ข้ามไปเนื้อหา

นักเรียน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
นักเรียนขณะเข้าร่วมประชุมภายในหอประชุม

นักเรียน ผู้เรียน นิสิต หรือ นักศึกษา ในความหมายโดยรวมคือผู้ที่เข้าเรียนในสถานศึกษา โดยแบ่งเป็น

  • นักเรียน หมายถึง ผู้เรียนในโรงเรียนระดับอนุบาล ประถมศึกษา และมัธยมศึกษา (บางครั้งอาจใช้ในความหมายกว้าง หมายถึง ผู้ศึกษาในสถานศึกษาทั้งหมดก็ได้)
  • นิสิต และ นักศึกษา หมายถึง ผู้เรียนในระดับอุดมศึกษา (นิสิตเป็นคำที่ใช้เฉพาะในสถาบันอุดมศึกษาบางแห่งเท่านั้น)
  • ผู้เรียน (อังกฤษ: learner) เป็นคำที่มีความหมายกว้างรวม นักเรียน นิสิต นักศึกษา และผู้รับการศึกษาอบรมนอกระบบสถานศึกษาตามปกติ มักใช้ในบริบทของการเรียนรู้

ในประเทศไทยมีกฎหมายให้บุคคลทุกคนต้องจบการศึกษาขั้นต่ำในระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3 (หลักสูตรการศึกษาภาคบังคับ)

ในสหราชอาณาจักร คำว่านักเรียนในระดับ อนุบาล ประถมศึกษา และมัธยมศึกษา ใช้คำว่า pupil และนักเรียนในระดับมหาวิทยาลัยจะใช้คำว่า student

วันที่ 17 พฤศจิกายน เป็นวันนักเรียนนานาชาติ (International Students Day) เป็นวันที่ระลึกถึงนักเรียนที่เสียชีวิตในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

ชั้นปีของนักศึกษา

[แก้]

โดยทั่วไปแล้ว ชื่อเรียกต่าง ๆ นำมาจากชื่อเรียกของชั้นปีในสหรัฐอเมริกา[ต้องการอ้างอิง]

  • เฟรชแมน (freshman) คือนักศึกษาชั้นปีที่ 1 หรือในบางที่จะเรียก น้องใหม่ เพื่อนใหม่ เฟรชชี โดยกิจกรรมต่าง ๆ ที่จัดขึ้นสำหรับนักศึกษาชั้นปีที่ 1 จะเรียกตามชื่อเช่น กีฬาเฟรชชี งานรับน้องใหม่ งานรับเพื่อนใหม่ โดยรวมจะเรียกสั้น ๆ ว่า เฟรชชี (freshy)
  • โซโฟมอร์ (sophomore) คือนักศึกษาชั้นปีที่ 2 มาจากรากศัพท์ภาษากรีก "โซโฟส" (sophos) ที่แปลว่า ฉลาด และ "มอรอส" ที่แปลว่า โง่ ซึ่งกล่าวเป็นนัยว่าเป็นช่วงปีที่มีการเรียนรู้ ลองผิดลองถูก
  • จูเนียร์ (junior) คือนักศึกษาชั้นปีที่ 3
  • มิดเลอร์ (middler) คือนักศึกษาชั้นปีที่ 4 ของบางประเทศ ที่ระดับมหาวิทยาลัยมีสอน 5 ปี
  • ซีเนียร์ (senior) คือนักศึกษาชั้นปีที่ 4 หรือชั้นปีสุดท้าย
  • ซูเปอร์ซีเนียร์ (super senior) หรือ ซูเปอร์ เป็นนักศึกษาที่ใช้เวลาการเรียนมากกว่าปกติ (มากกว่า 4 ปีปกติ) เรียกกันอีกอย่างว่า เด็กโข่ง

นิสิต

[แก้]

นิสิต เป็นคำที่ใช้เรียกผู้ที่ศึกษาในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และมหาวิทยาลัยที่แยกตัวออกมาจากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ก็คือ มหาวิทยาลัยนเรศวร, มหาวิทยาลัยพะเยา, มหาวิทยาลัยบูรพา, มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และ มหาวิทยาลัยทักษิณ นอกจากนี้ยังใช้ในมหาวิทยาลัยเอกชนบางแห่งคือ มหาวิทยาลัยรัตนบัณฑิต และ มหาวิทยาลัยเวสเทิร์น รวมถึงใช้ในมหาวิทยาลัยราชภัฏบางแห่งคือ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา รวมทั้งใช้ในมหาวิทยาลัยของสงฆ์บางแห่งคือ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย โดยในสมัยก่อนมีการใช้คำว่า "นิสิต" สำหรับผู้ชาย และ "นิสิตา" สำหรับ ผู้หญิง

นิสิต มีความหมายว่า "ผู้อยู่อาศัย" สืบเนื่องมาจากในช่วงที่เป็นโรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และได้รับการสถาปนาเป็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนั้น ที่ตั้งของมหาวิทยาลัยถือว่าอยู่นอกเมือง การคมนาคมเพื่อมาศึกษาเป็นการยากลำบาก ดังนั้น ผู้ที่มาเรียนส่วนใหญ่จำเป็นต้องพักภายในหอพักของมหาวิทยาลัย และก็เรียกบุคคลที่อาศัยในห้องปฏิบัติการว่านิสิตเช่นเดียวกันด้วย[1] ส่วนของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์นั้นมีการเรียนการส่วนในระยะเริ่มต้นของการก่อตั้งมหาวิทยาลัยส่วนเป็นด้านการเกษตร ผู้เรียนมาจากทั่วสารทิศ จึงต้องมีหอพักให้ผู้ที่มาเล่าเรียนได้พักอาศัยและพื้นที่ตั้งของสถานศึกษาในขณะนั้นยังถือได้ว่าเป็นเขตนอกเมือง[2] ซึ่งในภายหลังมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, มหาวิทยาลัยนเรศวร, มหาวิทยาลัยพะเยา, มหาวิทยาลัยบูรพา, มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และ มหาวิทยาลัยทักษิณ ได้เปิดอยู่นอกเมือง และผู้ที่มาศึกษาก็จำเป็นต้องอยู่หอพักเช่นเดียวกัน จึงได้ใช้คำว่า "นิสิต" เช่นเดียวกัน

ในปัจจุบันนี้ ถึงแม้ว่า ผู้ที่มาเรียนจะไม่ได้พักในหอพักเหมือนในสมัยก่อนแล้วก็ตาม แต่ก็ยังนิยมเรียกว่า "นิสิต" สำหรับมหาวิทยาลัยดังกล่าว

อ้างอิง

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]