบที่นั่งชั้นธุรกิจสามารถเลือกนั่งได้ด้วยโดยจะบริการเฉพาะเส้นทาง กรุงเทพ – เชียงใหม่ และภูเก็ต เท่านั้น ในเครื่องบินแบบ B74R B74N
รอยัลซิลค์ (ชั้นธุรกิจ)[แก้]
เปิดตัวครั้งแรกพร้อมกับแอร์บัส A340-500 มาในลักษณะแบบเปลือกหอย มีการติดตั้งชั้นธุรกิจนี้ในเครื่องบินโบอิง B747-400, 777-300, 777-200, 777-200ER, 777-300ER ความห่างระหว่างที่นั้ง 60-62 นิ้ว และความกว้างของที่นั่ง 20-21.5 นิ้ว สามารถปรับเอนได้สูงสุดถึง 170 องศา ในทุก ๆ ที่นั่งจะมีระบบนวด.โทรทัศน์ส่วนตัวระบบสัมผัส 10.4 และ 15 นิ้ว (ในเก้าอี้แบบใหม่) สามารถปรับเอนนอนเป็นแนวราบได้ถึง 180 องศา และยังมีที่นั่งแบบใหม่ที่ถูกติดตั้งบนแอร์บัส เอ 380 และโบอิง 777-300ER โดยจอ IFE มีขนาดใหญ่ถึง 17 นิ้ว และติดตั้งเข็มขัดนิรภัยแบบคาดผ่านเอว นอกจากนี้บนเครื่องบินแอร์บัส เอ 380 ยังมีรอยัลซิลค์ บาร์บริการอาหารและเครื่องดื่มอีกด้วย
อนึ่ง A330-300 รุ่นใหม่จะมีการปรับเปลี่ยนชั้นธุรกิจเป็นแบบใหม่จะมีในรุ่นแบบ A330 และ A33H ในเครื่องบินแบบ A330-343E มีบริการทั้งหมด 15 ลำแบ่งเป็น A330 8 ลำ A33H 7 ลำ ให้บริการในทวีปเอเซีย
ชั้นประหยัด[แก้]
ขนาดที่นั่งในชั้นประหยัดของการบินไทย มีขนาดใหญ่ถึง 36 นิ้ว ต่างจากโดยทั่วไปที่มีขนาด 34 นิ้ว โดยแถวที่นั่งจะถูกจัดวางในรูปแบบดังต่อไปนี้
- แบบ 3-4-3 ในเครื่องบินโบอิง 747-400 และแอร์บัส เอ 380-841 (ชั้นล่าง)
- แบบ 3-3-3 ในเครื่องบินโบอิง 787-9, 787-8, 777-200, 777-200ER, 777-300, และ 777-300ER
- แบบ 2-4-2 ในเครื่องบินแอร์บัส เอ 330-343, เอ 380-841 (ชั้นบน)
ทุกที่นั่งในชั้นประหยัดบนเครื่องบิน แอร์บัส A330-300 8 ลำ, โบอิง B777-200, โบอิง B777-200ER, โบอิง B777-300, โบอิง B747-400 6 ลำจะถูกติดตั้งระบบมัลติมีเดีย (AVOD) หน้าจอระบบสัมผัส 9 นิ้ว ในทุกที่นั่ง แอร์บัส A33H 7 ลำ, A380-800 6 ลำ, โบอิง B747-400 6 ลำ, โบอิง B777-300ER จะถูกติดตั้งระบบมัลติมีเดีย (AVOD) ระบบปฏิบัติการ Panasonic eX2 หน้าจอระบบสัมผัส 10.6 นิ้ว และเครื่องบินแบบ โบอิง B787-8 จะถูกติดตั้งระบบมัลติมีเดีย (AVOD) ระบบปฏิบัติการ Panasonic eX3 หน้าจอระบบสัมผัส 11 นิ้ว
นิตยสารประจำเที่ยวบิน[แก้]
นิตยสารประจำเที่ยวบิน (Inflight Magazine) ของการบินไทย มีชื่อว่า "สวัสดี " (อังกฤษ: Sawasdee) ออกเป็นฉบับปฐมฤกษ์เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2514 เนื้อหาส่วนมากนำเสนอบทความสารคดี ว่าด้วยความเป็นไทย โดยเฉพาะประเพณีและวัฒนธรรม ที่เขียนขึ้นใหม่โดยเฉพาะเป็นภาษาอังกฤษทั้งฉบับ มิได้นำบทความที่เคยตีพิมพ์ในนิตยสารอื่นมาลงซ้ำ นอกจากนั้น ยังมีภาพประกอบที่สวยงามโดดเด่นอีกด้วย
