เมฆิกานาเดอาเบียซิออน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เมฆิกานาเดอาเบียซิออน
IATA ICAO รหัสเรียก
MX MXA MEXICANA
ก่อตั้ง12 กรกฎาคม ค.ศ. 1921 (102 ปี)
เริ่มดำเนินงาน30 สิงหาคม ค.ศ. 1921 (102 ปี)
เลิกดำเนินงาน28 สิงหาคม ค.ศ. 2010 (13 ปี)
ท่าหลักกังกุน
เม็กซิโกซิตี–นานาชาติ
กัวดาลาฮารา
เมืองสำคัญชิคาโก–โอแฮร์
ลอสแอนเจลิส
โมเรเลีย
ติฆัวนา
ซากาเตกัส
สะสมไมล์เมฆิกานาโก
พันธมิตรการบินสตาร์อัลไลแอนซ์ (ค.ศ. 2000–2004)
วันเวิลด์ (ค.ศ. 2009–2010)
บริษัทลูกอาเอโรการิเบ
อาเอโรมอนเตร์เรย์
เมฆิกานาการ์โก
เมฆิกานากลิก
เมฆิกานาลิงก์
บริษัทแม่เซเดนา
สำนักงานใหญ่เม็กซิโก อาคารเมฆิกานาเดอาเบียซิออน เม็กซิโกซิตี ประเทศเม็กซิโก
บุคลากรหลักเฆราร์โด บาดิน
เว็บไซต์www.mexicana.gob.mx

เมฆิกานาเดอาเบียซิออน (สเปน: Mexicana de Aviación) เรียกโดยทั่วไปว่า เมฆิกานา เป็นสายการบินที่เก่าแก่ที่สุดของประเทศเม็กซิโก โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1921 ก่อนที่จะเลิกดำเนินการในปี 2010 เมฆิกานาเคยเป็นสายการบินแห่งชาติและสายการบินที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ

ในปี 2023 เซเดนา–ภายใต้กระทรวงกลาโหม ได้ทำการฟื้นฟูกิจการของสายการบินอีกครั้ง[1][2] โดยใช้ชื่ออาเอโรลิเนอาเดลเอสตาโดเมฆิกาโน ซึ่งเริ่มดำเนินการในเดือนธันวาคม ค.ศ. 2023 ด้วยชื่อเมฆิกานาเช่นเดิม[3][4][5]

ประวัติ[แก้]

แอร์บัส เอ319 ของเมฆิกานาขณะลงจอดที่ท่าอากาศยานแวนคูเวอร์ (2001)

เมฆิกานาเป็นสายการบินแรกของประเทศเม็กซิโก เป็นสายการบินที่เก่าที่สุดในอเมริกาเหนือและเป็นอันดับที่สี่ของโลกที่ดำเนินการในชื่อเดิม ตามหลังเคแอลเอ็มของเนเธอร์แลนด์ อาเบียงกาของโคลอมเบีย และควอนตัสของออสเตรเลีย นอกเหนือจากการดำเนินการภายในประเทศของสายการบินแล้วเมฆิกานายังให้บริการเที่ยวบินสู่จุดหมายปลายทางระหว่างประเทศในอเมริกาเหนือ อเมริกากลาง หมู่เกาะแคริบเบียน อเมริกาใต้ และยุโรป โดยมีฐานการบินหลักที่ท่าอากาศยานนานาชาติเบนิโต ฆัวเรซในเม็กซิโกซิตี และมีท่ารองที่ท่าอากาศยานนานาชาติกังกุนและท่าอากาศยานนานาชาติมิเกล อิดัลโก อี โกสติยาในกัวดาลาฮารา[6]

เมฆิกานาแข่งขันกับอาเอโรเมฆิโก (ถึงแม้เมฆิกานาจะมีข้อตกลงการบินร่วมกับสายการบินในบางเส้นทางก็ตาม) และสายการบินราคาประหยัดอย่างโบลาริสและอินเตร์เฆต

