ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย
ตราสัญลักษณ์ของธนาคาร | |
ชื่อโรมัน | Small and Medium Enterprise Development Bank of Thailand |
---|---|
ชื่อเดิม | สำนักงานเงินกู้เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรม (พ.ศ. 2506 – พ.ศ. 2507) สำนักงานธนกิจอุตสาหกรรมขนาดย่อม (พ.ศ. 2507 – พ.ศ. 2534) |
ประเภท | รัฐวิสาหกิจร่วม |
อุตสาหกรรม | ธนาคาร |
ก่อนหน้า | บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมขนาดย่อม |
ก่อตั้ง | 20 ธันวาคม พ.ศ. 2545 |
สำนักงานใหญ่ | |
จำนวนที่ตั้ง | 96 สาขา |
พื้นที่ให้บริการ | ประเทศไทย |
บุคลากรหลัก | เดชา จาตุธนานันท์ (ประธานกรรมการธนาคาร) ชยงการ ภมรมาศ (ประธานกรรมการบริหาร) พิชิต มิทราวงศ์ (กรรมการผู้จัดการ) |
บริการ | สินเชื่อและการลงทุน |
รายได้ | 5,969.64 ล้านบาท (พ.ศ. 2566)[1] |
รายได้จากการดำเนินงาน | 5,936.64 ล้านบาท (พ.ศ. 2566)[1] |
รายได้สุทธิ | 613.44 ล้านบาท (พ.ศ. 2566)[1] |
สินทรัพย์ | 120,187.83 ล้านบาท (พ.ศ. 2566)[1] |
ส่วนของผู้ถือหุ้น | 12,081.72 ล้านบาท (พ.ศ. 2566)[1] |
สมาชิก | 206,688 คน (พ.ศ. 2566)[1] |
พนักงาน | 2,227 คน (พ.ศ. 2566)[1] |
บริษัทแม่ | กระทรวงการคลัง กระทรวงอุตสาหกรรม |
เว็บไซต์ | เว็บไซต์ของธนาคาร |
ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย เป็นสถาบันการเงินของรัฐ สังกัดกระทรวงการคลัง และ กระทรวงอุตสาหกรรม มีวัตถุประสงค์ในการให้บริการทางการเงินกับผู้ประกอบการไทยรายเล็ก ในด้านสินเชื่อหรือการร่วมลงทุน เพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินทุนแก่ผู้ประกอบการขนาดเล็ก ที่ไม่ได้รับบริการจากระบบสถาบันการเงินเชิงพาณิชย์
ประวัติ
[แก้]พ.ศ. 2507 – 2534 สำนักงานธนกิจอุตสาหกรรมขนาดย่อม ในปี พ.ศ. 2506 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบกับโครงการเงินกู้เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมขนาดย่อม ซึ่งเป็นโครงการที่บรรจุอยู่ใน แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 และได้ดำเนินการจัดตั้งเป็น “สำนักงานเงินกู้เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมขนาดย่อม” (สกอ.) ในเดือนมีนาคม 2507 ภายใต้การกำกับดูแลของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อทำหน้าที่ให้การสนับสนุนทางการเงินแก่ธุรกิจอุตสาหกรรมขนาดย่อม และได้เปลี่ยนชื่อเป็น “สำนักงานธนกิจอุตสาหกรรมขนาดย่อม” (สธอ.) แต่เนื่องจาก สธอ. มีฐานะเป็นหน่วยงานราชการ ในการดำเนินงานจึงมีข้อจำกัดในเรื่องแหล่งเงินทุนที่จะต้องอาศัยจากงบประมาณแผ่นดินเพียงแหล่งเดียว การอำนวยสินเชื่อต่าง ๆ ถือหลักปฏิบัติเช่นเดียวกับหน่วยงานราชการทั่วไป ทำให้ขาดความคล่องตัวในการดำเนินงาน