นิตยสารประจำเที่ยวบินของเดินอากาศไทย มีชื่อว่า "กินรี " (อังกฤษ: Kinnaree) ออกเป็นฉบับปฐมฤกษ์เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2527 เนื้อหาส่วนมากนำเสนอบทความสารคดี ว่าด้วยสารบันเทิงปกิณกะ โดยเฉพาะความเป็นไทย ประเพณีและวัฒนธรรมไทย ซึ่งเขียนขึ้นใหม่โดยเฉพาะเป็นภาษาไทยทั้งฉบับ อนึ่ง ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2531 กินรีออกฉบับพิเศษ "41 ปี เดินอากาศไทย" ก่อนที่จะรวมกิจการเข้ากับการบินไทย ในวันที่ 1 เมษายนด้วย
หลังจากนั้น การบินไทยจึงเป็นเจ้าของนิตยสารทั้งสองฉบับ โดยสวัสดียังคงเป็นนิตยสารประจำเที่ยวบินระหว่างประเทศ และกินรีกลายเป็นนิตยสารประจำเที่ยวบินภายในประเทศ จนกระทั่งในเดือนเมษายน พ.ศ. 2552 มีการเปลี่ยนแปลงให้นิตยสารสวัสดี ตีพิมพ์เป็นสองภาษาควบคู่กัน โดยให้บริการทั้งเที่ยวบินระหว่างประเทศและภายในประเทศ ส่วนนิตยสารกินรี การบินไทยขายกิจการไปให้กับธนาคารกรุงเทพ เพื่อใช้เป็นชื่อนิตยสารสำหรับลูกค้าธนาคารที่เป็นสมาชิก
อุบัติการณ์และอุบัติเหตุ[แก้]
การบินไทยมีอุบัติการณ์มากกว่าอุบัติเหตุ ซึ่งหมายถึงการทำการบินที่ผู้โดยสารบาดเจ็บเล็กน้อยหรือไม่บาดเจ็บเลย รวมถึงการขู่ว่ามีการวางระเบิด อย่างไรก็ตาม อุบัติการณ์และอุบัติเหตุของการบินไทยค่อนข้างน้อย เมื่อเทียบกับสายการบินอื่น ๆ ทั่วโลก
- 30 มิถุนายน พ.ศ. 2510 - การบินไทย เที่ยวบินที่ 601 เครื่องบิน Sud Aviation SE-210 Caravelle III ทะเบียน HS-TGI ของการบินไทย บินจากซงชาน กรุงไทเป ไปยังสนามบินฮ่องกง (ไคตั๊ก) เกิดอุบัติเหตุเครื่องบินตกขณะทำการลงจอดในขณะที่มีพายุไต้ฝุ่น เสียชีวิต 24 คน บาดเจ็บหนัก 56 คน โดยมีผู้โดยสารทั้งหมด 73 คน ลูกเรือ 7 คน[36]
- 25 ธันวาคม พ.ศ. 2510 - การบินไทย เที่ยวบินที่ 002 เครื่องบิน Douglas DC-3 ทะเบียน HS-TDH บินจากกรุงเทพไปเชียงใหม่ประสบอุบัติเหตุตก มีผู้โดยสารเสียชีวิต 2 คน ลูกเรือ 2 คน จากจำนวนผู้โดยสาร 28 คน ลูกเรือ 3 คน[37]
- 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2516 - การบินไทยไม่ทราบเทื่ยวบิน เครื่องบิน Douglas DC-8 ทะเบียน HS-TGU บินจากกรุงเทพไปเนปาลเกิดอุบัติเหตุลื่นไถลออกนอกรันเวย์มีผู้เสียชีวิตที่ภาคพื้นดินเป็นประชาชนชาวเนปาล 1 ราย[38]
- 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2535 - การบินไทย เที่ยวบินที่ 311 เครื่องบินแอร์บัส เอ 310-304 ทะเบียน HS-TID ของการบินไทย ชนเทือกเขา 35 กม. ทางเหนือของกาฎมานฑุ ผู้โดยสาร 113 คนเสียชีวิต (ผู้โดยสาร 99 คน และ พนักงาน 14 คน) สาเหตุเกิดจากปัญหาทางเทคนิคและหลงทิศเนื่องจากสภาพอากาศปิด[39]