ในปี 2009 เมฆิกานากรุป (รวมเมฆิกานากลิกและเมฆิกานาลิงก์) ได้ขนส่งผู้โดยสารกว่า 11 ล้านคน (6.6 ล้านในเที่ยวบินภายในประเทศและ 4.5 ในเที่ยวบินระหว่างประเทศ) ด้วยเครื่องบิน 110 ลำในฝูงบิน[7]

หลังจากเริ่มเข้าร่วมกลุ่มพันธมิตรสตาร์อัลไลแอนซ์ในปี 2000 เมฆิกานาออกจากเครือข่ายในปี 2004 ก่อนที่จะเข้าร่วมวันเวิล์ดในวันที่ 10 พฤศจิกายน ค.ศ. 2009[8] เมฆิกานาได้เข้าสู่กระบวนการล้มละลายในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 2010 หลังจากที่พยายามปรับโครงสร้างองค์กร[9] และได้เลิกการดำเนินงานในวันที่ 28 สิงหาคม ค.ศ. 2010[10] นอกจากนี้แล้วสายการบินลูก เมฆิกานากลิกและเมซิกานาลิงก์ ก็ได้เลิกดำเนินการเช่นเดียวกัน ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2012 เมฆิกานาได้ประกาศเป็นครั้แรกว่าเมดแอตแลนติกเข้าซื้อสายการบินด้วยเงิน 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ในวันที่ 4 เมษายน ค.ศ. 2014 ได้มีการตัดสินให้เมฆิกานาเป็นผู้มีหนี้สินพ้นตัวและล้มละลายรวมถึงสั่งให้ขายทรัพย์สินของสายการบิน เดิมเมฆิกานามีสำนักงานใหญ่ที่อาคารเมฆิกานาเดอาเบียซิออนในเม็กซิโกซิตี[11] ในเดือนมกราคม ค.ศ. 2023 รัฐบาลเม็กซิโกได้เข้าซื้อทรัพย์สินของสายการบิน โดยมีแผนที่จะฟื้นฟูกิจการสายการบินราคาประหยัดนี้ใหม่อีกครั้ง โดยให้อยู่ภายใต้เซเดนากระทรวงกลาโหมเม็กซิโก[12]

คริสต์ทศวรรษ 1920: ช่วงแรก[แก้]

แอล.เอ. วินชิป และแฮร์รี เจ. ลอว์ซัน ได้ร่วมกันก่อตั้ง กอมปัญญิอาเมฆิกานาเดตรันส์ปอร์ตาซิออนอาเอเรอาอาลาซาซอน หรือ เซเอเมเตอา ซึ่งเริ่มทำการบินจากเม็กซิโกซิตีไปยังตัมปิโกและมาตาโมโรสด้วยเครื่องบินลินคอล์นสแตนดาร์ด แอล.เอส.5[13] ซึ่งทั้งสองเมืองนั้นเป็นเมืองที่มีบทบาทสำคัญในฐานะที่เป็นเมืองที่ตั้งอยู่ใกล้กับแหล่งน้ำมันดิบในอ่าวเม็กซิโก ต่อมาในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1924 วิลเลียม แลนตี มัลลอรี และจอร์จ รีห์ล ได้ร่วมกันก่อตั้ง กอมปัญญิอาเมฆิกานาเดอาเบียซิออน (แปลตรงตัว: "บริษัทการบินเม็กซิโก" หรือ "บริษัทสายการบินเม็กซิโก") ซึ่งทำการบินไปยังตัมปิโกและมาตาโมโรสจากเม็กซิโกซิตีเช่นเดียวกัน

เมฆิกานาก่อตั้งขึ้นหลังจากกอมปัญเญียเมฆิกานาเดอาเบียซิออนเข้าซื้อสินทรัพย์ของเซเอเมเตอา[14] ทำให้สามารถเริ่มทำการบินได้ ในปี 1925 เชอร์แมน แฟร์ไชลด์ ได้เข้าซื้อหุ้น 20% ในสายการบิน ทำให้เริ่มมีการนำเครื่องบินแฟร์ไชลด์ เอฟซี2 ในปี 1928 ต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1929 วาน ทริปป์ จากแพนแอมได้เข้าซื้อหุ้นส่วนใหญ่ของสายการบิน และได้เริ่มทำการบินระหว่างประเทศสู่จุดหมายปลายทางในสหรัฐ โดยใช้เครื่องบินฟอร์ด ไตรมอร์เตอร์ในการบินเส้นทางเม็กซิโกซิตี-ตุกซ์ปัน-ตัมปิโก-บราวน์สวิลล์ โดยได้มีชาลส์ ลินด์เบิร์ก เป็นนักบินในเที่ยวบินแรก