พ.ศ. 2534 – 2545 บริษัทเงินทุนอุตสาหกรรมขนาดย่อม เนื่องจากสถานภาพของ สธอ. มีข้อจำกัดในการระดมทุนและการให้บริการทางการเงิน กระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงการคลัง จึงยกระดับสถานะเป็น “บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมขนาดย่อม” (บอย.) เพื่อทำให้มีสถานะเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มีทุนจดทะเบียนเริ่มแรก 300 ล้านบาท และในปี พ.ศ. 2543 กระทรวงการคลังได้เพิ่มทุนให้กับบอย. อีกจำนวน 2,500 ล้านบาท พ.ศ. 2534 ยกระดับเป็น บอย. โดยมีทุนจดทะเบียน 300 ล้านบาท พ.ศ. 2543 กระทรวงการคลังเพิ่มทุนจำนวน 2,500 ล้านบาท ทำให้ทุนเรือนหุ้นเพิ่มขึ้นเป็น 2,800 ล้านบาท แต่ในปี พ.ศ. 2540 ซึ่งเกิดวิกฤตค่าเงิน ได้ก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงต่อภาคธุรกิจต่าง ๆ โดยเฉพาะวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ที่ประสบปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงิน จนกระทั่งกลายเป็นลูกหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ กระทรวงอุตสาหกรรมจึงได้เสนอแนวคิดในการยกระดับเป็นธนาคาร โดยร่วมพิจารณาหารือกับกระทรวงการคลัง ให้เป็นสถาบันการเงินหลักเพื่อการพัฒนา SMEs
พ.ศ. 2545 – ปัจจุบัน ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ปัจจุบันในปี พ.ศ. 2544 รัฐบาลมีความเห็นชอบให้เพิ่มบทบาทและขยายขอบเขตการดำเนินการของ บอย. โดยการจัดตั้งเป็น “ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย” (ธพว.) ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงการคลังได้ร่วมกันยกร่าง พระราชบัญญัติธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2545 โดยมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2545 จึงถือวันดังกล่าวเป็นวันสถาปนาก่อตั้ง ธพว. พร้อมกันนี้กระทรวงการคลังยังได้เพิ่มทุนอีกจำนวน 11,955 ล้านบาท ในช่วง พ.ศ. 2547-2559 ทำให้ปัจจุบัน ธพว. มีทุนเรือนหุ้นทั้งสิ้น 20,006.63 ล้านบาท โดยมีส่วนต่ำกว่ามูลค่าหุ้นสามัญ 5,251.63 ล้านบาท พ.ศ. 2547 กระทรวงการคลังเพิ่มทุน จำนวน 2,000 ล้านบาท ทำให้ทุนเรือนหุ้นเพิ่มขึ้นเป็น 4,800 ล้านบาท พ.ศ. 2548 กระทรวงการคลังเพิ่มทุน จำนวน 2,500 ล้านบาท ทำให้ทุนเรือนหุ้นเพิ่มขึ้นเป็น 7,300 ล้านบาท พ.ศ. 2550 กระทรวงการคลังเพิ่มทุน จำนวน 1,200 ล้านบาท ทำให้ทุนเรือนหุ้นเพิ่มขึ้นเป็น 8,500 ล้านบาท พ.ศ. 2551 กระทรวงการคลังเพิ่มทุน จำนวน 600 ล้านบาท ทำให้ทุนเรือนหุ้นเพิ่มขึ้นเป็น 9,100 ล้านบาท พ.ศ. 2552 กระทรวงการคลังเพิ่มทุน จำนวน 2,500 ล้านบาท ทำให้ทุนเรือนหุ้นเพิ่มขึ้นเป็น 11,600 ล้านบาท พ.ศ. 2555 กระทรวงการคลังเพิ่มทุน จำนวน 600 ล้านบาท ทำให้ทุนเรือนหุ้นเพิ่มขึ้นเป็น 12,200 ล้านบาท พ.ศ. 2556 กระทรวงการคลังเพิ่มทุน จำนวน 555 ล้านบาท ทำให้ทุนเรือนหุ้นเพิ่มขึ้นเป็น 12,755 ล้านบาท พ.ศ. 2558 กระทรวงการคลังเพิ่มทุน จำนวน 1,000 ล้านบาท ทำให้ทุนเรือนหุ้นเพิ่มขึ้นเป็น 16,380.82 ล้านบาท โดยมีส่วนต่ำกว่ามูลค่าหุ้นสามัญ 2,625.82 ล้านบาท พ.ศ. 2559 กระทรวงการคลังเพิ่มทุน จำนวน 1,000 ล้านบาท ทำให้ทุนเรือนหุ้นเพิ่มขึ้นเป็น 20,006.63 ล้านบาท โดยมีส่วนต่ำกว่ามูลค่าหุ้นสามัญ 5,251.63 ล้านบาท
การดำเนินงาน