- 11 ธันวาคม พ.ศ. 2541 – การบินไทย เที่ยวบินที่ 261 เครื่องบินแอร์บัส เอ 310-304 ทะเบียน HS-TIA ของการบินไทย จากกรุงเทพไปสุราษฎร์ธานี ตกสาเหตุเนื่องจากฝนตกหนักมาก ผู้โดยสาร 102 คน จาก 143 คน เสียชีวิต[40]
- 3 มีนาคม พ.ศ. 2544 – การบินไทย เที่ยวบินที่ 114 เครื่องบินโบอิง 737-4D7 ทะเบียน HS-TDC ของการบินไทย จากกรุงเทพไปเชียงใหม่ เกิดระเบิดขึ้นในขณะที่จอดที่สนามบิน เสียชีวิต 1 คน บาดเจ็บ 8คน สาเหตุเกิดจากน้ำมันกับอากาศเข้าผสมกัน และเกิดการสันดาปขึ้นในส่วนของถังน้ำมันเนื่องจากสภาพอากาศร้อนจัด[41]
- 30 สิงหาคม พ.ศ. 2556 - การบินไทยเที่ยวบินที่ 600 เครื่องบินแอร์บัส 380-841ทะเบียน HS-TUA ของการบินไทยจากกรุงเทพไปฮ่องกงเกิดตกหลุมอากาศผู้โดยสารบาดเจ็บ 38 ราย ลูกเรือบาดเจ็บ 9 รายลูกเรือบาดเจ็บสาหัส 1 ราย ภายในเครื่องบินได้รับความเสียหาย[42]
- 8 กันยายน พ.ศ. 2556 - การบินไทยเที่ยวบินที่ 679 เครื่องบิน แอร์บัส 330-300 ทะเบียน HS-TEF ของการบินไทย จากกวางโจวไปกรุงเทพ เกิดอุบัติเหตุล้อหลังด้านขวาของเครื่องบินขัดข้อง ขณะร่อนลงจอดที่สนามบินสุวรรณภูมิ ส่งผลให้เครื่องบินไถลออกนอกรันเวย์มีผู้โดยสารได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย 12 ราย[43]
- 12 เมษายน พ.ศ. 2558 - การบินไทยเที่ยวบินที่ 641 เครื่องบิน แอร์บัส 340-600 ทะเบียน HS-TNF ของการบินไทย จากนะริตะไปกรุงเทพ เกิดอุบัติเหตุตกหลุมอากาศผู้โดยสารบาดเจ็บเล็กน้อย 12 ราย[44]
- 12 เมษายน พ.ศ. 2559 - การบินไทยเที่ยวบินที่ 434 เครื่องบิน โบอิง 777-200 ทะเบียน HS-TJH ของการบินไทย จากจาร์กาตาไปกรุงเทพ เกิดอุบัติเหตุตกหลุมอากาศผู้โดยสารบาดเจ็บเล็กน้อย 6 ราย[45]
- 21 กันยายน พ.ศ. 2559 - การบินไทยเที่ยวบินที่ 221 เครื่องบิน แอร์บัส 350-900 ทะเบียน HS-THB ของการบินไทย จากกรุงเทพไปภูเก็ต เกิดอุบัติการณ์ยางล้อแตกขณะลงจอด[46]
- 4 ธันวาคม พ.ศ. 2560 - การบินไทยเที่ยวบินที่ 349 เครื่องบินแอร์บัส 330-300 ทะเบียน HS-TES ของการบินไทย เกิดอุบัติการณ์ไถลอกนอกรันเวย์ที่สนามบินอิสลามาบาด[47]
- 11 เมษายน พ.ศ. 2561 - การบินไทยเที่ยวบินที่ 660 เครื่องบิน โบอิง 747-400 ทะเบียน HS-TGX ของการบินไทย เกิดอุบัติการณ์สัญญาณเตือนเครื่องบินลงต่ำเกินไปทำงาน[48]
- 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2561 - การบินไทยเที่ยวบินที่ 321 เครื่องบิน โบอิง 777-200 ทะเบียน HS-TJD ของการบินไทย เกิดอุบัติการณ์ยางล้อระเบิดที่ท่าอากาศยานธากา
- 3 ตุลาคม พ.ศ. 2561 - การบินไทยเที่ยวบินที่ 349 เครื่องบินแอร์บัส 330-300 ทะเบียน HS-TEQ ของการบินไทย เกิดอุบัติการณ์เครื่องบินชนนกขณะลงจอดที่สนามบินอิสลามาบาด[49]