คริสต์ทศวรรษ 1930–1950[แก้]

ในช่วงคริสต์ทตวรรษ 1930 เมฆิกานาได้มีการพัฒนาในหลากหลายด้าน สายการบินเริ่มทำการบินจากบราวน์สวิลล์ไปยังกัวเตมาลาซิตี โดยมีจุดแวะพักที่เบรากรุซ มินาติตลัน อิชเตเปก และตาปาชูลา นอกจากนี้แล้วยังเพิ่มเส้นทางบินไปยังเอลซัลวาดอร์ คอสตาริกา คิวบา นิการากัว และปานามา ซึ่งร่วมมือกับแพนแอมในการทำการบินจากฐานการบินไมแอมีของแพนแอม (แพนแอมเป็นผู้ทำการบินจากเม็กซิโกซิตีไปยังไมแอมี) ในวันที่ 3 มกราคม ค.ศ. 1936 เมฆิกานาทำการบินไปยังลอสแอนเจลิส ซึ่งเป็นสายการบินต่างประเทศสายแรกที่ทำการบินไปยังที่นี้[14]

ในคริสต์ทศวรรษ 1940 เป็นช่วงเวลาที่เมฆิกานาได้พัฒนาเส้นทางภายในประเทศเป็นหลัก แต่เมฆิกานาก็เริ่มทำการบินเส้นทางบินระหว่างประเทศบ้าง เช่น เที่ยวบินจากเม็กซิโกซิตีไปยังอาบานา เมฆิานาเริ่มเส้นทางสู่มอนเตร์เรย์ นูเอโบลาเรโด และเมริดา นอกจากนี้ยังทำการบินเที่ยวบินกลางคืนไปยังลอสแองลิสเพิ่มเติม เป็นการเริ่มการทำการบินเที่ยวบินกลางคืนของสายการบิน ต่อมาจึงมีการทำเที่ยวบินกลางคืนสู่เมริดา เดิมเมฆิกานาใช้เครื่องบินดักลาส ดีซี-2 สำหรับเที่ยวบินระหว่างประเทศนี้ ตามกาลเวลาสายการบินก็ได้เปลี่ยนมาใช้เครื่องบินที่ใหญ่ขึ้น เช่น ดักลาส ดีซี-3 และดักลาส ดีซี-4 โดยการนำดีซี-4 มาประจำการทำให้สายการบินสามารถทำการบินตรงจากเม็กซิโกซิตีไปยังลอสแอนเจลิสได้โดยไม่ต้องแวะพัก และในช่วงเวลานี้ เมฆิกานาได้ตั้งโรงเรียนการบินในเม็กซิโกซิตี

ในคริสต์ทศวรรษ 1950 เป็นช่วงที่เมฆิกานาพัฒนาช้าลง โดยในช่วงนี้มีการเริ่มประจำการของเครื่องบินดักลาส ดีซี-6 และการปรับปรุงการทำงานของพนักงานด้วยการเปิดโรงเรียนฝึกหัดพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน เครื่องบินดีซี-6 ได้นำมาทำการบินในเที่ยวบินจากเม็กซิโกซิตีไปยังปูเอร์โตบายาร์ตาและวาฮากา และเริ่มบินเส้นทางไปยังแซนแอนโทนีโอ รัฐเท็กซัส

คริสต์ทศวรรษ 1960: การเข้ามาของอากาศยานไอพ่น[แก้]

