รหัสสายการบิน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

สายการบินแต่ละสายการบินจะมี รหัสประจำสายการบิน ซึ่งจะเป็นตัวอักษรสองถึงสามตัว หรือในบางครั้งอาจมีตัวเลข มารวมกันเพื่อบ่งบอกถึงสายการบินต่างๆ โดยจะมีสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศและองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศเป็นสองหน่วยงานที่ดูแลการออกรหัสให้แก่สายการบินต่างๆ ทั่วโลก โดยทั้งสองหน่วยงานจะมีรูปแบบของรหัสแตกต่งกันไป

รหัสสายการบินไออาตา[แก้]

รหัสสายการบินไออาตา (อังกฤษ: IATA airline designators) เป็นรหัสสองตัวอักษรที่ออกให้สายการบินต่างๆ ทั่วโลกโดยสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) โดยมีระเบียบและข้อบังคับในการออกรหัสของไออาตา เดิมรหัสไออาตามีพื้นฐานมาจากรหัสของไอเคโอ ซึ่งเริ่มใช้ในปี 1947 ที่เป็นตัวอักษรละตินสองตัวต่อกัน (ระบบการเขียนด้านล่าง) ต่อมาไออาตาได้นำมาปรับปรุงโดยให้สามารถมีตัวอักษรละตินหนึ่งตัวและตัวเลขหนึ่งตัวได้ (หรือในทางกลับกัน) เช่นรหัส U2 ของอีซี่ย์เจ็ต ซึ่งเริ่มใช้หลังจากไอเคโอเปลี่ยนรูปแบบรหัสในปี 1982 จากเดิมที่ใช้ระบบสองตัวอักษรเปลี่ยนมาใช้ระบบสามตัวอักษรแทน

รหัสของไออาตาจะใช้รูปแบบ xx(a) คือ ตัวอักษรสองตัว (ตัวอักษรหรือตัวเลข) และตัวอักษรตัวเลือกตัวที่สาม แม้ไออาตาที่มีระบบการให้รหัสสามตัวอักษร แต่สมาคมก็ไม่เคยออกรหัสที่มีตัวอักษรที่สามเลย เพราะระบบคอมพิวเตอร์ที่ใช้ไม่รองรับรหัสระบบนี้ถึงแม้จะใช้ระบบรหัสนี้มากว่า 20 ปีแล้วก็ตาม ในปัจจุบันไออาตาใช้ระบบสองตัวอักษร ซึ่งเป็นไปตามมติที่ 762 ของสมาคมและมาตรฐานการออกรหัสสายการบินในปัจจุบัน

ตารางเที่ยวบินขาออกที่ท่าอากาศยานบริสเบน แสดงรหัสไออาตา JQ (เจ็ตสตาร์) ZL (เร็กซ์แอร์ไลน์) VA (เวอร์จินออสเตรเลีย) QF (ควอนตัส) และรหัสของสายการบินอื่นๆ ที่มีข้อตกลงการบินร่วมกับสายการบินที่กล่าวข้างต้น

สายการบินจะนำรหัสไออาตานำเลขเที่ยวบินแต่ละเที่ยวบินตามกำหนด รวมถึงจะนำมาใช้ในการจองตั๋ว ออกตั๋ว ใช้ในตารางบิน ภาษี และการขนส่งสินค้า[1]

เมื่อสายการบินใดๆ มีการเปลี่ยนรหัส หรือเลิกดำเนินการ ไออาตาจะนำรหัสนั้นออกจากรายชื่อและเปิดให้สายการบินอื่นๆ มาใช้ได้หลังจากครบเวลาหกเดือน และสามารถออกรหัสซ้ำได้ โดยไออาตาจากออกรหัสซ้ำให้กับสายการบินระดับภูมิภาคที่เส้นทางบินจะไม่ไปทับซ้อนกัสายการบินรายอื่นๆ เช่นรหัส 7Y ซึ่งอ้างถึงทั้งมิดแอร์ไลน์ สายการบินเช่าเหมาลำสัญชาติซูดาน และเมดแอร์เวย์ สายการบินเช่าเหมาลำสัญชาติเลบานอน (เลิกดำเนินการในปี 2015 และได้มีเส้นทางบินไปซูดาน)