- 8 ตุลาคม พ.ศ. 2561 - การบินไทยเที่ยวบินที่ 679 เครื่องบิน โบอิง 747-400 ทะเบียน HS-TGF ของการบินไทย จากกวางโจวไปกรุงเทพ เกิดอุบัติการณ์เครื่องลื่นไถลออกนอกรันเวย์
การบินไทยไขจักรวาล[แก้]
การบินไทยเป็นผู้สนับสนุนให้มีรายการโทรทัศน์ ประเภทตอบปัญหาชิงรางวัลและทุนการศึกษาแก่เยาวชน ซึ่งมีชื่อว่า "การบินไทยไขจักรวาล" ที่จัดแข่งขันระหว่างนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาผู้แทนโรงเรียนต่าง ๆ กลุ่มละสามคน โดยแต่ละครั้งจะแข่งขันกันระหว่างสองโรงเรียน ดำเนินรายการโดย พลตรีถาวร ช่วยประสิทธิ์ (พ.ศ. 2518-2521) และหม่อมราชวงศ์ถนัดศรี สวัสดิวัตน์ (พ.ศ. 2521-2546) (เวลาต่อมาจึงได้เพิ่ม รัตน์มณี มณีรัตน์ เป็นพิธีกรดำเนินรายการร่วมไปด้วย ซึ่งบางครั้งทำหน้าที่ดำเนินรายการแทนเพียงคนเดียว) ออกอากาศทุกวันอังคาร สัปดาห์ที่ 1 และ 3 ของเดือน เวลา 17:00-17:30 น. (ต่อมาย้ายไปออกอากาศทุกวันศุกร์ สัปดาห์และเวลาออกอากาศเดียวกัน) ถ่ายทอดสดจากห้องส่งสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก เป็นระยะเวลาถึง 28 ปี ระหว่าง พ.ศ. 2518-พ.ศ. 2546 ทั้งนี้ นักเรียนที่ชนะการตอบปัญหาประจำสัปดาห์ จะได้รับทุนการศึกษา ส่วนนักเรียนที่ชนะเลิศการตอบปัญหาประจำปี จะได้รับรางวัลเป็นตั๋วเครื่องบินไปกลับต่างประเทศ พร้อมกิจกรรมทัศนศึกษา ซึ่งการบินไทยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายทั้งหมด
คดีความ[แก้]
การบินไทยได้ฟ้องร้องบริษัทโคอิโตะ ในกรณีที่ไม่สามารถติดตั้งเก้าอี้โดยสารภายในเครื่องบินแอร์บัส เอ 330 ในชั้นประหยัดทั้ง 5 ลำได้ส่งผลให้การบินไทยเสียโอกาสในการนำเครื่องบินบริการแก่ผู้โดยสาร ค่าเสียโอกาสในการบำรุงเครื่องบินและยังต้องหาบริการอื่นเพื่อดำเนินการในการติดตั้งเก้าอี้โดยสารใหม่ กรณีนี้เกิดขึ้นเมื่อการบินไทยว่าจ้างบริษัทโคอิโตะติดตั้งเก้าอี้ในชั้นประหยัดโดยในระยะแรกเป็นไปด้วยดีแต่เมื่อถึงต้นปี พ.ศ. 2553 บริษัทดังกล่าวไม่ได้การรับรองจากกรมการบินประเทศญี่ปุ่นเนื่องจากการที่ดังกล่าวบริษัทเปลี่ยนมาตรฐาน ส่งผลให้ 2 รายการ จาก 18 รายการ ไม่ได้รับการรับรองความปลอดภัยจากประเทศญี่ปุ่น[50]เรื่องดังกล่าวนอกจากกระทบต้องเครื่องบินแบบแอร์บัส เอ 330 ยังกระทบต่อเครื่องบินแบบโบอิง 777-300 HS-TKE[51]โดยเครื่องบินลำดังกล่าวขายที่นั่งได้น้อยลงเพราะต้องขายเฉพาะที่นั่งที่ติดตั้งจากบริษัทโคอิโตะเพียงส่วนหนึ่งก่อนที่บริษัทดังกล่าวจะถูกถอนใบอนุญาต[52]