เดอ ฮาวิลแลนด์ คอเม็ทเป็นเครื่องบินไอพ่นรุ่นแรกของสายการบิน

ในคริสต์ทศวรรษ 1960 เมฆิกานาได้สั่งซื้อเดอ ฮาวิลแลนด์ คอเม็ท 4ซี จำนวนสี่ลำ การนำเครื่องบินรุ่นดังกล่าวเข้ามาประจำการในวันที่ 4 กรกฎาคม ค.ศ. 1960 นับเป็นการเริ่มต้นสมัยอากาศยานไอพ่นของสายการบิน โดยทำการบินเที่ยวบินแรกจากเม็กซิโกซิตีไปยังลอสแอนเจลิส แม้ว่าสายการบินจะมีเครื่องบินที่ล้ำสมัย แต่มีการแข่งขันสูง ในช่วงปลายทศวรรษเมฆิกานาได้ประกาศล้มละลาย แต่เมฆิกานายังสามารถเริ่มนำเครื่องบินโบอิง 727-100 เข้ามาประจำการได้ ในปี 1967 สายการบินทำการบินไปยังจุดหมายปลายทางในสหรัฐ ได้แก่ คอร์ปัสคริสตี แดลลัส และแซนแอนโทนีโอในรัฐเท็กซัส ชิคาโกในรัฐอิลลินอย ลอสแอนเจลิสในรัฐแคลิฟอร์เนีย และไมแอมีในรัฐฟลอริดา และยังทำการบินไปยังอาบานา ประเทศคิวบา และคิงส์ตันและมอนทีโกเบย์

ปัญหาทาการเงินของสายการบินได้นำมาสู่การเปลี่ยนชุดเจ้าหน้าที่บริหารในวันที่ 15 มกราคม ค.ศ. 1968 โดยมีเกรเซนซิโอ บาเยสเตโรส เป็นประธาน และมานูเอล โซซา เด ลา เบกา เป็นซีอีโอ โดยแผนการฟื้นฟูกิจการของชุดเจ้าหน้าที่บริหารชุดนี้

อย่างไรก็ตาม ปี 1969 เป็นปีที่สายการบินจะต้อประสบกับเหตุเครื่องบินโบอิง 727 ตกสองลำ ลำแรกตกในสภาพอากาศเลวร้ายขณะทำการบินจากเม็กซิโกซิตีไปยังมอนเตร์เรย์ โดยลำที่สองตกขณะทำการบินจากชิคาโกกลับมาเม็กซิโกซิตี

คริสต์ทศวรรษ 1970–1990[แก้]

โบอิง 727-200 แอดวานซ์ของเมฆิกานาที่ท่าอากาศยานไมแอมี (1990)

ในปี 1971 เมฆิกานาเริ่มทำการบินไปยังท่าอากาศยานนานาชาติลุยส์ มุญโญซ มารินในซานฮวน ปวยร์โตรีโก ซึ่งเป็นเส้นทางที่สายการบินทำการบินติดต่อกันเป็นเวลากว่า 25 ปี โดยดำเนินจากเม็กซิโกซิตี แต่มีบางช่วงที่มีจุดแวะพักที่เมริดา[15] และเริ่มทำการบินไปยังเดนเวอร์ รัฐโคโลราโด สายการบินได้ขยายฝูงบินอย่างต่อเนื่อง โดยได้มีเครื่องบินไอพ่นประจำการอยู่ 19 ลำ มากที่สุดในละตินอเมริกา ณ เวลานั้น นอกจากนั้นแล้วสายการบินยังได้เริ่มใช้เครื่องจำลองการบินของเครื่องบินโบอิง 727 ที่ฐานการบินหลักในท่าอากาศยานนานาชาติเม็กซิโกซิตี ในช่วงเวลานี้เมฆิกานาเป็นผู้ให้บริการโบอิง 727 รายใหญ่ที่สุดนอกสหรัฐ

ในโอกาสวาระครบรอบ 50 ปีของสายการบิน ได้มีการสร้างอนุสรณ์สถานให้กับเมฆิกานาเดอาเบียซิออนในฐานะที่เป็นสายการบินแรกของประเทศ ภายในหลังปี 2010 อนุสรณ์สถานนี้เป็นตัวแทนของอุตสาหกรรมกาบินของเม็กซิโกและสายการบินต่าง ๆ ที่เคยให้บริการในประเทศ