โดยปกติสายการบินเมื่อเปลี่ยนชื่อจะใช้รหัสไออาตาเดิม เช่นรหัส AY ที่ให้กับ แอโรโอวาย ซึ่งปัจจุบันใช้ชื่อฟินน์แอร์ และรหัส FI ที่ให้กับ Flugfélag Íslands ที่ปัจจุบันใช้ชื่อไอซ์แลนด์แอร์

รหัสสายการบินไอเคโอ[แก้]

รหัสสายการบินไอเคโอ (อังกฤษ: ICAO airline designator) เป็นรหัสที่ออกโดยองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ให้กับหน่วยงานปฏิบัติการอากาศยาน หน่วยงานการบิน และบริการที่เกี่ยวข้องกับการบินระหว่างประเทศ ซึ่งแต่ละรหัสจะประกอบไปด้วยตัวอักษรสามตัวและเครื่องระบุโทรศัพท์ รหัสเหล่านี้เป็นรหัสเฉพาะของแต่ละสายการบิน ซึ่งแตกต่างจากรหัสกำหนดสายการบินของไออาตา

รหัสไอเคเริ่มมีการใช้ครั้งแรกในปี 1947 เดิมรหัสไอเคโอใช้ระบบตัวอักษรสองตัวเหมือนกับรหัสไออาตาในปัจจุบัน โดยหลังจากที่สายการบินเข้าร่วมไออาตาแล้ว รหัสไอเคโอที่มีอยู่จะถูกแทนที่เป็นรหัสไออาตาแทน เนื่องจากทั้งสององค์กรใช้ระบบรหัสเดียวกัน โดย ณ เวลานั้นจะมีปัญหาที่จะไม่สามารถระบุได้ว่าสายการบินนั้นเป็นสมาชิกขององค์กรใดเพียงแค่ดูจากรหัสเท่านั้น เช่น ในปี 1970 บริติชแอร์เวย์ ซึ่งมีตัวย่อ BA ใช้ตัวย่อนี้เป็นทั้งรหัสไออาตาและไอเคโอ ในขณะที่สมาชิกที่ไม่ได้เป็นสมาชิกของไออาตาเช่น คอร์ทไลน์ ใช้ตัวย่อสองตัวเป็นรหัสไอเคโอเท่านั้น ไอเคโอจึงได้เริ่มระบบตัวอักษรสามในปี 1982 ซึ่งถูกใช้มาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้นอกจากจะทำให้สามารถแยกรหัสทั้งสองได้แล้วยังสามารถรองรับกับจำนวนสายการบินที่เพิ่มขึ้นได้จากจำนวนตัวอักษรที่เพิ่มขึ้น จากเดิมที่รองรับได้แค่ 936 สายการบิน มาเป็น 17,576 ที่รองรับได้ โดยไอเคโอได้นำระบบนี้มาเป็นมาตรฐานการตั้งรหัสสายการบินในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1987 เป็นเวลากว่าห้าปีหลังจากการเริ่มใช้งานระบบนี้ ในขณะที่ไออาตายังคงใช้ระบบตัวอักษรสองตัวแบบเก่าที่ไอเคโอเคยนำมาใช้ตั้งแต่ปี 1947[2][3]

ไอเคโอจะไม่อนุญาตให้ใช้การผสมตัวอักษรบางแบบ เพื่อหลีกเลี่ยงความสับสนกับระบบอื่นๆ หรือชื่ออื่นๆ โดยเฉพาะที่ขึ้นต้นด้วย Y และ Z จะสงวนไว้สำหรับองค์กรภาครัฐ รหัส YYY ใช้สำหรับผุู้ดำเนินการที่ยังไม่มีรหัสไอเคโอ ณ เวลานั้น