กรณีดังกล่าวยังได้ส่งผลกระทบต่อความยากลำบากในการให้บริการบนเครื่องบินแบบแอร์บัส เอ 330 เนื่องจากเครื่องบินมีการจ้างบริษัทที่ติดตั้งเก้าอี้แตกต่างกัน โดย 12 ลำแรก HS-TEA ถึง HS-TEM รหัส A333 เป็นการออกแบบที่นั่งแบบหนึ่ง ซึ่งไม่มีจอส่วนตัวให้ผู้โดยสารใช้เครื่องยนต์ PW4000 8 ลำต่อมาตั้งแต่ HS-TEN ถึง HS-TEU A330 ก็เป็นอีกแบบหนึ่งซึ่งมีจอส่วนตัวให้ผู้โดยสาร ใช้เครื่องยนต์ Rolls Royce Trent 700 ส่วนในชุดสุดท้ายเป็นการออกแบบที่นั่งอีกแบบหนึ่งซึ่งทันสมัยมากที่สุดรหัส A33H ใช้เครื่องยนต์ Rolls Royce Trent 700 นอกจากนั้นแล้วใน 4 ลำดังกล่าวการบินไทยได้เริ่มใช้รหัสใหม่เป็น HS-TBA ซึ่งโดยปกติแล้วแอร์บัส เอ 330 จะใช้รหัสเป็น HS-TE_ ทั้งนี้เพื่อกันความสับสนของนักบินและลูกเรือซึ่งใน 7 ลำดังกล่าวได้เลิกใช้การติดตั้งเก้าอี้ของบริษัทโคอิโตะในชั้นประหยัด
ดูเพิ่ม[แก้]
อ้างอิง[แก้]
- ↑ "Major Shareholders". ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย. 10 มกราคม พ.ศ. 2550. สืบค้นเมื่อ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2550. Check date values in:
|accessdate=, |date=
(help) - ↑ ประวัติ บมจ.การบินไทย จากเว็บไซต์การบินไทย
- ↑ บริษัทร่วมทุน นกแอร์[ลิงก์เสีย]
- ↑ ผู้จัดการสายการบินแรกที่บินการบินไทย
- ↑ รางวัลยอดเยี่ยมจากองค์การอนามัยโลก
- ↑ ประวัติบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ในเว็บไซต์การบินไทย
- ↑ หนังสือกรมบัญชีกลาง ลงวันที่ 2 มีนาคม 2559
- ↑ 'การบินไทย' พ้นสภาพรัฐวิสาหกิจแล้ว หลัง 'คลัง' ขายหุ้นให้วายุภักษ์วันนี้ เว็บไซต์หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ (เผยแพร่เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2563)
- ↑ การบินไทยตั้งบอร์ดใหม่ 4 คน มีผล 25 พฤษภาคม 2563 จาก ไทยพีบีเอส
- ↑ "วิษณุ" รับ "ไพรินทร์" ลาออกบอร์ดการบินไทย ลดเสี่ยง-รักษาธรรมาภิบาล จาก ไทยรัฐออนไลน์
- ↑ https://www.set.or.th/set/companyholder.do?symbol=THAI
- ↑ "World Airline Directory." Flight International. 13 April 1961. Page 509.
- ↑ "World Airline Directory." Flight International. 26 March 1970. Page 503.
- ↑ "World Airline Directory." Flight International. 26 July 1980. Page 359.
- ↑ งบการเงินการบินไทย
- ↑ 16.0 16.1 "Thai Airways International Public Company Limited : Annual Report 2011" (PDF). Thai Airways International. สืบค้นเมื่อ 17 May 2015.
- ↑ 17.0 17.1 17.2 "Thai Airways International Public Company Limited : Annual Report 2014". Thai Airways International. สืบค้นเมื่อ 17 May 2015.
- ↑ 18.0 18.1 Kositchotethana, Boonsong (26 May 2015). "Carriers in Asia Pacific stuck in red". Bangkok Post. สืบค้นเมื่อ 2 June 2015.