ในคริสต์ทศวรรษ 1980 เมฆิกานามีอัตราการเติบโตที่คงที่ แต่ก็มีเหตุการณ์สำคัญบ้าง ในปี 1981 แมคดอนเนลล์ ดักลาส ดีซี-10-15 จำนวนสามลำเข้าประจำการกับสายการบิน โดยได้เริ่มทำการบินในเส้นทางสู่จุดหมายปลายทางในทะเลแคริบเบียน โดยดีซี-10 เป็นเครื่องบินลำตัวกว้างลำแรกของสายการบินซึ่งจะใช้งานในเส้นทางที่มีจำนวนผู้โดยสารมาก ในปี 1982 รัฐบาลเม็กซิโกเข้าถือหุ้น 58% ของสายการบินก่อนที่จะออกมาเป็นบริษัทเอกชนในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1989 ต่อมาในปี 1984 การก่อสร้างสำนักงานใหญ่ของเมฆิกานาที่ถนนโชลา เม็กซิโกซิตี ได้เสร็จสิ้น โดยเป็นอาคาร 30 ชั้นที่มีลักษณะคล้ยกับหอบังคับการบิน ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1986 เมฆิกานา เที่ยวบินที่ 940 ซึ่งดำเนินเที่ยวบินสู่ปูเอร์โตบายาร์ตา เกิดไฟไหม้บนเที่ยวบินและตกลงในบริเวณเทือกเขาทางตะวันตกของเม็กซิโก ส่งผลให้ผู้โดยสารและลูกเรือทั้งหมดเสียชีวิต อุบัติเหตุในครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่ร้ายแรงที่สุดที่เกิดขึ้นกับเครื่องบินของเมฆิกานา ในปี 1988, อาเอโรนาเบสเดเมฆิโก (ปัจจุบันดำเนินการในชื่อ อาเอโรเมฆิโก) ซึ่งเป็นคู่แข่งสำคัญของเมฆิกานา ได้ประกาศล้มละลาย เป็นผลให้เมฆิกานาได้สิทธิในเที่ยวบินระยะไกลหลายเที่ยวบินของอาเอโรเมฆิโกตลอดช่วงคริสต์ทศวรรษ 1990

ในช่วงต้นทศวรรษที่ 1990 เมฆิกานาให้บริการเที่ยวบินสู่จุดหมายปลายทางมากกว่า 13 แห่งในสหรัฐ ได้แก่ บอลทิมอร์, ชิคาโก, แดลลัส/ฟอร์ตเวิร์ธ, เดนเวอร์, ลอสแอนเจลิส, ไมแอมี, นครนิวยอร์ก, ออร์แลนโด, ซานแอนโทนีโอ, ซานฟรานซิสโก, แซนโฮเซ (รัฐแคลิฟอร์เนีย), ซีแอตเทิล และแทมปา รวมถึงซานฮวน เปอร์โตริโก และเพิ่มเที่ยวบินสู่กัวเตมาลาซิตี อาบานา และซานโฮเซ ประเทศคอสตาริกา[16] การยกเลิกกฎระเบียบของอุตสาหกรรมการบินของเม็กซิโกทำให้เกิดคู่แข่งรายใหม่ เช่น ลาตูร์, ซาโร และตาเอซา ส่งผลให้เมฆิกานาเริ่มนำเครื่องบินสมัยใหม่มาประจำการ เช่นแอร์บัส เอ320 ในปี 1991 และฟอกเกอร์ 100 ในปี 1992 ต่อมาในช่วงกลางทศวรรษ 1990 เศรษฐกิจเม็กซิโกได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการลดค่าเงินเปโซของเม็กซิโก จึงทำให้เมฆิกานา อาเอโรเมฆิโก และสายการบินระดับภูมิภาคในเครือถูกแปรรูปเป็นรัฐวิสาหกิจหลังจากบริษัทแม่ ซินตรา (กอร์โปราซิออนอินเตร์นาซิโอนัลเดตรันส์ปอร์เตอาเอเรโอ) ถูกรัฐบาลควบคุม ก่อนที่จะเป็นบริษัทเอกชนอีกครั้งในปี 2005 ในปี 1967 เมฆิกานาได้มีผู้บริหารชุดใหม่ โดยมีเฟร์นันโด โฟลเรส เป็นประธานและซีอีโอ สายการบินได้มีการปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ โดยเน้นไปที่การบริการระหว่างประเทศใหม่ เส้นทางที่ไม่ได้ผลกำไรจะถูกยกเลิก และปลดประจำการดักลาส ดีซี-10 เมฆิกานาได้ขยายเส้นทางบินไปยังทวีปอเมริกาใต้หลายเส้นทาง เช่น ลิมา ซานเตียโกเดชิเล และบัวโนสไอเรส และขยายไปยังอเมริกาเหนือ เช่น มอนทรีออล เพื่อดำเนินการในเส้นทางใหม่นี้ สายการบินได้เช่าเครื่องบินโบอิง 757-200 นอกจากนี้ เมฆิกานาได้เข้าร่วมกับพันธมิตรสายการบินต่าง ๆ โดยเริ่มแรกสายการบินเข้าร่วมกลุ่มพันธมิตรระดับภูมิภาคอย่าง ลาตินปัส และ อาลัสเดอาเมริกา ต่อมาได้เป็นพันธมิตรกับยูไนเต็ดแอร์ไลน์ พันธมิตรนี้สามารถช่วยให้เมฆิกานาเข้าร่วมพันธมิตรสายการบินระดับโลกได้ โดยได้เข้าร่วมสตาร์อัลไลแอนซ์