รหัสเรียก[แก้]

สายการบินส่วนใหญ่ใช้สัญญาณเรียกขานเป็นจะกำหนดไว้เพื่อแทนอากาศยานเมื่อมีการสื่อสารทางวิทยุในท่าอากาศยานหรือขณะทำการบิน ตามภาคผนวกไอเคโอที่ 10 บทที่ 5.2.1.7.2.1 สัญญาณเรียกขานต้องเป็นประเภทใดประเภทหนึ่งดังต่อไปนี้

  • ประเภท A: ตัวอักษรที่สอดคล้องกับเครื่องหมายทะเบียนของเครื่องบิน หรือทะเบียนเครื่องบิน
  • ประเภท B: รหัสโทรศัพท์ของหน่วยงานปฏิบัติการอากาศยาน ตามด้วยอักขระสี่ตัวสุดท้ายของเครื่องหมายจดทะเบียนของเครื่องบิน
  • ประเภท C: รหัสโทรศัพท์ของหน่วยงานปฏิบัติการเครื่องบิน ตามด้วยรหัสเที่ยวบิน

ประเภทที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในการบินเชิงพาณิชย์คือประเภท C รหัสเที่ยวบินมักจะเหมือนกับหมายเลขเที่ยวบิน แต่ก้ไม่ได้เป็นเช่นนันเสมอไป ในกรณีที่เกิดสับสนรหัสเรียก สามารถเลือกรหัสเที่ยวบินใหม่ได้ แต่หมายเลขเที่ยวบินจะยังคงเหมือนเดิม การสับสนรหัสเรียกสามารถเกิดขึ้นได้เมื่อเที่ยวบินสองเที่ยวบินขึ้นไปที่มีหมายเลขเที่ยวบินคล้ายกันบินอยู่ใกล้กัน เช่น KLM 645 และ KLM 649 หรือ Speedbird 446 และ Speedbird 664

รหัสเรียกมักมีความเกี่ยวข้องกับสายการบินนั้นๆ โดยส่วนมากจะมาจากชื่อของสายการบิน แต่ในบางครั้งอาจมาจากประวัติของสายการบิน เช่น เซาท์แอฟริกันแอร์เวส์ใช้รหัสเรียก "Springbok" ซึ่งมาจากโลโก้เก่าของสายการบิน ในบางครั้งอาจเป็นการหลีกเลี่ยงความสับสนกับรหัสเรียกของสายการบินอื่นๆ ในบางครั้งเมื่อสายการบินเมื่อผนวกกิจการเข้ากับสายการบินอื่น สายการบินนั้นอาจเลือกใช้รหัสเรียกของสายการบินอื่นนั้นแทนเช่น บริติชแอร์เวย์ ที่เกิดจากการควบรวมกิจการระหว่างบีโอเอซีและบริติชยูโรเปียนแอร์เวย์ ใช้รหัสเรียก "Speedbird" ตามบีโอเอซี

รหัสเรียกควรมีลักษณะคล้ายกับชื่อของผู้ดำเนินการ และไม่ทำให้สับสนกับรหัสเรียกที่ผู้ดำเนินการรายอื่นใช้ รหัสเรียกควรออกเสียงได้ง่ายในภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นภาษาสากลของการบิน เช่น รหัสเรียกของแอร์ฟรานซ์ คือ "Airfrans" ซึ่ง 'frans' เป็นการสะกดแบบออกเสียงของ 'ฝรั่งเศส'

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. "Airlines Codes". www.thaitechnics.com.
  2. jp aircraft markings, jp airlines-fleets international, Edition 1966 - Edition 1988/89
  3. Yearbook of the United Nations 41.1987, Chapter X ที่ Google Books

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]