- ↑ http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/business/business/20110928/411285/กรุงไทยยอมทีจีขายทิ้งหุ้นนกแอร์165ล้าน.html[ลิงก์เสีย]
- ↑ ""จุฬางกูร" ผงาดหุ้นใหญ่ "นกแอร์" รวม 28.93% "การบินไทย" ลดเหลือ 21.57%". ผู้จัดการออนไลน์. 30 พฤษภาคม 2560. สืบค้นเมื่อ 1 กรกฎาคม 2560. Check date values in:
|access-date=, |date=
(help) - ↑ http://thai.listedcompany.com/misc/ar/20120404-THAI-AR2011-TH.pdf
- ↑ THAI Cargo Adds Xiamen Service from June 2014
- ↑ 23.0 23.1 23.2 ข้อมูลเกี่ยวกับฝ่ายครัวการบินไทย จากเว็บไซต์ฝ่ายครัวการบินไทย
- ↑ ประวัติความเป็นมาของร้านพัฟแอนด์พาย จากเว็บไซต์พัฟแอนด์พาย
- ↑ TG770
- ↑ http://news.thaiza.com/การบินไทยผงาดอันดับ7แอร์ฯฮอตสุดของโลก/225861/
- ↑ Skytrax
- ↑ http://www.kmt.co.th/catalog.php?idp=117
- ↑ http://www.manager.co.th/home/viewnews.aspx?NewsID=9550000063064
- ↑ http://www.logisticsdigest.com/news/air-transport/item/8165-52ปีการบินไทย-\'ดีดี\'15-คน.html
- ↑ 31.0 31.1 31.2 31.3 สัญลักษณ์การบินไทย ในเว็บไซต์การบินไทย
- ↑ รายงานประจำปี
- ↑ https://www.planespotters.net/airline/Thai-Airways-International
- ↑ http://www.thaicabincrew.com/forums/viewtopic.php?t=40347
- ↑ http://www.prthaiairways.com/thaiair_4p/front/airbus_a380.php?lg=th&scat=0
- ↑ http://aviation-safety.net/database/record.php?id=19670630-1
- ↑ http://www.planecrashinfo.com/1967/1967-92.htm
- ↑ http://aviation-safety.net/database/record.php?id=19730510-1
- ↑ รายละเอียดเครื่องบินตก 2535
- ↑ รายละเอียดเครื่องบินตก 2541
- ↑ รายละเอียดเครื่องบินระเบิด 2544
- ↑ http://avherald.com/h?article=467ab3da&opt=0
- ↑ Accident: Thai A333 at Bangkok on Sep 8th 2013, runway excursion on landing
- ↑ Accident: Thai A340 at Bangkok on Feb 26th 2015, turbulence in the airspace
- ↑ Accident: Thai B777 at Singapore on Apr 12th 2016, turbulence in the airspace
- ↑ http://avherald.com/h?article=49e5774b
- ↑ http://avherald.com/h?article=4b1e9702&opt=0
- ↑ https://aviation-safety.net/wikibase/wiki.php?id=209441
- ↑ http://avherald.com/h?article=4be96a52&opt=0
- ↑ http://www.komchadluek.net/detail/20100111/44131/การบินไทยเล็งฟ้องโคดิโตะผลิตเก้าอี้เร่งหารายใหม่แทน.html
- ↑ http://www.hflight.net/forums/topic/7621-thai-airways-tg103-cnx-bkk-ไฟล์ทนี้แอร์น่ารักอ่ะ/page__st__40
- ↑ http://www.thaiairways.com/thai-services/in-the-air/downloads/773.pdf
แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]
- เว็บไซต์อย่างเป็นทางการ [1] [2]
- การบินไทย ที่เฟซบุ๊ก
- รายละเอียดเครื่องบินรุ่นต่าง ๆ ของการบินไทย
- รูปและข้อมูลเกี่ยวกับการบินไทย
- บทความวิกิพีเดียที่ต้องการปรับ
- บทความวิกิพีเดียทั้งหมดที่ต้องการปรับ
- กระทรวงคมนาคม
- สายการบินสัญชาติไทย
- การบินไทย
- รัฐวิสาหกิจไทยในอดีต
- บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
- สตาร์อัลไลแอนซ์
- บริษัทของไทย
- บริษัทที่ถือหุ้นโดยรัฐบาลไทย
- บริษัทที่ก่อตั้งในปี พ.ศ. 2503
- สายการบินที่ก่อตั้งในปี พ.ศ. 2503
- ธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์