จุดหมายปลายทาง[แก้]

ตลอดการดำเนินงานของสายการบิน เมฆิกานาให้บริการเที่ยวบินสู่จุดหมายปลายทาง 59 แห่งในอเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ และยุโรป

ข้อตกลงการบินร่วม[แก้]

เมซิกานาทำข้อตกลงการบินร่วมกับสายการบินดังต่อไปนี้:

ฝูงบิน[แก้]

แอร์บัส เอ318 ของเมฆิกานา
โบอิง 757-200 ของเมฆิกานา
ฟอกเกอร์ 100 ของเมฆิกานา
แมคดอนเนลล์ ดักลาส ดีซี-10 ของเมฆิกานา

เมฆิกานาเคยให้บริการเครื่องบินดังต่อไปนี้:[17][18]

ฝูงบินของเมฆิกานา
เครื่องบิน จำนวน เริ่มประจำการ ปลดประจำการ หมายเหตุ
แอร์บัส เอ318-100 10 2004 2010 ทั้งหมดขายให้กับอาเบียงกา
แอร์บัส เอ319-100 26 2001 2010 หกลำขายให้กับอาเบียงกา, อีก 20 ลำขายต่อและถูกแยกชิ้นส่วน
แอร์บัส เอ320-200 41 1991 2010
แอร์บัส เอ330-200 2 2008 2010 ขายให้กับแอร์ทรานแซท
เอฟโรว์ แอนสัน 4 ไม่ทราบ ไม่ทราบ
โบอิง 247ดี 6 1936 1950
โบอิง 727-100 17 1966 1984
โบอิง 727-200 51 1970 2003 ผู้ให้บริการายใหญ่ที่สุดนอกสหรัฐ