[แก้]บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของ ธพว. ให้อยู่อันดับเครดิตที่ “AAA(tha)” แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ ซึ่งนับเป็นอันดับเครดิตสูงที่สุดสำหรับอันดับเครดิตภายในประเทศ และอันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นคงอันดับที่ “F1+(tha)” สะท้อนมุมมองของฟิทช์ ว่า ธพว.มีบทบาทสำคัญในเชิงนโยบายต่อรัฐบาลตามที่ได้มีการกำหนดไว้ ในพระราชบัญญัติจัดตั้งธนาคารตามกฎหมายให้เป็นสถาบันการเงินเฉพาะกิจเพื่อการพัฒนาเอสเอ็มอี อีกทั้ง มีความเป็นไปได้สูงที่รัฐบาลไทยจะให้การสนับสนุนแก่ ธพว. ในกรณีที่มีความจำเป็น
โดยมีปัจจัยสนับสนุนมาจากความใกล้ชิดกับรัฐบาล สถานะทางกฎหมายซึ่งเป็นธนาคารรัฐ การที่รัฐบาลเป็นผู้ถือหุ้นเกือบทั้งหมดในธนาคาร และการได้รับความช่วยเหลือทางการเงินจากรัฐบาลอย่างต่อเนื่องตั้งแต่อดีต
อีกทั้ง ธพว. สามารถปรับปรุงการทำงาน จนออกจากแผนฟื้นฟูกิจการสำเร็จแล้ว โดยอัตราส่วนทางการเงินของธนาคารได้ปรับตัวดีขึ้น เช่น คุณภาพสินทรัพย์ สภาพคล่อง และฐานะเงินกองทุน เป็นต้น
การออกจากแผนฟื้นฟูกิจการ
[แก้]ประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2561 เห็นชอบให้ ธพว.ออกจากแผนการแก้ไขปัญหาองค์กรหรือแผนฟื้นฟู เนื่องจากว่าตลอดระยะเวลา 3 ปี ที่ผ่านมาการแก้ปัญหาองค์กรดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง[2] ในทั้ง 6 ด้าน ได้แก่
- ปรับกระบวนการอำนวยสินเชื่อ วงเงินไม่เกิน 15 ล้านบาท โดยมีการ Check & Balance และเพิ่มความคล่องตัวในการปล่อยสินเชื่อ ส่งผลต่อการปล่อยสินเชื่อใหม่คุณภาพดีได้มากขึ้น โดยนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558-2560 มียอดปล่อยสินเชื่อรวม 98,757 ล้านบาท และยอดเบิกจ่ายสินเชื่อใหม่วงเงินไม่เกิน 15 ล้านบาทรวม 93,995 ล้านบาท ซึ่งในปี 2560 สามารถปล่อยสินเชื่อทั้งหมดได้จำนวนทั้งสิ้น 43,269 ล้านบาท
- สร้างกระบวนการติดตามลูกหนี้ (Loan Monitoring) โดยจัดตั้งหน่วยงานควบคุมคุณภาพสินเชื่อ ส่งผลให้หนี้ปล่อยใหม่ในปี 2560 ตกชั้นเพียงร้อยละ 0.21 เท่านั้น
- บริหารจัดการหนี้ NPL ตามแผนฟื้นฟูอย่างเคร่งครัด ส่งผลให้หนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของสินเชื่อใหม่ตั้งแต่ปี 2558 ถึง 2560 ลดลงต่อเนื่อง อยู่ที่ร้อยละ 3.32, 1.32 และ 0.21 ตามลำดับ
- ดำเนินการตามพันธกิจในการสนับสนุนนโยบายรัฐเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านโครงการด้านสินเชื่อ อาทิ สินเชื่อ Policy Loan, สินเชื่อ SMEs Transformation และกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ เป็นต้น
- ควบคุมค่าใช้จ่ายและต้นทุนเงิน ส่งผลให้ผลการดำเนินงานดีขึ้นและอยู่ในระดับที่มีเสถียรภาพ โดยในปี 2560 มีกำไรก่อนตั้งสำรองหนี้เพื่อความมั่นคงกว่า 1,600 ล้านบาท และบริหารจัดการต้นทุนการเงินอยู่ที่ร้อยละ 1.68 ดีกว่าที่กำหนดไว้
- มุ่งเสริมสร้างจริยธรรม และธรรมาภิบาล ปลูกฝังค่านิยมองค์กรคุณธรรม พร้อมเสริมสร้างระบบการตรวจสอบให้มีความเข้มข้นมากขึ้น
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 1.5 1.6 รายงานประจำปี 2566 ของธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย
- ↑ "'คนร.' เห็นชอบ 'SME Bank' พ้นจากแผนฟื้นฟู". กรุงเทพธุรกิจ. 2018-01-19. สืบค้นเมื่อ 2021-02-06.