XA-MEM เกิดอุบัติเหตุขั้นจำหน่ายในเที่ยวบินที่ 940

โบอิง 757-200 10 1996 2008
โบอิง 767-200อีอาร์ 2 2008 2010 โอนย้ายให้กับอาเอโรเมฆิโก
โบอิง 767-300อีอาร์ 3 2003 2010
บอมบาร์ดิเอร์ ซีอาร์เจ200อีอาร์ 11 2009 2010 ดำเนินการโดยเมฆิกานากลิก
เซสนา ที-50 1 ไม่ทราบ ไม่ทราบ
เคอร์ติส โรบิน 1 1930 ไม่ทราบ
เดอ ฮาวิลแลนด์ คอเม็ท 4ซี 5 1960 1971
ดักลาส ซี-47 สกายเทรน 21 1948 1969
ดักลาส ซี-54 สกายมาสเตอร์ 9 1946 1968
ดักลาส ดีซี-2 14 1936 ไม่ทราบ
ดักลาส ดีซี-3 15 1939 1963
ดักลาส ดีซี-6 18 1950 1976
ดักลาส ดีซี-7ซี 3 1957 1958
ดักลาส ดีซี-8-71F 1 1993 1993 เช่าจากเซาเทิร์นแอร์ทรานส์พอร์ต
แมคดอนเนลล์ ดักลาส ดีซี-10-10 2 1989 1994
แมคดอนเนลล์ ดักลาส ดีซี-10-15 5 1981 1996 เป็นลูกค้าเปิดตัวควบคู่กับอาเอโรเมฆิโก
แฟร์ไชลด์ เอฟซี-2 7 1927 ไม่ทราบ
แฟร์ไชลด์ 71 6 1929 1933
แฟร์ไชลด์ ซี-82 แพคเก็ต 6 1956 1966
ฟอกเกอร์ เอฟ.6 2 1930 1932
ฟอกเกอร์ เอฟ.10 3 1929 1935
ฟอกเกอร์ 100 12 1992 2006 โอนย้ายให้กับกลิกเมฆิกานา
ฟอร์ด ไตรมอร์เตอร์ 16 1928 1947
ล็อคฮีด โมเดล 9 ออไรออน 3 1934 1946
ล็อคฮีด โมเดล 10 อิเล็กตรา 8 1934 1938
สเตียร์แมน ซี3บี 3 ไม่ทราบ ไม่ทราบ
สแตนดาร์ด เจ1 8 1921 ไม่ทราบ
ทราเวลแอร์ 6000 4 1928 ไม่ทราบ

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. Stewart, Daniel (7 January 2023). "Mexican government buys Mexicana de Aviacion brand for 40 million euros". msn. Microsoft. สืบค้นเมื่อ 12 February 2023.
  2. Dillon, Kelin (26 August 2021). "Mexico to Relaunch National Airline Mexicana de Aviación". Pulse News Mexico. Pulse News Mexico. สืบค้นเมื่อ 12 February 2023.
  3. Madry, Kylie (10 August 2023). "Mexico finalizes $48 mln purchase of Mexicana airline brand". Nasdaq. Nasdaq. สืบค้นเมื่อ 10 August 2023.
  4. Soto, Héctor (10 August 2023). "Introducing Mexicana de Aviación: Mexico's New Airline". Mexico Business News. Mexico Business. สืบค้นเมื่อ 31 August 2023.
  5. "Mexicana de Aviación inicia vuelos para obtener certificación". Expansión (ภาษาSpanish). Expansión. 18 December 2023.{{cite news}}: CS1 maint: unrecognized language (ลิงก์)
  6. "Directory: World Airlines". Flight International. April 10, 2007. p. 50.
  7. "Mexicana's uncertain future: Big network shake-up posed by possible removal of the biggest player; 30% of domestic market and 20% of US-Mexico market up for grabs". anna.aero.
  8. Nasdaq.com. Nasdaq.com.
  9. "Mexicana sinks into restructuring". สืบค้นเมื่อ 2020-06-07.
  10. Mozee, Carla (August 27, 2010). "Airline Mexicana to suspend operations indefinitely". MarketWatch. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ August 29, 2010. สืบค้นเมื่อ 2010-08-27.
  11. "Mexican Aviation Tower เก็บถาวร ธันวาคม 3, 2013 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน." Mexico City Official Website. Retrieved December 4, 2010.
  12. "Mexico to Relaunch National Airline Mexicana de Aviación - Pulse News Mexico". pulsenewsmexico.com (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 2021-08-26.
  13. Garbuno, Daniel Martínez (2021-07-12). "100 Years Ago, Mexico's First Airline Took To The Skies". Simple Flying (ภาษาอังกฤษ).
  14. 14.0 14.1 Flight International April 12–18, 2005
  15. http://timetableimages.com/i-mn/mx7607i.jpg
  16. "index". www.departedflights.com. สืบค้นเมื่อ 2022-11-20.
  17. "Mexicana fleet". aerobernie.bplaced.net. สืบค้นเมื่อ February 20, 2021.
  18. "Mexicana Fleet Details and History". Planespotters.net (ภาษาอังกฤษ). 2024-01-18.